Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/2386f1b2777f3df2675726367faf82d9/e9a79/cover.png
22 พฤศจิกายน 2560
20171511308800000

5 มุมมองใหม่จากข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การสร้างระบบภาษีที่คนไทยยอมรับว่าเป็นธรรม และมีความเต็มใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้น ต้องเริ่มจากความเข้าใจโครงสร้าง องค์ประกอบ และพฤติกรรมของผู้เสียภาษี
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
5 มุมมองใหม่จากข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
excerpt

การให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น ช้อปช่วยชาติ การซื้อ LTF และการบริจาคต่าง ๆ เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลนิยมใช้ในการส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่จุดอ่อนสำคัญของมาตรการเหล่านี้คือ การสร้างต้นทุนซ่อนเร้นที่สำคัญให้แก่ภาคการคลัง บทความนี้พยายามที่จะส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับต้นทุนของมาตรการภาษี รวมไปถึงโครงสร้างภาษี และองค์ประกอบเชิงลึก (granularity) ของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับนโยบายภาษีต่าง ๆ

การให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นช่องทางที่รัฐบาลนิยมใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ตัวอย่างได้แก่ การอนุญาตให้นำเงินลงทุนใน LTF และ RMF มาหักลดหย่อนภาษี หรือมาตรการช้อปช่วยชาติที่เราเห็นเป็นประจำในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา1

แน่นอนว่าการให้สิทธิหักลดหย่อนแต่ละอย่างมีเหตุผลรองรับ แต่จุดอ่อนสำคัญของมาตรการเหล่านี้คือ การสร้างต้นทุนซ่อนเร้นที่สำคัญให้แก่ภาคการคลังของประเทศ สาธารณชนแทบจะไม่ทราบว่าต้นทุนของการหักลดหย่อนเหล่านี้มีมากน้อยขนาดไหน และใครเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น สังคมไทยยังมีความรู้เกี่ยวกับฐานภาษี และองค์ประกอบเชิงลึกต่าง ๆ (granularity) ของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยมาก เราแทบจะไม่ทราบเลยว่าอัตราภาษีเฉลี่ยของคนแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร ผู้เสียภาษีแต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมการออม การลงทุนผ่านระบบภาษีแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ข้อจำกัดนี้ทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์นโยบายภาษีได้อย่างเป็นระบบ

เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับนโยบายภาษี ผมสรุปข้อค้นพบสำคัญ 5 ข้อ จากงานศึกษาของผมเรื่อง “การวิเคราะห์รายจ่ายภาษีสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ซึ่งได้รับความกรุณาจากทางกรมสรรพากรให้ใช้ข้อมูลสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Stratified random sampling) ในอัตราส่วน 0.3% ของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดในปี 25551 โดยงานวิจัยนี้เป็นผลงานในชุดโครงการ “แนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน” ที่มีหัวหน้าโครงการคือ ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร และได้รับการสนับสนุนโดย สกว.

1. ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยแคบมาก สะท้อนจากอัตราภาษีเฉลี่ยที่อยู่ในระดับ 5%

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าจำนวนผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจริง ๆ มีไม่มากนัก เป็นสัดส่วนแค่ประมาณ 10% ของกำลังแรงงานของประเทศ แต่ข้อค้นพบที่น่ากังวลคือ อัตราภาษีเฉลี่ยซึ่งคำนวณจากภาระภาษีหารด้วยเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่าย อยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราภาษีขั้นบันไดตามกฎหมาย โดยในปี 2555 อัตราภาษีเฉลี่ยนี้อยู่ที่เพียง 4.7% (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 จำนวนผู้เสียภาษี และอัตราภาษีเฉลี่ยตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2555)

จำนวนผู้เสียภาษี และอัตราภาษีเฉลี่ยตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2555)

อัตราภาษีเฉลี่ยนี้ยังค่อนข้างต่ำในทุกกลุ่มรายได้ เมื่อแบ่งกลุ่มผู้เสียภาษีออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละเท่า ๆ กัน จากระดับรายได้น้อยไปมากตามระดับเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่าย (Quintile) โดยกลุ่ม Q1 คือกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% และกลุ่ม Q5 คือกลุ่มที่มีรายได้มากที่สุด 20% ผมพบว่าอัตราภาษีเฉลี่ยของกลุ่ม Q1 อยู่ที่ 1.5% ส่วนกลุ่ม Q5 อยู่ที่ 10.7%

ข้อค้นพบนี้สะท้อนความท้าทายทางการคลังที่สำคัญของประเทศไทย นั่นก็คือ ฐานภาษีของเราแคบมาก เนื่องจากการให้สิทธิการหักค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่ายทั้งหลาย

นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้เสียภาษีในการหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ยังมีความแตกต่างกันทั้งในมิติกลุ่มรายได้ และแหล่งรายได้หลัก โดยผมแบ่งผู้เสียภาษีเป็น 3 กลุ่มตามแหล่งรายได้หลัก2 ได้แก่ 1) การจ้างงาน มีรายได้หลักจาก 40(1) และ 40(2) 2) การลงทุนและทรัพย์สิน มีรายได้หลักจาก 40(3) 40(4) และ 40(5) และ 3) ธุรกิจและวิชาชีพเฉพาะ มีรายได้หลักจาก 40(6) (7) และ (8) ซึ่ง 80% ของผู้เสียภาษีทั้งหมดนี้เป็นผู้มีรายได้หลักมาจากการจ้างงาน ในขณะที่ผู้มีรายได้หลักจากธุรกิจและวิชาชีพเฉพาะคิดเป็นสัดส่วน 14% สัดส่วนนี้ไม่แตกต่างกันมากเท่าไรนักในแต่ละกลุ่มรายได้ (รูปที่ 2)

รูปที่ 2 การกระจายตัวของผู้เสียภาษีตามแหล่งรายได้หลัก และ Quintile รายได้ (2555)

การกระจายตัวของผู้เสียภาษีตามแหล่งรายได้หลัก และ Quintile รายได้ (2555)

จากรูปที่ 3 ผมพบว่าพฤติกรรมการออมและการลงทุนผ่านระบบภาษีของคนรวยและคนรายได้ปานกลางมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยคนรวย (Top quintile) มีการใช้สิทธิการหักลดหย่อน LTF และ RMF สูงกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ อย่างชัดเจน ในขณะที่คนที่มีรายได้ปานกลาง (Quintile 3 และ 4) มีการใช้สิทธิการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตในสัดส่วนที่สูงมากกว่าคนรวย ทั้งนี้ผู้เสียภาษีที่มีรายได้หลักจากการจ้างงาน และการลงทุนและทรัพย์สิน มีสัดส่วนการใช้สิทธิหักลดหย่อนต่าง ๆ ต่อเงินได้สูงกว่ากลุ่มธุรกิจและวิชาชีพเฉพาะอย่างชัดเจน

รูปที่ 3 สัดส่วนการหักลดหย่อนที่สำคัญ ตามแหล่งรายได้หลัก และกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2555)

สัดส่วนการหักลดหย่อนที่สำคัญ ตามแหล่งรายได้หลัก และกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2555)

ความแตกต่างของพฤติกรรมนี้บ่งชี้ถึงความจำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจองค์ประกอบเชิงลึก (granularity) ของผู้เสียภาษีในการออกแบบและวิเคราะห์มาตรการภาษีต่าง ๆ

2. การให้สิทธิการหักลดหย่อนต่าง ๆ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไป 1 ใน 3 ของรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การให้สิทธิการหักลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ส่งผลให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ลดลง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกรายได้ของรัฐที่ลดลงนี้ว่า “รายจ่ายภาษี” (Tax expenditure) เพื่อให้เห็นขนาดความสำคัญของรายจ่ายภาษีนี้3 งานวิจัยของผมได้สร้างแบบจำลอง Microsimulation model เพื่อประมาณการรายได้และภาระภาษีของประชาชนภายใต้กฎหมายภาษีปัจจุบัน โดย

  1. จำลองให้รายได้ผู้เสียภาษีมีการเติบโตแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มรายได้ (Heterogeneous income growth) สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของเงินได้พึงประเมินตามกลุ่มรายได้จากข้อมูลของกรมสรรพากรย้อนหลัง 12 ปี และอัตราการเติบโตของรายได้ประชาชาติ (Net national income) ของประเทศ และ
  2. สร้างเครื่องคำนวณภาระภาษี (Tax calculator) โดยมี parameters ตามกฎหมายภาษีในแต่ละปี และสมมติให้การหักค่าใช้จ่าย เงินสะสมและค่าลดหย่อนสะท้อนพฤติกรรมใน ปี 2555 โดยกำหนดเป็นขนาดคงที่ หรือเป็นสัดส่วนตามที่กฎหมายอนุญาต

จากรูปที่ 4 ผมพบว่ารายจ่ายภาษีรวมมีขนาดประมาณ 110,000 ล้านบาท หรือ 0.7% ของ GDP ในปี 2560 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดในปี 2560 โดยองค์ประกอบที่น่าสนใจคือ การหักลดหย่อนที่เกี่ยวข้องกับการออมและการลงทุน ซึ่งรวมกันแล้วมีขนาดประมาณ 50,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 45% ของรายจ่ายภาษีทั้งหมด ตัวอย่างสำคัญของการหักลดหย่อนในหมวดนี้ ได้แก่ LTF RMF และเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น

รูปที่ 4 รายจ่ายภาษีภายใต้กฎหมายปัจจุบันและองค์ประกอบสำคัญ (2560)

รายจ่ายภาษีภายใต้กฎหมายปัจจุบันและองค์ประกอบสำคัญ (2560)

ตัวเลขรายจ่ายภาษีที่สูงมากนี้ชี้ว่า เมื่อรัฐบาลประกาศจะทำมาตรการช้อป-เที่ยวช่วยชาติ หรือแจกสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น ๆ สาธารณชนควรตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของมาตรการเหล่านั้น ในขณะที่รัฐบาลก็ควรที่จะชี้แจงถึงความจำเป็นของการออกมาตรการ รายจ่ายภาษีที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเปิดเผยสมมติฐานการประมาณการอย่างชัดเจน

3. ต้นทุนของการลดหย่อนภาษีส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่คนรวย

คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการหักลดหย่อนภาษีต่าง ๆ

จากรูปที่ 5 ผมพบว่า 67% ของรายจ่ายภาษีเป็นของผู้เสียภาษีในกลุ่ม Quintile รายได้สูงสุด (Q5) และ 30% ของรายจ่ายภาษีทั้งหมดเป็นของผู้ที่มีรายได้สูงสุด Top 5% ส่วนหนึ่งของการกระจุกตัวนี้มาจากการที่ผู้มีรายได้สูงจะอยู่บนขั้นบันไดภาษีสูงกว่าผู้มีรายได้น้อย ทำให้การหักลดหย่อนหนึ่งบาทของผู้ที่มีรายได้สูงมีต้นทุนต่อรัฐสูงกว่าของผู้มีรายได้น้อย

รูปที่ 5 การกระจายของรายจ่ายภาษีตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2560)

การกระจายของรายจ่ายภาษีตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2560)

อย่างไรก็ตาม ในมิติของการกระจายเม็ดเงินต้นทุนนี้ เราสามารถแบ่งการลดหย่อนได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามรูปที่ 6 คือ

รูปที่ 6 การกระจายของรายจ่ายภาษีที่สำคัญตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2560)

การกระจายของรายจ่ายภาษีที่สำคัญตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2560)

กลุ่มแรก คือ RMF และ LTF โดยมากกว่า 90% ของรายจ่ายภาษีในกลุ่มนี้เป็นของคนในกลุ่ม Q5

กลุ่มที่สอง คือ การลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินประกันชีวิต ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน และการบริจาค โดยสำหรับรายจ่ายภาษีในกลุ่มที่สอง คนรายได้ระดับกลางมีส่วนแบ่งรายจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ความแตกต่างนี้บ่งชี้ว่านโยบายการให้สิทธิการหักลดหย่อนภาษีต่าง ๆ จะส่งผลต่อคนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ดังนั้นการเปิดเผยแค่เพียงผลกระทบต่อรายได้รัฐ และต่อตัวเลข GDP จึงไม่เพียงพอ รัฐบาลควรที่จะเปิดเผยผลกระทบต่อผู้เสียภาษีในแต่ละกลุ่มรายได้ควบคู่ไปด้วย

4. เกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายสร้างคำถามถึงความเป็นธรรม และยังมีนัยสำคัญต่อรายได้ของรัฐบาล

การหักค่าใช้จ่ายเป็นอีกช่องทางสำคัญที่ส่งผลต่อขนาดของฐานภาษี ซึ่งเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายนี้จะขึ้นกับหมวดรายได้ของผู้เสียภาษี โดยภายใต้กฎหมายก่อนปี 2560 ผู้ที่มีรายได้จากการจ้างงาน (40(1) และ 40(2)) จะสามารถหักค่าใช้จ่าย ได้ 40% ของเงินได้ แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาท ในขณะที่ผู้ที่มีรายได้จากธุรกิจและวิชาชีพเฉพาะต่าง ๆ (40(6) 40(7) และ 40(8)) จะสามารถเลือกหักแบบเหมาได้ โดยสัดส่วนการหักค่าใช้จ่ายนี้จะขึ้นกับประเภทย่อยของรายได้มีตั้งแต่ 30% ไปจนถึง 85%

จากรูปที่ 7 ผมพบว่าสัดส่วนการหักค่าใช้จ่ายต่อเงินได้ของกลุ่มธุรกิจและวิชาชีพเฉพาะเฉลี่ยอยู่ที่ 60% สูงกว่าของกลุ่มอื่น ๆ เป็นอย่างมาก แน่นอนว่ากลุ่มธุรกิจและวิชาชีพเฉพาะมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความยืดหยุ่นในการหักค่าใช้จ่ายมากกว่า แต่สัดส่วนค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นอย่างมากของกลุ่มธุรกิจและวิชาชีพเฉพาะนี้ สร้างคำถามถึงความเท่าเทียมกันสำหรับแนวการจัดเก็บภาษี (Tax treatment) จากคนที่มีรายได้จากแหล่งต่าง ๆ

รูปที่ 7 สัดส่วนการหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่อเงินได้พึงประเมินตามแหล่งรายได้หลัก (2555)

สัดส่วนการหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่อเงินได้พึงประเมินตามแหล่งรายได้หลัก (2555)

ในปี 2560 นี้ รัฐบาลได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่าย โดยสำหรับเงินได้ 40(1) 40(2) และ 40(3) จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 40% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เพิ่มเป็น 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ในขณะที่การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับเงินได้ 40(7) และ 40(8) จะถูกจำกัดให้เหลือเพียง 60% ของเงินได้

ผมพบว่าการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายนี้จะส่งผลสำคัญต่อรายได้ของรัฐ โดยการเพิ่มวงเงินหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ 40(1)–40(3) จะลดรายได้ให้รัฐไม่มากนัก ประมาณ 0.16% ของ GDP ในปี 2560 แต่การจำกัดวงเงินสำหรับเงินได้ 40(7)–40(8) นั้นจะเพิ่มรายได้ให้รัฐมากถึง 0.42% ของ GDP ในปี 2560 (รูปที่ 8) โดยเกือบ 70% ของภาระภาษีจากการจำกัดค่าใช้จ่ายในหมวด 40(7)–40(8) นี้จะเป็นของผู้เสียภาษีในกลุ่ม Quintile สูงสุด (รูปที่ 9)

รูปที่ 8 ผลกระทบต่อรายได้ของรัฐในปี 2560 จากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายในปี 2560

ผลกระทบต่อรายได้ของรัฐในปี 2560 จากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายในปี 2560

รูปที่ 9 สัดส่วนของภาระภาษี (Tax costs) จากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายสาหรับเงินได้ 40 (7)-(8) ในปี 2560 ตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2560)

สัดส่วนของภาระภาษี (Tax costs) จากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายสาหรับเงินได้ 40 (7)-(8) ในปี 2560 ตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2560)

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎหมายในปี 2560 นี้ เพดานสัดส่วนการหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ 40(6) 40(7) และ 40(8) ยังคงสูงกว่าเพดานสำหรับผู้ที่มีรายได้จากการจ้างงาน งานวิจัยของผมได้เสนอแนวทางการปรับนโยบายภาษี (Tax policy option) โดยลดเพดานสัดส่วนการหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(6) 40(7) และ 40(8) ลงเป็น 50% ของเงินได้ เพื่อให้เท่าเทียมในระดับหนึ่งกับเกณฑ์ที่ใช้สำหรับรายได้จากการจ้างงาน แต่ไม่มีการจำกัดเพดานตัวเงิน เพื่อยังคงความยืดหยุ่นในการหักค่าใช้จ่ายตามแต่ละหมวดรายได้ ผมพบว่าภายใต้แนวทางนี้ รายได้ของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นถึง 0.19% ของ GDP ในปี 2560 และ 75% ของภาระภาษีที่เกิดขึ้นจะเป็นของคนรวยในกลุ่ม Quintile สูงสุด

ข้อค้นพบนี้ชี้ว่าเกณฑ์การกำหนดวิธีการหักค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน นอกจากจะสร้างคำถามในเรื่องความเป็นธรรมสำหรับผู้ที่มีรายได้จากแหล่งต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถส่งผลสำคัญต่อรายได้ของรัฐบาล

5. การปฏิรูปภาษีต้องเริ่มจากความเข้าใจองค์ ประกอบและพฤติกรรมของผู้เสียภาษี

เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการนำข้อมูลผู้เสียภาษีมาใช้ในการออกแบบนโยบายภาษีให้แก่รัฐบาล งานวิจัยของผมได้เสนอแนวทางการปรับนโยบายภาษีต่าง ๆ โดยในบทความนี้ ผมขอเล่าถึง 2 ตัวอย่าง ได้แก่ การเปลี่ยนการหักค่าลดหย่อนสำหรับการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นการให้เครดิตภาษี และการปฏิรูปโครงสร้างภาษี (Broad tax reform)

การเปลี่ยนการหักค่าลดหย่อนสำหรับการซื้อ LTF เป็นการให้เครดิตภาษี

ข้อสังเกตสำคัญอันหนึ่งเกี่ยวกับการหักลดหย่อน LTF คือ รายจ่ายภาษีที่เกิดขึ้นจะกระจุกตัวค่อนข้างมากในกลุ่มคนรวย โดย 54% ของรายจ่ายภาษี LTF เป็นของ Top 5% ของผู้เสียภาษี (รูปที่ 10) และส่วนหนึ่งของการกระจุกตัวนี้มาจากกลไกการหักลดหย่อน คนรวยแน่นอนว่าจะอยู่บนขั้นบันไดภาษีที่สูงกว่าคนฐานะปานกลาง ส่งผลให้การหักลดหย่อนหนึ่งบาทของคนรวยจะมีต้นทุนต่อรัฐสูงกว่า

รูปที่ 10 การกระจายของรายจ่ายภาษี LTF ตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2560)

การกระจายของรายจ่ายภาษี LTF ตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2560)

เมื่อพิจารณาอัตราภาษีหน่วยสุดท้ายสำหรับเงินบาทแรกของการหักลดหย่อน LTF (First-baht marginal tax rate) ในปี 25604 ผมพบว่าผู้ใช้สิทธิ LTF ที่มี First-baht marginal tax rate ในอัตรา 30–35% คิดเป็นสัดส่วน 17% ของผู้ใช้สิทธิทั้งหมด ได้หักลดหย่อน LTF เป็นสัดส่วน 36% ของปริมาณการลดหย่อนทั้งหมด และได้รับการอุดหนุนภาษีเป็นสัดส่วน 45% ของเม็ดเงินการอุดหนุนทั้งหมด ในขณะที่ผู้ที่มี First-baht marginal tax rate ในอัตรา 5–15% คิดเป็นสัดส่วน 26% ของผู้ใช้สิทธิทั้งหมด ได้หักลดหย่อน LTF เป็นสัดส่วน 11% ของปริมาณการลดหย่อนทั้งหมด แต่ได้การอุดหนุนภาษีเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 5% ของเม็ดเงินการอุดหนุนทั้งหมด (รูปที่ 11)

รูปที่ 11 การกระจายตาม Marginal Tax Rate สำหรับบาทแรกของการหักค่าลดหย่อน LTF (2560)

การกระจายตาม Marginal Tax Rate สำหรับบาทแรกของการหักค่าลดหย่อน LTF (2560)

การให้สิทธิประโยชน์ในรูปของเครดิตภาษี (Tax credit) เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำ ในขณะที่ยังคงสร้างแรงจูงใจในการออมและลงทุนผ่าน LTF ได้ ภายใต้แนวทางนี้ ผู้วิจัยได้เปลี่ยนการหักค่าลดหย่อนสำหรับการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นการให้เครดิตภาษี โดยผู้วิจัยได้ศึกษาการให้เครดิตในอัตรา 10% 15% 20% และ 25% ของมูลค่าการซื้อหน่วยลงทุน และให้เครดิตไม่เกินภาระภาษี (Nonrefundable tax credit)

ผมพบว่าโดยรวมการให้สิทธิประโยชน์ภาษี LTF ในรูปเครดิตจะมีต้นทุนรายจ่ายภาษีที่ต่ำกว่าการหักลดหย่อนตามกฎหมายปัจจุบัน โดยการให้เครดิตในอัตรา 10% จะมีต้นทุนรายจ่ายภาษีประมาณ 0.03% ของ GDP ในปี 2560 ซึ่งรายจ่ายภาษีนี้จะเพิ่มขึ้นตามอัตราเครดิต และการให้เครดิตในอัตรา 25% จะมีรายจ่ายภาษีที่ใกล้เคียงการหักลดหย่อนภายใต้กฎหมายปัจจุบัน (รูปที่ 12)

รูปที่ 12 รายจ่ายภาษีจากการให้สิทธิประโยชน์ภาษี LTF ในรูปแบบต่าง ๆ (2560)

รายจ่ายภาษีจากการให้สิทธิประโยชน์ภาษี LTF ในรูปแบบต่าง ๆ (2560)

ในส่วนของการกระจายรายจ่ายภาษีนั้น การให้เครดิตภาษีจะกระจายเงินอุดหนุนให้ผู้เสียภาษีในกลุ่มอื่น นอกเหนือจากกลุ่ม Top Quintile มากขึ้น ตัวอย่างคือ การให้เครดิต 20% จะส่งผลให้ผู้เสียภาษีในกลุ่ม Quintile ที่ 1–4 ได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มจาก 3.9% ของเงินอุดหนุน LTF ทั้งหมดภายใต้กฎหมายปัจจุบัน เป็น 12.7% ใกล้เคียงกับสัดส่วนปริมาณการซื้อ LTF (รูปที่ 13)

รูปที่ 13 การกระจายของรายจ่ายภาษี LTF ประเภทต่าง ๆ ตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2560)

การกระจายของรายจ่ายภาษี LTF ประเภทต่าง ๆ ตามกลุ่ม Quintile รายได้ของผู้เสียภาษี (2560)

การปฏิรูปโครงสร้างภาษี (Broad tax reform)

ความท้าทายสำคัญของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยคือ การมีฐานภาษีที่แคบมากจากการให้สิทธิการหักค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนั้นในแนวทางนี้ ผมได้ศึกษาผลกระทบของการปฏิรูประบบภาษี โดยแนวคิดคือ การขยายฐานภาษีให้กว้างที่สุด เพื่อให้เราสามารถลดอัตราภาษีลงมาได้โดยไม่ทำให้รายได้ของรัฐลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิ ภาพของระบบภาษี ผ่านการลดการบิดเบือนพฤติกรรมของครัวเรือน

องค์ประกอบของการปฏิรูปโครงสร้างภาษี (Broad tax reform) มีดังนี้

  1. ลดอัตราภาษีสูงสุดลงเป็น 25% เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราภาษีสูงสุดของประเทศเพื่อนบ้าน (ในปี 2560 อัตราภาษีสูงสุดของมาเลเซียคือ 28% ในขณะที่อัตราภาษีสูงสุดของสิงคโปร์คือ 22%) (รูปที่ 14)
  2. จำกัดเพดานสัดส่วนการหักค่าใช้จ่ายสาหรับเงินได้แบบเหมาตามมาตรา 40(6, 7, 8) ลงเป็น 50% และ
  3. ยกเลิกการหักลดหย่อนทุกประเภทยกเว้นในหมวดส่วนตัวและครอบครัว (การลดหย่อนหมวดส่วนตัวและครอบครัว หมายถึง การลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรสกรณีไม่เงินได้ บุตรไม่ได้ศึกษา บิดามารดา เงินอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ และเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา)
รูปที่ 14 โครงสร้างอัตราภาษีภายใต้การปฏิรูปโครงสร้างภาษี (Broad tax reform)

โครงสร้างอัตราภาษีภายใต้การปฏิรูปโครงสร้างภาษี (Broad tax reform)

ผมพบว่าการปฏิรูปโครงสร้างภาษีนี้จะเพิ่มรายได้ให้รัฐได้ประมาณ 0.31% ของ GDP ในปี 2560 โดยการลดอัตราภาษีสูงสุดเป็น 25% ทำให้รายได้ของรัฐลดลง 0.20% ของ GDP ในขณะที่การจำกัดเพดานสัดส่วนการหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(6,7,8) ลงเป็น 50% ทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น 0.19% ของ GDP และการยกเลิกการหักลดหย่อนทุกประเภทยกเว้นในหมวดส่วนตัวและครอบครัว ทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้นถึง 0.32% ของ GDP (รูปที่ 15)

รูปที่ 15 : องค์ประกอบของการประมาณการรายได้จากการปฏิรูปโครงสร้างภาษี (Broad tax reform) (2560)

องค์ประกอบของการประมาณการรายได้จากการปฏิรูปโครงสร้างภาษี (Broad tax reform) (2560)

สำหรับการกระจายภาระภาษีนั้น ส่วนใหญ่ของภาระภาษี (55%) จะเป็นของผู้เสียภาษีที่อยู่ในกลุ่ม Quintile รายได้สูงสุด และในมิติของแหล่งรายได้หลัก ผมพบว่า 51% ของภาระภาษีจะตกอยู่กับผู้มีรายได้หลักจากการจ้างงาน ในขณะที่กลุ่มธุรกิจและวิชาชีพเฉพาะจะแบกรับ 41% ของภาระภาษี ซึ่งเป็นผลจากการจำกัดเพดานการหักค่าใช้จ่ายเป็นสำคัญ (รูปที่ 16)

รูปที่ 16 : การกระจายของภาระภาษีที่เป็นผลจากการปฏิรูปโครงสร้างภาษี (Broad tax reform) (2560)

การกระจายของภาระภาษีที่เป็นผลจากการปฏิรูปโครงสร้างภาษี (Broad tax reform) (2560)

ข้อสรุป

การสร้างระบบภาษีที่คนไทยยอมรับว่าเป็นธรรม และมีความเต็มใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้น ต้องเริ่มจากความเข้าใจองค์ประกอบและพฤติกรรมของผู้เสียภาษี ซึ่งความเข้าใจนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัย ที่ผ่านมาการวิเคราะห์มาตรการภาษีต่าง ๆ ของรัฐบาลยังทำได้ไม่มากนัก เนื่องด้วยความจำกัดของข้อมูล การเผยแพร่ผลกระทบของมาตรการภาษีต่าง ๆ ทั้งในแง่ต้นทุน ความคุ้มค่า และการกระจายภาระภาษีของคนกลุ่มต่าง ๆ ให้สาธารณชนได้รับทราบนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องนโยบายภาษีกันอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมความรับผิดชอบทางการคลังให้แก่รัฐบาล และทำให้ประชาชนจ่ายภาษีด้วยความรู้สึกเต็มใจมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

อธิภัทร มุทิตาเจริญ, 2560, “การวิเคราะห์รายจ่ายภาษีสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา,” ชุดโครงการแนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน (หัวหน้าโครงการ: ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร) สนับสนุนโดย สกว.


  1. ข้อมูลจากแบบฟอร์ม ภงด. 90 และ ภงด. 91↩
  2. ประมวลรัษฎากรได้แบ่งประเภทของเงินได้ออกเป็น 8 ประเภท ตามมาตรา 40 ดังนี้ 40(1) เงินเดือน, 40(2) ค่าจ้างทั่วไป, 40(3) ค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา, 40(4) ดอกเบี้ย และเงินปันผล, 40(5) ค่าเช่า, 40(6) ค่าวิชาชีพอิสระ, 40(7) ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ และ 40(8) เงินได้อื่น ๆ↩
  3. ในหลักปฏิบัติสากลนั้น “รายจ่ายภาษี” มักหมายรวมถึง รายได้ของรัฐที่ลดลงเนื่องจากการให้สิทธิประโยชน์ หรือการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ผ่านระบบภาษี ในบริบทของกฎหมายภาษีไทย อธิภัทร (2560) กำหนดให้ “รายจ่ายภาษี” หมายถึง รายได้ของรัฐที่ลดลงเนื่องจากการให้สิทธิการหักค่าลดหย่อน และเงินสะสมต่าง ๆ ออกจากการคำนวณภาษี↩
  4. การคำนวณ First-baht marginal tax rate ทำโดยการหา Marginal tax rate เมื่อหักค่าลดหย่อน LTF ออกจากเงินได้ของผู้เสียภาษี ซึ่งอัตราภาษี First-baht marginal tax rate นี้จะสะท้อนอัตราภาษีที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อหน่วยลงทุนของผู้เสียภาษี↩
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Topics: Public Economics
Tags: fiscal policyltfpersonal income taxtax benefittax reform
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email