Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/5bd204df9d6a7f500f9f05a8e1caaf0f/e9a79/cover.png
26 กันยายน 2562
20191569456000000

มาตรการกระตุ้นการคลัง ใครได้ ใครเสีย

มุมมองจากแบบจำลองตามช่วงอายุของครัวเรือนไทย
ธนิสา ทวิชศรี
มาตรการกระตุ้นการคลัง ใครได้ ใครเสีย
excerpt

บทความนี้ต่อยอดความเข้าใจการตอบสนองทางพฤติกรรมการบริโภคและการออมของครัวเรือนต่อมาตรการกระตุ้นทางการคลัง โดยได้ศึกษาการคืนภาษีสามรูปแบบ ได้แก่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีอุปโภคบริโภค และภาษีสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ การศึกษานี้ดูผลกระทบของนโยบายแต่ละรูปแบบโดยตอบสามคำถามหลัก คือ

  1. กลไกการทำงานของนโยบายแต่ละประเภท และการเลือกแบบจำลองให้เหมาะสม
  2. ผลกระทบของนโยบายกระตุ้นการคลังแบบต่าง ๆ ต่อการบริโภค และการออมของครัวเรือน และ
  3. การกระจายสวัสดิการของนโยบายแต่ละแบบต่อผู้มีรายได้และช่วงอายุต่าง ๆ เป็นอย่างไร

การศึกษานี้ได้สร้างแบบจำลองการบริโภคและการออมของครัวเรือนภายใต้กรอบ rational expectation ที่มีข้อจำกัดทางการยืม และต้นทุนทางธุรกรรมในการปรับการบริโภคสินค้าคงทน และใช้ข้อมูลระดับครัวเรือนในการประมาณการค่าพารามิเตอร์ของแบบจำลองให้ตรงกับการบริโภคของครัวเรือนไทย แบบจำลองนั้นได้นำมาใช้ในการทดลองเชิงนโยบายเพื่อศึกษาผลกระทบของนโยบายกระตุ้นทางการคลังแบบต่าง ๆ ต่อการบริโภคและการออมของครัวเรือน และเปรียบเทียบว่าใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากนโยบายแต่ละประเภท

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้ผ่านมาทั้งวิกฤติเศรษฐกิจโลก (global financial crisis) ในปี 2009 ภัยน้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี และความผันผวนทางการเมือง เศรษฐกิจอยู่ในภาวะเปราะบาง และหนึ่งในเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลไทยได้หยิบยืมมาใช้บ่อยครั้งเพื่อที่จะพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย คือ มาตรการกระตุ้นทางการคลัง โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหลากหลาย อาทิ นโยบายชอปช่วยชาติ รถคันแรก บ้านหลังแรก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็ล้วนถือว่าเป็นมาตรการกระตุ้นการคลังรูปแบบหนึ่งทั้งสิ้น

ประเภทของนโยบายกระตุ้นทางการคลัง

นโยบายกระตุ้นทางการคลังเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมจากรัฐบาลทั่วโลกเพื่อใช้ในการพยุงเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเปราะบางไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย บทความนี้จะพูดถึงการใช้นโยบายลดหย่อนภาษีหลัก ๆ 3 ประเภทด้วยกันที่รัฐบาลนำมาใช้กันบ่อย ๆ ได้แก่

  1. นโยบายคืนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา
  2. นโยบายคืนภาษีอุปโภคบริโภคทั่วไป และ
  3. นโยบายคืนภาษีสินค้าคงทน (เช่น รถยนต์)

ทั้งนี้ ประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นขึ้นอยู่กับทั้งรูปแบบการคืนเงินภาษี ว่าเป็นภาษีประเภทไหนและรูปแบบของการคืนเงินเป็นอย่างไร ในระดับครัวเรือน ความคาดหวังต่อรายได้และนโยบายของครัวเรือน (expectation) และสถานะการเงินของครัวเรือนก็ล้วนมีผลกระทบต่อระดับการตอบสนองของครัวเรือนต่อนโยบายทั้งสิ้น ส่วนผลกระทบของนโยบายโดยรวมในระดับมหภาค (aggregate outcome) ว่าการส่งผ่านของเงินคืนภาษีไปสู่การใช้จ่ายครัวเรือน (income shock transmission) จะใหญ่ขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับการกระจายตัวของประชากรในแต่ละช่วงอายุ รายได้ สินทรัพย์ หรือระดับหนี้และสภาพคล่องของครัวเรือนด้วย

1. นโยบายการคืนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา (Income tax rebate)

นโยบายการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นนโยบายการคลังที่หลาย ๆ ประเทศใช้บ่อยครั้ง เช่น รัฐบาล George W. Bush ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ใช้มาตรการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 โดยมีการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ครัวเรือนในประเทศมากถึง 130 ล้านครัวเรือน ซึ่งผู้ที่ยื่นภาษีเดี่ยวได้เงินคืนประมาณ 300–600 USD ในขณะที่ครัวเรือนที่ยื่นภาษีคู่ได้เงินคืนประมาณครัวเรือนละ 600–1200 USD เงินคืนทั้งหมดมีมากถึง 331 พันล้านบาทในไตรมาสที่สองของปีนั้น ซึ่งเป็นสัดส่วน 2.2 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP อย่างไรก็ดีผลการศึกษาโดย Shapiro and Slemrod (2008) ได้ทำแบบสำรวจการใช้จ่ายเงินคืนภาษีและพบว่า เพียง 1 ใน 3 ของภาษีเงินคืนนั้นได้ถูกนำเอาไปใช้ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนบอกว่าได้นำภาษีเงินคืนนั้นไปใช้ในการจ่ายหนี้ และผลล้าหลัง (lagged effect) ที่เกิดต่อการใช้จ่ายในอนาคตก็ต่ำ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การที่ครัวเรือนนำภาษีเงินคืนไปจ่ายหนี้เป็นการเพิ่มสวัสดิการให้ครัวเรือนเช่นกัน แต่ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น การให้ภาษีเงินคืนในปี 2008 ถือว่าให้ประสิทธิผล หรือ “bang for the buck” ค่อนข้างน้อย แต่ก็ยังพอเห็นผลอยู่บ้าง โดยจะเห็นได้ว่า ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อภาพรวมนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาวะงบดุลของครัวเรือนในเศรษฐกิจ ว่าระดับหนี้และสภาพคล่องของครัวเรือนเป็นอย่างไร

กลไกหลักในการทำงานของการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น จะเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ของครัวเรือนผ่านผลกระทบรายได้ (income effect) โดยการที่จะกระตุ้นให้ได้ผลนั้น นโยบายจะต้องเกิดขึ้นโดยที่ครัวเรือนไม่ได้คาดคิดมาก่อนด้วย หากครัวเรือนมีการคาดการณ์โยบายมาก่อน ก็จะมีการปรับเปลี่ยนการบริโภคและออมก่อนหน้าไป ทำให้เมื่อนโยบายออกมาอาจจะไม่มีผล ณ เวลาที่ได้เงินคืน นอกจากนี้ การที่มีการคืนเงินได้บุคคลธรรมดาในภายหลังโดยครัวเรือนไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้ามาก่อนนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อไม่ให้กระทบการตัดสินใจในการใช้แรงงานของครัวเรือนอีกด้วย

2. นโยบายคืนภาษีสินค้าบริโภค (Consumption tax rebate)

การคืนภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นนโยบายกระตุ้นการคลังอีกแบบหนึ่งที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยมีกลไกการทำงานที่ต่างออกไปจากการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะครัวเรือนจะต้องมีการใช้จ่ายบริโภคเพื่อที่จะให้ได้ภาษีเงินคืนมา ข้อดีของการคืนเงินภาษีประเภทนี้ก็จะเป็นการรับประกันว่าเงินที่รัฐบาลได้ใช้จ่ายในการกระตุ้นนั้นได้เกิดการใช้จ่ายจริง กลไกการทำงานของการคืนเงินภาษีการบริโภคนั้นมีการทำงานผ่านสองช่องทางหลัก คือ ช่องทางราคา (price or substitution effects) และช่องทางกลไกรายได้ (income effect) เพราะการลดภาษีสินค้าบริโภคก็มีผลกระทบต่อราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคโดยตรง ส่งผลให้ราคาสัมพัทธ์ของการออมและการบริโภคเปลี่ยนไป การบริโภค ณ เวลานั้นมีต้นทุนลดลงชั่วคราว และยังมีการทำงานผ่านกลไกด้านรายได้ คือ มีผลให้รายได้ของครัวเรือน ณ เวลานั้นมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น

การลดภาษีอุปโภคบริโภคถือเป็นมาตรการที่รัฐบาลไทยใช้บ่อยครั้ง อาทิ นโยบายชอปช่วยชาติ อย่างไรก็ดี นโยบายชอปช่วยชาติถือเป็นนโยบายแบบผสม เพราะเป็นการละเว้นภาษีอุปโภคบริโภคผ่านการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าก็จะเป็นผู้ที่มีฐานภาษีรายได้สูงกว่า นอกจากนี้ การที่มีนโยบายชอปช่วยชาติในเวลาเดียวกันทุกปี ยังมีผลต่อการคาดการณ์ล่วงหน้าของครัวเรือนอีกด้วย หากครัวเรือนมีการคาดการณ์นโยบายล่วงหน้า ก็อาจมีการชะลอการใช้จ่ายในช่วงอื่นเพื่อที่จะมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงที่มีนโยบายเพื่อให้ได้ต้นทุนในการบริโภคที่ต่ำลงด้วย

3. นโยบายคืนภาษีรถยนต์ (Car tax rebate)

อีกนโยบายกระตุ้นการคลังที่สำคัญ ได้แก่ การละเว้นภาษีสินค้าคงทน โดยในที่นี้จะพูดถึงรถยนต์ เพราะถือว่าเป็นสินค้าคงทนที่มีขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ สำหรับครัวเรือน และกลไกในการบริโภคซับซ้อนกว่าสินค้าอุปโภคบริโภคแบบไม่คงทน เนื่องจากการตัดสินใจซื้อรถยนต์แต่ละครั้งต้องใช้เงินจำนวนมาก (indivisibility of durable goods) และมีต้นทุนทางธุรกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ครัวเรือนต้องมีการวางแผนทางการเงินล่วงหน้า โดยมีเวลาในการซื้อเหมาะสมกับช่วงชีวิต ระดับรายได้ รายได้ที่คาดหวังในอนาคต และยังต้องมีสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพออีกด้วย

ทั้งนี้ การกระตุ้นทางการคลังโดยการคืนภาษีรถยนต์เป็นมาตรการที่ค่อนข้างได้รับความนิยม เนื่องจากการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์นั้นมีลักษณะ procyclical หรือเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับวงจรเศรษฐกิจ แต่ความผันผวนเยอะกว่ามาก ดังที่จะเห็นได้จากรูปที่ 1 ว่าการเติบโตของอุปสงค์รถยนต์ของครัวเรือนนั้นมีขาขึ้นและลงทิศทางเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม แต่การซื้อรถยนต์เป็นองค์ประกอบการใช้จ่ายครัวเรือนที่หดตัวอย่างรุนแรงเมื่อเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และก็มีการเพิ่มอย่างพุ่งพรวดเช่นกันในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น

รูปที่ 1: ร้อยละการเติบโต (year-on-year) ของผลิตภาพมวลรวมด้านการใช้จ่าย (GDE: Gross Domestic Expenditure) การบริโภคครัวเรือน (PCE: Private Consumption Expenditure) และ การซื้อรถยนต์ของครัวเรือนไทย

ร้อยละการเติบโต (year-on-year) ของผลิตภาพมวลรวมด้านการใช้จ่าย (GDE: Gross Domestic Expenditure) การบริโภคครัวเรือน (PCE: Private Consumption Expenditure) และ การซื้อรถยนต์ของครัวเรือนไทย

ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

รัฐบาลต่างประเทศก็มีการให้เงินสมทบในการซื้อรถยนต์มาใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน อาทิ นโยบาย Cars Allowance Rebate System (CARS) หรือที่รู้จักกันในนาม Cash for Clunkers ของประเทศสหรัฐอเมริกา และนโยบาย Belladurette and Jupette ของรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งการศึกษาโดย Mian and Sufi (2012) พบว่า โปรแกรม Cash for Clunkers นั้นได้มีการดึงอุปสงค์จากอนาคตมาให้เพียงเจ็ดเดือนเท่านั้น และไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ในขณะที่งานวิจัยโดย Adda and Cooper (2000) พบว่านโยบาย Belladurette and Jupette ของรัฐบาลฝรั่งเศสนั้นมีการดึงอุปสงค์ในอนาคตมาใช้มากและส่งผลให้ยอดการซื้อรถยนต์ในระยะยาวตกลงเป็นเวลานานมากกว่า

ผลกระทบของนโยบายต่ออุปสงค์ในอนาคตนั้นต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมและรสนิยมในการบริโภคของครัวเรือนในแต่ละบริบท เมื่อเทียบกับนโยบายที่คล้ายคลึงกันในต่างประเทศนั้น นโยบายรถคันแรกของประเทศไทยมีเงื่อนไขในการให้เงินคืนที่ง่ายกว่านโยบายในประเทศอเมริกาและฝรั่งเศส ที่จะต้องมีการนำรถยนต์เก่า (clunkers) มาแลกเพื่อที่จะได้รับเงินสนับสนุน มีการให้เงินสนับสนุนในอัตราที่สูงกว่า และมีผู้เข้าร่วมนโยบายเยอะกว่ามากเมื่อเทียบกับขนาดของระบบเศรษฐกิจในประเทศ ผลกระทบจึงค่อนข้างมากและเป็นวงกว้างมากกว่านโยบายลักษณะเดียวกันในต่างประเทศ

กลไกในการทำงานของการคืนภาษีรถยนต์นั้นมีความซับซ้อนกว่าเงินคืนภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น เพราะรถยนต์นอกจากจะเป็นสินค้าอุปโภคแบบคงทนแล้ว ยังถือเป็นสินทรัพย์ถาวรที่เสื่อมสภาพด้วยและมีต้นทุนทางธุรกรรมในการซื้อขายสูง การคืนภาษีสินค้าคงทน (หรือโดยทั่วไปสำหรับสินทรัพย์ขาดสภาพคล่อง) จึงมีกลไกหลักสามทางด้วยกัน คือ กลไกราคา กลไกรายได้ และกลไกสินทรัพย์ การให้เงินสนับสนุนหรือคืนเงินภาษีทำให้รถยนต์มีราคาสัมพัทธ์เมื่อเทียบกับสินค้าอื่น ๆ ถูกลงชั่วคราว และผู้ซื้อที่มีรายได้เท่าเดิมก็มีอำนาจซื้อมากขึ้น

นอกจากนี้ รถยนต์ทำหน้าที่เสมือนสินทรัพย์แบบขาดสภาพคล่องที่เป็น buffer stock ให้ครัวเรือนสามารถนำมาใช้ชำระบัญชี (liquidate) ในยามที่จำเป็นได้ การซื้อรถยนต์จึงเป็นเหมือนกับการออมรูปแบบหนึ่ง หากครัวเรือนตัดสินใจที่จะซื้อรถยนต์แล้ว ก็จะเป็นการผูกมัดรายได้หรือความมั่งคั่งมาแปลงสภาพเป็นการออมในรูปแบบของรถยนต์ โดยการที่มีค่าใช้จ่ายด้านธุรกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในการซื้อ ขายรถยนต์ ทำให้ครัวเรือนมีความฝืดในการเปลี่ยนสถานะการถือครองรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ผลของการให้เงินคืนภาษีรถยนต์นั้นนอกจากจะมีผลต่อราคารถยนต์ในระยะสั้นในระหว่างที่เกิดนโยบายแล้ว ยังมีผล general equilibrium effect ต่อราคารถยนต์ในระยะยาว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อครัวเรือนที่ซื้อรถยนต์ระหว่างนโยบาย และผลกระทบทางอ้อมต่อครัวเรือนที่ไม่ได้เข้าร่วมนโยบาย แต่ถือครองรถยนต์อีกด้วย ผู้เขียนขอเรียกกลไกอีกอย่างหนึ่งของรถยนต์ว่าเป็นกลไกสินทรัพย์ หรือ endowment effect

แบบจำลองการบริโภคและการออมของครัวเรือนตามช่วงอายุ

ส่วนนี้จะอธิบายถึงแบบจำลองการบริโภคและการออมของครัวเรือนตามช่วงอายุ ที่จะนำมาใช้ทำการทดลองทางนโยบายเพื่อดูผลกระทบของนโยบายการคลังแต่ละรูปแบบต่อไป

ตามทฤษฎีการบริโภคภายใต้สมมุติฐานรายได้ถาวรและความคาดหวังแบบมีเหตุผล (Permanent Income Hypothesis under Rational Expectation) ครัวเรือนที่ไม่มีข้อจำกัดสภาพคล่อง (liquidity constraints) นั้นจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของรายได้ที่ไม่ได้คาดหมาย (income shocks1) โดยการบริโภคแบบราบรื่น (smooth consumption) หลังจากที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรายได้ที่ไม่ได้คาดหมายมาก่อน อย่างไรก็ดี ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ครัวเรือนไม่ได้มีสภาพคล่องทางการเงินเสมอไป และยังมีค่าใช้จ่ายทางธุรกรรมในการปรับเปลี่ยนระดับการบริโภค หรือรูปแบบสินทรัพย์ด้วย ซึ่งต้นทุนทางธุรกรรมนี้ (transaction or adjustment costs) ทำให้เกิดความหนืดในการปรับเปลี่ยนระดับการบริโภคของสินค้าคงทน หรือสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องของครัวเรือน ดังนั้น ความขาดสภาพคล่องและต้นทุนทางธุรกรรมจึงเป็นปัจจัยหลักสองอย่างที่ทำให้ครัวเรือนไม่ได้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของรายได้โดยการบริโภคแบบราบรื่นตามที่ทฤษฎีทำนายไว้เสมอไป

การศึกษาเรื่องการตอบสนองการบริโภคต่อการเปลี่ยนแปลงทางรายได้ในช่วงหลังได้ให้ความสำคัญต่อบทบาทของสินค้าคงทน และสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่อง (illiquid asset) มากขึ้น การศึกษาที่โดดเด่นได้แก่ Kaplan and Violante (2014) ซึ่งได้สร้างแบบจำลองขึ้นโดยให้ครัวเรือนมีสินทรัพย์สองประเภท คือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง (liquid assets) แต่มีผลตอบแทนต่ำ อาทิ เงินสด และบัญชีเงินฝาก และสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่อง ที่มีผลตอบแทนสูงแต่มีค่าทำธุรกรรม เช่น บ้านที่อยู่อาศัย และบัญชีเกษียณ โดยการศึกษาพบว่า รูปแบบการบริโภคที่ดีที่สุด (optimal life-cycle pattern) นั้น ก็จะมีครัวเรือนประเภทรวยแบบหาเช้ากินค่ำ (wealthy hand-to-mouth) คือครัวเรือนถือครองสินทรัพย์จำนวนมาก แต่เป็นสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่อง ทำให้ครัวเรือนเหล่านี้มีการตอบสนอง (propensity to consume) ต่อนโยบายทางการคลัง หรือรายได้ชั่วคราว (transitory income shock) สูง แต่มีการตอบสนองต่อข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตต่ำ

การทำนายของแบบจำลองประเภทนี้ให้ผลต่างออกไปจากแบบจำลองสินทรัพย์ประเภทเดียวค่อนข้างมาก และสอดคล้องกับผลการศึกษาจากข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเศรษฐกิจที่มีครัวเรือนที่มีข้อจำกัดทางการยืมหรือขาดสภาพคล่องสูง

แบบจำลองนโยบายกระตุ้นทางการคลังสำหรับประเทศไทย

เพื่อศึกษาผลกระทบของนโยบายกระตุ้นทางการคลังในประเทศไทย ผู้วิจัยได้เลือกใช้แบบจำลองตามช่วงอายุคล้ายคลึงกับแบบจำลองของ Berger and Vavra (2017; 2015) ซึ่งคล้ายกับ Kaplan and Violante (2014) แต่ดูการบริโภคของครัวเรือนกับที่อยู่อาศัย ซึ่งบ้านมีความคล้ายคลึงกับรถที่เป็นสินทรัพย์ขาดสภาพคล่องที่ครัวเรือนบริโภคได้ด้วย ผู้วิจัยได้ออกแบบแบบจำลองนี้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย และเพิ่มการบริโภคสินค้าคงทน (รถยนต์) ที่เป็นสินทรัพย์ขาดสภาพคล่องเข้าไปในแบบจำลอง โดยแบบจำลองมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

  1. ครัวเรือนได้รับอรรถประโยชน์จากสินค้าสองประเภท คือ การบริโภคสินค้าไม่คงทน และการอุปโภคสินค้าคงทน (รถยนต์)
  2. รถยนต์มีหน้าที่สองอย่าง คือเป็นสินค้าอุปโภค และสินทรัพย์ถาวรที่มีการเสื่อมสภาพไปตามเวลา โดยรถยนต์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็นที่ทุกครัวเรือนจะต้องมีรถยนต์ในครอบครอง และครัวเรือนต้องจ่ายต้นทุนทางธุรกรรมในการปรับระดับการถือครองรถยนต์
  3. ครัวเรือนมีรายได้ที่ไม่แน่นอน สามารถยืมเงินได้ แต่มีข้อจำกัดในการยืม และมีความคาดหวังแบบมีเหตุผล (rational expectation) และมีการคาดการณ์ไกล (perfect foresight)

ในแต่ละช่วงเวลา ครัวเรือนจะทำการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้จ่ายเพื่อสินค้าไม่คงทน รถยนต์ หรือออม และครัวเรือนจะมีการปรับแผนการบริโภคและการออมได้ทุก ๆ ช่วงเวลา หลังจากได้รับข้อมูลใหม่เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของรายได้หรือราคา การที่มีนโยบายกระตุ้นการคลังนั้นให้ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่ครัวเรือนไม่ได้คาดการณ์มาก่อน (unanticipated) และครัวเรือนจะปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ ณ เวลาที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นทางการคลัง และปรับเปลี่ยนแผนการบริโภคและการออมให้สอดคล้องไป

ข้อมูลครัวเรือนจากข้อมูล Townsend’s Thai Data

รูปที่ 2 รายได้เฉลี่ย (ซ้ายมือ) และ สินทรัพย์เฉลี่ย (ขาวมือ) ของครัวเรือนแบ่งตามช่วงอายุ ในปี 2005–2015

รายได้เฉลี่ย (ซ้ายมือ) และ สินทรัพย์เฉลี่ย (ขาวมือ) ของครัวเรือนแบ่งตามช่วงอายุ ในปี 2005–2015

ที่มา: Townsend’s Thai Data

การศึกษานี้ใช้ข้อมูลระดับครัวเรือนของประเทศไทยในช่วงปี 2005 ถึงปี 2015 จากข้อมูล Townsend’s Thai Data มาใช้ในการประมาณค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ในแบบจำลอง โดยได้เลือกใช้ข้อมูลชุดนี้เพราะข้อมูลรายได้ สินทรัพย์ และการบริโภคของครัวเรือนนั้นถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์กว่าข้อมูลชุดอื่น และยังเป็นข้อมูลแบบติดตาม (panel data) ที่ตามครัวเรือนไปหลายปีอีกด้วย โดยข้อมูลมีลักษณะ ดังนี้

  • รายได้: รายได้ตามช่วงอายุนั้นมีลักษณะเป็นระฆังคว่ำ ที่มีจุดสูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 55 ปี (รูปที่ 2) รายได้ของครัวเรือนนั้นจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนในแบบจำลอง คือ 1) ส่วนที่คาดการณ์ได้ตามช่วงอายุและระดับรายได้ถาวรของครัวเรือน และ 2) ส่วนที่ไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้
  • สินทรัพย์: ระดับสินทรัพย์ของครัวเรือนไทยก็มีลักษณะเป็นระฆังคว่ำเช่นกัน แต่จะเห็นได้ว่าครัวเรือนสะสมสินทรัพย์ไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ได้ปรับลงเมื่อเวลาแก่มากนัก ซึ่งหากมองตามมุมเศรษฐศาสตร์เหมือนเป็นการออมมากเกินไปเกินที่จะใช้จนหมดช่วงอายุ แต่ก็สามารถอธิบายได้ว่าครัวเรือนมีแรงจูงใจในการให้มรดกแก่ลูกหลาน หรืออาจจะออมเพื่อเหตุฉุกเฉินที่มากเกินไป (over saving)
  • การบริโภคต่อเดือน: การบริโภคของครัวเรือนตามข้อมูลนั้นค่อนข้างจะคงที่ (smooth) คืออยู่ในช่วง 20,000–35,000 ต่อเดือนตั้งแต่อายุ 25–85 ถึงแม้ว่าระดับรายได้และสินทรัพย์ของครัวเรือนจะขึ้นและลงมากกว่านั้นในช่วงชีวิตก็ตาม
  • การถือครองรถยนต์: หากแบ่งตามกลุ่มรายได้จะพบว่าในปี 2005 มีเพียงคนที่อยู่ในกลุ่มรายได้ quintile ที่ 5 ที่ถือครองรถยนต์โดยส่วนใหญ่ ในปี 2009 เริ่มมีการถือครองรถยนต์มากขึ้นทั้งในกลุ่มรายได้ quintile ที่ 4 และ 5 นอกจากนี้จะเห็นได้ว่ากลุ่มรายได้ quintile ที่ 4 และ 5 เท่านั้นที่ถือครองรถยนต์ และครัวเรือนอายุวัยกลางคนถือครองรถยนต์มากที่สุด ส่วนครัวเรือนที่มีอายุมากนั้นถือครองรถยนต์น้อยกว่า (รูปที่ 3) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมหรือความจำเป็นในการใช้รถยนต์ที่ต่างออกไปของกลุ่มสูงอายุจากกลุ่มอายุน้อย เพราะกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากที่สุดเพราะมีระดับสินทรัพย์สูงที่สุด
รูปที่ 3 มูลค่าการถือสินทรัพย์ (รวมสินทรัพย์ทุกประเภท อาทิ เงินฝาก บ้าน ที่ดิน: ซ้ายมือ) และการครอบครองรถยนต์ (ขวามือ) ของครัวเรือนไทยตามกลุ่มอายุและรายได้ (หน่วย พันบาท มูลค่าปี 2002)

มูลค่าการถือสินทรัพย์ (รวมสินทรัพย์ทุกประเภท อาทิ เงินฝาก บ้าน ที่ดิน: ซ้ายมือ) และการครอบครองรถยนต์ (ขวามือ) ของครัวเรือนไทยตามกลุ่มอายุและรายได้ (หน่วย พันบาท มูลค่าปี 2002)

ที่มา: ข้อมูล Townsend’s Thai Data ปี 2009

การทดลองทางนโยบาย

ในการทดลองทางนโยบายนั้น ผู้วิจัยได้สร้างการออมและการบริโภค (simulate) จากแบบจำลองข้างต้น โดยให้ครัวเรือนจำลองเหล่านี้มีช่วงอายุแบ่งเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อย (เริ่มที่อายุ25 ปี) ครัวเรือนอายุวัยกลางคน (45 ปี) และครัวเรือนสูงอายุ (65 ปี) โดยมีกลุ่มอายุน้อยร้อยละ 52 อายุวัยกลางคนร้อยละ 36 และสูงอายุร้อยละ 12 ตามสัดส่วนของประชากรไทยในแต่ละช่วงอายุในปี 2005 และแบ่งกลุ่มประชากรแต่ละช่วงอายุให้มีรายได้ถาวรเริ่มต้นที่แต่ละ quintile ของรายได้ (ตารางที่ 1) ครัวเรือนจำลองถือครองสินทรัพย์และรถยนต์เท่ากับมูลค่าเฉลี่ยตามกลุ่มอายุและรายได้จากข้อมูล Townsend’s Thai Data ซึ่งครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มรายได้ quintile ที่ 1 นั้นมีทรัพย์สินติดลบทุกช่วงอายุ (รูปที่ 3)

ตารางที่ 1: รายได้ต่อปีของครัวเรือนแต่ละช่วงอายุและกลุ่มรายได้ในปี 2009 จากข้อมูล Townsend’s Thai Data (หน่วย: พันบาท ตามมูลค่าปี 2002)

รายได้ต่อปีของครัวเรือนแต่ละช่วงอายุและกลุ่มรายได้ในปี 2009 จากข้อมูล Townsend’s Thai Data (หน่วย: พันบาท ตามมูลค่าปี 2002)

ในการทดลองนั้น ผู้วิจัยได้ให้นโยบายทางภาษีเกิดขึ้นในปี 2011 และ ปี 2012 ซึ่งตรงกับปีที่รัฐบาลไทยได้กำหนดให้มีนโยบายรถคันแรก แล้วเปรียบเทียบระดับการบริโภค การซื้อรถยนต์ และการออมของครัวเรือน และมีการทดลองนโยบาย 3 แบบด้วยกัน คือ 1) นโยบายคืนภาษีรถยนต์ 2) นโยบายคืนภาษีสินค้าไม่คงทน และ 3) นโยบายคืนภาษีรายได้ โดยการคืนภาษีให้ถือว่ารัฐบาลได้คืนภาษีในช่วงเวลาเดียวกัน หรือเท่ากับว่าภาษีในช่วงเวลานั้นเป็นศูนย์นั่นเอง

นโยบายคืนภาษีรถยนต์ (Car tax rebate)

การทดลองให้ภาษีรถยนต์คืน พบว่าครัวเรือนมีการปรับซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว แต่ก็มีการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนลดลง นอกจากนี้การออมของครัวเรือนยังลดลงถึงร้อยละ 7–8 หลังจากนโยบายเกิดขึ้นแล้วถึงสามปี ระดับการออมก็ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเท่าเดิม อย่างไรก็ดี หากมาดูระดับสินทรัพย์โดยรวมทั้งหมดของครัวเรือน (สินทรัพย์อื่น ๆ บวกมูลค่ารถยนต์) พบว่าระดับสินทรัพย์ทั้งหมดนั้นสูงกว่าเดิม (รูปที่ 4)

รูปที่ 4 ผลการทดลองนโยบายคืนภาษีรถยนต์ในปี 2011 และ 2012 โดยรวมของเศรษฐกิจ

ผลการทดลองนโยบายคืนภาษีรถยนต์ในปี 2011 และ 2012 โดยรวมของเศรษฐกิจ

ที่มา: จากการคำนวณของผู้เขียน

เมื่อลองมาแยกการเปลี่ยนแปลงของการออม การซื้อรถยนต์และการบริโภคอื่น ๆ ตามกลุ่มรายได้ และช่วงอายุ พบว่ากลุ่มที่มีการปรับระดับรถยนต์เพิ่มขึ้น และระดับการออมลดลงมาก คือกลุ่มรายได้สูง (quintile 4 และ 5) ส่วนกลุ่มรายได้ต่ำนั้นมีการปรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และหากลองดูการดึงอุปสงค์ตามช่วงอายุ พบว่ากลุ่มครัวเรือนวัยกลางคนเป็นกลุ่มที่ซื้อรถยนต์มากที่สุด และมีการลดการออมมากที่สุด

ถ้าจะพิจารณาประสิทธิภาพของนโยบายต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายนั้น ถือว่าการคืนภาษีรถยนต์มีประสิทธิภาพมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่จะทำให้ครัวเรือนที่มีกำลังซื้อหรือกลุ่มรายได้สูงออกมาใช้จ่ายในช่วงที่มีการคืนภาษี แต่นี่ก็เป็นการดึงอุปสงค์ของรถยนต์และอุปสงค์สินค้าอื่น ๆ ในอนาคตมาใช้ เพราะกลุ่มนี้ก็มีเงินออมลดต่ำลงด้วย หากจะมองถึงประสิทธิภาพของนโยบายในเรื่องของสวัสดิการ จะเห็นได้ว่า ถึงแม้กลุ่มรายได้สูงจะมีการดึงอุปสงค์ในอนาคตมาใช้ แต่โดยรวมแล้ว welfare ของกลุ่มนี้ก็ยังสูงกว่าก่อนที่จะมีนโยบายอยู่ดี แต่การกระจายของสวัสดิการนั้นจะไปกระจุกรวมอยู่ที่กลุ่มรายได้สูงเท่านั้น ในขณะที่กลุ่มรายได้ต่ำที่สุดแทบไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายเลย2 (รูปที่ 5) นอกจากนี้ Welfare ที่เกิดขึ้น ยังลดลงค่อนข้างเร็วในปีสองปีแรก ตามการเสื่อมสภาพของรถยนต์และการออมที่ต่ำลง

รูปที่ 5 การเปลี่ยนแปลงระดับสวัสดิการของการคืนภาษีรถยนต์แบ่งตามกลุ่มรายได้

การเปลี่ยนแปลงระดับสวัสดิการของการคืนภาษีรถยนต์แบ่งตามกลุ่มรายได้

ที่มา: จากการคำนวณของผู้เขียน

นโยบายคืนภาษีสินค้าบริโภค (Consumption tax rebate)

ในการทดลองทางนโยบายที่สองนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดให้มีนโยบายคืนภาษีสินค้าบริโภคอื่น ๆ ในปี 2011 และ 2012 โดยให้ภาษีนี้เป็น flat rate ที่ร้อยละ 7 ผลการศึกษาพบว่าการให้ภาษีบริโภคคืนนั้นกระตุ้นอุปสงค์ของครัวเรือนได้ ทั้งในกลุ่มรายได้สูงและกลุ่มรายได้ต่ำ และทำให้เกิดการออมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วย(รูปที่ 6) โดยกลุ่มรายได้สูง มีการเพิ่มการบริโภคประมาณ 2,000 บาทต่อปี (ปริมาณการบริโภคเปรียบเทียบเป็น real term หลังหักภาษี) ในขณะที่กลุ่มรายได้ต่ำเพิ่มมาน้อยกว่า 1,000 บาทต่อปี แต่ผลจากนโยบายนี้ที่ต่างออกไปจากการคืนภาษีรถยนต์มากก็คือ ทำให้เกิดการออมสูงมากขึ้นกว่าก่อนที่จะมีนโยบายมาก โดยกลุ่มรายได้สูงนั้นมีการออมเพิ่มมากถึง 16,000 บาทต่อปีในกลุ่มครัวเรือนอายุน้อย และ 12,000 บาทต่อปีในกลุ่มครัวเรือนวัยกลางคน การออมในกลุ่มรายได้สูงก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน หากดูการเปลี่ยนแปลงตามช่วงอายุ จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มีการเพิ่มการบริโภคและการออมน้อยที่สุดหลังจากมีการคืนภาษีคือกลุ่มครัวเรือนสูงอายุ

รูปที่ 6 ผลการทดลองทางนโยบายคืนภาษีสินค้าบริโภคแบ่งตามระดับรายได้

ผลการทดลองทางนโยบายคืนภาษีสินค้าบริโภคแบ่งตามระดับรายได้

ที่มา: จากการคำนวณของผู้เขียน

หากลองเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของสวัสดิการ (welfare) ตามระดับรายได้ จะเห็นได้ว่าการกระจายสวัสดิการของนโยบายนี้ก็ยังเพิ่มมากที่สุดในกลุ่มรายได้สูงเช่นกัน แต่การเพิ่มของ welfare จากนโยบายนี้ยั่งยืนกว่านโยบายคืนภาษีรถยนต์ กลุ่มรายได้สูงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมาก และได้ภาษีคืนมากกว่ากลุ่มที่รายได้น้อย จึงได้ประโยชน์จากนโยบายมากกว่า ส่วนระดับ welfare นั้นเพิ่มขึ้นมาแล้วคงอยู่มากกว่า ไม่ได้ตกลงไปหลังจากสองปีแรกเท่ากับการคืนภาษีรถยนต์ หากจะมองในแง่ของการกระตุ้นการใช้จ่ายในระยะสั้น อุปสงค์ของสินค้าอื่น ๆ และรถยนต์ก็จะเพิ่มสูงขึ้นจากระดับเดิมหากไม่มีนโยบาย แต่ไม่ได้กระตุ้นการใช้จ่ายโดยรวมได้มากเท่ากับการคืนภาษีรถยนต์ นอกจากนี้หากรัฐบาลต้องการที่จะให้กลุ่มรายได้น้อยได้ประโยชน์มากขึ้นอาจจะต้องกำหนดนโยบายที่ target กลุ่มรายได้น้อยมากกว่านี้

นโยบายคืนภาษีรายได้ (Income tax rebate)

ในการทดลองทางนโยบายสุดท้ายนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดให้มีนโยบายคืนภาษีรายได้ โดยได้ตั้งสมมุติฐานว่าครัวเรือนทุกครัวเรือนเสียภาษีรายได้ effective rate ที่ร้อยละ 5 ของรายได้3 ผลการศึกษาพบว่าการให้ภาษีเงินได้คืนนั้นกระตุ้นอุปสงค์ของครัวเรือน ทั้งอุปสงค์รถยนต์และสินค้าอื่น ๆ ได้น้อยที่สุด และเงินคืนส่วนใหญ่นั้นได้ถูกนำไปใช้ออม (การนำเงินไปชำระหนี้ก็จะปรากฏเป็นการเพิ่มของสินทรัพย์เช่นกัน) ทั้งในกลุ่มรายได้สูงและกลุ่มรายได้ต่ำ (รูปที่ 7) โดยการใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นบ้างหลังจากนโยบายจบลงไปซึ่งเป็นผลมาจากกลไกทางรายได้ (income effect)

รูปที่ 7 ผลการทดลองทางนโยบายคืนภาษีสินค้าบริโภคแบ่งตามระดับรายได้

ผลการทดลองทางนโยบายคืนภาษีสินค้าบริโภคแบ่งตามระดับรายได้

ที่มา: จากการคำนวณของผู้เขียน

หากลองเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของ welfare ตามระดับรายได้ (รูปที่ 8) จะเห็นได้ว่าการกระจายของ welfare ของนโยบายนี้ก็ยังเพิ่มมากที่สุดในกลุ่มรายได้สูงเช่นกัน เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับภาษีคืนมากกว่ากลุ่มรายได้น้อย ระดับการเพิ่มของ welfare ในการใช้นโยบายนี้คงอยู่เป็นเวลานานเหมือนกับการคืนภาษีสินค้าอุปโภค แต่หากจะมองในแง่ของการกระตุ้นการใช้จ่ายในระยะสั้น นโยบายนี้ได้ผลน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับการคืนภาษีสินค้าบริโภค เป็นเพราะการคืนภาษีรายได้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์จากเพียงแค่ income effect เท่านั้น ไม่ได้มีเหตุมาจากราคาที่ถูกลงชั่วคราว (substitution effect) ที่ดึงอุปสงค์จากอนาคตมาได้

รูปที่ 8 ผลการทดลองทางนโยบายคืนภาษีสินค้าบริโภคแบ่งตามระดับรายได้

ผลการทดลองทางนโยบายคืนภาษีสินค้าบริโภคแบ่งตามระดับรายได้

ที่มา: จากการคำนวณของผู้เขียน

บทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

หากเป้าหมายคือการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ได้คำนึงถึงการกระจายสวัสดิการให้ทั่วถึง การคืนภาษีรถยนต์เป็นนโยบายที่มีประสิทธิผลที่สุด ตามมาด้วยการคืนภาษีสินค้าบริโภคอื่น ๆ และการคืนภาษีเงินได้ การคืนภาษีสินค้ามีประสิทธิภาพมากกว่าการคืนภาษีเงินได้ เพราะสามารถดึงอุปสงค์จากอนาคตมาได้ด้วยจากราคาที่ลดลงชั่วคราว ในขณะที่การคืนภาษีเงินได้จะมีแรงส่งมาจากแค่กลไกทางด้านรายได้เท่านั้น ส่วนนโยบายชอปช่วยชาตินั้นเป็นนโยบายแบบผสมระหว่างการคืนภาษีบริโภคและภาษีเงินได้ จึงสามารถดึงอุปสงค์จากอนาคตมาได้มากกว่านโยบายคืนภาษีเงินได้ทั่วไป

ส่วนการคืนภาษีรถยนต์ มีประสิทธิภาพในการดึงอุปสงค์มากเพราะมีแรงดึงจากกลไกราคา ทั้งสินค้าอุปโภคที่ถูกลง และสินทรัพย์ขาดสภาพคล่องที่ถูกลง แต่ทั้งนี้ เป็นนโยบายที่ทำให้เงินออมอื่น ๆ ลดน้อยลง ดังนั้นอุปสงค์ของรถยนต์และสินค้าอื่น ๆ ในอนาคตจะลดลง ในขณะที่การคืนภาษีสินค้าอื่น ๆ นั้นไม่ได้ดึงให้การออมและอุปสงค์ในอนาคตลดลง สำหรับ welfare ที่ได้จากการคืนภาษีรถยนต์นั้นไปกระจุกอยู่ที่กลุ่มรายได้สูง และลดลงอย่างรวดเร็วกว่าหากเทียบกับการคืนภาษีแบบอื่น ๆ หากลองดูการดึงอุปสงค์ตามช่วงอายุ จะเห็นได้กว่ากลุ่มครัวเรือนวัยกลางคนเป็นกลุ่มที่ซื้อรถยนต์มากที่สุด และมีการลดการออมมากที่สุด

ดังนั้น หากต้องการให้มีการกระจายสวัสดิการในนโยบายทางภาษีไปให้กลุ่มที่รายได้น้อย จะต้องมีการออกนโยบายแบบ target กลุ่มนี้ เพราะโดยทั่วไปหากให้ภาษีคืนแบบถ้วนหน้า โดยให้ตามอัตราร้อยละเท่า ๆ กันต่อราคาสินค้าหรือรายได้ กลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือกลุ่มรายได้สูง

เอกสารอ้างอิง

Adda, J., & Cooper, R. (2000). Balladurette and Juppette: A Discrete Analysis of Scrapping Subsidies. Journal of Political Economy, 108(4). Retrieved from http://sites-final.uclouvain.be/econ/DW/DOCTORALWS2004/bruno/rb_mantys/adda cooper.pdf

Berger, D., Guerrieri, V., Lorenzoni, G., Vavra, J., Attanasio, O., Auclert, A., Tonetti, C. (2017). House Prices and Consumer Spending *. The Review of Economic Studies. Retrieved from http://www.restud.com/wp-content/uploads/2017/09/MS20860manuscript.pdf

Berger, D., & Vavra, J. (2015). Consumption Dynamics During Recessions. Econometrica, 83(1), 101–154. https://doi.org/10.3982/ECTA11254

Kaplan, G., & Violante, G. L. (2014). A Model of the Consumption Response to Fiscal Stimulus Payments. Econometrica, 82(4), 1199–1239. https://doi.org/10.3982/ECTA10528

Mian, A., & Sufi, A. (2012). the Effects of Fiscal Stimulus: Evidence From the 2009 Cash for Clunkers Program*. Quarterly Journal of Economics 1107–1142. https://doi.org/10.1093/qje/qjs024

Shapiro, M. D., Slemrod, J., Matthew, B., & Slemrod, J. (2015). Did the 2008 Tax Rebates Stimulate Spending? American Economic Association 99(2), 374–379.


  1. การเปลี่ยนแปลงราคา ทั้งที่ผ่านการแทรกแซงโดยรัฐบาล อาทิ นโยบายทางภาษี หรือไม่ได้ผ่านการแทรกแซง เช่นราคาน้ำมันที่ลดลงตามราคาตลาดโลก ก็ถือว่าเป็น income shock เช่นกัน เพราะกำลังซื้อของรายได้เดิม (real income) นั้นเปลี่ยนไป↩
  2. Welfare function ในงานวิจัยนี้คำนวณมาจาก present value ของ utility ของครัวเรือนที่ได้จากการบริโภคและการใช้รถยนต์เท่านั้น และไม่ได้รวมไปถึง negative externality อื่น ๆ ที่เกิดจากการใช้รถยนต์มากขึ้น อาทิ ปัญหารถติด หรือ ปัญหามลภาวะ↩
  3. แบบจำลองนี้ไม่มี labor supply decision และให้การคืนภาษีรายได้เป็นแบบไม่ได้คาดการณ์มาก่อนจึงไม่กระทบ labor supply↩
ธนิสา ทวิชศรี
ธนิสา ทวิชศรี
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Public Economics
Tags: consumptiondurable goodsfiscal stimulus
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email