ยักษ์เล็กไล่(ทัน)ยักษ์ใหญ่: การแข่งขัน การจัดสรรทรัพยากร และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจไทย
excerpt
พัฒนาการของผู้ประกอบการเป็นปัจจัยชี้วัดในระดับจุลภาคที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ บทความนี้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ประกอบการรายบริษัทในช่วงเวลากว่า 10 ปี เพื่อประเมินพลวัตของการแข่งขัน และการจัดสรรทรัพยากรที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ ข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่า กระบวนการ “ทำลายอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction)” ได้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจไทย และเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของเศรษฐกิจ
ในระบบเศรษฐกิจการเติบโตจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการจัดสรรทรัพยากรที่ดี โดยในระบบตลาดเสรี การแข่งขันถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยในการจัดสรรทรัพยากรการผลิต ทั้งทุนและแรงงาน ไปสู่ผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ ท่ามกลางการแข่งขันในปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกของไทยมักถูกกล่าวถึงอยู่เสมอว่าเป็นตัวอย่างของการเข้ามาครอบงำตลาดของผู้เล่นรายใหญ่ พร้อมกับการล้มหายตายจากของผู้เล่นรายเล็ก ๆ ด้านหนึ่ง เราพบว่าผู้เล่นรายใหญ่มักมีความพร้อมและความก้าวหน้าในธุรกิจที่ประกอบการอยู่ และเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม แต่ในอีกด้านหนึ่ง เรากลับได้ยินอยู่บ่อย ๆ ถึงการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเป็นความหวังของการเติบโตในอนาคต จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ที่ผ่านมา ใครเป็นผู้สร้างความเติบโตให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ การแข่งขันและจัดสรรทรัพยากรการผลิตในภาคธุรกิจไทยเป็นอย่างไร
ประเทศไทยค่อนข้างประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต จากประเทศที่ทำการเกษตรเป็นหลักไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม ในช่วงสองถึงสามทศวรรษก่อน ได้เกิดการโยกย้ายทรัพยากรการผลิตขนานใหญ่จากภาคเกษตรไปสู่อุตสาหกรรม อันเป็นภาคการผลิตที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เมื่อแรงงานและทุนได้เข้าไปอยู่ในภาคการผลิตที่มีผลิตภาพสูงอย่างภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจจึงเติบโตได้อย่างรวดเร็วจนครั้งหนึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทว่า เรื่องราวแห่งความสำเร็จกลับไม่ได้ดำเนินต่อเนื่องมาในทศวรรษหลัง การโยกย้ายทรัพยากรการผลิตโดยเฉพาะแรงงานอาจถึงจุดอิ่มตัว อันจะเห็นได้จากสัดส่วนแรงงานในภาคการผลิตต่าง ๆ ค่อนข้างอยู่ในระดับคงที่มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตในระดับมหภาคอย่างชัดเจนดังที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจัดสรรทรัพยากรยังดำเนินไปภายในภาคการผลิตนั้น ๆ เอง กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาค โดยเป็นการโยกย้ายทรัพยากรระหว่างผู้ประกอบการภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาครอบครองทรัพยากร และการหายไปของผู้ประกอบการรายเก่าซึ่งย่อมหมายถึงการถ่ายเททรัพยากรไปยังผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ดังนั้นในระบบเศรษฐกิจหรือธุรกิจใด ๆ ก็ตาม หากผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจหรือกำลังเข้าสู่ธุรกิจ เป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพสูงหรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และได้รับทรัพยากรการผลิตไปดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ผู้เล่นที่ไร้ประสิทธิภาพมีอันต้องออกจากธุรกิจไป เศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมโดยรวมจะมีการเติบโตต่อไปได้ แนวคิดของการที่สิ่งใหม่เข้ามาทดแทนสิ่งเก่าในทางเศรษฐศาสตร์ได้ถูกนำเสนอมานานแล้วโดย Joseph Schumpeter ภายใต้นิยามของการ “ทำลายอย่างสร้างสรรค์” หรือ “Creative Destruction” อันถือเป็นกลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาตัวเองของระบบทุนนิยม
เพื่อวิเคราะห์พัฒนาการด้านการแข่งขันและการจัดสรรทรัพยากรในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา บทความนี้รวบรวมข้อมูลงบการเงินของบริษัทที่จดทะเบียนกว่า 700,000 บริษัทในช่วงปี 1999–2012 นำมาทำการศึกษาโดยใช้วิธีการจากส่วนหนึ่งในงานของ Ariyapruchya, Apaitan, and Amarase (2013) พร้อมกับปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัยมากขึ้น ข้อมูลชุดนี้สามารถให้ภาพสรุปของผู้ประกอบการไทยโดยรวมได้เนื่องจากมีความครอบคลุมบริษัทเป็นจำนวนมาก พร้อมกันนั้นยังสามารถให้รายละเอียดระดับย่อยในแต่ละสาขาธุรกิจ เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่อาจซ่อนอยู่ในบางส่วนของระบบเศรษฐกิจ
เป็นที่น่าสนใจว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่ในไทยมีการครอบครองตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการคำนวณขนาดของผู้ประกอบการโดยใช้มูลค่าสินทรัพย์เป็นเกณฑ์ รูปที่ 1 แสดงให้เห็นส่วนแบ่งรายได้ของผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นสัดส่วนระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ 5% แรกของแต่ละธุรกิจ1 เปรียบเทียบกับอีก 95% ที่เหลือ ข้อเท็จจริงในปี 2012 ชี้ว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ใน 5% แรกนั้น ครอบครองส่วนแบ่งรายได้ถึง 80% ในขณะที่ผู้ประกอบการอีก 95% ที่เหลือมีส่วนแบ่งรายได้เพียงประมาณ 20% เท่านั้น ที่สำคัญ สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงมาตลอดจากระดับประมาณ 60% ตั้งแต่ปี 1999 สะท้อนให้เห็นว่าตลาดกำลังกลายเป็นของผู้เล่นรายใหญ่
หากมองลึกลงไปในระดับกลุ่มอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งรายได้ของผู้ประกอบการรายใหญ่ 5% แรกมีความแตกต่างกันไป (รูปที่ 2) และเป็นที่น่าสนใจว่า ธุรกิจค้าปลีกที่ถูกมองว่ามีการครอบงำโดยผู้เล่นรายใหญ่ มีการกระจุกตัวในระดับกลางเท่านั้น โดยอุตสาหกรรมที่มีการกระจุกตัวของส่วนแบ่งรายได้สูงสุดคือ กลุ่ม ‘ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร’
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์โดยอาศัยเพียงส่วนแบ่งรายได้ในแต่ละปี ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของผู้เล่นแต่ละราย และการเข้า-ออกจากธุรกิจ ซึ่งเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการรายเล็กในช่วงเริ่มต้นกิจการ สามารถมีผลประกอบการที่ดีจนกลายมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ใน 5% แรกได้ ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นรายใหญ่ก็อาจจะกลายเป็นรายเล็กได้หากไม่สามารถแข่งขันได้ หรือคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันมีการเติบโตที่ล้ำหน้ากว่า คำถามที่สำคัญคือ ทรัพยากรการผลิต ถูกจัดสรรให้แก่คนที่สมควรได้รับหรือไม่ และสร้างความเติบโตให้กับประสิทธิภาพของธุรกิจโดยรวมเพียงใด ซึ่งนำมาสู่การวิเคราะห์ในส่วนถัดไป
เนื่องจากการจัดสรรทรัพยากรของภาคธุรกิจมิได้วัดจากการแข่งขันหรือการกระจุกตัวของรายได้เพียงมิติเดียว สิ่งที่น่าในใจอีกอย่างคือ ธุรกิจโดยรวมมีประสิทธิเพิ่มขึ้นจากการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมหรือไม่ บทความนี้วิเคราะห์ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจโดยอาศัยอัตราส่วนทางการเงินที่เรียกว่าอัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover) ซึ่งคำนวณจาก
ซึ่งหากมีค่าสูงจะสะท้อนว่าผู้ประกอบมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรการผลิต (สินทรัพย์) ในการก่อให้เกิดรายได้ (ยอดขาย) ซึ่งในการวิเคราะห์นี้จะแบ่งประเภทของผู้ประกอบการออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ที่อยู่ในธุรกิจตลอดระยะเวลาของการวิเคราะห์ กลุ่มผู้ที่เข้าสู่ธุรกิจระหว่างช่วงที่ทำการวิเคราะห์ และกลุ่มผู้ที่ออกจากธุรกิจก่อนถึงปีสุดท้ายของการวิเคราะห์ นอกจากนี้ ในช่วงการวิเคราะห์อาจมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งที่เข้าแล้วออกจากธุรกิจ ซึ่งจะถูกรวมในการคำนวณเช่นกัน
รูปที่ 3 แสดงประสิทธิภาพเฉลี่ยของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มและประสิทธิภาพเฉลี่ยของทั้งเศรษฐกิจ ซึ่งคำนวณโดยการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักประสิทธิภาพของแต่ละบริษัทด้วยมูลค่าสินทรัพย์ ในขณะที่ขนาดของสัญลักษณ์วงกลมจะแสดงถึงสัดส่วนสินทรัพย์โดยเปรียบเทียบที่ครอบครองโดยผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่ม ดังนั้น หากกลุ่มผู้ประกอบการที่ครอบครองสินทรัพย์เป็นจำนวนมากเป็นผู้มีประสิทธิภาพสูง ก็จะยกระดับค่าเฉลี่ยของทั้งเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ข้อเท็จจริงในระหว่างปี 1999 ถึง 2012 ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยในภาพรวมมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น โดยมีอัตราหมุนเวียนสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 1.17 เป็น 1.42 ซึ่งเกิดจาก (1) ผู้ที่อยู่ในธุรกิจอยู่แล้วมีการพัฒนาตัวเองให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะได้รับผลกระทบบ้างในปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (2) ผู้ประกอบการที่เป็นผู้เล่นรายใหม่และเพิ่งเข้าสู่ธุรกิจ แม้จะมีประสิทธิภาพไม่ทัดเทียมกับผู้เล่นเดิม แต่ก็มีพัฒนาการที่ไล่ตามได้ทันกับผู้เล่นเดิมได้ในที่สุด รวมทั้งได้รับการจัดสรรทรัพยากรเพิ่มขึ้นอีกด้วย (3) ผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพต่ำหรือไม่สามารถพัฒนาได้ทัดเทียมรายอื่น ๆ ค่อย ๆ มีขนาดเล็กลงโดยเปรียบเทียบ และสุดท้ายต้องออกจากธุรกิจไปในที่สุด และถือเป็นการปลดปล่อยทรัพยากรการผลิตไปยังผู้ประกอบการอื่น ลักษณะดังข้อ (2) และ (3) ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจที่เรียกได้ว่ามีการ “ทำลายอย่างสร้างสรรค์” กล่าวคือ การเกิดขึ้นของผู้เล่นรายใหม่ซึ่งอาจมาพร้อมกับนวัตกรรมในการผลิต หรือทักษะการประกอบการที่ดีกว่า ถึงแม้จะต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาบ้าง แต่ในที่สุดจะทดแทนสิ่งเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพและทำให้ระบบโดยรวมดีขึ้นในที่สุด
นอกจากนี้ มิเพียงแต่การเข้าสู่ธุรกิจของผู้เล่นรายใหม่ หรือการออกจากธุรกิจของผู้เล่นรายเก่าเท่านั้นที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวม การถ่ายเททรัพยากรระหว่างผู้ที่อยู่ในธุรกิจด้วยกันอย่างเหมาะสมก็มีส่วนช่วยด้วยเช่นกัน เพื่อให้การวิเคราะห์ครอบคลุมรายละเอียดมากขึ้น บทความนี้ใช้วิธีของ Griliches and Regev (1995) เพื่อคำนวณที่มาของการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพการผลิต โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่
- Within: การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพอันเกิดจากการพัฒนาภายในบริษัทเอง กล่าวคือ เป็นการพัฒนาประสิทธิภาพบนทรัพยากรที่บริษัทมีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น
- Between: การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพอันเกิดจากการถ่ายเททรัพยากรระหว่างกันของบริษัทในอุตสาหกรรม กล่าวคือ หากบริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงได้รับทรัพยากรเพิ่มขึ้น ในขณะที่บริษัทที่ไร้ประสิทธิภาพปลอดปล่อยทรัพยากร ประสิทธิภาพโดยรวมจะเพิ่มขึ้น
- Entry: การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพอันเกิดจากผู้เล่นรายใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจเป็นผู้มีประสิทธิภาพสูงมีโอกาสได้เข้ามาใช้ทรัพยากรการผลิต
- Exit: การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพอันเกิดจากการออกจากธุรกิจของผู้เล่นที่มีประสิทธิภาพต่ำและเป็นการปลดปล่อยทรัพยากรการผลิต
ผลการคำนวณแสดงดังตารางที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์ทั้งระบบและแยกย่อยตามกลุ่มอุตสาหกรรม
หมวดธุรกิจ | Within | Between | Entry | Exit | Total |
---|---|---|---|---|---|
เกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง | 0.21 | 0.09 | -0.06 | 0.09 | 0.33 |
การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน | 0.07 | -0.21 | -0.13 | -0.05 | -0.32 |
การผลิต | 0.14 | 0.08 | 0.25 | 0.08 | 0.55 |
ไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศ | 0.22 | -0.38 | -0.24 | -0.05 | -0.45 |
การจัดหาน้ำ การจัดการ และการบำบัดน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูล | -0.13 | -0.20 | -0.23 | -0.02 | -0.40 |
การก่อสร้าง | -0.02 | 0.11 | 0.04 | 0.08 | 0.20 |
การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ | 0.13 | 0.12 | 0.24 | 0.14 | 0.63 |
การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า | -0.05 | 0.03 | -0.17 | -0.05 | -0.24 |
ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร | 0.11 | 0.00 | 0.00 | -0.01 | 0.10 |
ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร | 0.15 | -0.17 | 0.08 | 0.01 | -0.09 |
กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย | -0.02 | 0.00 | -0.04 | -0.05 | -0.12 |
กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และเทคนิค | -0.04 | 0.03 | 0.34 | 0.07 | 0.40 |
กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน | -0.08 | 0.07 | 0.04 | 0.04 | 0.07 |
กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ | 0.37 | 0.00 | 0.10 | 0.01 | 0.48 |
ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ | 0.05 | 0.04 | 0.15 | 0.02 | 0.26 |
กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ | 0.00 | 0.10 | 0.12 | -0.02 | 0.20 |
รวม | 0.10 | 0.03 | 0.08 | 0.05 | 0.25 |
ในภาพรวมจะเห็นได้ว่า การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพที่เกิดจากการจัดสรรทรัพยากร (Between Entry และ Exit) ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่หากมองในรายละเอียดจะพบว่ามีความแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม และเป็นที่น่าสังเกตว่า ธุรกิจในกลุ่ม ‘การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์’ ซึ่งมักถูกมองว่ามีการครอบงำตลาดโดยผู้เล่นรายใหญ่นั้น เป็นหมวดที่มีพัฒนาการสูงสุด อึกทั้งจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบสำคัญที่เป็นตัวผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพก็คือ Entry ซึ่งก็คือผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจนั่นเอง ในทางตรงกันข้าม เรากลับเห็นสัญญาณของปัญหาการจัดสรรทรัพยากรในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น ‘การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า’ ซึ่งมีการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ถูกต้อง ทำให้องค์ประกอบในส่วนของ Entry และ Exit มีค่าเป็นลบ
รูปที่ 4 แสดงให้เห็นรายละเอียดพัฒนาการของผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่ม โดยเปรียบเทียบระหว่างหมวด ‘การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์’ และ ‘การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า’ จะเห็นได้ว่า ในอุตสาหกรรมแรกนั้น ยังคงพบเห็นลักษณะที่ดีของการจัดสรรทรัพยากร ได้แก่ ผู้เล่นรายใหม่พัฒนาอย่างรวดเร็วจนเหนือกว่ารายเก่า ส่วนผู้ที่ออกจากธุรกิจก็เป็นบริษัทที่ไม่สามารถก้าวตรมได้ทันรายอื่น ๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมที่สองกลับเป็นตรงกันข้าม โดยผู้ที่เข้ามาใหม่มีประสิทธิภาพต่ำแต่กลับได้รับทรัพยากรมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนผู้ที่ต้องออกจากธุรกิจกลับกลายเป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพสูง สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่ากระบวนการจัดสรรทรัพยากรที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นทั้งระบบ บางอุตสาหกรรมอาจต้องเผชิญข้อจำกัดหรือสภาวะที่ไม่เอื้อให้กระบวนการเกิดขึ้นได้
แม้ว่าภาคธุรกิจไทยมีการกระจุกตัวมากขึ้นจากการครองตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ภาคธุรกิจโดยรวมมีการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยพบว่าผู้เล่นรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดสามารถเป็น “ยักษ์เล็ก” ที่ยกระดับตัวเองจนตามทันบรรดา “ยักษ์ใหญ่” ได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กระบวนการ “ทำลายอย่างสร้างสรรค์” ดำเนินไปได้และผลักดันประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ดำเนินนโยบายควรให้ความสนใจกับบางภาคส่วนของเศรษฐกิจที่กำลังมีสัญญาณของการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม และขจัดข้อจำกัดที่ทำให้เกิดสภาวะดังกล่าว
Ariyapruchya, Kiatipong, Tosapol Apaitan, and Nakarin Amarase. 2013. “Thailand’s Quest for Economic Growth: From Factor Accumulation to Creative Destruction.” Bank of Thailand Discussion Paper 02/2013.
Griliches, Zvi, and Haim Regev. 1995. “Firm Productivity in Israeli Industry 1979–1988.” Journal of Econometrics 65(1): 175–203. doi:10.1016/0304–4076(94)01601-U.
- แบ่งหมวดธุรกิจตามรหัสมาตรฐานประเภทอุตสาหกรรมสากล (ISIC) ของสหประชาชาติในระดับ 2 หลัก↩