Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/14ffd484e1b1e34d6e1a5682cbb3f229/e9a79/cover.png
19 พฤษภาคม 2560
20171495152000000

ข้อเท็จจริงและมายาคติเกี่ยวกับการว่างงานและอัตราค่าจ้างของผู้จบปริญญาตรีและอาชีวศึกษาในประเทศไทย

ประเทศไทยมีผู้จบปริญญาตรีล้นตลาดและเงินเดือนต่ำกว่าผู้จบสายอาชีพจริงหรือ?
วีระชาติ กิเลนทองกิตติพงษ์ เรือนทิพย์
ข้อเท็จจริงและมายาคติเกี่ยวกับการว่างงานและอัตราค่าจ้างของผู้จบปริญญาตรีและอาชีวศึกษาในประเทศไทย
excerpt

ภาวะการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีแรกหลังจบการศึกษา และเมื่อจบการศึกษาเกิน 3 ปี ภาวะการว่างงานของผู้ที่จบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและสายอาชีพแทบไม่ต่างกัน ในขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงกว่าค่าจ้างของผู้จบสายอาชีพในทุกช่วงเวลาหลังจบการศึกษา

ในปัจจุบันผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีล้นตลาดและว่างงานจำนวนมากจริงหรือ?

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินการแสดงความคิดเห็นและข่าวเกี่ยวกับภาวะการขาดแคลนแรงงานสายอาชีพหรืออาชีวะศึกษา (ปวช. และปวส.) อยู่เป็นระยะ หรือแม้กระทั่งมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตค่าจ้างของแรงงานสายอาชีพจะสูงกว่าผู้ที่จบปริญญาตรี1 เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ยังคงมีงานวิจัยที่พบว่า ในปัจจุบันตลาดแรงงานขาดแคลนผู้จบสายอาชีพ ในทางกลับกัน มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเกินความต้องการของตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอ้างว่า ผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ปี 2559 ตกงานเป็นจำนวนถึง 1.79 แสนคน2แนวความคิดเช่นนี้ทำให้ภาครัฐพยายามจะสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนและผลิตผู้จบสายอาชีพมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ภาวะการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างที่กังวลกัน ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนต้องการตั้งคำถาม และแสดงให้เห็นว่า การว่างงานหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นเพียงปรากฏการณ์ระยะสั้น และอาจเป็นเรื่องของการรอและหางานมากกว่าจะเป็นเรื่องผู้จบการศึกษาล้นตลาดอย่างที่กังวลกัน โดยเราได้ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร หรือเรียกอย่างสั้น ๆ ว่า LFS (Labor Force Survey) มาสนับสนุนข้อโต้เถียงนี้ เนื่องจาก LFS เป็นข้อมูลแบบสุ่มทั่วประเทศและมีขนาดใหญ่3 ทำให้ลดปัญหาอันเกิดจากความคาดเคลื่อนของข้อมูลได้4

โดยรวมการว่างงานของผู้จบปริญญาตรียังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ และมีรายได้สูงกว่าผู้จบสายอาชีพ

สำหรับภาพรวมของอัตราการว่างงาน ข้อมูลจาก LFS แสดงให้เห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและสายอาชีพอยู่ในระดับที่ต่ำ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ระดับการว่างงานของทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่ไม่เกินร้อยละ 2 แม้ว่าผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะมีอัตราการว่างงานมากกว่าผู้จบสายอาชีพในบางช่วง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น5 (รูปที่ 1) เมื่อมองภาพรวมเช่นนี้จะเห็นได้ว่า อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีอาจยังไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจเท่าใดนัก

รูปที่ 1 : อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและสายอาชีพ

อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและสายอาชีพ

แหล่งข้อมูล : Labor Force Survey ปี พ.ศ. 2549–2559

ในขณะเดียวกัน ข้อมูล LFS (รูปที่ 2) แสดงให้เห็นว่าค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนตามระยะเวลาหลังจบการศึกษา6 ของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงกว่าค่าจ้างของผู้จบสายอาชีพในทุกช่วงเวลาหลังจบการศึกษา ความต่างนี้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อบุคคลทั้งสองกลุ่มมีประสบการณ์การทำงานมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจนักที่ความนิยม/ความต้องการในการเรียนระดับปริญญาตรีจะสูงกว่าการเรียนสายอาชีพ

รูปที่ 2 : ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และสายอาชีพ

ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และสายอาชีพ

แหล่งข้อมูล : Labor Force Survey ปี พ.ศ. 2559

ผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีว่างงานสูงกว่าสายอาชีพจริงหรือ?

เป็นความจริงที่ผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานสูง ดังแสดงในรูปที่ 3 ข้อมูลดังกล่าวบอกเราว่าผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานสูงกว่าผู้จบสายอาชีพเป็นอย่างมากในช่วงปีแรก ๆ หลังจบการศึกษา โดยอัตราการว่างงานของผู้จบปริญญาตรีในช่วงปีแรกหลังจบการศึกษาสูงถึงร้อยละ 35 และสูงถึงร้อยละ 65 สำหรับผู้จบปริญญาตรีสายศึกษาศาสตร์ ในขณะที่ ผู้ที่เพิ่งจบสายอาชีพมีอัตราการว่างงานไม่ถึงร้อยละ 13

รูปที่ 3 : อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับต่าง ๆ แบ่งตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาในปี 2559

อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับต่าง ๆ แบ่งตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาในปี 2559

แหล่งข้อมูล : Labor Force Survey ปี พ.ศ. 2559

อย่างไรก็ดี นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีไม่มีความสามารถและล้นตลาดหรือไม่?

อาจไม่ใช่เช่นนั้น กรอบทฤษฎีเกี่ยวกับการหางานและค่าจ้างที่ต้องการ (reservation wage) ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ผู้ที่ต้องการอัตราค่าจ้างที่ในระดับที่สูงจะไม่เลือกงานที่ได้ค่าจ้างในอัตราที่ต่ำกว่าที่ต้องการ และมักต้องใช้ระยะเวลาในการหางานนานกว่าผู้ที่ต้องการอัตราค่าจ้างในระดับที่ต่ำกว่า7 ซึ่งหากเรามองว่าผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีต้องการอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าผู้จบสายอาชีพ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนักที่อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะสูงกว่าผู้จบสายอาชีพในช่วงที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและเริ่มหางาน นอกจากนี้ หากผู้ที่จบปริญญาตรีไม่มีความสามารถและล้นตลาดจริง อัตราการว่างงานที่สูงนี้ไม่ควรจะมีแนวโน้มลดลง หรือแม้จะลดลงก็ลดลงอย่างช้า ๆ หลังจบการศึกษา เนื่องจากผู้ที่ไม่สามารถหางานได้ เมื่อเวลาผ่านไปโอกาสในการหางานได้จะยิ่งลดน้อยลงเรื่อย ๆ8 ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลกลับชี้ให้เห็นว่า อัตราการว่างงานของผู้จบปริญญาตรีลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงปีแรก ๆ หลังจบการศึกษา

โดยสรุป สถานการณ์การว่างงานที่สูงของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในไทยดูจะเป็นเรื่องชั่วคราวที่เกิดขึ้นในช่วง 0–3 ปีแรกหลังจบการศึกษาเท่านั้น จากข้อมูลในรูปที่ 3 เราจะเห็นได้ว่า ภาวะการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีแรกหลังจบการศึกษา และเมื่อจบการศึกษาเกิน 3 ปี ภาวะการว่างงานของผู้ที่จบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและสายอาชีพแทบไม่ต่างกัน ปรากฏการณ์นี้ดูเหมือนจะสนับสนุนแนวความคิดที่ว่าภาวะการว่างงานของผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นเรื่องของการค้นหางานและจับคู่กับงาน (Searching and matching) นอกจากนี้ อัตราการว่างงานหลังจบการศึกษาของกลุ่มปริญญาตรีที่สูงกว่าปวช.และปวส.ไม่ได้เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด หากแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนานแล้ว ดังข้อมูลในรูปที่ 4.1 และ 4.2 แสดงให้เห็นว่า อัตราการว่างงานของผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงกว่าผู้จบสายอาชีพ (ปวช. และ ปวส.) ทั้งในปี 2549, 2554 และ 2559 แต่เมื่อจบการศึกษาเกิน 3 ปี จำนวนการว่างงานของแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เราอาจพูดได้ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะใช้เวลาในการหางานนานกว่ากลุ่มอื่น ๆ

รูปที่ 4.1 : อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับต่าง ๆ ในช่วง 0–3 ปีแรกหลังจบการศึกษา

อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับต่าง ๆ ในช่วง 0–3 ปีแรกหลังจบการศึกษา

แหล่งข้อมูล : Labor Force Survey ปี พ.ศ. 2544–2559 หมายเหตุ: ปริญญาตรีในที่นี้รวมผู้ที่จบปริญญาตรีสายสามัญทั่วไปและปริญญาตรีสายศึกษาศาสตร์
รูปที่ 4.2 : อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับต่าง ๆ หลังจบการศึกษา 3 ปีขึ้นไป

อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับต่าง ๆ หลังจบการศึกษา 3 ปีขึ้นไป

แหล่งข้อมูล : Labor Force Survey ปี พ.ศ. 2544–2559หมายเหตุ : ปริญญาตรีในที่นี้รวมผู้ที่จบปริญญาตรีสายสามัญทั่วไปและปริญญาตรีสายศึกษาศาสตร์

อย่างไรก็ดี การที่เราเห็นภาวะการว่างงานที่ลดลงอย่างรวดเร็วของผู้จบปริญญาตรีอาจเกิดขึ้นได้จากเหตุผลอื่น ยกตัวอย่างเช่น

  1. การที่ผู้ที่ไม่สามารถหางานได้ออกจากตลาดแรงงานจึงทำให้สัดส่วนผู้ว่างงานลดลง
  2. การที่ผู้สำเร็จการศึกษาเลือกที่จะช่วยงานที่บ้านแบบไม่ได้รับเงินเดือนแทนการทำงานประจำ หรือ
  3. การที่ผู้ว่างงานเลือกที่จะผันตัวเข้าสู่ภาคการเกษตรแทน9

การว่างงานของผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ลดลงเพราะการออกจากตลาดแรงงานใช่หรือไม่?

คำตอบก็คือไม่ใช่เช่นนั้น รูปที่ 5 ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีอัตราส่วนเข้าร่วมแรงงาน (labor force participation) ประมาณร้อยละ 70 หลังจบการศึกษา และเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่มากกว่าร้อยละ 90 ภายในเวลาไม่กี่ปีหลังจบการศึกษา สิ่งนี้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เราว่า ตัวเลขการว่างงานที่ลดลงของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่เราเห็นในรูปที่ 5 ไม่ได้มาจากการที่เขาเหล่านั้นออกจากตลาดแรงงาน สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ สัดส่วนการเข้าร่วมแรงงานของผู้จบการศึกษาระดับ ปวช. อยู่ในระดับเพียงร้อยละ 20 เนื่องจากผู้จบ ปวช. มักเลือกที่จะเรียน ปวส. ต่อ ซึ่งเราอาจตีความได้ว่าการเรียนจบ ปวช. ยังไม่เพียงพอต่อเกณฑ์ความต้องการของตลาด ผู้จบ ปวช. ส่วนใหญ่จึงต้องเรียน ปวส. ต่อ สำหรับสัดส่วนการเข้าร่วมแรงงานของผู้จบ ปวส. แม้ว่าจะมีสัดส่วนน้อยกว่ากลุ่มผู้จบปริญญาตรี แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

รูปที่ 5 : อัตราส่วนการเข้าร่วมแรงงานของผู้จบการศึกษาระดับต่าง ๆ แบ่งตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาในปี 2559

อัตราส่วนการเข้าร่วมแรงงานของผู้จบการศึกษาระดับต่าง ๆ แบ่งตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาในปี 2559

แหล่งข้อมูล : Labor Force Survey ปี พ.ศ. 2559หมายเหตุ : ปริญญาตรีในที่นี้รวมผู้ที่จบปริญญาตรีสายสามัญทั่วไปและปริญญาตรีสายศึกษาศาสตร์

ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีต้องไปช่วยงานที่บ้านแบบไม่ได้ค่าตอบแทน?

ดูไม่เป็นเช่นนั้นอีกเช่นกัน เนื่องจากสัดส่วนระหว่างผู้ที่ช่วยงานที่บ้านแบบไม่ได้เงินเดือน (unpaid family worker) ต่อจำนวนผู้มีงานทำของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 15 ในช่วงปีแรกหลังจบการศึกษา และลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น (รูปที่ 6) ในทางตรงกันข้ามข้อมูลในรูปที่ 6 ชวนให้เราสงสัยถึงความต้องการผู้จบการศึกษาสายอาชีพอีกครั้ง แม้ว่าสัดส่วนผู้ช่วยงานที่บ้านของกลุ่มผู้จบ ปวส. จะอยู่ในระดับเดียวกับผู้จบปริญญาตรี แต่สัดส่วนของผู้ช่วยงานที่บ้านในกลุ่มผู้จบ ปวช. อยู่ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มผู้จบปริญญาตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เพิ่งจบการศึกษา

รูปที่ 6 : อัตราส่วนผู้ที่ช่วยงานที่บ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้างต่อผู้มีงานทำทั้งหมด ของผู้จบการศึกษาระดับต่าง ๆ แบ่งตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาในปี 2559

อัตราส่วนผู้ที่ช่วยงานที่บ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้างต่อผู้มีงานทำทั้งหมด ของผู้จบการศึกษาระดับต่าง ๆ แบ่งตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาในปี 2559

แหล่งข้อมูล : Labor Force Survey ปี พ.ศ. 2559หมายเหตุ : ปริญญาตรีในที่นี้รวมผู้ที่จบปริญญาตรีสายสามัญทั่วไปและปริญญาตรีสายศึกษาศาสตร์

หรือผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าไปทำงานในภาคการเกษตรแทน?

ก็ไม่เป็นเช่นนั้นอีกเช่นกัน เนื่องจากสัดส่วนผู้ที่ทำงานในภาคการเกษตรต่อผู้มีงานทำทั้งหมดในกลุ่มผู้ที่จบปริญญาตรีมีไม่ถึงร้อยละ 8 ในปีแรกหลังจบการศึกษาและลดลงจนเหลือต่ำกว่าร้อยละ 5 ภายในเวลาไม่กี่ปี ในทางตรงกันข้าม กลุ่มผู้ที่จบสายอาชีพ (ทั้ง ปวช. และ ปวส.) มีสัดส่วนการทำงานในภาคการเกษตรประมาณร้อยละ 10 ภายหลังจบการศึกษา (รูปที่ 7) และสัดส่วนดังกล่าวของผู้จบสายอาชีพก็สูงกว่า ผู้จบปริญญาตรีโดยตลอด อย่างไรก็ดี ก็เป็นไปได้ที่ความรู้และทักษะของผู้จบสายอาชีพบางสาขาอาจเหมาะสำหรับการทำงานในภาคการเกษตรมากกว่า

รูปที่ 7: อัตราส่วนผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรต่อผู้มีงานทำทั้งหมดของผู้จบการศึกษาระดับต่าง ๆ แบ่งตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาในปี 2559

อัตราส่วนผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรต่อผู้มีงานทำทั้งหมดของผู้จบการศึกษาระดับต่าง ๆ แบ่งตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาในปี 2559

แหล่งข้อมูล : Labor Force Survey ปี พ.ศ. 2559หมายเหตุ : ปริญญาตรีในที่นี้รวมผู้ที่จบปริญญาตรีสายสามัญทั่วไปและปริญญาตรีสายศึกษาศาสตร์

ข้อสรุป

ข้อมูลจากฐานข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey: LFS) ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า อัตราการว่างงานที่สูงของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะลดลงอย่างรวดเร็วและดำรงอยู่ไม่กี่ปีหลังจบการศึกษา และสาเหตุที่ทำให้อัตราการว่างงานของผู้จบปริญญาตรีนั้นลดลงก็ไม่ได้เกิดจากการออกจากตลาดแรงงาน หรือการไปช่วยงานที่บ้านแบบไม่ได้ค่าจ้าง หรือการไปทำงานในภาคการเกษตร ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า ผู้ที่จบปริญญาตรีต้องการค่าจ้างในระดับที่สูงกว่า จึงรองานนานกว่า แต่ท้ายที่สุดก็มีงานทำ ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 3 ปีหลังจากจบการศึกษา ในขณะเดียวกันข้อมูลชุดนี้ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงกว่าค่าจ้างของผู้จบสายอาชีพในทุกช่วงเวลาหลังจบการศึกษา ความต่างนี้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อบุคคลทั้งสองกลุ่มมีประสบการณ์การทำงานมากขึ้น ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาและแรงงานควรระมัดระวังในการออกแบบนโยบายที่มาจากความเชื่อที่ว่าผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีล้นตลาด และเงินเดือนของผู้จบสายอาชีพมากกว่าปริญญาตรี ซึ่งเป็นความเชื่อที่อาจจะไม่ถูกต้องมากนัก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า ตลาดแรงงานไม่ต้องการแรงงานสายอาชีพที่มีคุณภาพ แต่นโยบายการเพิ่มจำนวนและนโยบายที่จะเพิ่มคุณภาพนั้นน่าจะแตกต่างกันมากทีเดียว

เอกสารอ้างอิง

Cahuc, P. and A. Zylberberg (2004): “Labor Economics”, Cambridge, MA: the MIT Press.

Kettunen, J. (1997): “Education and Unemployment Duration” Economics of Education Review, 16 (2), 163–170

Tatsiramos, K. (2014): “Unemployment Benefits and Job Match Quality” IZA World of Labor, 1–10.

Wolbers, M. (2000): “The Effects of Level of Education on Mobility Between Employment and Unemployment in The Netherlands” European Sociological Review, 16, 185–200.


  1. http://www.thairath.co.th/content/426863, http://www.admissionpremium.com/news/756, https://prachatai.com/journal/2015/06/59590, http://money.sanook.com/369675/↩
  2. http://www.matichon.co.th/news/503888 แม้ว่าในข่าวดังกล่าวจะกล่าวว่ามีผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีว่างงานถึง 1.79 แสนคนในปี 2559 แต่การใช้ข้อมูล LFS ผู้เขียนพบว่าจำนวนการว่างงานของผู้ที่เพิ่งจบปริญญาตรีมีจำนวนประมาณ 4 หมื่นคนเท่านั้น↩
  3. LFS เป็นข้อมูลที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีการจัดเก็บรายไตรมาส (4 ครั้งต่อปี) มีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างกว่า 2 แสนคนจากทั้งประเทศ↩
  4. สำหรับการคำนวณค่าต่าง ๆ ในบทความนี้ ผู้เขียนใช้ค่าเฉลี่ยจากการสำรวจทั้ง 4 ไตรมาสของ LFS ในแต่ละปี เพื่อลดปัญหาความผันผวนตามฤดูกาล↩
  5. อัตราการว่างงาน = (ผู้ว่างงาน/ผู้มีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน) * 100, ผู้มีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labor force participation) ครอบคลุมผู้ที่ต้องการทำงานเท่านั้น ผู้ที่ยังไม่ต้องการทำงาน (เช่น พักผ่อน เรียนหนังสือ เกษียณ ฯลฯ) จะไม่รวมอยู่ในตัวเลขนี้↩
  6. ระยะเวลาหลังจบการศึกษา = อายุ – จำนวนปีที่ใช้ในการศึกษา – 6, เหตุที่ต้องลบด้วย 6 เนื่องจากจำนวนปีที่ใช้ในการศึกษาเริ่มนับตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1↩
  7. สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ใน Cahuc et. al. (2014) บทที่ 5↩
  8. งานศึกษาจำนวนมาก (อาทิ Kettunen, 1997; Wolbers, 2000; Tatsiramos, 2014) แสดงให้เห็นว่า ผู้ว่างงานจะมีโอกาสได้งานลดลงเมื่อระยะเวลาในการว่างงานนานขึ้น↩
  9. ผู้เขียนไม่ได้ต้องการจะสื่อว่าคนที่จบการศึกษาสายวิชาชีพและปริญญาตรี ไม่สามารถหรือไม่ควรทำงานในภาคเกษตร แต่ต้องการจะสื่อว่าผู้จบการศึกษาเหล่านั้นน่าจะมีแนวโน้มทำงานในภาคส่วนอื่นมากกว่าภาคเกษตร↩
วีระชาติ กิเลนทอง
วีระชาติ กิเลนทอง
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
กิตติพงษ์ เรือนทิพย์
กิตติพงษ์ เรือนทิพย์
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
Topics: Economics of EducationDevelopment Economics
Tags: labor educationreservation wageunemployment
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email