Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/8a6a9faf931994c6f1445686026fa75d/e9a79/cover.png
1 พฤศจิกายน 2560
20171509494400000

การวิเคราะห์ผลกระทบทางสวัสดิการของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

โครงการนี้คุ้มค่าต่อต้นทุนที่รัฐบาลจ่ายไปหรือไม่ และให้ประโยชน์กับผู้มีสิทธิ์ในโครงการอย่างไร
ณัฏฐ์ หงษ์ดิลกกุล
การวิเคราะห์ผลกระทบทางสวัสดิการของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
excerpt

ในปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลไทยได้เริ่มต้นโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่เรียกกันว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค นับว่าเป็นการปฏิรูปนโยบายสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากโครงการนี้เป็นหนึ่งในรายจ่ายที่สำคัญและมีสัดส่วนสูงในงบประมาณประจำปี บทความนี้มุ่งศึกษาประสิทธิภาพในการใช้จ่ายในโครงการ โดยการเปรียบเทียบมูลค่าของผลทางสวัสดิการที่ผู้มีสิทธิในโครงการได้รับและต้นทุนต่อหัวที่รัฐบาลใช้จ่าย และวิเคราะห์ว่าผู้มีสิทธิในโครงการนั้นได้รับผลทางสวัสดิการผ่านทางช่องทางใด

เป็นที่ทราบกันดีว่าในทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยนั้นการลงทุนในสุขภาพและการรักษาพยาบาลของประชากรเป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่มีความสำคัญที่สุดและมีสัดส่วนสูงในรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล และด้วยโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นั้น ทำให้แนวโน้มรายจ่ายของรัฐบาลในด้านสุขภาพประชากรมีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อย ๆ โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่เรียกกันติดปากว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” นั้นจึงอยู่ในความสนใจในวงกว้างและถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงอยู่สม่ำเสมอ โดยประเด็นหลักที่ถกเถียงกัน คือเรื่องความคุ้มค่าต่อต้นทุนที่รัฐบาลจ่ายไป ประเด็นนี้จุดประกายให้ Hongdilokkul (2017) ศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ โดยการวัดมูลของผลกระทบทางสวัสดิการที่ผู้ได้รับการประกันได้รับเทียบกับทุก ๆ บาทที่รัฐบาลจ่ายไป รวมถึงการแยกมูลค่าของผลทางสวัสดิการตามช่องทางที่ผู้มีสิทธิ์ในโครงการได้รับประโยชน์ออกเป็นสามช่องทาง คือ ช่องทางการเพิ่มระดับการบริโภค (transfer component) ช่องทางการรักษาระดับการบริโภค (consumption smoothing component) และช่องทางด้านสุขภาพ (health component) โดยพบว่ามูลค่าของผลทางสวัสดิการที่ผู้มีสิทธิได้รับอยู่ที่ 831 บาท หรือประมาณ 75 สตางค์ต่อเม็ดเงินทุก ๆ 1 บาทที่รัฐจ่ายให้แก่โครงการ และผู้มีสิทธิในโครงการได้รับสวัสดิการผ่านทางช่องทางการรักษาระดับการบริโภค (consumption smoothing) เป็นสำคัญ และไม่พบว่าผู้มีสิทธิในโครงการได้รับผลทางสวัสดิการผ่านอีกสองช่องทาง

แนวคิดในการวัดมูลค่าของผลกระทบทางสวัสดิการของโครงการ

เพื่อการวัดมูลค่าของผลทางสวัสดิการ ผู้เขียนได้ใช้ แบบจำลองซึ่ง utility function ถูกกำหนดโดยการบริโภคและสุขภาพ โดย utility จากการบริโภคได้มาจากสองปัจจัย คือระดับของการบริโภค (utility สูงขึ้นเมื่อระดับการบริโภคสูงขึ้น) และการผันผวนของการบริโภค (utility สูงขึ้นเมื่อความผันผวนของการบริโภคลดลง) และวัดมูลค่าทางสวัสดิการ หรือ welfare ที่ผู้มีสิทธิได้รับจากโครงการจากมูลค่าของการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเมื่อผู้มีสิทธิ์ในโครงการนั้นเข้าร่วมโครงการ โดยเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่ผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ (หรือที่เรียกว่า counterfactual)1 ทั้งนี้สถานการณ์ที่ผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เข้าร่วมโครงการนั้นเป็นกรณีที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงหลังจากที่โครงการเริ่มต้นขึ้น วิธีประมาณค่าตัวแปรต่าง ๆ ในสถานการณ์ที่ผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เข้าร่วมโครงการซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริงนี้เป็นจุดสำคัญของบทความชิ้นนี้

ในด้านของการจำแนกองค์ประกอบของผลทางสวัสดิการนั้น ผู้เขียนได้กำหนด utility function ให้ส่วนของการบริโภคและส่วนของสุขภาพสามารถแยกจากกันได้ (additively separable) ซึ่งจะทำให้สามารถคำนวณมูลค่าของผลทางสวัสดิการที่มาจากส่วนการบริโภคได้จากมูลค่าของการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเมื่อผู้มีสิทธิ์ในโครงการนั้นเข้าร่วมโครงการ เปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่ผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ และคำนวณมูลค่าด้านสุขภาพจากส่วนต่างระหว่างมูลค่าของผลทางสวัสดิการทั้งหมดกับมูลค่าด้านการบริโภคที่คำนวณได้

มูลค่าของผลทางสวัสดิการที่มาจากส่วนการบริโภค ยังสามารถแบ่งได้เป็นอีกสององค์ประกอบ คือองค์ประกอบด้านการเพิ่มระดับการบริโภค (transfer component) และองค์ประกอบด้านการรักษาระดับการบริโภค (consumption smoothing component) โดยผู้เขียนได้คำนวณมูลค่าขององค์ประกอบด้านการเพิ่มระดับบริโภคจากมูลค่าความคาดหวัง (expected value) ของการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในกรณีที่ได้รับสิทธิ์เทียบกับกรณีที่ไม่ได้รับสิทธิ์ และคำนวณมูลค่าขององค์ประกอบด้านการรักษาระดับการบริโภคส่วนต่างระหว่างมูลค่าด้านบริโภคทั้งหมด กับมูลค่าขององค์ประกอบด้านการเพิ่มระดับการบริโภคที่คำนวณได้

การคำนวณมูลค่าของผลกระทบทางสวัสดิการของโครงการจากข้อมูลเชิงประจักษ์

ในแง่ของการคำนวณผลทางสวัสดิการจากข้อมูลเชิงประจักษ์นั้น จุดท้าทายจุดแรกคือ การบ่งชี้ว่าใครคือผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ตารางที่ 1 แสดงถึงระบบประกันสุขภาพโดยรัฐในประเทศไทยก่อนและหลัง พ.ศ. 2544 และแสดงว่ามีประชากรสองกลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค คือกลุ่มข้าราชการหรือบุคคลที่ได้รับการประกันโดยสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และกลุ่มผู้ที่ได้รับประกันสังคม ผู้เขียนจึงแบ่งครัวเรือนในกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มควบคุม (Control Group) และกลุ่มทดลอง (Treatment Group) โดยกลุ่มควบคุมคือกลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการ ประกอบด้วยครัวเรือนที่มีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นข้าราชการ2 และกลุ่มทดลองซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ ประกอบด้วยครัวเรือนอื่นที่เหลือในกลุ่มตัวอย่าง

ตารางที่ 1 : ระบบการประกันสุขภาพโดยรัฐในประเทศไทย ก่อนและหลัง พ.ศ. 2544

ระบบการประกันสุขภาพโดยรัฐในประเทศไทย ก่อนและหลัง พ.ศ. 2544

จุดท้าทายต่อมาคือการประเมินค่าการบริโภคและตัวแปรด้านสุขภาพของกลุ่มทดลองในกรณีที่ไม่ได้รับสิทธิจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคซึ่งเป็นกรณีที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง กับกลุ่มทดลองภายหลังปี พ.ศ. 2544 ในงานศึกษานี้จึงต้องหาวิธีการเพื่อประมาณค่าการบริโภคและตัวแปรด้านสุขภาพในกรณีดังกล่าวให้แม่นยำที่สุด ตัวเลือกแรกที่เป็นไปได้คือ การเปรียบเทียบข้อมูลของครัวเรือนในกลุ่มทดลองเองก่อนหน้าปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่กลุ่มทดลองจะได้ประโยชน์จากโครงการ แต่เนื่องด้วยข้อมูลเหล่านี้โดยเฉพาะข้อมูลการบริโภคของครัวเรือนมักจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับโครงการ ดังนั้น การใช้ข้อมูลในช่วงก่อน พ.ศ. 2544 จะทำให้ค่าที่ประมาณได้ไม่ได้แสดงถึงผลกระทบจากโครงการเพียบอย่างเดียว ทางเลือกที่สองคือการใช้ข้อมูลของกลุ่มควบคุมในช่วงเวลาเดียวกันมาเป็นตัวประมาณค่า แต่ทางเลือกนี้ก็มิใช่ทางเลือกที่ดีเช่นกัน เพราะแม้กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองมีจำนวนสมาชิกต่อครัวเรือนที่ใกล้เคียงกัน แต่กลุ่มควบคุมนั้นมีระดับการบริโภคโดยเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มทดลองทั้งก่อนและหลังการเริ่มโครงการ ดังนั้นการใช้ข้อมูลตัวแปรดังกล่าวของกลุ่มควบคุมเพื่อนำมาใช้เป็นตัวแทนนั้นจึงจะทำให้การประมาณค่าของข้อมูลของกลุ่มทดลองในกรณีที่ไม่ได้รับสิทธินั้นมีค่าสูงเกินจริง

ทางออกที่ผู้เขียนใช้ในการประมาณมูลค่าของการบริโภคของครัวเรือนในกลุ่มทดลองในกรณีสมมติที่ไม่ได้รับสิทธิจากโครงการนั้นเริ่มต้นด้วยการตั้งสมมติฐานว่า หากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ได้ดำเนินการหลังปี พ.ศ. 2544 แล้ว การบริโภคของครัวเรือนในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมจะเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน หากครัวเรือนนั้นมีระดับการบริโภคระดับเดียวกันก่อน พ.ศ. 25443 ในทางปฏิบัติผู้เขียนได้แบ่งครัวเรือนในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองออกเป็นอีก 5 ลำดับขั้นตามระดับการบริโภคเฉลี่ยของครัวเรือนในช่วงก่อนเริ่มโครงการ4 และให้ค่าประมาณการณ์ของการบริโภคของครัวเรือนในกลุ่มทดลองในกรณีสมมติที่โครงการมิได้เกิดขึ้นภายหลัง พ.ศ. 2544 มีค่าเท่ากับระดับการบริโภคของครัวเรือนในช่วงก่อน พ.ศ. 2544 บวกด้วยการเพิ่มการบริโภคด้วยอัตราการเพิ่มการบริโภคเฉลี่ยของกลุ่มควบคุมที่อยู่ในลำดับขั้นเดียวกันกับครัวเรือนนั้น ๆ ตามตารางที่ 2 ตัวอย่างเช่น ครัวเรือนในกลุ่มทดลองครัวเรือนหนึ่งมีการบริโภค 10,000 บาทต่อคนต่อปีในช่วงก่อนปี พ.ศ.2544 เนื่องจากครัวเรือนที่อยู่ในลำดับขั้นที่ 2 ซึ่งอัตราการเพิ่มของการบริโภคของกลุ่มควบคุมเท่ากับ 15.7% ดังนั้นค่าประมาณของการบริโภคหลังปี พ.ศ. 2544 ของครัวเรือนนี้จึงเท่ากับ 10,000 x 1.157 = 11,570 บาทต่อคนต่อปี

ตารางที่ 2 : ค่าเฉลี่ยของอัตราการเพิ่มของการบริโภคต่อของครัวเรือนในกลุ่มควบคุมระหว่างปี พ.ศ. 2542–2547 แยกตามลำดับขั้นของระดับการบริโภคระหว่างปี พ.ศ. 2542–2544

ค่าเฉลี่ยของอัตราการเพิ่มของการบริโภคต่อของครัวเรือนในกลุ่มควบคุมระหว่างปี พ.ศ. 2542–2547 แยกตามลำดับขั้นของระดับการบริโภคระหว่างปี พ.ศ. 2542–2544

ที่มา: Hongdilokkul (2017)

เพื่อเป็นการสนับสนุนสมมติฐานของการคำนวณที่ใช้ ผู้เขียนจึงได้คำนวณอัตราการเพิ่มของการบริโภคเฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ. 2541 ถึงปี พ.ศ. 2544 ในแต่ละลำดับขั้นการบริโภคของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง และพบว่าค่าเฉลี่ยของอัตราการเพิ่มของการบริโภคของครัวเรือนในกลุ่มควบคุมและครัวเรือนในกลุ่มทดลองที่อยู่ในลำดับขั้นเดียวกันไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สำหรับตัวแปรด้านสุขภาพนั้นผู้เขียนวัดโดยใช้จำนวนวันที่สมาชิกในครัวเรือนหยุดงานเนื่องจากการเจ็บป่วย (หน่วย: วันต่อคนต่อปี) โดยผู้เขียนตั้งสมมติฐานว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนวันที่สมาชิกในครัวเรือนหยุดงานเนื่องจากการเจ็บป่วยของกลุ่มทดลองในช่วงหลัง พ.ศ. 2544 นั้นเท่ากับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อน พ.ศ. 2544 กล่าวคือผู้เขียนใช้ข้อมูลด้านสุขภาพในช่วงก่อนเริ่มโครงการ เพื่อประมาณค่าข้อมูลด้านสุขภาพในช่วงหลังเริ่มโครงการ

ผลการศึกษาของบทความนี้

ก่อนที่จะคำนวณผลทางสวัสดิการของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ผู้เขียนได้คำนวณค่าทางสถิติของตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของโครงการต่อครัวเรือนในกลุ่มทดลองและได้สังเกตสถิติที่น่าแปลกใจบางประการคือ หนึ่ง เราไม่พบว่าค่าเฉลี่ยของมูลค่าการใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของครัวเรือนในกลุ่มทดลองมีค่าลดลง อย่างไรก็ตามผู้เขียนพบว่าค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลง โดยเฉพาะกรณีค่ารักษาสำหรับผู้ป่วยในซึ่งปกติเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง (ณ percentile ที่ 90) จึงอาจกล่าวได้ว่าโครงการนี้อาจมีผลดีต่อครัวเรือนในการลดโอกาสจะที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยหนักและค่ารักษาสูง มากกว่าการไปลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลโดยเฉลี่ยทั่วไป

ตารางที่ 3 แสดงการประมาณมูลค่าของผลทางสวัสดิการของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งพบว่าผลกระทบทางสวัสดิการของโครงการมีมูลค่า 831 บาท ส่วน ต้นทุนที่รัฐจ่ายเงินอุดหนุนต่อหัวเพิ่มขึ้นหลังโครงการมีมูลค่าเฉลี่ย 1,106.25 บาท และเมื่อเปรียบเทียบกับเงินอุดหนุนในช่วงก่อนเริ่มโครงการจึงอาจกล่าวได้ว่า ผลทางสวัสดิการของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคมีมูลค่าประมาณ 75 สตางค์ต่อเม็ดเงินทุก ๆ 1 บาทที่รัฐจ่ายให้แก่โครงการ ตารางที่ 3 ยังได้แสดงอีกว่าผลทางสวัสดิการของโครงการนั้นทั้งหมดมาจากองค์ประกอบด้านการรักษาระดับการบริโภค (consumption smoothing) ซึ่งมีมูลค่า 841 บาท องค์ประกอบด้านการการรักษาระดับการบริโภคมีค่าเกิน 100% ของผลทางสวัสดิการทั้งหมดเนื่องจากไปหักล้างกับผลด้านการเพิ่มระดับบริโภค (transfer component) ที่มีค่าติดลบ อันเนื่องมาจากกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยการบริโภคลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และองค์ประกอบด้านสุขภาพนั้นมีผลต่อผลทางสวัสดิการน้อยมาก

ตารางที่ 3 : ผลทางสวัสดิการของโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค (หน่วย: บาทต่อคนต่อปี)

ผลทางสวัสดิการของโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค (หน่วย: บาทต่อคนต่อปี)

ที่มา: Hongdilokkul (2017)

ทั้งนี้ การที่อัตราส่วนของผลทางสวัสดิการที่ผู้มีสิทธิได้รับต่อต้นทุนที่รัฐบาลจ่ายมีค่าน้อยกว่า 1 ไม่ได้หมายความว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคล้มเหลวในด้านประสิทธิภาพในการใช้จ่าย เพราะประการแรก เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนนี้กับการศึกษาที่ใช้แบบจำลองและวิธีการประมาณค่าแบบเดียวกัน โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคยังมีอัตราส่วนที่สูงกว่า เช่น Finkelstein et al. (2015) ใช้แบบจำลองเดียวกับการศึกษานี้ และพบว่าผลทางสวัสดิการของ Medicaid มีมูลค่า 44 เซนต์ต่อต้นทุนหนึ่งดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐจ่าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราส่วนของผลทางสวัสดิการต่อต้นทุนของโครงการ 30 บาททุกโรคมีค่าสูงกว่า อีกประการหนึ่งซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าคือ การศึกษาชิ้นนี้ยังมีข้อจำกัดในด้านข้อมูลและความครอบคลุมของแบบจำลอง ทำให้ผลทางสวัสดิการที่คำนวณอาจเป็นค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าผลการศึกษานี้ไม่ได้แสดงว่าโครงการมีผลทางสวัสดิการที่ผ่านทางช่องทางด้านองค์ประกอบทางสุขภาพ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ได้ทำให้สุขภาพของประชาชนไทยดีขึ้น มีหลักฐานหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอาจทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยยาวนานขึ้น รูปภาพที่ 1 แสดงว่าเห็นว่าอายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่โครงการได้เริ่มต้นขึ้น นอกจากนี้ Gruber et al. (2014) ได้สรุปอีกว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคทำให้อัตราการตายของเด็กและทารกลดลง 13% – 30% เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาหนึ่งปีระหว่างก่อนและหลังการเริ่มโครงการ เมื่อเราต่อภาพของผลการศึกษาเหล่านี้เข้าด้วยกัน อาจเป็นไปได้ว่าผลดีของโครงการทางด้านสุขภาพส่วนใหญ่เป็นไปในด้านของการยืดอายุขัย และผู้ที่รับประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและทารกในพื้นที่ยากจน ผลประโยชน์เหล่านี้ไม่ได้ถูกสะท้อนโดยการใช้จำนวนวันที่หยุดงานเพราะการเจ็บป่วยมาเป็นตัวชี้วัดทางด้านสุขภาพ จึงเป็นไปได้ว่างานศึกษาชิ้นนี้ประเมินผลทางสวัสดิการผ่านทางองค์ประกอบด้านสุขภาพต่ำกว่าความเป็นจริง

รูปที่ 1 : อายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยระหว่าง พ.ศ. 2533–2557

อายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยระหว่าง พ.ศ. 2533–2557

ที่มา World Bank Databank

ข้อสรุป

บทความศึกษาผลกระทบทางสวัสดิการและประสิทธิภาพของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และพบว่ามูลค่าของผลทางสวัสดิการที่ผู้มีสิทธิได้รับอยู่ที่ประมาณ 75 สตางค์ต่อเม็ดเงินทุก ๆ 1 บาทที่รัฐต้องจ่าย และพบว่าผู้มีสิทธิในโครงการได้รับสวัสดิการผ่านช่องทางการรักษาระดับการบริโภค (consumption smoothing) เป็นสำคัญ ทั้งนี้ผลการศึกษาข้างต้นยังอาจประเมินผลของโครงการต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น การที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้นจากโครงการอาจมีผลต่อการบริโภคข้ามเวลา เมื่อผู้มีสิทธิในโครงการคาดการณ์ว่าจะมีชีวิตยาวนานขึ้นก็อาจจะลดการบริโภคในปัจจุบันเพื่อเก็บทรัพยากรไปบริโภคมากขึ้นในอนาคต การที่งานศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้รวมเอาผลทางสวัสดิการผ่านทางองค์ประกอบด้านการบริโภคในอนาคตนั้นอาจทำให้ผลทางสวัสดิการที่ประเมินได้มีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง จากผลการประมาณค่าจากสมการถดถอยโดยใช้เทคนิค Difference in Difference ใน Hongdilokkul (2017) ยังพบอีกว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคส่งผลให้รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 10% ในขณะที่ผลต่อการบริโภคครัวเรือนมีค่าเป็นลบแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษานี้สนับสนุนสมมติฐานที่บ่งชี้ว่าครัวเรือนในกลุ่มทดลองอาจนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันไปใช้เพื่อเพิ่มการบริโภคในอนาคต เพื่อการพัฒนางานวิจัยชิ้นเพื่อการประมาณผลกระทบทางสวัสดิการที่แม่นยำมากขึ้นผู้เขียนจึงตั้งใจจะปรับปรุงแบบจำลองเพื่อรวมเอาผลทางสวัสดิการผ่านทางองค์ประกอบด้านการบริโภคในอนาคตมาประเมินค่าด้วย

เอกสารอ้างอิง

Finkelstein, A., Hendren, N., & Luttmer, E. F. (2015): “The value of medicaid: Interpreting results from the oregon health insurance experiment (No. w21308).” National Bureau of Economic Research.

Gruber, J., Hendren, N., & Townsend, R. M. (2014): “The great equalizer: Health care access and infant mortality in Thailand.” American economic journal. Applied economics, 6(1), 91.

Hongdilokkul, N. (2017): “Welfare analysis of the universal health care program in Thailand.” PIER Discussion Paper No. 58.

The World Bank. Retrieved from http://data.worldbank.org/indicator/SP.DYN.LE00.IN?locations=TH


  1. นิยามดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับการวัดความเต็มใจจ่าย (willingness to pay) เพื่อเข้าร่วมการประกันตนภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค↩
  2. ในกรณีนี้รวมถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด้วย เนื่องจากอาชีพเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองจากสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป ทั้งนี้ผู้เขียนได้คัดครัวเรือนที่มีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนได้รับการคุ้มครองโดยระบบสวัสดิการสังคมออกไป เนื่องจากระบบสวัสดิการสังคมนั้นคุ้มครองเพียงแค่ผู้ประกันตนแต่ไม่รวมถึงสมาชิกอื่นในครอบครัวเช่นเดียวกับกรณีข้าราชการ↩
  3. สมมติฐานนี้คล้ายกับ Parallel Trend Assumption ที่ใช้ในการเทคนิค Difference in Differences↩
  4. หมายถึงข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2544↩
ณัฏฐ์ หงษ์ดิลกกุล
ณัฏฐ์ หงษ์ดิลกกุล
British Columbia's Office of the Human Rights Commissioner
Topics: Health EconomicsDevelopment Economics
Tags: consumption smoothinguniversal health carewelfare effect
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email