ฐานข้อมูลระดับครัวเรือนแบบตัวอย่างซ้ำเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจและสังคม: Townsend Thai Data
excerpt
การตัดสินใจดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มีความท้าทายและข้อจำกัดหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการขาดข้อมูลและการวิเคราะห์ที่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น การวิเคราะห์นโยบายต่าง ๆ ก็มักมีขอบเขตจำกัดเช่นเดียวกัน คือขาดการบูรณาการระหว่างมุมมองทางมหภาค (macro) และจุลภาค (micro) เข้าด้วยกัน การเล็งเห็นถึงข้อจำกัดดังกล่าว จึงนำไปสู่การจัดตั้งโครงการวิจัยพัฒนาการเศรษฐกิจไทย ที่รู้จักกันในชื่อ Townsend Thai Project โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์หลักในการเชื่อมโยงงานวิจัย และนโยบายเศรษฐกิจไทยเข้าด้วยกัน โดยการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลที่นักวิชาการ และผู้ดำเนินนโยบายสามารถนำไปใช้ เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรม และการตัดสินใจของครัวเรือน ซึ่งในที่สุดแล้วมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ บทความนี้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นของฐานข้อมูลระดับครัวเรือนแบบตัวอย่างซ้ำจาก Townsend Thai Project และตัวอย่างงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลดังกล่าว
Townsend Thai Project เริ่มต้นโดยศาสตราจารย์ Robert M. Townsend ซึ่งได้ร่วมมือกับคุณสมบัติ ศกุนตะเสฐียร จัดตั้งศูนย์วิจัยครอบครัวไทย (Thai Family Research Project, TFRP) เพื่อจัดเก็บข้อมูลครัวเรือนในประเทศไทยเพื่อใช้ในการประเมินบทบาทของสถาบันที่ไม่เป็นทางการ (informal institutions) เช่น สถาบันครอบครัว ตลอดจนเครือข่ายชุมชน ว่ามีส่วนช่วยเหลือและสนับสนุนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทของประเทศไทย มีความอยู่ดีกินดีได้อย่างไร นอกจากนี้ โครงการยังให้ความสำคัญต่อการทำความเข้าใจรากฐานของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งระดับจุลภาคและมหภาคว่ามีความเชื่อมโยงกันมากน้อยเพียงใด การเก็บข้อมูลครัวเรือนของ Townsend Thai Project นี้ยังได้รับความร่วมมือในการออกแบบการสำรวจ และออกแบบสอบถามจากนักวิจัยหลายท่าน ตั้งแต่เริ่มแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Anna Paulson (Federal Reserve Bank of Chicago) Michael Binford (University of Florida) และ Tae Joeng Lee (Yonsei University ประเทศเกาหลีใต้)
การสำรวจข้อมูลครั้งแรกของ Townsend Thai Project เกิดขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2540 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลไกและสถาบันทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ พร้อมทั้งประเมินผลการดำเนินการของกลไกและสถาบันดังกล่าว เพื่อนำมาใช้สร้างแบบจำลองในการศึกษาผลกระทบของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่ามีผลต่อความไม่เท่าเทียมกันของรายได้อย่างไร การสำรวจข้อมูลดังกล่าวได้ดำเนินการใน 4 จังหวัดใน 2 ภูมิภาค คือ ฉะเชิงเทราและลพบุรีในภาคกลาง และบุรีรัมย์ ศรีสะเกษในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทางโครงการได้ตั้งใจเลือก ภูมิภาคที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมใน ภาคกลาง และพื้นที่แห้งแล้งที่ประชากรมีฐานะยากจนมากกว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนการเลือกจังหวัดในการสำรวจในแต่ละภูมิภาคนั้น ทางโครงการได้เลือกจังหวัดที่มีอย่างน้อยหนึ่งอำเภอรวมอยู่ในการสำรวจ ข้อมูล Socioeconomic Survey (SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกปี เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบ และวิเคราะห์ผลการวิจัยของโครงการกับข้อมูลที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ในขั้นต่อไป ทางโครงการได้เลือก 12 ตำบลจากแต่ละจังหวัดโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น (stratified sampling) โดยอาศัยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และ Geographic Information System (GIS) ในขั้นตอนสุดท้าย โครงการเลือกหมู่บ้าน และครัวเรือนโดยการเก็บตัวอย่างแบบสุ่ม (random sampling)
การสำรวจข้อมูลครั้งแรกนี้ได้จัดเก็บข้อมูลสภาพสังคมและเศรษฐกิจ (socio-economic conditions) ของครัวเรือนชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลองค์ประกอบของครัวเรือน (household composition) กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ครัวเรือนดำเนิน และบริการทางการเงินที่ครัวเรือนใช้ เป็นต้น นอกจากนี้ โครงการวิจัยยังได้จัดเก็บข้อมูลในระดับหมู่บ้าน ข้อมูลสถาบันการเงินในท้องถิ่น ข้อมูลกลุ่ม ธกส. ข้อมูลตัวอย่างดิน สภาพแวดล้อมและภาพถ่ายของที่ดินเกษตรกรรม ประกอบด้วยกันเป็น Initial Baseline Survey ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากครัวเรือนทั้งหมด 2,880 ครัวเรือน ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้มีความรู้เกี่ยวกับหมู่บ้านนั้น ๆ (key informants) จาก 192 หมู่บ้าน สถาบันการเงิน 161 แห่ง และกลุ่ม ธกส. 262 กลุ่ม รวมทั้งข้อมูลดินและภาพถ่ายจากที่ดิน 1,920 แปลง
การเก็บข้อมูลของ Townsend Thai Project นั้น เดิมมีจุดประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลในปี พ.ศ. 2540 เท่านั้น แต่ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 และเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ Townsend เกิดความสนใจที่จะจัดเก็บข้อมูลครัวเรือนซ้ำ เพื่อประเมินผลกระทบและสำรวจภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจต่อครัวเรือนและชุมชน ซึ่งการเก็บข้อมูลซ้ำครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ในปี พ.ศ. 2541 (หนึ่งปีหลังจาก Initial Baseline Survey) โดยเลือก 64 หมู่บ้านมาจากทั้งหมด 192 หมู่บ้าน และเก็บข้อมูลจากครัวเรือนเดิมในแต่ละหมู่บ้าน ๆ ละ 15 ครัวเรือน รวม 960 ครัวเรือน เราเรียกข้อมูลชุดนี้ว่า Annual Resurvey ซึ่งมีการเก็บข้อมูลของครัวเรือนเดิมต่อเนื่องกันทุกปีจนถึงปัจจุบัน
Townsend Thai Project ไม่เพียงแต่ดำเนินการเก็บข้อมูลของครัวเรือนจากหมู่บ้านเดิมในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ยังขยายกลุ่มตัวอย่าง โดยเริ่มเก็บข้อมูลจากครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสตูลและยะลาในปี พ.ศ. 2546 และครัวเรือนในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแพร่และเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งการเก็บข้อมูลจากสตูลและแพร่ยังดำเนินการต่อมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ Townsend Thai Project ยังดำเนินการสำรวจข้อมูลในเขตพื้นที่เมืองของทั้ง 6 จังหวัดข้างต้น โดยใช้แบบสอบถามชุดเดียวกันกับที่ใช้สำรวจในเขตพื้นที่ชนบท เพื่อจะนำเอาข้อมูลจากทั้งสองพื้นที่มาเปรียบเทียบว่ามีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2548
Townsend Thai Project ยังเล็งเห็นข้อจำกัดที่ว่า การสำรวจข้อมูลรายปีนั้นทำในพื้นที่ที่ค่อนข้างกว้าง มีผลทำให้แบบสอบถามเดิมไม่สามารถให้รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกรรม และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องระหว่างบุคคล ครัวเรือน และสถาบันได้ ทางโครงการจึงได้เริ่มดำเนินการเก็บข้อมูลเชิงลึก โดยการสัมภาษณ์ครัวเรือนแบบรายเดือนใน 16 หมู่บ้านของ 4 จังหวัดที่มีการเก็บข้อมูล Annual Resurvey หมู่บ้านละ 45 ครัวเรือน โดยการเก็บข้อมูล Baseline ของ Monthly Survey นี้ เริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม พ.ศ. 2541 และ Monthly Resurvey ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2541 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
แผนที่ในรูปที่ 1 แสดงพื้นที่การสำรวจของ Townsend Thai Project โดยสีเขียวแสดง 4 จังหวัดดั้งเดิมที่มีการสำรวจตั้งแต่ปี 2540 และยังมีการเก็บข้อมูล Annual Resurvey และ Monthly Resurvey มาจนถึงปัจจุบัน (ฉะเชิงเทรา ลพบุรี บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ) ส่วนสีแดงแสดง 4 จังหวัดที่มีการสำรวจเพิ่มในภายหลัง (สตูล ยะลา แพร่ และเพชรบูรณ์ โดยแพร่และสตูลยังคงมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน)
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา Townsend Thai Project ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากหลายสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง National Institute of Child Health and Human Development (NICHD) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่เริ่มโครงการ และต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการเก็บข้อมูล monthly resurvey เป็นจำนวนเงินปีละ 10 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2557
นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอื่น ๆ ได้แก่ Andrew W. Mellon Foundation และ University of Chicago ซึ่งให้การสนับสนุนการเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (Initial Environmental Data) Ford Foundation ให้การสนับสนุนทางการเงินในการสำรวจ Annual Resurvey ครั้งแรกในปี 2541 ส่วน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ช่วยเหลือการดำเนินการของ Initial Survey ของครัวเรือนในภาคใต้ในปี 2546 ส่วนสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร ได้ให้การสนับสนุนการสำรวจครัวเรือนในพื้นที่เมืองครั้งแรกในปี 2548 แต่หน่วยงานดังกล่าวประสบปัญหาด้านงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนการสำรวจในปี 2549 ต่อได้ อย่างไรก็ตาม โครงการได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในการสนับสนุน Annual Resurvey ในเขตพื้นที่เมืองตั้งแต่ปี 2549 มาจนถึงปัจจุบัน
ผู้สนับสนุนโครงการยังรวมถึง National Science Foundation ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของโครงการ และสนับสนุนการวิจัยจากข้อมูลของโครงการ National Opinion Research (NORC) และ University of Chicago ที่ได้สนับสนุนการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม John Templeton Foundation ที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านบทบาทของผู้ประกอบการและธุรกิจในการลดความยากจนของครัวเรือน Consortium on Financial Systems and Poverty (CFSP) โดยเงินสนับสนุนจาก Bill & Melinda Gates Foundation ที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบระบบการเงิน และผลกระทบต่อคนจน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ข้อมูลมีความต่อเนื่อง ในปี 2558 สำนักงานกองทุนส่งเสริมการวิจัย (สกว.) และธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้เข้ามาให้การสนับสนุนทุนสำหรับการสำรวจ Monthly Resurvey และสนับสนุนให้เกิดชุดโครงการพัฒนาองค์ความรู้เศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยในประเทศไทยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล Townsend Thai Data ได้มากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่งานวิจัยเชิงลึกที่ประยุกต์ใช้ข้อมูลระดับครัวเรือนแบบตัวอย่างซ้ำ (household panel data) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งจากการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 และจากผลกระทบของวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างของเศรษฐกิจมหภาค และโครงสร้างประชากรของประเทศ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมถึงนโยบายต่าง ๆ จากภาครัฐในช่วงเวลาดังกล่าว ล้วนมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมและความเป็นดีอยู่ดีของครัวเรือน ทั้งในเขตเมืองและชนบท ซึ่งนักวิจัยหลายท่านได้ใช้ข้อมูลจาก Townsend Thai Project ทำการศึกษาพฤติกรรมครัวเรือน เศรษฐกิจหมู่บ้าน และผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา อาทิเช่น
Samphantharak และ Townsend (2009) ได้เสนอการประยุกต์หลักการทางบัญชีการเงินของบริษัท (corporate financial accounting) เพื่อใช้วิเคราะห์การเงินภาคครัวเรือน (household finance) และได้นำหลักการนี้ประยุกต์กับครัวเรือนจาก Monthly Survey ซึ่ง Paweenawat และ Townsend (2012) ได้ขยายกรอบแนวคิดดังกล่าว และประยุกต์หลักการทางบัญชีประชาชาติ เพื่อใช้วิเคราะห์เศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน
Felkner และ Townsend (2011) ได้ใช้ข้อมูล Annual Survey และข้อมูลจากกรมการพัฒนาชุมชน (CDD) ในการศึกษาการกระจุกตัวของหน่วยธุรกิจในประเทศไทย Paulson และ Townsend (2004 และ 2005) ใช้ข้อมูล Annual Survey ในการศึกษาผลของข้อจำกัดทางการเงิน (financial constraint) ต่อการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ของครัวเรือน ซึ่ง Paulson, Townsend และ Karaivanov (2006) ได้ขยายการศึกษาในเรื่องดังกล่าว และแยกผลของ limited liability และ moral hazard ต่อการเป็นผู้ประกอบการ ส่วน Karaivanov และ Townsend (2014) ใช้ข้อมูลที่มีความละเอียดจาก Monthly Survey ในการวิเคราะห์ และแยกแยะปัจจัยที่ก่อให้เกิดข้อจำกัดทางการเงินของครัวเรือน ข้อมูลจาก Monthly Survey ยังถูกใช้โดย Samphantharak และ Townsend (2012) เพื่อวัดผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (return on assets) ของธุรกิจครัวเรือน Pawasutipaisit และ Townsend (2011) ในการวิเคราะห์การสะสมความมั่งคั่ง (wealth) ของครัวเรือน และ Samphantharak และ Townsend (2015) เพื่อศึกษาผลตอบแทนของธุรกิจครัวเรือนที่มีความเสี่ยงในธุรกิจต่างกัน
Samphantharak และ Townsend (2009), Alem และ Townsend (2014) และ Kinnan และ Townsend (2012) ศึกษาผลของโครงข่ายทางครอบครัวและการเงิน (kinship and financial networks) ต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการลดความเสี่ยงของครัวเรือน โดยใช้ข้อมูลจาก Annual และ Monthly Surveys ส่วน Chiappori, Samphantharak, Schulhofer-Wohl และ Townsend (2013 และ 2014) ได้ใช้ข้อมูล Monthly Survey ในการศึกษาการร่วมกันรับความเสี่ยงระหว่างครัวเรือนที่มีทัศนคติต่อความเสี่ยงต่างกัน นอกจากนี้ Bonhomme, Chiappori, Townsend และ Yamada (2015) ได้ใช้ข้อมูลจาก Monthly Survey เช่นกันในการศึกษาการร่วมกันรับความเสี่ยงจากค่าแรงระหว่างครัวเรือนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน
Kaboski และ Townsend (2005) ใช้ข้อมูลจาก Annual Survey ในการศึกษาและประเมินผลกระทบของสถาบัน microfinance ต่อครัวเรือนชนบทไทย ในขณะที่ Ahlin และ Townsend (2007a และ 2007b) และ Huerta (2011) ใช้ข้อมูลจาก Annual Survey เช่นกันในการศึกษา joint liability ของหนี้ครัวเรือน โดย Ahlin และ Townsend ศึกษาถึงเหตุผลที่ครัวเรือนเลือกที่จะใช้ joint liability ในการกู้เงิน ส่วน Huerta เน้นการศึกษาไปที่บทบาทของพันธะทางสังคม (social tie) ต่อการชำระหนี้ ในงานศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง Giné (2011) ได้ใช้ข้อมูลจาก Annual Survey ในการศึกษาการมีอยู่ร่วมกัน (coexistence) ของสินเชื่อที่เป็นทางการ (formal) และไม่เป็นทางการ (informal) ของครัวเรือนชนบท ข้อมูลจาก Townsend Thai Survey ยังได้ถูกนำไปใช้ศึกษาผลของนโยบายรัฐบาล เช่น Kaboski และ Townsend (2011 และ 2012) ได้ใช้ Annual Survey ร่วมกับข้อมูลจาก Socioeconomic Survey (SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการวิเคราะห์ผลกระทบของกองทุนหมู่บ้านต่อพฤติกรรมของครัวเรือน ส่วน Tambunlertchai (2004) ได้ศึกษานโยบายพักหนี้ของรัฐบาลไทย โดยใช้ข้อมูลจาก Annual Survey
Giné และ Townsend (2004) ใช้ข้อมูลจาก Annual Survey และ SES ในการวิเคราะห์ผลของการเปิดเสรีทางการเงิน ต่อข้อจำกัดในการเลือกอาชีพของครัวเรือน Townsend และ Ueda (2006) ใช้ข้อมูลจาก Annual Survey ร่วมกับข้อมูลจาก SES และ CDD ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเข้าถึงการเงินของครัวเรือน ความไม่เท่าเทียมกัน (inequality) และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วน Townsend และ Ueda (2010) ได้ศึกษาสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น จากการเปิดเสรีทางการเงิน โดยใช้ข้อมูลจาก Annual Survey ร่วมกับ SES
Gruber, Hendren และ Townsend (2014) ใช้ข้อมูล Monthly Survey ในการศึกษาผลของนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” ต่อการใช้บริการทางสาธารณสุขของครัวเรือน และต่ออัตราการตายของทารก
Binford, Lee และ Townsend (2004) ได้นำเสนอการบูรณาการของการสำรวจทางเศรษฐกิจและสังคม (socioeconomic survey) กับการเก็บข้อมูลทางนิเวศน์วิทยา (ecological survey) ในการออกแบบการสำรวจ ส่วน Felkner, Tazhibayeva และ Townsend (2009) ใช้ข้อมูลครัวเรือน และข้อมูลสิ่งแวดล้อมจาก Monthly Survey ในการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ต่อการผลิตข้าวในประเทศไทย
บทความนี้นำเสนอความเป็นมา และข้อมูลเบื้องต้นของฐานข้อมูลระดับครัวเรือนแบบตัวอย่างซ้ำจาก Townsend Thai Survey ดังที่ได้สรุปไว้ในตารางด้านล่าง โดยบทความนี้เป็นส่วนหนี่งของชุดบทความที่สังเคราะห์และสรุปงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลดังกล่าว ในการศึกษาพฤติกรรมและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับครัวเรือนในประเทศไทย ชุดบทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนส่งเสริมการวิจัย (สกว.) ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลเพื่อการวิจัยสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรืออีเมล์ data@riped.utcc.ac.th
Ahlin, Christian and Robert M. Townsend. “Using Repayment Data to Test Across Models of Joint Liability Lending,” Economic Journal 117 (February 2007): F11-F51.
Ahlin, Christian and Robert M. Townsend. “Selection Into and Across Credit Contracts: Theory and Field Research,” Journal of Econometrics 136, Issue 2 (February 2007): 665–98.
Alem, Mauro and Robert M. Townsend. “An Evaluation of Financial Institutions: Impact on Consumption and Investment using Panel Data and the Theory of Risk-Bearing,” Journal of Econometrics, 183 (1) 91–103, 2014.
Binford, Michael W.; Tae Jeong Lee; and Robert M. Townsend. “Sampling Design for an Integrated Socioeconomic and Ecological Survey by Using Satellite Remote Sensing and Ordination.” Proceedings of the National Academy of Sciences 101(31), August 2004: 11517–11522.
Bonhomme, S.; Pierre-Andre Chiappori; Robert M. Townsend; and Hiroyuki Yamada “Sharing Wage Risk,” Working Paper, MIT, 2012.
Chiappori, Pierre-Andre; Krislert Samphantharak; Sam Schulhofer-Wohl; and Robert M. Townsend. “Portfolio Choices and Risk Preferences in Village Economies.” Federal Reserve Bank of Minneapolis Working Paper, 2013.
Chiappori, Pierre-Andre; Krislert Samphantharak; Sam Schulhofer-Wohl; and Robert M. Townsend. “Heterogeneity and Risk-Sharing in Village Economies,” with Pierre-Andre Chiappori, Krislert Samphantharak, and Samuel Schulhofer-Wohl, Quantitative Economics, 5 (1, March): 1–27, 2014.
Felkner, John; Kamilya Tazhibayeva; and Robert M. Townsend. “Impact of Climate Change on Rice Production in Thailand,” American Economic Review Papers and Proceedings, (May 2009): 1–10.
Felkner, John and Robert M. Townsend. “The Geographic Concentration of Enterprise in Developing Countries,” Quarterly Journal of Economics, 126 (4): 2005–2061, 2011.
Gine, Xavier and Robert M. Townsend. “Evaluation of Financial Liberalization: A general equilibrium model with constrained occupation choice,” Journal of Development Economics 74 (2004): 269–304.
Gruber, Jonathan; Nathaniel Hendren; and Robert M. Townsend. “The Great Equalizer: Health Care Access and Infant Mortality in Thailand,” American Economic Journal: Applied Economics, 6(1): 91–107, 2014.
Huerta, Adriana de la. “Microfinance in Rural and Urban Thailand: Policies, Social Ties and Successful Performance,” Working Paper, 2011.
Kaboski, Joseph P. and Robert M. Townsend. “Policies and Impact: An Evaluation of Village-Level Microfinance Institutions,” Journal of the European Economic Association 3, no. 1 (January 2005): 1–50.
Kaboski, Joseph P. and Robert M. Townsend. “A Structural Evaluation of a Large-Scale Quasi-Experimental Microfinance Initiative,” with Joseph P. Kaboski, Econometrica, 79 (5), 2011: 1357–1406.
Kaboski, Joseph P. and Robert M. Townsend. “The Impact of Credit on Village Economies,” American Economic Journal: Applied, 4 (2): 98–133, 2012.
Karaivanov, Alexander and Robert M. Townsend. “Dynamic Financial Constraints: Distinguishing Mechanism Design from Exogenously Incomplete Regimes,” Econometrica, 82 (3, May), 887–959, 2014
Kinnan, Cynthia and Robert M. Townsend. “Kinship and Financial Networks, Formal Financial Access and Risk Reduction,” American Economic Review Papers and Proceedings, 102 (3): 289–293, 2012.
Paulson, Anna L. and Robert M. Townsend. “Entrepreneurship and financial constraints in Thailand,” Journal of Corporate Finance 10 (2004): 229–62.
Paulson, Anna L. and Robert M. Townsend. “Financial constraints and entrepreneurship: Evidence from the Thai financial crisis,” In Economic Perspectives, Third Quarter 29, 34–48. Federal Reserve Bank of Chicago, 2005.
Paulson, Anna L.; Robert M. Townsend; and Alex Karaivanov. “Distinguishing Limited Liability from Moral Hazard in a Model of Entrepreneurship,” Journal of Political Economy 114, no. 1 (February 2006): 100–44.
Pawasutipaisit, Anan and Robert M. Townsend. “Wealth Accumulation and Factors Accounting for Success,” Journal of Econometrics, 161(1), March 2011: 56–81.
Paweenawat, Archawa and Robert M. Townsend. “Village Economic Accounts: Real and Financial Intertwined,” American Economic Review Papers and Proceedings, 102 (3): 441–446, 2012.
Samphantharak, Krislert and Robert M. Townsend. Households as Corporate Firms: An Analysis of Household Finance Using Integrated Household Surveys and Corporate Financial Accounting. Econometric Society Monograph Series. Cambridge; New York: Cambridge University Press, 2009.
Samphantharak, Krislert and Robert M. Townsend “Measuring the Return on Household Enterprise: What Matters Most for Whom?” Journal of Development Economics, 98 (1): 58–70, 2012.
Samphantharak, Krislert and Robert M. Townsend. “Risk and Return in Village Economies,” Working Paper, MIT and UCSD, 2015.
Tambunlertchai, Suchanan. “Instruments and Data Comparability: A Progress Report.” Micro, University of Chicago, 2004
Townsend, Robert M. and Kenichi Ueda. “Financial Deepening, Inequality, and Growth: A Model-Based Quantitative Evaluation,” Review of Economic Studies 73, Issue 1 (January 2006): 251–93.
Townsend, Robert M. and Kenichi Ueda. “Welfare Gains from Financial Liberalization,” International Economic Review, 51 (3): 553–597, 2010.
รายละเอียดเพิ่มเติมของ Townsend Thai Project สามารถศึกษาได้จาก
Townsend, Robert M. Financial System in Developing Economies, oxford: Oxford University Press, 2011.
Townsend, Robert M; Sombat Sakunthasathien; and Rob Jordan. Chronicles from the Field: The Townsend Thai Project, MIT Press, 2013.