ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 “สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์” หรือ PIER ได้ถูกสร้างขึ้นตามดำริของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น
ท่ามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ตระหนักถึงความท้าทายเหล่านี้ และเล็งเห็นศักยภาพขององค์ความรู้และนักวิชาการที่อยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบาย ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงมุ่งเน้นการสร้างและเตรียมองค์ความรู้เพื่อยกระดับการดำเนินนโยบายให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายให้ PIER เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ในการสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับสากลและสนับสนุนนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย และเป็น “platform” ที่เชื่อมโยงนักวิจัยจากองค์กรต่าง ๆ เพื่อเป็นเครือข่ายนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทยที่แข็งเเกร่ง
ในวาระครบรอบ 10 ปีของการก่อตั้ง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ได้ให้เกียรติร่วมถ่ายทอดมุมมองของท่านในฐานะผู้ก่อตั้งที่มีต่อสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษนี้
จุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง PIER มาจากความเชื่อที่ว่า การมีข้อมูลและความรู้ที่ดีเป็นส่วนสำคัญและจำเป็นในการสร้างนโยบายเศรษฐกิจที่ดีให้กับประเทศ ในช่วงนั้นเราเผชิญกับโจทย์ท้าทายหลายอย่าง เช่น การพยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายการเงินและภาวะเงินเฟ้อ การบริหารจัดการเงินทุนที่เคลื่อนย้ายข้ามประเทศ โจทย์เชิงโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง จึงมองว่าการมีข้อมูลและความรู้ที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน
แน่นอนว่าในไทยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโจทย์เหล่านี้อยู่บ้าง แต่ส่วนมากมักจะเป็นการศึกษาเฉพาะกิจเมื่อเกิดปัญหา แต่ยังขาดสถาบันที่มุ่งเน้นการวิจัยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เลยมีแนวคิดที่จะสร้างสถาบันวิจัยที่ยกระดับงานวิจัยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เช่น Bank for International Settlements (BIS) หรือ Brookings Institution
อีกประการหนึ่งคือ เราสังเกตว่ามีพนักงานในองค์กรและนักวิจัยภายนอกประเทศไทยที่มีศักยภาพในการทำงานวิจัยสูง แต่บางครั้งติดพันกับงานอื่น ทำให้ขาดสมาธิและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ เราคิดว่าการมีสถาบันวิจัยที่ช่วยสนับสนุนพวกเขาในช่วงเวลาหนึ่ง จะช่วยให้พัฒนาศักยภาพของพวกเขาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานวิจัยที่เราคิดไว้ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคทฤษฎีขั้นสูงเพียงอย่างเดียว บางครั้งข้อมูลจากประสบการณ์และงานภาคสนามก็สามารถสรุปเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ด้วย เราจึงพยายามทำความเข้าใจเรื่องงานวิจัย ว่าเป็นเรื่องที่อาจจะได้จากภาคสนามด้วย อันนี้ก็เป็นเหตุผลประกอบ
นอกจากนี้ ถ้าตั้ง PIER แล้วสามารถสร้างผลงานที่ดี ก็จะช่วยส่งเสริมชื่อเสียงให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม
ในช่วง 10 ปีที่แล้วเป็นวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของ ดร.ป๋วย ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่มีคุณูปการสูงทั้งในธนาคารแห่งประเทศไทยและในระดับประเทศ ดังนั้น จึงใช้โอกาสนี้เพื่อเป็นการแสดงมุทิตาจิต (แสดงความนับถือและยกย่องท่าน) นอกจากนี้ ท่านถือเป็นแบบอย่างที่ดีตลอดการทำงานของท่าน ทั้งในแง่การทำงานที่เน้นความสำคัญของข้อเท็จจริง ข้อมูลและองค์ความรู้ และท่านก็เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องในด้านการพัฒนาคนรุ่นหลัง ๆ จึงคิดว่าเหมาะทีเดียวที่จะใช้โอกาสดังกล่าวนี้ ขออนุญาตครอบครัวของท่าน ขอใช้ชื่อท่านสำหรับการจัดสถาบันป๋วย
กล่าวแบบสั้นก็คือเกินความคาดหมาย น่าชื่นชม โดยเฉพาะเรื่องของการทำวิจัยที่มีคุณภาพและสามารถส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของนักวิจัยในด้านเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย ขอแสดงความชื่นชม PIER และขอให้เครดิตกับผู้อำนวยการของสถาบัน คิดว่าเราโชคดีที่ทั้ง 3 ท่าน ไม่ว่าจะเป็น ดร.กฤษฎ์เลิศ ดร.ปิติ ดร.โสมรัศมิ์ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ PIER สามารถทำงานได้เกินความคาดหมาย แน่นอนว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย คณะกรรมการที่ช่วยดูเรื่องการกำหนดทิศทาง พนักงานที่ช่วยผลิตงานต่าง ๆ รวมทั้งเครือข่าย นักวิชาการในกิจกรรม ปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่ความสำเร็จอันนี้ได้ด้วยดี
คำถามในแง่บทบาทของสถาบันวิจัยฯ ของการมีผลต่อการวางนโยบายประเทศ ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องกังวลมากเกินไปว่าจะสร้าง impact หรือไม่ เพราะการนำไปใช้นั้นขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายว่าจะนำไปปรับใช้แค่ไหน แต่ถ้าเราสามารถผลิตงานที่มีคุณภาพ และเป็นที่รับรู้กัน ซึ่งมันหนีไม่พ้นหรอก ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม งานเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ดำเนินนโยบาย
แนวคิดหลักของเราคือการสร้างสถาบันที่ไม่ใช่แค่ศูนย์กลางที่คนอื่นต้องมาหาเรา แต่เป็นเครือข่ายที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกันมากกว่า นอกจากนี้ ความคิดอีกนัยหนึ่ง คือความเสมอภาคระหว่างนักวิจัยทั้งที่สังกัด PIER สังกัดธนาคารแห่งประเทศไทยและภายนอกมาร่วมมือกัน เป็นเครือข่ายซึ่งเคารพซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนจุดแข็งและเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ
สิ่งสำคัญคือ strategic direction สำหรับองค์กร เมื่อผลงานเริ่มได้รับการยอมรับ สิ่งที่ต้องระวังคืออาจมีการเรียกร้องให้เราทำอะไรมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ทรัพยากรของเรามีจำกัด โดยเฉพาะทรัพยากรที่สำคัญอย่างบุคลากรนักวิจัย ดังนั้น เราจำเป็นต้องโฟกัสว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำ โดยที่ไม่ลืมที่จะเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้เสีย คือ เข้าใจจุดแข็งของเรา รู้ว่าควรโฟกัสอะไร และในขณะเดียวกันต้องสัมผัสโลกของความเป็นจริง
สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงเสมอคือ เราตั้ง PIER เพื่อสร้างสถาบันของนักวิจัยที่มีเครือข่ายนักวิจัยที่ช่วยสนับสนุนงานที่เป็นพันธกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น นโยบายการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบชำระเงินต่าง ในขณะเดียวกัน ก็ต้องอย่าลืมว่าเราต้องค่อย ๆ “zoom out” เพื่อเข้าใจโลกกว้างและโลกความเป็นจริง แล้วก็ “zoom in” เข้ามาที่จุดแข็งและความเป็นจริงในเชิงทรัพยากรของเราด้วย ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่อง zoom out กับ zoom in และโฟกัส ควบคู่กับการมี strategic direction ที่ดี
เราเริ่มต้นด้วยเรื่องของข้อมูลและองค์ความรู้เป็นส่วนสำคัญในการทำนโยบายเศรษฐกิจ บางครั้งหลายคนจะเป็นห่วงว่างานวิจัยต่าง ๆ ที่ออกไปแล้วมี impact ให้เอาไว้ใช้หรือเปล่า ความจริงส่วนที่สำคัญมากกว่าก็คือเรื่อง truth หรือความเป็นจริง ซึ่งผมคิดว่าเหมือนกับดาวนำทางของนักวิจัย คือถ้าเราไปกังวลว่าสิ่งที่เราทำอยู่คนจะเอาไปใช้หรือเปล่ามากจนเกินไป บางทีก็อาจจะเป็น compromise เรื่อง truth จนเกินไป ผมเลยอยากให้นักวิจัยของเราให้ความสำคัญกับเรื่อง truth ส่วนเขาจะเอาไปใช้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย ขึ้นอยู่กับคติของเขาเรื่องของค่านิยม ทัศนคติต่าง ๆ แต่ให้คำนึงถึงคำว่า truth ไว้เสมอ
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์: 0-2283-6066
Email: pier@bot.or.th
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license
รับจดหมายข่าว PIER