Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/76b03f2cce1fa84a701368f046e05b26/e9a79/cover.png
4 กรกฎาคม 2559
20161467590400000

อิสรภาพเชิงนโยบายกับความเชื่อมโยงทางการเงิน

ความเชื่อมโยงทางการเงินบั่นทอนความสามารถของธนาคารกลางในการควบคุมภาวะทางการเงินจริงหรือ
ปิติ ดิษยทัตภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล
อิสรภาพเชิงนโยบายกับความเชื่อมโยงทางการเงิน
excerpt

จริงหรือไม่ ที่ปัจจัยภายนอกสามารถส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เคลื่อนไหวตามกันทั่วโลกจนบั่นทอนความสามารถของธนาคารกลางในการควบคุมภาวะทางการเงินภายในประเทศ บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าข้อสรุปดังกล่าวไม่เป็นจริงเสมอไป สิ่งที่สำคัญคือการแยกแยะสาเหตุที่ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เคลื่อนไหวไปพร้อมกัน ว่าเกิดจากปัจจัยพื้นฐาน หรือพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลของตลาดการเงิน (financial contagion)

เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดการเงินโลกในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงสูง เงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็วในปริมาณมากจนสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินทั่วโลกได้ในวงกว้าง ในหลายครั้งความผันผวนดังกล่าวก็ดูจะมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกมากกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศ ดังที่มักปรากฏตามข่าวว่า การปรับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ หรือภาวะเศรษฐกิจการเงินจีน มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อภาวะตลาดการเงินทั่วโลก

อิทธิพลจากปัจจัยนอกประเทศได้นำมาสู่ข้อถกเถียงว่านโยบายการเงินยังมีประสิทธิภาพเพียงใดในการควบคุมภาวะการเงินภายในประเทศ โดยในมุมหนึ่ง กฎพื้นฐานที่ทราบกันดีภายใต้นิยามของ “trilemma” ก็ให้ความมั่นใจว่าประเทศที่มีสกุลเงินเป็นของตัวเองนั้นมีอิสรภาพเต็มที่ในการกำหนดนโยบายการเงิน และยังสามารถปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีด้วยตราบใดที่ไม่มีความพยายามจะควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในระยะหลังเริ่มมีผู้เสนอหลักฐานแย้งว่าใน ความเป็นจริงประเทศเล็ก ๆ ไม่มีอิสรภาพในการกำหนดนโยบายการเงินของตัวเอง เนื่องจากภาวะการเงินได้ถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอกประเทศที่อยู่นอกเหนือการควบคุมโดยตรงของธนาคารกลาง วิธีเดียวที่จะมีอิสรภาพเชิงนโยบายได้คือต้องยอมควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อปิดช่องทางส่งผ่านจากปัจจัยภายนอกเสีย สถานการณ์จึงกลายเป็น dilemma มากกว่า trilemma คือต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างอิสรภาพของนโยบาย กับการเคลื่อนย้ายเงินทุนแบบเสรี Rey (2013) เป็นตัวอย่างของผู้เสนอแนวคิดดังกล่าว

Trilemma vs Dilemma ใครถูก ใครผิด

ข้อสังเกตแรกคือกฎ trilemma นั้นบอกเพียงว่าประเทศที่ไม่ได้ fix ค่าเงินของตนสามารถ กำหนดนโยบายการเงิน ได้อย่างมีอิสระ เช่น ในบริบทของไทยคือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีอิสระกำหนดที่ระดับใดก็ได้หากเห็นว่าสมควร และไม่ได้มีข้อจำกัดในเชิงปฏิบัติไม่ว่าปัจจัยภายนอกจะเป็นอย่างไร ในส่วนนี้จึงอาจสรุปได้ว่ากฎ trilemma ในรูปแบบดั้งเดิมนั้นถูกต้อง

สิ่งที่กฎ trilemma ไม่ได้ครอบคลุม แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกที่มีความเชื่อมโยงทางการเงินสูง คือ ความสามารถของนโยบายในการ ควบคุมภาวะการเงินโดยรวม เพราะหากราคาสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ในประเทศถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอกเสียเป็นส่วนใหญ่ การมีอิสรภาพในการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายก็อาจไม่มีความหมายเท่าใดนัก ในประเด็นของการควบคุมนี้ จำเป็นต้องนำมาพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะมีทางเป็นไปได้สองกรณี

กรณีแรก ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยงในด้านการค้าสูงไม่แพ้ด้านการเงิน พัฒนาการทางเศรษฐกิจในประเทศใหญ่ย่อมส่งผลในแง่อุปสงค์และรายได้โดยตรงต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการที่ราคาสินทรัพย์ทางการเงินในประเทศ ปรับตัวตามปัจจัยภายนอกนั้นจึงอาจเป็นการ ”ส่งสาร”สะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป หรือแม้แต่สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของประเทศตนเองก็อาจต้องทบทวนแนวนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ในกรณีนี้ ภาวะการเงินสามารถเคลื่อนไหวคล้ายกันทั่วโลกจากความเชื่อมโยงกันของปัจจัยพื้นฐานที่อาจส่งผลให้นโยบายการเงินในแต่ละประเทศตอบสนอง ต่อปัจจัยดังกล่าวในลักษณะคล้าย ๆ กัน และไม่ได้มีนัยใด ๆ ต่อ ความเป็นเอกเทศของนโยบายการเงิน

กรณีที่สอง การปรับตัวอย่างไม่สมเหตุสมผลของตลาดการเงินเองอาจเป็นต้นกำเนิดของปัญหา ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมให้ราคาสินทรัพย์และภาวะการเงินทั่วโลกเปลี่ยนแปลงตามกันเป็นลูกโซ่ในลักษณะที่เรียกว่า “financial contagion” เช่น กองทุนขนาดใหญ่อาจประสบปัญหาขาดทุนในประเทศหนึ่งจนถูกนักลงทุนเร่งถอนเงิน จึงจำเป็นต้องลดการลงทุนทั่วโลกแม้ในประเทศที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนแปลง หรือนักลงทุนนานาชาติอาจกลัวความเสี่ยงมากขึ้น จากปัจจัย ด้านจิตวิทยาหรือการตัดสินใจตาม ๆ กันโดยไม่ได้ยึดโยงกับปัจจัยพื้นฐานรายประเทศ ในกรณีนี้ ปัจจัยด้านการเงินภายนอกกำลังมีอิทธิพลต่อภาวะการเงินในประเทศในลักษณะที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพัฒนาการของปัจจัยพื้นฐานภายใน และอาจสร้างความจำเป็นในการปรับนโยบายเพื่อรองรับหรือ offset การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งเป็นการบั่นทอนความสามารถของนโยบายการเงินในการตรึงภาวะการเงินให้เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานในประเทศ

ความน่ากังวลของปัญหาจึงขึ้นอยู่กับว่า financial contagion ในลักษณะหลังนี้มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด และเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือไม่ ซึ่งการตอบคำถามดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีกระบวนการวัดทางสถิติ และคงด่วนสรุปไม่ได้ว่าทุกครั้งที่ตลาดการเงินเคลื่อนไหวหวือหวาตามกันจะเป็นกรณีที่เป็นปัญหาเสมอไป

Financial Contagion ในมิติของดอกเบี้ยระยะยาว

ตลาดพันธบัตรรัฐบาลเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของพันธบัตรแต่ละประเทศมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง (ค่าเฉลี่ย correlation ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ประมาณ 0.8) และมักถูกใช้อ้างเป็นหลักฐานของการศูนย์เสียอิสรภาพทางการเงิน นอกจากนี้ ตลาดพันธบัตรรัฐบาลมีความใกล้ชิดกับนโยบายการเงินมากกว่าหลักทรัพย์อื่น ๆ เพราะให้ผลตอบแทนที่มีความเสี่ยงในการผิดชำระน้อย มีความคล้ายคลึงกับการฝากเงินข้ามคืนไว้กับธนาคารกลางโดยแตกต่างเพียงในแง่ของระยะเวลาของสัญญา จึงเหมาะกับการศึกษาเรื่องการส่งผ่านนโยบายการเงิน

อัตราดอกเบี้ยระยะยาวเป็นผลรวมของสององค์ประกอบ ได้แก่ การคาดการณ์นโยบายการเงิน และค่าชดเชยความเสี่ยงหรือ risk premium องค์ประกอบแรกนั้นขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายและการสื่อสารของธนาคารกลาง รวมทั้งมุมมองของตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้น ในการวัด financial contagion จึงจำเป็นต้องพิจารณาเฉพาะจากส่วนที่สอง คือ ค่าชดเชยความเสี่ยง

ในขณะเดียวกัน risk premium ดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นผลของ financial contagion ทั้งหมด นโยบายการเงินเองสามารถส่งผลต่อความต้องการรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดได้ เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำก็อาจเพิ่มแรงจูงใจให้นักลงทุนแสวงหาผลตอบแทนและลงทุนในพันธบัตรระยะยาวที่เสี่ยงมากขึ้น ทำให้ risk premium ลดลงได้ กลไกนี้มีนิยามว่า risk-taking channel (Borio and Zhu (2012)) ในทำนองเดียวกัน พัฒนาการทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศก็อาจส่งผลต่อมุมมองความเสี่ยงและช่วยอธิบาย risk premium ได้เช่นกัน หากได้นำปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้มาพยายามอธิบาย risk premium แล้ว แต่ยังพบว่าส่วนที่อธิบายไม่ได้มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก จึงจะสรุปได้ว่าเป็นหลักฐานของการเกิด financial contagion ขึ้น Disyatat and Rungcharoenkitkul (2015) ได้พยายามที่จะแยกแยะการเคลื่อนไหวของ risk premium ออกเป็นสองส่วนดังกล่าว

ขั้นตอนการคำนวณทางสถิติเริ่มด้วยการประมาณการ risk premium หรือผลตอบแทนส่วนเกินที่ตลาดต้องการจากการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวเพื่อชดเชยความเสี่ยง โดยใช้แบบจำลองที่เรียบง่ายในการอธิบายโครงสร้างอัตราดอกเบี้ย (yield curve) เพื่อคำนวณ risk premium ออกมา ขั้นตอนที่สองคือการขจัดผลของนโยบายการเงินและปัจจัยพื้นฐานออกจากแต่ละตัวแปรในแบบจำลอง และคำนวณ “purged risk premium” ใหม่ที่ปราศจากผลของปัจจัยพื้นฐาน ขั้นตอนสุดท้ายคือการสกัดความสัมพันธ์ร่วมระหว่าง purged risk premium ในทุกประเทศทั่วโลก เพื่อใช้เป็นดัชนี financial contagion1

รูปที่ 1 ดัชนี financial spillover ต่าง ๆ

ดัชนี financial spillover ต่าง ๆ

รูปที่ 1 แสดงดัชนี financial contagion ที่คำนวณด้วยวิธีข้างต้น (เส้น “contagion” สีฟ้า) เทียบกับดัชนี VIX ซึ่งแสดงความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และเป็นตัววัดอุณหภูมิความเสี่ยงของตลาดการเงินโลก (เส้น “VIX” สีแดง) และสุดท้ายดัชนีของ Miranda-Agrippino and Rey (2015) ที่แสดงผลตอบแทนของราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก (เส้น “MAR” สีส้ม) สังเกตได้ว่าดัชนีทั้งสามแม้จะมีความสัมพันธ์กันบ้างแต่ก็ไม่ใช่ทุกช่วงเวลา โดยดัชนี financial contagion มี correlation กับ VIX ที่ต่ำมาก (ใกล้เคียง 0) ขณะที่มีความสัมพันธ์กับ MAR สูงกว่า (0.38) แต่ก็ยังมีความแตกต่างอยู่ แสดงถึงความสำคัญในการแยกผลจากปัจจัยพื้นฐานออกก่อนที่จะตีความการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ ดังนั้น การใช้ดัชนี VIX หรือราคาสินทรัพย์เสี่ยงเป็นตัวบ่งชี้ถึง financial contagion อาจให้ภาพที่บิดเบือนและไม่สมบูรณ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป้าหมายคือการวิเคราะห์ความสามารถของนโยบายการเงินในการควบคุมภาวะการเงินในประเทศ

มาตรวัดใหม่นี้น่าจะช่วยสะท้อนถึงภาวะลักษณะของ spillovers ได้แม่นยำมากขึ้น และสามารถนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์ต่าง ๆ ที่มีการกล่าวถึงบ่อยครั้ง เช่นดังต่อไปนี้

Frequently Asked Questions

ประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษจาก financial contagion จริงหรือไม่

ภายใต้ตรรกะในบทความนี้ ความสำคัญของ contagion ในแต่ละประเทศสามารถวัดได้จากสัดส่วนความผันผวนของ risk premium ในราคาพันธบัตรของประเทศนั้น ๆ ที่สามารถอธิบายได้ด้วยดัชนี financial contagion โดยหากสัดส่วนดังกล่าวเท่ากับ 1 หมายความว่าการเคลื่อนไหวทั้งหมดของ risk premium เกิดจาก contagion

รูปที่ 2 แสดงผลการคำนวณสัดส่วนดังกล่าวแยกตามสามกลุ่มประเทศ ได้แก่ ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ2 ทั้งนี้ ปรากฏว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้รับผลจาก contagion สูงกว่าอีกสองกลุ่มอย่างชัดเจน ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับอิทธิพลจากดัชนี contagion เพียงประมาณร้อยละ 20 ของการเคลื่อนไหวของ risk premium เท่านั้น ผิดจากความเชื่อที่ว่าประเทศกำลังพัฒนาเป็นกลุ่มประเทศหลักที่ได้ผลกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินโลก

รูปที่ 2 บทบาทของ financial contagion ในแต่ละกลุ่มประเทศ

บทบาทของ financial contagion ในแต่ละกลุ่มประเทศ

Financial contagion ทวีความรุนแรงขึ้นในระยะหลัง จริงหรือไม่

อีกความเชื่อหนึ่งที่มักได้ยินบ่อยคือ การดำเนินนโยบาย QE ในหลายประเทศหลักหลังวิกฤตโลกเป็นต้นมา เป็นผลให้เกิด financial spillovers ที่มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐฯ กับของประเทศอื่น ๆ ในลักษณะ rolling correlation ดังรูปที่ 3 ก็จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นหลังปี 2008–2009 สำหรับทุกกลุ่มประเทศซึ่งสอดคล้องกับสมมุติฐานนี้

รูปที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนพันธบัตร (rolling yield correlation)

ความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนพันธบัตร (rolling yield correlation)

อย่างไรก็ดี วิธีเดียวกันนี้ให้ผลที่แตกต่างไปหากใช้ purged risk premium แทนอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในแต่ละประเทศ และใช้ดัชนี contagion เป็นตัวแปรอ้างอิงแทนดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ดังแสดงในรูปที่ 4 ซึ่งผลที่ได้ชี้ว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้รับผลจาก contagion ในระดับที่สูงต่อเนื่องและไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากตลอดช่วงที่พิจารณา ขณะที่สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีความสัมพันธ์กับดัชนี contagion ในระดับที่ลดลงด้วยซ้ำไปหลังวิกฤตปี 2008 จึงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ผลของการคำนวณไม่สนับสนุนสมมุติฐานข้างต้น และกลับสอดคล้องมากกว่ากับแนวคิดที่ว่าตลาดได้ทำหน้าที่ ส่งสารสะท้อนแนวทางนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่จำเป็นต้องผ่อนคลายเหมือน ๆ กันเพื่อต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาพร้อม ๆ กัน จนทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในกลุ่มประเทศนี้เคลื่อนไหวคล้ายกันมากขึ้น

รูปที่ 4 ความสัมพันธ์ระหว่าง purged risk premium กับ contagion index

ความสัมพันธ์ระหว่าง purged risk premium กับ contagion index

อัตราแลกเปลี่ยนได้รับผลจาก financial spillovers อย่างไร

รูปที่ 5 แสดงให้เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนกับ purged risk premium ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีความสัมพันธ์เป็นลบ หมายความว่า risk premium ในตลาดพันธบัตรของประเทศเหล่านี้มักจะลดลงพร้อมกับการแข็งขึ้นของค่าเงิน ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนการปรับสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก (portfolio rebalancing) ความสัมพันธ์ดังกล่าวในแง่หนึ่งบ่งบอกถึงบทบาทของอัตราแลกเปลี่ยนในการช่วยลดทอนผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยภาวะการเงินที่ผ่อนคลายลงจาก risk premium ที่ลดลงถูกทดแทนด้วยค่าเงินที่แข็งขึ้น ซึ่งช่วยตรึงอุปสงค์ในประเทศไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไป อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา การเคลื่อนไหวลักษณะนี้อาจสร้างความท้าทายเนื่องจากเป็นการตอกย้ำทั้งความเสี่ยงด้านเสถียรภาพและด้านเศรษฐกิจพร้อม ๆ กัน นอกจากนี้ ในกรณีที่การอ่อนลงของค่าเงินทำให้ฐานะการเงินของบริษัทหรือรัฐบาลที่มีหนี้สินต่างประเทศอ่อนแอลงจนส่งผลให้ risk premium ปรับเพิ่มขึ้น อาจเกิด negative feedback loop ได้ ดังที่ได้เห็นในบางประเทศในแถบอเมริกาใต้ในช่วงปีที่ผ่านมา

รูปที่ 5 ความสัมพันธ์ระหว่าง risk premium กับอัตราแลกเปลี่ยน

ความสัมพันธ์ระหว่าง risk premium กับอัตราแลกเปลี่ยน

ข้อสรุปและนัยเชิงนโยบาย

ผลการศึกษาเสนอว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังห่างไกลจาก dilemma ตามที่มีนักเศรษฐศาสตร์บางรายเสนอ โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ยังมีความสามารถในการควบคุมภาวะการเงินในประเทศได้ดีพอสมควร และมากกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยซ้ำ ความท้าทายที่มาจากความเชื่อมโยงทางการเงินจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการเสียอิสรภาพเชิงนโยบาย แต่น่าจะอยู่ที่ ความยากในการเลือกดำเนินนโยบายที่เหมาะสมในโลกที่พลวัตทางเศรษฐกิจการเงินมีความเกี่ยวเนื่องกันสูง ทำให้แต่ละทางเลือกนโยบายนั้นมีนัยและต้นทุนที่ซับซ้อนและหลากหลายมิติมากกว่าเดิม

เอกสารอ้างอิง

Borio, C. and H. Zhu (2012), “Capital Regulation, Risk-taking and Monetary Policy: A Missing Link in the Transmission Mechanism?” Journal of Financial Stability, 8, 236–251.

Disyatat, P. and P. Rungcharoenkitkul (2015), “Monetary Policy and Financial Spillovers: Losing Traction?” PIER Discussion Papers, No. 9.

Miranda-Agrippino, S. and H. Rey (2015), “World Asset Markets and the Global Financial Cycle,” NBER Working Paper No. 21722.

Rey, H. (2013), “Dilemma not Trilemma: The Global Financial Cycle and Monetary Policy In-dependence,” 2013 Jackson Hole Symposium Proceedings. Kansas City, MO: Federal Reserve Bank of Kansas City.


  1. ในบริบทของทฤษฎี asset pricing นิยามของ financial contagion สามารถตีความได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อน ”ราคาความเสี่ยง” หรือ global price of risk ที่ตลาดใช้ในการกำหนดราคาพันธบัตรทุก ๆ ตลาดทั่วโลก โปรดดูรายละเอียดใน Disyatat and Rungcharoenkitkul (2015)↩
  2. แต่ละกลุ่มแสดงแยกตามวิธีการคำนวณ risk premium 3 วิธี ได้แก่ (1) risk premium ธรรมดา (TP) (2) purged risk premium ที่ขจัดผลของนโยบายการเงิน (TP ex MP) หรือ (3) purged risk premium ที่ขจัดผลของทั้งนโยบายการเงินและปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจอื่น ๆ (TP ex Fund)↩
ปิติ ดิษยทัต
ปิติ ดิษยทัต
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล
ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Topics: Monetary EconomicsInternational Finance
Tags: contagionmonetary policyspillover
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email