Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/d54190f21094da44d7ea976d7ccba104/41624/cover.jpg
9 ตุลาคม 2558
20151444348800000

วัฏจักรการเงินกับศักยภาพการผลิตของเศรษฐกิจ

การประเมินวัฏจักรเศรษฐกิจจะคลาดเคลื่อนหากไม่ตระหนักถึงวัฏจักรการเงิน
ปิติ ดิษยทัต
วัฏจักรการเงินกับศักยภาพการผลิตของเศรษฐกิจ
excerpt

บทบาทของภาคการเงินในการผลักดันเศรษฐกิจซึ่งในบางครั้งอาจนำไปสู่การขยายตัวที่เกินความพอดีและไม่ยั่งยืนเป็นที่ยอมรับมากขึ้นหลังจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2550 ถึงกระนั้นก็ตาม ในการการวิเคราะห์ระดับการผลิตศักยภาพของเศรษฐกิจซึ่งสะท้อนระดับกิจกรรมที่ยั่งยืน ปัจจัยทางการเงินกลับถูกละเลยโดยสิ้นเชิง บทความนี้นำเสนอวิธีการวัดระดับการผลิตศักยภาพที่คำนึงถึงวัฏจักรการเงิน และแสดงให้เห็นว่าการประยุกต์ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยทางการเงินนำไปสู่ประมาณการศักยภาพการผลิตที่เสถียรและแม่นยำกว่า

ในช่วงที่ผ่านมามีการวิพากษ์กันมากว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ต่ำเกินไปในขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างจับตาและพยายามประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเพียงพอที่จะรองรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds แล้วหรือยัง แต่เราจะใช้เกณฑ์อะไรในการวัด ”อุณหภูมิ” ของเศรษฐกิจว่าระดับใดจึงจะถือว่าต่ำ สูง หรือพอดี บรรทัดฐานที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ในการตอบคำถามดังกล่าว คือระดับการผลิตศักยภาพ หรือ potential output ที่เปรียบเสมือนขีดจำกัดของเครื่องจักรที่กำหนดว่าปริมาณการผลิตสูงสุดอยู่ที่เท่าไหร่เมื่อมีการใช้งานเต็มที่

การวิเคราะห์ระดับการผลิตศักยภาพของเศรษฐกิจ เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการประเมินสถานะของวัฏจักรเศรษฐกิจ และในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค การคาดคะเนช่องว่างระหว่างระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงกับระดับศักยภาพ (output gap) ได้ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์แรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน การประเมินความยั่งยืนของฐานะทางการคลัง รวมทั้งการคำนวณระดับอัตราแลกเปลี่ยนดุลยภาพเป็นต้น

แต่ทว่าระดับการผลิตศักยภาพนั้น ไม่อาจมองเห็นหรือวัดได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นในปัจจุบันหรือแม้กระทั่งในอดีตก็ตาม การประมาณการระดับการผลิตศักยภาพจึงจำเป็นต้องพึ่งสมมุติฐานเกี่ยวกับการทำงานของระบบเศรษฐกิจ ว่าระดับกิจกรรมที่อยู่ใกล้หรือไกลจากระดับการผลิตศักยภาพนั้น จะมี “อาการ” อย่างไรบ้างที่จะจับต้องได้ และสามารถเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงสถานะของเศรษฐกิจเทียบกับระดับศักยภาพ ผลที่ได้จึงขึ้นอยู่กับแบบจำลองที่เลือกใช้โดยปริยาย (model-dependent)

ตั้งแต่งานที่มีอิทธิพลของ Okun (1962) การศึกษาส่วนมากนิยามระดับศักยภาพการผลิตว่าเป็นระดับที่สอดคล้องกับการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเต็มที่ โดยไม่สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ สมมุติฐานหลักคืออัตราเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่สูงกว่าระดับศักยภาพ พลวัตของเงินเฟ้อจึงถูกใช้เป็นเครื่องชี้หลักที่บ่งบอกถึงความไม่ยั่งยืนของระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

คำถามที่สำคัญคือ อัตราเงินเฟ้อเป็นข้อมูลเบ็ดเสร็จ (sufficient statistic) ที่สะท้อนความยั่งยืนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริงหรือ

วัฏจักรการเงินและความยั่งยืนของเศรษฐกิจ

โดยแก่นแท้แล้ว ระดับศักยภาพการผลิตของเศรษฐกิจคือระดับการผลิตที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน (sustainable output) การผลิตที่ระดับใดระดับหนึ่งจะยั่งยืนก็ต่อเมื่อระดับการผลิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับความไม่สมดุลในมิติใดมิติหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ การประมาณการศักยภาพการผลิตในปัจจุบันส่วนใหญ่อิงกับสมมุติฐานข้างต้นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เกินศักยภาพจะนำไปสู่เงินเฟ้อที่สูงขึ้น วิธีการวัดระดับศักยภาพของเศรษฐกิจจึงใช้เงินเฟ้อเป็นตัวแปรหลักในการประมาณการ อย่างไรก็ดี วิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมา รวมทั้งประสบการณ์จากวิกฤตเศรษฐกิจในกรณีอื่น ๆ หลายกรณี ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าเศรษฐกิจสามารถขยายตัวเกินศักยภาพในลักษณะที่ไม่ยั่งยืนได้โดยไม่สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และการขยายตัวของสินเชื่อมักเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกินตัว

ทั้งนี้ มีเหตุผลอย่างน้อยสี่ประการที่การขยายตัวของเศรษฐกิจภายใต้วัฏจักรการเงินขาขึ้นมักจะไม่สร้างแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

  1. เหตุผลแรก คือการที่วัฏจักรการเงินขาขึ้นมักเกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวด้านอุปทานของเศรษฐกิจ โดยศักยภาพการผลิตที่สูงขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันต่อราคาและผลักดันการขยายตัวของราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งบรรเทาข้อจำกัดทางการเงินของผู้เล่นในระบบ เป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่าการทะยานขึ้นของเศรษฐกิจการเงินในช่วงก่อนวิกฤตการเงินโลกในปี 2550 เกิดขึ้นพร้อมกับการรวมตัวทางการค้าโลกที่รวดเร็ว และการก้าวเข้ามาของจีนในเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นพัฒนาการที่เสริมด้านอุปทานเป็นสำคัญ

  2. เหตุผลที่สอง คือการขยายตัวของเศรษฐกิจเองอาจคลายข้อจำกัดด้านอุปทาน โดยเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว ปริมาณแรงงานอาจเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้คนที่แสวงหางานทำ (higher participation rate) หรือการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานจากนอกประเทศ เช่นในกรณีของประเทศสเปนและไอร์แลนด์ในช่วงก่อนวิกฤตที่มีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในภาคก่อสร้างจำนวนมาก นอกจากนี้ การลงทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงวัฏจักรขาขึ้นเป็นการเสริมศักยภาพในการผลิตโดยตรงเช่นกัน

  3. เหตุผลที่สาม การแข็งขึ้นของค่าเงินที่มักจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ภายใต้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่หลั่งไหลเข้าประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจดี สามารถช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง

  4. เหตุผลสุดท้าย การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนอาจสะท้อนอยู่ในการจัดสรรทรัพยากรระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่บิดเบือนมากกว่าการประสบขีดจำกัดในแง่ของศักยภาพการผลิตของเศรษฐกิจโดยรวม โดยภาคเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวเกินควรบ่อยครั้งคือภาคที่อ่อนไหวเป็นพิเศษต่ออัตราดอกเบี้ยและสินเชื่อ เช่นภาคอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้นในช่วงวัฏจักรการเงินขาขึ้น ภาพของเศรษฐกิจโดยรวมที่ดูดีอาจสร้างความเสี่ยงซ่อนเร้นที่สามารถฉุดเศรษฐกิจลงได้ในที่สุด และเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ภาวะการเงินที่ตึงเป็นพิเศษจะซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ทรุดตัวลงไปอีก ในช่วงเวลาดังกล่าวภาระหนี้สินคงค้างที่สูงเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายทุน แรงงานและปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ส่งผลให้การแก้ไขและสะสางปัญหาของความบิดเบือนในการจัดสรรทรัพยากรที่สะสมมาในช่วงก่อนหน้าเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า วัฏจักรการเงินมีผลกระทบต่อวัฏจักรเศรษฐกิจในลักษณะที่เสริมซึ่งกันและกันอย่างยากที่จะแยกออกจากกันได้

การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นถูกหล่อเลี้ยงด้วยสินเชื่อและการกู้ยืมเป็นสำคัญ ความยากง่ายในการได้รับสินเชื่อจึงเป็นปัจจัยที่มีส่วนในการกำหนดขอบเขตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เปรียบเสมือนยางยืด ความยืดหยุ่นที่สูงเอื้อต่อการใช้จ่ายและระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูง ในทางตรงกันข้ามความยืดหยุ่นทางการเงินที่น้อยจะหน่วงรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ ปัจจัยที่กำหนดความยืดหยุ่นดังกล่าวได้แก่ กฎเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงิน นโยบายการเงิน ความเชื่อมั่นและ risk preference ของผู้เล่นในระบบ (รายละเอียดใน Borio and Disyatat (2011))

ศักยภาพการผลิตที่ปราศจากวัฏจักรการเงิน

จากมุมองนี้ ความยั่งยืนของระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ณ จุดใดจุดหนึ่งจะขึ้นอยู่กับสถานะของวัฏจักรการเงินด้วย โดยในช่วงที่สภาวะการเงินผ่อนคลาย การขยายตัวของสินเชื่ออยู่ในอัตราที่สูงและราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แรงส่งทางการเงิน (financial tailwinds) เหล่านี้จะเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่อาจร้อนแรงเกินควรและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤต ในทางตรงกันข้าง ภาวะการเงินที่ บีบรัด (financial headwinds) โดยเฉพาะจากยอดหนี้สินคงค้างและความอ่อนแอในงบดุล สามารถฉุดให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงได้เช่นกัน การประมาณการระดับการผลิตศักยภาพจึงควรคำนึงถึงบทบาทที่ปัจจัยและภาวะทางการเงินอาจมีในการผลักดันหรือเหนี่ยวรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และหาวิธีในการขจัดผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเหล่านี้ เพื่อที่จะได้มาซึ่งระดับการผลิตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยผลลัพธ์ที่ได้อาจนิยามว่าเป็นระดับการผลิตศักยภาพที่ปราศจากผลกระทบของปัจจัยทางการเงิน (finance-neutral potential output)

หรือมองจากอีกแง่หนึ่ง การประมาณการระดับการผลิตศักยภาพก็คือการขจัดการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็น วัฏจักร (cyclical) ของเศรษฐกิจออกไป ทั้งนี้หากปัจจัยทางการเงินมีความสามารถในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงในส่วนดังกล่าว วิธีการที่ละเลยการใช้ข้อมูลจากปัจจัยทางการเงินจะไม่สมบูรณ์เนื่องจากเป็นการมองข้ามข้อมูลที่มีประโยชน์ คล้ายคลึงกับปัญหา omitted variables ในเชิงเศรษฐมิติ โดยผลที่ได้จะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ด้วยเหตุนี้ Borio et al. (2015) ได้ประยุกต์ใช้ข้อมูลทางการเงินเข้ามาในการประมาณการระดับศักยภาพการผลิตของเศรษฐกิจ เพื่อความง่ายในการเปรียบเทียบและความชัดเจนของบทบาทที่ข้อมูลปัจจัยทางการเงินมีต่อการประมาณการ การวิเคราะห์เริ่มจากวิธีการเชิงสถิติที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด ได้แก่ Hodrick-Prescott (HP) filter และนำวิธีการที่เรียบง่ายนี้มาประยุกต์ใช้ในการผสมผสานข้อมูลจากปัจจัยทางการเงินเข้าไปในการวัดระดับการผลิตศักยภาพ โดยอาศัยวิธีการทางเศรษฐมิติ Kalman Filter ที่เอื้อต่อการประมาณการตัวแปรที่จับต้องไม่ได้ (latent variable)

ผลลัพธ์ที่ได้คือวิธีการนำข้อมูลจากตัวแปรต่าง ๆ เข้ามาคำนวณระดับการผลิตศักยภาพที่ยืดหยุ่นและโปร่งใส ดังที่ได้อธิบายโดย Borio et al. (2015) วิธีการนี้พึ่งการกำหนดสมมุติฐานเชิงเทคนิคน้อยกว่าวิธีการอื่น ๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเช่น multivariate filter หรือ systems-based approach (ตัวอย่างเช่น Benes et al. (2010)) ทำให้ลดปัญหาของ misspecification ได้ สำหรับตัวแปรทางการเงินหลักที่ใช้ได้แก่ อัตราการขยายตัวของสินเชื่อและอัตราการขยายตัวของราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยผลการศึกษาหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของตัวแปรสองตัวนี้ในการอธิบายวัฏจักรทางเศรษฐกิจและการเกิดขึ้นของวิกฤตการเงิน (เช่น Alessi and Detken (2009) และ Drehmann et al. (2012))

การศึกษาใช้กรณีของสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างการศึกษาหลักเนื่องจากมีข้อมูลระยะยาวที่สมบูรณ์และเป็นเศรษฐกิจที่ภาคการเงินขยายตัวต่อเนื่องอย่างรวดเร็วก่อนที่จะประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจการเงินในปี 2550 อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการเปรียบเทียบ การศึกษาจะแสดงผลในกรณีของประเทศไทยด้วย แต่ทั้งนี้ในการประเมินผลที่ได้ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดด้านข้อมูลจากผลิตภัณฑ์มวลรวมรายไตรมาสที่มีค่อนข้างสั้นและไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ยาวเพียงพอ

สู่การประเมินวัฏจักรเศรษฐกิจที่สมบูรณ์…

การนำข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการเงินมาประยุกต์ใช้นำไปสู่ประมาณการระดับการผลิตที่ยั่งยืนซึ่งคำนึงถึงบทบาทของปัจจัยทางการเงินในการเอื้อหรือฉุดรั้งเศรษฐกิจ โดยในช่วงที่ภาคการเงินขยายตัวอย่างรวดเร็ว ระดับการผลิตศักยภาพที่คำนึงถึงพัฒนาการนี้ควรจะ ต่ำกว่า เนื่องจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายอาจเอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เร็วเกินกว่าที่จะสามารถดำรงต่อไปได้อย่างยั่งยืน ในทางตรงกันข้าม ในช่วงที่ภาคการเงินซบเซากิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะถูกฉุดรั้งให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปรกติ ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวการประมาณการระดับการผลิตศักยภาพควรอยู่ในระดับที่ สูงกว่า เพื่อชดเชยผลลบชั่วคราวของภาวะการเงินที่ตึงตัว

ภาพที่ 1 ช่องว่างการผลิตของสหรัฐฯ (หน่วยเป็นเปอร์เซ็น)

ช่องว่างการผลิตของสหรัฐฯ (หน่วยเป็นเปอร์เซ็น)

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

สำหรับสหรัฐฯ ทั้งสินเชื่อและราคาอสังหาริมทรัพย์มีนัยสำคัญในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยค่าสัมประสิทธิ์มีขนาดที่ใหญ่และมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งคู่ และหากพิจารณาช่องว่างทางการผลิตที่ได้จากการประมาณการดังกล่าว จะเห็นว่าการนำข้อมูลจากปัจจัยทางการเงินมาใช้นำไปสู่ระดับการผลิตศักยภาพที่เปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร (ภาพที่ 1 ด้านซ้าย) โดยเฉพาะในช่วงก่อนวิกฤต ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงระดับการผลิตที่อยู่สูงกว่าระดับศักยภาพอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับวิธีการ HP filter

ความแตกต่างระหว่างช่องว่างการผลิต finance-neutral กับประมาณการที่ได้มาจาก HP filter สะท้อนความสามารถของตัวแปรทางการเงินในการอธิบายการเคลื่อนไหวเชิงวัฏจักรของเศรษฐกิจ โดยด้านขวาของภาพที่ 1 แสดงให้เห็นถึงบทบาทของปัจจัยทางการเงินในการอธิบายช่องว่างการผลิต ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงก่อนวิกฤตปี 2550

ในกรณีของประเทศไทย (ภาพที่ 2) การประมาณการช่องว่างการผลิตที่ควบรวมปัจจัยทางการเงินเข้ามามีความแตกต่างในทิศทางที่คาดเช่นกัน โดยในช่วงก่อนวิกฤตปี 1997 ผลที่ได้แสดงถึงช่องว่างการผลิตที่สูงกว่า HP filter ซึ่ง บ่งบอกถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจเกินระดับที่ยั่งยืนจากการขยายตัวของสินเชื่อที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงนั้น และเมื่อวิกฤตเกิดขึ้น ช่องว่างการผลิต finance neutral ที่ต่ำกว่า HP filter สะท้อนภาวะตึงตัวทางการเงินโดยเฉพาะจากสินเชื่อที่หดตัวอย่างรุนแรงซึ่งเป็น financial headwinds ต่อเศรษฐกิจในขณะนั้น อย่างไรก็ดีความแตกต่างระหว่างช่องว่างการผลิตทั้งสองไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่เท่ากรณีของสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเนื่องจากช่วงอายุข้อมูลที่สั้น กอปรกับการขาดข้อมูลราคาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอาจกระทบต่อความสมบูรณ์ของภาพวัฏจักรการเงินที่ใช้ในการประมาณการ

ภาพที่ 2 ช่องว่างการผลิตของไทย (หน่วยเป็นเปอร์เซ็น)

ช่องว่างการผลิตของไทย (หน่วยเป็นเปอร์เซ็น)

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

…และเสถียรต่อกาลเวลา

ในการดำเนินนโยบาย ช่องว่างการผลิตเป็นเครื่องชี้สำคัญในการประเมินสภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดหลักของประมาณการช่องว่างการผลิตในปัจจุบันคือความไม่เสถียรต่อกาลเวลาที่ผ่านไป (real-time robustness) โดยเมื่อมีข้อมูลใหม่ออกมาระดับของช่องว่างการผลิตในอดีตมักเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เสมือนประวัติศาสตร์ถูกจารึกใหม่ทุกครั้งที่มีการ update ข้อมูล ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งสะท้อนคุณลักษณะของวิธีการที่ใช้กันทั่วไปที่ให้น้ำหนักกับข้อมูลในช่วงท้าย sample มากเป็นพิเศษในการคำนวณแนวโน้มหรือ trend เมื่อเวลาผ่านไปการคำนวณ trend ณ จุดเดียวกันโดยใช้ข้อมูลมากขึ้นมักจะได้ผลที่เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะ ณ จุดท้าย ๆ ของช่วงข้อมูล (end-point problem)

ภาพที่ 3 ความเสถียรในมิติ real-time ของช่องว่างการผลิตกรณีของสหรัฐฯ (หน่วยเป็นเปอร์เซ็น)

ความเสถียรในมิติ real-time ของช่องว่างการผลิตกรณีของสหรัฐฯ (หน่วยเป็นเปอร์เซ็น)

ที่มา: OECD Economic Outlook; คำนวณโดยผู้เขียน

เพื่อเป็นการเปรียบเทียบความเสถียรของวิธีการต่าง ๆ ในการประมาณการช่องว่างการผลิต การวิเคราะห์ได้สร้างประมาณการ ณ แต่ละจุดในอดีตโดยนำเพียงข้อมูลที่มีจริง ณ เวลานั้น ๆ มาใช้ (historical data vintages) และนำผลที่ได้ในแต่ละจุดมาประกอบต่อกันเพื่อได้ช่องว่างการผลิตแบบ real-time จากนั้นได้นำประมาณการช่องว่างการผลิตจากอดีตจนถึงปัจจุบันที่ใช้ข้อมูลทั้งหมดมาเปรียบเทียบ ความแตกต่างที่ปรากฏจะสะท้อนถึงความเสถียรของประมาณการช่องว่างการผลิตแบบ real-time ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ในการดำเนินนโยบายในทางปฏิบัติ โดยกรณีศึกษาใช้ข้อมูลของสหรัฐฯ ซึ่งมีการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูล real-time vintages ในอดีตที่สมบูรณ์

ภาพที่ 3 แสดงให้เห็นว่าช่องว่างการผลิต finance-neutral นั้นมีความเสถียรมากกว่าวิธีอื่นเป็นอย่างมาก ในกรณีของสหรัฐฯ absolute mean deviation ของส่วนต่างระหว่างประมาณการ real-time กับ ex-post ต่อ standard deviation ของช่องว่างการผลิต ex-post อยู่ที่ 0.19 สำหรับวิธีการ finance-neutral เทียบกับ 0.46 0.58 และ 0.65 สำหรับวิธีการ IMF OECD และ HP filter ตามลำดับ

ที่สำคัญ การประมาณการศักยภาพการผลิตโดยวิธีการของ IMF OECD และ HP filter ในช่วงก่อนวิกฤตซึ่ง วัฏจักรการเงินอยู่ในขาขึ้น ชี้ว่าระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นอยู่ใกล้เคียงระดับการผลิตศักยภาพ การประมาณการเหล่านี้สามารถชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เกินตัวในช่วงดังกล่าวเพียงแค่ ภายหลัง วิกฤตเท่านั้น (ex-post) ในทางตรงกันข้าม การประมาณการที่อิงข้อมูลปัจจัยทางการเงินสามารถบ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เกินตัวและไม่ยั่งยืนได้ ณ เวลานั้น (real-time) ในช่วงที่เศรษฐกิจการเงินกำลังรุ่งเรือง

ความสามารถของช่องว่างการผลิต finance-neutral ในการสะท้อนถึงความไม่ยั่งยืนของเศรษฐกิจแบบ real-time แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของวิธีการดังกล่าวที่สามารถช่วยเสริมการกำหนดนโยบายที่คำนึงถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินอย่างสมบูรณ์มากขึ้นได้ รวมทั้งให้ภาพของวัฏจักรเศรษฐกิจที่แม่นยำกว่า

นอกเหนือจากนโยบายการเงินแล้ว การประยุกต์ใช้ finance neutral output gap ในการวิเคราะห์ความยั่งยืนของฐานะการคลังเป็นอีกบริบทหนึ่งที่ควรพิจารณา โดยองค์ประกอบสำคัญของการวิเคราะห์ดังกล่าว คือการประมาณการดุลการคลังที่ปรับด้วยวัฏจักรเศรษฐกิจ (structural fiscal balance) จุดประสงค์ของเกณฑ์ดังกล่าวคือการวัดดุลการคลังที่ขจัดผลของวัฏจักรเศรษฐกิจต่อรายได้และรายจ่ายออกไป ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็ว รายได้ภาษีจะสูงเป็นพิเศษในขณะที่รายจ่ายจะลดลงโดยเฉพาะในด้านสวัสดิการ ส่งผลให้ดุลการคลังดีเป็นพิเศษ ในทางตรงกันข้าม ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา รายได้ภาษีจะลดลงในขณะที่รายจ่ายจะสูงขึ้น เช่นจากการดูแลการว่างงาน ส่งผลให้ดุลการคลังแย่กว่าปรกติ การขจัดผลของวัฏจักรเศรษฐกิจดังกล่าวออกไปนำไปสู่บรรทัดฐานในการวัดจุดยืนและการประเมินฐานะการคลังที่ชัดเจนขึ้น ช่องว่างการผลิตที่สะท้อนเสถียรภาพของวัฏจักร เศรษฐกิจได้ดีกว่าย่อมสามารถบ่งบอกถึงความยั่งยืนของฐานะการคลังได้ดีกว่าเช่นกัน

ข้อสรุป

ปัจจัยทางการเงินมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจ การประมาณการระดับการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจึงควรคำนึงถึงพัฒนาการของวัฏจักรการเงิน และเป็นวิธีการหนึ่งที่เอื้อให้สามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับภาคการเงินเข้ามาประมวลในการกำหนดนโยบายอย่างเป็นระบบ

เอกสารอ้างอิง

Alessi, L and C Detken (2009): “Real time early warning indicators for costly asset price boom/bust cycles: A role for global liquidity”, ECB Working Paper, no 1039.

Benes, J, K Clinton, R Garcia-Saltos, M Johnson, D Laxton, P Manchev and T Matheson (2010): “Estimating potential output with a multivariate filter”, IMF Working Paper, WP/10/285.

Borio, C, P Disyatat and M Juselius (2015), “Rethinking Potential Output: Embedding Information from the Financial Cycle,” PIER Discussion Paper, No. 5.

Borio, C and P Disyatat (2011): “Global imbalances and the financial crisis: Link or no link?”, BIS Working Papers, No. 346, June.

Drehmann, M, C Borio and K Tsatsaronis (2012), “Characterising the Financial Cycle: Don’t Lose Sight of the Medium Term!” BIS Working Papers, No. 380.

Okun, A (1962), “Potential GNP, Its Measurement and Significance,” Cowles Foundation, Yale University.

ปิติ ดิษยทัต
ปิติ ดิษยทัต
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Topics: Financial Markets and Asset PricingMonetary Economics
Tags: financial crisisfinancial cycleoutput gappotential output
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email