Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/e18d4789d475d0442be52b4c261a8931/e9a79/cover.png
28 สิงหาคม 2562
20191566950400000

การหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ สำคัญแค่ไหนสำหรับไทยและอาเซียน

นัยสำคัญของการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศของบริษัทข้ามชาติ และประสิทธิผลของมาตรการป้องกันในบริบทของอาเซียน
อธิภัทร มุทิตาเจริญกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
การหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ สำคัญแค่ไหนสำหรับไทยและอาเซียน
excerpt

บทความชิ้นนี้สรุปผลการศึกษาจากงานวิจัยของ Muthitacharoen and Sampantharak (2019) ซึ่งทำการศึกษาว่าแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติใน ASEAN5 และวิเคราะห์ประสิทธิผลของมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีต่าง ๆ ผ่านข้อมูลงบการเงินของบริษัทข้ามชาติในช่วงปี 2005–2016 คณะผู้วิจัยพบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ว่า

  1. บริษัทข้ามชาติใน ASEAN5 มีการโยกย้ายการรายงานผลกำไรระหว่างบริษัทในเครือเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญทั้งในเชิงสถิติ และเชิงเศรษฐศาสตร์
  2. ระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบบัญชี (auditing scrutiny) มีประสิทธิผลในการลดทอนแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรของบริษัทข้ามชาติอย่างมีนัยสำคัญ

การหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบันทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ส่วนหนึ่งของความสนใจนี้เป็นเพราะบทบาทที่สำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของบริษัทข้ามชาติ (Multinational enterprises: MNEs) และการทวีความสำคัญของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (intangible services) เช่น สิทธิบัตรต่าง ๆ ซึ่งเอื้อต่อการวางแผนภาษีของบริษัทข้ามชาติ งานวิจัยต่างประเทศที่ศึกษาข้อมูลบริษัทข้ามชาติของสหรัฐอเมริกา (Torslov, Wier and Zucman, 2018) พบว่า บริษัทข้ามชาติมีความสามารถในการโยกย้ายกำไรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนจากสัดส่วนกำไรต่อรายจ่ายบุคลากรของบริษัทในประเทศ Tax haven และประเทศอื่น ๆ มีความแตกต่างสูงขึ้นเรื่อย ๆ (รูปที่ 1) รัฐบาลไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เช่นกัน โดยได้มีการออก พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (transfer pricing) ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา1

ประเด็นการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาตินี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศเหล่านี้ สำหรับประเทศไทยนั้นได้พึ่งพารายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของรายได้รัฐบาลทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หลักฐานงานวิจัยเชิงประจักษ์ที่ศึกษานัยสำคัญของประเด็นดังกล่าวในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประสิทธิผลของนโยบายที่รัฐบาลใช้เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีนี้มีค่อนข้างจำกัด

รูปที่ 1: สัดส่วนกำไรต่อรายจ่ายบุคลากรของบริษัทข้ามชาติสหรัฐฯ (US MNEs) ในประเทศ Tax haven

สัดส่วนกำไรต่อรายจ่ายบุคลากรของบริษัทข้ามชาติสหรัฐฯ (US MNEs) ในประเทศ Tax haven

ที่มา: Torslov, Wier and Zucman (2018)

ในบทความนี้ ผู้เขียนได้สรุปข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัย Muthitacharoen and Sampantharak (2019)2 ที่ได้ตอบคำถามวิจัยหลักดังนี้ 1) การโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีข้ามชาติ มีขนาดความสำคัญมากน้อยเพียงไรสำหรับไทยและอาเซียน และ 2) มาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีมีประสิทธิผลมากน้อยเพียงไรในการจัดการกับการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ โดยงานวิจัยดังกล่าวได้วิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินของบริษัทข้ามชาติใน 5 ประเทศกำลังพัฒนาสำคัญของอาเซียน (ASEAN5) ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามงาน ในช่วงปี 2005–2016

งานวิจัยนี้ได้ใช้ข้อมูลงบการเงิน และเครือข่ายความเป็นเจ้าของ (ownership network) ของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนใน ASEAN5 จากฐานข้อมูล Orbis3 โดยข้อมูลที่ใช้ในกรณีฐานนั้นประกอบด้วยบริษัทต่างชาติ (foreign multinational subsidiary) จำนวน 2,904 บริษัท โดยบริษัทไทยและมาเลเซียคิดเป็นประมาณ 70% ของบริษัททั้งหมด

นัยสำคัญของการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีข้ามชาติในอาเซียน

บริษัทข้ามชาติสามารถวางแผนโยกย้ายกำไรระหว่างประเทศเพื่อลดภาระภาษีของตนเองได้หลากหลายวิธี ตัวอย่างหลัก ได้แก่ การกำหนดราคาการซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทในเครือ (transfer pricing) และการกำหนดให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทพึ่งพาหนี้ในอัตราที่สูงกว่าความจำเป็น (thin capitalization) แนวทางหนึ่งที่งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ใช้ในการวัดนัยสำคัญของการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ คือ การพิจารณาว่าบริษัทข้ามชาติได้รายงานกำไรของตนในลักษณะที่สอดคล้องกับแรงจูงใจที่จะโยกย้ายกำไรไปที่ต่างชาติเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่ (tax-motivated profit shifting)

คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการรายงานกำไรของบริษัท และการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีในต่างประเทศของบริษัทต่าง ๆ ในเครือ โดยได้ควบคุม fixed effects ต่าง ๆ และพบว่า บริษัทข้ามชาติใน ASEAN5 มีการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญทั้งในเชิงสถิติและเศรษฐศาสตร์ โดยการลดลงของอัตราภาษีต่างชาติลง 10 percentage point จะส่งผลให้บริษัทข้ามชาติลดการรายงานกำไรในประเทศแหล่งลงทุน (host country) ถึง 10.3% โดยเฉลี่ย (รูปที่ 2) ทั้งนี้ งานวิจัยชี้ว่าแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีนี้จะเด่นชัดสำหรับบริษัทในภาคการผลิตและบริษัทขนาดใหญ่

รูปที่ 2: ผลต่อการโยกย้ายกำไรของ MNE จากการลดอัตราภาษีของบริษัทในเครือที่อยู่ในต่างประเทศ

ผลต่อการโยกย้ายกำไรของ MNE จากการลดอัตราภาษีของบริษัทในเครือที่อยู่ในต่างประเทศ

Note: *, and * = Significantly different from zero at the 1%, 5% and 10% level, respectively.ที่มา: Muthitacharoen and Sampantharak (2019)

ประสิทธิผลของมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี

ทุกประเทศใน ASEAN5 ได้ใช้หลักการกำหนดราคาโอน (arm’s length price) สำหรับการค้าขายระหว่างกันของบริษัทในเครือเดียวกัน (intra-group transaction) แต่ระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี (enforcement strength) ที่เกี่ยวข้องนี้แตกต่างกันในแต่ละประเทศ นอกจากมาตรการป้องกันโดยตรงนี้ ภาวะแวดล้อมเช่น ระดับอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับการส่งรายได้ไปให้บริษัทต่างชาติในเครือก็ส่งผลต่อความยากง่ายในการวางแผนภาษีระหว่างประเทศเช่นกัน

งานวิจัยนี้ได้ศึกษาว่าความเข้มงวด (stringency) ของมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีต่าง ๆ จะมีประสิทธิผลมากน้อยแค่ไหน โดยได้วัดความเข้มงวดนี้ผ่าน 3 เครื่องชี้วัด ได้แก่ 1. กฎเกณฑ์การตั้งราคาโอน (transfer pricing regulation) สะท้อนผ่านความเข้มงวดของการขอเอกสารสนับสนุนการตั้งราคาโอน 2. ความเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบบัญชี (audit risk/scrutiny) สะท้อนจากการสำรวจบริษัทข้ามชาติของ Ernst & Young4 และ 3. อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย (withholding tax) และความกว้างของเครือข่ายอนุสัญญาภาษีซ้อน (DTA: Double tax treaty)

งานวิจัยพบว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มประเทศ ASEAN5 ได้เพิ่มความเข้มงวดของการขอเอกสารสนับสนุนการตั้งราคาโอนอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามการแข่งขันภาษีในภูมิภาคได้สร้างแรงกดดันต่ออัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นอย่างมาก ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ก็ได้มีการเจรจาขยายความกว้างของเครือข่าย DTA ของตน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ระดับความเข้มงวดโดยรวมในช่วง 2005–2010 และ 2011–2016 ไม่ต่างกันมากนัก (รูปที่ 3)

รูปที่ 3: การเปรียบเทียบความเข้มงวด (Stringency) ของมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ ตามมิติต่าง ๆ ระหว่าง 2005–2010 และ 2011–2016

img 3

ที่มา: Muthitacharoen and Sampantharak (2019)

งานวิจัยพบว่าระดับความเข้มงวดนี้ส่งผลต่อแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรของบริษัทข้ามชาติในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ โดยการลดลง 10 percentage points ของอัตราภาษีต่างชาติจะส่งผลให้การรายงานกำไรลดลง 10.9% ในประเทศที่มีความเข้มงวดที่ระดับค่าเฉลี่ย (ตารางที่ 1 คอลัมน์ที่ 2) ซึ่งหากรัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดขึ้นในระดับ 1 SD จะส่งผลให้การรายงานกำไรนี้ลดลงมาอยู่ที่ 7.6% (คิดเป็นการลดลงถึง 30.2%)

ทั้งนี้ เมื่อแบ่งองค์ประกอบย่อยของความเข้มงวดนี้ คณะผู้วิจัยพบว่า ระดับความเข้มงวดของการตรวจสอบบัญชีนั้น สามารถลดทอนแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรของบริษัทข้ามชาติในภูมิภาคได้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่การขอเอกสารสนับสนุนการตั้งราคาโอนเพียงอย่างเดียวนั้นจะมีประสิทธิผลค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ว่าภาวะแวดล้อมในเชิงของภาษีหัก ณ ที่จ่ายและความกว้างของเครือข่าย DTA มีความสำคัญต่อแรงจูงใจของบริษัทข้ามชาติเช่นกัน โดยภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการโยกย้ายกำไร (อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายในระดับสูง และเครือข่าย DTA ที่แคบ) จะลดแรงจูงใจในการหลบเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญ

ความเปราะบางของรายได้ภาษีของไทยต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีของต่างชาติ

นัยสำคัญทั้งในเชิงสถิติและเศรษฐศาสตร์ของการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติใน ASEAN5 นี้ ได้สร้างคำถามที่สำคัญว่ารายรับภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค จะมีความเปราะบางมากน้อยเพียงใดต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีของรัฐบาลต่างชาติ

คณะผู้วิจัยได้สร้าง tax policy simulation เพื่อวิเคราะห์ความเปราะบางดังกล่าว โดยได้ศึกษากรณีการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ในปี 2018 ที่ได้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (federal corporate income tax rate) ของตนลงมาจาก 35% เป็น 21% โดยคณะผู้วิจัยได้ใช้ผลการศึกษาแนวโน้มการโยกย้ายกำไร (semi-elasticity of reported profit) ข้างต้น มาพิจารณาว่าบริษัทต่าง ๆ ในอาเซียนที่มีบริษัทในเครืออยู่ในสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรายงานกำไรของตนอย่างไร

ผลการศึกษาชี้ว่าไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคมีความเปราะบางพอสมควรต่อการลดอัตราภาษีของสหรัฐฯ โดยในกรณีของไทยนั้น คณะผู้วิจัยพบว่าประมาณ 40% ของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย มีบริษัทในเครืออยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านั้นพบกับการลดลงของอัตราภาษีต่างชาติโดยเฉลี่ย 3.2 percentage point การเปลี่ยนแปลงของแรงจูงใจนี้ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติมีการลดการรายงานกำไรในไทยลง และส่งผลให้รายได้ภาษีของไทยจากบริษัทข้ามชาติเหล่านั้นจะลดลงประมาณ 4% โดยเฉลี่ย ซึ่งผลการศึกษายังได้ชี้ถึงระดับความสำคัญของความเข้มงวดของมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของประเทศ (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1: Tax policy simulation – ผลของการลดอัตราภาษีของสหรัฐฯ ในปี 2018 ต่อการรายงานกำไรของบริษัทข้ามชาติ และรายได้ภาษีนิติบุคคลของไทยและประเทศอื่นในภูมิภาค

Tax policy simulation – ผลของการลดอัตราภาษีของสหรัฐฯ ในปี 2018 ต่อการรายงานกำไรของบริษัทข้ามชาติ และรายได้ภาษีนิติบุคคลของไทยและประเทศอื่นในภูมิภาค

ที่มา: Muthitacharoen and Sampantharak (2019)

บทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ผลการศึกษาของ Muthitacharoen and Sampantharak (2019) ได้ชี้ว่า การโยกย้ายกำไรระหว่างประเทศของบริษัทข้ามชาตินั้นเป็นประเด็นนโยบายภาษีที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของภูมิภาคอาเซียน และได้แสดงถึงประสิทธิผลของมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยงานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 2 ข้อ ดังนี้

  1. รัฐบาลควรเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาษีต่างประเทศ เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้บริษัทต่างชาติต่าง ๆ มีแรงจูงใจในการลดการรายงานกำไรในประเทศไทย และส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

  2. รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบบัญชี (auditing scrutiny) ซึ่งงานวิจัยได้ชี้ว่าระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบบัญชี มีประสิทธิผลเป็นอย่างมากในการลดทอนแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรของบริษัทข้ามชาติ ทั้งนี้คณะผู้วิจัยมองว่า พ.ร.บ. Transfer Pricing (2562) จะช่วยเพิ่มข้อมูลเพื่อให้กรมสรรพากรสามารถคัดกรอง และออกแบบกลไกการตรวจสอบบริษัทข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

Muthitacharoen, A., and Sampantharak, K. (2019). Tax-motivated profit shifting and anti-avoidance stringency: firm-level evidence from developing countries. PIER Discussion Paper No. 111.

Tørsløv, T. R., Wier, L. S., & Zucman, G. (2018). The missing profits of nations. National Bureau of Economic Research, No. 24701.


  1. พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer pricing) ปี 2562 มีสาระสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การกำหนดนิยามรูปแบบความสัมพันธ์ของบริษัทในเครือให้ชัดเจนขึ้น และ 2) การกำหนดเงื่อนไขการส่งข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท และข้อมูลสนับสนุนการตั้งราคาหรือการพิสูจน์การทำธุรกรรมระหว่างบริษัทในเครือสำหรับธุรกิจที่มีรายได้เกิน 200 ล้านบาท↩
  2. งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (RDG6110020)↩
  3. ฐานข้อมูล Orbis จัดทำโดยบริษัท Bureau Van Dijk ผ่านการรวบรวมข้อมูลงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก และการเชื่อมโยงความเป็นเจ้าของระหว่างกัน↩
  4. Ernst & Young’s Worldwide Transfer Pricing Reference Guide (Various editions)↩
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
University of California San Diego
Topics: Public EconomicsLaw and Economics
Tags: auditingmultinational enterpriseprofit shiftingtax avoidancetransfer pricing
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email