Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/f8af91c11f994bc1ed856937904c2039/e9a79/cover.png
27 กุมภาพันธ์ 2560
20171488153600000

การพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อสังคมที่เสมอภาคและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

การพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกันได้
วีระชาติ กิเลนทอง
การพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อสังคมที่เสมอภาคและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
excerpt

การพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกันได้ งานวิจัยในอดีตชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยมีความคุ้มค่าอย่างยิ่ง เช่น อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนของโครงการ Perry Preschool ที่ใช้หลักสูตรไฮสโคป (HighScope) มีค่าสูงถึง 7 ต่อ 1 ในขณะที่โครงการ ABC ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านเกมส์ที่สร้างมาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กก็มีผลประโยชน์ต่อต้นทุนสูงถึง 2.5 ต่อ 1

การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและการสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรส่วนใหญ่ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและช่วยให้เกิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในที่สุด อย่างไรก็ตาม นโยบายสาธารณะส่วนใหญ่ไม่สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นทั้งสองส่วนได้พร้อมกัน กล่าวคือ นโยบายสาธารณะที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตส่วนใหญ่มักจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่มากขึ้น เช่น นโยบายการเก็บภาษีแบบคงที่ (flat tax) ในทางกลับกัน นโยบายสาธารณะที่มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพด้านการผลิตอาจนำไปสู่ปัญหาภาระทางการคลังของประเทศชาติอย่างมหาศาล เช่น โครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย (early childhood development) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกันได้ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์ (human capital) ให้กับประเทศชาติ ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตของสังคม ลดผลกระทบที่เกิดจากการก่ออาชญากรรมและการติดยาเสพติด และที่สำคัญการพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยยังช่วยลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในแง่ที่ช่วยลดความแตกต่างด้านทุนมนุษย์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต อันเป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบันไปอีกด้วย

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศาสตราจารย์ James J. Heckman จาก University of Chicago (Heckman and et.al., 2010, 2013) ได้ศึกษาผลกระทบของโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยภายใต้โครงการ Perry Preschool ซึ่งสอนเด็กปฐมวัยอายุ 3 ถึง 4 ขวบ ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองอิปซิแลนตี รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1962 ถึง 1965 โดยใช้หลักสูตรที่ชื่อว่า ไฮสโคป (HighScope) ซึ่งมีกระบวนการเรียนการสอนหลัก 3 ประการคือ วางแผน (plan) ลงมือทำ (do) และทบทวน (review) นอกจากนี้ โครงการ Perry Preschool ได้สุ่มเลือกเด็กทั้งหมดจำนวน 123 คนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม (control) จำนวน 65 คน และกลุ่มทดลอง (treatment) จำนวน 58 คน ผลการศึกษาพบว่า อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (benefit-to-cost ratio) ของโครงการฯ มีค่าประมาณ 7 ต่อ 1 ถึง 12 ต่อ 1 กล่าวคือ การลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการฯ และสังคมโดยรวมประมาณ 7 ถึง 12 บาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return: IRR) ร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงมากเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure investment) และการลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศสหรัฐอเมริกา ยิ่งไปกว่านั้น ศาสตราจารย์ James J. Heckman ยังสรุปหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวกับการลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การลงทุนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่าจะนำไปสู่อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า” ดังแสดงในรูปภาพที่ 1

รูปภาพที่ 1 : อัตราผลตอบแทนของการลงทุนด้านการศึกษาในแต่ละระดับอายุ

อัตราผลตอบแทนของการลงทุนด้านการศึกษาในแต่ละระดับอายุ

ที่มา: Heckman (2008)

นอกจากนี้ Heckman, Pinto and Savelyev (2013) ยังได้ศึกษากลไกที่ส่งผลให้โครงการ Perry Preschool ประสบความสำเร็จ โดยผลการศึกษาพบว่า โครงการฯ มีบทบาทในการพัฒนาทักษะทั้งด้านสติปัญญา (cognitive skills) ด้านบุคลิกภาพ (personality skills) และแรงกระตุ้นด้านวิชาการ (academic motivation) ถึงแม้ว่าผลกระทบด้านสติปัญญาจะเห็นผลได้ชัดในระยะสั้นเท่านั้น แต่ผลกระทบด้านบุคลิกภาพและแรงกระตุ้นด้านวิชาการกลับมีผลต่อเนื่องไปจนกระทั่งกลุ่มตัวอย่างอยู่ในวัยผู้ใหญ่ (ปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างมีอายุกว่า 50 ปีแล้ว) ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งด้านบุคลิกภาพและแรงกระตุ้นด้านวิชาการเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้โครงการ Perry Preschool ประสบความสำเร็จ ดังแสดงผลในรูปภาพที่ 2 (สำหรับผู้หญิง) และ รูปภาพที่ 3 (สำหรับผู้ชาย) ข้อค้นพบจากงานวิจัยชิ้นนี้ยังสอดคล้องกับงานวิจัยอีกจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า มีปัจจัยอีกหลายประการนอกเหนือจากทักษะด้านสติปัญญาที่สำคัญต่อความสำเร็จของมนุษย์ ได้แก่ การสื่อสาร (communication) การทำงานเป็นทีม (teamwork) ความมั่นใจในตนเอง (self-confidence) ความสามารถในการควบคุมตนเอง (self-control) และความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ (grit) เป็นต้น

รูปภาพที่ 2 : อิทธิผลของปัจจัยด้านสติปัญญา พฤติกรรมการแสดงออก และแรงกระตุ้นด้านวิชาการต่อตัวชี้วัดในด้านต่าง ๆ สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงในโครงการ Perry Preschool

อิทธิผลของปัจจัยด้านสติปัญญา พฤติกรรมการแสดงออก และแรงกระตุ้นด้านวิชาการต่อตัวชี้วัดในด้านต่าง ๆ สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงในโครงการ Perry Preschool

ที่มา: Heckman, Pinto and Savelyev (2013)
รูปภาพที่ 3 : อิทธิผลของปัจจัยด้านสติปัญญา พฤติกรรมการแสดงออก และแรงกระตุ้นด้านวิชาการต่อตัวชี้วัดในด้านต่าง ๆ สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้ชายในโครงการ Perry Preschool

อิทธิผลของปัจจัยด้านสติปัญญา พฤติกรรมการแสดงออก และแรงกระตุ้นด้านวิชาการต่อตัวชี้วัดในด้านต่าง ๆ สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้ชายในโครงการ Perry Preschool

ที่มา: Heckman, Pinto and Savelyev (2013)

โครงการ Carolina Abecedarian Project (ABC Project) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เน้นการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเน้นส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา สังคมและอารมณ์ โครงการ ABC มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นเด็กอายุระหว่างแรกเกิดจนถึง 5 ขวบ ซึ่งเกิดในช่วงปี 1972 ถึงปี 1977 ทั้งหมดจำนวน 112 คน โดยโครงการฯ ประยุกต์ใช้เทคนิคการวิจัยแบบทดลองสุ่ม (Randomized Controlled Trial: RCT) เช่นเดียวกับโครงการ Perry Preschool โดยสุ่มเลือกเด็กทั้งหมดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม (control) จำนวน 55 คน และกลุ่มทดลอง (treatment) จำนวน 57 คน โดยกลุ่มทดลองจะได้รับการศึกษาระดับปฐมวัยที่มีคุณภาพเพิ่มเติม เช่นเดียวกับโครงการ Perry Preschool เพียงแต่ใช้หลักสูตรที่แตกต่างกัน หลักการสำคัญของหลักสูตร ABC คือ การเรียนรู้ผ่านเกมส์ที่สร้างมาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก และการกระตุ้นการใช้ภาษาด้วยการสนทนากับเด็กอย่างสม่ำเสมอ โครงการ ABC ได้เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงอายุ 21 ปี ซึ่งช่วยให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการฯ ได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Campbell et.al. (2002) พบว่า คนที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ มาก่อนนั้นมีคะแนนทดสอบทางด้านสติปัญญาและผลการเรียนสูงกว่าผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ Barnett and Masse (2007) พบว่า อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนของโครงการฯ มีค่าประมาณ 2.5 ต่อ 1 ซึ่งต่ำกว่าโครงการฯ Perry Preschool ค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการ ABC มีต้นทุนสูงกว่าถึงประมาณ 4 เท่าของโครงการ Perry Preschool

โครงการ Perry Preschool และโครงการ ABC นับเป็นโครงการที่สร้างนวัตกรรมทางการศึกษาที่สำคัญ เนื่องจากมีการวางแผนเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนกระทั่งกลุ่มตัวอย่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้นักวิจัยสามารถศึกษาถึงผลกระทบของโครงการได้อย่างเป็นระบบทั้งในด้านการศึกษา ด้านอาชีพ และด้านสังคม อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโครงการมีจุดอ่อนที่สำคัญคือ เป็นโครงการขนาดเล็กที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยกว่าคนเท่านั้น จึงยังทำให้เกิดคำถามเชิงนโยบายที่สำคัญตามมาว่า จะสามารถขยายผลของโครงการไปสู่สังคมในภาพกว้างได้อย่างไร และผลตอบแทนที่ได้จะแตกต่างจากการทำโครงการขนาดเล็กมากน้อยเพียงใด

นักวิจัยบางส่วนจึงให้ความสนใจกับโครงการ Head Start ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับอิทธิพลมาจากโครงการ Perry Preschool โดยโครงการ Head Start จัดตั้งขึ้นในปี 1965 เพื่อพัฒนาทั้งด้านสติปัญญา สังคม อารมณ์ รวมไปถึงพัฒนาการด้านสุขภาพร่างกาย และเตรียมความพร้อมในการเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษา โครงการ Head Start เป็นโครงการขนาดใหญ่ ครอบคลุมเด็กยากจนกว่า 560,000 ถึง 800,000 คนต่อปี แม้ว่าผลการวิจัยของ Currie and Thomas (1995) จะพบว่า โครงการ Head Start ช่วยให้ผลทดสอบทางการเรียน (test scores) ของเด็กที่เข้าร่วมโครงการฯ สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในในระยะยาวกลับพบหลักฐานชัดเจนว่า Head Start มีส่วนช่วยลดอัตราการก่ออาชญากรรมและเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้เข้าร่วมโครงการฯ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการฯ ไม่มีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบมากพอ ทำให้ไม่สามารถประเมินผลกระทบของโครงการฯ ในรูปของอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน หรืออัตราผลตอบแทนภายในได้อย่างน่าเชื่อถือเพียงพอเช่นเดียวกับสองโครงการแรก

ข้อสรุป

โดยสรุป งานวิจัยจำนวนไม่น้อยได้ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยให้ผลตอบแทนต่อสังคมที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง ดังนั้น ผู้วางนโยบายควรตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นในข้อนี้ และหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาระดับปฐมวัยที่มีคุณภาพที่ส่งเสริมทั้งทักษะด้านสติปัญญา (cognitive skills) และทักษะด้านบุคลิกภาพ (personality or character skills) รวมไปถึงนโยบายที่ส่งเสริมการอบรมเลี้ยงดูบุตรที่มีคุณภาพ (Heckman, 2013) ยิ่งไปกว่านั้น กราฟในรูปภาพที่ 1 ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ทรัพยากรที่ภาครัฐจัดสรรเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ให้กับประชากรของชาติควรเป็นส่วนกลับกับอายุของผู้รับ กล่าวคือ งบประมาณต่อหัวของเด็กแรกเกิดจนถึงช่วงปฐมวัยควรจะสูงกว่างบประมาณของผู้เรียนระดับอุดมศึกษา เนื่องจากช่วงที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดคือช่วงที่อายุน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม เรายังขาดองค์ความรู้ที่จะช่วยให้สามารถกำหนดรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาโครงการที่ดำเนินการในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะเป็นโครงการที่มีข้อมูลเพียงพอที่จะวิเคราะห์ให้เกิดองค์ความรู้ได้ ในขณะที่โครงการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่มีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ หรือไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์องค์ความรู้จากกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้วได้ดีเท่าที่ควร ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้กำหนดนโยบายจะเข้าใจถึงความสำคัญของการทำวิจัยซึ่งต้องอาศัยข้อมูลที่ดีจากงานวิจัยที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับเด็กปฐมวัย เพื่อให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้ที่จะช่วยให้สามารถวางนโยบายเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

เอกสารอ้างอิง

Barnett, W. S., and L. N. Masse (2007): “Comparative benefit-cost analysis of the Abecedarian program and its policy implications.” Economics of Education Review.

Campbell, F. A., C. T. Ramey, E. Pungello, J. Sparling, and S. Miller-Johnson (2002): “Early childhood education: young adult outcomes from the abecedarian Project.” Applied Developmental Science.

Currie, J., and D. Thomas (1995): “Does Head Start Make a Difference?” American Economic Review.

Heckman, J. J. (2008): “The Case for Investing in Disadvantaged Young Children.” Mimeo University of Chicago.

Heckman, J. J. (2013): “Giving Kids A Fair Chance.” A Boston Review Book.

Heckman, J. J., S. Moon, R. R. Pinto, P. A. Savelyev, and A. Q. Yavitz (2010): “The rate of return to the Perry Preschool program.” Journal of Public Economics.

Heckman, J. J., R. R. Pinto, and P. A. Savelyev (2013): “Understanding the mechanisms through which an influential early childhood program boosted adult outcomes.” American Economic Review.

Temple, J. A., and A. J. Reynolds (2007): “Benefits and costs of investments in preschool education: Evidence from the Child–Parent Centers and related programs.” Economics of Education Review.

วีระชาติ กิเลนทอง
วีระชาติ กิเลนทอง
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
Topics: Economics of EducationWelfare Economics
Tags: developmentearly childhood developmenteducationhuman capital
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email