ทายาทกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่กับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด 19
excerpt
บทความนี้สังเคราะห์ประเด็นสำคัญจากงานวิจัย Inherited Corporate Control, Inequality and the COVID Crisis (Bordeerath, 2023) ของผู้เขียน ซึ่งพบว่า วิกฤตโควิด 19 ทำให้ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีเติบโตเร็วกว่าตลาดถึง 23.6% ทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศรายได้ต่ำหรือกำลังพัฒนายิ่งทวีคูณขึ้นอีกเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพย์สินของทายาทกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศรายได้ต่ำที่เติบโตเร็วกว่าตลาดถึง 43.7% ทั้งนี้ ในประเทศกำลังพัฒนา เส้นสายทั้งทางธุรกิจและการเมืองมีมูลค่าสูงมากในช่วงเวลาวิกฤต ส่งผลให้บริษัทที่มีเส้นสายได้รับการสนับสนุนทางการเงินที่ช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่รอดได้มากกว่าบริษัทที่ไม่มีเส้นสาย อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตสามารถปรับลดลงได้หากระบบการเงินมีความเข้มแข็งและเข้าถึงได้ โดยจะช่วยพยุงให้ธุรกิจที่ไม่มีเส้นสายยังคงอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤตและช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ในที่สุด
หลายประเทศทั่วโลกทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ธุรกิจเอกชนอยู่ในการครอบครองของครอบครัวมหาเศรษฐีขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ครอบครัว Morck et al. (2005) ได้สรุปงานวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลก พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ครอบครัวนักธุรกิจที่มั่งคั่งเหล่านี้ควบคุมกิจการของบริษัทมหาชนกว่า 30% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ในประเทศไทย ครอบครัวนักธุรกิจขนาดใหญ่เพียง 10 ครอบครัวควบคุมกิจการมหาชนถึงกว่า 38% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด (Bordeerath, 2023 โดยใช้ข้อมูลจากปลายปี 2019) ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำในอำนาจทางธุรกิจดังกล่าว อาจจะเป็นผลดี หรือผลเสียกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมก็ได้ เป็นต้นว่า หากครอบครัวนักธุรกิจเหล่านี้สามารถจัดการทรัพยากรขนาดใหญ่ในการกำกับของตนได้ดีกว่านักธุรกิจรายเล็กหรือผู้ประกอบการของบริษัทที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ความเหลื่อมล้ำในอำนาจทางธุรกิจนี้ก็อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจได้ ในทางตรงกันข้าม หากครอบครัวนักธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถการจัดการทรัพยากรขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ดีพอ และมีแรงจูงใจที่จะรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจของตนเองไว้ ครอบครัวมหาเศรษฐีเหล่านี้อาจจะใช้เส้นสายทางธุรกิจหรือการเมืองสร้างกฎระเบียบทางธุรกิจที่อาจกีดขวางไม่ให้เกิดการแข่งขันในอนาคตได้ และจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ในที่สุด
คำถามสำคัญคือ ครอบครัวมหาเศรษฐีแบบไหนที่ “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และครอบครัวมหาเศรษฐีแบบไหนที่ “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลเสีย? Schumpeter (1942) ได้นิยามทฤษฎีการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (creative destruction) ไว้ โดยสรุปได้ว่า นักธุรกิจที่มีความคิดสร้างสรรค์จะลงทุนในนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของตนเอง (ลองนึกถึงบริษัท Apple ของ Steve Jobs ที่ลงทุนสร้าง iPhone) เมื่อนวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้ประสบความสำเร็จ จะมาแทนที่หรือทำลายล้างนวัตกรรมเก่า ๆ ที่ให้ผลิตภาพ (productivity) ต่ำกว่า (นึกถึงมูลค่าของบริษัท Blackberry ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจาก iPhone เข้าสู่ตลาด) เศรษฐกิจโดยรวมจึงมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นและเติบโตได้เร็วขึ้น ทฤษฎีการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์จึงชี้ให้เห็นว่า มหาเศรษฐีนักธุรกิจรุ่นแรก หรือ ผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จนั้น “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มบริษัทของมหาเศรษฐีเหล่านี้มีอายุมากขึ้น มหาเศรษฐีนักธุรกิจรุ่นแรกมักจะส่งต่อบริษัทของตนให้แก่ทายาทหรือคนในครอบครัว โดยทายาทกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้อาจจะไม่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจได้ดีเท่ากับพ่อแม่ของตน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการส่งต่อความสามารถทางธุรกิจจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกนั้นทำได้ยาก โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนสมมติฐานนี้ เช่น Bennedsen et al. (2007) ที่แสดงให้เห็นว่า หลังจากที่ผู้ก่อตั้งบริษัทแต่งตั้งให้ให้ทายาทหรือคนในครอบครัวเป็นประธานกรรมการบริหาร (CEO) แล้ว ผลกำไรของบริษัทกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกรณีที่ผู้ก่อตั้งบริษัทแต่งตั้งให้นักบริหารมืออาชีพที่ไม่ได้เป็นคนในครอบครัวมาเป็น CEO
แม้ว่าการส่งต่อความสามารถทางธุรกิจผ่านทางสายเลือดจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่การส่งต่อเส้นสาย (connections) ทางธุรกิจหรือการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่ามาก Rajan & Zingales (2004) ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะทายาทมหาเศรษฐีเติบโตมาในครอบครัวที่รายล้อมด้วยมหาเศรษฐีหรือนักการเมืองคนสำคัญด้วยกัน ทายาทมหาเศรษฐีเหล่านี้จึงมีเส้นสายที่แข็งแกร่งกว่านักธุรกิจทั่วไป การที่ทายาทมหาเศรษฐีมีความสามารถทางธุรกิจต่ำ (โดยเฉลี่ย) แต่มีเส้นสายแข็งแกร่งนั้น ทำให้พวกเขาเหล่านี้ “มีแนวโน้ม” ที่จะรักษาธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอดโดยการใช้เส้นสายมากกว่าการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้น หากกลุ่มบริษัทใหญ่ ๆ ที่ควบคุมโดยทายาทมหาเศรษฐี มีการใช้เส้นสายในการทำธุรกิจมากกว่าการลงทุนในนวัตกรรม เศรษฐกิจของประเทศก็จะเต็มไปด้วยนวัตกรรมเก่า ๆ ที่มาจากมหาเศรษฐีนักธุรกิจรุ่นเก่า ซึ่งต่อไปจะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมมีผลิตภาพต่ำ เจริญเติบโตได้ช้า และติดกับดักรายได้ปานกลางในที่สุด ข้อถกเถียงเหล่านี้บ่งชี้ว่า ครอบครัวมหาเศรษฐีรุ่นทายาทนั้น “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
Morck et al. (2000) ได้รายงานหลักฐานเชิงสถิติที่สนับสนุนทฤษฎีข้างต้น โดยพบว่า ประเทศที่มีทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งในมูลค่ามากเมื่อเทียบกับ GDP จะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทในมูลค่ามากเมื่อเทียบกับ GDP จะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญ การค้นพบหลักฐานทางสถิตินี้ไม่เพียงสนับสนุนทฤษฎีการทำลายอย่างสร้างสรรค์ของ Joseph Schumpeter เท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าความเหลื่อมล้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบหลัก ๆ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำที่มาจากการลงทุนในนวัตกรรม ซึ่งมักจะเกิดจากการสร้างสรรค์โดยรุ่นก่อตั้ง จะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม และความเหลื่อมล้ำที่มาจากการสืบทอดอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมักเป็นการส่งต่อเส้นสาย “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลในทางตรงกันข้ามต่อเศรษฐกิจ
ผู้เขียนได้ตระหนักถึงความหลากหลายของความเหลื่อมล้ำนี้โดยพยายามวัดความเหลื่อมล้ำจากอัตราการเติบโต (growth) ของทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐี เทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศของมหาเศรษฐีนั้น ด้วยหลักการที่ว่า หากทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีเติบโตได้เร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์ ความเหลื่อมล้ำในประเทศนั้นควรจะเพิ่มขึ้นด้วย และสามารถแยกความเหลื่อมล้ำออกได้เป็นสองแบบ ได้แก่
- ความเหลื่อมล้ำจากมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง (Founder Billionaires) ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ
- ความเหลื่อมล้ำที่มาจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาท (Heir Billionaires) ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ผู้เขียนใช้ข้อมูลมูลค่าทรัพย์สินที่มหาเศรษฐีทั่วโลกครอบครองจาก Forbes’ lists of billionaires ของนิตยสาร Forbes และข้อมูลอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกจาก Datastream Total Market Indices โดยครอบคลุมประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วจำนวน 60 ประเทศทั่วโลก
การเลือกเครื่องชี้ความเหลื่อมล้ำ
บางท่านอาจมองว่า การเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีกับอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่เครื่องชี้ความเหลื่อมล้ำที่ครอบคลุมที่สุด เนื่องจากอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถเป็นตัวแทนของอัตราการเติบโตของความมั่งคั่งของบุคคลธรรมดาทั่วไปได้ ผู้เขียนจึงวัดอัตราการเติบโตของความมั่งคั่งของบุคคลทั่วไปด้วยการใช้อัตราการเติบโตของ GDP และ อัตราการเติบโตของ GDP ต่อจำนวนประชากร (per capita) ด้วย โดยพบว่า ผลการศึกษาที่ได้จากเครื่องชี้ความเหลื่อมล้ำทางเลือกสองแบบดังกล่าวไม่แตกต่างจากเครื่องชี้ความเหลื่อมล้ำแบบเดิมที่เทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ ผู้อ่านที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยชิ้นเต็มของผู้เขียน (Bordeerath, 2023)
ด้วยเครื่องชี้ความเหลื่อมล้ำที่กล่าวไปข้างต้น ผู้เขียนสามารถตอบสองคำถามหลักในงานวิจัยนี้ได้ อันได้แก่
- ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ในช่วงวิกฤตโควิด 19 และ
- หากความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นจริง ความเหลื่อมล้ำแบบไหนที่เพิ่มขึ้น (ความเหลื่อมล้ำที่มาจากมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง หรือ ความเหลื่อมล้ำที่มาจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาท) และการเพิ่มขึ้นนั้น เกิดขึ้นในประเทศที่มีลักษณะอย่างไร
ผลที่ได้สอดคล้องกับข่าวสารที่เราได้ยินกันในช่วงวิกฤตโควิด กล่าวคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาเศรษฐีกับประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมาก มหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจที่มีทรัพยากรในกำกับมากสามารถรักษาธุรกิจของตนไว้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน บุคคลหรือนักธุรกิจธรรมดาทั่วไปกลับได้รับผลกระทบที่รุนแรงจนบางแห่งสูญเสียธุรกิจของตนไป โดยงานวิจัยนี้มีหลักฐานทางสถิติที่บ่งบอกว่า ความเหลื่อมล้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงวิกฤตโควิด 19 (ปี 2020) เมื่อเทียบกับสามปีก่อนหน้า
จากข้อมูลของทุกประเทศดังสรุปในรูปที่ 1 ช่วงสามปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 ทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีทั้งรุ่นทายาทและรุ่นก่อตั้งเติบโตช้ากว่าตลาดหลักทรัพย์ถึง 13.8% และ 8.9% ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาเศรษฐีและนักลงทุนทั่วไปลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงนี้ นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า ทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทนั้นยังเติบโตช้ากว่ามหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งถึง 4.8% (ดูผลการศึกษาแบบละเอียดได้ในงานวิจัยฉบับเต็มของผู้เขียน) ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่ผ่านมาว่า มหาเศรษฐีรุ่นทายาทมีแนวโน้มที่จะมีความสามารถทางธุรกิจต่ำกว่ามหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตโควิด 19 ในปี 2020 มหาเศรษฐีรุ่นทายาทและรุ่นก่อตั้งมีทรัพย์สินเติบโตเร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์ถึง 15.1% และ 17.2% ตามลำดับ ผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนว่า วิกฤตโควิด 19 ส่งผลทางบวกต่ออัตราการเติบโตของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทและรุ่นก่อตั้ง 28.9% และ 26.1% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์
เพราะเหตุใดมูลค่าของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีทั้งรุ่นทายาทและรุ่นก่อตั้งจึงมีค่าเพิ่มขึ้นเร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาวิกฤต? ตัวอย่างงานวิจัยจาก Masulis et al. (2021) ได้ศึกษากลุ่มบริษัทที่ควบคุมโดยครอบครัวนักธุรกิจในกว่า 40 ประเทศทั่วโลกในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008–2009 และชี้ให้เห็นว่า มหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่สามารถโยกย้ายทรัพยากร เช่น เงินสด จากบริษัทที่ได้รับผลกระทบน้อย ไปหาบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากได้ การที่มหาเศรษฐีสามารถย้ายทรัพยากรภายในกลุ่มบริษัทในควบคุมของตนเองได้นั้น ช่วยพยุงให้กลุ่มบริษัทของตนยังอยู่ต่อไปได้แม้จะเกิดภาวะวิกฤต อีกทั้งยังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและมูลค่าของบริษัทได้หลังจากวิกฤต
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการโยกย้ายทรัพยากร ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้มหาเศรษฐีมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น จากผลการศึกษาข้างต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า วิกฤตโควิด 19 ทำให้ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทจากเดิมที่เติบโตช้ากว่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง กลับมาเติบโตได้เร็วพอ ๆ กัน อะไรเป็นสิ่งที่ให้ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น ผู้เขียนได้พยายามตอบคำถามนี้โดยแบ่งข้อมูลออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นข้อมูลที่มาจากประเทศรายได้ต่ำ ซึ่งมี GDP ต่อหัวประชากรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของข้อมูลทั้งหมด และส่วนที่สองเป็นข้อมูลที่มาจากประเทศรายได้สูง ซึ่งมี GDP ต่อหัวประชากรสูงกว่าหรือเท่ากับค่าเฉลี่ยของข้อมูลทั้งหมด
ประเทศรายได้ต่ำมักมีกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เอื้อต่อผู้มีอำนาจหรือเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ Faccio et al. (2006) ชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่มีเส้นสายทางการเมืองจะมีโอกาสได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ (bailout) ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมากกว่าบริษัทที่ไม่มีเส้นสาย จึงเปิดโอกาสให้มหาเศรษฐีรุ่นทายาทซึ่งมีเส้นสายทั้งทางธุรกิจและการเมืองที่แข็งแกร่งใช้เส้นสายเหล่านี้ในการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจของตนได้ ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศรายได้ต่ำเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในประเทศรายได้สูงในช่วงวิกฤต
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังแสดงอัตราการเติบโตของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีในประเทศรายได้ต่ำเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ โดยช่วงสามปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 ดังสรุปในรูปที่ 2 ด้านซ้าย ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทเติบโตช้ากว่าตลาดหลักทรัพย์ 14.3% และช้ากว่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง 7.8% เป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิด 19 ได้ทำให้ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทในประเทศรายได้ต่ำมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเติบโตเร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์ถึง 29.4% และเร็วกว่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง 7.5% ดังนั้น เมื่อเทียบกับสามปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทจะเติบโตเร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์มากถึง 43.7% ในขณะที่ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งเติบโตเร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์เพียง 28.4% ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศรายได้ต่ำ มีที่มาจากมูลค่าของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของมหาเศรษฐีรุ่นทายาท ซึ่งอาจจะสะท้อนให้เห็นมูลค่าอันมหาศาลของเส้นสายในช่วงเวลาวิกฤตในประเทศรายได้ต่ำ
หากพิจารณาจากข้อมูลเฉพาะประเทศรายได้สูงในรูปที่ 2 ด้านขวา จะพบว่า มีความแตกต่างจากผลการศึกษาจากข้อมูลประเทศรายได้ต่ำโดยสิ้นเชิง โดยอาจอธิบายได้ว่า ในประเทศรายได้สูง กฎหมายหรือกฎระเบียบที่เอื้อต่อมูลค่าของเส้นสายนั้นมีผลน้อย มูลค่าของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นของมหาเศรษฐีจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการโยกย้ายจัดการทรัพยากรในกำกับของตนเสียเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนจากมูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งในช่วงเวลาวิกฤตเติบโตได้เร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญทั้ง 1) เร็วกว่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาท 4.8% และ 2) เร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์ 12.1%
ภาวะวิกฤตที่ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศรายได้ต่ำ ไม่เพียงชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น แต่ยังสะท้อนว่า วิกฤตทำให้มูลค่าของการใช้เส้นสายทางการเมือง (political rent seeking) เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งในที่สุดจะส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ประสบปัญหากับดักรายได้ปานกลางที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น อีกหนึ่งคำถามสำคัญในงานวิจัยชิ้นนี้คือ อะไรที่จะลดความรุนแรงของปัญหากับดักรายได้ปานกลางในช่วงวิกฤตได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ อะไรที่จะทำให้มูลค่าของการใช้เส้นสายทางการเมืองลดลงได้ในช่วงเวลาวิกฤต?
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาวิกฤตคือ เส้นสายที่ทำให้ทายาทเหล่านี้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่นำมาช่วยพยุงธุรกิจของตนให้อยู่รอดต่อไปได้ ตัวอย่างของทรัพยากร เช่น เงินช่วยเหลือจากรัฐบาล สินเชื่อจากธนาคาร หรือเงินลงทุนของนักลงทุนในตลาดทุน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในงานวิจัยฉบับเต็มของผู้เขียน) ดังนั้น หากระบบการเงินในประเทศไม่เข้มแข็ง ธุรกิจที่เหลือรอดจากวิกฤตได้ จะเป็นธุรกิจที่มีทรัพยากรมหาศาลของตนเองหรือมีเส้นสายเท่านั้น แต่หากระบบการเงินในประเทศเข้มแข็ง มีกฎหมายปกป้องนักลงทุนที่มีประสิทธิภาพ นักลงทุนก็พร้อมที่จะลงทุนในบริษัทที่มีกระแสการเงินที่ดีแต่ประสบปัญหาจากสถานการณ์วิกฤต ถึงแม้ว่าบริษัทนั้นจะไม่มีเส้นสายใด ๆ ก็ตาม
เหตุผลข้างต้นจึงชี้ให้เห็นว่า ระบบการเงินที่เข้มแข็งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่มาจากเส้นสายในช่วงเวลาวิกฤตได้ ผู้เขียนได้ทดสอบสมมติฐานนี้โดยใช้วิธีทางเศรษฐมิติที่ให้ผลกระทบของวิกฤตต่อความเหลื่อมล้ำขึ้นอยู่กับระดับความเข้มแข็งของระบบการเงินด้วย กล่าวคือ ผลกระทบของวิกฤตต่อความเหลื่อมล้ำจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาทสามารถเขียนได้ในรูปของ โดย และ คือค่าคงที่ และ คือระดับความเข้มแข็งของระบบการเงินในประเทศที่มหาเศรษฐีอาศัยอยู่ ดังนั้น ถ้าหาก มีค่าเป็นลบ นั่นหมายความว่า ยิ่งระบบการเงินมีความเข้มแข็งขึ้นเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำจะลดลงมากเท่านั้น
ในการทดสอบสมมติฐานนี้ ผู้เขียนได้วัดระดับความเข้มแข็งของระบบการเงินจาก
- มูลค่าตลาดหลักทรัพย์โดยรวมต่อ GDP (MktCap/GDP)
- ปริมาณการซื้อขายโดยรวมในตลาดหลักทรัพย์ต่อ GDP (MktVol/GDP) และ
- ปริมาณสินเชื่อที่ให้กับภาคเอกชนต่อ GDP (Credit/GDP)
ซึ่งยิ่งตัววัดสามตัวนี้มีค่ามาก ระบบการเงินก็จะมีความเข้มแข็งมากตามไปด้วย
ผลการศึกษาพบหลักฐานทางสถิติที่สอดคล้องกับสมมติฐานข้างต้น รูปที่ 3 ชี้ให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำที่มาจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาทมีค่าเท่ากับ นั่นหมายความว่า ยิ่งมูลค่าโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์เทียบกับ GDP (MktCap/GDP) เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำที่มาจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาทจะลดลงไปเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้เขียนได้เปลี่ยนวิธีวัดระดับความเข้มแข็งของระบบการเงิน เป็นปริมาณการซื้อขายโดยรวมในตลาดหลักทรัพย์ต่อ GDP (MktVol/GDP) และ ปริมาณสินเชื่อที่ให้กับภาคเอกชนต่อ GDP (Credit/GDP) ตามลำดับ ผลลัพธ์ที่ได้ให้ข้อสรุปเหมือนกับกรณีมูลค่าหลักทรัพย์โดยรวมต่อ GDP นั่นคือ ยิ่งระบบการเงินมีความเข้มแข็งมากเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำที่มาจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาทจะยิ่งลดลงมากเท่านั้น
งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า วิกฤตโควิด 19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาเศรษฐีกับประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำ อัตราการเติบโตของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งและเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ หากมหาเศรษฐีรุ่นทายาทมีแนวโน้มที่จะใช้เส้นสายในการช่วยพยุงธุรกิจของตนมากกว่าการใช้ความสามารถหรือนวัตกรรมตามที่ Rajan & Zingales (2004) ได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ หลักฐานทางสถิติจากงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์วิกฤตโควิด 19 จะทำให้ประเทศที่มีรายได้ไม่สูง ยิ่งติดแน่นอยู่กับกับดักรายได้ปานกลางมากขึ้นไปอีก
แน่นอนว่าการติดกับดักรายได้ปานกลางย่อมส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ผู้เขียนได้นำเสนอเครื่องมือที่จะช่วยให้ประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบน้อยลงจากภาวะวิกฤต นั่นคือ การมีระบบการเงินที่เข้มแข็ง ยกตัวอย่างเช่น การมีหรือบังคับใช้กฎหมายที่ปกป้องผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างแข็งขัน หรือการให้สินเชื่อโดยพิจารณาจากศักยภาพของบริษัทมากกว่าความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทที่มีศักยภาพในการสร้างกระแสการเงินที่ดีแต่ไม่มีเส้นสายได้รับทุนที่ช่วยพยุงให้บริษัทเหล่านี้อยู่รอดต่อไปได้ในภาวะวิกฤต ส่งผลให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมต่อไปหลังจากภาวะวิกฤตในอนาคต