บทเรียนจากกองทุนหมู่บ้าน
excerpt
กองทุนหมู่บ้านช่วยให้ครัวเรือนมีระดับการบริโภคที่สูงขึ้น เนื่องจากช่วยลดปัญหาข้อจำกัดด้านการกู้ยืม (borrowing constraint) และมีผลทำให้ครัวเรือนลดสินทรัพย์ที่มีไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน (buffer stock) แต่ไม่สามารถนำมาซึ่งการเป็นผู้ประกอบการและการขยายตัวของกิจการที่มีอยู่แล้วเท่าใดนัก ดังนั้น การเพิ่มเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านในอนาคตน่าจะมีผลทำให้ครัวเรือนสามารถเพิ่มการบริโภค แต่อาจจะไม่สามารถเพิ่มการลงทุนได้ และที่สำคัญ ภาครัฐควรจะพิจารณาการให้เงินสนับสนุนโดยตรงแก่ครัวเรือนแทนการเพิ่มเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงกว่า
นโยบาย “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” เป็นหนึ่งในนโยบายของภาครัฐที่ได้รับความสนใจอย่างมากทั้งภายในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นหนึ่งในโครงการ Microfinance ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ดำเนินการโดยภาครัฐ กองทุนหมู่บ้านมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกของหมู่บ้าน โดยแต่ละหมู่บ้านจะได้รับเงินทุนจำนวนเท่ากัน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ไม่ว่าจะมีจำนวนครัวเรือนในหมู่บ้านมากน้อยเพียงใด (รวมเป็นเงินมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท ในปี 2544 ซึ่งเป็นปีแรกของโครงการ) ซึ่งประมาณ 3 ใน 4 ของครัวเรือนในหมู่บ้านได้รับสินเชื่อจากโครงการดังกล่าว (Kaboski and Townsend, 2011, หน้า 107)
นโยบายนี้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการให้สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้านเพิ่มอีก 6 หมื่นล้านบาท1 โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคมไทย คณะผู้เขียนจึงได้สรุปบทเรียนเกี่ยวกับกองทุนหมู่บ้านจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำในระดับนานาชาติ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายกองทุนหมู่บ้านที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ว่ามีผลกระทบต่อพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของครัวเรือน (เช่น การบริโภค การออม การลงทุน) และสภาพสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ (เช่น ค่าแรง ดอกเบี้ยเงินกู้) อย่างไร?
ความยุ่งยากประการหนึ่งในการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายดังกล่าวคือ การตัดสินใจกู้ยืมสินเชื่อจากกองทุนหมู่บ้านอาจจะเป็นผลมาจากปัจจัยบางอย่างที่เราไม่มีข้อมูล ซึ่งทำให้ผลการประมาณการเกิดการเบี่ยงเบน (biased estimation) ดังนั้น Kaboski and Townsend (2012) จึงได้ใช้ส่วนกลับของจำนวนครัวเรือนในแต่ละหมู่บ้านเป็นตัวแปรเครื่องมือ (instrumental variable) เพื่อแก้ปัญหาการเบี่ยงเบนดังกล่าว โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่า กองทุนหมู่บ้านจะให้เงินทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท โดยไม่คำนึงถึงจำนวนครัวเรือนในหมู่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการทดลองเทียมทางนโยบาย (quasi-experiment intervention) ที่มีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ Kaboski and Townsend ยังได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล Townsend Thai Data ซึ่งเป็นข้อมูลแบบตัวอย่างซ้ำ (panel data) ที่เก็บอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 18 ปี2 ที่สำคัญข้อมูลชุดนี้เริ่มเก็บในช่วงปี 1977 และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งครอบคลุมช่วงก่อนโครงการฯ (ตั้งแต่ปี 1997–2001) และหลังโครงการฯ (ตั้งแต่ปี 2002–2007) จึงช่วยให้เราสามารถศึกษาถึงผลกระทบของโครงการฯ ได้เป็นอย่างดี
ผลการศึกษาของ Kaboski and Townsend (2012) พบว่า โครงการกองทุนหมู่บ้านมีผลทำให้อัตราการกู้ยืมของครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยเหตุผลหลักในการกู้ยืมคือเพื่อการบริโภค ซึ่งสอดคล้องกับผลของโครงการฯ ต่อการบริโภคของครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การบริโภคของครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากกว่าขนาดของสินเชื่อ (credit) ที่เพิ่มขึ้นในหมู่บ้าน กล่าวคือ ทุก ๆ 10,000 บาทของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นประมาณ 17,100 บาท โดยการบริโภคที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและยานพาหนะ แม้การเพิ่มขึ้นของการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย (เช่น เนื้อสัตว์ สุรา ยาสูบ) จะพอมีอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก
ความคาดหวังที่สำคัญอย่างหนึ่งของโครงการกองทุนหมู่บ้านคือ การลงทุนด้านธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี งานศึกษาข้างต้นไม่พบว่า จำนวนของธุรกิจเกิดใหม่ จำนวนเงินที่ลงทุนทำธุรกิจ (ทั้งจากธุรกิจค้าขาย และการเกษตร) จำนวนเงินในการซื้อปัจจัยการผลิตในการเกษตร และความน่าจะเป็นในการเป็นผู้ประกอบการ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะจำนวนเงินที่ครัวเรือนสามารถขอสินเชื่อได้ค่อนข้างน้อยเกินไปสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ อย่างไรก็ดี นักวิจัยทั้งสองพบว่า โครงการฯ ส่งผลให้รายได้จากค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินเชื่อจากโครงการฯ ไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อครัวเรือนที่กู้ยืมเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบทางอ้อมต่อค่าจ้างแรงงานด้วย ซึ่งเป็นผลกระทบทางดุลยภาพทั่วไป (general equilibrium effect) ที่น่าสนใจคือ ในงานวิจัยชิ้นนี้กลับไม่พบว่ารายได้จากธุรกิจและรายได้แรงงานในครัวเรือนที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าครัวเรือนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่า ในระยะยาว (6 ปีหลังจากมีกองทุนฯ) กองทุนหมู่บ้านส่งผลให้ปริมาณเงินกู้ในระบบเพิ่มสูงขึ้น การผิดนัดชำระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว แต่การผิดนัดชำระหนี้ในระยะสั้นกลับไม่เพิ่มขึ้น
แม้ว่า Kaboski and Townsend (2012) จะให้บทเรียนที่น่าสนใจหลายประเด็น แต่การวิเคราะห์โดยใช้สมการถดถอยแบบย่อ (reduced form regression) ทำให้เราไม่สามารถอธิบายถึงกลไกที่นำไปสู่ผลกระทบของโครงการฯ ได้ชัดเจนเพียงพอ ดังนั้น Kaboski and Townsend (2011) ได้ประมาณการแบบจำลองเชิงโครงสร้าง (structural model) ซึ่งสร้างมาจากแบบจำลองที่ให้ความสนใจกับปัญหาข้อจำกัดด้านการกู้ยืม (borrowing constraint) เช่น ไม่สามารถกู้ยืมได้ หรือ กู้ยืมได้น้อยเกินไป และเงื่อนไขด้านการลงทุนที่ต้องลงทุนเป็นก้อน (lumpy investment condition)5 โดยกำหนดให้บทบาทสำคัญของกองทุนหมู่บ้านคือการบรรเทาปัญหาข้อจำกัดก้านการกู้ยืม (relaxing the borrowing constraint) จุดเด่นของแบบจำลองเชิงโครงสร้างคือ ความสามารถในการทำนายผลกระทบของโครงการหรือนโยบายที่เราสนใจแต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง (counterfactual policy) ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แบบจำลองที่สร้างขึ้นอธิบายว่า ครัวเรือนที่มีสภาพคล่อง (liquidity) ที่แตกต่างกัน จะตอบสนองต่อกองทุนหมู่บ้านแตกต่างกันไป โดยแบ่งครัวเรือนออกได้เป็น 5 กลุ่ม
- กลุ่มที่มีสภาพคล่องต่ำมากและจะไม่ชำระหนี้ (default) การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ (credit) จะไม่มีผลต่อการบริโภคของพวกเขาแต่อย่างใด
- กลุ่มที่มีสภาพคล่องต่ำแต่ยังชำระหนี้และข้อจำกัดด้านการกู้ยืมที่ตรึงตัว (binding borrowing constraints) การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ (credit) จะมีผลทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นด้วยการกู้ยืมจากสินเชื่อที่มีเพิ่มมากขึ้น
- ครัวเรือนที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูงซึ่งข้อจำกัดด้านการกู้ยืมไม่ตรึงตัว การบริโภคจะเพิ่มขึ้นด้วยการลดสินทรัพย์ที่มีไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน (buffer stock) แทนที่จะกู้ยืมมากขึ้น เนื่องจากพวกเขารู้ว่าจะมีแหล่งเงินกู้ให้ใช้ในอนาคต
- กลุ่มที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูงและพร้อมจะลงทุนซึ่งมีข้อจำกัดด้านการกู้ยืมที่ตรึงตัว ครัวเรือนกลุ่มนี้จะลงทุนด้วยการกู้ยืมที่มากขึ้นพร้อมกับการลดการบริโภคลง
- กลุ่มที่มีสภาพคล่องสูงมากซึ่งข้อจำกัดด้านการกู้ยืมไม่ตรึงตัว จะบริโภคเพิ่มขึ้นด้วยการลดสินทรัพย์แทนที่จะกู้ยืมมากขึ้น เนื่องจากรู้ว่าจะมีแหล่งเงินกู้ให้ใช้ในอนาคต ดูรูปที่ 2 ประกอบ
ผลการประมาณการของแบบจำลองพบว่า ครัวเรือนที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มการบริโภคหลังจากมีกองทุนหมู่บ้าน (กลุ่มที่ 2, 3 และ 5) มีทั้งหมดประมาณร้อยละ 77 ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่เพิ่มการบริโภคโดยไม่ต้องกู้เพิ่ม (กลุ่มที่ 3 และ 5) มีทั้งหมดประมาณร้อยละ 51 ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่ง ข้อค้นพบส่วนนี้ช่วยอธิบายว่าทำไม Kaboski and Townsend (2012)6 จึงพบว่า การบริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่าสินเชื่อที่ใส่เข้าไป ในขณะเดียวกัน ผลการประมาณการพบว่า กลุ่มที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูงและพร้อมจะลงทุนมีอยู่เพียงร้อยละ 4 ซึ่งก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไม งานศึกษาก่อนหน้านี้จึงพบว่า กองทุนหมู่บ้านไม่สามารถช่วยเพิ่มการลงทุนได้มากนัก
นอกจากนี้ งานศึกษาชิ้นนี้ยังได้เปรียบเทียบถึงประสิทธิผลด้านต้นทุนระหว่างโครงการกองทุนหมู่บ้าน กับการให้เงินสนับสนุนแบบให้เปล่าโดยตรงกับครัวเรือนทุก ๆ ครัวเรือนเท่า ๆ กัน โดยตั้งคำถามว่า ต้นทุนในการสนับสนุนด้วยเงินให้เปล่าจะต้องเป็นเท่าใด จึงจะทำให้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยมีระดับความพึงพอใจ (utility) เท่ากับระดับความพึงพอใจภายใต้กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 10,100 บาทต่อครัวเรือน7
ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนเฉลี่ยในการสนับสนุนด้วยเงินให้เปล่าเท่ากับ 7,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนของกองทุนหมู่บ้านซึ่งใช้ต้นทุน 10,100 บาทต่อครัวเรือน กล่าวคือ เราสามารถประหยัดงบประมาณโดยรวมได้ถึงร้อยละ 30 ด้วยการสนับสนุนด้วยเงินให้เปล่าแทนที่จะใช้ระบบกองทุนหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่แต่ละครัวเรือนได้รับมีความแตกต่างกัน (heterogeneity) ดังแสดงในรูปที่ 3 ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า ร้อยละ 76 ของครัวเรือนได้รับได้ผลประโยชน์จากกองทุนหมู่บ้านน้อยกว่าต้นทุนของโครงการฯ (ที่ 10,100 บาท) และมีเพียงร้อยละ 24 ของครัวเรือนที่ได้รับได้ผลประโยชน์จากกองทุนหมู่บ้านมากกว่าต้นทุนของโครงการฯ ในขณะที่ ร้อยละ 50 ของครัวเรือนได้รับผลประโยชน์น้อยกว่า 5,300 บาท ปัจจัยที่ทำให้กองทุนหมู่บ้านมีประสิทธิภาพด้านต้นทุน (หรือผลประโยชน์ของโครงการ) ที่ต่ำกว่า คือ
- ความไม่สามารถในการให้ผลประโยชน์ในการเพิ่มการบริโภคแก่ครัวเรือนที่มีปัญหาด้านการชำระหนี้
- ต้นทุนของโครงการที่เพิ่มขึ้นเมื่อเกิดการไม่ชำระหนี้ และ
- การที่ครัวเรือนต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ทำให้ความสามารถในการบริโภค/ลงทุนของครัวเรือนลดลง
โดยรวม งานศึกษาของ Kobaski and Townsend (2011, 2012) ชี้ให้เห็นว่า กองทุนหมู่บ้านช่วยให้ครัวเรือนมีระดับการบริโภคที่สูงขึ้น เนื่องจากช่วยลดปัญหาข้อจำกัดด้านการกู้ยืม (borrowing constraint) และมีผลทำให้ครัวเรือนลดสินทรัพย์ที่มีไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน (buffer stock) แต่กองทุนหมู่บ้านไม่สามารถเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการหรือช่วยให้กิจการที่มีอยู่แล้วสามารถขยายตัวได้มากเท่าใดนัก ดังนั้น การเพิ่มเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านในอนาคตน่าจะมีผลทำให้ครัวเรือนสามารถเพิ่มการบริโภค แต่อาจจะไม่สามารถเพิ่มการลงทุนได้ และที่สำคัญ ภาครัฐควรจะพิจารณาการให้เงินสนับสนุนโดยตรงแก่ครัวเรือนแทนการเพิ่มเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงกว่า
Kaboski, J. P. and R. M. Townsend (2011). A structural evaluation of a large-scale quasi-experimental microfinance initiative. Econometrica 79(5), 1357–1406.
Kaboski, J. P. and R. M. Townsend (2012). The impact of credit on village economies. American economic journal. Applied economics 4(2), 98.
- http://thaipublica.org/2015/09/ncpo-cabinet-2558_38/↩
- ในช่วงที่ทั้งสองเขียนงานวิจัย ข้อมูลชุดดังกล่าวได้จัดเก็บมาแล้วเป็นเวลา 11 ปี↩
- ในงานศึกษาของ Kaboski and Townsend (2012) ได้แสดงผลของโครงการฯ ต่อการบริโภคในหมวดต่าง ๆ ทั้งหมด 12 หมวด แต่คณะผู้เขียนเลือกแสดงผลเฉพาะแต่ที่ผลกระทบมีนัยสำคัญทางสถิติในหลายแบบจำลองเท่านั้น หมวดสินค้าที่งานศึกษาพบว่าผลไม่มีนัยสำคัญทางสถิติได้แก่ การใช้จ่ายด้านการศึกษา ข้าว การบริโภคแอลกอฮอล์นอกบ้าน งานรื่นเริง เสื้อผ้า เป็นต้น↩
- นัยสำคัญทางสถิติในที่นี้คือนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 10 % หรือน้อยกว่านั้น↩
- แบบจำลองที่การลงทุนต้องใช้เงินที่ต้องใช้เงินก้อนแทนที่ขนาดใหญ่พอ จะช่วยสามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่เราอาจจะไม่เห็นผลลัพธ์ของการกู้ยืมต่อการลงทุนเมื่อขนาดของเงินกู้มีขนาดเล็กเกินไป↩
- งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มหลังจาก Kaboski and Townsend (2012) หลายปี แต่ได้รับการตีพิมพ์ก่อน↩
- ทั้งนี้ ต้นทุนของกองทุนหมู่บ้านอาจสูงกว่านี้ เนื่องจากในการศึกษายังไม่รวมถึงต้นทุนในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน↩