จุลทรรศน์ภาคส่งออกไทย: ส่งออกยุคผลัดใบ เลือดใหม่เร่งขับเคลื่อน
บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “จุลทรรศน์ภาคส่งออกไทย: จับชีพจรภาคส่งออกจากการหมุนเวียนของผู้ประกอบการ”
บทความเศรษฐศาสตร์เข้า“ท่า”ของผู้เขียนฉบับก่อนได้สรุปข้อเท็จจริงสำคัญ 5 ประการเกี่ยวกับภาคส่งออกไทย หนึ่งในข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่า ภาคส่งออกเป็นธุรกิจที่มีการหมุนเวียนของผู้เล่นสูง โดยในแต่ละปีจะมีผู้ส่งออกประมาณ 1 ใน 3 ที่เป็นผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาด และมีผู้เล่นจำนวนใกล้เคียงกันต้องออกจากสนามส่งออกไปในเวลาเดียวกัน ภาคส่งออกจึงปะปนไปด้วยผู้เล่นหน้าเก่าและใหม่อยู่ตลอดเวลา ผู้เล่นทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในแง่ขนาด ความสามารถ และประสบการณ์ในการทำธุรกิจ การทำความเข้าใจปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเติบโต (หรือไม่เติบโตในระยะหลัง) ของภาคส่งออกไทยคงไม่ครอบคลุมเพียงพอหากเราละเลยการวิเคราะห์การหมุนเวียนของผู้ประกอบการ งานวิจัยของผู้เขียนได้ศึกษาการส่งออกของไทยในช่วงปี 2001 ถึง 2015 โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 2001–2007, 2007–2011 และ 2011–2015 ในแต่ละช่วงเวลา เราสามารถจำแนกกลุ่มผู้ส่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้เล่นเดิมที่มีกิจกรรมส่งออกในปีฐาน (Incumbents) และ กลุ่มผู้ส่งออกที่เข้าสู่ตลาด (Entrants) หรือกล่าวง่าย ๆ คือ ผู้เล่นหน้าเก่ากับผู้เล่นหน้าใหม่ การเปลี่ยนแปลงของการส่งออกโดยรวมจะมีที่มาจากทั้ง 2 กลุ่ม คือ เกิดจากการขยาย หดตัว หรือการจากไปของผู้เล่นหน้าเก่า และการขยายตัวอันเกิดจากการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นหน้าใหม่...
[อ่านต่อที่ ThaiPublica]