เศรษฐกิจไทยในสังคมชราภาพ : บริบทใหม่ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางรายได้
excerpt
การเข้าสู่สังคมชราภาพของประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ การเติบโต ทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มที่จะโตได้ช้าลง โครงสร้างลักษณะอาชีพของแรงงานไทยในอนาคตอาจซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้น บทความนี้นำเสนอการศึกษาผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมชราภาพต่อเศรษฐกิจ รวมถึงนำเสนอแนวนโยบายที่อาจมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 10 (ผู้สูงอายุ หมายถึงประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยตามเกณฑ์ของสหประชาชาติ ไปแล้ว ในทศวรรษที่ผ่านมาจำนวนประชากรผู้สูงอายุยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขสำรวจในปี พ.ศ. 2557 พบว่าผู้สูงอายุมีสัดส่วนถึงร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดประมาณ 10 ล้านคน แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว ยังจะคงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต การประมาณการโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ในปี พ.ศ. 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 โดยสัดส่วนของประชากรเด็กจะเหลือเพียงร้อยละ 12.8 เท่านั้น นอกจากนี้ ในอีก 12 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรไทยจะเริ่ม ‘ลดลง’ และในอีก 25 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรลดลงกว่า 1 ล้านคนจากปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่กำลังเกิดขึ้น แม้จะสร้างความกังวลใจให้กับใครหลายคน แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็เป็นผลมาจากนโยบายที่ตั้งใจผลักดันให้เกิดขึ้น รวมถึงจากการเปลี่ยนแปลงตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เกิดขึ้นตามระดับการพัฒนา ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จมากในการวางแผนครอบครัว ในช่วง พ.ศ. 2515–2538 อัตราการเติบโตของประชากรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากร้อยละ 3.3 มาเป็นร้อยละ 1.2 ส่งผลให้สัดส่วนบุตรต่อมารดาลดลงจาก 5.8 คน มาเป็น 2.2 คนในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนั้น ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้อายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นนโยบายที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี เราคงจะต้องทำความเข้าใจถึงผลกระทบต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว และเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อทำให้การพัฒนาประเทศไทยสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน บทความนี้รวบรวมประเด็นผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมชราภาพต่อมิติทางเศรษฐกิจ รวมถึงนำเสนอแนวนโยบายที่อาจมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว
การเข้าสู่สังคมชราภาพของประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ในเชิงปริมาณนั่นหมายถึงจำนวนปัจจัยการผลิตของประเทศที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มที่จะโตได้ช้าลงในอนาคต เนื่องจากสัดส่วนคนทำงานลดลง ดังนั้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เราเคยเห็นว่า เศรษฐกิจไทยโตในอัตรา 5–6 เปอร์เซ็นต์ คงจะเห็นได้ยากขึ้นในอนาคต
งานวิจัยของ Bisonyabut (2013) และ Ariyasajjakorn & Manprasert. (2014) คาดการณ์ไว้ว่าสัดส่วนแรงงานที่ลดลงในอนาคตอาจทำให้ Potential GDP Growth ของประเทศไทยหายไปถึงร้อยละ 1–1.6 กล่าวคือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.5 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาจชะลอลงเป็นร้อยละ 3–3.5% เท่านั้นในอนาคต นั่นหมายถึงว่า คุณภาพชีวิตของคนไทยจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็นถึง 2 เท่า หากเวลาผ่านไป 70 ปี สิ่งที่น่ากังวลใจก็คือประเทศไทยจะ ‘แก่ก่อนรวย’ การขาดแคลนปัจจัยการผลิตพื้นฐานในขณะที่เรายังไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจทำให้ประเทศไทย ‘ติดกับดักรายได้ปานกลาง’ ตลอดไปก็เป็นได้
นอกเหนือไปจากผลกระทบด้าน ‘จำนวนแรงงาน’ ที่ลดลงแล้ว โครงสร้างของตลาดแรงงานและลักษณะการเลือกอาชีพของผู้มีงานทำก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และอาจทำให้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ในปี พ.ศ. 2556 ประเทศไทยมีสัดส่วนแรงงานที่เป็น ผู้จ้างงานตนเอง (self-employed) ประมาณร้อยละ 35 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ทั้งนี้คนทำงานวัย 50–60 ปี มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 50 ที่เป็นผู้จ้างงานตนเอง ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพอยู่ในภาคเกษตรกรรมและค้าขาย ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังชี้ให้เห็นว่ากลุ่มแรงงานมักจะเป็นลูกจ้างเมื่อมีอายุน้อย และมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพจ้างงานตนเองหรือเป็นนายจ้างเมื่อมีอายุมากขึ้น นอกจากนั้น ในกลุ่มแรงงานที่มีอายุสูงก็มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้จ้างงานตนเองเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง Arayavechkit et al. (2015) พบว่าในปี 2035 จะมีแรงงานวัย 50–60 ปีสูงขึ้นมาก และเป็นผู้จ้างงานตนเองมากกว่าร้อยละ 60 ดังนั้นผลจากการเข้าสู่สังคมชราภาพและลักษณะโครงสร้างที่เปลี่ยนไปของลักษณะการประกอบอาชีพภายในกลุ่มแรงงานเอง ล้วนช่วยส่งเสริมให้ตลาดแรงงานของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะประกอบไปด้วยแรงงานที่เป็นผู้จ้างงานตนเองมากขึ้นในอนาคต
หากกำลังแรงงานในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเลือกอาชีพที่เป็นการจ้างงานตนเองมากขึ้น ลักษณะอาชีพดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่าการเป็นเจ้าของกิจการหรือลูกจ้าง ดังนั้นจึงสามารถส่งผลให้การเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศชะลอตัวลงได้ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการเลือกอาชีพที่มีประสิทธิภาพต่ำของกำลังแรงงานไทยในอนาคต อาจส่งผลให้ผลผลิตต่อหัวโดยรวม ของประเทศลดลงได้ถึงร้อยละ 30 ในอีก 30 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ หากแรงงานส่วนใหญ่ในอนาคตมีความแตกต่างกันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นทักษะการทำงานหรือการถือครองสินทรัพย์ ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการหารายได้ที่แตกต่างกันมากขึ้น ก็อาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จากข้อมูลการสำรวจฯ พบว่าแรงงานที่เป็นเจ้านายตัวเอง (self-employed) ซึ่งได้แก่ผู้จ้างงานตนเองและเจ้าของกิจการจะมีรายได้แตกต่างกันมากกว่าหากเปรียบเทียบกับการกระจายตัวของรายได้ภายในผู้มีงานทำที่เป็นลูกจ้าง
พื้นที่การกระจายตัวของรายได้ผู้จ้างงานตนเองแสดงให้เห็นว่าแรงงานส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มีรายได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย และมีความแตกต่างของรายได้ภายในกลุ่มสูง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความสามารถของแรงงาน สินทรัพย์ที่ถือครอง และขนาดของธุรกิจ ดังนั้นจากข้อมูลโครงสร้างรายได้ของแรงงานเราจึงพบว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้โดยรวมจะเป็นผลมาจากความแตกต่างของรายได้แรงงานภายในกลุ่มผู้ที่เป็นเจ้านายตัวเองเป็นส่วนใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำภายในกลุ่มแรงงานผู้ที่เป็นเจ้านายตัวเองมีค่ามากกว่าความเหลื่อมล้ำภายในกลุ่มที่เป็นลูกจ้างถึง 4 เท่าตัว
นอกจากผลกระทบทางตรงดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ผลกระทบทางอ้อมจากการตึงตัวของอุปทานในตลาดแรงงานส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กิจการขนาดเล็กมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพต่ำอาจถูกผลักออกจากระบบและกลายมาเป็นผู้จ้างงานตนเองที่มีประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งจะส่งผลในทางลบเพิ่มเติมไปยังผลิตภาพการผลิตของประเทศที่ลดลงและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น ผลของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ จะทำให้ผลในทางลบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อผลผลิตต่อหัว ประสิทธิภาพการผลิต และความเหลื่อมล้ำด้านรายได้รุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โดยผ่านแรงจูงใจให้แรงงานกลายมาเป็นผู้จ้างงานตนเองเนื่องจากมีต้นทุนการกู้ยืมที่ถูกลง
เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เราก็ต้องไปแก้ที่โครงสร้าง ซึ่งหมายถึงต้องใช้เวลาและเป็นมาตรการระยะยาว ประเทศญี่ปุ่นได้เตรียมการมากกว่า 30 ปีที่จะรับมือกับเรื่องนี้ โดยทั่วไปแล้วนโยบายที่จะรับมือกับการเศรษฐกิจชราภาพมักจะเกี่ยวข้องกับการขยายอายุการเกษียณการทำงาน การเพิ่มการลงทุน การพัฒนาทุนมนุษย์ และการยกระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว
การขยายอายุเกษียณการทำงาน งานศึกษาโดย Ariyasajjakorn & Manprasert. (2014) ชี้ให้เห็นว่าการขยายอายุเกษียณการทำงานของผู้มีงานทำในประเทศไทยสามารถ ‘เลื่อน’ ผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงจาก การเข้าสู่สังคมชราภาพออกไปได้ประมาณ 10 ปี แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวทำได้ในระยะสั้นและสามารถซื้อเวลาเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยในระหว่างการเตรียมรับมือกับปัญหาในระยะยาว งานวิจัยพบว่า ผลิตภาพของแรงงานไทยต้องเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 เพื่อที่จะชดเชยกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้เทคโนโลยีมาเป็น ตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแทนที่การใช้ปัจจัยการผลิตขั้นต้น ที่มีเพียงทุนและแรงงานตามแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา
การเพิ่มผลิตภาพการผลิตของประเทศ สามารถถูกส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้หลายทาง เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้เพื่อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านต้นทุนการขนส่งและคมนาคมที่ลดลง นอกจากการปรับปรุงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประเภท Hard Infrastructure แล้ว การยกระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่เป็น Soft Infrastructure เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพระบบราชการ การแก้ปัญหาคอรัปชั่น การลดความบิดเบือนในตลาด การลดการผูกขาด และการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม จะช่วยให้ ‘ผู้เล่น’ ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเกิดแรงจูงใจที่จะแข่งขันกันด้วย ‘การพัฒนา’ คุณภาพและประสิทธิภาพ นอกจากนั้น การส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนามาเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมการผลิต ซึ่งหมายถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิต โดยใช้ ‘สิ่งใหม่’ เป็นตัวแข่งขัน ไม่ใช่ ‘ของเก่า’ ที่ราคาถูกลงเพื่อแข่งขันทางการค้า
การพัฒนาระบบการเงิน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพและมีนวัตกรรม หรือการเอื้อให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีประสบการณ์ขยายกิจการให้เติบโตขึ้นได้ ดังนั้น ประเด็นสำคัญในการพัฒนาระบบการเงินจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สมบูรณ์ (Asymmetric Information) ในตลาดการเงินโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ ‘ผู้เล่นหน้าใหม่’ ซึ่งอาจทำได้โดยการพัฒนาระบบข้อมูลเครดิตของผู้ประกอบการรายย่อย รายใหม่และนอกระบบ รวมถึงระบบสัญญา การบังคับใช้และการกำกับที่สามารถคัดกรองและทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เมื่อระบบการเงินทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการช่วยจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ สิ่งดังกล่าวจะส่งผลให้ผลิตภาพโดยรวมของประเทศ รวมถึงรายได้ต่อหัวของคนไทยเติบโตขึ้นได้ในที่สุด
การพัฒนาทักษะเฉพาะทาง ซึ่งหมายถึงการส่งเสริมให้แรงงานมีทักษะที่เอื้อต่อการเลือกลักษณะอาชีพที่ตนเองถนัด ได้แก่ การพัฒนาทักษะในการบริหารองค์กรและการบริหารการเงินให้กับแรงงานผู้ที่มีความถนัดในการเป็นผู้ประกอบการ หรือในทางตรงกันข้าม การพัฒนาคุณภาพทรัพยากรบุคคลเฉพาะด้านให้กับแรงงานที่มีแนวโน้ม จะเป็นลูกจ้าง สิ่งดังกล่าวสามารถทำได้ผ่านกระบวนการทางการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบตลอดช่วงอายุของประชากรไทย การพัฒนาทักษาะเฉพาะทางให้กับแรงงานว่า ‘จะบริหารเก่ง’ หรือ ‘จะทำงานเก่ง’ จะส่งเสริมให้ภาพรวมของ การจัดสรรทรัพยากรแรงงานของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ประกอบการจะบริหารเก่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถจ้างคนงานที่มีความสามารถมากขึ้นด้วย งานวิจัยพบว่า สิ่งดังกล่าวจะช่วยยกระดับผลผลิตต่อหัวของประเทศ รวมทั้งช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้อย่างมีนัยสำคัญ
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยผ่านทั้งทางด้านปริมาณ (จำนวนแรงงานลดลง) และคุณภาพ (โครงสร้างการเลือกอาชีพที่มีผลิตภาพต่ำ) สิ่งดังกล่าวก็เป็นผลลัพธ์ของกระบวนการพัฒนา ทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเกิดขึ้นตามลำดับขั้นของการพัฒนา การพัฒนาทางการแพทย์ การวางแผนครอบครับที่ดี และ ต้นทุนค่าเสียโอกาสส่วนบุคคลที่สูงขึ้นของการมีบุตรล้วนมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมชราภาพ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาคงมิใช่การเพิ่มจำนวนประชากรหากแต่อาจมองไปข้างหน้าว่า ในจำนวนประชากรและกำลังแรงงานที่น้อยลง ‘แบบจำลองใหม่’ ในการพัฒนาประเทศไทยในลำดับขั้นต่อไปควรจะเป็นอย่างไร งานศึกษาโดย Arayavechkit et al. (2015) ได้สรุปข้อเสนอแนะไว้ว่า การผลักดันนโยบายร่วมที่ส่งเสริมทั้งการพัฒนาทักษะแรงงานเฉพาะด้านและการพัฒนาระบบการเงินให้ผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นจะช่วยทำให้ทั้งผลิตภาพของประเทศเพิ่มสูงขึ้น ผลผลิตต่อหัวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี
นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาในบทความนี้ เรายังคงต้องคำนึงถึงผลกระทบอื่นที่นอกเหนือไปจากมิติทางเศรษฐกิจ ประเด็นที่ถกเถียงกันปัจจุบันที่สังคมให้ความสนใจมาก เช่น เรื่องการสาธารณะสุข การดูแลคนชรา ความมั่นคงทางชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนชรา ทั้งนี้ ความสนใจมุ่งเป้าไปที่ ‘คนชราในอนาคต’ อย่างไรก็ดี สังคมไทยในอนาคต มิได้ประกอบไปด้วยคนชราเท่านั้น ผลกระทบของสังคมชราภาพจะกระทบกับทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือประชากรวัยทำงานในอนาคต หากแต่คนที่ไม่ชราเหล่านั้นอาจจะยังไม่สามารถส่งเสียงให้เราตระหนักถึงผลกระทบที่จะได้รับในอนาคต