Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/9ec87899178b6fed6d4e01c8e68976ff/41624/cover.jpg
1 สิงหาคม 2559
20161470009600000

ปัจจัยเชิงสถาบันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย

ปัจจัยเชิงสถาบันโดยเฉพาะธรรมาภิบาลเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความจำเป็นต่อการหลุดพ้นจากกับดับประเทศรายได้ปานกลาง
สมชัย จิตสุชน
ปัจจัยเชิงสถาบันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย
excerpt

ประเทศไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยโมเดลการขยายตัวเศรษฐกิจแบบเก่าไม่สามารถช่วยให้ไทยหลุดพันกับดักนี้ได้ เราต้องการโมเดลใหม่ที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยเชิงสถาบันที่เอื้อต่อการยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับสูงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีธรรมาภิบาลเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Growth-Enhancing Governance)

ปัญหาเรื่องกับดักประเทศรายได้ปานกลาง หรือ middle-income trap ได้รับความสนใจค่อนข้างมากในสังคม ไทยในระยะหลัง ทั้งในกลุ่มนักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และสื่อมวลชน โดยเป็นผลจากการลดลงของระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวค่อนข้างต่ำตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจและการเงินเอเชีย (Asian Financial Crisis) เมื่อปี พ.ศ. 2540/41 ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยระยะปานกลางเพียงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับกว่าร้อยละ 7 ในระยะเวลา 30–40 ปีก่อนหน้า (รูปที่ 1) จนกลายเป็นความท้าทายเชิงนโยบายว่าไทยจะสามารถยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตระยะ ปานกลางถึงระยะยาวได้อย่างไร

รูปที่ 1 อัตรา (%) การขยายตัวระยะปานกลาง (medium-term growth, 11-year rolling window) วัดด้วยค่าเฉลี่ย 11 ปี ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

อัตรา (%) การขยายตัวระยะปานกลาง (medium-term growth, 11-year rolling window) วัดด้วยค่าเฉลี่ย 11 ปี ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ที่มา: คำนวณจากข้อมูลรายได้ประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (โดยใช้นิยามเก่า)

เป็นที่แน่ชัดว่าเราไม่สามารถเผชิญความท้าทายนี้ด้วยวิถีทางเดิมของการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะรูปแบบการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างในอดีตไม่สามารถใช้ในภาวะปัจจุบันและอนาคตได้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ เช่น การขาดแคลนแรงงานตามโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว การศึกษาที่ไม่สามารถผลิตแรงงานที่ตรงกับความต้องการตลาด ในขณะที่การเพิ่มทักษะหลังออกจากการศึกษาก็ขาดประสิทธิผล ความร่อยหรอของทรัพยากรที่เคยเป็นปัจจัยไร้ต้นทุนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอดีต ข้อจำกัดของภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพราะรายจ่ายสวัสดิการสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการขาดการแข่งขันอย่างเต็มที่ในภาคเศรษฐกิจบางประเภท (เช่น ธนาคาร ธุรกิจตลาดทุน การศึกษาพื้นฐาน)

หากใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก การหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางประกอบด้วยสองแนวทางคือ (1) การเพิ่ม ‘ประสิทธิภาพในตัว’ (intrinsic productivity) ของปัจจัยการผลิตเอง เช่น การเพิ่มระดับทุนมนุษย์ผ่านการศึกษา การเพิ่มทักษะการทำงาน หรือการเพิ่มระดับเทคโนโลยีที่ฝังตัว (embedded) ในสินค้าทุนผ่านการนำเข้าสินค้าทุนที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น อีกแนวทางหนึ่งคือ (2) การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นสินค้าใหม่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ (product innovation) การสร้างนวัตกรรมของกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ หรือการตลาด (process/management/marketing innovations) ปัญหาของข้อเสนอแนะข้างต้นคือ มักไม่ได้บอกว่าต้องทำอย่างไร และจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร เช่น อาจเสนอว่าต้องเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยี แต่หลายประเทศก็ไม่สามารถเพิ่มได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อจำกัดของทรัพยากรทางการเงิน1

ในระยะหลังจึงเริ่มมีคำอธิบายที่ใช้ปัจจัยเชิงสถาบัน (institution approach) มาอธิบาย สำหรับประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่าการติดอยู่ในกับดักเป็นเพราะความล้มเหลวของ ‘สถาบันเศรษฐกิจ’ ในระบบเศรษฐกิจในการนำหรือร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ทิศทางใหม่ของการพัฒนา (ดูคำอธิบายเรื่องเศรษฐศาสตร์สถาบันในกรอบ)

เศรษฐศาสตร์สถาบันหรือ institutional economics ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการอธิบายความสามารถในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงและต่อเนื่อง (sustained high economic growth)2 ตัวอย่างเช่น Rodrik et al. (2004) ศึกษาโดยใช้ข้อมูลระหว่างประเทศพบว่าปัจจัยเชิงสถาบัน เช่น การมีและบังคับใช้กฎหมาย (Rule of Law) มีความสำคัญมากที่สุดในการอธิบายความแตกต่างระหว่างอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว เช่นเดียวกัน Aiyar et al. (2013) ก็ได้ข้อสรุปเช่นเดียวกัน

อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า ‘สถาบัน’ ในเรื่องนี้ Douglas North (1994) นิยามว่าสถาบันหมายถึง ‘กติกาของเกมในสังคม หรือเงื่อนไขที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้นเพื่อกำกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน อาจเป็นเงื่อนไขที่เป็นทางการเช่นระเบียบ กฎหมาย รัฐธรรมนูญ หรือเงื่อนไขไม่เป็นทางการเช่นพฤติกรรมที่สังคมยอมรับทั่วไป (norms of behavior) ข้อตกลงในสังคม (convention) หรือหลักปฏิบัติที่บังคับใช้กันเอง (self-imposed codes of conduct) และรวมทั้งลักษณะการบังคับใช้กติกาหรือเงื่อนไขด้วย’3

ดังนั้นคำว่าสถาบันจึงหมายถึง (ก) สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (ข) เป็นกติกา และ (ค) ทำงานผ่านระบบแรงจูงใจ (incentive) ภายใต้กติกาหรือเงื่อนไขดังกล่าว

Acemoglu et al. (2004) ขยายความเพิ่มเติมว่าสถาบันทางเศรษฐกิจ (economic institutions) มีส่วนกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวหากการจัดแบ่งอำนาจระหว่างกลุ่มการเมืองเป็นไปในลักษณะที่ทำให้ระบบกรรมสิทธิ์ (property right) ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ควบคุมการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจไม่ให้แย่งชิงค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (economic rent) มาเป็นของตัว4 และยกตัวอย่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษว่าขยายตัวทางเศรษฐกิจได้เพราะการทำระบบกรรมสิทธิ์ให้เข้มแข็ง

Khan (2009) ใช้คำอธิบายที่ใกล้เคียงกันในเรื่องระบบกรรมสิทธิ์สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับสูงของไทยในช่วงที่ญี่ปุ่นมาลงทุนขนานใหญ่ในทศวรรษ 1980 ว่าเป็นเพราะไทยให้ความมั่นใจในเรื่องการมีกรรมสิทธิ์ในผลกำไรของบริษัทญี่ปุ่นว่าจะไม่ถูกทางการไทยลิดรอนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ความล้มเหลวเชิงสถาบันของไทยสามารถอธิบายได้จากหลายมุมมอง ในภาคเอกชน ความล้มเหลวอาจเกิดจาก ‘ภาพลวง’ ว่าเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวต่อไปด้วยโมเดลเดิม ไม่ต้องมีการ ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ การที่องค์กรธุรกิจจำนวนไม่น้อยยังหวังใช้แรงงานราคาถูกไปเรื่อย ๆ และเมื่อแรงงานราคาถูกหายากก็นำเข้าแรงงานต่างชาติราคาถูกมาแทน ส่วนภาครัฐและภาคการเมืองเองก็ตอบสนองด้วยการบังคับใช้นโยบายแรงงานต่างชาติแบบเปิดเสรี กล่าวคือ แม้จะมีระเบียบให้แรงงานต่างชาติต้องจดทะเบียน แต่ก็มิได้บังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจังนัก ทั้งนี้ การหลีกเลี่ยงการปรับตัวที่ถูกต้องด้วยการยกระดับการใช้เทคโนโลยีในการผลิต การตลาด การจัดองค์กร หรือความล้มเหลวในการจัดทำนโยบายและบังคับใช้นโยบายที่เอื้อต่อการปรับตัวดังกล่าวล้วนถือเป็นความล้มเหลวของสถาบันเศรษฐกิจตามมุมมองเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบัน

เศรษฐศาสตร์สถาบันยังให้แง่มุมอื่นอีกมากที่ช่วยอธิบายการตกอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไร้ประสิทธิภาพของระบบการศึกษาไทยในการผลิตคนที่มีทักษะเหมาะสมกับโลกสมัยใหม่ จนทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างทักษะที่สร้างขึ้นกับเทคโนโลยียุคใหม่ หรือ technology-skill mismatch5 หรือความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจทั้งระบบในการ ‘ให้การสนับสนุนทางการเงินกับกระบวนการเรียนรู้’ เทคโนโลยีที่เหมาะสม6 ภาคเอกชนเองแม้จะเริ่มมีบริษัทขนาดใหญ่ที่สามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาการใช้เทคโนโลยี แต่ธุรกิจเหล่านั้นก็ไม่สามารถมีบทบาทมากกว่านี้ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ (เช่น นโยบายการศึกษา การอบรมฝีมือแรงงานโดยรัฐ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน) จึงไม่สามารถชดเชยความล้มเหลวของภาครัฐได้

Mushtaq Khan (2007a, 2007b, 2009, 2013) ได้ใช้แนวคิดเรื่องธรรมาภิบาลในการสรุปรวมปัจจัยเชิงสถาบันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยทำการแยกธรรมาภิบาลเป็นสองประเภท คือ (ก) market-enhancing governance (MEG) และ (ข) growth-enhancing governance (GEG) โดยมีความแตกต่างกันคือ MEG เป็นธรรมาภิบาลมุ่งเน้นให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างค่อนข้างเสรี ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่หลายประเทศที่เคยยากจนใช้และประสบความสำเร็จในการยกระดับเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย จีน อินเดีย และประเทศเกิดใหม่ (emerging economies) หลายแห่งทั่วโลก มาตรการตามแนวทาง MEG ประกอบด้วยการยกเลิกข้อจำกัดของตลาด การลดบทบาทภาครัฐในการผลิตสินค้าเอกชน การเปิดประเทศเพื่อการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้มักจะไม่สามารถทำให้ประเทศก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางจนมีรายได้สูงได้ตัวอย่างของประเทศไทย

ส่วน GEG เป็นธรรมาภิบาลที่เน้นให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูงและต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องยึดมั่นในกลไกตลาดและหลักการการไม่แทรกแซงจากภาครัฐ กล่าวคือ ภาครัฐและภาคเอกชนอาจร่วมมือกันในการผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผ่านการร่วมมือกันผลิตสินค้าสาธารณะหรือสินค้ากึ่งสาธารณะที่เป็นรากฐานของการขยายตัวระดับสูง (เช่น ความรู้ด้านเทคโนโลยี) โดยรัฐอาจให้การสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ด้านการเงิน การคุ้มครองไม่ให้เอกชนที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเผชิญการแข่งขันจากต่างประเทศที่มีระดับเทคโนโลยีเหนือกว่ามากในระยะแรก หากแนวคิดนี้จบเพียงเท่านี้ก็จะเหมือนกับแนวนโยบายที่เรียกว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมทารก (infant industry promotion) ในอดีต ซึ่งประสบความล้มเหลวในหลายประเทศ ส่วนที่ Khan เพิ่มขึ้นมาคือในการดำเนินนโยบายที่ดูคล้ายการส่งเสริมอุตสาหกรรมทารกนี้จะต้องเป็นไปพร้อมกับการป้องกันมิให้มีการสนับสนุนภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ผู้ที่มีศักยภาพมากที่สุด (non-performers) อย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นสาเหตุของความล้มเหลวของการส่งเสริมอุตสาหกรรมทารก กล่าวคือ มีการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายเพื่อยกประโยชน์หรือค่าเช่าทางเศรษฐกิจให้กับผู้ที่ไม่มีศักยภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวผ่านการร่วมมือและสนับสนุนระหว่างรัฐและเอกชนจะต้องกระทำโดยมีธรรมาภิบาลที่ดีนั่นเอง จะเห็นว่าแนวคิดแบบ GEG ใกล้เคียงกับลักษณะของสถาบันที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ Acemoglu et al. (2004) กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง

Khan (2007a) ระบุว่า GEG ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วผ่าน 3 ช่องทางคือ (ก) แก้ปัญหากลไกตลาดล้มเหลวในการจัดสรรทรัพยากรไปสู่กิจกรรมที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระยะยาว เช่น การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการจัดการ ศึกษาเชิงรุก (ข) การแสวงหาเทคโนโลยีหรือ technological acquisition และ (ค) การรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาระยะยาว

ยุทธศาสตร์แบบ GEG เป็นสิ่งที่พบโดยทั่วไปในประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (newly industrialized economies หรือ NIEs) ซึ่งรัฐบาลจงใจสร้างค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (economic rent) ผ่านการออกนโยบายสนับสนุนและปกป้องอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็ป้องกันมิให้ non-performers ใช้ประโยชน์จากค่าเช่าเศรษฐกิจนี้ วิธีป้องกันทำได้หลายวิธี เช่น ประเทศเกาหลีใต้กำหนดให้อุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนต้องสามารถส่งออกสินค้าที่กำลังพัฒนาด้านเทคโนโลยีได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถทำได้ก็จะหยุดการสนับสนุนและเปลี่ยนไปสนับสนุนผู้มีศักยภาพมากกว่า เป็นต้น

การใช้ยุทธวิธีแบบ GEG นั้นแม้หลักคิดจะง่ายและตรงไปตรงมา แต่การปฏิบัติให้เกิดผลจริงจะซับซ้อนและขึ้นกับบริบทของแต่ละประเทศ การนำมาใช้งานจริงจึงต้องทำอย่างระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากใช้ไม่ถูกต้องอาจก่อให้เกิดผลเสียในรูปของทรัพยากรที่หมดไปกับการส่งเสริมที่ผิดทาง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การกลับมาใช้ MEG น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ตารางที่ 1 แสดงประสบการณ์ในเรื่องนี้ของประเทศเกาหลีใต้ มาเลเซีย และกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบประสบการณ์ธรรมาภิบาลเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เปรียบเทียบประสบการณ์ธรรมาภิบาลเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ในตอนที่ 2 จะกล่าวถึงปัจจัยเชิงสถาบันของ ‘ปัญหา’ ต่าง ๆ ของไทย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ถ้าหากมีการแก้ไขปรับปรุงแล้วอาจทำให้ไทยสามารถทำยุทธวิธีแบบ GEG ตามแนวคิดของ Khan ได้ ปัญหาเหล่านี้คือ การขาดภาวะผู้นำและการจัดสรรอำนาจการเมืองเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหานวัตกรรมต่ำ และปัญหาคอร์รัปชั่น

ข้อสรุป

ธรรมาภิบาลเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GEG เป็นกรอบแนวคิดที่สามารถช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ อย่างไรก็ตาม GEG ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยตัวเอง หากแต่เป็นโครงสร้างเชิงสถาบันที่ต้องการการบ่มเพาะขึ้นจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

สมชัย จิตสุชน, นันทพร เมธาคุณวุฒิ, นณริฎ พิศลยบุตร และ พัฒน์ พัฒนรังสรรค์. 2554. การศึกษาแนวทางสนับสนุนทางการเงินเพื่อการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย. รายงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ สถาบันคลังสมอง.

Acemoglu, D., S. Johnson and J. Robinson (2004): “Institutions as the Fundamental Cause of Long-Run Growth,” NBER working paper no. 10481.

Acemoglu, D. and F. Zilibotti (1999): “Productivity Differences,” NBER Working Paper No. 6879.

Aiyar, S., R. Duval, D. Puy, Y. Wu, and L. Zhang (2013): “Growth Slowdowns and the Middle-Income Trap,” IMF Working Paper no. 13/71.

Khan, M. (2007a): “Governance, Economic Growth and Development since the 1960s,” United Nations Department of Economic and Social Affairs (DESA). Available at http://eprints.soas.ac.uk/9921/1/DESA_Governance_Economic_Growth_and_Development_since_1960s.pdf.

Khan, M. (2007b): “Governance and Growth: A Preliminary Report,” (unpublished). Available at http://eprints.soas.ac.uk/9958/1/Preliminary_Report.pdf.

Khan, M. (2009): “Learning, Technology Acquisition and Governance Challenges in Developing Countries,” DFID. (unpublished)

Khan, M. (2013): “Technology Policies and Learning with Imperfect Governance,” Pp. 79–115 in Stiglitz, Joseph and Justin Yifu Lin (eds.), The Industrial Policy Revolution I: The Role of Government beyond Ideology. London: Palgrave.

North, D. C. (1994): “Economic Performance through Time,” Nobel prize lecture, December 19, 1993. Also published in The American Economic Review, 84 (3): 359–368.

North, D. C., and B. Weingast (1989): “Constitution and Commitment: The Evolution of Institutional Governing Public Choice in Seventeenth-Century England,” The Journal of Economic History 49/4: 803–832.

Rodrik. D., A. Subramanian, and F. Trebbi (2004): “Institutions Rule: The Primacy of Institutions over Geography and Intergration of Economic Development.” Journal of Economic Growth 9(2).


  1. สมชัยและคณะ (2554) ใช้แบบจำลองเศรษฐมิติบนข้อมูลระหว่างประเทศและพบว่าทรัพยากรทางการเงินไม่ว่าจะเป็นของประเทศโดยรวมหรือของภาครัฐ ไม่ใช่ข้อจำกัดของการลงทุนด้านเทคโนโลยี↩
  2. งานวิจัยที่มีอิทธิพลในเรื่องนี้ฉบับแรก ๆ คือ North, et.al (1989).↩
  3. North (1994), นิยามคำว่า ‘สถาบัน’ ว่าหมายถึง “The rules of the game: the humanly devised constraints that structure human interaction. They are made up of formal constraints (such as rules, laws, constitutions), informal constraints (such as norms of behavior, conventions, self-imposed codes of conduct), and their enforcement characteristics”↩
  4. Acemoglu et al. (2004), “Economic institutions encouraging economic growth emerge when political institutions allocate power to groups with interests in broad-based property rights enforcement, when they create effective constraints on power-holders, and when there are relatively few rents to be captured by power-holders”↩
  5. Acemoglu and Zilibotti. (1999) ซึ่งอธิบายว่าความไม่สอดคล้องนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีถูกสร้างในโลกตะวันตกในขณะที่ทักษะที่ระบบการศึกษาผลิตขึ้นมาเป็นของประเทศกำลังพัฒนา↩
  6. Khan (2009)↩
สมชัย จิตสุชน
สมชัย จิตสุชน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
Topics: Productivity and Technological ChangePolitical Economy
Tags: governanceinstitution approachmiddle-income trap
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email