PIER ก่อตั้งขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่จะเป็นแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้และสนับสนุนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทย โดยมี ดร.ปิติ ดิษยทัต เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยคนแรก และ ดร.ปิติ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานและขับเคลื่อนสถาบันให้เติบโตอย่างมั่นคงและเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการในช่วงยุคบุกเบิก หรือ ‘ช่วงตั้งไข่’ ของสถาบัน
แม้ว่าปัจจุบัน ดร.ปิติ จะดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการของ PIER ที่ช่วยกำหนดแนวทางและสนับสนุนการดำเนินงาน ในบทสัมภาษณ์นี้ ดร.ปิติ จะพาเราย้อนกลับไปสำรวจจุดเริ่มต้นของ PIER ตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้ง ไปจนถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น และแนวทางที่คาดหวังสำหรับอนาคตของสถาบัน
ช่วงก่อตั้งสถาบัน ณ ตอนนั้น สิ่งแรกที่สังเกตได้ชัด คือ ในประเทศไทย งานวิจัย นักวิจัยในไทย และข้อมูลค่อนข้างอยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่ได้มีศูนย์รวมเป็นหนึ่งเดียว เลยอยากจะสร้างพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถเผยแพร่งานวิจัยให้สาธารณชนและนักวิจัยสามารถมารวมตัวกัน รวมทั้งมีพื้นที่ที่นักวิจัยสามารถมาใช้ข้อมูลได้ เนื่องจากสมัยนั้นเป็นช่วงบุกเบิกข้อมูล จึงกลายเป็นแนวคิดของการตั้งสถาบันที่ไม่ใช่แบบ think tank ที่ไม่ใช่คนมาทำวิจัยอย่างเดียว แต่เป็น think network คือเป็นเครือข่ายของนักวิจัยที่มีพื้นที่ส่วนกลางให้นักวิจัยมาทำงานวิจัยด้วยกันได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานหรือนักวิจัยที่สังกัดอยู่ที่สถาบันวิจัยโดยตรง ทั้งนี้ก็มีนักวิจัยบางส่วนอยู่ที่นี่เอง แต่ก็สามารถใช้พลังของนักวิจัยที่มีอยู่ในประเทศไทยและที่ต่างประเทศได้อย่างเต็มที่
เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว การออกแบบรูปแบบองค์กรของ PIER ถือว่าสำคัญมากและมีความพิเศษ โดยตอนที่ก่อตั้งก็คิดอยู่หลายรูปแบบว่าจะเป็นเหมือนส่วนหนึ่งที่อยู่ในฝ่ายงานหนึ่งของ ธปท. หรือจะเป็นแบบมูลนิธิข้างนอก ธปท. เลย แต่ในที่สุดเราก็ได้รูปแบบที่เป็นกึ่งกลาง คือเป็นหน่วยงานกึ่งอิสระภายใต้ ธปท. อันนี้เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์ เพราะว่าในแง่ brand identity เราได้มีพื้นที่ที่ห่างจาก ธปท. เล็กน้อย ซึ่งสามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานวิจัยหรืองานนโยบายแบบเป็นกลางได้ โดยไม่ถูกตีความว่าเป็น ธปท. ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในอีกแง่หนึ่ง การเป็นส่วนหนึ่งของ ธปท. ทำให้เรามีความมั่นคงทางการเงิน รวมทั้งเป็นการช่วยเปิดประตูในการพูดคุยและเอื้อต่อการทำงานร่วมกับหน่วยงานข้างนอกได้มากขึ้น
สามเรื่องที่ท้าทาย คือ หนึ่ง การหาคนที่ใช่ ที่จะมาช่วยสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานวิจัย สองคือ การสร้าง brand recognition ให้วงการวิชาการยอมรับ และสามคือ การสร้างงานวิจัยที่โดดเด่น โดยเราใช้เรื่องของข้อมูลเพื่อเป็นหัวหอกนำในการทำงานในช่วงแรก
ถ้าเริ่มถามว่าอะไรที่ท้าทายมากที่สุดในช่วงแรกของการก่อตั้ง คือ เรื่องคน เพราะหัวใจของสถาบันคือนักวิจัยและพนักงานใน PIER ซึ่งตอนนั้นเราเริ่มจาก 3-4 คนเท่านั้น จึงต้องค่อย ๆ คัดสรรพนักงานหรือนักวิจัยที่มีมุมมองและทัศนคติเกี่ยวกับงานวิจัยตรงกัน มีความเปิดกว้างในการพูดคุยบนพื้นฐานวิชาการที่หนักแน่น และเป็นกันเอง ซึ่งเป็น research culture ที่เราพยายามจะสร้างและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยกระบวนการคัดสรรคนของเราในตอนนั้นค่อนข้างจะเข้มข้นมาก คือกว่าจะตกลงที่จะร่วมงานกัน มีการสัมภาษณ์หลายรอบ ทั้งการสัมภาษณ์หมู่ สัมภาษณ์เดี่ยว พาไปทานข้าว เพราะในที่สุดแล้วแต่ละคนที่เข้ามานั้นมีความสำคัญมากและส่งผลต่อบรรยากาศการทำงาน
ความท้าทายที่สองคือ การสร้างอัตลักษณ์ของสถาบัน หรือ brand identity ในด้านการยอมรับในวงการวิชาการ เพราะเราเริ่มจากศูนย์ ไม่มีใครรู้จักเราเลย ซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายของนักวิชาการที่เรารู้จักจากหลายสถาบันวิจัยและสถาบันศึกษาที่มาช่วยร่วมงานกับเราในช่วงแรก ช่วยเขียนบทความเผยแพร่ผ่านในช่องทางของเรา ช่วยมาร่วม event หรือร่วมจัดงานกับเรา และทำงานวิจัยร่วมกันด้วย เรามีช่องทางที่จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายค่อนข้างมากในการสร้าง brand recognition
ความท้าทายที่สามคือ การหาสิ่งที่เป็นหัวหอกนำในแง่การทำงานวิจัย ในช่วงแรกอยากเริ่มต้นจากงานวิจัยที่มีความลึกเพื่อดึงให้คนสนใจเรา จึงไปจับเรื่องข้อมูลเป็นหลัก ในสมัยนั้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เรื่องข้อมูล big data เพิ่งเข้ามา ซึ่ง PIER เป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่บุกเบิกเอาข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น ข้อมูลของ NCB (National Credit Bureau) ข้อมูลการส่งออกนำเข้าของกรมศุลกากร มาใช้ในการทำวิจัย
ความสำเร็จของ PIER ในมิติแรก คือ จำนวนคนในเครือข่ายของเรา จำนวนงานวิจัยที่อยู่ในคลัง หรือช่องทางการสื่อสารของเราที่มีอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมว่ามันเห็นชัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ การที่มีคนเข้ามาหาเรา ทั้งที่อยากจะขอให้เราช่วยแนะนำหรือเป็นที่ปรึกษาทั้งในและนอก ธปท. และที่ยิ่งน่าภูมิใจ คือมีหลายองค์กรเข้ามาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการสร้างองค์กรที่มีลักษณะแบบเดียวกันว่าต้องทำอย่างไร เหมือนอยากจะสร้าง PIER เวอร์ชัน 2 ในองค์กรของเขา ซึ่งเป็นคำถามที่ให้ความรู้สึกว่า เราเดินมาถูกทางในระดับหนึ่ง เพราะการที่มีคนต้องการนำแนวทางเราไปปรับใช้ นั่นคือมาตรวัดหนึ่งของความสำเร็จ
นอกจากนี้ คติพจน์ (motto) ของเราที่เรามีมาตลอดคือ สร้างสรรค์งานวิจัย (fostering research) และเชื่อมต่อนโยบาย (informing policy) โดยจะเห็นว่ามี 2 ส่วน ส่วนแรกคือการสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็น motivation หลัก แต่ส่วนที่สองนั้นก็ทิ้งไม่ได้เลยเช่นกัน คือการเชื่อมต่อกับนโยบาย เพราะเราเป็นองค์กรวิจัยเศรษฐศาสตร์นโยบาย ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์แบบที่ทำกับเชิงวิชาการอย่างเดียว แต่เน้นเรื่องของการเป็น input ให้กับนโยบาย
ผมว่า motto สองส่วนนี้ก็ยังถูกนำมาปรับใช้อยู่ในปัจจุบัน และผมเห็นชัดว่างานวิจัยที่เราได้ผลิตมาในช่วง 10 ปี ได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการทำนโยบายอย่างต่อเนื่อง ที่สังเกตเห็นได้คือ บางทีไปประชุมกับคณะทำงานในแต่ละองค์กรทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ก็จะมีคนหยิบยก พูดถึง หรืออ้างอิงถึงบทความวิจัยที่ PIER ได้เขียนออกมา ถือเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่มีคนกล่าวถึงงานวิจัยในการทำนโยบาย
แน่นอนบริบทของโลกและเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นวิธีการทำวิจัย หรือโจทย์วิจัยก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ที่สำคัญคือคุณภาพงานวิจัยที่ต้องพึ่งการใช้ข้อมูลที่ดี ระเบียบวิจัยที่เป็นระดับสากล และการที่มีคนอ่านงานวิจัยของเรา ในที่สุดแล้วงานวิจัยที่ทำไปก็อยากให้มี impact ต้องมีคนอ่าน คนอ้างอิงถึง ดังนั้น หัวใจของ PIER คือคุณภาพงานวิจัยที่ต้องมีความลึก ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่ต้องรักษาไว้ และเป็นอะไรที่ทิ้งไม่ได้
นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการรักษาระดับคุณภาพงานวิชาการของไทย คือการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ เราต้องยอมรับว่างานวิชาการโดยเฉพาะทางเศรษฐศาสตร์ระดับ frontier หรือระดับท็อป คือ งานวิจัยจากต่างประเทศ ซึ่งตราบใดที่เรามีความสัมพันธ์ มีการแลกเปลี่ยน มีการเทียบเคียงตัวเราเองกับงานวิจัยต่างประเทศที่เป็นสากล น่าจะเป็นตัวช่วยให้เรารักษามาตรฐานของงานวิจัยได้ต่อไป
ผมจึงมองว่า ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ในการตั้งโจทย์งานวิจัยต้องมองระยะยาวไว้ด้วย คือตั้งโจทย์วิจัยให้ดีตั้งแต่แรก ถ้าโจทย์วิจัยดีแล้วและคุณภาพงานวิจัยได้ ไม่ต้องห่วงว่าจะมีคนมาสนใจหรือไม่ หรือจะเป็นเรื่องเด่นอะไรในอาทิตย์หน้าหรือเปล่า เพราะแม้จะผ่านมาหลายปี งานวิจัยที่ดีไม่มีวันล้าสมัย องค์ความรู้ไม่ได้หมดความสำคัญไปตราบใดที่ยังมีโจทย์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสักวันหนึ่ง มันจะมีประโยชน์ในท้ายที่สุด ในทางกลับกัน ถ้าตั้งโจทย์ตามกระแสมากเกินไปมันก็อาจจะได้อะไรที่ไม่ค่อยลึกและก็ไม่มีความยั่งยืน
นอกจากนี้ ในโลกที่เปลี่ยนไป การเผยแพร่ข่าวสารทั้งในเวทีและช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้คนฟังมีทางเลือกมากขึ้น การแข่งขันสูง และอาจจะรู้สึกว่า PIER ต้องพูดถึงเรื่องที่เป็นกระแส ซึ่งเราอาจจะสู้คนอื่นไม่ได้ เพราะ resource เราไม่ได้มีมากขนาดนั้น ดังนั้น PIER ต้องพยายามรักษาความโดดเด่น หรือ เอกลักษณ์ของเราไว้ในโลกที่มีช่องทางการสื่อสารเยอะมาก และต้องพยายามรักษา ‘ความลึก’ ของสิ่งที่จะออกไป ซึ่งจุดแข็งของเรา คือการผลิตงานวิชาการเชิงลึก ศึกษามาดี โจทย์ถูกต้อง
ที่จริงแล้วการที่จะให้ PIER อยู่ได้ในระยะยาว มันไม่ได้มีอะไรที่พิเศษเกี่ยวกับ PIER ในแง่ขององค์กรหรือข้อมูลที่เรามีเยอะ สิ่งที่พิเศษจริง ๆ และเป็นสาเหตุที่เราประสบความสำเร็จมาได้จนถึงปัจจุบัน ก็คือคนหรือพนักงานของเรา งานวิจัย และนักวิจัยของเราที่ถือว่าอยู่ในระดับสากล ตราบใดที่เรารักษาคนลักษณะนี้ได้ เราก็จะสามารถสร้างบรรยากาศที่ดึงดูดคนเก่งเข้ามาร่วมงานกับ PIER เพราะคนที่มีความสามารถจะเลือกอยู่ในบรรยากาศและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการทำวิจัย
วัฒนธรรมของ PIER นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะว่า PIER ไม่เหมือนสายงานอื่นใน ธปท. ในตอนที่เราสร้างขึ้นมาเราเริ่มใหม่จากศูนย์ ให้ความรู้สึกเหมือนเริ่มต้นบริษัท start-up อย่างแท้จริง ตั้งแต่การออกแบบผังที่นั่งไปจนถึงการตกแต่งสถานที่ที่แตกต่างจากแนวทางของ ธปท. แต่ที่สำคัญกว่าคือวัฒนธรรมในการทำงานทั้งในเรื่องการพูดคุยแลกเปลี่ยนแบบไม่มีลำดับขั้น (hierarchy) เรียบง่ายเป็นกันเอง พูดตรงไปตรงมาบนหลักวิชาการ ไว้วางใจกัน ไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วงและทุกคนดูแลซึ่งกันและกัน
เราก็ชอบพูดกันเสมอว่า ถ้าใครมาร่วมงานกับเราก็ถือว่าเป็น PIER แล้ว ถึงแม้จะย้ายไปที่ทำงานอื่น ฝ่ายอื่น หรือองค์กรอื่น บุคคลนั้นก็ยังเป็น PIER เสมอไป เพราะว่ามันมีความรู้สึกของการเป็นครอบครัวอยู่จริง ๆ และถึงแม้ทุกวันนี้ผมไม่ได้ทำงานที่นี่แบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ทุกครั้งที่ผมกลับมาที่ PIER ก็ยังรู้สึกเหมือนกลับมาที่บ้าน ผมว่า once a PIER, always a PIER เป็น outcome หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปริยายจากวัฒนธรรมที่เราสร้างขึ้นมา นี่คือความเป็นเอกลักษณ์พิเศษของ PIER ที่หายากมาก
ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรักษาวัฒนธรรมของ PIER ไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพยายามสร้างกันมาตั้งแต่ต้น และทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ และต้องเป็นตลอดไปเพื่อความยั่งยืนของ PIER ในอนาคต
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์: 0-2283-6066
Email: pier@bot.or.th
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license
รับจดหมายข่าว PIER