Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/b0469292e07ab509dc374c94d2906816/e9a79/cover.png
25 กรกฎาคม 2562
20191564012800000

ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิงและผลของการมีลูกในประเทศไทย

เพศและการมีลูกส่งผลอย่างไรต่อค่าจ้างของแรงงานไทย
ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์
ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิงและผลของการมีลูกในประเทศไทย
excerpt

ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง (gender wage gap) ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้พบผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างของแรงงานที่มีลูก (parenthood wage penalty) โดยความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่ไม่มีลูกและแรงงานที่มีลูก (parenthood wage gap) นั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างของแรงงานที่มีลูกนี้ ถือเป็นต้นทุนที่คุณพ่อคุณแม่ในไทยต้องแบกรับ ก่อให้เกิดคำถามว่า รัฐสามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหา บรรเทาการแบกรับต้นทุนนี้ได้อย่างไร และนโยบายช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอหรือไม่

ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง (gender wage gap) มีแนวโน้มลดลงทั่วโลก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการลงทุนทางการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คุณลักษณะของผู้หญิงมีการยกระดับขึ้น ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานและมีบทบาทมากยิ่งขึ้น รวมถึงการกีดกันทางเพศที่ลดลง ทำให้ค่าจ้างของผู้หญิงโดยเฉลี่ยมีการปรับตัวสูงขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่กล่าวได้ว่า มีปัญหาการกีดกันทางเพศ (gender discrimination) ที่ค่อนข้างน้อยมาก ดังจะเห็นได้จากการลงทุนทางการศึกษาของครอบครัวไทย ที่ไม่มีปัญหาอคติในการให้การศึกษากับลูกสาวหรือลูกชาย ซึ่งแตกต่างจากบางประเทศที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่า (Warunsiri and McNown 2010) ทำให้ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ผู้หญิงมีการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น และค่าจ้างของผู้หญิงก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Paweenawat and McNown 2018)

ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิงในประเทศไทย

งานวิจัยของผู้เขียนและ Lusi Liao ในบทความชื่อ Parenthood Penalty and Gender Wage Gap: Recent Evidence from Thailand (Liao and Paweenawat 2019) ได้ทำการศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความแตกต่างของค่าจ้างเฉลี่ยระหว่างชายหญิง ในช่วง 30 ปี (1985–2017) โดยใช้ข้อมูลจากการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สัดส่วนของความแตกต่างของค่าจ้างเฉลี่ยระหว่างชายหญิงเมื่อเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ยของชายมีการลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1985 ดังแสดงในภาพที่ 1

ภาพที่ 1 : แนวโน้มความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานชายหญิงในประเทศไทย

แนวโน้มความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานชายหญิงในประเทศไทย

ที่มา: Liao and Paweenawat (2019)

ปัจจัยใดบ้างอธิบายแนวโน้มการลดลงของความแตกต่างของค่าจ้าง

งานวิจัยได้แบ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิงออกเป็น 2 ส่วน คือ ปัจจัยที่สามารถอธิบายได้ (explained part) และปัจจัยที่ไม่สามารถอธิบายได้ (unexplained part)

ปัจจัยที่สามารถอธิบายได้

เป็นปัจจัยด้านลักษณะเฉพาะของแรงงานหญิงที่แตกต่างจากแรงงานชาย โดยผลการศึกษาพบว่า ระดับการศึกษาเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Nakavachara (2010) ที่ศึกษาในช่วงปี 1985–2005 ทั้งนี้ ระดับการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิงในประเทศไทยลดลงนั้น เป็นผลมาจากการปฏิรูปทางการศึกษาในช่วงปี 1978 รวมถึงนโยบายการส่งเสริมการศึกษา การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาในประเทศที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่า ภาคการผลิตและอาชีพที่แรงงานหญิงเลือกทำ เป็นสองปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดการลดลงของความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง โดยในส่วนภาคการผลิตนั้น พบว่า ผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 30 ปี จากเดิมที่เน้นการผลิตในภาคเกษตรมาเป็นการผลิตในภาคอุตสาหกรรม จนมาถึงภาคบริการในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้หญิงมีการเคลื่อนย้ายจากการเป็นแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถานะแรงงานในครัวเรือนและไม่ได้รับค่าจ้าง กลายมาเป็นกลุ่มแรงงานที่ได้รับค่าจ้างและมีสัดส่วนจำนวนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 : แนวโน้มสัดส่วนร้อยละแรงงานหญิงในภาคการผลิตหลักในประเทศไทย

แนวโน้มสัดส่วนร้อยละแรงงานหญิงในภาคการผลิตหลักในประเทศไทย

ที่มา: Liao and Paweenawat (2019)

ปัจจัยที่สองคือ อาชีพของแรงงานหญิง จากการศึกษาพบว่า ตลาดแรงงานไทยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีการทำงานในอาชีพที่มั่นคงและมีระดับรายได้สูงขึ้น โดยจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า สัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในกลุ่มงานวิชาชีพและเกี่ยวข้อง (professional jobs and related) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากร้อยละ 35 ในช่วงปี 1985–1995 เป็นร้อยละ 51 ในช่วงปี 2007–2017 แสดงถึงความก้าวหน้าในด้านการประกอบอาชีพของแรงงานหญิงไทยในช่วงปีปัจจุบัน

ปัจจัยที่ไม่สามารถอธิบายได้

หมายถึงความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิงที่ไม่สามารถอธิบายได้จากคุณลักษณะที่แตกต่างกันของแรงงานชายหญิง โดยทั่วไปคำอธิบายความแตกต่างของค่าจ้างส่วนนี้ คือ ปัจจัยด้านการกีดกันทางเพศ (gender discrimination) หรืออคติที่มีต่อแรงงานหญิงในตลาดแรงงาน ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ไม่สามารถอธิบายได้มีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงภาวะการกีดกันเพศหญิงในตลาดแรงงานไทยที่ลดลงและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงไทยมากยิ่งขึ้น

การมีลูกส่งผลกระทบต่อค่าจ้างหรือไม่

นอกเหนือไปจากความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิงแล้วนั้น งานวิจัยของผู้เขียนและ Lusi Liao ยังได้ทำการศึกษาความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูกและแรงงานที่ไม่มีลูก (parenthood wage gap) รวมถึงศึกษาผลกระทบต่อค่าจ้างที่เกิดขึ้นจากการมีลูกของแรงงานไทย โดยใช้ข้อมูลทั้งจากการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรและการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติประกอบการวิเคราะห์ เมื่อพิจารณากลุ่มแรงงานหญิงที่แต่งงานแล้ว พบว่า มีอัตราการเข้าร่วมแรงงานสูงถึงร้อยละ 80 (Liao and Paweenawat 2018) จึงเป็นที่น่าสนใจว่า สำหรับแรงงานหญิงในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากการมีลูก การรักษาสมดุลระหว่างบทบาทในฐานะแรงงานในระบบเศรษฐกิจและบทบาทในสถานภาพคุณแม่ซึ่งต้องแบ่งสรรเวลาไปดูแลลูก ส่งผลต่อพฤติกรรมในตลาดแรงงานและค่าจ้างของกลุ่มคนนี้ในรูปแบบใด นอกจากนั้น งานวิจัยนี้ยังได้ศึกษาครอบคลุมไปถึงกลุ่มแรงงานชายที่มีลูกอีกด้วย ซึ่งประเด็นความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูกและที่ไม่มีลูกนี้เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจและมีการถกเถียงกันอย่างมากในปัจจุบัน

ผลการศึกษาในประเทศไทย พบว่า การมีลูกส่งผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างของแรงงานหญิง (motherhood wage penalty) และแรงงานชาย (fatherhood wage penalty) โดยแรงงานที่ไม่มีลูกจะมีระดับค่าจ้างเฉลี่ยที่สูงกว่าแรงงานที่มีลูก ซึ่งความแตกต่างของค่าจ้างนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 30 ปี (ภาพที่ 3) โดยผลการศึกษาสอดคล้องกับงานของ Srisomboon (2016) ที่พบความแตกต่างของค่าจ้างของแรงงานหญิงที่มีลูกและไม่มีลูกในช่วงปี 1985–2012 เป็นที่น่าสนใจว่า ผลการศึกษาที่พบในประเทศไทยขัดกับผลการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ที่พบว่าแม้จะเกิดผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างของคุณแม่ แต่จะเกิดผลกระทบทางบวกต่อค่าจ้างของคุณพ่อ (fatherhood wage bonus)

ภาพที่ 3 : แนวโน้มความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่ไม่มีลูกและมีลูกในประเทศไทย

แนวโน้มความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่ไม่มีลูกและมีลูกในประเทศไทย

ที่มา: Liao and Paweenawat (2019)

ปัจจัยใดบ้างสามารถอธิบายผลกระทบของการมีลูกต่อค่าจ้าง

สาเหตุของความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูกและไม่มีลูกนั้น สามารถอธิบายได้จากความแตกต่างของพฤติกรรมการทำงานของแรงงานชายและหญิงก่อนและหลังการมีลูก ในกรณีของแรงงานหญิง ค่าจ้างเฉลี่ยที่ต่ำลงภายหลังจากการมีลูก มีสาเหตุมาจากทั้งพฤติกรรมการทำงานของแรงงานหญิงเอง ที่ภายหลังจากมีลูก ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะลดชั่วโมงการทำงานลง เนื่องจากต้องแบ่งสรรเวลาไปเลี้ยงดูลูกและจากปัจจัยทางสถาบันที่ขาดการสนับสนุนสิทธิที่พึงมีของผู้หญิงที่มีลูก ทั้งในเรื่องของการลาคลอดบุตร ความช่วยเหลือจากภาครัฐในการเลี้ยงดูลูก การกีดกันการจ้างงานของแรงงานหญิงที่มีลูกในตลาดแรงงาน

ในกรณีของแรงงานชายนั้น ผลการศึกษาส่วนใหญ่ในต่างประเทศ พบว่าแรงงานชายจะได้รับผลในเชิงบวก คือ ยิ่งมีลูกยิ่งทำให้ค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น โดยสามารถอธิบายได้จากพฤติกรรมภายหลังจากมีลูกที่ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะทำงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในสังคมส่วนใหญ่ ผู้ชายเป็นผู้หารายได้หลักในครอบครัว (breadwinner in the family) ส่วนผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้หารายได้รอง (secondary earner) ในส่วนผลการศึกษาของไทยที่พบผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างของคุณพ่อนั้น ตรงกับผลการศึกษาในประเทศนอร์เวย์ของ Cools and Strom (2016) ซึ่งได้ให้คำอธิบายว่า ผลเชิงลบนี้เกิดจากการที่ผู้ชายต้องมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูก รวมถึงช่วงระยะเวลาการใช้สิทธิการลาไปดูแลลูก (parental leave) ที่ค่อนข้างนาน แต่ประเด็นระยะเวลาการใช้สิทธิการลานี้ไม่น่าจะเป็นตัวอธิบายในกรณีของประเทศไทย เพราะในปัจจุบัน แม้ว่ากฎหมายไทยจะกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิการลาคลอดบุตร 90 วัน แต่ยังไม่ได้กำหนดสิทธิในการลาเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ชาย ดังนั้น สิทธิการลาของแรงงานชายในภาคเอกชนจะขึ้นอยู่กับระเบียบของแต่ละหน่วยงาน และถึงแม้ว่าแรงงานชายในภาครัฐจะได้สิทธิในการลาเป็นระยะ 15 วัน ก็เป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น ประเทศสวีเดนที่แรงงานชายสามารถลาเลี้ยงดูบุตรได้สูงสุด 480 วัน

ข้อสรุปเชิงนโยบาย

ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูกและไม่มีลูกทั้งชายและหญิงในประเทศไทยนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดคำถามว่า เป็นผลมาจากการขาดการสนับสนุนของภาครัฐในการเลี้ยงดูลูกอย่างเพียงพอ ทำให้แรงงานทั้งชายและหญิงต้องลดเวลาทำงานเพื่อไปดูแลลูก และก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างของแรงงานทั้งสองกลุ่มหรือไม่ โดยผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างนี้ถือเป็นต้นทุนที่แรงงานต้องแบกรับ ทั้งนี้ ภาครัฐอาจสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการแบกรับต้นทุนนี้และมีการช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

Cools, S. & Strom, M. 2016. “Parenthood wage penalties in a double income society,” Review of Economics of the Household, 14(2): 391–416.

Liao, L. & Paweenawat, S.W. 2018. “Labour Supply of Married Women in Thailand: 1985–2016,” PIER Discussion Papers 88, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research, revised Jun 2018.

Liao, L. & Paweenawat, S.W. 2019. “Parenthood Penalty and Gender Wage Gap: Recent Evidence from Thailand,” PIER Discussion Papers 102, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research, revised Jan 2019.

Paweenawat, S.W. & McNown, R. 2018. “A Synthetic Cohort Analysis of Female Labour Supply: The Case of Thailand,” Applied Economics, 50(5): 527–544.

Srisomboon, R., 2016. “Market Interruption and Gender Earning Gap in Thai Labor Market,” University of the Thai Chamber of Commerce International Journal of Business and Economics, 8 (1–7): 101–132.

Nakavachara, V., 2010. “Superior female education: Explaining the gender earnings gap trend in Thailand,” Journal of Asian Economics, 21(2): 198–218.

Warunsiri, S. & McNown, R., 2010. “The Returns to Education in Thailand: A Pseudo Panel Approach,” World Development, 38(11): 1616–1625.

ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์
ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Topics: Development EconomicsLabor and Demographic Economics
Tags: gender wage gapparenthood penaltythailand
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email