Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/a760cfd5e3d5fcebcacff91b81121ca0/e9a79/cover.png
6 สิงหาคม 2561
20181533513600000

ธนาคารไทยเสี่ยงขึ้นหรือไม่ในยุคดอกเบี้ยต่ำ

ดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นเวลานานส่งผลอย่างไรต่อกำไรและคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
ณชา อนันต์โชติกุลลัทธพร รัตนวรารักษ์
ธนาคารไทยเสี่ยงขึ้นหรือไม่ในยุคดอกเบี้ยต่ำ
excerpt

การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจหลังเศรษฐกิจโลกประสบกับวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2008 แต่ดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นเวลานานอาจจะมีผลข้างเคียงต่อภาคสถาบันการเงิน ทั้งในมิติของความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงและพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อที่อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางลบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินได้ บทความนี้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาประกอบกับข้อมูลงบการเงินรายธนาคารและรายบริษัทผู้กู้ในการศึกษาผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์

นับตั้งแต่ Global financial crisis ในปี ค.ศ. 2008–2009 ประเทศพัฒนาแล้วได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำมากเป็นเวลานาน เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังวิกฤตด้วยการกระตุ้นอุปสงค์โดยรวมและการลดต้นทุนในการกู้ยืม แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานานนี้ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันในวงกว้างว่าอาจจะส่งผลกระทบทางลบที่ไม่ได้ตั้งใจต่อภาคการเงินการธนาคาร ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะบั่นทอนเสถียรภาพของระบบการเงินได้

ประเทศไทยเองก็ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในการตอบสนองต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจเช่นกัน โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.5% มานานถึง 13 ไตรมาส (รูปที่ 1 เส้นสีแดง) และถ้านับระยะเวลาตั้งแต่ที่ดอกเบี้ยนโยบายเริ่มลดลง (ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2554) มาจนถึงปัจจุบันที่ยังไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะรวมเป็นเวลายาวนานถึง 27 ไตรมาส (รูปที่ 1 พื้นที่ประสีน้ำเงิน ข้อมูล ณ กรกฎาคม พ.ศ. 2561) ซึ่งนับเป็นช่วงขาลงของดอกเบี้ยนโยบายที่นานที่สุดตั้งแต่เริ่มใช้กรอบนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อในปี พ.ศ. 2543

รูปที่ 1 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและจำนวนไตรมาสที่ไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและจำนวนไตรมาสที่ไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย คำนวณโดยผู้เขียน

ผลของอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน

ในทางทฤษฎี อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นระยะเวลานานส่งผลกระทบต่อภาคการเงินในหลายส่วน เช่น ทำให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยงของสินทรัพย์ต่าง ๆ ต่ำกว่าความเป็นจริง (underpricing of risk) และมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yields) ในบริบทของธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยต่ำอาจส่งผลให้ธนาคารกล้ารับความเสี่ยง (risk-taking) มากขึ้นโดยการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อแสวงหารายได้ดอกเบี้ย ซึ่งช่องทางของผลกระทบจากดอกเบี้ยนโยบายต่อคุณภาพของการปล่อยสินเชื่อนี้เรียกว่า risk-taking channel (Borio and Zhu, 2012) ในขณะเดียวกัน ดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำก็อาจส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แคบลง ซึ่งทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (net interest margin: NIM) ของธนาคารลดลงได้ และลดความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร

งานศึกษาเชิงประจักษ์ที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลจากประเทศพัฒนาแล้ว มักพบว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่อยู่ในระดับต่ำมีความสัมพันธ์กับผลกำไรที่ลดลงและ risk-taking ที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ และผลกระทบทางลบนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน แต่ยังไม่มีงานที่ศึกษาถึงผลกระทบของดอกเบี้ยนโยบายในประเทศไทยในเชิงลึก บทความนี้ซึ่งสรุปจากงานวิจัยของ Ratanavararak and Ananchotikul (2018) จึงมุ่งศึกษาผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อความสามารถในการทำกำไรและพฤติกรรม risk-taking ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาเพื่อศึกษาความเสี่ยงเชิงลึกระดับจุลภาค นอกจากนี้ยังศึกษาด้วยว่าธนาคารหรือผู้กู้ลักษณะใดจะมีความอ่อนไหวมากกว่าต่อดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ

การศึกษาใช้ข้อมูลใน 2 ระดับ ได้แก่ ข้อมูลระดับธนาคารรายไตรมาส และข้อมูลระดับสัญญาสินเชื่อรายเดือน โดยสร้างขึ้นจากการเชื่อมข้อมูลจาก 4 แหล่ง ได้แก่

  1. ข้อมูลงบการเงินของธนาคารพาณิชย์รายไตรมาส
  2. ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาที่ทุกธนาคารพาณิชย์รายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยรายเดือนสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมหรือยอดสินเชื่อคงค้างรวมกับธนาคารแต่ละแห่งมากกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งโดยเฉลี่ยครอบคลุมกว่า 75% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์
  3. ข้อมูลงบการเงินรายบริษัทของทุกนิติบุคคลในประเทศไทยที่จดทะเบียนพาณิชย์กับกระทรวงพาณิชย์ โดยเป็นข้อมูลรายปี และ
  4. ข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและตัวเลขเศรษฐกิจมหภาค

ข้อมูลทั้ง 2 ชุดมีระยะเวลาประมาณ 14 ปี ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2547 ถึงไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งครอบคลุมทั้งช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูงและต่ำ

ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์

ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์มักวัดจากอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (return on assets: ROA) และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity: ROE) โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ

  1. รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (net interest income)
  2. รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (non-interest income) และ
  3. การกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (loan loss provision)

ซึ่งองค์ประกอบสุดท้ายนี้ถือเป็นต้นทุนของธนาคารซึ่งทำให้กำไรลดลง รูปที่ 2 แสดงตัวชี้วัดทั้ง 5 นี้ของธนาคารพาณิชย์ในไทย 23 แห่งที่มีการดำเนินงานตลอดช่วงเวลาที่ศึกษา โดยเส้นทึบตรงกลางแสดงค่ามัธยฐานของกลุ่มตัวอย่างและพื้นที่สีฟ้าแสดงช่วงของข้อมูลระหว่าง percentile ที่ 75 และ percentile ที่ 25

จากตัวชี้วัดทั้งหมดไม่พบว่ากำไรของธนาคารมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนนักในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธินั้น จะเห็นได้ว่าช่วงความแตกต่างของข้อมูลกว้างขึ้นในช่วง 4–5 ปีหลัง ซึ่งหลัก ๆ มาจากการที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศลดลง และเมื่อเจาะลึกพิจารณาเป็นรายธนาคาร พบว่าแนวโน้มตัวชี้วัดผลกำไรโดยเฉพาะ net interest income และ loan loss provision มีทิศทางแตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างธนาคารแต่ละแห่ง (heterogeneity) ในส่วนถัดไปเราจึงใช้การศึกษาเชิงลึกด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติในการแยกผลของอัตราดอกเบี้ยต่อผลกำไรของธนาคารโดยควบคุมปัจจัยอื่น ๆ ทั้งที่เป็นปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจการเงินในแต่ละช่วงเวลาและปัจจัยลักษณะเฉพาะของแต่ธนาคารที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร

ผลการศึกษาพบว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรโดยรวมของธนาคารที่วัดจากทั้ง ROA และ ROE ลดลง เมื่อวิเคราะห์แยกส่วนประกอบของกำไรพบว่าผลกระทบทางลบนี้มาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นหลัก แต่ดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำส่งผลให้การกันสำรองหนี้สูญซึ่งนับเป็นต้นทุนนั้นลดลงเช่นกัน เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำน่าจะช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องจ่าย ทำให้ลดความน่าจะเป็นที่จะผิดนัดชำระหนี้ลง จึงลดการกันสำรองลงด้วย แต่การลดลงของต้นทุนในการกันสำรองนี้อาจไม่มากพอ จึงทำให้ผลโดยรวมพบว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสัมพันธ์กับกำไรของธนาคารที่ลดลง ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยนั้นพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับดอกเบี้ยนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ

รูปที่ 2 ตัวชี้วัดความสามารถในการทำกำไรของธนาคารและส่วนประกอบ

ตัวชี้วัดความสามารถในการทำกำไรของธนาคารและส่วนประกอบ

หมายเหตุ: ใช้ข้อมูลเฉพาะธนาคารที่ดำเนินงานตลอดช่วงระยะเวลาที่ศึกษารวม 23 ธนาคาร (รวมสาขา ธพ. ต่างประเทศ แต่ไม่รวมธนาคารที่เปิดใหม่หรือปิดไประหว่างช่วงเวลาที่ศึกษา) เส้นทึบสีน้ำเงินคือค่ามัธยฐานของกลุ่มตัวอย่าง พื้นที่สีฟ้าแสดงถึงช่วงของข้อมูลระหว่าง percentile ที่ 75 และ percentile ที่ 25 ที่มา: Ratanavararak and Ananchotikul (2018)

Risk-taking วัดได้อย่างไร

จากข้อมูลงบการเงินในระดับธนาคาร ความเสี่ยงของสินเชื่อในภาพรวมสามารถวัดได้จาก 3 ค่า ได้แก่

  1. ค่า Z-score ของธนาคาร1 เป็นคะแนนที่บอกว่าธนาคารมีเงินทุนและกำไรสะสมเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนของรายได้และกำไรมากน้อยเพียงใด โดยค่ายิ่งมากยิ่งความเสี่ยงต่ำ
  2. สัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง (risk-weighted assets: RWA) ต่อสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งแสดงถึงขนาดของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ธนาคารมีถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละประเภท และ
  3. สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loans: NPL) ต่อสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้ว

รูปที่ 3 แสดงตัวชี้วัดทั้งสามนี้ของธนาคารพาณิชย์ในไทยที่มีการดำเนินงานตลอดช่วงเวลาที่ศึกษา ในภาพรวมไม่พบว่าธนาคารมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ค่า Z-score กลับมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วน RWA และ NPL นั้นไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงที่ชัดเจน

รูปที่ 3 ตัวชี้วัดความเสี่ยงโดยใช้ข้อมูลงบการเงิน

ตัวชี้วัดความเสี่ยงโดยใช้ข้อมูลงบการเงิน

หมายเหตุ: ใช้ข้อมูลเฉพาะธนาคารที่ดำเนินงานตลอดช่วงระยะเวลาที่ศึกษารวม 23 ธนาคาร (รวมสาขา ธพ. ต่างประเทศ แต่ไม่รวมธนาคารที่เปิดใหม่หรือปิดไประหว่างช่วงเวลาที่ศึกษา) เส้นทึบสีน้ำเงินคือค่ามัธยฐานของกลุ่มตัวอย่าง พื้นที่สีฟ้าแสดงถึงช่วงของข้อมูลระหว่าง percentile ที่ 75 และ percentile ที่ 25 ที่มา: Ratanavararak and Ananchotikul (2018)

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัด 3 ค่านี้เป็นความเสี่ยงในภาพรวมซึ่งอาจจะไม่สามารถสะท้อนพฤติกรรม risk-taking ของธนาคารพาณิชย์ได้อย่างชัดเจน เราจึงศึกษาเจาะลึกลงไปในระดับจุลภาคโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลสินเชื่อรายสัญญา ตารางที่ 1 แสดงลักษณะของสินเชื่อ 5 ประเภทที่แบ่งตามวัตถุประสงค์ ลักษณะ และอายุของสินเชื่อ ได้แก่ สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (working capital) สินเชื่อเพื่อการนำเข้าส่งออก (trade finance) สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อทั่วไประยะสั้น และสินเชื่อทั่วไประยะยาว

สำหรับสินเชื่อทั่วไปพบว่ามีขนาดสินเชื่อเฉลี่ยที่ใหญ่กว่าสินเชื่อประเภทอื่น โดยมียอดสินเชื่อคงค้างรวมคิดเป็นประมาณ 70% ของสินเชื่อทั้งหมด สินเชื่อทั่วไประยะยาวมีอายุสินเชื่อเฉลี่ยยาวที่สุด คือประมาณ 7 ปี ในขณะที่สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนและสินเชื่อระยะสั้นอื่น ๆ มีอายุเฉลี่ยเพียงไม่กี่เดือน และเกือบทั้งหมดเป็นสินเชื่อที่ใช้โดยผู้กู้ที่เป็นบริษัท แต่สินเชื่อทั่วไประยะยาวมีสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้แก่ผู้กู้ที่เป็นบริษัทน้อยกว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะสินเชื่อประเภทนี้รวมการกู้เพื่อที่อยู่อาศัยที่ไม่ใช่ของบริษัทด้วย เมื่อพิจารณาสัดส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกัน พบว่าสินเชื่อทั่วไประยะยาวมีสัดส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกันสูงที่สุด คือ 53% ส่วนสินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อระยะสั้นมักมีหลักประกันน้อยกว่า นอกจากนี้สินเชื่อทั่วไประยะยาวยังมีสัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้สูงที่สุด คือ 7.25%

ตารางที่ 1 ลักษณะของสินเชื่อตามประเภทสินเชื่อ

ลักษณะของสินเชื่อตามประเภทสินเชื่อ

หมายเหตุ: สินเชื่อระยะสั้นและระยะยาวหมายถึงสินเชื่อที่มีอายุต่ำกว่าและสูงกว่า 1 ปีตามลำดับ สัดส่วนคำนวณจากจำนวนสัญญาสินเชื่อที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย คำนวณโดยผู้เขียน

จากลักษณะของสินเชื่อทั่วไประยะยาวที่แตกต่างไปจากสินเชื่อประเภทอื่น ๆ การวิเคราะห์หลักจึงแยกสินเชื่อออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. สินเชื่อทั่วไประยะยาว และ
  2. สินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อระยะสั้นอื่น ๆ

รูปที่ 4 แสดงตัวชี้วัดคุณภาพสินเชื่อใหม่ของสินเชื่อสองประเภทนี้ใน 3 ด้าน ได้แก่ สัดส่วนสินเชื่อใหม่ที่ให้แก่ผู้กู้ที่เคยผิดนัดชำระหนี้ สัดส่วนสินเชื่อใหม่ที่ผิดนัดชำระหนี้ภายใน 3 ปี และสัดส่วนสินเชื่อใหม่ที่ไม่มีหลักประกัน โดยพบว่าสินเชื่อทั่วไประยะยาวมีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นและเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเพิ่มขึ้นในช่วงหลังที่ดอกเบี้ยต่ำ (เส้นทึบสีแดง) ซึ่งอาจสะท้อนถึงการที่ธนาคารลดหย่อนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ลงเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ไม่พบรูปแบบนี้ในสินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อระยะสั้นอื่น ๆ (เส้นประสีน้ำเงิน)

เมื่อพิจารณาอัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสมเฉพาะของสินเชื่อทั่วไประยะยาวแยกตามปีที่ปล่อยสินเชื่อในรูปที่ 5 (Vintage analysis) เราพบว่าสินเชื่อที่ธนาคารให้ในปีที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำมีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระหนี้เร็วกว่าและมากกว่าสินเชื่อที่ธนาคารให้ในปีที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง และยิ่งมากขึ้นเมื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานหรืออยู่ในช่วงขาลง ซึ่งจะเห็นได้จากการที่อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสมของสินเชื่อที่ปล่อยในปี 2015 (เส้นสีส้ม) ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาลง สูงกว่าปี 2010 (เส้นสีฟ้า) ที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยเท่ากันคือ 1.56%

รูปที่ 4 ตัวชี้วัดคุณภาพสินเชื่อใหม่

ตัวชี้วัดคุณภาพสินเชื่อใหม่

หมายเหตุ: สินเชื่อทั่วไประยะยาว (General long-term loans) หมายถึงสินเชื่อทั่วไปที่มีอายุมากกว่า 1 ปีที่มา: Ratanavararak and Ananchotikul (2018)
รูปที่ 5 อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสมของสินเชื่อทั่วไประยะยาวแบ่งตามปีที่ปล่อยสินเชื่อ

อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสมของสินเชื่อทั่วไประยะยาวแบ่งตามปีที่ปล่อยสินเชื่อ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย คำนวณโดยผู้เขียน

ความเสี่ยงในภาพรวม vs. ความเสี่ยงระดับรายสินเชื่อ

เราศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับ risk-taking ด้วยวิธีทางเศรษฐมิติโดยใช้แบบจำลองได้แก่ Panel regression, Duration model และ Probit model และมีการควบคุมปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจการเงินและลักษณะที่แตกต่างกันของสินเชื่อและผู้กู้

ผลการศึกษาโดยใช้ข้อมูลในระดับรายธนาคาร ไม่พบว่าธนาคารมีพฤติกรรมกล้าเสี่ยงเพิ่มขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ส่งผลต่อค่า Z-score NPL หรือ RWA ของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปโดยใช้ข้อมูลสินเชื่อระดับรายสัญญา กลับพบผลที่น่าสนใจ 5 ประการ ดังนี้

ประการแรก ดอกเบี้ยต่ำส่งผลให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อประเภททั่วไประยะยาวที่มีความเสี่ยงที่จะผิดชำระหนี้ (Default risk) เพิ่มขึ้น และมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ที่เคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้มาก่อนหรือสินเชื่อที่ต้องใช้หลักประกัน ทั้งหมดนี้ชี้ว่าสินเชื่อที่ธนาคารให้ในช่วงดอกเบี้ยต่ำมีแนวโน้มคุณภาพต่ำกว่าสินเชื่อที่ธนาคารให้ในช่วงดอกเบี้ยสูง ซึ่งสอดคล้องกับในรูปที่ 4 และ 5

ประการที่สอง การวิเคราะห์แยกกลุ่มตามขนาดของธนาคาร พบว่าคุณภาพของสินเชื่อใหม่ที่ธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กปล่อยค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาวะดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งชี้ว่าการที่ดอกเบี้ยต่ำส่งผลให้ธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กมีแนวโน้มปล่อยสินเชื่อที่คุณภาพต่ำลงมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่

ประการที่สาม การศึกษาโดยใช้เฉพาะข้อมูลสินเชื่อที่ให้แก่ผู้กู้ที่เป็นบริษัทพบว่า บริษัทที่มีขนาดเล็ก มีอายุน้อย และมีกำไรน้อย มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากกว่า และความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ที่เป็นบริษัทขนาดเล็กนั้นอ่อนไหวต่อระดับดอกเบี้ยมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งชี้ว่าบริษัทขนาดเล็กอาจจะได้รับผลกระทบทางลบมากกว่าจากพฤติกรรม risk-taking ของธนาคารผู้ให้กู้

ประการที่สี่ การศึกษาตัวแปร “low for long” โดยวัดจากจำนวนไตรมาสที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาลง เพิ่มเติมจากการพิจารณาระดับดอกเบี้ยนโยบายโดยตรงพบว่า ยิ่งดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานขึ้นก็จะยิ่งทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพแย่ลงหรือมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น

ประการสุดท้าย ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอาจจะส่งผลให้ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่คุณภาพแย่ลง แต่พบว่าช่วยลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อเดิมที่ปล่อยไปในช่วงก่อนหน้า ซึ่งน่าจะเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำช่วยลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผู้กู้ต้องจ่ายคืนแก่ธนาคาร จึงทำให้ผู้กู้มีความเสี่ยงน้อยลงที่จะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้

ข้อสรุปและนัยเชิงนโยบาย

งานศึกษาในบริบทของประเทศไทยพบว่าดอกเบี้ยต่ำส่งผลกระทบทางลบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ผ่านช่องทางของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงเป็นหลัก เมื่อพิจารณาระดับธนาคารในภาพรวมไม่พบว่าดอกเบี้ยที่ต่ำส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างไปจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พบในงานศึกษาประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยอาจเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีความระมัดระวังในการดำเนินงานมากกว่าและมีการบริหารจัดการความเสี่ยงในภาพรวมได้ค่อนข้างดี2 แต่เมื่อเจาะลึกลงไปในระดับจุลภาคโดยการศึกษาคุณภาพสินเชื่อในระดับรายสัญญา พบว่า ในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำธนาคารมีแนวโน้มปล่อยสินเชื่อทั่วไประยะยาวที่มีคุณภาพต่ำลง หรือมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น และพบว่าธนาคารขนาดเล็กมักเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรม risk-taking มากขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในขณะที่ผู้กู้ที่เป็นบริษัทขนาดเล็กก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม risk-taking ของธนาคารมากกว่าผู้กู้รายใหญ่

ผลการศึกษาทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นระยะเวลานานกว่าปกติอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อภาคธนาคารทั้งในมิติของความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงและการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพต่ำลง ถึงแม้จะไม่พบว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำจะส่งผลต่อความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ในภาพรวม แต่อาจส่งผลต่อความเปราะบางของผู้เล่นเฉพาะบางกลุ่ม โดยธนาคารและผู้กู้ที่มีลักษณะแตกต่างกันอาจได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยต่ำที่ไม่เท่ากัน สุดท้ายแล้วกำไรที่ลดลงและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุดนี้อาจจะส่งผลลบต่อเสถียรภาพทางการเงินโดยรวมได้

ดังนั้น นโยบายควรเป็นไปในแนวทางผสานทั้งการดูแลเสถียรภาพทางราคาผ่านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการดำเนินงานภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ไปพร้อม ๆ กับการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินแบบองค์รวม ในขณะเดียวกัน ผู้ทำนโยบายควรให้ความสำคัญกับการติดตามพัฒนาการและผลกระทบที่แตกต่างกันทั้งในมิติของสถาบันการเงิน ผู้กู้ และประเภทสินเชื่อ และเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือนโยบายในการดูแลเสถียรภาพทางการเงินสำหรับกลุ่มที่มีความเปราะบาง

เอกสารอ้างอิง

Borio, C., & Zhu, H. (2012). Capital regulation, risk-taking and monetary policy: a missing link in the transmission mechanism?. Journal of Financial Stability, 8(4), 236–251.

Ratanavararak, L., & Ananchotikul, N. (2018). Bank Profitability and Risk-Taking in a Low Interest Rate Environment: The Case of Thailand. PIER Discussion Paper No.89.


  1. ค่า Z-score ของธนาคารคำนวณจาก ROA บวกกับเงินทุนต่อสินทรัพย์ทั้งหมด หารด้วยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของ ROA ย้อนหลัง 8 ไตรมาส↩
  2. อย่างไรก็ดี งานศึกษานี้ไม่ครอบคลุมถึงการเพิ่มความเสี่ยงของธนาคารในส่วนอื่นนอกเหนือจากพอร์ตสินเชื่อ เช่น การลงทุนในตลาดเงิน ตลาดพันธบัตร และตลาดทุน↩
ณชา อนันต์โชติกุล
ณชา อนันต์โชติกุล
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
ลัทธพร รัตนวรารักษ์
ลัทธพร รัตนวรารักษ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Monetary EconomicsFinancial Markets and Asset Pricing
Tags: bank profitabilitybank risk-takingpolicy interest rate
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email