excerpt
บทความ PIERspectives ชุดนี้ต้องการฉายภาพกว้างเกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมีหลากหลายมิติ และแต่ละมิติมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับหลายภาคส่วน โดยแบ่งออกเป็น 2 บทความต่อเนื่องกัน
บทความแรกนี้จะนำเสนอแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและของประเทศไทย ภาพจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตและแบบจำลองภูมิอากาศต่าง ๆ ตลอดจนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ
ส่วนบทความที่ 2 จะนำเสนอความจำเป็นในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas mitigation) การปรับและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low carbon economy) และการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change adaptation) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความท้าทายและอุปสรรคในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านองค์ความรู้ ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งนำไปสู่บทบาทของภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของลักษณะอากาศเฉลี่ยหรือความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องเป็นทศวรรษหรือนานกว่านั้น ซึ่งตามคำนิยามของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติหรือจากกิจกรรมของมนุษย์ก็ได้ ในขณะที่คำนิยามตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศของโลกเปลี่ยนแปลง และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่นอกเหนือจากการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน
ความสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่งเริ่มได้รับความสนใจเป็นวงกว้างไม่นานมานี้ ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์ได้เตือนถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตั้งแต่ช่วงปี 1970–1980 แล้วก็ตาม ซึ่งทศวรรษดังกล่าวเป็นช่วงที่ทั่วโลกประสบปัญหาวิกฤตการลดลงของโอโซน (ozone depletion) หรือภาวะการสูญเสียปริมาณก๊าซโอโซนในชั้นบรรยากาศโลกชั้นสตราโตสเฟียร์ (stratosphere) ที่ระดับความสูงประมาณ 20–40 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน โดยปฏิกิริยาเคมีระหว่างก๊าซโอโซนกับสารเคมีที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น โดยเฉพาะสาร CFC (chlorofluorocarbons) ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “หลุมโอโซน” (ozone hole) ทำให้รังสีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตจากดวงอาทิตย์สามารถส่องมายังพื้นผิวโลกได้โดยตรง วิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ขับเคลื่อนให้หลายประเทศทั่วโลกทำข้อตกลง พิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ร่วมกันในปี 1987 เพื่อยกเลิกการใช้สารซีเอฟซีในอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1989 เป็นต้นมา วิกฤตการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวงกว้าง ซึ่งความสนใจนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
สภาพภูมิอากาศของโลกตั้งแต่ในอดีตมีการแปรปรวนอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีตอาจไม่ได้มีความชัดเจนนัก แต่คาดว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น กระแสน้ำทะเล พลังงานแสงอาทิตย์ การประทุของภูเขาไฟ โดยมีหลักฐานทางธรณีวิทยาจากยุคน้ำแข็ง การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ตลอดจนบันทึกทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์หลายร้อยปีในอดีต (UNISDR, 2008) โดยรูปที่ 1a แสดงให้เห็นว่าในช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ก่อนปี 1850) การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยมีการแกว่งตัวอยู่บ้าง แต่อยู่ในกรอบแคบ ๆ
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกในช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม รูปที่ 1 ด้านซ้าย แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 1850 เป็นต้นมานั้นอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส (ºC) ส่วนรูปที่ 1 ด้านขวา แสดงข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิพื้นผิวโลกที่เกิดจากสาเหตุหรือปัจจัยทางธรรมชาติ (ได้แก่ แสงอาทิตย์และภูเขาไฟ) และที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกอย่างมากในช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มากขึ้นและการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและรองรับการขยายตัวของเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างมีอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงปี 1850–1900 นั้นสะท้อนให้เห็นได้จากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ธารน้ำแข็งที่ลดลง และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับที่ 6 ของ IPCC (The Sixth Assessment Report 6: AR6, IPCC, 2023) พบว่าอุณหภูมิพื้นผิวของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งตัวมากขึ้นตั้งแต่ปี 1970 ดังรูปที่ 2 ในขณะที่ธารน้ำแข็งบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2011–2020 พื้นที่ธารน้ำแข็งเฉลี่ยต่อปีบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกลดลงถึงระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1850 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 0.20 เมตรในช่วงปี 1901–2018 โดยเพิ่มในอัตราที่เร่งมากขึ้น จากเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.3 มิลลิเมตรต่อปีระหว่างปี 1901–1971 เป็น 1.9 มิลลิเมตรต่อปีระหว่างปี 1971–2006 และ 3.7 มิลลิเมตรต่อปีระหว่างปี 2006–2018 ดังรูปที่ 3
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนอกจากจะสะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยแล้วยังทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงและถี่ขึ้นอีกด้วย สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather events) คือเหตุการณ์ทางภูมิอากาศและลมฟ้าอากาศ ณ พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งและเวลาใดเวลาหนึ่งในรอบปีที่เกิดขึ้นในระดับที่รุนแรงแต่มีความถี่การเกิดไม่บ่อยครั้ง (Limsakul, 2015; Field, 2012; Stocker, 2013) เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุหมุนเขตร้อน ความร้อนสุดขั้ว เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่กำหนดความรุนแรงและความถี่ของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วนั้นเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาสมุทร บรรยากาศ และพื้นดิน โดยมีการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยเสริม ส่งผลให้สภาพอากาศสุดขั้วมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นและมีความถี่ในการเกิดที่สูงขึ้น อีกทั้งมีความแปรปรวนสูงทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา (Alexander et al., 2009; Kenyon & Hegerl, 2010)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นได้จากทั้งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยและสภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
- ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและร้อนยาวนานขึ้น หากพิจารณาอุณหภูมิเฉลี่ย (mean temperature) ของประเทศไทยย้อนหลัง 70 ปี ตั้งแต่ปี 1951 จนถึงปี 2021 (รูปที่ 4) จะพบว่าในภาพรวมอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 1ºC สำหรับค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิสูงสุด (mean maximum temperature) (รูปที่ 5) และค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิต่ำสุด (mean minimum temperature) (รูปที่ 6) นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยการเพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิสูงสุดและค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 1ºC (Office of Natural Resources and Environmental Policy and Planning, 2022) ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนี้มีความแตกต่างกันตามภูมิภาค โดยภาคตะวันออกและภาคกลางเผชิญการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยมากกว่าภาคอื่น ๆ (Limjirakan & Limsakul, 2012) (รูปที่ 7)
สภาพอากาศสุดขั้วของประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น ดังที่เห็นได้จากทั้งอุณหภูมิสุดขั้ว ความถี่และความรุนแรงของสถานการณ์ฝนตก และจำนวนพายุที่มีความรุนแรง ดังนี้
ประเทศไทยมีแนวโน้มที่อุณหภูมิสูงขึ้นและยาวนานขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน โดย Limjirakan & Limsakul (2012) พบว่า ดัชนีจำนวนคืน/วันที่อากาศหนาว (cold nights/days) มีแนวโน้มลดลงใน 83.1–90.8% ของสถานีตรวจวัดสภาพภูมิอากาศผิวพื้นทั้งหมดของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยจำนวนคืนที่หนาวลดลง 12 วันและจำนวนวันที่หนาวลดลง 8 วัน ในรอบ 40 ปี ในทางกลับกัน ดัชนีจำนวนคืน/วันที่อากาศอบอุ่น (warm nights/days) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จำนวนคืนที่อบอุ่นเพิ่มขึ้น 14.4 วัน และจำนวนวันที่อบอุ่นเพิ่มขึ้น 13.6 วัน ในรอบ 40 ปี การศึกษานี้ยังพบว่า ดัชนีช่วงระยะเวลาที่หนาว cold spell duration) ลดลงอย่างชัดเจนทั่วทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยและการลดลงของคืนและวันที่อากาศหนาว ในทางกลับกัน ดัชนีช่วงระยะเวลาที่อบอุ่น (warm spell duration) ในประเทศไทยยาวนานขึ้น โดยช่วงเวลาที่หนาวลดลงประมาณ 6.8 วันในรอบ 40 ปี ในขณะที่ช่วงระยะเวลาที่อบอุ่นเพิ่มขึ้นประมาณ 19.6 วันในรอบ 40 ปี สำหรับ ดัชนีจำนวนวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35ºC (summer day: SU35) เพิ่มขึ้น 21.6 วันในรอบ 40 ปี ในขณะที่ ดัชนีจำนวนคืนที่อุณหภูมิสูงกว่า 25ºC (tropical night: TR25) เพิ่มขึ้น 45.6 วันในรอบ 40 ปี
ความถี่ของเหตุการณ์ฝนตกในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ความเข้มของฝนที่ตกกลับเพิ่มขึ้น Limsakul & Singhruck (2016) พบว่า (1) ดัชนีปริมาณฝนจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก ในช่วงปี 1955-2011 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่นเดียวกันกับ ดัชนีความเข้มของฝนรายวันอย่างง่าย (simple daily intensity index: SDII) ซึ่งคำนวณจากปริมาณน้ำฝนรวมรายปีและจำนวนวันที่ฝนตก (2) ดัชนีจำนวนวันที่ฝนตกอย่างต่อเนื่อง (consecutive wet days: CWD) ซึ่งบ่งบอกถึงระยะเวลาที่ฝนตกชุกในช่วงฤดูฝน และ ดัชนีจำนวนวันที่ฝนไม่ตกอย่างต่อเนื่อง (consecutive dry days: CDD) ซึ่งบ่งบอกถึงสภาวะความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในรอบปี พบว่าจำนวนวันที่ฝนตกอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มลดลง (ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของจำนวนวันที่ฝนไม่ตกอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มในอัตราที่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ) (3) ดัชนีปริมาณฝนสูงสุดในรอบหนึ่งวัน (maximum 1-day precipitation: Rx1day) ซึ่งบ่งชี้เหตุการณ์ฝนตกหนัก พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย แต่จำนวนสถานีที่พบว่าดัชนี Rx1day มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนมากกว่าจำนวนสถานีที่พบการลดลงของดัชนี ดังนั้น ถ้าพิจารณาในภาพรวมของประเทศไทย พบว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญเหตุการณ์ฝนตกหนักเพิ่มขึ้น (4) ดัชนีจำนวนวันฝนตกหนัก (heavy precipitation day: R20) ซึ่งบอกถึงความถี่ในการเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนัก พบว่า ดัชนีมีแนวโน้มลดลงในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในขณะที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รูปที่ 8 สรุปผลการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของดัชนีสภาวะความรุนแรงของอุณหภูมิในบริบทของประเทศไทยจาก 65 สถานีตรวจวัดทั่วประเทศ ระหว่างปี 1970–2009 และรูปที่ 9 สรุปผลการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของดัชนีสภาวะความรุนแรงของฝนในประเทศไทยซึ่งตรวจวัดจาก 41 สถานี ระหว่างปี 1955–2011
จำนวนพายุที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง แต่จำนวนพายุที่มีความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยหากพิจารณาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงจำนวนพายุหมุนเขตร้อนซึ่งประกอบด้วยพายุดีเปรสชั่นเขตร้อน พายุโซนร้อน และพายุไต้ฝุ่น ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในระหว่างปี 1950–2020 นั้น ในภาพรวม จำนวนพายุต่อปีที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง (รูปที่ 10) แต่พายุในระดับที่รุนแรงกว่าพายุดีเปรสชั่น1ที่เกิดขึ้นในรอบทุก ๆ 10 ปี กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (รูปที่ 11)
การจำลองภูมิอากาศในอนาคต (climate scenario) เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาแนวทางในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการคาดการณ์ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเป็นข้อมูลนำเข้าที่สำคัญของแบบจำลองภูมิอากาศเหล่านี้ ในต่างประเทศได้มีการพัฒนาแบบจำลองภูมิอากาศขึ้นหลายรูปแบบ ทั้งแบบจำลองภูมิอากาศโลกที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่ไม่มากนัก (มาตราส่วนหลายร้อยกิโลเมตร) จนถึงแบบจำลองภูมิอากาศภูมิภาคหรือท้องถิ่นซึ่งมีความละเอียดเชิงพื้นที่สูง
ภาพจำลอง Special Report on Emissions Scenarios (SRES) เป็นภาพจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตรุ่นแรก ๆ ที่พัฒนาโดย IPCC ภายใต้ข้อสมมติของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในทิศทางต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศที่แตกต่างกัน 4 รูปแบบ ได้แก่ A1, A2, B1 และ B2 โดย A1 เป็นสถานการณ์ที่โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง A2 เป็นสถานการณ์ที่โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง-ปานกลาง B1 เป็นสถานการณ์ที่โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และ B2 เป็นสถานการณ์ที่โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปานกลาง-ต่ำ2 ส่วนรูปที่ 12 แสดงปริมาณการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ (atmospheric concentration) ระหว่างช่วงปี 1000–2100 โดยบางช่วงเวลาเป็นข้อมูลจากแกนน้ำแข็ง (ice core) บางช่วงเวลาเป็นข้อมูลที่ตรวจวัดจริง และบางช่วงเวลาเป็นข้อมูลจากการคาดการณ์จากแบบจำลองภายใต้ฉากทัศน์ต่าง ๆ
เมื่อนำข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศในอนาคตภายใต้ภาพจำลองต่าง ๆ ของ SRES มาเป็นปัจจัยนำเข้าในแบบจำลองภูมิอากาศโลก ผลการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศจะแตกต่างกันตามรูปแบบของการพัฒนาและปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ เช่น ภายใต้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมแบบ B2 อุณหภูมิของโลกอาจเพิ่มขึ้น 1.5ºC ในปี 2100 ในขณะที่ภายใต้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมแบบ A1FI อุณหภูมิของโลก อาจเพิ่มขึ้นสูงถึง 5.6ºC ในปี 2100 (รูปที่ 13)
ต่อมา IPCC ได้พัฒนาภาพจำลองสถานการณ์แนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (Representative Concentration Pathway: RCP) 4 สถานการณ์ ได้แก่ RCP2.6, RCP 4.5, RCP6.0 และ RCP8.5 เพื่อใช้เป็นภาพจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบใหม่ในรายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับที่ 5 (The Fifth Assessment Report: AR5) ซึ่งแต่ละภาพจำลองมีความแตกต่างกันในส่วนของความเข้มข้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย RCP2.6 เป็นภาพจำลองที่มีการใช้มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวด RCP4.5 และ RCP6.0 เป็นภาพจำลองที่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง ส่วน RCP8.5 เป็นภาพจำลองที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูง โดยรูปที่ 14(a) แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ (Anthropogenic CO2 emissions) ในภาพจำลอง RCP ต่าง ๆ
ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยที่คาดการณ์ในอนาคต จากรูปที่ 14(b) พบว่า เมื่อปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เพิ่มขึ้น อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งรายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับที่ 5 ของ IPCC (AR5) คาดว่าอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 21 ภายใต้ทุกภาพจำลอง แต่มีความรุนแรงที่แตกต่างกันไป
ภายใต้ภาพจำลอง RCP4.5 อุณหภูมิพื้นผิวโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 21 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5ºC เมื่อเทียบกับอุณหภูมิในช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ในขณะที่ภายใต้ภาพจำลอง RCP6.0 และ RCP8.5 อุณหภูมิพื้นผิวโลกจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 2ºC ดังรูปที่ 15 นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดคลื่นความร้อน (heat waves) บ่อยครั้งขึ้นและระยะเวลาที่ประสบปัญหาคลื่นความร้อนยาวนานมากขึ้น เหตุการณ์ฝนตกหนัก (extreme precipitation) มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้นในบางภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้น อุณหภูมิน้ำทะเลมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น มหาสมุทรประสบปัญหาการเป็นกรด และระดับน้ำทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังรูปที่ 16
ล่าสุด IPCC ได้พัฒนาภาพจำลอง Shared Socio-economic Pathways (SSP) โดยมีการนำมิติอื่น ๆ เช่น จำนวนประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจ การศึกษา การกลายเป็นเมือง (urbanization) และการพัฒนาของเทคโนโลยี มาร่วมพิจารณาประกอบ เพื่อเป็นการลดจุดอ่อนของภาพจำลองแบบ RCP ที่ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และได้นำมาใช้ในรายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับที่ 6 (The Sixth Assessment Report: AR6) โดยนำภาพจำลอง SSP ต่าง ๆ มาใช้ในการคาดประมาณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบและความเสี่ยง ตลอดจนแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนข้อสมมติฐาน ตัวแปรทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และทางเลือกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ
ภาพจำลอง SSP ได้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวม 5 สถานการณ์ ได้แก่ SSP1, SSP2, SSP3, SSP4 และ SSP5 โดย (1) SSP1 (Sustainability) เป็นสถานการณ์ที่ทุกประเทศได้ปรับรูปแบบการเติบโตเข้าสู่การเติบโตแบบยั่งยืน (2) SSP2 (Middle of the road) เป็นสถานการณ์ที่แต่ละประเทศปรับเข้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอัตราที่ไม่เท่ากัน (3) SSP3 (Regional rivalry) เป็นสถานการณ์ที่มีความกังวลทางด้านการแข่งขัน และนโยบายระหว่างประเทศที่เน้นผลประโยชน์ของประเทศและภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานและความมั่นคงทางอาหารของแต่ละประเทศ (4) SSP4 (Inequality) เป็นสถานการณ์ที่ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสและการลงทุนส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศและระหว่างกลุ่มคนในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้มีปัญหาด้านสังคม (5) SSP5 (Fossil-fuel development) เป็นสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกเติบโตโดยยังคงพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลอย่างเต็มที่ แต่ไปเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแทน
ภาพจำลองสถานการณ์ SSP ต่าง ๆ มีมิติของความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในมิติของความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากรูปที่ 17 พบว่าภาพจำลอง SSP1 เป็นสถานการณ์ที่มีความท้าทายทางด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต่ำ ภาพจำลอง SSP3 เป็นสถานการณ์ที่มีความท้าทายสูงทั้งทางด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาพจำลอง SSP4 เป็นสถานการณ์ที่มีความท้าทายทางด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ แต่ความท้าทายสูงด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาพจำลอง SSP5 เป็นสถานการณ์ที่มีความท้าทายสูงทางด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่มีความท้าทายทางด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต่ำ
เมื่อนำภาพจำลองของ SSP มาพิจารณาประกอบกับระดับของค่าคาดการณ์ของความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะมีสถานการณ์ที่มีความแตกต่างในแง่ของความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 สถานการณ์ ได้แก่ SSP1-1.9, SSP1-2.6, SSP2-4.5, SSP3-7.0 และ SSP5-8.5 ตารางที่ 1 สรุปผลการประมาณการการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายใต้แต่ละสถานการณ์ ส่วนรูปที่ 18 แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปี การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ
สถานการณ์ SSP1-1.9 และสถานการณ์ SSP1-2.6 เป็นสถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ต่ำมากและต่ำ ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีแนวโน้มลดลงถึงระดับการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050 และ 2070 ตามลำดับ
สถานการณ์ SSP2-4.5 เป็นสถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันจนกระทั่งถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 21
สถานการณ์ SSP3-7.0 และ SSP5-8.5 เป็นสถานการณ์ที่คาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงและสูงมาก โดยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้สถานการณ์ SSP3-7.0 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากระดับปัจจุบันภายในปี 2100 ส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้สถานการณ์ SSP5-8.5 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี 2050 ภายใต้สถานการณ์ SSP3-7.0 และ SSP5-8.5 นี้ จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีในปริมาณที่สูงมากและอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 4-5ºC สภาพอากาศสุดขั้วก็มีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้น ทั้งสภาวะร้อนสุดขั้ว (hot temperature extremes) เหตุการณ์ฝนตกหนัก (heavy precipitation) ภัยแล้งรุนแรง (IPCC, 2023) ดังนั้น หากในอนาคตประชาคมโลกไม่ดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น มีความเป็นไปได้ที่ว่าสภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศสุดขั้วจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
ภาพฉาย | ระยะใกล้ (2021–2040) | ระยะปานกลาง (2041–2060) | ระยะไกล (2061–2100) | |||
---|---|---|---|---|---|---|
Best estimate (ºC) | Very likely range (ºC) | Best estimate (ºC) | Very likely range (ºC) | Best estimate (ºC) | Very likely range (ºC) | |
SSP1-1.9 | 1.5 | 1.2 to 1.7 | 1.6 | 1.2 to 2.0 | 1.4 | 1.0 to 1.8 |
SSP1-2.6 | 1.5 | 1.2 to 1.8 | 1.7 | 1.3 to 2.2 | 1.8 | 1.3 to 2.4 |
SSP2-4.5 | 1.5 | 1.2 to 1.8 | 2.0 | 1.6 to 2.5 | 2.7 | 2.1 to 3.5 |
SSP3-7.0 | 1.5 | 1.2 to 1.8 | 2.1 | 1.7 to 2.6 | 3.6 | 2.8 to 4.6 |
SSP5-8.5 | 1.6 | 1.3 to 1.9 | 2.4 | 1.9 to 3.0 | 4.4 | 3.3 to 5.7 |
การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับประเทศไทยมีการศึกษาด้วยกันหลายแบบจำลอง ในบทความนี้จะอ้างอิงข้อมูลการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลกโดยศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาคและพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยรามคำแหง (Ramkhamhaeng University Center Of Regional Climate Change and Renewable Energy: RU-CORE) ด้วยวิธีพลวัตร (dynamical downscaling) จากข้อมูลจากโครงการ SEACLID CORDEX Southeast Asia Phase II3 โดยข้อมูลการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตที่นำเสนอในบทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากการคาดประมาณการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยในอนาคตที่ระดับ 1ºC 1.5ºC และ 2ºC โดยแบบจำลองภูมิอากาศภูมิภาค 3 แบบจำลอง4 ซึ่งสามารถสรุปผลการคาดการณ์ได้ดังนี้
- อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยในอนาคตคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นในทุกภาพจำลอง โดย (1) จะสูงขึ้น 1.0ºC ภายในช่วงปี 2020–2040 (2) จะสูงขึ้น 1.5ºC ภายในช่วงปี 2045–2080 และ (3) จะสูงขึ้น 2.0ºC ภายในช่วงปี 2050–2070 ดังที่แสดงในรูปที่ 195 นอกจากนี้ คาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2–4ºC ในปี 21006
ประเทศไทยจะเผชิญกับสภาพอากาศที่สุดขั้วมากขึ้น โดยจากการคาดประมาณการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้วสามารถสรุปข้อสังเกตได้7 ดังนี้
ประเทศไทยในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเผชิญอากาศร้อนมากขึ้นและช่วงเวลาที่อากาศร้อนยาวนานขึ้น ดัชนีความเข้มอุณหภูมิสุดขั้ว (TXn) ดัชนีช่วงเวลาที่อบอุ่น (WSDI) และดัชนีจำนวนวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35ºC ในพื้นที่ภาพรวมของประเทศไทยในอนาคตที่ต่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งภายใต้ RCP4.5 และ RCP8.5 ดังแสดงในรูปที่ 20a-20c
ประเทศไทยจะเผชิญกับทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันจากเหตุการณ์ฝนตกหนักมากยิ่งขึ้น ดัชนีปริมาณฝนสูงสุดใน 5 วัน (ดัชนี Rx5day) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (รูปที่ 21a) แต่ดัชนีจำนวนวันที่ฝนตกอย่างต่อเนื่อง (ดัชนี CWD) มีแนวโน้มลดลง (รูปที่ 21b) ส่วนการเปลี่ยนแปลงดัชนีจำนวนวันที่ฝนตกหนัก (ดัชนี R10mm) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (รูปที่ 21c)
ในช่วงระหว่างปี 1993–2019 พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศไทยประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล 3–5.7 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในพื้นที่อื่น ๆ บริเวณมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก (รูปที่ 22)
ระดับน้ำทะเลของประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 1 เมตรภายในปี 2100 การศึกษาของ Limsakul et al. (2024) พบว่าภายใต้สถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง (RCP4.5) คาดว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 35 เซนติเมตรภายในปี 2050 และเพิ่มขึ้น 80 เซนติเมตรภายในปี 2100 แต่ภายใต้สถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง (RCP8.5) คาดว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 38 เซนติเมตรภายในปี 2050 และเพิ่มขึ้น 99 เซนติเมตรภายในปี 2100
งานศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต แต่การประมาณความเสียหายจากผลการศึกษาต่าง ๆ ยังมีความแตกต่างกันมาก เช่น การศึกษาของ Nordhaus (2013) ประมาณการว่าความเสียหายต่อผลผลิต (economic output losses) ของโลก ณ สิ้นศตวรรษที่ 21 จะอยู่ที่ประมาณ 31 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ Dietz & Stern (2015) ประมาณการว่าความเสียหายจะอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการศึกษาของ Weitzman (2012) ให้ผลใกล้เคียงกับของ Nordhaus (2013) ความเสียหายต่อผลผลิตยังสะท้อนถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ดังแสดงในรูปที่ 23 ยิ่งไปกว่านั้น งานศึกษาของ Burke et al. (2015) พบว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนในระบบเศรษฐกิจ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจะทำให้รายได้เฉลี่ยของโลกจะลดลงถึง 23% ในปี 2100
ความเสี่ยงที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสามารถแบ่งตามช่องทางการส่งผ่านผลกระทบได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) ความเสี่ยงทางกายภาพ และ (2) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) คือ ความเสี่ยงที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยคุกคามด้านภูมิอากาศ ทั้งเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) เช่น พายุ น้ำท่วม ฯลฯ และเหตุการณ์ทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ (slow onset events) เช่น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ความเป็นกรดของมหาสมุทร (ocean acidification) และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล (United Nations Framework Convention on Climate Change, n.d.)
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (transition risk) คือความเสี่ยงที่เกิดจากกระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎหมาย เทคโนโลยี และรสนิยมผู้บริโภค ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่ (1) นโยบายการคลัง ทั้งด้านงบประมาณ ด้านภาษี และด้านการลงทุนของภาครัฐ (2) นโยบายการเงิน (3) กฎหมายและกฎระเบียบ เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้าและนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่กีดกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (4) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีซึ่งสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ (5) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการ เช่น ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าทดแทนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน
ความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลทางตรง ได้แก่ ผลกระทบต่อทรัพย์สินและรายได้ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทั้งธุรกิจ ครัวเรือน สถาบันการเงิน และรัฐบาล ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน (microfoundation) ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจมหภาคเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทั้งผลผลิตมวลรวมในประเทศ (gross domestic product: GDP) เงินเฟ้อ และความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจมหภาคที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ก่อให้เกิด ผลทางอ้อม ย้อนกลับไปยังธุรกิจ ครัวเรือน สถาบันการเงิน และรัฐบาลที่ได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวจากปัจจัยด้านมหภาคที่เปลี่ยนไปอีกด้วย ดังแสดงรูปที่ 24
การบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็นในการลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การบริหารความเสี่ยงมีข้อควรคำนึงถึงที่สำคัญ 3 ประการ
- การบริหารความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำนั้นอาจเผชิญกับการได้อย่างเสียอย่าง (trade-off) ในด้านหนึ่งนั้น การไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำย่อมมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านที่ต่ำ แต่ระบบเศรษฐกิจอาจต้องเผชิญความเสี่ยงทางกายภาพที่สูง ในทางตรงกันข้าม หากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่รวดเร็วจนเกินไป ถึงแม้ว่าจะช่วยลดความเสี่ยงทางกายภาพได้มาก แต่อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านที่สูง ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและคำนึงถึง Trade-off ที่เกิดขึ้น
ผลกระทบจากปัจจัยทางด้านภูมิอากาศต่าง ๆ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจช้าเร็วต่างกัน โดยเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมักส่งผลในระยะสั้นถึงระยะกลาง ส่วนเหตุการณ์ทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำมักส่งผลผลกระทบระยะกลางถึงระยะยาว (Network for Greening the Financial System, 2020)
ปัจจัยทางด้านภูมิอากาศต่าง ๆ ส่งผลกระทบที่หลากหลายต่อผู้คนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในมิติของลักษณะ ขนาด ตลอดจนความถี่ของผลกระทบ ดังนั้น ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบทางลบต่อธุรกิจและครัวเรือนจำนวนมาก แต่ก็มีธุรกิจและครัวเรือนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน
เนื้อหาในส่วนที่เหลือของบทความนี้จะนำเสนอตัวอย่างงานวิจัยเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้แก่ ภาคการผลิตสินค้าและบริการที่สำคัญของประเทศไทย (ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว) ภาคครัวเรือน ภาคการเงิน และการคลังภาครัฐ จากนั้นจะนำเสนอผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ได้แก่ ผลผลิตมวลรวม เงินเฟ้อ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยในแต่ละหัวข้อจะเสนอตัวอย่างงานศึกษาในระดับสากลและในบริบทของประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าและบริการผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ รายได้และสินทรัพย์ของธุรกิจ ความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำมีผลต่อรายได้ของธุรกิจทั้งจากความต้องการสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลดลง ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ต้นทุนในการดำเนินกิจการมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ในขณะที่ผลิตภาพของธุรกิจและแรงงานลดลง เป็นต้น ส่วนผลกระทบผ่านทางสินทรัพย์เกิดจากความเสียหายจากภัยธรรมชาติ การด้อยค่าลงของสินทรัพย์เมื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และความจำเป็นในการลงทุนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับประเทศไทยนั้น สภาพอากาศผิดปกติส่งผลกระทบค่อนข้างสูงต่อภาคเกษตรกรรมที่พึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสมและภาคการท่องเที่ยวที่พึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาติ Jirophat et al. (2022) พบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ (climate shocks) ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตสินค้าและบริการที่ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยภาคการเกษตรได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างสูง อุตสาหกรรมการผลิตส่วนมากหดตัวหลังจากเผชิญสภาพอากาศที่ผิดปกติ แต่อุตสาหกรรมก่อสร้างได้รับผลกระทบเชิงบวก ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลมาจากการความต้องการซ่อมแซมอาคารต่าง ๆ ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศผิดปกติ สำหรับอุตสาหกรรมที่พักแรมและบริการทางด้านอาหาร พบว่าได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติค่อนข้างสูงและผลกระทบค่อนข้างยืดเยื้อ นอกจากนี้ ผลกระทบของสภาพอากาศที่ผิดปกติต่อการส่งออกบริการซึ่งมีการท่องเที่ยวเป็นองค์ประกอบหลักหดตัวสูงกว่า 6%
เนื่องจากภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต และการท่องเที่ยวของประเทศไทย มีความอ่อนไหวสูงต่อสภาพภูมิอากาศ บทความนี้จะนำเสนอรายละเอียดของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภารการผลิตสินค้าและบริการเหล่านี้ ทั้งผลกระทบทางกายภาพและผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ผลกระทบทางกายภาพ ได้แก่ พายุและน้ำท่วม ภัยแล้ง และการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถส่งผลกระทบทั้งทางตรงต่อผลิตภาพทางการเกษตร และทางอ้อมผ่านทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต ทั้งดิน น้ำ และแรงงาน รวมถึงผ่านทางการแพร่กระจายของโรค ศัตรูพืช และแมลงอีกด้วย ในขณะที่ ผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่าน ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของราคาคาร์บอน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและกฎหมาย ผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กร และการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบาย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวสูงต่อสภาพภูมิอากาศเนื่องจากต้องพึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่เหมาะสมในกระบวนการผลิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การทำประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งสุดท้ายส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและราคาผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร (Gitz et al., 2016)
ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งต่อการผลิตและผลกระทบต่อทรัพย์สิน ดังที่สรุปในตารางที่ 2
ประเภทของความเสี่ยง | ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง | ผลกระทบต่อการผลิตและรายได้ของภาคเกษตรกรรม | ผลกระทบต่อสินทรัพย์ของภาคเกษตรกรรม |
---|---|---|---|
ความเสี่ยงทางกายภาพ | (1) พายุและน้ำท่วม |
|
|
(2) ภัยแล้ง |
| ||
(3) การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ |
| ||
(4) การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและความเป็นกรดของมหาสมุทร |
| ||
(5) การรุกรานของพืชและสัตว์ต่างถิ่น (alien species) |
| ||
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน | (1) การเปลี่ยนแปลงของนโยบาย กฎหมาย และกฎระเบียบ |
|
|
(2) การเพิ่มขึ้นของราคาคาร์บอน |
| ||
(3) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี |
| ||
(4) การเปลี่ยนแปลงของความต้องการของผู้บริโภค |
|
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อภาคการเกษตรในตารางที่ 2 มีรายละเอียดแยกตามกิจกรรมการผลิตดังนี้
งานศึกษาหลายชิ้น เช่น Lobell et al. (2011), Frieler et al. (2015) และ Rosenzweig et al. (2013) พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลิตผล (yields) ของข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในหลายภูมิภาคทั่วโลก นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของคืนที่มีอากาศร้อนสร้างความเสียหายต่อพืชหลายชนิด โดยข้าวเป็นพืชที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างเด่นชัด ทั้งผลกระทบในแง่ของผลิตผลและคุณภาพ อันที่จริงแล้ว ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลิตผลของพืชขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งอุณหภูมิ ลักษณะการตกของฝน และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ (atmospheric CO2) งานศึกษาของ Porter et al. (2014) พบว่าการเพิ่มขึ้นของโอโซนในชั้นโทรโพสเฟียร์สร้างความเสียหายต่อผลิตผลของพืชโดยเฉพาะถั่วเหลือง (8.5–14%) ข้าวสาลี (4–15%) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (2.2–5.5%) ส่วน Müller & Elliott (2015) พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบของต่อผลิตผลของพืชแต่ละชนิดในปี 2100 ภายใต้ฉากทัศน์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูง8 ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (-20% ถึง -45%) ข้าวสาลี (-5% ถึง -50%) ข้าว (-20% ถึง -30%) และถั่วเหลือง (-30% ถึง -60%)
จากข้อมูลที่ผ่านมา ผลผลิตของพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยมีความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ งานศึกษาต่าง ๆ พบว่าความแปรปรวนของภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ และการเปลี่ยนแปลงความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้วมีผลกระทบต่อผลิตผลการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทยหลายชนิดผ่านหลายช่องทาง เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอุณหภูมิตอนกลางคืนในช่วงที่ข้าวกำลังออกดอกจะกระทบกระบวนการสังเคราะห์แสงของข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง (Poapongsakorn et al., 2015) สำหรับภาวะฝนแล้งและฝนชุกในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่ฝนแล้งเกิดจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ (El Niño) ซึ่งเกิดขึ้นสลับกับฝนชุกจากปรากฏการณ์ลานินญ่า (La Niña) ปรากฏการณ์ทั้งสองสามารถวัดได้จากดัชนี ENSO ซึ่งงานศึกษาของ Poapongsakorn et al. (2015) ได้นำดัชนีดังกล่าวมาหาความสัมพันธ์กับค่าความผิดปกติของผลผลิตเกษตร (yield anomaly) พบว่า เมื่อใดที่มีภาวะฝนแล้งผลผลิตเกษตรที่สำคัญของไทยและเอเชียโดยเฉพาะข้าวโพดจะลดลงมากที่สุด รองลงมาคือ อ้อยและข้าว นอกจากนี้ งานศึกษาของ Thampanishvong et al. (2021) พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะส่งผลโดยตรงต่อการเกษตรทั้งในเชิงกายภาพของพืชและสัตว์รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่ใช้เพื่อการเกษตร
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยในอนาคต งานวิจัยพบว่าผลผลิตข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพาราจะปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเกษตรกรและธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงรายได้จากการส่งออกของประเทศไทย และอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกอีกด้วย โดยผลผลิตข้าวทั้งหมดซึ่งรวมทั้งข้าวนาปีและข้าวนาปรังคาดว่าจะลดลงประมาณ 10.18% และ 13.33% ภายใต้สถานการณ์ RCP4.5 และ RCP8.5 ตามลำดับ สำหรับผลผลิตพืชไร่อื่น ๆ เช่น อ้อยโรงงาน พบว่าผลผลิตอ้อยโรงงานคาดว่าจะลดลง 24.94% และ 34.93% ภายใต้สถานการณ์ RCP4.5 และ RCP8.5 ตามลำดับ ผลผลิตมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชทนแล้งก็คาดว่าจะลดลง 14.74% และ 21.26% ภายใต้สถานการณ์ RCP4.5 และ RCP8.5 ตามลำดับ (Pipitpukdee et al., 2020; Pipitpukdee et al., 2020) และผลผลิตยางพาราคาดว่าจะลดลง 5.30% และ 2.86% ภายใต้สถานการณ์ RCP4.5 และ RCP8.5 ตามลำดับ (Attavanich, 2019) (รูปที่ 26) การลดลงของผลผลิตของพืชเศรษฐกิจหลักประเภทต่าง ๆ ข้างต้น อาจจะส่งผลให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเหล่านี้เป็นวัตถุดิบต้องเผชิญกับผลประกอบการที่ผันผวนจากต้นทุนการผลิตและปริมาณวัตถุดิบที่มีความไม่แน่นอน
โดยรวมแล้ว สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบมีความแตกต่างในเชิงพื้นที่ Attavanich (2017) พิจารณาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดว่าจะสร้างความเสียหายสะสมระหว่างช่วงปี 2554–2588 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 0.61–2.85 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 17,912–83,826 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานจะได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 0.38–2.16 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 11,245–63,420 ล้านบาทต่อปี ขณะที่พื้นที่ในเขตชลประทานจะได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 0.23–0.69 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 6,667–20,405 ล้านบาทต่อปี (รูปที่ 27a) และเมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัดพบว่า 10 จังหวัดแรกที่คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา นครราชสีมา ตรัง จันทบุรี ระยอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ (รูปที่ 27b)
ปัจจัยคุกคามด้านภูมิอากาศที่สำคัญต่อการทำปศุสัตว์ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ การเพิ่มขึ้นของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ความแปรปรวนของฝน เป็นต้น (Aydinalp & Cresser, 2008; Henry et al., 2012; Calvosa et al., 2009; Nardone et al., 2010; Polley et al., 2013; Reynolds et al., 2010; Thornton et al., 2009) โดยอุณหภูมิเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อปศุสัตว์ ทั้งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตเนื้อและนม สุขภาพของสัตว์ การสืบพันธุ์ของสัตว์ รวมถึงผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่สัตว์ใช้กิน ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของอาหารสัตว์คือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และความแปรปรวนของฝน ในขณะที่อุณหภูมิที่สูงขึ้นและความแปรปรวนของฝนส่งผลกระทบต่อโรคในสัตว์
Brander (2010) พบว่าปัจจัยด้านภูมิอากาศที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ อุณหภูมิของน้ำทะเล ลม ค่าความเค็ม ปริมาณออกซิเจน ค่าความเป็นกรด/ด่างของน้ำทะเล เป็นต้น โดยผลกระทบสามารถจำแนกออกเป็นผลกระทบทางตรงและผลกระทบทางอ้อม ตัวอย่างผลกระทบทางตรง เช่น ผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ของสัตว์น้ำ อัตราการเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ พฤติกรรม ตลอดจนอัตราการอยู่รอดของสัตว์น้ำ Roessig et al. (2004) พบว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและค่าความเป็นกรดในมหาสมุทร การลดลงของปริมาณออกซิเจนที่อยู่ในน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของค่าความเค็มอาจส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลา สำหรับผลกระทบทางอ้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำผ่านผลกระทบต่อระบบนิเวศ ผลกระทบต่อปริมาณของสิ่งมีชีวิตในทะเลต่าง ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ผลิตผลของสัตว์น้ำขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำ ป่าชายเลน แนวปะการัง และแหล่งหญ้าทะเล เนื่องจากสัตว์น้ำพึ่งพาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศเหล่านี้ทั้งในการหาอาหาร เป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงการสืบพันธุ์ อย่างไรก็ดี การทำประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของแต่ละประเทศมีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ระดับความเปราะบางของการทำประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังจัดว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก Allison et al. (2009)
ภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งต่อการผลิตและผลกระทบต่อทรัพย์สิน ดังที่สรุปในตารางที่ 3
ประเภทของความเสี่ยง | ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง | ผลกระทบต่อการผลิตและรายได้ของภาคอุตสาหกรรม | ผลกระทบต่อสินทรัพย์ของภาคอุตสาหกรรม |
---|---|---|---|
ความเสี่ยงทางกายภาพ | (1) พายุและน้ำท่วม |
|
|
(2) ภัยแล้ง |
| ||
(3) ไฟป่า |
| ||
(4) การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ |
| ||
(5) การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล |
| ||
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน | (1) การเปลี่ยนแปลงของนโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบ |
|
|
(2) การเพิ่มขึ้นของราคาคาร์บอน |
| ||
(3) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี |
| ||
(4) การเปลี่ยนแปลงของความต้องการของผู้บริโภค |
|
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งแสดงในตารางที่ 3 มีรายละเอียดดังนี้
การเพิ่มขึ้นของความถี่และความรุนแรงของพายุและน้ำท่วมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจากการที่เครื่องจักร อุปกรณ์ภายในโรงงานและอาคารโรงงานได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานในภูมิภาคเอเชีย จากการศึกษาของ Moody’s Corporation (2021) พบว่าประมาณ 19–24% ของสินทรัพย์ภาคอุตสาหกรรมในเอเชียอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วม ภัยน้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อเครื่องจักร อุปกรณ์ และสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจส่งผลให้กระบวนการผลิตสินค้าล่าช้า โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทมีความเปราะบางสูงต่อภัยน้ำท่วม เช่น อุตสาหกรรมผลิตสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) เนื่องจากทั้งเครื่องจักร อุปกรณ์ และสินค้าที่ผลิตไม่สามารถโดนน้ำได้ ในอดีต อุตสาหกรรมผลิตสารกึ่งตัวนำของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งเกิดขึ้นในปี 2011 ส่งผลให้โรงงานหลายแห่งในประเทศไทยต้องปิดกิจการเนื่องจากต้นทุนในการฟื้นฟูและซ่อมแซมหลังน้ำท่วมสูงมาก (Moody’s Corporation, 2021) จากการประเมินความเสียหายและผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2011 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พบว่ามีนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 7 แห่ง โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 838 โรงงาน นอกนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 9,021 โรงงาน ผู้ประกอบการขนาด กลางและเล็ก (SMEs) จำนวน 2.85 แสนราย และแรงงานไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 20119
นอกจากผลกระทบโดยตรงต่อโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว พายุและน้ำท่วมยังกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย ทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต การขนส่งสินค้า และระบบโลจิสติกส์ ซึ่งส่งผลให้อุปทานสินค้าขาดแคลนและทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปี 2021 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาพายุหิมะรุนแรงส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์กว่า 80% ต้องปิดดำเนินการชั่วคราว ผลที่ตามมาคืออุตสาหกรรมปลายน้ำซึ่งใช้สารเคมีเป็นวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ ได้รับผลกระทบ โดยราคาส่งออก PVC เพิ่มขึ้นเป็น 1,775 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ภัยแล้งมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตที่ใช้น้ำมาก ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่พึ่งพาน้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เช่น ใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต ใช้ในกระบวนการทำความเย็น (cooling) ตลอดจนใช้ในการผลิตพลังงานและความร้อน (Aquatech, 2019) ตัวอย่างอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากในกระบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมคอนกรีต อุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ เป็นต้น (David Carlin & Baker, 2023) กระบวนการผลิตเหล็กใช้น้ำค่อนข้างเข้มข้น การผลิตเหล็ก 1 ตัน ต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตสูงถึง 62,600 แกลอน (EPA, n.d.) อุตสาหกรรมคอนกรีตพึ่งพาน้ำปริมาณค่อนข้างสูงในกระบวนการผลิตเช่นเดียวกัน (Miller et al., 2018)
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิมีผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและผลิตภาพของแรงงานที่ลดลง งานศึกษาของ David Carlin & Baker (2023) พบว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิส่งผลให้ต้นทุนในการทำความเย็นโดยใช้ระบบปรับอากาศสำหรับภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานของแรงงาน นอกจากนี้ งานศึกษาของ IEA (2018) พบว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยและการเกิดอุณหภูมิสุดขั้วอาจส่งผลกระทบต่อผลิตภาพของโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยการควบคุมอุณหภูมิในระดับที่เหมาะสมในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในกระบวนการหล่อเย็น (process cooling) สถานประกอบการอาจจำเป็นต้องใช้พลังงานและน้ำเพิ่มขึ้นในกระบวนการหล่อเย็นหากเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยอุณหภูมิที่ร้อนส่งผลให้แรงงานปวดศีรษะและเหนื่อยล้า งานศึกษาของ Pogačar et al. (2018) พบว่าความเครียดจากความร้อน (heat stress) ส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานลดลง Somanathan et al. (2021) ศึกษาโรงงานผลิตสินค้าประมาณ 70,000 โรงในประเทศอินเดีย พบว่าเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุก ๆ 1ºC มูลค่าของผลผลิตของโรงงานเหล่านี้ลดลงประมาณ 3%
ไฟป่ามีผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมจากความเสียหายของสินทรัพย์และระบบโลจิสติกส์ งานศึกษาของ Garman (2019) พบว่าไฟป่าอาจส่งผลให้เครื่องจักร อุปกรณ์ และสินทรัพย์ของโรงงานอุตสาหกรรมได้รับความเสียหาย อีกทั้งก่อให้เกิดอันตรายต่อแรงงานในโรงงาน รวมถึงส่งผลทำให้เส้นทางขนส่งสินค้าทั้งทางบกและทางรางต้องหยุดชะงัก
การเพิ่มขึ้นของราคาคาร์บอนทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น มาตรการการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing) คือมาตรการการคิดต้นทุนตามปริมาณคาร์บอนที่แฝงอยู่ในสินค้า มาตรการการกำหนดราคาคาร์บอนอาจอยู่ในรูปแบบของภาษีคาร์บอน ระบบซื้อ-ขายคาร์บอน (emission trading systems: ETS) ตลอดจนการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (internal carbon pricing) ราคาคาร์บอนซึ่งอยู่ในระดับที่เหมาะสมจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้มีการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนต่ำในภาคอุตสาหกรรมและในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ดี ราคาคาร์บอนที่สูงขึ้นอาจเพิ่มต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก และส่งผลให้ผลกำไรลดลง
การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐมีผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม หลายประเทศมีการออกนโยบายรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งอาจกระทบต่อการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรม เช่น มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมที่เข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้ มาตรการทางการค้า เช่น (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจำกัดปริมาณคาร์บอนที่แฝงมากับสินค้านำเข้า อาจสร้างแรงกดดันให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าเหล่านี้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการสั่งห้ามใช้ปุ๋ยเคมีในบางประเทศอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตแอมโมเนียเนื่องจากแอมโมเนียเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยเคมี เช่น ประเทศศรีลังกา นิวซีแลนด์ เป็นต้น นอกจากนี้ บางประเทศได้ออกมาตรการสั่งห้ามการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งกระทบต่อผู้ผลิตพลาสติกประเภทนี้ (David Carlin & Baker, 2023)
ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำอาจจูงใจให้โรงงานอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้มีผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำเป็นตัวเลือกมากขึ้น เช่น แอมโมเนียสีเขียว (green ammonia) พลาสติกชีวภาพ (bioplastics) คอนกรีตชีวภาพ (bio-concrete) เหล็กกล้าสีเขียว (green steel) ในขณะเดียวกัน โรงงานอุตสาหกรรมที่ยังมีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงย่อมเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น
การเปลี่ยนแปลงกฎหมายและกฎระเบียบทำให้มีการฟ้องร้องโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมลพิษสูงสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชน ตัวอย่างกฎหมายที่ควบคุมมลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ กฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) ในประเทศสหรัฐอเมริกา งานศึกษาของ Wolf & Hypes (2021) พบว่าที่ผ่านมามีบริษัทถูกฟ้องร้อง เช่น บริษัท United States Steel (USS) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเหล็กกล้าในเมืองพิตสเบิร์ก คดีฟ้องร้องดังกล่าวส่งผลทำให้บริษัท USS ต้องดำเนินมาตรการลดมลพิษทางอากาศและถูกดำเนินการทางแพ่ง ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
ธุรกิจที่ตอบสนองล่าช้าต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้บริโภคและตลาดอาจต้องเผชิญกับผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีองค์กรไม่แสวงหากำไรและองค์กรสาธารณะอื่น ๆ ได้รณรงค์ต่อต้านผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ
ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งต่อการให้บริการและรายได้ของธุรกิจท่องเที่ยว และผลกระทบต่อทรัพย์สินของธุรกิจท่องเที่ยว ดังที่สรุปในตารางที่ 4
ประเภทของความเสี่ยง | ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง | ผลกระทบต่อการผลิตและรายได้ของธุรกิจท่องเที่ยว | ผลกระทบต่อสินทรัพย์ของธุรกิจท่องเที่ยว |
---|---|---|---|
ความเสี่ยงทางกายภาพ | (1) พายุและน้ำท่วม |
|
|
(2) ภัยแล้ง |
| ||
(3) ไฟป่า |
| ||
(4) การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ |
| ||
(5) การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล |
| ||
(6) ความเป็นกรดของน้ำทะเล |
| ||
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน | (1) การเปลี่ยนแปลงของนโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบ |
|
|
(2) การเพิ่มขึ้นของราคาคาร์บอน |
| ||
(3) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี |
| ||
(4) การเปลี่ยนแปลงของความต้องการของผู้บริโภค |
|
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อภาคท่องเที่ยวซึ่งแสดงในตารางที่ 4 มีรายละเอียดดังนี้
การเพิ่มขึ้นของความถี่และความรุนแรงของพายุและน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว ทำให้แหล่งท่องเที่ยวต้องปิดให้บริการ กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนเส้นทางคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานบริเวณแหล่งท่องเที่ยว งานศึกษาของ Hamzah et al. (2012) ซึ่งศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแหล่งท่องเที่ยวในประเทศมาเลเซีย พบว่าภัยน้ำท่วมส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนลดลง ลูกค้าที่ใช้บริการโรงแรมลดลง และการจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างเบาบางซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจของท้องถิ่นบริเวณแหล่งท่องเที่ยว
การเกิดภัยแล้งกระทบต่อปริมาณน้ำที่ใช้ในการให้บริการนักท่องเที่ยว งานศึกษาของ Schneckenburger & Aukerman (2002) พบว่าภัยแล้งส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวหลายประเภท ทั้งแหล่งท่องเที่ยวประเภทสวนสาธารณะ/อุทยาน แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ เช่น กิจกรรมล่องแพ กิจกรรมนั่งเรือ เป็นต้น ในกรณีของ Dube et al. (2022) ผลการศึกษาพบว่าภัยแล้งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในแถบ Western Cape ลดลงอย่างมาก อีกทั้งส่งผลให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายน้อยลงและการจองห้องพักในโรงแรมลดลง
การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงคลื่นซัดฝั่งอาจสร้างความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่ง จากงานศึกษาของ Fang et al. (2016) พบว่าแหล่งท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในมณฑลเจ้อเจียง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น โรงแรม ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากน้ำท่วม ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ตลอดจนคลื่นซัดฝั่ง
ไฟป่าส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวอย่างมากโดยเฉพาะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง งานศึกษาของ Otrachshenko & Nunes (2022) ซึ่งศึกษาผลกระทบของไฟป่าต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศโปรตุเกสโดยใช้ข้อมูลจาก 278 มณฑลระหว่างปี 2000–2016 พบว่าเมื่อพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าเพิ่มขึ้นจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวลดลง ทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจของไฟป่าต่อการท่องเที่ยวของประเทศโปรตุเกสอยู่ระหว่าง 17.03–24.18 ล้านยูโร สำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศและ 18.26–38.08 ล้านยูโรสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ภาวะความเป็นกรดของน้ำทะเลส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง งานศึกษาของ Brander et al. (2012) พบว่าการท่องเที่ยวทางทะเลโดยเฉพาะกิจกรรมดูปะการังได้รับผลกระทบจากภาวะความเป็นกรดของน้ำทะเล เช่น Great Barrier Reef ที่ประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นแหล่งปะการังที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาความเป็นกรดของน้ำทะเล (Pendleton et al., 2019)
การเปลี่ยนแปลงของนโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเช่นกัน ในกรณีของประเทศฟิจิ งานศึกษาของ United Nations Environment Programme (2008) พบว่ามีการออกกฎหมายควบคุมอาคาร (building code) ซึ่งกำหนดให้อาคารที่ก่อสร้างใหม่ต้องสามารถต้านทานลมที่มีความเร็วอย่างน้อย 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศฟิจิได้รับผลกระทบจากลมพายุและพายุไซโคลนบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับภาคการท่องเที่ยวชายฝั่งของประเทศฟิจิอย่างมาก
ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งานศึกษาของ United Nations Environment Programme (2008) ยกตัวอย่างเทคโนโลยีซึ่งช่วยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เทคโนโลยีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า เทคโนโลยีการกลั่นน้ำเค็มเป็นน้ำจืด เป็นต้น ซึ่งช่วยในการรับมือกับเหตุการณ์ภัยแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพของประชาชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และฝนตกที่มีความถี่และรุนแรงมากขึ้น และกระทบต่อคนเป็นวงกว้างโดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ มากขึ้น (Hoegh Guldberg et al., 2018; Watts et al., 2021) โดยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพนี้มีทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ( Haines & Ebi, 2019)
ผลกระทบทางตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพเกิดจากการบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลจากทั้งเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ภัยพิบัติต่าง ๆ และเหตุการณ์ทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เช่น ความร้อน งานศึกษาของ Plongmak et al. (2013) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับภาระทางด้านสุขภาพ (Health burden) ซึ่งประเมินจากการเสียชีวิตหรือการได้รับบาดเจ็บที่เกิดจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว โดยวัดจากการสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability-Adjusted-Life-Years: DALYs) โดยพิจารณาจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นในประเทศไทยระหว่างปี 2006–2010 ผลการศึกษาพบว่าจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียอยู่ที่ 16,274 ปีสุขภาวะที่สูญเสีย นอกจากนี้ งานศึกษาของ UNESCAP (2023) ศึกษาผลกระทบของสภาพอากาศสุดขั้วต่อการสูญเสียปีสุขภาวะในประเทศไทยในปี 2021 ต่อประชากร 100,000 คน ผลการศึกษาพบว่าคลื่นความร้อนเป็นเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่มีค่า DALYs สูงที่สุดโดยอยู่ที่ 8.1 ต่อประชากร 100,000 คน รองลงมาคือพายุหมุนเขตร้อน (4.4) น้ำท่วม (0.7) และภัยแล้ง (0.1)
ผลกระทบทางตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพยังรวมถึงผลต่อสุขภาพจิตด้วย โดยพบปัญหาด้านสุขภาพจิตและความเครียดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ อีกทั้งเหตุการณ์สภาวะอากาศสุดขั้วยังส่งผลทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ (trauma) ในกลุ่มผู้ที่ประสบภัย และกระทบต่อการดำเนินชีวิต
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสุขภาพของประชากรผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การแพร่กระจายที่เพิ่มขึ้นของโรคติดต่อ และความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุข งานศึกษาขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization, 2015; United Nations Framework Convention on Climate Change, 2015) และ IPCC AR6 พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อน การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโอโซน การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออก หรือโรคอื่น ๆ ที่มีแมลงเป็นพาหะ โดยเฉพาะภายใต้ฉากทัศน์ที่ไม่มีการดำเนินการปรับตัวในเชิงรุกหรือการปรับตัวค่อนข้างจำกัด งานศึกษาของ Climate and Health Alliance (2022) พบว่าโรคที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ (climate-sensitive diseases) เป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงกับ 69.9% ของการเสียชีวิตทั่วโลก นอกจากนี้ งานศึกษาขององค์การอนามัยโลกยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอุณหภูมิที่สูงขึ้นและโรคที่มีแมลงเป็นพาหะและโรคที่มีน้ำเป็นสื่อ รวมถึงน้ำท่วม เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตประมาณ 250,000 ของประชากรทั่วโลกระหว่างปี 2030–2050 (World Health Organization, 2023) นอกจากนี้ ความเสียหายของสถานพยาบาลและโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขอื่น ๆ จากสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งน้ำท่วม พายุ ภัยแล้ง ยังกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพของประชาชนอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะภัยแล้ง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง และน้ำท่วม ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกต้องอพยพหรือย้ายถิ่นที่อยู่ จากงานศึกษาของ IPCC (1990) พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้มนุษย์มีการอพยพหรือย้ายถิ่นฐาน โดยมีการคาดการณ์ว่ามีประชากรหลายล้านคนต้องย้ายถิ่นที่อยู่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง น้ำท่วมชายฝั่ง รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ส่วนการประมาณการโดย Cross & Societies (2001) พบว่ามีผู้ที่ถูกบังคับให้อพยพหรือย้ายถิ่นฐานเนื่องจากสาเหตุด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม (environmental refugees) ประมาณ 25 ล้านคนทั่วโลก การศึกษาของ UN University (2005) คาดการณ์ว่าจะมีผู้ที่ต้องย้ายถิ่นฐานอันเนื่องมาจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า 50 ล้านคน ในขณะที่งานศึกษาของ Myers (2005) คาดว่าจะมีประชากรกว่า 200 ล้านคน ต้องย้ายถิ่นฐานเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากพายุ เหตุการณ์ฝนตกหนัก ภัยแล้ง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และปัญหาน้ำท่วมชายฝั่ง
การตัดสินใจอพยพหรือย้ายถิ่นฐานของครัวเรือนเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภัยที่เผชิญ ความเปราะบางของครัวเรือนต่อภัยพิบัติ สินทรัพย์และแนวทางที่ครัวเรือนสามารถใช้ในการรับมือกับผลกระทบ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ครัวเรือนตัดสินใจเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานในลักษณะที่แตกต่างกัน งานศึกษาของ Raleigh & Jordan (2010) พบว่า สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง พบว่ามีการอพยพหรือย้ายถิ่นฐานชั่วคราว (temporary migration) เพื่อลดความเสี่ยงหรือผลกระทบของภัยแล้งต่อครัวเรือน เนื่องจากเกรงว่าการผลิตอาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ (Henry et al., 2004; Roncoli et al., 2001; Hampshire & Randall, 1999; Guilmoto, 1998; Hill, 1989) ดังนั้น การย้ายถิ่นฐานของประชากรในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จุดหมายปลายทางส่วนใหญ่คือพื้นที่เขตเมืองซึ่งอยู่ไม่ไกลจากถิ่นที่อยู่เดิมมากนัก อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลหรือปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พบว่ามีประชากรจำนวนมากที่ตัดสินใจย้ายถิ่นฐาน เช่น ในกรณีของการกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำในประเทศบังคลาเทศ (Mahmood, 1995; Zaman, 1989) นอกจากนี้ ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบสูงจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอนาคตมีแนวโน้มที่จะพบการย้ายถิ่นฐานของประชากรเพื่อใช้ในการรับมือกับผลกระทบและความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจลดทอนโอกาสในการอพยพย้ายถิ่นฐานของครัวเรือน ส่งผลให้ครัวเรือนจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งานศึกษาของ Kaczan & Orgill-Meyer (2020) พบว่าการเกิดเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศที่รุนแรง เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง อุณหภูมิสูงสุดขั้ว อาจลดทอนความสามารถของครัวเรือนในการอพยพย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงทำให้ครัวเรือนสูญเสียทรัพยากรและเงินทุนที่จำเป็นต้องใช้ในการอพยพไปยังถิ่นที่อยู่ใหม่ นอกจากนี้ งานศึกษาของ Kaczan & Orgill-Meyer (2020) ยังพบว่าการอพยพย้ายถิ่นฐานเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านภูมิอากาศ (climate-induced migration) ส่วนใหญ่น่าจะเป็นการย้ายถิ่นฐานภายในประเทศมากกว่าการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ และเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป (slow-onset climate events) น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ครัวเรือนตัดสินใจอพยพมากกว่าเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงที่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด
สำหรับประเทศไทย ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรเช่นกัน โดยเฉพาะภัยแล้งและการกัดเซาะชายฝั่ง งานศึกษาของ Chaichiangpin & Sonsuphap (2023) ซึ่งเก็บข้อมูลจากวิธีการสัมภาษณ์กลุ่มแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ย้ายถิ่นสู่พื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออก พบความเห็นว่าปัญหาภัยพิบัติ และปัญหาจากการเกิดภัยตามฤดูกาล เช่น ปัญหาน้ำแล้ง ที่มีต้นทุนในการแก้ไขปัญหา คือปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้มีการย้ายถิ่นของแรงงาน นอกจากนี้ งานศึกษา Sonthisuwannakun & Thamma-apipon (2019) ซึ่งศึกษาการปรับตัวของเกษตรกรชาวนาในจังหวัดนครปฐมต่อสถานการณ์ภัยแล้ง พบว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจสืบเนื่องมาจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และฝนทิ้งช่วงนาน ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง จนเกิดภาวะหนี้สิน และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพและย้ายถิ่นทั้งชั่วคราวและถาวรเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว สำหรับการตัดสินใจอพยพเนื่องมากจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย งานศึกษาของ Teerawiroon (2015) พบว่ามีครัวเรือนจำนวนหนึ่งในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐานไปพื้นที่อื่น จนเหลือจำนวนครัวเรือนเพียง 100 ครัวเรือน จากเดิมที่เคยมีประมาณ 200 ครัวเรือน ในการสำรวจพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตกโดย Charoensit (2007) พบว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ทำให้พื้นที่ตามแนวชายฝั่งสูญหายไปจำนวนมาก บางพื้นที่มีพื้นที่ถูกกัดเซาะลึกเข้ามาเป็นระยะทางมากกว่า 100 เมตร จนมาถึงพื้นที่ชุมชน ส่งผลให้มีการอพยพย้ายบ้านเรือนกันเป็นประจำในทุกปี เนื่องจากความรุนแรงของการกัดเซาะชายฝั่งได้เพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนชายฝั่งเป็นพื้นที่กว้าง โดยตัวอย่างผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่ง เช่น บ่อปลา บ่อกุ้ง และสวนมะพร้าวของประชาชน รวมทั้งสาธารณูปโภคต่าง ๆ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อรายได้ รายจ่าย สินทรัพย์ และหนี้สินของครัวเรือน โดยกระทบรายได้ครัวเรือนผ่านทางอาชีพและผลิตภาพ รายจ่ายครัวเรือนผ่านทางค่าครองชีพ การเข้าถึงสินค้าและบริการรวมถึงความมั่นคงทางอาหาร สินทรัพย์ของครัวเรือนผ่านทางทุนทางธรรมชาติ ทุนทางกายภาพ ตลอดจนทุนทางเศรษฐกิจ10 โดยมีรายละเอียดของผลกระทบในแต่ละมิติดังนี้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนเกษตร การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนจำนวนมาก แต่ผลกระทบต่อครัวเรือนในภาคเกษตรมีแนวโน้มที่สูงกว่าผลกระทบต่อครัวเรือนนอกภาคเกษตร สำหรับครัวเรือนในภาคการเกษตร ทุก ๆ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1ºC ส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนเกษตรลดลงถึง 3.3% ในขณะที่รายได้ของครัวเรือนนอกภาคการเกษตรลดลงเพียง 0.4% (Maqbool et al., 2023; Ma & Maystadt, 2017; Di Falco et al., 2011) นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชและเพิ่มความผันผวนทางด้านรายได้ของครัวเรือนเกษตร โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรรายเล็กซึ่งพึ่งพารายได้จากการทำการเกษตร อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ขับเคลื่อนให้ครัวเรือนกระจายความเสี่ยงผ่านแหล่งรายได้อื่น ๆ (Jalal et al., 2021)
ภาคครัวเรือนในประเทศไทยมีความเปราะบางสูงมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากครัวเรือนจำนวนมากพึงพารายได้จากภาคเกษตร แรงงานในภาคเกษตรของไทยมีจำนวนมากถึง 12.62 ล้านคน หรือ 34.1% ของกำลังแรงงานทั้งหมด นอกจากนี้ หากพิจารณาลักษณะของพื้นที่ทำการเกษตรจะพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินถือครองไม่มาก มีการศึกษาน้อย และมีครัวเรือนเกษตรเพียง 26% ที่เข้าถึงระบบชลประทาน (Attavanich et al., 2019; Thampanishvong et al., 2021)
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรด้วยเช่นกัน แรงงานซึ่งประกอบอาชีพในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางด้านภูมิอากาศมีรายได้ที่ลดลงจาก (1) การจ้างงานที่ลดลง ทั้งจากชั่วโมงการทำงานลดลง การสูญเสียงาน และการเจ็บป่วยจากภัยคุกคามทางด้านภูมิอากาศ (2) ค่าจ้างที่ลดลง เนื่องจากผลิตภาพแรงงานที่ลดลง จากการที่ทุนและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพถูกทำลายโดยภัยธรรมชาติและจากสุขภาพที่แย่ลง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้รายจ่ายของครัวเรือนสูงขึ้น โดยเฉพาะรายจ่ายด้านพลังงาน รายจ่ายในการเดินทาง รายจ่ายเพื่อสุขภาพ รวมถึงรายจ่ายจากการซื้อสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค งานศึกษาของ US Department of the Treasury (2023) พบว่าสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้ราคาพลังงานและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนสูงขึ้น อีกทั้งสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม เช่น อากาศที่ร้อนจัด อาจส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าที่ครัวเรือนต้องจ่ายสูงขึ้นจากความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางของครัวเรือนสูงขึ้นจากการที่ครัวเรือนต้องปรับเปลี่ยนจากการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นการเดินทางรูปแบบอื่น ๆ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนก็อาจมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ สภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมยังอาจกระทบห่วงโซ่อุปทานของสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือน
นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อทุนมนุษย์ (human capital) เช่น สุขภาพของครัวเรือนแล้วนั้น ภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมยังสร้างความเสียหายให้กับทุนทางกายภาพ (physical capital) และทุนทางธรรมชาติ (natural capital) ของครัวเรือนอีกด้วย ทุนทางกายภาพ เช่น สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน ตึก อาคาร อาจกลายเป็นสินทรัพย์ด้อยค่า (stranded assets) งานศึกษาของ Fussell (2015) พบว่าหลังจากเฮอริเคนแคทรินา ราคาบ้านในเมืองนิวออร์ลีนส์ตกต่ำลง ในบางกรณีค่าซ่อมแซมบ้านสูงกว่ามูลค่าบ้านที่คงเหลือ ทำให้ครัวเรือนจำนวนหนึ่งต้องละทิ้งที่อยู่ สำหรับทุนทางธรรมชาตินั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ ที่ดินโดยเฉพาะที่ดินเพื่อการเกษตร ตลอดจนทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการดำรงชีพของประชาชน (Evans, 2009)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน การที่สภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมทำให้รายได้ของครัวเรือนลดลงและค่าใช้จ่ายของครัวเรือนสูงขึ้น ส่งผลทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาภาวะความตึงเครียดทางการเงิน (financial strain) ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง (US Department of the Treasury, 2023; Consumer Financial Protection Bureau, 2022) การที่ครัวเรือนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังความน่าเชื่อถือของครัวเรือนซึ่งกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต (Consumer Financial Protection Bureau, 2022) งานศึกษาของ Kandikuppa & Gray (2022) พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอินเดีย เช่น ระบบวรรณะและการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน) ส่งผลทำให้ปัญหาหนี้สินของครัวเรือนในชนบทของประเทศอินเดียแย่ลง ส่วนงานศึกษาของ Zhang et al. (2022) พบว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมเพิ่มความน่าจะเป็นที่ครัวเรือนในประเทศจีนจะเป็นหนี้
ความเสี่ยงทางกายภาพจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินของภาคการเงินสูงขึ้น โดย Network for Greening the Financial System (2021) ได้แบ่งความเสี่ยงทางการเงินเหล่านี้ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
- ความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) เนื่องจากโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่สูงขึ้น มูลค่าของหนี้ที่ผิดนัดชำระที่สูงขึ้น และหลักประกันที่กลายเป็นสินทรัพย์ด้อยค่า (stranded assets) ที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
- ความเสี่ยงด้านภาวะตลาด (market risk) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อทั้งธุรกิจแต่ละแห่งและต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้ราคาหลักทรัพย์เปลี่ยนไป ทั้งราคาของตราสารทุน ตราสารหนี้ และโภคภัณฑ์ ซึ่งราคาตลาดของสินทรัพย์อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ (unexpected realizations) เช่น ราคาของสินทรัพย์ที่เดิมไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างครบถ้วน (Pierpaolo Grippa & Suntheim, 2019)
- ความเสี่ยงในการรับประกัน (underwriting risk) เนื่องจากโอกาสและมูลค่าความเสียหายที่เพิ่มขึ้น
- ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (operational risk) ที่เกิดจากการดำเนินกิจการโดยตรงของสถาบันการเงิน เช่น การหยุดชะงักของกิจการ และการถูกฟ้องร้อง นอกจากนี้ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำยังส่งผลต่อความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) ในการหาแหล่งเงินทุน รวมถึงแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อทดแทนเงินกู้เดิม (rollover และ refinancing)
ความเสี่ยงทางการเงินของภาคการเงินที่สูงขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่องบดุลของสถาบันการเงินทั้งทางด้านสินทรัพย์และหนี้สิน ผลกระทบทางฝั่งสินทรัพย์ (assets) เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหลักประกันที่กลายเป็นสินทรัพย์ด้อยค่า หลักทรัพย์ทางการเงินที่สถาบันการเงินถืออยู่มีมูลค่าลดลง เป็นต้น ส่วนตัวอย่างผลกระทบทางฝั่งหนี้สิน (liabilities) ได้แก่ ภาระที่บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบมากขึ้นเนื่องจากความเสียหายจากภัยพิบัติมีมูลค่ามากขึ้นและเกิดถี่ขึ้นเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในอดีต นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังอาจทำให้ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่ในอดีตไม่มีความสัมพันธ์กัน (uncorrelated risk) กลับมีความสัมพันธ์กัน (correlated risk) ซึ่งเป็นการลดความสามารถของสถาบันการเงินในการกระจายความเสี่ยง (diversification) อีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลต่อเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงิน เนื่องจาก (1) สถาบันการเงินแต่ละแห่งเผชิญกับความเสี่ยงเฉพาะ (idiosyncratic risk) ที่มากขึ้น และ (2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมีแนวโน้มที่จะมีผลกระทบในวงกว้าง จึงเพิ่มความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ซึ่งธุรกิจ ครัวเรือน และสถาบันการเงินมีข้อจำกัดในการกระจายความเสี่ยงนี้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการคลังภาครัฐ ทั้งสินทรัพย์ รายได้ และรายจ่าย ซึ่งในที่สุดแล้วมีผลต่อหนี้สินและความยั่งยืนทางการคลัง (fiscal sustainability) โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการคลังภาครัฐผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อสินทรัพย์ภาครัฐ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้นสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง สาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทำให้ภาครัฐมีภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นในการลงทุนซ่อมแซมทรัพย์สินเหล่านี้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจมีรายได้ที่ลดลงทำให้มีภาระภาษีลดลงตามไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อรายได้และรายจ่ายภาครัฐผ่านการดำเนินนโยบายการคลัง เนื่องจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสะท้อนถึงความล้มเหลวของกลไกตลาด ภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ นอกเหนือจากการออกกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ แล้ว ภาครัฐยังมีบทบาทในการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) และบทบาทในการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation) ผ่านนโยบายการคลัง โดยการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการยกเว้นภาษีและการให้เงินอุดหนุนสำหรับกิจกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน และการเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) กับกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศ นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีบทบาทในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านในกรณีที่ภาคเอกชนไม่มีแรงจูงใจ เช่น โครงสร้างการผลิตหรือการส่งพลังงานสะอาด และมีบทบาทในการให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมีความท้าทาย เพราะภาครัฐเผชิญกับเป้าหมาย 3 ประการที่ไม่สามารถบรรลุได้พร้อมกันทั้งหมด (trilemma) ได้แก่ (1) เป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม (2) เป้าหมายความยั่งยืนทางการคลัง และ (3) เป้าหมายความเป็นไปได้ทางการเมือง รายงานของ International Monetary Fund (2023) กล่าวถึงความท้าทายที่สำคัญนี้ไว้ว่า ถ้าหากรัฐบาลต้องการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่ให้เสียฐานเสียงทางการเมือง รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีมาสนับสนุนรายจ่ายที่จำเป็นได้ ทำให้ต้องกู้ยืมเงินจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่ฐานะทางการคลังที่ไม่ยั่งยืนในที่สุด แต่ถ้าหากไม่กู้ยืมเงิน รัฐบาลก็อาจต้องยอมไม่บรรลุเป้าหมายในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ทั้งทางฝั่งอุปสงค์รวม (aggregate demand) และฝั่งอุปทานรวม (aggregate supply) ในฝั่งอุปสงค์รวมนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทั้งการบริโภคภาคเอกชน (private consumption: C) การลงทุนภาคเอกชน (private investment: I) การใช้จ่ายภาครัฐ (government expenditure: G) ทั้งการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ (net export: X-M) โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบมีทั้งด้านลบและด้านบวก ส่วนผลกระทบในฝั่งอุปทานรวมนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทั้งผลิตภาพ (productivity) ทุนธรรมชาติ (natural capital) ทุนกายภาพ (physical capital) และทุนมนุษย์ (human capital) ซึ่งในความหมายอย่างกว้างรวมถึงปริมาณและคุณภาพของแรงงานในประเทศ ตารางที่ 5 แสดงตัวอย่างปัจจัยที่ส่งผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศทั้งในฝั่งอุปสงค์และอุปทาน11
ตัวอย่างปัจจัยที่ส่งผลกระทบทางลบ | ตัวอย่างปัจจัยที่ส่งผลกระทบทางบวก | |
---|---|---|
อุปสงค์รวม | ||
การบริโภคภาคเอกชน (C) |
|
|
การลงทุนภาคเอกชน (I) |
|
|
การใช้จ่ายภาครัฐ (G) |
|
|
การส่งออกสุทธิ (X-M) |
|
|
อุปทานรวม | ||
ผลิตภาพรวม |
| |
ทุนธรรมชาติ |
| |
ทุนทางกายภาพ |
| |
ทุนมนุษย์ (รวมถึงแรงงาน) |
|
นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตมวลรวมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ งานศึกษาของ Fund (2020) อ้างอิงรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ IPCC (2007) ซึ่งคาดการณ์ว่าหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นสูงถึง 4ºC ผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (global GDP) อาจหดตัวประมาณ 1%–5% อย่างไรก็ดี ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของโลก โดยประเทศในทวีปแอฟริกาที่อยู่ใต้เขตซาฮารา (Sub-Saharan Africa) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศคาดว่าอาจหดตัวถึง 80% ภายในปี 2100 ภายใต้ฉากทัศน์ที่ไม่มีการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น
นอกจากนี้ หากพิจารณาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่ามีผลกระทบที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในภูมิภาคที่ยากจน งานศึกษาของ Dell et al. (2009) พบว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิมีผลกระทบเชิงลบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉพาะในกลุ่มประเทศยากจน โดยพบว่าเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1ºC อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีดังกล่าวจะหดตัวประมาณ 1.3% สำหรับประเทศที่มีรายได้สูง ไม่พบผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี งานศึกษาของ Colacito et al. (2019) พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแม้ในประเทศที่มีรายได้สูงอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยช่องทางการส่งผ่านผลกระทบ ได้แก่ ราคาอาหาร ราคาพลังงาน การคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต และผลผลิตมวลรวม (Sonja DOBKOWITZ, 2023)
- ความเสี่ยงทางกายภาพทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น สภาวะอากาศสุดขั้ว (ภัยแล้ง และน้ำท่วม) และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตรกรรมซึ่งทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น โดยเฉพาะในระยะสั้น
- ความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำกระทบต่อราคาพลังงาน ผลกระทบจากความเสี่ยงทางกายภาพมีทั้งด้านบวกและลบ ฤดูหนาวที่อุ่นขึ้นทำให้ความต้องการพลังงานในการทำความร้อนลดลง ในขณะที่ฤดูร้อนที่ร้อนขึ้นทำให้ความต้องการพลังงานในการทำความเย็นสูงขึ้น ส่วนความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำนั้นส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นอย่างน้อยในระยะสั้น เพราะการเปลี่ยนกระบวนการผลิตพลังงานไม่สามารถทำได้ทันที ในขณะที่ราคาคาร์บอนจากมาตรการการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตพลังงาน ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น
- ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์เงินเฟ้อไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก ราคาอาหารและพลังงานจะต้องพุ่งสูงขึ้นมากและต่อเนื่องจึงจะทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปด้วย
- ผลิตภาพที่ลดลงในระบบเศรษฐกิจสร้างแรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบทางลบต่อผลิตภาพจึงสามารถทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นได้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนต่าง ๆ มี (1) ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน และ (2) ความสามารถของธุรกิจและครัวเรือนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน โดยความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นในหลายมิติ ทั้งความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท ความเหลื่อมล้ำระหว่างเกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่ ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบการผลิตรายย่อยและรายใหญ่ ความเหลื่อมล้ำระหว่างครัวเรือนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน
- ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากครัวเรือนจำนวนมากในชนบทประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนอกจากครัวเรือนเกษตรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ครัวเรือนนอกภาคเกษตรในชนบทย่อมได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการผลิต รายได้ และการจ้างงานในภาคเกษตรด้วย
- ความเหลื่อมล้ำระหว่างเกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่ ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบการผลิตรายย่อยและรายใหญ่ และความเหลื่อมล้ำระหว่างครัวเรือนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน มีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการรายย่อย และครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง มักมีข้อจำกัดมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ทั้งข้อจำกัดทางการเงิน ความรู้ ทักษะ และการเข้าถึงเทคโนโลยี
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างรุ่น (generations) รุนแรงขึ้น เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งผลกระทบทางลบต่อผู้คนในอนาคตนี้เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์ให้แก่คนในอดีตและปัจจุบัน
งานศึกษาพบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติส่งผลทางลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ โดยจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติสูงกว่าจังหวัดอื่น ผลการศึกษาของ Jirophat et al. (2022)12 ในรูปที่ 28a พบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ (climate shocks) สามารถทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและภาคการผลิตหลักของประเทศหดตัวได้อย่างมีนัยสำคัญซึ่งสะท้อนจากค่าต่ำสุดของผลกระทบซึ่งอยู่ที่ประมาณ 0.7% สำหรับทุกภาคการผลิต อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อแต่ละภาคการผลิตแตกต่างกัน โดยภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือภาคเกษตรกรรม เนื่องจากเมื่อเกิดสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติแล้ว ผลผลิตจะหดตัวทันที 0.75% ในขณะที่ภาคการผลิตอื่น ๆ จะทยอยได้รับผลกระทบและหดตัวสูงสุดที่ 0.6% หลังจากผ่านไปแล้วถึง 2–3 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อทุกภาคการผลิตเป็นผลกระทบเพียงชั่วคราว เพราะหากไม่มี shock อื่นซ้ำเติม ผลกระทบต่อผลผลิตจะคลี่คลายภายใน 10 ไตรมาส
งานศึกษาพบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก ในรูปที่ 28b จะเห็นว่าผลกระทบของสภาพอากาศที่ผิดปกติต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ดี สภาพอากาศที่ผิดปกติส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.14% ดังนั้น หากพิจารณาในภาพรวม จะเห็นว่าในบริบทของประเทศไทย สภาพอากาศที่ผิดปกติมีลักษณะคล้ายกับผลกระทบต่ออุปทานรวม (supply shock) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมหดตัวและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงชั่วคราวเท่านั้น
จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติสูงกว่าจังหวัดอื่น Jirophat et al. (2022) ยังศึกษาผลกระทบของสภาพอากาศที่ผิดปกติในเชิงพื้นที่อีกด้วย ผลการศึกษาพบว่าสภาพอากาศที่ผิดปกติส่งผลทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวในจังหวัดต่าง ๆ ลดลง 2.28% แต่ผลกระทบต่อแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน โดยจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติสูงกว่าจังหวัดอื่นถึง 0.74%
note
PIERspectives บทความหน้าจะนำเสนอความจำเป็นในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความท้าทายและอุปสรรคในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านองค์ความรู้ ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งนำไปสู่บทบาทของภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เอกสารอ้างอิง
- พายุที่รุนแรงกว่าพายุดีเปรสชั่น หมายถึง พายุที่มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางมากกว่า 61 กิโลเมตรต่อชั่วโมง↩
- รายละเอียดแต่ละภาพฉายมีดังต่อไปนี้ (1) ภายใต้ภาพฉาย A1 โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตสูง ประชากรโลกสูงสุดในช่วงกลางศตวรรษและลดลงเล็กน้อยหลังจากนั้น มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง มีการพัฒนาบุคลากร มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม ความแตกต่างของรายได้ประชาชาติระหว่างภูมิภาคลดลง โดยภาพฉาย A1 แบ่งย่อยออกเป็น 3 ภาพฉายย่อย ได้แก่ A1FI เป็นภาพฉายที่การพัฒนาขึ้นอยู่กับพลังงานฟอสซิล A1T เป็นภาพฉายที่การพัฒนาไม่ใช้พลังงานฟอสซิลเป็นหลักแต่ใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ แทน และ A1B เป็นภาพฉายการพัฒนาที่มีความสมดุลของแหล่งพลังงานที่ใช้ ไม่เน้นการใช้พลังงานฟอสซิลหรือพลังงานหมุนเวียน แต่ให้มีการผสมผสานระหว่างพลังงานทั้งสองแบบ (2) ภายใต้ภาพฉาย A2 โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง-ปานกลาง การพัฒนาของโลกในอนาคตมีความหลากหลาย พึ่งตนเองมากขึ้นภายในภูมิภาค มีการรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับภูมิภาค การเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีช้ากว่าภาพฉายอื่น และกระจายตามท้องถิ่นและภูมิภาค (3) ภายใต้ภาพฉาย B1 โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ประชากรเพิ่มสูงในช่วงกลางศตวรรษและลดลงหลังจากนั้นเช่นเดียวกับภาพฉาย A1 แต่โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปเป็นภาคบริการและสารสนเทศ ลดการใช้วัสดุ มีการใช้เทคโนโลยีที่สะอาด เน้นที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติ มีความเสมอภาค แต่ไม่มีการนำประเด็นด้านภูมิอากาศเป็นแรงจูงใจ (4) ภายใต้ภาพฉาย B2 โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปานกลาง-ต่ำ การพัฒนาเน้นการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาค ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่น้อยกว่าแบบ A2 มีการพัฒนาเศรษฐกิจปานกลาง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหลากหลายและช้าลงกว่าแบบ B1 และ A1 โดยมีการปกป้องสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับความเสมอภาคของสังคมระดับท้องถิ่นและภูมิภาค↩
- (1) RU-CORE ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลภูมิอากาศจำนวน 6 แบบจำลอง ได้แก่ CNRM-CM5, EC-Earth, MPI-ESM-MR, IPSL-CM5A-LR, GFDL-ESM2M และ HadGEM2-ES โดยข้อมูลครอบคลุมทั้งช่วงเวลาในอดีตระหว่าง 1970-2005 และการคาดประมาณอนาคตครอบคลุมช่วงเวลา 2006-2100 ครอบคลุมพื้นที่ CORDEX Domain Region 14: Southeast Asia (SEA) ความละเอียดการแสดงผลเชิงพื้นที่ขนาด 25 กิโลเมตร x 25 กิโลเมตร ความละเอียดเชิงเวลาเป็นค่าเฉลี่ยรายสามชั่วโมง ค่าเฉลี่ยรายหกชั่วโมง ค่าเฉลี่ยรายวัน และค่าเฉลี่ยรายเดือน (2) การย่อส่วนโดยใช้ข้อมูลจากโครงการ SEACLID CORDEX Southeast Asia Phase II มี 3 แบบจำลอง ได้แก่ แบบจำลอง MPI-ESM-MR, EC-Earth และ HadGEM2-ES ภายใต้ภาพสถานการณ์จำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2 รูปแบบ ได้แก่ RCP4.5 และ RCP8.5↩
- แบบจำลอง 3 แบบจำลองนี้ ได้แก่ แบบจำลอง MPI-ESM-MR, EC-Earth และ HadGEM2-ES↩
- สำหรับรายละเอียดผลการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยในอนาคตมีดังนี้ (1) การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ย 1.0ºC ภายใต้ RCP4.5 ของแบบจำลองภูมิอากาศภูมิภาคทั้ง 3 แบบจำลอง พบว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 1.0ºC จะเกิดขึ้นประมาณช่วงปี 2030–2040 ในขณะที่ภายใต้ RCP8.5 คาดว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 1.0ºC จะเกิดขึ้นประมาณช่วงปี 2020–2035 นอกจากนี้ ภายใต้แบบจำลองรวมกลุ่ม (ensembled) ของแบบจำลองภูมิอากาศภูมิภาคทั้ง 3 แบบจำลอง ภายใต้ RCP4.5 และ RCP8.5 คาดว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 1.0ºC จะเกิดขึ้นประมาณช่วงปี 2035 และ 2030 ตามลำดับ (2) การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ย 1.5ºC ภายใต้ RCP4.5 ของแบบจำลองภูมิอากาศภูมิภาค HadGEM2-ES คาดว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 1.5ºC จะเกิดขึ้นประมาณ 2050 สำหรับแบบจำลองแบบรวมกลุ่ม การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 1.5ºC จะเกิดขึ้นประมาณปี 2060 ในขณะที่แบบจำลองภูมิอากาศภูมิภาค EC-Earth คาดว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 1.5ºC จะเกิดขึ้นประมาณปี 2080 นอกจากนี้ ภายใต้ RCP8.5 การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 1.5ºC คาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณช่วงปี 2055–2060 และภายใต้แบบจำลองรวมกลุ่ม การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 1.5ºC คาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณ ปี 2045 และ (3) การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ย 2.0ºC ภายใต้ RCP4.5 มีเพียงแบบจำลองภูมิอากาศภูมิภาค HadGEMS2-ES ที่คาดว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 2.0ºC จะเกิดขึ้นประมาณช่วงปี 2070 ในขณะที่ภายใต้ RCP8.5 คาดว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 2.0ºC จะเกิดขึ้นประมาณในช่วงปี 2050–2060 และภายใต้แบบจำลองแบบรวมกลุ่ม คาดว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 2.0ºC จะเกิดขึ้นประมาณปี 2055 6: การคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2ºC อยู่ภายใต้ฉากทัศน์ RCP4.5 ของแบบจำลองแบบรวมกลุ่ม ส่วนการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4ºC อยู่ภายใต้ฉากทัศน์ RCP8.5↩
- แบบจำลองภูมิอากาศภูมิภาคที่ได้จากการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลกแต่ละแบบจำลองมีช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงดัชนีภูมิอากาศสุดขั้วของประเทศไทยในอนาคตโดย ONEP-RU-CORE (2021) จึงเป็นค่าเฉลี่ยรายสิบปีโดยกำหนดให้ปีกึ่งกลางเป็นปีที่คาดประมาณว่าอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.0ºC, 1.5ºC และ 2ºC ผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงดัชนีความเข้มอุณหภูมิสุดขั้วหรือดัชนีค่าต่ำสุดของอุณหภูมิสูงสุด (TXn) ดัชนีช่วงเวลาที่อบอุ่นหรือดัชนีช่วงเวลาอุณหภูมิสุดขั้ว (WSDI) และดัชนีจำนวนวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35ºC (SU35) เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 1.0ºC, 1.5ºC และ 2.0ºC เปรียบเทียบกับปีฐาน ภายใต้ RCP4.5 และ RCP8.5 ของแบบจำลองภูมิอากาศภูมิภาคทั้ง 3 แบบจำลอง ได้แก่ MPI-ESM-MR, EC-Earth และ HadGEM2-ES↩
- งานศึกษานี้ใช้กรอบแนวคิดของ Agricultural Model Intercomparison and Improvement Project (AgMIP) และ Inter-Sectoral Impact Model Intercomparison Project (ISI-MIP) ในการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการทำการเกษตร↩
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้สรุปผลกระทบของอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบสูงจากน้ำท่วมปี 2011 ไว้ดังนี้ (1) อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กระทบห่วงโซ่การผลิตของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีสัดส่วน 27% ของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกโดยรวมของไทย เนื่องจากได้รับความเสียหายกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตรวมของประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบในการผลิต โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (2) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน กระทบทั้งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายโดยตรง และในพื้นที่อื่นจากการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ จำเป็นต้องประกาศหยุดการผลิตชั่วคราว และคาดว่าจะต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาชดเชยในช่วงระยะหนึ่ง (3) อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า กระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นผู้สั่งซื้อสำคัญประสบปัญหาต้องปิดโรงงานและการขนส่งเป็นไปด้วยความลำบาก จึงทำให้มีคำสั่งซื้อลดลง (4) อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งระบบ ทั้งภาคการผลิต การส่งมอบสินค้า และการส่งออก รวมทั้งการรับคำสั่งซื้อทั้งระบบห่วงโซ่การผลิต (5) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม กระทบโดยตรงทั้งด้านการผลิต การส่งมอบสินค้า และการส่งออก เนื่องจากโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วม↩
- กรอบแนวคิดในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคครัวเรือนอื่น ๆ เช่น กรอบแนวคิดการดำรงชีพที่ยั่งยืน (Sustainable Livelihood Framework) ที่พัฒนาโดยกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งประเทศสหราชอาณาจักร (Department for International Development: DFID, 2000) โดยพิจารณาสินทรัพย์เพื่อการดำรงชีพ (Livelihood Assets) ต่าง ๆ ได้แก่ สินทรัพย์ที่เป็นทุนมนุษย์ (human assets) สินทรัพย์ทางสังคม (social assets) สินทรัพย์ทางธรรมชาติ (natural assets) สินทรัพย์ทางกายภาพ (physical assets) และสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ (economic assets) ดูรายละเอียดได้จาก Thakur and Bajagain (2019)↩
- งานศึกษาของ Ciccarelli and Marotta (2024) ดำเนินการทดสอบผลกระทบของความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risks) ต่อเศรษฐกิจมหภาคโดยใช้แบบจำลอง Structural Vector Autoregressive (SVAR) พบว่าความเสี่ยงทางกายภาพส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ การลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นชั่วคราวซึ่งทำให้การลงทุนภาครัฐและครัวเรือนลดลง ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการจ้างงาน ผลผลิต และราคาสินค้า หากพิจารณาในแง่ของระยะเวลาที่ความเสี่ยงทางกายภาพส่งผลกระทบต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาค พบว่าผลกระทบที่มีต่อด้านการผลิตค่อนข้างสั้น แต่ผลกระทบที่มีต่อราคาอยู่ค่อนข้างนาน นอกจากการใช้แบบจำลอง IAMs ซึ่งนำสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมไปจำลองในแบบจำลองภูมิอากาศ (climate models) เพื่อคาดการณ์อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำทะเล ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปรวมกับฟังก์ชั่นความเสียหาย (damage function) เพื่อดูผลกระทบในระดับภูมิภาคหรือโลก (Network for Greening the Financial System, 2020) หรือแบบจำลอง SVAR เช่นในงานศึกษาของ Ciccarelli and Marotta (2024) แล้ว ปัจจุบันยังมีแบบจำลองอื่นที่นิยมนำมาใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจมหภาคเช่นกัน เช่น แบบจำลอง Dynamic Integrated Climate-Economy (DICE) แบบจำลอง Climate Framework for Uncertainty Negotiation and Distribution Model (FUND) แบบจำลองPolicy Analysis of the Greenhouse Effect (PAGE) (Auffhammer 2018) รวมถึงแบบจำลอง Input-output models แบบจำลอง Dynamic Stochastic General Equilibrium (DSGE Models) และแบบจำลอง Computational General Equilibrium (CGE Models)↩
- Jirophat et al. (2022) วัด climate shocks โดยใช้ดัชนี Standardized Precipitation Evapotranspiration Index (SPEI) ซึ่งเป็นดัชนีที่วัดความผิดปกติของปริมาณน้ำสะสมเทียบกับในอดีตในระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น 3, 6 และ 12 เดือน เป็นต้น ซึ่งหากค่าดัชนีเป็นลบจะบ่งบอกถึงสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง และค่าที่เป็นบวกจะหมายถึงสภาพภูมิอากาศที่เปียกชื้น ค่าดัชนี SPEI ณ ระดับต่าง ๆ จะสามารถบ่งบอกถึงความรุนแรง (extremity) ของสภาพภูมิอากาศได้ตามเกณฑ์ของ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ดัชนี SPEI จึงมีความเหมาะสมในการศึกษาความแตกต่างของผลกระทบ Climate shocks ต่อเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับ ทิศทาง ความรุนแรง และความยืดเยื้อของ Climate shocks ได้↩