พลวัตเงินเฟ้อภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์

excerpt
บทความนี้ต้องการศึกษาว่า ผลกระทบของกระแสโลกาภิวัฒน์มีบทบาทมากน้อยเพียงใดในการกำหนดทิศทางเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ โดยพัฒนาวิธีทางเศรษฐมิติที่สามารถวัดผลกระทบของโลกาภิวัฒน์ผ่านช่องว่างการผลิตโลก ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ช่องว่างการผลิตโลกมีความสำคัญในการอธิบายพลวัตเงินเฟ้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีการเปิดตัวทางการค้าสูง ดังนั้น ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทวีสูงขึ้น ธนาคารกลางจึงควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ ในโลกให้มากขึ้นในการที่จะกำหนดนโยบายการเงินให้มีประสิทธิภาพ
นับตั้งแต่ปี 2000 เงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ ประการแรกคือเงินเฟ้อในหลายประเทศได้อยู่ในระดับต่ำและผันผวนน้อยลง ดังแสดงในภาพที่ 1 เงินเฟ้อไทยก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ที่ระดับ 4.5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 1985–2000 และได้ลดลงเหลือ 2.5 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2000 มาจนถึงปัจจุบัน ประการที่สองคือ ปัจจัยทางด้านอุปสงค์ภายในประเทศหรือปัจจัยทางวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) ไม่ได้ส่งผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ มากหากเทียบกับในช่วงก่อนหน้า
การที่เงินเฟ้อในหลาย ๆ ประเทศเหล่านี้มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายคลึงกัน สอดคล้องกับงานศึกษาหลายชิ้นที่พบว่าในช่วงที่ผ่านมา เงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาของ Wang and Wen (2015) ที่พบว่าค่าเฉลี่ยของความสัมพันธ์ทางสถิติของเงินเฟ้อทั่วไปในกลุ่มประเทศ G7 สูงถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ในทำนองเดียวกัน Cicarelli and Mojon (2007) ได้ชี้ให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศ OECD สามารถอธิบายความผันผวนของเงินเฟ้อในประเทศเหล่านี้ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันของภาวะเงินเฟ้อในแต่ละประเทศรวมทั้งไทย จึงไม่น่าจะขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายการเงินและปัจจัยภายในประเทศเท่านั้น แต่อาจขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกประเทศที่สะท้อน “กระแสโลกาภิวัฒน์”
บทความนี้มีความต้องการวิเคราะห์ผลกระทบของกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีต่อเงินเฟ้อโดยการวิเคราะห์บทบาทของช่องว่างการผลิตโลกต่อทิศทางของเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ช่องทางในการส่งผ่านของกระแสโลกาภิวัฒน์ต่อเงินเฟ้อ รวมทั้งพิจารณาว่าผลกระทบของโลกาภิวัฒน์ที่อาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศนั้นขึ้นอยู่กับระดับการเปิดทางการค้าหรือไม่ ซึ่งการทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้ธนาคารกลางสามารถกำหนดนโยบายการเงินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โลกาภิวัฒน์เป็นปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงกันของโลกมากขึ้นทั้งในแง่การผลิต การค้า และการเคลื่อนย้ายแรงงานและเงินทุน ในช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา กระแสโลกาภิวัฒน์ได้ทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศกำลังเกิดใหม่ เช่นประเทศจีน ได้ก้าวเข้ามาในเวทีการค้าโลก โดยหากพิจารณาจากข้อมูลทางการค้าซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมโยงกันของโลก ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 10 ปี ของอัตราการขยายตัวของการค้าโลกจะสูงกว่าอัตราการขยายตัวของผลผลิตโลกถึง 2.4 เท่าในปี 2000 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าในช่วงอื่น ๆ
ในการวิเคราะห์ผลกระทบของกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีต่อเงินเฟ้อ งานศึกษาเชิงประจักษ์มักวัดผลกระทบเหล่านี้ผ่านตัวแปรช่องว่างการผลิตโลก (Global Output Gap) ซึ่งคือส่วนต่างของผลผลิตโลกที่แท้จริง กับผลผลิตศักยภาพของโลก ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตที่แท้จริงขยายตัวสูงขึ้นอาจมาจากการขยายตัวที่รวดเร็วของอุปสงค์ในประเทศกำลังพัฒนาที่สืบเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์ ส่วนปัจจัยที่สามารถเพิ่มผลผลิตศักยภาพของโลก ได้แก่ การเพิ่มของอุปทานทางด้านแรงงานจากประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศจีนและอินเดีย หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศต่าง ๆ จากการแลกเปลี่ยนหรือถ่ายเทเทคโนโลยีที่มีอัตราเร่งสูงขึ้น เป็นต้น ตามหลักทฤษฏีแล้ว เงินเฟ้อควรมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับช่องว่างการผลิตโลก กล่าวคือ เมื่อผลผลิตของโลกอยู่ต่ำกว่าศักยภาพ การใช้ทรัพยากรยังเป็นไปอย่างไม่เต็มที่ ดังนั้นความยืดหยุ่น หรือ slack ที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกจะจำกัดแรงกดดันต่อราคาสินค้าภายในประเทศ
แม้ว่าแนวความคิดเกี่ยวกับการวัดผลของกระแสโลกาภิวัฒน์ผ่านช่องว่างการผลิตโลกจะเป็นที่ยอมรับระดับหนึ่ง แต่ผลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับบทบาทของช่องว่างการผลิตโลกต่อเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจน และยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่ เช่นในงานศึกษาของ IMF (2006, 2013) Borio and Filardo (2007) และ Ihrig et al. (2010) เป็นต้น ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้ผลเชิงประจักษ์ในแต่ละงานศึกษานั้นไม่สอดคล้องกันเป็นเพราะการวัดค่าของตัวแปรช่องว่างการผลิตโลกมีความแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน ในส่วนแรกเกี่ยวกับการคำนวณผลผลิตที่แท้จริงของโลกว่าควรประกอบด้วยประเทศอะไรบ้าง และแต่ละประเทศควรมีความสำคัญมากน้อยเพียงใดในค่ารวม ในงานศึกษาที่ผ่านมา ประเทศที่นำมาศึกษามักเป็นเพียงประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งการวัดความสำคัญของแต่ละประเทศในผลผลิตรวมของโลกก็แตกต่างกันไปในแต่ละงานศึกษา โดยอาจขึ้นอยู่กับสัดส่วนผลผลิตที่แท้จริง หรือสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกสินค้า เป็นต้น
ในส่วนที่สอง วิธีการวัดตัวแปรผลผลิตศักยภาพซึ่งเป็นตัวแปรที่ไม่สามารถวัดได้โดยตรง (Latent Variable) มีได้หลากหลายเช่นกัน ในงานศึกษาที่ผ่านมา นักวิจัยมักใช้เครื่องมือ HP-Filter ซึ่งเป็นวิธีการทางสถิติ มาใช้ในการประมาณค่าหรือ “สกัด” ความเคลื่อนไหวของผลผลิตศักยภาพออกมาจากผลผลิตที่แท้จริง แต่วิธีการนี้มีข้อจำกัดตรงที่ว่า ค่าผลผลิตศักยภาพที่ประมาณได้จะขึ้นอยู่กับข้อสมมติฐานที่จำกัดให้ผลผลิตศักยภาพมีความเคลื่อนไหวที่ผันผวนน้อย (Smoothness Assumption) นอกจากนี้ วิธีการนี้ยังให้ผลที่ค่อนข้างคลาดเคลื่อนโดยเฉพาะค่าตอนต้นและค่าตอนท้ายของค่าที่วัดได้ (End-Point Problem)
บทความนี้ ได้นำวิธีการประมาณค่าแบบจำลองของ Manopimoke (2014) มาใช้เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีต่อเงินเฟ้อ ทั้งนี้แบบจำลองในการศึกษาถูกพัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงปัญหาทั้งสองเกี่ยวกับการวัดค่าของตัวแปรช่องว่างการผลิตโลก ในการจัดการกับปัญหาแรกผู้วิจัยได้ขยายจำนวนประเทศที่ใช้ในการศึกษาให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มประเทศ G7 และกลุ่มประเทศ EMEAP1 ซึ่งประกอบด้วยประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น ค่าประมาณของช่องว่างการผลิตโลกที่ได้มาโดยวิธีนี้จะแตกต่างกับงานศึกษาส่วนใหญ่เพราะจะสะท้อนถึงระดับการใช้ทรัพยากรในประเทศกำลังเกิดใหม่ด้วย ซึ่งน่าจะมีความสำคัญไม่น้อยในการวิเคราะห์ผลกระทบของกระแสโลกาภิวัฒน์ต่อเงินเฟ้อ
สำหรับปัญหาที่สอง งานวิจัยของ Manopimoke (2014) ได้เสนอวิธีใหม่เพื่อวัดค่าตัวแปรช่องว่างการผลิตโลกโดยการพัฒนาแบบจำลอง Unobserved Components Model ที่อิงกับทฤษฎีเงินเฟ้อ Open Economy New Keynesian Phillips Curve ข้อได้เปรียบของแบบจำลองนี้คือความสามารถในการประมาณค่าหรือสกัดค่าของตัวแปรที่วัดไม่ได้โดยตรงออกมาจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ตามหลักทฤษฎี ดังนั้น ช่องว่างการผลิตโลกที่ประมาณค่ามาได้จากวิธีการนี้จึงไม่ใช่เพียงค่าที่วัดได้ทางสถิติที่ใช้กันอยู่ในงานศึกษาที่ผ่านมา แต่เป็นค่าประมาณของช่องว่างการผลิตโลกที่มีความสอดคล้องกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์
เพื่อศึกษาว่าผลกระทบของโลกาภิวัฒน์มีผลต่อเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ หรือไม่ และความเชื่อมโยงกันของโลกที่เพิ่มขึ้นหลังปี 2000 จะมีผลอย่างไรต่อเงินเฟ้อในแต่ละประเทศ บทความนี้ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงปี 1990–2013 และช่วงปี 2000–2013 ข้อมูลที่ใช้ในงานศึกษาเป็นข้อมูลของตัวแปรที่วัดค่าได้ในแต่ละประเทศ คือข้อมูลรายไตรมาสของเงินเฟ้อทั่วไป และผลผลิตที่ปรับความแตกต่างของค่าเงินและอำนาจซื้อแล้ว (PPP-Adjusted GDP)
จากผลศึกษาเชิงประจักษ์พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อและช่องว่างการผลิตโลกนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันตามหลักทฤษฎี และยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของเงินเฟ้อในเกือบทุกประเทศ นอกจากนี้หากพิจารณาจากทิศทางของลูกศรในภาพที่ 2 ซึ่งสะท้อนค่าสัมประสิทธิ์ของช่องว่างการผลิตโลกต่อเงินเฟ้อที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงปี 1990–2013 ไปยังช่วงปี 2000–2013 จะเห็นได้ว่าบทบาทของช่องว่างการผลิตโลกนั้นได้เพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมากในช่วงหลัง โดยเฉพาะในประเทศเกาหลี มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กระแสโลกาภิวัฒน์ได้เร่งตัวสูงขึ้น ดังนั้น กระแสโลกาภิวัฒน์ในช่วงปี 2000 น่าจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น
ตามหลักทฤษฏี กระแสโลกาภิวัฒน์อาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อได้ผ่านหลาย ๆ ช่องทาง ในบทความนี้ผู้เขียนได้แยกวิเคราะห์ช่องทางเหล่านี้เป็น 2 ประเภท คือ ช่องทางตรง และ ช่องทางอ้อม สำหรับช่องทางตรง การที่ประเทศกำลังเกิดใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดการค้าโลกมากขึ้น ราคาสินค้านำเข้าทั่วโลกอาจลดลง เนื่องด้วยประเทศเหล่านี้มีราคาและต้นทุนผลิตสินค้าที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม กระแสโลกาภิวัฒน์ที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อผ่านช่องทางสินค้านำเข้านี้อาจไม่ทำให้เงินเฟ้อต่ำลงเสมอไป เพราะโลกาภิวัฒน์อาจมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าโภคภัณฑ์โลกจากประเทศที่กำลังขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้เงินเฟ้อโลกสูงขึ้น ทั้งนี้ การที่ประเทศต่าง ๆ มีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น (Trade Intensity) ประกอบกับมีความเชื่อมโยงที่สูงขึ้นจากการอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน ผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศเหล่านี้ยังสามารถแพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น
สำหรับช่องทางอ้อม ความเชื่อมโยงกันของประเทศต่าง ๆ อาจมีส่วนทำให้เงินเฟ้อโลกต่ำ เพราะการเปิดการค้าเสรีย่อมกระตุ้นการแข่งขัน ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันให้ผู้ผลิตลดราคาสินค้าตนเองเพื่อรักษาส่วนแบ่งของตลาด นอกจากนี้ การที่ตลาดมีการเปิดเสรีมากขึ้น อาจเป็นแรงจูงใจให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี การแบ่งงานกันทำตามความถนัด (Specialization) หรือการย้ายฐานการผลิตเพื่อแสวงหาปัจจัยการผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่า
เพื่อแยกแยะระหว่างช่องทางตรงกับช่องทางอ้อม บทความนี้ได้นำข้อมูลของตัวแปรที่อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อในช่องทางตรง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้านำเข้า ราคาน้ำมันโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก และอัตราแลกเปลี่ยน มาไว้อยู่ในแบบจำลองเงินเฟ้อ หากการเพิ่มตัวแปรเหล่านี้ทำให้บทบาทของช่องว่างการผลิตโลกต่อเงินเฟ้อหมดความสำคัญลงไป นั่นหมายความว่า ผลกระทบของโลกาภิวัฒน์ต่อเงินเฟ้อมีความสำคัญผ่านช่องทางตรงของสินค้านำเข้าเท่านั้น ในทางกลับกัน หากการเพิ่มตัวแปรเหล่านี้เข้าไปในแบบจำลองไม่ได้บั่นทอนบทบาทของตัวแปรช่องว่างการผลิตโลก นั่นหมายความว่า ความสำคัญของโลกาภิวัฒน์ต่อเงินเฟ้อ น่าจะมาจากผลทางอ้อมของกระแสโลกาภิวัฒน์มากกว่า ผ่านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเนื่องมาจากการถ่ายเทแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เป็นต้น
จากผลการศึกษา ผู้วิจัยพบว่าผลกระทบของโลกาภิวัฒน์ที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในช่องทางตรงมีบทบาทน้อยมากในการอธิบายพลวัตเงินเฟ้อทั้งในช่วง 1990–2013 และ 2000–2013 และการเพิ่มตัวแปรเหล่านี้เข้าไปในแบบจำลองก็ไม่ได้มีส่วนไปลดบทบาทของตัวแปรช่องว่างการผลิตโลกแต่อย่างใด ซึ่งเป็นผลที่บ่งชี้ว่า ผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์ต่อเงินเฟ้อนั้นมาจากช่องทางอ้อมเป็นหลัก
การที่ผลกระทบทางตรงของโลกาภิวัฒน์ไม่ค่อยมีความสำคัญต่อเงินเฟ้อ อาจสะท้อนความหนืดของผู้ประกอบการในการปรับราคาสินค้าตนเองเมื่อต้นทุนเปลี่ยนเพื่อรักษาส่วนแบ่งของตลาด นอกจากนี้ การที่บทความนี้พบว่าเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ไม่ได้ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก เป็นผลที่สอดคล้องกับงานศึกษาอื่น ๆ เช่น งานวิจัยของ Takhatamanova (2010) ที่พบว่าการส่งผ่านของอัตราแลกเปลี่ยนในหลายประเทศนั้นได้ลดลงไปอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจสะท้อนว่าประเทศเหล่านี้ได้มีการกำหนดราคาสินค้าที่ทำการส่งออกจากประเทศผู้ผลิตไปยังประเทศปลายทางในสกุลเงินของประเทศปลายทาง (Local Currency Pricing) ซึ่งทำให้ราคาของสินค้านำเข้าในสกุลเงินของประเทศปลายทางไม่ได้ถูกผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก
จากผลการศึกษาในช่วงก่อนหน้า บทบาทของโลกาภิวัฒน์ที่วัดผ่านตัวแปรช่องว่างการผลิตโลกมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของเงินเฟ้อเป็นอย่างสูง หากแต่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งความแตกต่างนี้อาจขึ้นอยู่ได้กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ระดับการพัฒนาของประเทศ ประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือระดับการเปิดทาง
หากพิจารณาจากภาพที่ 2 อีกครั้ง จะเห็นได้ว่าขนาดของความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อและช่องว่างการผลิตโลกในหลาย ๆ ประเทศนั้นได้เพิ่มสูงขึ้นหลังปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีความเชื่อมโยงกันทางการค้ามากขึ้น ดังนั้น ขนาดของผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัฒน์ต่อเงินเฟ้อในแต่ละประเทศนั้นจึงน่าจะขึ้นอยู่กับระดับการเปิดทางด้านการค้า (Degree of Openness) ซึ่งคำนวณได้จากสัดส่วนของการค้าต่อผลผลิต (Trade to GDP)
ภาพที่ 3 แสดงให้เห็นว่า บทบาทของช่องว่างการผลิตโลกที่มีต่อเงินเฟ้อมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับสัดส่วนของการค้าต่อผลผลิตของแต่ละประเทศทั้งในช่วงปี 1990–2013 และ 2000–2013 นอกจากนี้ ความสามารถของระดับการเปิดทางการค้าในการอธิบายบทบาทของช่องว่างการผลิตโลกต่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลังปี 2000 สะท้อนผ่าน Regression line ที่ชันขึ้นและค่า R-squared2 ที่สูงกว่า
กระแสโลกาภิวัฒน์ที่เร่งตัวมากขึ้นในช่วงปี 2000 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับช่องว่างการผลิตโลกมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วโลกมีลักษณะที่คล้ายคลึงและเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น การดำเนินนโยบายการเงินในโลกที่เชื่อมโยงจึงมีความท้าทาย และจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของโลกาภิวัฒน์ต่อเงินเฟ้อให้ดียิ่งขึ้น เพราะจะช่วยในการตอบโจทย์สำคัญ ๆ เชิงนโยบายการเงิน เช่น หากเงินเฟ้อในประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกประเทศมากขึ้น กระแสโลกาภิวัฒน์จะลดประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินภายในประเทศหรือไม่ และบทบาทของธนาคารกลางเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสมในโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นนั้นควรจะเป็นอย่างไร
Borio, Claudio, and Andrew Filardo. 2007. “Globalisation and Inflation: New Cross-Country Evidence on the Global Determinants of Domestic Inflation.” BIS Working Paper No. 227.
Ciccarelli, Matteo and Benoit Mojon. 2010. “Global inflation. ” The Review of Economics and Statistics 92(3), 524–535.
Ihrig, Jane, Steven B. Kamin, Deborah Lindner and Jaime Marquez. 2010. “Some Simple Tests of the Globalization and Inflation Hypothesis.” International Finance Vol. 13(3), 343–375.
International Monetary Fund. 2006. “How Has Globalization Affected Inflation?” World Economic Outlook, April, 97–134.
International Monetary Fund. 2013 “The Dog that Didn’t Bark: Has Inflation Been Muzzled or Was It Just Sleeping?” World Economic Outlook, April, 1–18.
Manopimoke, Pym. 2014. “International Inflation Dynamics and the New Keynesian Phillips Curve: The Role of the Global Output Gap.” Bank of Thailand Discussion Paper 07/2014.
Takhtamanova, Yelena F. 2010. “Understanding Changes in Exchange Rate Pass-Through.” Journal of Macroeconomics 32(4), 1118–1130.
Wang, Pengfei, and Yi Wen. 2006. “Inflation Dynamics: A Cross-Country Investigation.” Federal Reserve Bank of St. Louis Working Paper 2005–076D.