เงินบาทกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

excerpt
ระดับของอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไรเป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยครั้ง และมักนำไปสู่การโต้เถียงที่เข้มข้น ในขณะเดียวกัน การเรียกร้องให้ค่าเงินอ่อนลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศได้ยินเสมอมา ทว่าการที่ค่าเงินอ่อนจะช่วยเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใดและมีต้นทุนอะไรบ้าง บทความนี้จะนำเสนอแง่มุมและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ที่ได้จากงานวิจัย
กลยุทธ์การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่เน้นการเติบโตจากการส่งออกกลยุทธ์หนึ่ง คือ การรักษาค่าเงินของประเทศของตนไว้ในระดับต่ำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศ หมายความว่า สมมติในปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35 บาทต่อ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกของไทยมูลค่า 35 บาทมีราคาเท่ากับ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หากเราสามารถรักษาค่าเงินบาทให้อยู่ที่ 38 บาทต่อ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ การอ่อนค่าของเงินบาทนี้จะทำให้สินค้าส่งออกชิ้นดังกล่าวมีราคาถูกกว่า 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เกิดการได้เปรียบทางด้านราคาในตลาดสินค้าระหว่างประเทศ นำไปสู่การส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น
แม้ฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติกลยุทธ์ดังกล่าวมีความยากอยู่อย่างน้อย 2 ประการคือ 1) วิธีที่จะรักษาค่าเงินไว้ในระดับต่ำ คือ จะทำอย่างไรให้อัตราแลกเปลี่ยนมาอยู่ที่ 38 บาทได้นานพอที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของประเทศ และ 2) ผลที่ค่าเงินดังกล่าวมีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมนั้นดีจริงหรือไม่ (Eichengreen, 2008) เพราะการอ่อนค่าของเงินบาทอาจส่งผลดีต่อผู้ส่งออก ในขณะที่เป็นผลเสียต่อผู้นำเข้าและผู้ที่มีหนี้สินในรูปเงินตราต่างประเทศ การรักษาค่าเงินให้อยู่ในระดับต่ำยังอาจนำมาสู่ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว (Frankel, 2004) นอกจากนั้นนโยบายการแข่งขันโดยการพึ่งพิงความได้เปรียบทางด้านราคาเพียงอย่างเดียวและนโยบายที่ใช้ในการรักษาค่าเงินให้อยู่ในระดับต่ำนั้นต่างก็มีต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจและเป็นนโยบายที่ไม่ยั่งยืน1
มีงานเชิงประจักษ์เพื่อศึกษาว่าการที่ค่าเงินถูกหรือแพงส่งผลอย่างไรต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ งานส่วนใหญ่มักมีข้อสรุปไปในทางเดียวกัน คือ เงินสกุลที่มีค่าแพงก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในขณะที่เงินสกุลที่มีค่าถูกจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ถึงกระนั้นผลการศึกษาที่ผ่านมายังคงมีข้อแตกต่างในรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่หลายประการ
บทความนี้จึงต้องการตอบคำถามสำคัญว่า การรักษาให้เงินบาทมีค่าถูกจะก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศของเราได้จริงหรือไม่ โดยใช้ข้อมูลจาก 185 ประเทศ ระหว่างปี ค.ศ. 1950 ถึง ปี ค.ศ. 2009 เพื่อตอบคำถามดังต่อไปนี้2
น้อยคนจะไม่เคยได้ยินประโยคที่ว่า เงินบาทแพงเกินไป และเคยสงสัยไหมว่าการที่จะประเมินว่าเงินสกุลนั้น ๆ “แพงเกินไป” หรือ “ถูกเกินไป” นั้นใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน ในทางวิชาการมีมากมายหลายวิธีที่ใช้ในการพิจารณาว่าเงินสกุลนั้น ๆ ถูกหรือแพง ซึ่งเรียกว่าการวัดความคลาดเคลื่อนของค่าเงิน (Currency Misalignment) โดยความคลาดเคลื่อนของค่าเงิน คือ สภาวะที่ค่าเงินที่เกิดขึ้นจริงมีค่าแตกต่างไปจากค่าเงินที่ควรจะเป็น ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่มองว่าค่าเงินที่ควรจะเป็นก็คือค่าเงินในดุลยภาพ โดย Driver and Westaway (2004) ได้รวบรวมวิธีเชิงประจักษ์ที่ใช้ในการหาค่าเงินดุลยภาพไว้มากถึง 14 วิธี
งานวิจัยนี้วัดความคลาดเคลื่อนของค่าเงินเทียบกับค่าเงินในดุลยภาพจากแบบจำลอง Balassa-Samuelson และ Fundamental Equilibrium Exchange Rate (FEER) โดยพิจารณาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง3 แบบจำลอง Balassa-Samuelson หาอัตราแลกเปลี่ยนในดุลยภาพ ณ ระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตหนึ่ง ๆ โดยกล่าวว่าเมื่อประเทศมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ค่าเงินของประเทศนั้นจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ ส่วน FEER แสดงอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้เกิดดุลยภาพทั้งภายในและภายนอกประเทศไปพร้อมกัน โดยดุลยภาพภายใน หมายถึง ดุลยภาพเมื่อระบบเศรษฐกิจอยู่ ณ อัตราการว่างงานระดับปกติ ไม่มีแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ ขณะที่ดุลยภาพภายนอก หมายถึง ดุลยภาพเมื่อดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับเหมาะสมกับการไหลของเงินทุนที่ยั่งยืน
เมื่อวัดค่าเงินตามแบบจำลอง Balassa-Samuelson ด้วยวิธีของ Rodrik (2008) และหา FEER ตามวิธีของ Aguirre and Calderón (2006) พบว่ามีข้อสรุปที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เงินบาทมีค่าถูกกว่าค่าเงินที่ควรจะเป็นตามดุลยภาพมาโดยตลอดและการอ่อนค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วหลังจากวิกฤตค่าเงินบาทในปี ค.ศ.1997 ทำให้ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังแสดงในรูปที่ 1 (Panel A) อย่างไรก็ตาม ค่าความคลาดเคลื่อนของค่าเงินมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา แม้ไม่ลดลงต่ำดังเช่นในช่วงก่อนเกิดวิกฤตค่าเงินบาท
การที่เงินบาทมีค่าถูกกว่าที่ควรจะเป็นตามแบบจำลอง Balassa-Samuelson แสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมาราคาสินค้าของไทยต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นตามระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีฯ ของไทย ส่วนผลจาก FEER แสดงว่าการที่เงินบาทมีค่าถูกกว่าที่ควรจะเป็นก่อให้เกิดความไม่สมดุลย์ภายในระบบเศรษฐกิจ เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการเกินดุลดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงกว่าระดับดุลยภาพ
หากพิจารณาตาม Panel B ในรูปที่ 1 จะพบการขึ้นลงของเส้นแสดงระดับความคลาดเคลื่อนของค่าเงินและอัตราการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในทิศทางที่ค่อนข้างสอดคล้องกัน คำถามที่น่าสนใจคำถามต่อมา คือ ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้มีอยู่จริงหรือ การทำให้เงินบาทมีค่าถูกกว่าที่ควรจะเป็นส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่
เพื่อตอบคำถาม การรักษาให้เงินบาทอ่อนค่าดีต่อประเทศของเราจริงหรือ ผู้วิจัยใช้การประมาณการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างความคลาดเคลื่อนของค่าเงินและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตามวิธีของ Rodrik (2008) และพบผลที่คล้ายกับงานของ Rodrik (2008) คือ เงินที่มีค่าถูกกว่าที่ควรจะเป็นส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่เงินที่แพงกว่าที่ควรจะเป็นส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเส้นตรง คือ ความสัมพันธ์นี้ไม่เปลี่ยนแปลงตามทิศทางและขนาดของความคลาดเคลื่อนของค่าเงิน แต่ความสัมพันธ์นี้มีแนวโน้มลดลงเมื่อประเทศมีระดับการพัฒนา (วัดโดยระดับรายได้) เพิ่มสูงขึ้น
จากผลการศึกษาพบว่า ในกรณีของประเทศไทยซึ่ง ณ ปี ค.ศ. 2009 มีรายได้ที่แท้จริงเฉลี่ยต่อหัวเท่ากับ 7,793 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ4 หากในช่วงปี ค.ศ. 2010 – ค.ศ. 2014 เราสามารถทำให้ค่าเงินบาทถูกกว่าที่ควรจะเป็นเพิ่มขึ้น 50% โดยเฉลี่ยต่อปี (เช่น หากพิจารณาจากเส้น BS ในรูปที่ 1 (Panel B) 50% หมายถึง ตัวเลขที่เพิ่มจาก 25% ณ ปี ค.ศ. 2009 เป็น 75% ในปีถัดมา) จะทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น 0.1% โดยเฉลี่ยต่อปี
การทำให้เงินบาทถูกกว่าที่ควรจะเป็นในระดับที่สูง ชนิดที่สูงกว่าช่วงวิกฤตค่าเงินบาทในปี ค.ศ.1997 คือเพิ่มขึ้นถึง 50% ส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเพียง 0.1% ต่อปี จึงสรุปได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความคลาดเคลื่อนของค่าเงินบาทกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่มีนัยสำคัญ ประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์จากการรักษาค่าเงินบาทไว้ให้อยู่ในระดับต่ำ แต่ในขณะเดียวกัน ข่าวดีคือการเติบโตของประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงหากเงินบาทมีค่าแพงกว่าที่ควรจะเป็น
ตามทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่ม Neoclassic อัตราแลกเปลี่ยนแทบไม่เคยมีบทบาทในการกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าในช่วงหลังงานศึกษาเชิงประจักษ์มักพบว่าการรักษาค่าเงินไว้ในระดับต่ำส่งผลบวกต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลดีของการรักษาค่าเงินให้อยู่ในระดับต่ำที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้จะลดลงเมื่อประเทศมีระดับการพัฒนาที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่า ประเทศไทยของเราพัฒนาเกินกว่าที่จะหาประโยชน์จากการรักษาค่าเงินบาทไว้ในระดับต่ำ
Eichengreen (2008) มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงที่มีเสถียรภาพและอยู่ในระดับที่เอื้อประโยชน์ต่อการแข่งขันของประเทศจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของประเทศในการพัฒนาและเติบโตได้เพิ่มมากขึ้น ดังเช่นในกรณีของประเทศจีนที่สามารถหาประโยชน์อย่างเต็มที่จากแรงงานที่มีวินัย ระดับการออมที่สูง และจากเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศ ส่วน Rodrik (2008) อธิบายว่าการรักษาให้ค่าเงินถูกกว่าที่ควรจะเป็นจะทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้สูงกว่าการเติบโต ณ ระดับอัตราแลกเปลี่ยนดุลยภาพ เพราะการรักษาให้ค่าเงินถูกกว่าที่ควรจะเป็นจะเป็นตัวช่วยให้เกิดการเติบโตของ Tradable Sector ซึ่งโดยปกติภาคเศรษฐกิจนี้มักขาดประสิทธิภาพและมีขนาดเล็กเกินไปเนื่องจากความอ่อนแอของปัจจัยทางด้านสถาบัน (Institutional Weakness) และ/หรือ ความล้มเหลวของตลาด (Market Failure) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา
ในอีกมุมหนึ่ง Edwards (1988) กล่าวว่า ความคลาดเคลื่อนของอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงมักทำให้เกิดการบิดเบือนของราคา ซึ่งผลที่ตามมา คือ การจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนอีกมุมมองหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อ “Washington Consensus” เชื่อว่าความคลาดเคลื่อนของค่าเงินไม่ว่าจะในทิศทางใดแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลย์ในระดับเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพในท้ายที่สุดจะก่อให้เกิดผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วน Engel (2009) ได้ใช้แบบจำลองเชิงทฤษฎีชี้ให้เห็นว่าความคลาดเคลื่อนของค่าเงินก่อให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพและทำให้สวัสดิการโดยรวมของโลกลดต่ำลง ดังนั้นนโยบายการเงินที่เหมาะสมควรพิจารณาดูแลความคลาดเคลื่อนของค่าเงินนอกเหนือไปจากการดูแลทางด้านเงินเฟ้อและระดับการผลิต
นอกจากนั้น Levy-Yeyati, Sturzenegger and Glüzmann (2013) ยังพบว่าการแทรกแซงค่าเงินให้ถูกกว่าที่ควรจะเป็นไม่มีผลต่อปริมาณการส่งออกและนำเข้า แต่ส่งผลในทางบวกต่อการจ้างงาน ระดับการออมและการลงทุนของประเทศซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ งานนี้อธิบายไว้น่าสนใจว่าการรักษาค่าเงินให้ถูกกว่าที่ควรจะเป็นทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานลดลง กำไรของผู้ส่งออกเพิ่มสูงขึ้น การถ่ายโอนความมั่งคั่ง (Wealth Transfer) จากผู้มีรายได้ต่ำสู่ผู้มีรายได้สูงซึ่งมีแนวโน้มที่จะออมมากกว่า ทำให้ระดับการออมของประเทศเพิ่มสูงขึ้น ส่งให้การลงทุนและอัตราการเติบโตของระบบเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น
น่าคิดต่อว่า หากแม้นการรักษาค่าเงินบาทให้อ่อนส่งผลดีต่อการเติบโตของประเทศจริง การเติบโตนั้นยั่งยืนหรือไม่ และการเติบโตนั้นส่งผลอย่างไรต่อความเท่าเทียมกันในประเทศ
Aguirre, A., and C. Calderón, 2006, Real Exchange Rate Misalignments and Economic Performance, Central Bank of Chile Working Paper No. 315.
Cumperayot, P., and R. Kouwenberg, 2012, ความคลาดเคลื่อนของค่าเงินและการเติบโตทางเศรษฐกิจ: สาเหตุและผลของความคลาดเคลื่อนของค่าเงินต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ, รายงานทุนวิจัยพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ประจำปี 2554.
Driver, R., and P. Westaway, 2004, Concepts of Equilibrium Exchange Rate, Bank of England Working Paper No. 248.
Edwards, S., 1988, Exchange Rate Misalignment in Developing Countries, Baltimore: Johns Hopkins University Press.
Eichengreen, B., 2008, The Real Exchange Rate and Economic Growth, The World Bank Commission on Growth and Development Working Paper No. 4.
Engel, C., 2009, Currency Misalignments and Optimal Monetary Policy: A Reexamination, NBER Working Paper No. W14829.
Frankel, J., 2004, On the Renminbi: The Choice between Adjustment under a Fixed Exchange Rate and Adjustment under a Flexible Rate, NBER Working Paper No. W11274.
Levy-Yeyati, E., F. Sturzenegger, and P.A. Glüzmann, 2013, Fear of Appreciation, Journal of Development Economics 101, 233–247.
Rodrik, D., 2008, The Real Exchange Rate and Economic Growth, Brookings Papers on Economic Activity 2, 365–412.
- วิธีการรักษาค่าเงินไว้ในระดับต่ำที่มักพบเห็นอยู่โดยทั่วไปมักจะทำโดยการเข้าแทรกแซงค่าเงินโดยการซื้อทุนสำรองระหว่างประเทศ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และรวมถึงการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ↩
- บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย Cumperayot and Kouwenberg (2012) ผู้สนใจอ่านวรรณกรรมปริทัศน์และรายละเอียดของการศึกษา กรุณาติดต่อผู้เขียน Phornchanok.C@Chula.ac.th↩
- อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นตัวเงิน (Nominal Exchange Rate) แสดงข้อมูลเช่น 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับกี่บาท ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (Real Exchange Rate) แสดงว่า 1 ตระกร้าสินค้าของสหรัฐฯ (เช่น ปริมาณสินค้าของสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) เท่ากับกี่ตระกร้าสินค้าของไทย อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงจึงมักใช้แสดงราคาเปรียบเทียบของสินค้าระหว่างประเทศ↩
- ข้อมูลจาก Penn World Tables version 7.0 โดยใช้ PPP Conversion Factor ณ ระดับราคาปี ค.ศ. 2005↩