การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ดีจำเป็นต้องวางอยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์วิจัยอย่างรอบด้าน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการขับเคลื่อนประเทศ สำหรับประเทศไทย อุปสรรคสำคัญในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจและเชื่อมต่อกับนโยบาย คือการขาด “พื้นที่ส่วนกลาง” ทางวิชาการ ผลงานวิจัยจึงกระจัดกระจายในองค์กรต่าง ๆ และไม่ได้ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง ในขณะที่ผู้ดำเนินนโยบายก็ไม่สามารถเข้าถึงความรู้ที่มีอยู่ได้อย่างสะดวกและทันท่วงที
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการกำหนดนโยบายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการ จึงนำมาสู่การก่อตั้งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (สถาบันวิจัยป๋วยฯ) เพื่อเป็นองค์กรที่มุ่งสร้างงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการเผยแพร่งานวิจัยที่มีคุณภาพ และเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงนักวิจัยกับทรัพยากรต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยมีการบริหารงานกึ่งอิสระภายใต้การกำกับดูแลโดยคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงใน ธปท. และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก
สถาบันวิจัยป๋วยฯ มุ่งสั่งสมองค์ความรู้อันเกิดจากการวิจัย ผ่านการคัดกรองโดยวงการวิชาการที่เข้มแข็ง และผลักดันให้นโยบายเศรษฐกิจไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยที่เปิดกว้าง มีคุณภาพ และเป็นอิสระ ภายใต้แนวคิด “รวมพลังสร้างสรรค์งานวิจัย เชื่อมต่อนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย”
พันธกิจของสถาบันวิจัยป๋วยฯ ประกอบด้วย การสร้าง การประสาน และการขยายผลของงานวิจัยดังนี้
- ผลิตผลงานวิจัยเชิงลึก และให้คำปรึกษาด้านวิชาการ เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายของ ธปท. ด้านนโยบายการเงิน ด้านระบบการเงิน และด้านเศรษฐกิจมหภาค
- เป็นศูนย์ประสานงานวงการวิชาการและพัฒนาเครือข่ายของนักวิจัย เพื่อเชื่อมโยงทรัพยากรในการทำงานวิจัยในด้านต่าง ๆ เช่น องค์ความรู้ ฐานข้อมูล การจัดสัมมนาวิชาการ และทุนวิจัย เข้าด้วยกัน
- เผยแพร่ผลงานวิจัยและสังเคราะห์ประเด็นให้แก่สาธารณชน เพื่อเสริมสร้างความเด่นชัดของงานวิจัยต่อการรับรู้ของผู้ดำเนินนโยบาย และต่อสังคมในวงกว้าง
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ดำเนินการมาครบรอบ 5 ปี ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นพื้นที่ส่วนกลางเพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณภาพและสนับสนุนนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากเปรียบกับ “บ้าน” หลังหนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านหลังนี้ได้ถูกออกแบบและสร้างรากฐานทางวิชาการที่มั่นคง เพื่อต้อนรับนักวิจัยชั้นนำมากมายที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ การศึกษาค้นคว้าในเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ
บทความนี้หยิบยกมาจาก BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 1 ปี 2563
ในช่วงก่อนปี 2558 ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ซึ่งล้วนสร้างความท้าทายต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศ ในขณะเดียวกัน วงการวิชาการเศรษฐศาสตร์ของไทยยังมีงานวิจัยที่ค่อนข้างจำกัด ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งองค์ความรู้มักกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ผู้กำหนดนโยบายจึงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินนโยบายได้อย่างเต็มที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เล็งเห็นถึงความท้าทายเหล่านี้ จึงได้หาแนวทางในการสร้างและตระเตรียมองค์ความรู้เพื่อยกระดับการดำเนินนโยบายให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อเป็นสะพานเชื่อมการดำเนินนโยบายกับองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจ และเป็น “พื้นที่ส่วนกลาง” ที่เชื่อมโยงนักวิจัยในองค์กรต่าง ๆ ให้เข้ามารวมเป็นเครือข่าย โดย ธปท. มุ่งมั่นที่จะให้สถาบันวิจัยฯ เป็นองค์กรชั้นนำในการสร้าง รวบรวม และเผยแพร่งานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีคุณภาพสูงและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายของประเทศ
หากเปรียบกับการสร้างบ้าน ขวบปีแรก ๆ ของการก่อตั้งสถาบันวิจัยฯ เป็นช่วงเวลาของการวางรากฐานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร ทรัพยากรในการทำวิจัย วัฒนธรรมองค์กร และช่องทางการสื่อสารกับสาธารณะ ไม่เพียงสรรหานักวิจัยชั้นนำจากทั้งภายในและภายนอกประเทศมาร่วมเป็นเจ้าบ้านและช่วยกันสร้างบ้านหลังนี้ สถาบันวิจัยฯ ยังเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้แก่นักวิจัยอื่น ๆ ฉะนั้น นับตั้งแต่ก่อตั้ง “ห้องรับแขก” ของที่นี่จึงไม่เคยว่างเว้นจากผู้มาเยือน ทั้งจากภายในและภายนอก ธปท. ที่มาผนึกกำลังทำวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนำเสนอผลงานผ่านกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ รวมถึงเผยแพร่บทความวิจัยเชิงลึก (PIER Discussion Paper) และบทความวิจัยฉบับย่อ (aBRIDGEd) ผ่านเว็บไซต์ นอกจากนี้ สถาบันวิจัยฯ ยังได้สนับสนุนนักวิจัยภายนอกผ่านการให้ทุนวิจัยรายย่อยอีกด้วย
ข้อมูลถือเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของการทำวิจัยในปัจจุบัน สถาบันวิจัยฯ จึงให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ใน “ห้องครัว” ไม่น้อยไปกว่าด้านอื่น ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยฯ ได้เป็นผู้นำในการรวบรวมและปรับปรุงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) และข้อมูลที่มีความละเอียดสูง (granular data) เพื่อนำมาใช้ในการวิจัย เช่น ข้อมูลราคารายสินค้า ข้อมูลสินเชื่อรายบัญชี ข้อมูลเงินฝากรายบัญชี ข้อมูลการส่งออกและนำเข้ารายใบขน ข้อมูลแรงงานรายลูกจ้าง ข้อมูลภาคธุรกิจรายบริษัทและรายผู้ถือหุ้น ข้อมูลภาคเกษตรกรรมรายเกษตรกรและรายแปลงเพาะปลูก รวมถึงข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลจากการวิเคราะห์ตัวบท (textual analysis)
ความสำเร็จในการบุกเบิกฐานข้อมูลต่าง ๆ ทำให้สถาบันวิจัยฯ สามารถผลิตงานวิจัยได้เป็นจำนวนมากและครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย อาทิ เรื่องเงินเฟ้อและราคาสินค้า การเงินภาคครัวเรือน โครงสร้างของภาคธุรกิจ ภาคเกษตร ภาคการส่งออก และภาคแรงงาน ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจระบบเศรษฐกิจไทยในระดับจุลภาค และมีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน การเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตรและภาคธุรกิจ การส่งเสริมการแข่งขัน การจัดหาสวัสดิการแรงงานและการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาหลายชิ้นต่อผู้ดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ นอกจากนี้ งานวิจัยเรื่อง “จุลทรรศน์หนี้ครัวเรือนไทย” ยังได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2561 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ อันเป็นการตอกย้ำถึงมาตรฐานคุณภาพของงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับจากวงการวิชาการ
สถาบันวิจัยฯ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยผ่านบทความต่าง ๆ และจัดกิจกรรมทางวิชาการที่มีความหลากหลายเป็นประจำ ได้แก่
- การร่วมกับสายนโยบายการเงินของ ธปท. จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี (BOT Symposium) ซึ่งเป็นเวทีวิชาการชั้นนำของประเทศที่มีผู้เข้าร่วมนับพันคน และเป็นเวทีที่มีบทบาทสำคัญในการชี้นำความคิดด้านนโยบายสาธารณะ
- การจัดเวทีให้นักวิชาการนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเข้มข้น ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ (PIER Research Workshop และ PIER Research Seminar) และในรูปแบบที่เป็นกันเอง (PIER Research Exchange)
- การจัด Policy Forum เพื่อพูดคุยในประเด็นทางนโยบายที่เฉพาะเจาะจงกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และรวมถึงการจัด Research Brief เพื่อสื่อสารผลงานวิจัยกับสื่อมวลชน เพื่อผลักดันผลงานวิจัยสู่วงกว้าง
โดยสถาบันวิจัยฯ ได้ดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ไปพร้อมกับการสื่อสารผ่านช่องทางและรูปแบบใหม่ ๆ เช่น โซเชียลมีเดีย และคลิปวิดีโอ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้การนำเสนอข่าวสารด้านเศรษฐกิจของหน่วยงานและสื่อต่าง ๆ มีการอ้างถึงงานวิจัยของสถาบันวิจัยฯ อย่างสม่ำเสมอ
ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยฯ เน้น “สร้างบ้าน สร้างผลงาน สร้างเครือข่าย” อันเป็นการวางรากฐานที่สำคัญ ก้าวต่อไปจากนี้ เราพร้อมที่จะออกไป “สู่โลกกว้าง” เพื่อพานักวิจัยและผลงานวิจัยไปสู่โลกภายนอกมากขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นว่า สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเป็นชื่อแรกที่วงการวิชาการ ผู้ดำเนินนโยบาย และสาธารณชน ทั้งในและต่างประเทศนึกถึงเมื่อต้องการองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย
สถาบันวิจัยฯ มุ่งที่จะต่อยอดเครือข่ายทางวิชาการ โดยจะส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยในต่างประเทศ เพื่อให้นักวิจัยไทยได้ก้าวทันพรมแดนทางความรู้ที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน ภายในประเทศจะพัฒนาความสัมพันธ์กับนักวิชาการในส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น เพื่อกระจายความแข็งแกร่งของวงการวิชาการไทยและเพื่อให้นักวิชาการในส่วนกลางเข้าใจปัญหาของประเทศได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สถาบันวิจัยฯ จะเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนการศึกษาเศรษฐศาสตร์ผ่านการร่วมจัดกิจกรรมทางวิชาการกับสถานศึกษาและการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดนักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ ในอนาคต
ในด้านการสนับสนุนข้อมูลการทำวิจัย สถาบันวิจัยฯ ได้ส่งท้ายปีที่ 5 ด้วยการเปิดตัวเว็บไซต์ศูนย์รวมข้อมูลเศรษฐกิจไทย (Thailand’s Integrated Database for Economics: TiDE) ซึ่งพลิกโฉมการเข้าถึงข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเว็บไซต์ TiDE ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้บริการข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศที่ครอบคลุมทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคการเงิน สถาบันการเงิน และดัชนีเศรษฐกิจต่าง ๆ สามารถใช้งานได้ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการทำวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยมากยิ่งขึ้น
เมื่อมองไปข้างหน้า การผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพยังคงเป็นภารกิจหลักของสถาบันวิจัยฯ โดยจะมุ่งยกระดับความเป็นเลิศทางวิชาการ รวมทั้งมุ่งส่งเสริมและพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญต่อไป ในขณะเดียวกัน สถาบันวิจัยฯ จะมุ่งสร้างผลสัมฤทธิ์ของงานวิจัย เรียนรู้การดำเนินนโยบายเพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์ทางนโยบายที่ชัดเจน ตรงประเด็น มีงานวิจัยภาคสนามที่เข้าถึงปัญหาของกลุ่มคนในสังคมที่ลึกขึ้น เพื่อให้งานวิจัยสามารถนำมาใช้ได้จริง ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะก้าวสู่ปีที่ 6 อย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมกับวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์วิจัย เชื่อมต่อนโยบาย” ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์: 0-2283-6066
Email: pier@bot.or.th
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2567 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license
รับจดหมายข่าว PIER