สินเชื่อภาคธนาคาร กับการส่งผ่านนโยบายการเงิน

excerpt
การส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านช่องทางสินเชื่อภาคธนาคารถือเป็นช่องทางที่สำคัญช่องทางหนึ่งในระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาสินเชื่อเป็นแหล่งเงินทุนหลักอย่างหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย บทความนี้ศึกษาโดยใช้ข้อมูลรายธนาคารจากประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย เพื่อชี้ให้เห็นว่าธนาคารที่มีสถานะทางการเงินและรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกันจะมีการตอบสนองต่อนโยบายการเงินมากน้อยแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงด้านการเงิน รวมทั้งบทบาทของธนาคารต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ยังทำให้สินเชื่อตอบสนองต่อนโยบายการเงินในประเทศน้อยลงและอ่อนไหวต่อภาวะการเงินในต่างประเทศมากขึ้น
ความผันผวนในตลาดหุ้นจีนหรือตลาดการเงินยุโรปที่สร้างแรงกระเพื่อมไปยังตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้ หรือเหตุการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผันผวนและอ่อนไหว ต่อข่าวการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักมากขึ้น ต่างเป็นอาการที่สะท้อนถึงความเชื่อมโยงทางการเงินโลกที่สูงขึ้น หรือที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ทางการเงิน (financial globalization) อันเป็นผลจากการเปิดเสรีทาง การเงินของประเทศต่าง ๆ ผนวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการเงินและการสื่อสารที่ช่วยลดอุปสรรคในการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินข้ามชาติ รวมทั้งพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคที่ผลักดันให้เกิดการแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่าข้ามพรมแดนประเทศ1
โลกาภิวัตน์ทางการเงินนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีแนวโน้มที่จะทวีความเข้มข้นขึ้น และรูปแบบอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งหากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในภาคการเงินระหว่างประเทศที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ในระยะหลัง จะพบบริบทใหม่ที่ชัดเจนอย่างน้อย 3 ด้าน คือ
- การที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากความพยายามของประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยจนติดหรือทะลุขอบล่าง (zero bound) และการทำมาตรการผ่อนคลายพิเศษที่เรียกกันว่า quantitative easing ทำให้สภาพคล่องในตลาดการเงินโลก (global liquidity) ล้นตลาด
- กระแสเงินทุนจากต่างประเทศไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลัง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำกว่าดอกเบี้ยภายในประเทศ (รูปที่ 1)
- บทบาทของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตการเงินโลก (รูปที่ 2)
ภาคการเงินการธนาคารที่ดูเหมือนจะไร้พรมแดนขึ้นเรื่อย ๆ ผนวกกับภาวะการเงินทั่วโลกที่ได้รับอิทธิพลจาก การดำเนินนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักนำมาสู่คำถามที่ว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้จะกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละประเทศอย่างไร งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาผลกระทบจากภาวะการเงินโลกภายใต้บริบทใหม่รวมทั้งบทบาทที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการเงินต่างชาติในภูมิภาคเอเชีย ที่อาจส่งผลต่อกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านช่องทางสินเชื่อของภาคธนาคาร
เมื่อพูดถึงบทบาทของภาคธนาคารในการส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง ช่องทางสินเชื่อ (Credit channel) เป็นช่องทางที่สำคัญช่องทางหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสามารถส่งผลกระทบต่อ ‘ปริมาณ’ สินเชื่อในระบบเศรษฐกิจ และขยายผลของนโยบายการเงินต่อเศรษฐกิจ เพิ่มเติมจากการส่งผ่านในช่องทางอัตราดอกเบี้ย (Interest rate channel) ที่ส่งผลกระทบผ่าน ‘ราคา’ หรือ ‘ต้นทุน’ ของการกู้ยืมเพื่อประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
Bernanke and Gertler (1995) ได้แบ่ง Credit channel นี้ออกได้เป็น 2 ช่องทางย่อย คือ (1) ช่องทางงบดุลของภาคธุรกิจ และครัวเรือน (Balance sheet channel) และ (2) ช่องทาง การปล่อยสินเชื่อ (Bank lending channel) โดยทั้งสองช่องทางนี้อ้างอิงถึงความไม่สมบูรณ์ของการรับรู้ข้อมูล (imperfect information) ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ที่ทำให้เกิด ‘frictions’ ในตลาดกู้ยืมเงิน และทำให้เกิดต้นทุนของการระดมทุนจากภายนอก (external finance premium: EFP) เช่น การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน การระดมทุนจากตลาดทุนสูงกว่าต้นทุน ของการใช้เงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท
ค่า EFP นี้โดยทั่วไปจะอยู่ในระดับต่ำสำหรับบริษัทหรือธนาคารที่มีสถานะทางการเงินแข็งแกร่ง แต่มักจะสูงสำหรับบริษัทหรือธนาคารที่มีสถานะทางการเงินอ่อนแอหรือ มีข้อจำกัดทางการเงิน (financial constraint) ทำให้ EFP เป็นตัวแปรสำคัญตัวแปรหนึ่งในการตัดสินใจขยายการลงทุน โดยเฉพาะสำหรับบริษัทหรือธนาคารที่มีข้อจำกัดทางการเงิน ทั้งนี้ นโยบายการเงินหรือระดับอัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจ สามารถส่งผลกระทบต่อ EFP นี้ได้ และส่งผลให้เกิดการกระตุ้นหรือชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านกลุ่มบริษัทหรือธนาคารที่มีความอ่อนไหวต่อ EFP เป็นสำคัญ
ความแตกต่างระหว่าง Balance sheet channel กับ Bank lending channel อยู่ตรงที่กลไกในการส่งผ่านจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยัง EFP โดยสำหรับในช่องทางแรก Balance sheet channel อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้สถานะทางการเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (net worth) ของบริษัทย่ำแย่ลงจาก การที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นสำหรับหนี้สินที่มีอยู่ หรือการที่สินทรัพย์ที่สามารถใช้เป็นหลักประกันเงินกู้มีมูลค่าลดลงจากอัตราส่วนลด (discount rate) ที่สูงขึ้น เป็นต้น จึงทำให้ EFP เพิ่มขึ้นและความสามารถในการกู้ยืมจากแหล่งทุนภายนอกลดลงไปด้วย นำไปสู่การชะลอลงของการบริโภคและการลงทุน
สำหรับ Bank lending channel ค่า EFP ในการระดมทุนของธนาคารเพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อจะขึ้นอยู่กับภาวะการเงินโดยรวมและสถานะทางการเงินของแต่ละธนาคาร โดยเมื่อธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนการระดมทุนของธนาคารพาณิชย์จากทั้ง net worth ที่ลดลง และจากความเสี่ยงที่สูงขึ้นในมุมมอง ของนักลงทุน (risk perception) (Disyatat, 2010) ส่งผลให้ EFP สูงขึ้นและทำให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องลดปริมาณการปล่อยสินเชื่อเนื่องจากต้นทุนการระดมทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้การอุปโภคบริโภคและการลงทุนในประเทศลดลงในที่สุด
หัวใจสำคัญของทฤษฎี Bank lending channel นี้ คือ ขนาดของการเปลี่ยนแปลงปริมาณสินเชื่อจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของแต่ละธนาคาร โดยธนาคารที่มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่าจะชะลอการให้สินเชื่อมากกว่าในภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น การศึกษาที่ผ่านมามักพบว่า ธนาคารที่มีขนาดเล็ก มีสัดส่วนทุนต่ำ และ/หรือมี สภาพคล่องทางการเงินต่ำ จะมีข้อจำกัดทางการเงินมากกว่า และจำเป็นต้องลดการปล่อยสินเชื่อลงมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่ และมีสภาพคล่องทางการเงินสูง รูปที่ 3 แสดงกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินในช่องทาง Bank lending โดยเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น Bank A ที่มีข้อจำกัดทางการเงินจะเผชิญกับ EFP ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า Bank B ทำให้ต้องลดอุปทานสินเชื่อลงมากกว่า และนำไปสู่การลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม
บทความนี้สรุปผลจากงานวิจัยของ Ananchotikul and Dulani (2015) ที่ศึกษา Bank lending channel โดยใช้การวิเคราะห์เชิงประจักษ์ด้วยข้อมูลรายธนาคารจาก 9 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินเดีย และไทย ระหว่างปี ค.ศ. 2000–2013 รวมทั้งสิ้น 260 ธนาคาร1 และใช้แบบจำลองสมการถดถอยแบบ Panel fixed-effects เพื่อศึกษาการตอบสนองของอัตราการเติบโตของสินเชื่อต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ว่ามีความแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละธนาคารหรือไม่ โดย ‘ลักษณะเฉพาะ’(characteristics) ที่ทดสอบ ได้แก่ รูปแบบความเป็นเจ้าของ (ธนาคารเอกชน ธนาคารรัฐ ธนาคารต่างชาติ) ขนาดของธนาคาร และสถานะทางการเงิน (สัดส่วนทุน สภาพคล่อง และสัดส่วนการปล่อยกู้ต่อเงินฝาก) และรูปแบบธุรกิจ
รูปที่ 4 แสดงรูปแบบของแบบจำลองหลักที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลของการตอบสนองของการขยายตัวของสินเชื่อ (L) ต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (MP) โดยมีตัวแปรไขว้ (Interaction) ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (MP) กับลักษณะเฉพาะต่าง ๆ ของแต่ละธนาคาร (BankChar) ซึ่งค่าสัมประสิทธิ์หน้าตัวแปรไขว้นี้ จะเป็นตัวบ่งบอกว่านโยบายการเงินกระทบธนาคารแต่ละแบบแตกต่างกันหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรควบคุม ได้แก่ อุปสงค์ต่อสินเชื่อซึ่งใช้ proxy ด้วยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งตัวแปรคงที่ bank fixed-effects และ time fixed-effects
ผลการศึกษายืนยันว่า ธนาคารที่มีสถานะการเงินที่แตกต่างกัน ตอบสนองต่อนโยบายการเงินแตกต่างกัน โดยพบว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารที่มีสภาพคล่องต่ำและมีสัดส่วนการปล่อยกู้ต่อฐานเงินฝาก (Loan to deposit ratio: L/D) สูง จะลดการขยายตัวของสินเชื่อลงมากกว่าธนาคารที่มีสภาพคล่องสูงและ L/D ต่ำ ซึ่งสองตัวแปรนี้สะท้อนข้อจำกัดทางการเงิน (Financial constraint) ที่แตกต่างกันระหว่างธนาคารตามทฤษฎีที่กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่าขนาดของธนาคารหรือสัดส่วนทุนส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการตอบสนองของสินเชื่อของแต่ละธนาคารต่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงิน
การศึกษายังพบว่าธนาคารในประเทศ (domestic bank) ทั้งธนาคารของรัฐและธนาคารเอกชนตอบสนองต่อนโยบายการเงินในทิศทางที่เป็นไปตามทฤษฎี นั่นคือ การขยายตัวของสินเชื่อลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น ในขณะที่ธนาคารต่างชาติมีพฤติกรรมที่แตกต่างไป โดยสินเชื่อของธนาคารต่างชาติยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้นโยบายการเงินในประเทศจะตึงตัวขึ้น จากงานศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับพฤติกรรมของธนาคารต่างชาติที่มีเครือข่ายสาขาทั่วโลก (global banks) พบว่าธนาคารต่างชาติมักมีการบริหารจัดการสภาพคล่องขององค์กรแบบรวมศูนย์ (global scale) ทำให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าในด้านการบริหารทุนภายในของธนาคาร โดยสามารถพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจาก ธนาคารแม่ (parent banks) ในต่างประเทศได้ (Cetorelli and Goldberg, 2012) ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดทางการเงินของธนาคารลูกที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ และทำให้ธนาคารต่างชาติตอบสนองต่อภาวะการเงินน้อยกว่าธนาคารในประเทศ
นอกจากนี้ การตอบสนองของสินเชื่อต่อนโยบายการเงินยังขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำธุรกิจของแต่ละธนาคารว่าดำเนินธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิม (traditional banking) กล่าวคือ พึ่งพิงฐานเงินฝากเป็นหลักในการระดมทุนและมีธุรกิจหลัก คือ การปล่อยสินเชื่อ หรือเป็น non-traditional banking คือ พึ่งพิงแหล่งทุนอื่น ๆ เช่น การกู้ยืมจากตลาดเงินหรือตลาดทุน (Interbank or wholesale funding) และทำธุรกิจอื่น ๆ เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์หรืออัตราแลกเปลี่ยน ในอัตราที่มากกว่าธนาคารแบบดั้งเดิมทั่วไป
ผลการศึกษาพบว่า ธนาคารกลุ่มที่เป็น traditional banking ตอบสนองต่อนโยบายการเงินมากกว่าแบบอื่น ๆ และไม่มีความแตกต่างมากนักระหว่างธนาคารในประเทศและ ธนาคารต่างชาติที่อยู่ในกลุ่มนี้ ที่น่าสนใจ คือ ธนาคารที่มีลักษณะค่อนไปทาง non-traditional banking มากกว่า (โดยเฉพาะธนาคารต่างชาติ) มีพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อที่อ่อนไหวต่อนโยบายการเงินน้อยกว่า traditional banks สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิม คือ การระดมเงินฝากภายในประเทศเพื่อปล่อยกู้ภายในประเทศ มีความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในด้านต้นทุนที่ผูกพันกับภาวะการเงินภายใน ประเทศมากกว่า ในขณะที่ non-traditional banking อาจมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงินต่างประเทศมากกว่าโดยเปรียบเทียบ จึงได้รับอิทธิพลจากภาวะการเงินในประเทศน้อยกว่า
ในด้านผลกระทบจากปัจจัยภายนอก พบว่า สินเชื่อภาคธนาคารไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อนโยบายการเงินภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังได้รับอิทธิพลโดยตรงจากภาวะการเงินโลกด้วย กล่าวคือ ในยามที่ภาวะการเงินโลกผ่อนคลาย อัตราการเติบโตของสินเชื่อในประเทศจะเพิ่มขึ้นด้วย แม้จะคำนึงถึงระดับความสัมพันธ์ระหว่างการขยายตัวของสินเชื่อกับระดับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศแล้วก็ตาม ซึ่งส่วนหนึ่งอาจ สะท้อนความสามารถที่เพิ่มขึ้นในการหาแหล่งเงินทุนทดแทนจากต่างประเทศ (cross-border funding) ซึ่งมีทิศทางเพิ่มขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย (รูปที่ 5) โดยเฉพาะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารขึ้นอยู่กับภาวะการเงินภายในประเทศน้อยลง
นอกจากนี้ ยังพบว่าบทบาทของธนาคารต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในระบบการเงินในประเทศทำให้ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ในระบบตอบสนองต่อนโยบายการเงินน้อยลงด้วย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีธนาคารต่างชาติเข้ามาเป็นคู่แข่งมากขึ้น ทำให้แต่ละธนาคารพยายามรักษาฐานลูกค้าและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดสินเชื่อให้ได้มากที่สุดแม้ในยามที่ต้นทุนการระดมทุนจะสูงขึ้นจากผลของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ความเชื่อมโยงที่สูงขึ้นในภาคการธนาคาร ไม่ว่าจะมาจากช่องทางการระดมทุนจากต่างประเทศ หรือบทบาทของธนาคารต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทำให้การขยายตัวของสินเชื่อภาคธนาคารอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกมากขึ้น และอาจลดทอนผลของนโยบายการเงินในยามที่ภาวะการเงินในประเทศและภาวะการเงินโลกอยู่ในทิศที่สวนทางกัน ส่งผลทำให้การทำงานของนโยบายการเงินผ่านช่องทางการปล่อยสินเชื่อของธนาคารมีข้อจำกัดมากขึ้น
ในการประเมินประสิทธิภาพการส่งผ่านของนโยบายการเงินผ่านช่องทางสินเชื่อในแต่ละช่วงเวลาธนาคารกลางควรต้องคำนึงถึง ทั้ง
- ผลโดยตรงจากภาวะการเงินในต่างประเทศที่อาจลดทอนผลของนโยบายการเงินในบางช่วงเวลา และ
- การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างในระบบสถาบันการเงินในประเทศ เนื่องจากองค์ประกอบที่แตกต่างกันทั้งในด้านสัดส่วนของธนาคารประเภทต่าง ๆ โครงสร้างงบดุลของธนาคาร รูปแบบธุรกิจ รวมถึงบทบาทของธนาคารต่างชาติ ต่างมีนัยที่แตกต่างกันต่อประสิทธิผลของ การส่งผ่านนโยบายการเงิน
Ananchotikul, N. and D. Seneviratne (2015), “Monetary Policy Transmission in Emerging Asia: The Role of Banks and the Effects of Financial Globalization,” IMF Working Paper No. 15/207, (Washington: International Monetary Fund).
Bernanke, B. S. and M. Gertler (1995), “Inside the Black Box: The Credit Channel of Monetary Policy Transmission,” Journal of Economic Perspectives, Vol. 9, No. 4, pp. 27–48.
Cetorelli, N. and L. Goldberg (2012), “Banking Globalization and Monetary Transmission,” The Journal of Finance, 67, pp. 1811–1843.
Disyatat, P. (2010), “The Bank Lending Channel Revisited,” BIS Working Paper No. 297 (Basel: Bank for International Settlements).
- ในบทความฉบับเต็ม Ananchotikul and Dulani (2015) ศึกษาโดยใช้ข้อมูลของทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ โดยครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ 260 ราย และสถาบันการเงินอื่น ๆ 127 ราย และมีการเปรียบเทียบผลระหว่างสองกลุ่มนี้ สำหรับบทความนี้จะอ้างอิงถึงเฉพาะผลในส่วนของธนาคารพาณิชย์เพื่อความกระชับของบทความ↩