COVID-19 จากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ตอนที่ 2
excerpt
บทความนี้เป็นบทความที่สองของชุดบทความที่สรุปประเด็นสำคัญจากงานวิจัยใหม่ ๆ ทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 บทความนี้จัดสรุปกลุ่มงานวิจัย 2 หมวด คือ ผลกระทบต่อประชากรในกลุ่มต่าง ๆ และข้อเสนอนโยบายต่อรัฐบาลจากการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ บทสรุปของบทความนี้เสนอวิธีการประยุกต์ผลการศึกษาเพื่อดำเนินนโยบายการยกเลิกล็อกดาวน์และการให้ความช่วยเหลือประชากรในกลุ่มต่าง ๆ
งานวิจัยในหมวดนี้มีความคล้ายคลึงกันในด้านมิติของการจำแนกแรงงานเป็นกลุ่มต่าง ๆ Lekfuangfu, Piyapromdee, Porapakkarm, and Wasi (2020) ศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อแรงงานในประเทศไทย โดยแบ่งแรงงานไทยออกเป็น ตามความง่ายในการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน และดัชนีด้านลักษณะงานที่ต้องทำใกล้ชิดกับคนอื่น คณะผู้วิจัยพบว่าร้อยละ 31.5 ของแรงงานไทยทำงานในกลุ่มงานที่ต้องอาศัยเครื่องจักรและไม่สามารถทำงานผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารได้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างแรงงานเพศชายและแรงงานเพศหญิง แรงงานเพศชายส่วนมากทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรมากกว่าแรงงานเพศหญิง ดังนั้น แรงงานเพศชายจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากกว่าแรงงานเพศหญิง นอกจากนี้ แรงงานกลุ่มอายุ 46 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มทำงานที่ใช้เทคโนโลยีสื่อสารทดแทนไม่สะดวกจึงพบอุปสรรคในการปรับตัวทำงานที่บ้าน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยสุดคือ กลุ่มแรงงานที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเพราะรูปแบบงานเอื้อให้ทำงานจากที่บ้านและแรงงานกลุ่มนี้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีมากกว่า การล็อกดาวน์ในเดือนมีนาคมส่งผลให้กลุ่มลูกจ้างรายได้ระดับไม่เกิน 12,000 ต่อเดือน จำนวน 1.6 ล้านคน ได้รับผลกระทบมากที่สุด ตัวอย่างอาชีพที่ได้รับผลกระทบสูงสุด เช่น พนักงานทำความสะอาด พนักงานบริการในร้านอาหาร ครูในโรงเรียนอนุบาล ผู้นำเที่ยว และทันตแพทย์
Kaplan, Moll, and Violante (2020) ศึกษาผลกระทบต่อแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งกลุ่มอาชีพตามลักษณะงานออกเป็นสี่กลุ่มตามความง่ายในการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน และรูปแบบการปฏิสัมพันธ์กับคน คณะผู้วิจัยใช้แบบจำลองเศรษฐศาสตร์เพื่อพยากรณ์ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสต่อรายได้ในกรณีที่รัฐบาลสหรัฐไม่ดำเนินนโยบายใด ๆ งานวิจัยสรุปว่า หากไม่มีการล็อกดาวน์ แรงงานในสายงานที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านและรูปแบบงานมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้รับผลกระทบมากสุดจากรายได้ที่ลดลงกว่าร้อยละ 27 ในขณะที่แรงงานในสายงานที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นสูงแต่สามารถทำงานที่บ้านได้ มีรายได้ลงลงร้อยละ 15 แรงงานที่เหลือมีรายได้ลดลงร้อยละ 5 ดังแสดงในรูปที่ 1
Coibion, Gorodnichenko, and Weber (2020) ศึกษาฐานข้อมูลของ Nielsen Homescan ซึ่งได้จากการสำรวจครัวเรือนในสหรัฐอเมริกา และพบว่าการแพร่ระบาดของโรคไวรัสส่งผลกระทบต่ออัตราการว่างงานในสหรัฐสูงกว่าตัวเลขทางการของการยื่นขอเงินช่วยเหลือผู้ว่างงาน เนื่องจากแรงงานที่ตกงานส่วนหนึ่งไม่ถูกนับว่าอยู่ในตลาดแรงงานเพราะไม่ได้กำลังมองหางานใหม่ในระยะเวลานี้ ดังนั้น ตัวเลขสถิติอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นแค่เพียงราว ๆ ร้อยละ 2 แม้ว่าในความเป็นจริงแรงงานกว่าร้อยละ 7 ออกจากตลาดแรงงาน
ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วโลกกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน Hassan, Hollander, Lent, Tahoun (2020) พัฒนาระบบ computational linguistic algorithms เพื่อวิเคราะห์การใช้คำในรายงานงบการเงินของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 11,943 บริษัทใน 84ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ มกราคม 2001 ถึงมีนาคม 2020 คณะวิจัยพบว่าในช่วงสามเดือนแรกของปี 2020 บริษัททั่วโลกต่างพูดถึงความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสมากยิ่งขึ้น โดยความกังวลสูงสุดมาจากความต้องการบริโภคที่ลดลงของผู้บริโภค ตามมาด้วยความกังวลจากความไม่แน่นอน และความกังวลจากการส่งมอบวัตถุดิบเพื่อการผลิตที่หยุดชะงักลง ความกังวลจากความสามารถในการผลิตที่ลดลง และความกังวลเรื่องสวัสดิการของแรงงาน
ผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบมากเช่นกัน จากการสำรวจผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 5,800 รายในสหรัฐอเมริกา Bartik, Bertrand, Cullen, Glaeser, Luca, and Stanton (2020) ข้อสรุปว่า ประมาณร้อยละ 43 ของผู้ประกอบการในตัวอย่างปิดตัวลงและผู้ประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับลูกจ้างในเดือนมกราคม จากรูปที่ 2 ผู้ประกอบการรายย่อยมีความเปราะบางทางการเงินจากสภาพคล่องที่ไม่เพียงพอเพราะผู้ประกอบการส่วนมากมีค่าใช้จ่ายกว่าเดือนละ $10,000 และมีเงินสดเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายแค่เดือนเดียว แม้ว่าผู้ประกอบการยังคาดหวังเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ความซับซ้อนของระบบราชการและการตรวจสอบสิทธิ์ยังเป็นอุปสรรคหลักของการรับเงินช่วยเหลือ ผู้ประกอบการต่าง ๆ ประเมินว่ามีโอกาสร้อยละ 72 ที่จะยังดำเนินกิจการในหนึ่งเดือนข้างหน้า และเพียงร้อยละ 38 ที่จะยังดำเนินกิจการได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า
จากแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ Alvarez, Argente, and Lippi (2020) เสนอว่านโยบายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาคือการใช้การล็อคดาวน์จริงจังนาน 2 สัปดาห์ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีการระบาด ก่อนขยับเป็นกักตัวประชากรร้อยละ 60 เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน และกักตัวประชากรร้อยละ 20 เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน แนวคิดข้างต้นสอดคล้องกับข้อเสนอของ Oswald and Powdthavee (2020) ว่าประเทศอังกฤษสามารถยกเลิกการกักตัวชาวอังกฤษในวัย 20 ถึง 30 ปีซึ่งไม่อาศัยอยู่กับบิดามารดาได้ก่อนประชากรกลุ่มอื่น ๆ โดยให้เหตุผลว่าประชากรกลุ่มนี้มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสน้อยที่สุดและไม่มีความเสี่ยงเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสจากข้างนอกไปติดบิดามารดาที่บ้าน
อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องระมัดระวังในการลดระดับข้อกำหนดระยะห่างทางสังคม Bethune and Korinek (2020) พบว่าประชาชนในสหรัฐอเมริการับรู้ต้นทุนส่วนตัวของการติดเชื้อไวรัสที่ $80,000 ในขณะที่ต้นทุนทางสังคมมีค่าสูงกว่าสามเท่าที่ราว ๆ $286,000 ต้นทุนส่วนตัวและต้นทุนทางสังคมที่แตกต่างกันทำให้ประชากรประพฤติตัวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบภายนอก (Externalities) จากไม่ระมัดระวังว่าพฤติกรรมของพวกเขาแพร่กระจายเชื้อโรคต่อผู้อื่น และทำให้จำนวนเคสผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงมากกว่าเท่าที่ควรจะเป็น คณะผู้วิจัยเสนอว่านโยบายที่เหมาะสมคือ การกักกันผู้ติดเชื้อให้ไวที่สุด แต่ถ้าประชาชนจะระมัดระวังตัวน้อยลง ผู้ติดเชื้อที่หลุดรอดการกักตัวจะแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้กว้างขึ้นและต้นทุนทางสังคมของการมีผู้ติดเชื้อในสังคมจะเพิ่มขึ้นไปสูงถึง $586,000 ต่อคน
Keppo, Kudlyak, Quercioli, Smith, and Wilson (2020) เตือนว่าการใช้แบบจำลอง SIR (Susceptible-Infectious-Recovered) โดยไม่คำนึงถึงพฤติกรรมของมนุษย์จะประเมินอัตราการแพร่เชื้อไวรัสในประชากรผิดพลาด และตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นทางการจะน้อยกว่าความเป็นจริง แม้ว่าการทดสอบเชื้อไวรัสจะช่วยลดอัตราการตายได้ แต่ผลการทดสอบไม่ควรมีอายุเกิน 3–5วัน
งานวิจัยในประเทศไทยและในต่างประเทศมีข้อสรุปสอดคล้องกันว่าประชากรกลุ่มที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจาก COVID-19 สูงเพราะประกอบอาชีพรับจ้างชั่วคราวหรืออาชีพที่ไม่สามารถปรับตัวทำงานที่บ้านได้ ตัวเลขสถิติอัตราว่างงานอาจต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะไม่ได้รวมการลดระยะการทำงาน (underemployment) และไม่ได้รวมแรงงานที่ย้ายกลับถิ่นฐาน รัฐบาลจึงควรใช้นโยบายช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยอย่างเหมาะสมตามความรุนแรงของผลกระทบ
การยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์อาจค่อย ๆ ลดระดับความเข้มข้นลง โดยการให้กลุ่มประชากรอายุน้อยที่ไม่อาศัยอยู่กับผู้สูงอายุออกมาใช้ชีวิตตามปกติก่อนประชากรกลุ่มอื่น ๆ และรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มการสุ่มตรวจเชื้อไวรัสเพื่อป้องกันการแพร่กระจายระลอกที่สอง อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลจะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ประชาชนยังต้องไม่ประมาท มีความระมัดระวังในการรักษาระยะห่างทางสังคมเช่นเคย
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนทุกคนจะปลอดภัยและประเทศไทยจะฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว
Fernando Alvarez, David Argente and Francesco Lippi. 2020. “A Simple Planning Problem for Covid-19 Lockdown” NBER Working Paper No. 26981.
Bartik, Alexander W., Marianne Bertrand, Zoë B. Cullen, Edward L. Glaeser, Michael Luca, Christopher T. Stanton. 2020. “How Are Small Businesses Adjusting to COVID-19? Early Evidence from a Survey” NBER Working Paper No. 26989.
Bethune, Zachary A., Anton Korinek. 2020. “Covid-19 Infection Externalities: Trading Off Lives vs. Livelihoods” NBER Working Paper No. 27009.
Coibion, Olivier, Yuriy Gorodnichenko, and Michael Weber. 2020. “Labor Markets During the COVID-19 Crisis: A Preliminary View” NBER Working Paper No. 27017.
Hassan, Tarek Alexander, Stephan Hollander, Laurence van Lent, Ahmed Tahoun. 2020. “Firm-level Exposure to Epidemic Diseases: Covid-19, SARS, and H1N1” NBER Working Paper No. 26971.
Kaplan, Greg, Ben Moll, and Gianluca Violante. 2020. “Pandemics According to HANK”
Keppo, Jussi, Marianna Kudlyak, Elena Quercioli, Lones Smith, and Andrea Wilson. 2020. “The Behavioral SIR Model, with Applications to the Swine Flu Epidemic”
Oswald, Andrew J., and Nattavudh Powdthavee. 2020. “The Case for Releasing the Young from Lockdown: A Briefing Paper for Policy Makers” https://www.powdthavee.co.uk/
Lekfuangfu, Warn N., Suphanit Piyapromdee, Ponpoje Porapakkarm, and Nada Wasi. 2020. “On Covid-19: New Implications of Job Task Requirements and Spouse’s Occupational Sorting” PIER Discussion Paper No. 133.