Flood and Farmers: ผลกระทบของมหาอุทกภัยต่อทัศนคติและพฤติกรรมของครัวเรือนภาคเกษตร

excerpt
มหาอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 นับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดของประเทศไทยในรอบกว่ากึ่งศตวรรษ เหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศใน 66 จังหวัด และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 14% ของ GDP พื้นที่เกษตรกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวนาปีได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนภาคเกษตรที่ส่วนมากมีฐานะยากจนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บทความนี้นำเสนอผลการวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของมหาอุทกภัยดังกล่าวต่อทัศนคติและพฤติกรรมของครัวเรือนภาคเกษตร รวมถึงนัยเชิงนโยบายของรัฐบาลในการบรรเทาสาธารณภัยและการส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติในอนาคตได้
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าภัยธรรมชาติมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าภัยดังกล่าวเกิดขึ้น ในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากประชาชนและรัฐบาลในประเทศดังกล่าวมีข้อจำกัดในความสามารถในการป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติ ความสูญเสียจากภัยธรรมชาตินั้นมิได้จำกัดอยู่แค่ชีวิต ทรัพย์สินทางกายภาพ และรายได้ที่ขาดหายไปในระหว่างช่วงภัยพิบัติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสูญเสียของทุนมนุษย์ (human capital) อันเกิดจากปัญหาสุขภาพ โรคติดต่อ และการหยุดชะงักของการศึกษาและบริการสาธารณสุข นอกจากนี้การที่พิบัติภัยได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึงระบบประกันภัย ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยกลุ่มต่าง ๆ ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นล้วนมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศ
ภัยธรรมชาติไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจเท่านั้น งานวิจัยเชิงทฤษฎีและเชิงประจักษ์หลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่าภัยพิบัติและความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ตามมาอาจจะส่งผลให้ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ (preference) ในด้านต่าง ๆ เช่น ความไม่ชอบความเสี่ยง (risk aversion) ความไม่อดทน (impatience) หรือความเห็นแก่ผู้อื่น (altruism) รวมถึงการคาดการณ์ (subjective expectation) ของความน่าจะเป็นที่ภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และความเป็นไปได้ที่ครัวเรือนจะสามารถเข้าถึงกลไกป้องกันตนเองและความช่วยเหลือต่าง ๆ ในกรณีที่ภัยธรรมชาติเกิดขึ้น
ทัศนคติต่าง ๆ ข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเนื่องถึงการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของครัวเรือนทั้งในด้านการบริโภค การออม การลงทุน และการบริหารความเสี่ยง การปรับเปลี่ยนทัศนคติดังกล่าวของครัวเรือนเมื่อได้รับผล กระทบจากภัยพิบัติจึงส่งผลต่อความเป็นอยู่ของครัวเรือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นความเข้าใจถึงผลกระทบของภัยธรรมชาติต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติและการตอบสนองทางพฤติกรรมของครัวเรือนจึงมีนัยเชิงนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายบรรเทาสาธารณภัยและการส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติในอนาคตได้โดยไม่ก่อให้เกิดการบิดเบือนแรงจูงใจของครัวเรือนในการประกันตนเอง หรือการกระจายความเสี่ยงในชุมชน รวมทั้งไม่ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของตลาดประกันภัยของภาคเอกชนอีกด้วย
งานวิจัยโดย Lertamphainont et al. (2015) ได้เล็งเห็นว่าการท่วมขังของนํ้า ในระดับสูงและเป็นเวลานานในปี 2554 เป็นเหตุการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย โดยชาวนาไม่สามารถ ป้องกันหรือลดความเสียหายล่วงหน้าได้มากนัก ซึ่งทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นการทดลองโดยธรรมชาติ (natural experiment) เพื่อศึกษาผลกระทบของมหาอุทกภัยต่อครัวเรือนชาวนาในประเทศไทย Lertamphainont et al. (2015) ได้ทำการสำรวจและทดลองภาคสนาม และประยุกต์วิธีการทางเศรษฐมิติเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของทัศนคติและพฤติกรรมระหว่างกลุ่มทดลอง (treatment group) ซึ่งได้แก่ครัวเรือนชาวนาที่มีพื้นที่นาจมน้ำเป็นเวลานานและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงจากเหตุการณ์ดังกล่าว และกลุ่มควบคุม (control group) ซึ่งได้แก่ครัวเรือนชาวนาที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงในปีนั้น โดยใช้แผนภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงถึงขอบเขตและระยะเวลาของน้ำท่วมขังในปี 2554 มาช่วยในการเลือกกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมของครัวเรือนตัวอย่าง
การศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าวมีความท้าทายอยู่หลายประการ ประการแรกคือ การที่ครัวเรือนและที่นาของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมอาจมีลักษณะเฉพาะ (เช่น ความสูงของพื้นที่นา พันธุ์ข้าว ตารางเวลาการเพาะปลูก การคาดการณ์และเตรียมตัวป้องกันน้ำท่วม) และทัศนคติที่แตกต่างกันอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมหาอุทกภัย หากลักษณะเฉพาะดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจและพฤติกรรมของครัวเรือน ผลการศึกษาที่เกิดจากการเปรียบเทียบทัศนคติและ พฤติกรรมดังกล่าวของครัวเรือนทั้งสองกลุ่มอาจไม่ได้สะท้อนถึงผลกระทบจากมหาอุทกภัยเพียงอย่างเดียว แต่จะรวมถึงความแตกต่างของทั้งสองกลุ่มที่มีมาตั้งแต่ก่อนเกิดมหาอุทกภัยไว้ด้วย เช่น ถ้าครัวเรือนที่ไม่กลัวความเสี่ยงเลือกเช่าที่นาในที่ลุ่มตํ่าซึ่งมีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังและอุทกภัยสูง ผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าความกลัวความเสี่ยงของกลุ่มทดลองน้อยกว่าของกลุ่มควบคุมอาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดว่ามหาอุทกภัยส่งผลให้ครัวเรือนกลัวความเสี่ยงน้อยลง ทั้ง ๆ ที่ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นผลมาจากความแตกต่างทางทัศนคติของครัวเรือนทั้งสองกลุ่มที่มีแต่เดิมอยู่แล้ว ปัญหาดังกล่าวมีชื่อเรียกทางเศรษฐศาสตร์ว่า endogeneity problem ซึ่งอาจทำให้ผลของการศึกษามีความเบี่ยงเบน (biased) เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว Lertamphainont et al. (2015) จึงได้แยกกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีความเสี่ยงต่ออุทกภัยสูง (flood prone) และกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ (non-flood prone) และได้สุ่มเลือกและเปรียบเทียบครัวเรือนทดลองและครัวเรือนควบคุมภายในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ออุทกภัยเหมือนกัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถแน่ใจได้ว่าผลการศึกษาที่ได้จากการเปรียบเทียบเป็นผลมาจากมหาอุทกภัยจริง ๆ
ความท้าทายประการที่สองคือ การที่กลุ่มครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงอาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจาก มหาอุทกภัยผ่านทางระบบเศรษฐกิจที่ต้องชะงักลง (spillover effects) ซึ่งอาจส่งผลให้ครัวเรือนกลุ่มนี้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมด้วย ทั้ง ๆ ที่ครัวเรือนดังกล่าวไม่ได้ถูกน้ำท่วม อย่างไรก็ตามปัญหานี้จะทําให้ผลการเปรียบเทียบทัศนคติของครัวเรือนทดลองและครัวเรือนควบคุมเบี่ยงเบนไปในทิศทางที่ไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นหากเราพบว่าทัศนคติของครัวเรือนทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันก็ยิ่งเป็นเครื่องชี้วัดว่ามหาอุทกภัยมีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของครัวเรือนอย่างมีนัยสําคัญ
ความท้าทายประการถัดไปของการศึกษาคือ การที่ทัศนคติและการคาดการณ์ของครัวเรือนเป็นตัวแปรที่ไม่สามารถสังเกตได้ (unobservable) ในข้อมูลระดับครัวเรือนทั่วไป ดังนั้น Lertamphainont et al. (2015) จึงได้ประยุกต์ใช้วิธีทางเศรษฐศาสตร์เชิงทดลอง (experimental economics) กับครัวเรือนในกลุ่มตัวอย่าง โดยวัดความไม่ชอบความเสี่ยงของครัวเรือนโดยให้ชาวนาเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงและผลผลิตที่ต่างกัน วัดความไม่อดทนของครัวเรือนจากชุดคําถามที่ให้ครัวเรือนตัดสินใจที่จะได้รับเงินและเสียเงินในปัจจุบันหรืออนาคต วัดความเห็นแก่ผู้อื่นโดยให้ชาวนาเลือกจำนวนเงินที่จะบริจาคให้ครัวเรือนอื่น ๆ ในสถานการณ์ต่าง ๆ และวัดการคาดการณ์ในความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยให้ครัวเรือนเลือกจำนวนเหรียญจากทั้งหมด 10 เหรียญแทนความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ในงานวิจัยนี้ Lertamphainont et al. (2015) ได้สุ่มตัวอย่างครัวเรือนชาวนาจำนวน 426 ครัวเรือนจาก 44 หมู่บ้านใน 4 จังหวัดที่ปลูกข้าวมากของไทย และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 คือ สุพรรณบุรีและพิษณุโลกในที่ลุ่มแม่น้ำภาคกลาง และนครราชสีมาและขอนแก่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (รูปที่ 1 ซ้าย) โดยงานวิจัยของ Lertamphainont et al. (2015) ได้ทําควบคู่ไปกับงานวิจัยอีกชิ้นโดย Chantarat et al. (2015) ซึ่งศึกษาครัวเรือนชาวนาจำนวน 256 ครัวเรือนจาก 32 หมู่บ้านใน 4 จังหวัดของประเทศกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยในปี 2554 เช่นกัน (รูปที่ 1 ขวา) เนื่องจากความสามารถและกลไกในการป้องกันและรับมือต่อภัยธรรมชาติของครัวเรือนและรัฐบาลของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกัน การเปรียบเทียบผลการศึกษาของงานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้จึงมีความน่าสนใจทั้งในเชิงวิชาการและนโยบาย
ผลการสํารวจในระดับครัวเรือนดังรูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่ามหาอุทกภัยได้ทําให้เกิดนํ้าท่วมขังในนาข้าวโดยเฉลี่ยนานถึง 70 วัน ครัวเรือนชาวนาไทยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีที่นาได้รับความเสียหายโดยเฉลี่ยมากถึง 85% ของที่นา ทั้งหมด และสูญเสียรายได้ถึง 75% ของรายได้เฉลี่ยจากการผลิตข้าว หากเปรียบกับครัวเรือนกัมพูชาจะเห็นได้ชัดว่ามหาอุทกภัย 2554 ในประเทศไทยมีความรุนแรงกว่าทั้งในเรื่องระยะเวลาและผลกระทบต่อรายได้ นอกจากนี้ 20–25% ของครัวเรือนผู้ประสบภัยในทั้งสองประเทศจําเป็นต้องลดการบริโภคลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์ที่ครัวเรือนเข้าถึงเพื่อใช้รับมือกับภัยพิบัติอาจยังมีไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกลยุทธ์ที่ชาวนาในสองประเทศนี้ใช้ในการรับมือกับมหาอุทกภัยเรากลับพบความแตกต่างกันอย่างมาก ความช่วยเหลือจากภาครัฐในรูปแบบของเงินชดเชยและมาตรการเยียวยาต่าง ๆ เป็นปัจจัยสําคัญที่สุดที่ครัวเรือนไทยใช้รับมือกับมหาอุทกภัย ครัวเรือนไทยมากกว่าครึ่งในกลุ่มตัวอย่างใช้การกู้ยืมเงินจากธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ครัวเรือนน้อยกว่าร้อยละสิบเท่านั้นที่ใช้เงินออมหรือใช้กลยุทธ์ที่พึ่งพาตนเอง (self-insurance)เช่น การขายสินทรัพย์ หรือการหารายได้เสริมในการรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งอาจจะทําได้ยากในช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยเพราะระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นอาจชะลอตัวหรือหยุดชะงัก ส่วนการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชนหรือเครือญาติ (social insurance) นั้นค่อนข้างจํากัดในเหตุการณ์นี้เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะมหาอุทกภัยครั้งนี้ส่งผลถึงคนในวงกว้างจนครัวเรือนไม่อาจช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้
ในทางตรงกันข้าม ความช่วยเหลือจากภาครัฐกลับมีอย่างจํากัดในกัมพูชา ครัวเรือนส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและพึ่งพาตนเอง ข้อจํากัดในการเข้าถึงเงินกู้จากสถาบันการเงินของครัวเรือนกัมพูชาเป็นอีกข้อแตกต่างหลักที่ช่วยอธิบายการพึ่งพาตนเองของครัวเรือนกัมพูชาที่มีอัตราสูงกว่าครัวเรือนไทย
ผลการศึกษาของ Lertamphainont et al. (2015) และ Chantarat et al. (2015) ที่สรุปในรูปที่ 3 พบว่ามหาอุทกภัยไม่มีผลกระทบที่เป็นนัยสําคัญต่อครัวเรือนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ออุทกภัยสูงอยู่แล้ว แต่กลับมีผลกระทบที่เป็นนัยสําคัญต่อครัวเรือนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงตํ่า โดยพบว่าเมื่อเทียบกับครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบในกลุ่มที่มีความเสี่ยงตํ่ามีความไม่ชอบความเสี่ยงมากขึ้น มีความอดทนน้อยลง มีความเห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้น และที่สําคัญ ครัวเรือนดังกล่าวมีการปรับเพิ่มความน่าจะเป็นที่จะเกิดภัยเช่นนี้ในอนาคตและเพิ่มความคาดหมายในการเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐเมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นอีก ซึ่งผลการศึกษานี้อาจเกิดจากมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ของรัฐที่ออกมาในช่วงมหาอุทกภัย เช่น การจ่ายเงินชดเชย การแจกเมล็ดพันธุ์ และการลดหย่อนหรือยืดระยะเวลาการชําระหนี้ เป็นต้น
ทั้งนี้ผลกระทบของมหาอุทกภัยข้างต้นมีนัยสําคัญมากขึ้นในครัวเรือนที่มีสินทรัพย์น้อยหรือยากจน ยกเว้นแต่ผลกระทบต่อการคาดการณ์ความน่าจะเป็นในการพึ่งพาภาครัฐซึ่งจะมีนัยสําคัญเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนฐานะปานกลาง ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่เข้าถึงและได้ประโยชน์จากมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ของภาครัฐมากที่สุด (Poapongsakorn & Meethom, 2012) ผลการศึกษาของครัวเรือนไทยยังสอดคล้องกับผลของครัวเรือนกัมพูชา เว้นแต่ผลกระทบต่อการคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่จะพึ่งพาภาครัฐที่ไม่มีนัยสําคัญในกัมพูชา
รูปที่ 3 ยังแสดงให้เห็นว่าการคาดการณ์ถึงความน่าจะเป็นในการพึ่งพาคนอื่นกลับน้อยลงอย่างมีนัยสําคัญ สำหรับครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย ซึ่งอาจสะท้อนว่าถึงแม้การช่วยเหลือกันในชุมชนและเครือญาติในรูปแบบของการแบ่งปันความเสี่ยงร่วมกัน (risk-sharing network) อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยครัวเรือนรับมือกับภัยที่เกิดกับรายบุคคลหรือครัวเรือน (idiosyncratic risk) เช่นการเจ็บป่วย หรือการตกงาน แต่อาจไม่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่มักส่งผลกระทบในวงกว้าง (covariate or aggregate risk)
Lertamphainont et al. (2015) ยังได้ศึกษาต่อว่าทัศนคติและการคาดการณ์สอดคล้องกับพฤติกรรมต่าง ๆ ของครัวเรือนภาคเกษตรของไทยอย่างไร และครัวเรือนจะมีการตอบสนองทางพฤติกรรมอย่างไรถ้ามหาอุทกภัยทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติดังกล่าว รูปที่ 4 สรุปผลการศึกษานี้โดยแยกครัวเรือนเพิ่มเติมตามระดับสินทรัพย์ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ออุทกภัยตํ่า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการนำผลวิจัยไปชี้แนะแนวนโยบายต่อไป
ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะครัวเรือนฐานะปานกลาง มีการพึ่งพาตนเองในการป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติ (self-insurance) น้อยลง เช่น การปรับตัวในการทำเกษตรกรรม หรือการเพิ่มความหลากหลายทางการ เพาะปลูกและรายได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มหาอุทกภัยทําให้มีการเพิ่มการคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการพึ่งพิงความช่วยเหลือของภาครัฐ อีกนัยหนึ่งก็คือผลการศึกษานี้สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่มาตรการเยียวยาต่าง ๆ ของรัฐอาจไปลดแรงจูงใจในการพึ่งตนเองของครัวเรือน ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถของครัวเรือนในการรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต มาตรการต่าง ๆ ของรัฐจึงควรมีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มครัวเรือน และมุ่งเป้าไปเฉพาะครัวเรือนที่มีข้อจำกัดในการรับมือกับภัยพิบัติ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการสร้างแรงจูงใจที่ผิดกับครัวเรือนบางกลุ่ม
ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมีความต้องการซื้อประกันภัยธรรมชาติและผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนฐานะยากจนและปานกลาง ซึ่งสอดคล้องกับการที่มหาอุทกภัยทําให้มีการเพิ่มขึ้นของความไม่ชอบความเสี่ยง และการคาดการณ์ถึงการเกิดมหาอุทกภัยในอนาคต ที่สำคัญ Lertamphainont et al. (2015) พบว่าการคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่จะพึ่งพิงความช่วยเหลือจากรัฐไม่ได้มีผลลบอย่างมีนัยสำคัญต่อความต้องการซื้อประกันภัย ซึ่งผลการศึกษานี้มีความแตกต่างกับงานวิจัยเชิงประจักษ์อื่น ๆ ที่พบว่าบทบาทของรัฐในช่วงเวลาเกิดภัยพิบัติอาจไปลดแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดประกันภัย (Raschky et al., 2013) ผลการศึกษานี้อาจสะท้อนว่าการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์การประกันภัยธรรมชาติและพืชผลทางการเกษตรในประเทศไทยให้มีความยั่งยืนอาจมีความเป็นไปได้ เพราะน่าจะได้รับความสนใจและตอบสนองเป็นอย่างดีจากภาคครัวเรือน ภาครัฐและสถาบันการเงินจึงควรเร่งรณรงค์ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีประสิทธิภาพและราคาเป็นธรรม
ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมีการออมและการลงทุนทั้งในและนอกภาคเกษตรลดลง โดยเฉพาะครัวเรือนฐานะยากจน ซึ่งผลการศึกษาว่าการออมที่ลดลงนั้นมีความสอดคล้องกับการที่มหาอุทกภัยทําให้ความไม่อดทน (impatience) ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ส่วนผลการศึกษาว่าการลงทุนลดลงนั้นก็สอดคล้องกับการที่ครัวเรือนชาวนามีความไม่ชอบความเสี่ยงมากขึ้นและการปรับขึ้นการคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการเกิดมหาอุทกภัยในอนาคต Lertamphainont et al. (2015) ยังพบอีกว่าการคาดการณ์ถึงการพึ่งพิงความช่วยเหลือของรัฐมีผลทางบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อการการลงทุน (แต่ทว่าครัวเรือนกลุ่มนี้มิได้มีการปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ดังกล่าวเมื่อได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย) ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยเชิงประจักษ์อื่น ๆ ที่สรุปว่าเพราะเหตุนี้ ภัยธรรมชาติและความไม่แน่นอนอื่น ๆ จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ครัวเรือนติดกับดักความยากจน มาตรการช่วยเหลือและส่งเสริมการบริหารจัดการและรับมือกับภัยธรรมชาติจึงควรเป็นส่วนประกอบสำคัญของนโยบายส่งเสริมการลงทุนและความสามารถในการแข่งขันของครัวเรือนเกษตร
บทความนี้สะท้อนให้เห็นว่านอกเหนือจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ภัยธรรมชาติยังส่งผลทางอ้อมต่อการพัฒนา และความมั่นคงของครัวเรือนในอนาคตผ่านทางผลกระทบต่อทัศนคติและการตอบสนองทางพฤติกรรมของครัวเรือนต่อภัยพิบัติ ซึ่งผลกระทบทางพฤติกรรมเหล่านี้น่าจะยิ่งทวีความสําคัญมากขึ้นในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (climate change) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ผลการวิจัยที่อ้างถึงในบทความนี้ชี้ว่า มาตรการช่วยเหลือและส่งเสริมการบริหารจัดการและรับมือกับภัยธรรมชาติควรเป็นส่วนหนึ่งของการวางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของนโยบายเหล่านี้ยังเป็นสิ่งสําคัญ เพราะกลุ่มครัวเรือนต่าง ๆ มีความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติ ตลอดถึงการตอบสนองทางพฤติกรรมที่แตกต่างกัน