Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/fee04c0938330473fad21b6d191a1256/e9a79/cover.png
20 พฤศจิกายน 2561
20181542672000000

ภาษีสำคัญแค่ไหนต่อการลงทุนในอาเซียนของบริษัทข้ามชาติ

เรียนรู้บทบาทของภาษีในการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติประเภทต่าง ๆ ผ่านข้อมูลรายบริษัท
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
ภาษีสำคัญแค่ไหนต่อการลงทุนในอาเซียนของบริษัทข้ามชาติ
excerpt

ภาษีสำคัญแค่ไหนต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนในประเทศอาเซียนของบริษัทข้ามชาติ? บทความนี้สรุปงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนใน ASEAN5 เพื่อตอบคำถามสำคัญดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถออกแบบนโยบายการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีข้อค้นพบสำคัญดังนี้

  1. ในภาพรวม ภาษีเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะในอาเซียนที่มีการแข่งขันด้านภาษีค่อนข้างรุนแรง การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมีความจำเป็นต่อการรักษาส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติของไทย
  2. อย่างไรก็ตาม บริษัทข้ามชาติประเภทต่าง ๆ ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านภาษีในระดับที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะไม่มีประสิทธิผลมากนักต่อการดึงดูดบริษัท High-tech และบริษัทที่เป็นนักลงทุนหน้าเก่า และ
  3. การหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศได้ลดทอนบทบาทของสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างมีนัยสำคัญ

มาตรการสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นเครื่องมือหลักที่รัฐบาลใช้ในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นองค์ประกอบสำคัญของมาตรการดังกล่าว ซึ่งการส่งเสริมการลงทุนนี้จัดเป็นกลยุทธ์สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากกับดักประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์เหล่านี้สร้างต้นทุนทางการคลังที่สำคัญเช่นกันในรูปของเม็ดเงินภาษีที่หายไป ดังนั้น การวางนโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และความยั่งยืนทางการคลัง

หนึ่งในคำถามสำคัญของการวางนโยบายนี้ คือ ภาษีมีบทบาทต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติมากน้อยแค่ไหน และความสำคัญนี้แตกต่างกันอย่างไรสำหรับนักลงทุนประเภทต่าง ๆ การตอบคำถามนี้จะเป็นองค์ความรู้สำคัญสำหรับการวางแผนการให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจประเภทต่าง ๆ รวมไปถึงการประเมินความคุ้มค่าของสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ในบทความนี้ ผู้เขียนได้สรุปข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัยของตนเอง (Muthitacharoen, 2018) ที่ได้ตอบคำถามวิจัยข้างต้นโดยทำการศึกษาบทบาทของภาษีต่อการตัดสินใจเลือกประเทศลงทุนของบริษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprises: MNEs) ผ่านการใช้ข้อมูล MNEs ที่เข้ามาลงทุนใน 5 ประเทศอาเซียน (ASEAN5: อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) ตั้งแต่ปี 2000–2016

การประเมินบทบาทของภาษีต่อการตัดสินใจของ MNEs

การทำความเข้าใจความสำคัญของภาษีต่อการตัดสินใจเลือกประเทศลงทุนของ MNEs นั้น มี 2 ประเด็นหลักที่จะต้องพิจารณา

1. การใช้ข้อมูลรายบริษัท

ในอดีตที่ผ่านมา เรามีองค์ความรู้ในเรื่องนี้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาไม่มากนัก งานวิจัยส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลระดับมหภาค เช่น Muthitacharoen (2017) ที่ได้ศึกษา FDI ในบริบทของอาเซียน และได้ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยทางด้านความยากง่ายต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพของกฎระเบียบต่าง ๆ ของรัฐบาล มีผลต่อการดึงดูด FDI มากกว่าปัจจัยด้านภาษี

สำหรับงานศึกษาที่ใช้ข้อมูลรายบริษัทนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นของกลุ่มประเทศ OECD หรือยุโรป การใช้ข้อมูลละเอียดรายบริษัทนี้ จะทำให้เราสามารถเข้าใจองค์ประกอบเชิงลึกต่าง ๆ (Granularity) ว่าการเลือกแหล่งลงทุนของ MNEs ได้รับอิทธิพลจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากน้อยขนาดไหน

งานวิจัยนี้จึงได้ต่อยอดองค์ความรู้ผ่านการใช้ข้อมูลระดับบริษัทจากอาเซียน โดยทำการศึกษาข้อมูลงบการเงิน และโครงสร้างความเป็นเจ้าของ (Ownership structure) ของบริษัทข้ามชาติที่ตัดสินใจเข้ามาตั้งบริษัท (Foreign subsidiary) ใน ASEAN5 และให้ความสำคัญไปที่บริษัทข้ามชาติจาก 25 ประเทศของบริษัทแม่ที่มีจำนวนบริษัทลูกมากที่สุดในภูมิภาค1 โดยหลังจากการทำความสะอาดข้อมูลแล้ว ในชุดข้อมูลจะมีทั้งหมด 6,616 บริษัท ประเทศแม่ที่มีสัดส่วนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี (รูปที่ 1)

รูปที่ 1: การกระจายตามประเทศของบริษัทแม่สำหรับ MNEs ที่ลงทุนใน ASEAN5 (2000–2016)

การกระจายตามประเทศของบริษัทแม่สำหรับ MNEs ที่ลงทุนใน ASEAN5 (2000–2016)

ที่มา: Muthitacharoen (2018)

2. การวัดผลกระทบของภาษีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ในทางปฏิบัติ ภาษีที่นักลงทุนต้องจ่ายไม่ได้มีเพียงแค่ต้นน้ำที่ภาษีในประเทศแหล่งลงทุนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงภาษีที่จะเกิดขึ้นปลายน้ำ นั่นคือเมื่อนักลงทุนตัดสินใจส่งเงินกำไรกลับบริษัทแม่ ซึ่งภาระภาษีก็จะขึ้นกับโครงสร้างภาษีระหว่างประเทศ เช่น อัตราการหักภาษี ณ ที่จ่ายต่าง ๆ และการบรรเทาภาระภาษีซ้อนทั้งที่อยู่ในอนุสัญญาภาษีซ้อน (Double Taxation Avoidance Agreement: DTA) และในกฎหมายภาษีของประเทศแม่ เป็นต้น

ดังนั้น งานศึกษานี้จึงพิจารณาภาษีที่จะเกิดขึ้นกับคู่ประเทศลงทุนต่าง ๆ และได้สร้างอัตราภาษี Bilateral Effective Average Tax Rate (EATR) โดย EATR นี้สะท้อนอัตราภาษีเฉลี่ยที่บริษัทจะต้องจ่ายเมื่อตัดสินใจลงทุนในโครงการนั้น ๆ และเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ลงทุน (Location choice decisions) นอกจากนี้สิทธิประโยชน์ทางภาษียังมีหลากหลายรูปแบบ ผู้วิจัยเลือกพิจารณาแรงจูงใจภาษีสูงสุด (Maximum incentives) ที่แต่ละประเทศมอบให้แก่นักลงทุน

ข้อกฎหมายต่าง ๆ ทั้งในประเทศแหล่งลงทุนและประเทศแม่สามารถส่งผลต่อภาระภาษีของ MNEs ได้อย่างมีนัยสำคัญ รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างของผลกระทบของข้อกฎหมายต่าง ๆ ต่ออัตราภาษี EATR สำหรับการลงทุนในไทยของบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯ ในปี 2016 โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ของประเทศไทยได้ส่งผลให้ EATR ลดลงจากอัตราภาษีตามกฎหมาย (Statutory tax rate) ที่ 20% เป็น 6.7% แต่เมื่อพิจารณาภาระภาษีที่เกิดขึ้นจากการส่งกำไรในรูปเงินปันผลกลับไปให้บริษัทแม่ที่สหรัฐฯ รวมไปถึงการบรรเทาภาษีซ้อนตาม DTA ระหว่างไทยและสหรัฐฯ แล้ว อัตราภาษี EATR จะเพิ่มขึ้นเป็น 28.3% ทั้งนี้การแข่งขันทางด้านภาษีที่รุนแรงในภูมิภาคได้ส่งผลให้อัตราภาษี EATR ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา (รูปที่ 3)

รูปที่ 2 ตัวอย่างผลกระทบของข้อกฎหมายภาษีในประเทศแหล่งลงทุนและประเทศแม่ ต่ออัตราภาษี EATR

ตัวอย่างผลกระทบของข้อกฎหมายภาษีในประเทศแหล่งลงทุนและประเทศแม่ ต่ออัตราภาษี EATR

ที่มา: Muthitacharoen (2018)
รูปที่ 3 อัตราภาษี EATR ของ ASEAN5 ได้ลดลงค่อนข้างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

อัตราภาษี EATR ของ ASEAN5 ได้ลดลงค่อนข้างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ที่มา: Muthitacharoen (2018)

ข้อค้นพบหลักที่ 1: โดยรวม ภาษีมีความสำคัญค่อนข้างมากต่อการตัดสินใจลงทุนในอาเซียนของบริษัทข้ามชาติ

ผลการศีกษาชี้ว่าบริษัทข้ามชาติให้ความสำคัญต่อปัจจัยภาษี ผู้วิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราภาษี EATR และการตัดสินใจเลือกประเทศลงทุน ด้วยวิธีทางเศรษฐมิติ โดยใช้แบบจำลอง Conditional Logit Model และได้พิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการลงทุนด้วย เช่น ขนาดเศรษฐกิจ คุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน และระดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งผู้วิจัยพบว่า อัตราภาษี EATR มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจของ MNE ทั้งในเชิงสถิติและเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยการเพิ่มขึ้นของ EATR 1% จะส่งผลให้ความน่าจะเป็นของการเลือกประเทศนั้น ๆ ลดลง 0.85% โดยเฉลี่ย

ผู้วิจัยได้ใช้ Conditional Logit estimate นี้ เพื่อ Simulate ผลของการเปลี่ยนนโยบายภาษีต่าง ๆ ต่อการตัดสินใจของ MNEs และมีข้อค้นพบสำคัญดังนี้

  1. ในภูมิภาคอาเซียนที่มีการแข่งขันภาษีระหว่างกันค่อนข้างรุนแรง ผลการศึกษาชี้ว่ารัฐบาลไทยต้องพบกับแรงกดดันที่สำคัญ อาจไม่มีทางเลือกมากนัก โดยหากไทยยกเลิกสิทธิประโยชน์ภาษี Tax holiday ต่าง ๆ เพียงประเทศเดียว ผลการศึกษาชี้ว่าส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติใน ASEAN5 ที่เลือกประเทศไทยจะลดลงถึง 8.2% (รูปที่ 4)
รูปที่ 4 Tax Policy Simulation: กรณีที่ประเทศไทยยกเลิกการให้ Tax holiday เพียงประเทศเดียวในภูมิภาค

Tax Policy Simulation: กรณีที่ประเทศไทยยกเลิกการให้ Tax holiday เพียงประเทศเดียวในภูมิภาค

ที่มา: Muthitacharoen (2018)
  1. กรณีที่รัฐบาลไทยต้องการขยายขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยขยายเพิ่มระยะเวลา Tax holiday เพิ่มอีก 1 ปี งานศึกษาพบว่าส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติใน ASEAN5 ที่เลือกประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 1.1% (รูปที่ 5) อย่างไรก็ตาม การขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้นต้องคำนึงถึงการตอบโต้จากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วย โดยหากประเทศ ASEAN5 อื่น ๆ ตอบโต้ด้วยการขยาย Tax holiday ในลักษณะเดียวกัน ผลการศึกษาชี้ว่าการขยาย Tax holiday ดังกล่าวจะไม่มีประสิทธิผล โดยทุกประเทศจะได้ส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติแทบไม่แตกต่างจากเดิม
รูปที่ 5 Tax Policy Simulation: กรณีที่ประเทศไทยขยาย Tax holiday สูงสุดเพิ่มขึ้น 1 ปีเพียงประเทศเดียวในภูมิภาค

Tax Policy Simulation: กรณีที่ประเทศไทยขยาย Tax holiday สูงสุดเพิ่มขึ้น 1 ปีเพียงประเทศเดียวในภูมิภาค

ที่มา: Muthitacharoen (2018)

ข้อค้นพบหลักที่ 2: บทบาทของภาษีต่างกันอย่างชัดเจนสำหรับนักลงทุนแต่ละประเภท

หนึ่งในคำถามสำคัญในแง่ของการออกแบบนโยบายคือ บทบาทของภาษีมีความสำคัญแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนในมิติต่าง ๆ ของบริษัทข้ามชาติ (Heterogeneity of the tax responsiveness) โดยผู้วิจัยได้ศึกษามิติของโครงสร้างกลุ่มบริษัท องค์ประกอบของสินทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจ ซึ่งตัวอย่างของผลการศึกษาที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่สำคัญมากนักต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูง (High-tech firms)

โดยผู้วิจัยพบว่าในการเลือกประเทศลงทุนของบริษัท High-tech นั้น ปัจจัยภาษีไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และยังมีขนาดความสำคัญต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท Low-tech โดยการศึกษาพบว่าบริษัท High-tech ได้ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านความยากง่ายในการทำธุรกิจ ความต่อเนื่องของนโยบาย และคุณภาพของกฎระเบียบต่าง ๆ มากกว่าปัจจัยด้านภาษีอย่างชัดเจน (รูปที่ 6) ทั้งนี้บริษัทในกลุ่ม High-tech คิดเป็นสัดส่วน 24% ของบริษัทที่เข้ามาลงทุนทั้งหมดใน ASEAN5 ตัวอย่างได้แก่ คอมพิวเตอร์ อิเลกทรอนิกส์ บริการพัฒนาซอฟแวร์ และเทเลคอมมิวนิเคชั่น เป็นต้น2

รูปที่ 6 ผลการศึกษาในมิติของความเข้มข้นทางเทคโนโลยี

ผลการศึกษาในมิติของความเข้มข้นทางเทคโนโลยี

ที่มา: Muthitacharoen (2018)

ความสำคัญของภาษีแตกต่างกันชัดเจนระหว่างนักลงทุนหน้าใหม่และหน้าเก่า

โดยนักลงทุนหน้าเก่าหมายถึง บริษัทที่เคยเข้ามาตั้งสถานประกอบการในประเทศแหล่งลงทุน (Host country) แล้วไม่ว่าจะผ่านบริษัทแม่เดียวกันหรือผ่านบริษัทแม่อื่น ๆ ใน Corporate group ซึ่งสัดส่วนของบริษัทหน้าเก่านี้อยู่ที่ประมาณ 30% ของบริษัททั้งหมด งานวิจัยพบว่ากลุ่มบริษัทหน้าเก่าจะให้ความสำคัญต่อปัจจัยภาษีน้อยกว่ากลุ่มบริษัทที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนอย่างมีนัยสำคัญทั้งในทางสถิติและทางเศรษฐศาสตร์ ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับข้อสังเกตที่ว่านักลงทุนหน้าเก่าอาจไม่ได้ให้ความสำคัญต่อแรงจูงใจทางภาษีมากนัก เนื่องจากมีความคุ้นเคยต่อประเทศแหล่งลงทุนในด้านโอกาส ความเสี่ยง และห่วงโซ่การผลิตต่าง ๆ (รูปที่ 7)

รูปที่ 7 ผลการศึกษาในมิติของนักลงทุนหน้าเก่าและหน้าใหม่

ผลการศึกษาในมิติของนักลงทุนหน้าเก่าและหน้าใหม่

ที่มา: Muthitacharoen (2018)

การหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศได้ลดทอนความสำคัญของสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปอย่างมีนัยสำคัญ

งานวิจัยพบว่าบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศ Tax haven ใน Corporate group ของตน จะให้ความสำคัญต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีน้อยกว่าบริษัทที่ไม่มีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนของบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับ Tax haven นี้มีสูงถึง 60% ของบริษัททั้งหมด ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาในกลุ่มประเทศ OECD ที่ว่า บริษัทที่มีโอกาสในการหลบเลี่ยงภาษีสูงกว่าจะให้ความสำคัญกับภาษีของประเทศแหล่งลงทุนน้อยกว่า ผลการวิจัยนี้ชี้ถึงความสำคัญของการใช้มาตรการเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันราคาโอน (Transfer pricing) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 และมาตรการป้องกันทุนต่ำ (Thin capitalization) ที่ประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายจัดการอย่างเป็นทางการ (รูปที่ 8)

รูปที่ 8 ผลการศึกษาในมิติของความสามารถในการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ

ผลการศึกษาในมิติของความสามารถในการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ

ที่มา: Muthitacharoen (2018)

ข้อสรุป

พัฒนาการทางด้านภาษีที่สำคัญอันหนึ่งของภูมิภาคอาเซียนตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาคือ การแข่งขันด้านภาษีที่ค่อนข้างรุนแรง โดยอัตราภาษีที่แท้จริงได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในแทบทุกประเทศ อันเป็นผลจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ การแข่งขันดังกล่าวได้สร้างแรงกดดันที่สำคัญให้แก่รัฐบาลไทย ซึ่งกุญแจสำคัญในการรับมือกับแรงกดดันดังกล่าวคือการทำความเข้าใจบทบาทความสำคัญของภาษีต่อการตัดสินใจเลือกประเทศลงทุนในอาเซียนของบริษัทข้ามขาติ

งานศึกษานี้พบว่าภาษีมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติทั้งในเชิงสถิติและเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยหากไทยยกเลิกสิทธิประโยชน์ภาษี Tax holiday ต่าง ๆ เพียงประเทศเดียว ผลการศึกษาชี้ว่าส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติใน ASEAN5 ที่เลือกประเทศไทยจะลดลงถึง 8.2% อย่างไรก็ตามการขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้นต้องคำนึงถึงการตอบโต้จากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วย ซึ่งการตอบโต้นี้จะส่งผลให้การขยายสิทธิประโยชน์ดังกล่าวมีประสิทธิผลไม่มากนัก

นอกจากนี้ งานศึกษายังพบว่าบริษัทข้ามชาติให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านภาษีแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความเข้มข้นทางเทคโนโลยี การเป็นนักลงทุนหน้าเก่า/หน้าใหม่ และความสามารถในการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ ผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการวิจัยนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับมาตรการสิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุน และช่วยสร้างองค์ความรู้สำหรับการวางนโยบายโดยใช้ผลการศึกษาเชิงประจักษ์ (Evidence-based policy)

เอกสารอ้างอิง

Muthitacharoen, Athiphat, 2017, “Tax Incentives, International Tax and FDI: Evidence from South-East Asia,” PIER Discussion Paper No.65.

Muthitacharoen, Athiphat, 2018, “Location choice and tax responsiveness of foreign multinationals: Evidence from ASEAN countries,” PIER Discussion Paper No.95.


  1. ผู้วิจัยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล Orbis ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่จัดการฐานข้อมูลงบการเงินนิติบุคคลของแต่ละประเทศ และทำการเชื่อมโยง Corporate group structure ระหว่างบริษัทในประเทศต่าง ๆ↩
  2. งานศึกษาได้ใช้นิยามการแบ่ง Technological intensity ของ Eurostat (https://ec.europa.eu/eurostat/cache/metadata/Annexes/htec_esms_an3.pdf)↩
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Topics: Public Economics
Tags: aseanfditax incentives
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email