Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/2dcf622f869e6549aa467e7b2abc9196/41624/cover.jpg
12 กันยายน 2559
20161473638400000

จุลทรรศน์ภาคส่งออกไทย What, Where, Who

5 ข้อเท็จจริงที่โดดเด่นเกี่ยวกับภาคส่งออกไทย
ปิติ ดิษยทัตทศพล อภัยทานกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
จุลทรรศน์ภาคส่งออกไทย What, Where, Who
excerpt

การค้าระหว่างประเทศมีบทบาทที่สำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่เราเข้าใจโครงสร้างของภาคส่งออกและนำเข้าของไทยดีจริงหรือ มีอะไรที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากข้อมูลการส่งออกและนำเข้าสินค้ากว่า 500 ล้านรายการในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา บทความนี้เป็นตอนแรกของ mini-series ของบทความ aBRIDGEd ที่จะนำเสนอมุมองเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศที่ได้จากการศึกษาฐานข้อมูลการส่งออกและนำเข้าที่ละเอียดมากของกรมศุลกากร โดยบทความแรกนี้เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงหรือ stylized facts ที่โดดเด่น 5 ประการจากชุดข้อมูลดังกล่าว บทความต่อ ๆ ไปจะนำเสนอแง่มุมที่ลึกขึ้นเกี่ยวกับพัฒนาการของการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินและภาคส่งออกไทย

เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่เปิดและมีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศมาก สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 130 ถือว่าเป็นระดับที่สูงมาก และภาคส่งออกก็เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนาน จึงไม่แปลกที่พัฒนาการด้านการส่งออกรวมทั้งปัจจัยที่อาจกระทบต่อผู้ส่งออก เช่น อัตราแลกเปลี่ยน หรือภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากสื่อมวลชน และผู้ดำเนินนโยบาย แต่เราเข้าใจโครงสร้างภาคส่งออกของเราดีขนาดไหน ที่ผ่านมาการวิเคราะห์ส่วนใหญ่ศึกษาภาคส่งออกในภาพรวม หรืออย่างมากก็แยกตามสาขาการผลิต ทว่าผู้ที่กำหนดทิศทางและพัฒนาการของภาคส่งออกแท้จริงแล้ว คือผู้ประกอบการ ประเทศไทยจะส่งออกอะไร ไปที่ไหน ในปริมาณเท่าไร ล้วนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ประกอบการ ซึ่งมีความหลากหลายมากทั้งในแง่ความสามารถ ขนาด และ ประสบการณ์ การเข้าใจภาคส่งออกไทยอย่างลึกซึ้งมากขึ้นจึงจำเป็นต้องส่องกล้องจุลทรรศน์ให้ลึกลงไปถึงระดับผู้ประกอบการ

ข้อมูลกรมศุลกากร ขุมทรัพย์องค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ

Lord Kelvin เคยกล่าวไว้ว่า “Science begins with measurement” หรือ วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปได้ด้วยการวัด ในด้านการค้าระหว่างประเทศ กรมศุลกากรได้สร้างขุมทรัพย์องค์ความรู้ที่สำคัญยิ่งด้วยการเก็บข้อมูลการนำเข้าและส่งออกสินค้าทุกรายการ ทุกเดือน มาเป็นระยะเวลาเกือบ 15 ปี ผ่านรูปแบบใบขนสินค้า โดยมีรายละเอียดหลายอย่าง เช่น ผู้ทำธุรกรรม ประเภทสินค้า สกุลเงิน วิธีการขนส่ง การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูล transactional level ที่สมบูรณ์ยิ่ง

Apaitan, Disyatat และ Samphantharak (2016) ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เจาะลึกการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยใช้ขอมูลรายเดือนระหว่าง 2001–2015 ประกอบด้วยใบขนสินค้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 88 ล้านชุด ครอบคลุมการส่งออกและนำเข้ากว่า 500 ล้านรายการ เป็นการฉายภาพภาคส่งออกไทยอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ตารางที่ 1 ให้ภาพรวมของข้อมูลชุดนี้ ในปี 2015 มีผู้ค้าขายระหว่างประเทศทั้งสิ้น 95,320 ราย โดยจำนวนผู้นำเข้าสูงกว่าผู้ส่งออกกว่า 2 เท่า และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนผู้ส่งออกในระยะหลังค่อนข้างนิ่ง นอกจากนี้ จำนวนผู้ที่มีทั้งธุรกรรมนำเข้าและส่งออก (hybrids) มีอยู่ 19,669 ราย ในแง่จำนวนประเภทสินค้าจำแนกตาม 6-digit Harmonized System (HS) ประเทศไทยส่งออกและนำเข้า 4,769 และ 5,011 สินค้าตามลำดับ

ตารางที่ 1 ภาพรวมของข้อมูล

ภาพรวมของข้อมูล

ที่มา: กรมศุลกากร; คำนวณโดยผู้เขียน

ภาคส่งออกไทยจากมุมมองเชิงลึก

จุดเด่นของฐานข้อมูลกรมศุลกากร คือ รายละเอียดว่าผู้ส่งออกแต่ละรายส่งออกอะไรไปที่ไหน ซึ่งสามารถให้ภาพเกี่ยวกับพัฒนาการที่เรียกกันว่า extensive margin หรือขอบเขตการขยายตัวของการค้าในมุมกว้างที่ครอบคลุม ประเภทสินค้า ตลาดปลายทาง และจำนวนผู้ส่งออก กล่าวคือ การวิเคราะห์พัฒนาการของภาคส่งออกสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นการส่งออกสินค้าเดิมหรือสินค้าใหม่ สู่ตลาดเดิมหรือตลาดใหม่ และโดยผู้ส่งออกรายเดิมหรือรายใหม่ จึงเป็นมุมมองที่เสริมการวิเคราะห์ปกติที่เน้นมูลค่าการส่งออก หรือ intensive margin

เริ่มจากมุมมองของ ผู้ส่งออก ภาพที่ 1 แสดงการกระจายตัวของผู้ส่งออกจำแนกตามจำนวนตลาดและจำนวนสินค้าต่อผู้ส่งออกแต่ละราย จะเห็นได้ว่า ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ส่งเพียงสินค้าเดียวหรือส่งออกไปยังตลาดเดียว โดยจำนวนผู้ส่งออก จะลดลงเรื่อย ๆ ตามจำนวนสินค้าและตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้น

ภาพที่ 1 การกระจายตัวของผู้ส่งออก (2015)

การกระจายตัวของผู้ส่งออก (2015)

ที่มา: กรมศุลกากร; คำนวณโดยผู้เขียน

ในแง่ของ ตลาดส่งออก คอลัมน์ซ้ายของภาพที่ 2 แสดงให้เห็นการกระจายตัวของตลาดส่งออกจำแนกตามจำนวนผู้ส่งออกและและจำนวนสินค้าในแต่ละตลาด เป็นที่น่าสังเกตว่าในขณะที่จำนวนผู้ส่งออกต่อตลาดอยู่ในระดับต่ำ (median = 95) จำนวนสินค้าต่อตลาดนั้นค่อนข้างสูง (median = 210) ซึ่งหมายความว่าผู้ส่งออกไทยโดยรวมมีการกระจุกตัวในแต่ละตลาด แต่มีการกระจายตัวในแง่ประเภทสินค้า กล่าวคือ ในตลาดส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยผู้ส่งออกไม่กี่รายที่ส่งสินค้าหลายประเภทไปยังตลาดนั้น

จากมิติของ ประเภทสินค้าส่งออก คอลัมน์ขวาของภาพที่ 2 แสดงการกระจายตัวของสินค้าส่งออกจำแนกตามจำนวนผู้ส่งออกและจำนวนตลาดต่อสินค้าแต่ละประเภท สามารถเห็นได้ว่าจำนวนผู้ส่งออกต่อแต่ละประเภทสินค้านั้น ค่อนข้างต่ำ (median = 19) เช่นเดียวกับจำนวนตลาดต่อสินค้าส่งออกแต่ละประเภท ซึ่งนอกจากจะอยู่ในระดับที่ต่ำโดยรวมแล้ว (median = 18) ยังมีการกระจุกตัวที่ 1 สินค้า ประเทศไทยไม่ค่อยมี “สินค้าโลก” ที่ส่งออกไปหลาย ๆ ตลาดพร้อมกัน และสินค้าจำนวนมากส่งออกไปยังตลาดเดียว

ภาพที่ 2 การกระจายตัวของตลาดและสินค้าส่งออก (2015)

การกระจายตัวของตลาดและสินค้าส่งออก (2015)

ที่มา: กรมศุลกากร; คำนวณโดยผู้เขียน

จากภาพ extensive margin ข้างต้น เราหันมาพิจารณามิติของ intensive margin หรือมูลค่าการส่งออกบ้าง ภาพที่ 3 แสดงข้อเท็จจริงที่โดดเด่นยิ่ง ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมมองผู้ส่งออก ตลาด หรือสินค้า ภาคส่งออกไทยมีการกระจุกตัวในระดับที่สูงมาก ร้อยละ 5 ของผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 88 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ เช่นเดียวกัน ร้อยละ 5 ของตลาดและสินค้าส่งออกลำดับต้น ๆ นับเป็นสัดส่วนร้อยละ 67 และ 77 ของการส่งออกทั้งหมดตามลำดับ กล่าวคือ ภาคส่งออกของไทยโดยรวมถูกขับเคลื่อนโดยผู้ส่งออกไม่กี่ราย ตลาดไม่กี่แห่ง และสินค้าไม่กี่ประเภท

ภาพที่ 3 การกระจุดตัวของภาคส่งออก (2015)

ภาพที่ 3 การกระจุดตัวของภาคส่งออก (2015)

ที่มา: กรมศุลกากร; คำนวณโดยผู้เขียน; ภาพแสดงถึง Lorenz Curve ของการส่งออก หากผู้ส่งออกแต่ละราย ตลาดแต่ละแห่ง หรือสินค้าแต่ละประเภทมีสัดส่วนมูลค่าเท่ากัน เส้น Lorenz จะอยู่บนเส้นเส้นทแยงมุม
Stylized Fact 1

ภาคส่งออกไทยมีการกระจุกตัวในระดับที่สูงมากทั้งในแง่ของจำนวนผู้ส่งออก ตลาด และสินค้า

การกระจุกตัวที่สูงมากเช่นนี้ย่อมมีผลต่อการส่งผ่าน shocks ต่าง ๆ และความเสี่ยงโดยรวมของเศรษฐกิจ สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงกับบริษัทบางราย หรือในตลาดบางแห่งสามารถส่งผลต่อพัฒนาการโดยรวมของภาคส่งออกได้ การเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาคจึงมีความสำคัญยิ่ง

เมื่อขมวดรวมทั้งมิติ extensive และ intensive margins เข้าด้วยกัน เราสามารถพิจารณาการกระจายตัวของผู้ส่งออกรวมทั้งมูลค่าการส่งออกจำแนกตามจำนวนตลาดและสินค้าส่งออกดังที่แสดงในตารางที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ส่งออกส่วนมากส่งออกไปสู่ตลาดไม่กี่ตลาด โดยร้อยละ 55.3 ของผู้ส่งออกทั้งหมดส่งออกไปเพียงตลาดเดียว ทว่ามูลค่าที่ส่งออกนั้นรวมแล้วนับเป็นเพียงรอยละ 4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ร้อยละ19.7 ของจำนวนผู้ส่งออกทั้งหมดส่งออกไปยัง 5 ตลาดหรือมากกว่า แต่กลับมีมูลค่าสูงถึงร้อยละ90.1 ของการส่งออกทั้งหมด

ตารางที่ 2 กระจายตัวของผู้ส่งออกรวมทั้งมูลค่าการส่งออก (2015)

กระจายตัวของผู้ส่งออกรวมทั้งมูลค่าการส่งออก (2015)

ที่มา: กรมศุลกากร; คำนวณโดยผู้เขียน

หากพิจารณาในแง่ของสินค้าจะได้ภาพคล้าย ๆ กัน ในปี 2015 ร้อยละ 39.2 ของผู้ส่งออกส่งเพียงสินค้าเดียว รวมแล้วเป็นเพียงร้อยละ 4.9 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ผู้ส่งออก ที่ส่งสินค้ามากกว่า 30 ประเภทนับเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.7 ของผู้ส่งออกทั้งหมดแต่มีมูลค่าการส่งออกสูงถึงร้อยละ 55 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ

หากควบรวมทั้ง 2 มิติ จะเห็นว่าร้อยละ 33 ของผู้ส่งออกไทยส่งสินค้าเดียวไปประเทศเดียว โดยนับเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.9 ของมูลค่าการส่งออก ในขณะที่ร้อยละ 0.8 ของผู้ส่งออกที่ส่งสินค้ามากกว่า 30 ประเภทไปยังตลาดมากกว่า 30 ตลาดนั้นมีมูลค่าส่งออกสูงถึงร้อยละ 38.7 ของการส่งออกทั้งหมด ภาคการส่งออกไทยที่ถูกนำด้วยผู้เล่นรายใหญ่ไม่กี่รายที่ส่งออกสินค้าหลายอย่างไปสู่ตลาดหลายแห่ง นอกจากนี้ Apaitan, Disyatat และ Samphantharak (2016) ได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ผู้ส่งออกรายใหญ่ ๆ เหล่านี้ส่วนมากมีการนำเข้าด้วย ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ส่งออกทั้งหมดเป็น hybrid คือ ทั้งส่งออกและนำเข้า โดยมูลค่าการส่งออกของผู้ประกอบการกลุ่มนี้นับเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมด

ผู้ประกอบการในภาคส่งออกไทย

งานวิจัยด้านการค้าระหว่างประเทศช่วงหลังเน้นความสำคัญของการวิเคราะห์ระดับผู้ประกอบการซึ่งมีความหลากหลายมาก โดยความแตกต่างดังกล่าวมีส่วนสำคัญยิ่งในการอธิบายภาพรวมของการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้ภาพที่ลึกขึ้นเกี่ยวกับผู้ประกอบการ เรานำฐานข้อมูลกรมศุลกากรมาพิจารณาร่วมกับฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ หรือ Corporate Profile and Financial Statement (CPFS) ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในประเทศไทย

ตารางที่ 3 ภาพรวมของบริษัทจดทะเบียนไทย (2013)

ภาพรวมของบริษัทจดทะเบียนไทย (2013)

ที่มา: กรมศุลกากร; กระทรวงพาณิชย์; คำนวณโดยผู้เขียน;

ข้อมูล CPFS ล่าสุดซึ่งมีถึงปี 2013 (ตารางที่ 3) แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 435,121 บริษัท จากจำนวนนี้สัดส่วนบริษัทที่มีการค้าขายระหว่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 12.2 โดย จำนวนบริษัทที่ส่งออกมีอยู่เพียงร้อยละ 5.7 ของบริษัททั้งหมดในประเทศ การส่งออกเป็นกิจการของผู้ประกอบการส่วนน้อยมากทั้ง ๆ ที่เป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจ และสะท้อนต้นทุนที่สูงในการก้าวเข้ามาสู่สมรภูมิแห่งการค้าต่างประเทศ ในแง่การนำเข้า จำนวนบริษัทมีมากกว่าแต่ก็ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ที่ระดับร้อยละ 10.5 (hybrids รวมกับ pure importers) โดยรวมร้อยละ 87.8 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในประเทศไม่ได้มีการค้าขายระหว่างประเทศเลย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

Stylized Fact 2

ผู้ส่งออกเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในประเทศไทย

การที่บริษัทส่งออกเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในประเทศ นำไปสู่คำถามว่าบริษัทเหล่านี้มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะประการใดหรือไม่ เราจึงทำการเปรียบเทียบตัวชี้วัดทางการเงินต่าง ๆ ระหว่างบริษัทที่ส่งออกเทียบกับบริษัทที่ไม่มีการส่งออกโดยใช้ฐานข้อมูล CPFS ภาพที่ 4 แสดงผลดังกล่าวโดยหาก ยึดค่า median เป็นตัวชี้วัด จะเห็นได้ว่าบริษัทที่ส่งออก 1) มีขนาดใหญ่กว่าเมื่อพิจารณาจากรายได้ 2) มีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (return on asset) ที่สูงกว่า 3) มีการกู้ยืมมากกว่า และ 4) มีประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์มากกว่า (พิจารณาจากสัดส่วนรายได้ต่อสินทรัพย์หรือ turnover ratio) ดังนั้น บริษัทที่ส่งออกมีความพิเศษจริงเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น

ภาพที่ 4 บริษัทส่งออกเทียบกับบริษัทที่ไม่ส่งออก (2013)

บริษัทส่งออกเทียบกับบริษัทที่ไม่ส่งออก (2013)

ที่มา: กรมศุลกากร; คำนวณโดยผู้เขียน;
Stylized Fact 3

บริษัทที่ส่งออกมีความพิเศษเฉพาะเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น โดยมีความแข็งแกร่งทางการเงินและศักยภาพในการบริหารสินทรัพย์ที่ดีกว่า

ข้อเท็จจริงนี้มิได้ปรากฏแต่เพียงในประเทศไทย แต่สามารถเห็นได้ในประเทศอื่นเช่นกัน Bernard, Jensen และ Schott (2009) ได้แสดงให้เห็นว่าบริษัทส่งออกในสหรัฐฯ นอกจากจะเป็นส่วนน้อยแล้ว มีความพิเศษเฉพาะในด้านประสิทธิภาพ ความสามารถในการทำกำไร และค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่า คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ความพิเศษเฉพาะของบริษัทส่งออกนั้นเป็นผลพวงจากการประกอบกิจการส่งออกที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตนเองและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือสะท้อนความพิเศษเฉพาะที่ผู้ประกอบการมีอยู่แล้วก่อนที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้ส่งออก ในเรื่องนี้งานวิจัยส่วนใหญ่มีข้อสรุปค่อนข้างชัดเจนว่า ความแตกต่างของบริษัทที่ส่งออกนั้นมีอยู่แล้วก่อนที่จะเริ่มส่งออก กล่าวคือ การที่บริษัทส่งออกมีประสิทธิภาพสูงกว่าบริษัทอื่นไม่ได้เป็นเพราะกิจกรรมส่งออก แต่ประสิทธิภาพที่สูงนั้นเองคือสิ่งที่เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวข้ามต้นทุนที่สูงในการแปรผันตนเองมาเป็นผู้ส่งออกได้

ในมิติเชิงพลวัต นอกจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการส่งออกที่ติดตามกันทั่วไปแล้ว ฐานข้อมูลกรมศุลกากรสามารถชี้ให้เห็นถึงการเข้าออกของผู้ส่งออกในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นมิติที่สำคัญในการจับชีพจรของภาคส่งออกในเชิงโครงสร้าง ตารางที่ 4 แสดงให้เห็นว่าในแต่ละปีมีผู้ส่งออกที่เข้ามาใหม่เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 37 ของจำนวนผู้ส่งออกทั้งหมดในปีก่อนหน้า ในขณะที่ร้อยละ 32.8 ของผู้ส่งออกในแต่ละปีจะออกจากตลาดในปีถัดไป ทั้งนี้ เราสามารถคำนวณอัตราการหมุนเวียน หรือ churning rate ของผู้ส่งออกได้โดยนำจำนวนผู้ส่องออกที่เข้าและออกในแต่ละปีมาบวกกันและหารด้วยจำนวนผู้ส่งออกทั้งหมดในปีก่อนหน้า สิ่งที่พบคือ ระหว่างปี 2001–2015 อัตราการหมุนเวียนของผู้ส่งออกเฉลี่ยรายปีนั้นสูงถึงร้อยละ 69.8 อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกที่เข้าและออกจากตลาดส่งออกในแต่ละปีนั้นส่วนมากเป็นผู้เล่นรายเล็กซึ่งโดยรวมแล้วมีสัดส่วนในมูลค่าการส่งออกทั้งหมดที่น้อยมาก

ตารางที่ 4 ผลวัตของผู้ส่งออกในภาพรวม (2001–2015)

ผลวัตของผู้ส่งออกในภาพรวม (2001–2015)

ที่มา: กรมศุลกากร; คำนวณโดยผู้เขียน
Stylized Fact 4

ในแต่ละปีมีผู้ส่งออกที่เข้าและออกจากตลาดส่งออกมากถึงประมาณ 2 ใน 3 โดยผู้เล่นเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก

อัตราการหมุนเวียนของผู้ส่งออกที่สูงนี้บ่งบอกถึงความยากลำบากในการอยู่รอดในตลาด เราจึงได้วิเคราะห์ลึกลงไปในมิตินี้โดยการคำนวณโอกาสการอยู่รอดของผู้ส่งออกที่เข้ามาใหม่ผ่านวิธีการของ Kaplan-Meier survival function ดังที่แสดงในภาพที่ 5 เส้นในภาพดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงโอกาสการอยู่รอดของผู้ส่งออกที่เข้ามาใหม่เมื่อเวลาผ่านไปแต่ละปี จะเห็นได้ว่าโอกาสที่ผู้ส่งออกหน้าใหม่จะอยู่รอดเกินหนึ่งปีนั้นอยู่ที่เพียงร้อยละ 37 กล่าวคือ ร้อยละ 63 ของผู้ส่งออกที่เข้ามาใหม่จะออกไปหลังจากปีแรก และเมื่อผ่านไป 5 ปี อัตราการอยู่รอดนั้นลดลงเหลือแค่ร้อยละ 14 นอกจากนี้ ความชันของเส้นที่ปรับลดลงหลังจากช่วง 3 ปีแรกสะท้อนโอกาสของการล้มเหลวที่สูงมากในช่วงปีต้น ๆ แต่เมื่อผู้ส่งออกอยู่รอดเกิน 3 ปีไปแล้ว โอกาสที่จะออกจากตลาดหลังจากนั้นค่อนข้างน้อย คำถามที่น่าสนใจคือ ผู้ส่งออกที่อยู่รอดนั้นมีความพิเศษเฉพาะหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะขอกล่าวถึงในบทความลำดับถัดไป

Stylized Fact 5

การส่งออกเป็นกิจกรรมที่เปราะบางมาก โดยร้อยละ 63 ของผู้ส่งออกที่เข้าตลาดไม่สามารถอยู่รอดได้เกิน 1 ปี

ภาพที่ 5 โอกาสการอยู่รอดของผู้ส่งออก

โอกาสการอยู่รอดของผู้ส่งออก

ที่มา: กรมศุลกากร; คำนวณโดยผู้เขียน; Obs คือ จำนวนของประสบการณ์ของผู้ส่งออกที่ใช้ในการคำนวณ survival function

ข้อสรุป

การเจาะลึกโครงสร้างภาคส่งออกไทยจากข้อมูลจุลภาคที่มีความละเอียดสูงมากชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง หรือ stylized facts ที่โดดเด่น 5 ประการ คือ 1) ภาคส่งออกไทยมีการกระจุกตัวในระดับที่สูงมาก 2) ผู้ส่งออกเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 3) บริษัทที่ส่งออกมีศักยภาพที่เหนือกว่าบริษัทอื่น 4) อัตราการหมุนเวียนของผู้ส่งออกในแต่ละปีอยู่ในระดับที่สูง และ 5) การส่งออกเป็นกิจกรรมที่เปราะบางมาก โดยผู้ส่งออกที่เข้าตลาดส่วนมากไม่สามารถอยู่รอดได้เกิน 1 ปี ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อสรุปต่าง ๆ ที่ Apaitan, Disyatat และ Samphantharak (2016) ได้เรียบเรียงไว้ บทความ aBRIDGEd ตอนถัด ๆ ไป จะนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับพลวัตของภาคส่งออกรวมทั้งมิติอื่น ๆ ที่ลึกขึ้น

ในเชิงนโยบาย การกระจุกตัวที่สูงมากของภาคส่งออกบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่อาจกระจุกตัวเช่นกัน เมื่อพัฒนาการของภาคส่งออกโดยรวมขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงกับบริษัทบางราย หรือในตลาดบางแห่ง การใช้นโยบายที่มีผลกระทบในวงกว้าง เช่น นโยบายการเงิน ในการที่จะตอบสนองการเคลื่อนไหวของการส่งออกโดยรวมอาจไม่เหมาะสมเสมอไป นอกจากนี้ การที่บริษัทส่งออกเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของผู้ประกอบการทั้งหมด กอปรกับการที่ความโดดเด่นของบริษัทส่งออก ทั้งในแง่ความสามารถในการทำกำไรและประสิทธิภาพการผลิต สะท้อนคุณลักษณะพิเศษเฉพาะที่บริษัทเหล่านั้นมีอยู่แล้วแต่ดั้งเดิมก่อนที่จะส่งออก บ่งบอกถึงความยากลำบากในการก้าวเข้ามาประกอบกิจการส่งออกซึ่งมีต้นทุนที่สูง แทนที่นโยบายจะมุ่งไปที่การส่งเสริมศักยภาพของบริษัทที่ส่งออกอยู่แล้ว นโยบายควรเน้นการเอื้อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถก้าวเข้ามาดำเนินกิจการส่งออกได้มากกว่า โดยอุปสรรคที่เป็นต้นทุนต่อการส่งออกมีหลายด้าน เช่น การขาดข้อมูลเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ กฏิกาในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ ความยากลำบากในการหาช่องทางการกระจายสินค้า (distribution channels) ค่าขนส่งสินค้า ที่สูง ต้นทุนด้านการตลาด หรือมาตรการทางภาษีในต่างประเทศที่ไม่เอื้อต่อการเจาะตลาด เป็นต้น การวางกรอบนโยบายสนับสนุนการส่งออกจึงควรพิจารณาพัฒนาการในระดับจุลภาคเพื่อได้ภาพเกี่ยวกับอุปสรรคที่แท้จริงในการส่งออกเหล่านี้มากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

Apaitan, T., P. Disyatat and K. Samphantharak (2016), “Dissecting Thailand’s International Trade: Evidence from 88 Million Export and Import Entries,” PIER Discussion Paper, No. 43.

Bernard, A., J. Jensen and P. Schott (2009), “Importers, Exporters, and Multinationals: A Portrait of Firms in the U.S. that Trade Goods,” in A, Bernard, J Jensen and P Schott (eds), Producer Dynamics: New Evidence from Micro Data, University of Chicago Press, pp. 513–555.

ปิติ ดิษยทัต
ปิติ ดิษยทัต
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ทศพล อภัยทาน
ทศพล อภัยทาน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
University of California San Diego
Topics: International Trade
Tags: customs dataexportstrade
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email