Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/b4464c6c539d39f8d99b326a18cf8c60/41624/cover.jpg
15 กันยายน 2558
201514422752000001442275200000

ยักษ์เล็กไล่(ทัน)ยักษ์ใหญ่: การแข่งขัน การจัดสรรทรัพยากร และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจไทย

ภาคธุรกิจไทยมีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น ทว่า…แฝงไปด้วยปัญหาการจัดสรรทรัพยากร
ทศพล อภัยทาน
ยักษ์เล็กไล่(ทัน)ยักษ์ใหญ่: การแข่งขัน การจัดสรรทรัพยากร และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจไทย
excerpt

พัฒนาการของผู้ประกอบการเป็นปัจจัยชี้วัดในระดับจุลภาคที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ บทความนี้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ประกอบการรายบริษัทในช่วงเวลากว่า 10 ปี เพื่อประเมินพลวัตของการแข่งขัน และการจัดสรรทรัพยากรที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ ข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่า กระบวนการ “ทำลายอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction)” ได้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจไทย และเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของเศรษฐกิจ

ในระบบเศรษฐกิจการเติบโตจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการจัดสรรทรัพยากรที่ดี โดยในระบบตลาดเสรี การแข่งขันถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยในการจัดสรรทรัพยากรการผลิต ทั้งทุนและแรงงาน ไปสู่ผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ ท่ามกลางการแข่งขันในปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกของไทยมักถูกกล่าวถึงอยู่เสมอว่าเป็นตัวอย่างของการเข้ามาครอบงำตลาดของผู้เล่นรายใหญ่ พร้อมกับการล้มหายตายจากของผู้เล่นรายเล็ก ๆ ด้านหนึ่ง เราพบว่าผู้เล่นรายใหญ่มักมีความพร้อมและความก้าวหน้าในธุรกิจที่ประกอบการอยู่ และเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม แต่ในอีกด้านหนึ่ง เรากลับได้ยินอยู่บ่อย ๆ ถึงการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเป็นความหวังของการเติบโตในอนาคต จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ที่ผ่านมา ใครเป็นผู้สร้างความเติบโตให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ การแข่งขันและจัดสรรทรัพยากรการผลิตในภาคธุรกิจไทยเป็นอย่างไร

สูตรสำเร็จในอดีต…อาจใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบัน

ประเทศไทยค่อนข้างประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต จากประเทศที่ทำการเกษตรเป็นหลักไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม ในช่วงสองถึงสามทศวรรษก่อน ได้เกิดการโยกย้ายทรัพยากรการผลิตขนานใหญ่จากภาคเกษตรไปสู่อุตสาหกรรม อันเป็นภาคการผลิตที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เมื่อแรงงานและทุนได้เข้าไปอยู่ในภาคการผลิตที่มีผลิตภาพสูงอย่างภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจจึงเติบโตได้อย่างรวดเร็วจนครั้งหนึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทว่า เรื่องราวแห่งความสำเร็จกลับไม่ได้ดำเนินต่อเนื่องมาในทศวรรษหลัง การโยกย้ายทรัพยากรการผลิตโดยเฉพาะแรงงานอาจถึงจุดอิ่มตัว อันจะเห็นได้จากสัดส่วนแรงงานในภาคการผลิตต่าง ๆ ค่อนข้างอยู่ในระดับคงที่มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตในระดับมหภาคอย่างชัดเจนดังที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจัดสรรทรัพยากรยังดำเนินไปภายในภาคการผลิตนั้น ๆ เอง กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาค โดยเป็นการโยกย้ายทรัพยากรระหว่างผู้ประกอบการภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาครอบครองทรัพยากร และการหายไปของผู้ประกอบการรายเก่าซึ่งย่อมหมายถึงการถ่ายเททรัพยากรไปยังผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ดังนั้นในระบบเศรษฐกิจหรือธุรกิจใด ๆ ก็ตาม หากผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจหรือกำลังเข้าสู่ธุรกิจ เป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพสูงหรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และได้รับทรัพยากรการผลิตไปดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ผู้เล่นที่ไร้ประสิทธิภาพมีอันต้องออกจากธุรกิจไป เศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมโดยรวมจะมีการเติบโตต่อไปได้ แนวคิดของการที่สิ่งใหม่เข้ามาทดแทนสิ่งเก่าในทางเศรษฐศาสตร์ได้ถูกนำเสนอมานานแล้วโดย Joseph Schumpeter ภายใต้นิยามของการ “ทำลายอย่างสร้างสรรค์” หรือ “Creative Destruction” อันถือเป็นกลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาตัวเองของระบบทุนนิยม

เพื่อวิเคราะห์พัฒนาการด้านการแข่งขันและการจัดสรรทรัพยากรในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา บทความนี้รวบรวมข้อมูลงบการเงินของบริษัทที่จดทะเบียนกว่า 700,000 บริษัทในช่วงปี 1999–2012 นำมาทำการศึกษาโดยใช้วิธีการจากส่วนหนึ่งในงานของ Ariyapruchya, Apaitan, and Amarase (2013) พร้อมกับปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัยมากขึ้น ข้อมูลชุดนี้สามารถให้ภาพสรุปของผู้ประกอบการไทยโดยรวมได้เนื่องจากมีความครอบคลุมบริษัทเป็นจำนวนมาก พร้อมกันนั้นยังสามารถให้รายละเอียดระดับย่อยในแต่ละสาขาธุรกิจ เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่อาจซ่อนอยู่ในบางส่วนของระบบเศรษฐกิจ

พื้นที่สำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก…ยิ่งเล็กลงทุกวัน

เป็นที่น่าสนใจว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่ในไทยมีการครอบครองตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการคำนวณขนาดของผู้ประกอบการโดยใช้มูลค่าสินทรัพย์เป็นเกณฑ์ รูปที่ 1 แสดงให้เห็นส่วนแบ่งรายได้ของผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นสัดส่วนระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ 5% แรกของแต่ละธุรกิจ1 เปรียบเทียบกับอีก 95% ที่เหลือ ข้อเท็จจริงในปี 2012 ชี้ว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ใน 5% แรกนั้น ครอบครองส่วนแบ่งรายได้ถึง 80% ในขณะที่ผู้ประกอบการอีก 95% ที่เหลือมีส่วนแบ่งรายได้เพียงประมาณ 20% เท่านั้น ที่สำคัญ สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงมาตลอดจากระดับประมาณ 60% ตั้งแต่ปี 1999 สะท้อนให้เห็นว่าตลาดกำลังกลายเป็นของผู้เล่นรายใหญ่

รูปที่ 1: ส่วนแบ่งรายได้ของผู้ประกอบการ (1999–2012)

ส่วนแบ่งรายได้ของผู้ประกอบการ (1999–2012)

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

หากมองลึกลงไปในระดับกลุ่มอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งรายได้ของผู้ประกอบการรายใหญ่ 5% แรกมีความแตกต่างกันไป (รูปที่ 2) และเป็นที่น่าสนใจว่า ธุรกิจค้าปลีกที่ถูกมองว่ามีการครอบงำโดยผู้เล่นรายใหญ่ มีการกระจุกตัวในระดับกลางเท่านั้น โดยอุตสาหกรรมที่มีการกระจุกตัวของส่วนแบ่งรายได้สูงสุดคือ กลุ่ม ‘ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร’

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์โดยอาศัยเพียงส่วนแบ่งรายได้ในแต่ละปี ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของผู้เล่นแต่ละราย และการเข้า-ออกจากธุรกิจ ซึ่งเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการรายเล็กในช่วงเริ่มต้นกิจการ สามารถมีผลประกอบการที่ดีจนกลายมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ใน 5% แรกได้ ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นรายใหญ่ก็อาจจะกลายเป็นรายเล็กได้หากไม่สามารถแข่งขันได้ หรือคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันมีการเติบโตที่ล้ำหน้ากว่า คำถามที่สำคัญคือ ทรัพยากรการผลิต ถูกจัดสรรให้แก่คนที่สมควรได้รับหรือไม่ และสร้างความเติบโตให้กับประสิทธิภาพของธุรกิจโดยรวมเพียงใด ซึ่งนำมาสู่การวิเคราะห์ในส่วนถัดไป

รูปที่ 2 ส่วนแบ่งรายได้ของผู้ประกอบการรายใหญ่แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรม (2012)

ส่วนแบ่งรายได้ของผู้ประกอบการรายใหญ่แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรม (2012)

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

อย่างไรจึงจะเรียกว่า…ทำลายอย่างสร้างสรรค์

เนื่องจากการจัดสรรทรัพยากรของภาคธุรกิจมิได้วัดจากการแข่งขันหรือการกระจุกตัวของรายได้เพียงมิติเดียว สิ่งที่น่าในใจอีกอย่างคือ ธุรกิจโดยรวมมีประสิทธิเพิ่มขึ้นจากการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมหรือไม่ บทความนี้วิเคราะห์ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจโดยอาศัยอัตราส่วนทางการเงินที่เรียกว่าอัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover) ซึ่งคำนวณจาก

img 2

ซึ่งหากมีค่าสูงจะสะท้อนว่าผู้ประกอบมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรการผลิต (สินทรัพย์) ในการก่อให้เกิดรายได้ (ยอดขาย) ซึ่งในการวิเคราะห์นี้จะแบ่งประเภทของผู้ประกอบการออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ที่อยู่ในธุรกิจตลอดระยะเวลาของการวิเคราะห์ กลุ่มผู้ที่เข้าสู่ธุรกิจระหว่างช่วงที่ทำการวิเคราะห์ และกลุ่มผู้ที่ออกจากธุรกิจก่อนถึงปีสุดท้ายของการวิเคราะห์ นอกจากนี้ ในช่วงการวิเคราะห์อาจมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งที่เข้าแล้วออกจากธุรกิจ ซึ่งจะถูกรวมในการคำนวณเช่นกัน

รูปที่ 3 ประสิทธิภาพการผลิตแยกตามกลุ่มผู้ประกอบการ (รวมทุกอุตสาหกรรม)

ประสิทธิภาพการผลิตแยกตามกลุ่มผู้ประกอบการ (รวมทุกอุตสาหกรรม)

หมายเหตุ: ขนาดของวงกลมแทนสัดส่วนสินทรัพย์โดยเปรียบเทียบที่ครอบครองโดยผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

รูปที่ 3 แสดงประสิทธิภาพเฉลี่ยของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มและประสิทธิภาพเฉลี่ยของทั้งเศรษฐกิจ ซึ่งคำนวณโดยการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักประสิทธิภาพของแต่ละบริษัทด้วยมูลค่าสินทรัพย์ ในขณะที่ขนาดของสัญลักษณ์วงกลมจะแสดงถึงสัดส่วนสินทรัพย์โดยเปรียบเทียบที่ครอบครองโดยผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่ม ดังนั้น หากกลุ่มผู้ประกอบการที่ครอบครองสินทรัพย์เป็นจำนวนมากเป็นผู้มีประสิทธิภาพสูง ก็จะยกระดับค่าเฉลี่ยของทั้งเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ข้อเท็จจริงในระหว่างปี 1999 ถึง 2012 ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยในภาพรวมมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น โดยมีอัตราหมุนเวียนสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 1.17 เป็น 1.42 ซึ่งเกิดจาก (1) ผู้ที่อยู่ในธุรกิจอยู่แล้วมีการพัฒนาตัวเองให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะได้รับผลกระทบบ้างในปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (2) ผู้ประกอบการที่เป็นผู้เล่นรายใหม่และเพิ่งเข้าสู่ธุรกิจ แม้จะมีประสิทธิภาพไม่ทัดเทียมกับผู้เล่นเดิม แต่ก็มีพัฒนาการที่ไล่ตามได้ทันกับผู้เล่นเดิมได้ในที่สุด รวมทั้งได้รับการจัดสรรทรัพยากรเพิ่มขึ้นอีกด้วย (3) ผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพต่ำหรือไม่สามารถพัฒนาได้ทัดเทียมรายอื่น ๆ ค่อย ๆ มีขนาดเล็กลงโดยเปรียบเทียบ และสุดท้ายต้องออกจากธุรกิจไปในที่สุด และถือเป็นการปลดปล่อยทรัพยากรการผลิตไปยังผู้ประกอบการอื่น ลักษณะดังข้อ (2) และ (3) ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจที่เรียกได้ว่ามีการ “ทำลายอย่างสร้างสรรค์” กล่าวคือ การเกิดขึ้นของผู้เล่นรายใหม่ซึ่งอาจมาพร้อมกับนวัตกรรมในการผลิต หรือทักษะการประกอบการที่ดีกว่า ถึงแม้จะต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาบ้าง แต่ในที่สุดจะทดแทนสิ่งเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพและทำให้ระบบโดยรวมดีขึ้นในที่สุด

นอกจากนี้ มิเพียงแต่การเข้าสู่ธุรกิจของผู้เล่นรายใหม่ หรือการออกจากธุรกิจของผู้เล่นรายเก่าเท่านั้นที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวม การถ่ายเททรัพยากรระหว่างผู้ที่อยู่ในธุรกิจด้วยกันอย่างเหมาะสมก็มีส่วนช่วยด้วยเช่นกัน เพื่อให้การวิเคราะห์ครอบคลุมรายละเอียดมากขึ้น บทความนี้ใช้วิธีของ Griliches and Regev (1995) เพื่อคำนวณที่มาของการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพการผลิต โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่

  • Within: การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพอันเกิดจากการพัฒนาภายในบริษัทเอง กล่าวคือ เป็นการพัฒนาประสิทธิภาพบนทรัพยากรที่บริษัทมีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น
  • Between: การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพอันเกิดจากการถ่ายเททรัพยากรระหว่างกันของบริษัทในอุตสาหกรรม กล่าวคือ หากบริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงได้รับทรัพยากรเพิ่มขึ้น ในขณะที่บริษัทที่ไร้ประสิทธิภาพปลอดปล่อยทรัพยากร ประสิทธิภาพโดยรวมจะเพิ่มขึ้น
  • Entry: การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพอันเกิดจากผู้เล่นรายใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจเป็นผู้มีประสิทธิภาพสูงมีโอกาสได้เข้ามาใช้ทรัพยากรการผลิต
  • Exit: การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพอันเกิดจากการออกจากธุรกิจของผู้เล่นที่มีประสิทธิภาพต่ำและเป็นการปลดปล่อยทรัพยากรการผลิต

ผลการคำนวณแสดงดังตารางที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์ทั้งระบบและแยกย่อยตามกลุ่มอุตสาหกรรม

ตารางที่ 1: การเปลี่ยนแปลงของประสิทธิภาพการผลิตและองค์ประกอบ (1999–2012)
หมวดธุรกิจWithinBetweenEntryExitTotal
เกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง0.210.09-0.060.090.33
การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน0.07-0.21-0.13-0.05-0.32
การผลิต0.140.080.250.080.55
ไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศ0.22-0.38-0.24-0.05-0.45
การจัดหาน้ำ การจัดการ และการบำบัดน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูล-0.13-0.20-0.23-0.02-0.40
การก่อสร้าง-0.020.110.040.080.20
การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์0.130.120.240.140.63
การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า-0.050.03-0.17-0.05-0.24
ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร0.110.000.00-0.010.10
ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร0.15-0.170.080.01-0.09
กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย-0.020.00-0.04-0.05-0.12
กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และเทคนิค-0.040.030.340.070.40
กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน-0.080.070.040.040.07
กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์0.370.000.100.010.48
ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ0.050.040.150.020.26
กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ0.000.100.12-0.020.20
รวม0.100.030.080.050.25
ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

ในภาพรวมจะเห็นได้ว่า การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพที่เกิดจากการจัดสรรทรัพยากร (Between Entry และ Exit) ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่หากมองในรายละเอียดจะพบว่ามีความแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม และเป็นที่น่าสังเกตว่า ธุรกิจในกลุ่ม ‘การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์’ ซึ่งมักถูกมองว่ามีการครอบงำตลาดโดยผู้เล่นรายใหญ่นั้น เป็นหมวดที่มีพัฒนาการสูงสุด อึกทั้งจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบสำคัญที่เป็นตัวผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพก็คือ Entry ซึ่งก็คือผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจนั่นเอง ในทางตรงกันข้าม เรากลับเห็นสัญญาณของปัญหาการจัดสรรทรัพยากรในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น ‘การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า’ ซึ่งมีการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ถูกต้อง ทำให้องค์ประกอบในส่วนของ Entry และ Exit มีค่าเป็นลบ

รูปที่ 4: เปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตแยกตามกลุ่มผู้ประกอบการ

เปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตแยกตามกลุ่มผู้ประกอบการ

img 6

หมายเหตุ: ขนาดของวงกลมแทนสัดส่วนสินทรัพย์โดยเปรียบเทียบที่ครอบครองโดยผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

รูปที่ 4 แสดงให้เห็นรายละเอียดพัฒนาการของผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่ม โดยเปรียบเทียบระหว่างหมวด ‘การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์’ และ ‘การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า’ จะเห็นได้ว่า ในอุตสาหกรรมแรกนั้น ยังคงพบเห็นลักษณะที่ดีของการจัดสรรทรัพยากร ได้แก่ ผู้เล่นรายใหม่พัฒนาอย่างรวดเร็วจนเหนือกว่ารายเก่า ส่วนผู้ที่ออกจากธุรกิจก็เป็นบริษัทที่ไม่สามารถก้าวตรมได้ทันรายอื่น ๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมที่สองกลับเป็นตรงกันข้าม โดยผู้ที่เข้ามาใหม่มีประสิทธิภาพต่ำแต่กลับได้รับทรัพยากรมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนผู้ที่ต้องออกจากธุรกิจกลับกลายเป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพสูง สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่ากระบวนการจัดสรรทรัพยากรที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นทั้งระบบ บางอุตสาหกรรมอาจต้องเผชิญข้อจำกัดหรือสภาวะที่ไม่เอื้อให้กระบวนการเกิดขึ้นได้

ข้อสรุป

แม้ว่าภาคธุรกิจไทยมีการกระจุกตัวมากขึ้นจากการครองตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ภาคธุรกิจโดยรวมมีการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยพบว่าผู้เล่นรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดสามารถเป็น “ยักษ์เล็ก” ที่ยกระดับตัวเองจนตามทันบรรดา “ยักษ์ใหญ่” ได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กระบวนการ “ทำลายอย่างสร้างสรรค์” ดำเนินไปได้และผลักดันประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ดำเนินนโยบายควรให้ความสนใจกับบางภาคส่วนของเศรษฐกิจที่กำลังมีสัญญาณของการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม และขจัดข้อจำกัดที่ทำให้เกิดสภาวะดังกล่าว

เอกสารอ้างอิง

Ariyapruchya, Kiatipong, Tosapol Apaitan, and Nakarin Amarase. 2013. “Thailand’s Quest for Economic Growth: From Factor Accumulation to Creative Destruction.” Bank of Thailand Discussion Paper 02/2013.

Griliches, Zvi, and Haim Regev. 1995. “Firm Productivity in Israeli Industry 1979–1988.” Journal of Econometrics 65(1): 175–203. doi:10.1016/0304–4076(94)01601-U.


  1. แบ่งหมวดธุรกิจตามรหัสมาตรฐานประเภทอุตสาหกรรมสากล (ISIC) ของสหประชาชาติในระดับ 2 หลัก↩
ทศพล อภัยทาน
ทศพล อภัยทาน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Topics: Productivity and Technological Change
Tags: creative destructionfirm dynamicsresource allocation
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email