กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
หัวหน้าทีมวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand)
ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานร่วมกับบริษัท ป่าสาละ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) จึงต้องติดตามการดำเนินงานของธนาคารในประเด็นความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงปัญหาหนี้สินหนี้ครัวเรือนและการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดประสิทธิภาพของธนาคาร ด้วยเหตุนี้ จึงได้ใช้ประโยชน์จากบทความวิชาการและงานวิจัยของ PIER ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งสถาบัน รวมถึงมีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับทีมวิจัยของ PIER โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องหนี้ ซึ่งสอดคล้องกับโจทย์วิจัยที่ทำอยู่ นอกจากนี้ ได้เข้าร่วมงานสัมมนา PIER Research Workshop ประจำปีในหลายครั้ง และรู้สึกดีที่ได้เห็นเครือข่ายนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นคุณูปการของ PIER ที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงนักวิจัยรุ่นใหม่ให้ได้รู้จักและร่วมงานกัน
บทบาทสุดท้าย คือได้รับทุนวิจัยจาก PIER เพื่อทำงานวิจัย 2 ชิ้น ซึ่งได้เผยแพร่แล้วในนามของ Fair Finance Thailand โดยงานวิจัยชิ้นแรกเกี่ยวกับการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ fintech ถึงความท้าทายและการเติบโตในประเทศไทย ในส่วนงานวิจัยชิ้นที่สองนั้นเกี่ยวกับการพิจารณา just transition principles ในการพัฒนา Thailand Taxonomy ในระยะที่ 1 ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่างานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตัวเองในฐานะนักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจาก PIER และผลการวิจัยสามารถนำไปต่อยอดในงานอื่น ๆ ได้
สิ่งที่น่าประทับใจและถือเป็นจุดเด่นของ PIER คือความสามารถในการสกัดเอาข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ในระบบทั้งหมดจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) มาใช้ประโยชน์ และคิดว่า PIER เป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่มีการนำข้อมูลสินเชื่อทั้งหมดของ ธกส. มาวิเคราะห์หนี้สินเกษตรกรและเผยแพร่ต่อสาธารณะพร้อมข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รวมถึงชี้ให้เห็นผลกระทบของมาตรการพักหนี้ที่อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว
อีกหนึ่งจุดแข็งของ PIER คือ การมีเครือข่ายนักวิชาการและการเป็นแพลตฟอร์มในการทำงานร่วมกันของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับ ประกอบกับ PIER เป็นสถาบันที่อยู่ภายใต้ ธปท. ทำให้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ หรือธนาคารของรัฐ ในลักษณะที่สถาบันอื่นอาจทำได้ยาก ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึง big data ได้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการเข้าถึง big data ได้ถือเป็น input และข้อได้เปรียบ แต่ปัจจัยสำคัญคือการที่ PIER มีทีมงานนักวิจัยที่เก่งและมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ที่ถูกหลักวิชาการ ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้ทำให้ PIER สามารถนำข้อมูลมาผลิตข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ เชิงนโยบาย และบทวิเคราะห์ที่ชัดเจนได้
อยากเห็น PIER ขยายทั้งความลึกและความกว้างในบทบาทของการเป็นแพลตฟอร์มด้านวิจัยมากยิ่งขึ้น ในมิติของความลึก เสนอให้ต่อยอดการวิเคราะห์เชิงลึกที่มีอยู่ โดยเฉพาะประเด็นหนี้ครัวเรือน ด้วยการจัดทำ “flagship product” เช่น รายงานประจำปี Household Debt Digest ที่ติดตามสถานการณ์และนำเสนอข้อเสนอใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ PIER เป็นผู้นำอย่างชัดเจนในประเด็นนี้
ในมิติของความกว้าง อยากเห็นการสื่อสารงานวิจัยสู่สาธารณะมากขึ้น โดยย่อยข้อมูลที่ซับซ้อนให้ง่ายต่อความเข้าใจ พร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานอย่าง ธปท. เพื่อสร้างความน่าสนใจและความถูกต้องในการสื่อสาร นอกจากนี้ ยังมองว่า PIER ควรเสริมบทบาทในฐานะผู้บุกเบิก open data ของประเทศ โดยทำหน้าที่เป็น data controller หรือ gatekeeper ผ่านการออกใบอนุญาตให้นักวิจัยภายนอกเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ข้อมูลสินเชื่อของ ธกส. หรือข้อมูลจาก NCB โดย PIER เป็นผู้กำกับดูแลและคัดกรองความน่าเชื่อถือ วิธีนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าของข้อมูล และนักวิจัยเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้มาก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์: 0-2283-6066
Email: pier@bot.or.th
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license
รับจดหมายข่าว PIER