จุลทรรศน์ภาคส่งออกไทย What, Where, Who
excerpt
การค้าระหว่างประเทศมีบทบาทที่สำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่เราเข้าใจโครงสร้างของภาคส่งออกและนำเข้าของไทยดีจริงหรือ มีอะไรที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากข้อมูลการส่งออกและนำเข้าสินค้ากว่า 500 ล้านรายการในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา บทความนี้เป็นตอนแรกของ mini-series ของบทความ aBRIDGEd ที่จะนำเสนอมุมองเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศที่ได้จากการศึกษาฐานข้อมูลการส่งออกและนำเข้าที่ละเอียดมากของกรมศุลกากร โดยบทความแรกนี้เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงหรือ stylized facts ที่โดดเด่น 5 ประการจากชุดข้อมูลดังกล่าว บทความต่อ ๆ ไปจะนำเสนอแง่มุมที่ลึกขึ้นเกี่ยวกับพัฒนาการของการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินและภาคส่งออกไทย
เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่เปิดและมีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศมาก สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 130 ถือว่าเป็นระดับที่สูงมาก และภาคส่งออกก็เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนาน จึงไม่แปลกที่พัฒนาการด้านการส่งออกรวมทั้งปัจจัยที่อาจกระทบต่อผู้ส่งออก เช่น อัตราแลกเปลี่ยน หรือภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากสื่อมวลชน และผู้ดำเนินนโยบาย แต่เราเข้าใจโครงสร้างภาคส่งออกของเราดีขนาดไหน ที่ผ่านมาการวิเคราะห์ส่วนใหญ่ศึกษาภาคส่งออกในภาพรวม หรืออย่างมากก็แยกตามสาขาการผลิต ทว่าผู้ที่กำหนดทิศทางและพัฒนาการของภาคส่งออกแท้จริงแล้ว คือผู้ประกอบการ ประเทศไทยจะส่งออกอะไร ไปที่ไหน ในปริมาณเท่าไร ล้วนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ประกอบการ ซึ่งมีความหลากหลายมากทั้งในแง่ความสามารถ ขนาด และ ประสบการณ์ การเข้าใจภาคส่งออกไทยอย่างลึกซึ้งมากขึ้นจึงจำเป็นต้องส่องกล้องจุลทรรศน์ให้ลึกลงไปถึงระดับผู้ประกอบการ
Lord Kelvin เคยกล่าวไว้ว่า “Science begins with measurement” หรือ วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปได้ด้วยการวัด ในด้านการค้าระหว่างประเทศ กรมศุลกากรได้สร้างขุมทรัพย์องค์ความรู้ที่สำคัญยิ่งด้วยการเก็บข้อมูลการนำเข้าและส่งออกสินค้าทุกรายการ ทุกเดือน มาเป็นระยะเวลาเกือบ 15 ปี ผ่านรูปแบบใบขนสินค้า โดยมีรายละเอียดหลายอย่าง เช่น ผู้ทำธุรกรรม ประเภทสินค้า สกุลเงิน วิธีการขนส่ง การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูล transactional level ที่สมบูรณ์ยิ่ง
Apaitan, Disyatat และ Samphantharak (2016) ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เจาะลึกการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยใช้ขอมูลรายเดือนระหว่าง 2001–2015 ประกอบด้วยใบขนสินค้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 88 ล้านชุด ครอบคลุมการส่งออกและนำเข้ากว่า 500 ล้านรายการ เป็นการฉายภาพภาคส่งออกไทยอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
ตารางที่ 1 ให้ภาพรวมของข้อมูลชุดนี้ ในปี 2015 มีผู้ค้าขายระหว่างประเทศทั้งสิ้น 95,320 ราย โดยจำนวนผู้นำเข้าสูงกว่าผู้ส่งออกกว่า 2 เท่า และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนผู้ส่งออกในระยะหลังค่อนข้างนิ่ง นอกจากนี้ จำนวนผู้ที่มีทั้งธุรกรรมนำเข้าและส่งออก (hybrids) มีอยู่ 19,669 ราย ในแง่จำนวนประเภทสินค้าจำแนกตาม 6-digit Harmonized System (HS) ประเทศไทยส่งออกและนำเข้า 4,769 และ 5,011 สินค้าตามลำดับ
จุดเด่นของฐานข้อมูลกรมศุลกากร คือ รายละเอียดว่าผู้ส่งออกแต่ละรายส่งออกอะไรไปที่ไหน ซึ่งสามารถให้ภาพเกี่ยวกับพัฒนาการที่เรียกกันว่า extensive margin หรือขอบเขตการขยายตัวของการค้าในมุมกว้างที่ครอบคลุม ประเภทสินค้า ตลาดปลายทาง และจำนวนผู้ส่งออก กล่าวคือ การวิเคราะห์พัฒนาการของภาคส่งออกสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นการส่งออกสินค้าเดิมหรือสินค้าใหม่ สู่ตลาดเดิมหรือตลาดใหม่ และโดยผู้ส่งออกรายเดิมหรือรายใหม่ จึงเป็นมุมมองที่เสริมการวิเคราะห์ปกติที่เน้นมูลค่าการส่งออก หรือ intensive margin
เริ่มจากมุมมองของ ผู้ส่งออก ภาพที่ 1 แสดงการกระจายตัวของผู้ส่งออกจำแนกตามจำนวนตลาดและจำนวนสินค้าต่อผู้ส่งออกแต่ละราย จะเห็นได้ว่า ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ส่งเพียงสินค้าเดียวหรือส่งออกไปยังตลาดเดียว โดยจำนวนผู้ส่งออก จะลดลงเรื่อย ๆ ตามจำนวนสินค้าและตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้น
ในแง่ของ ตลาดส่งออก คอลัมน์ซ้ายของภาพที่ 2 แสดงให้เห็นการกระจายตัวของตลาดส่งออกจำแนกตามจำนวนผู้ส่งออกและและจำนวนสินค้าในแต่ละตลาด เป็นที่น่าสังเกตว่าในขณะที่จำนวนผู้ส่งออกต่อตลาดอยู่ในระดับต่ำ (median = 95) จำนวนสินค้าต่อตลาดนั้นค่อนข้างสูง (median = 210) ซึ่งหมายความว่าผู้ส่งออกไทยโดยรวมมีการกระจุกตัวในแต่ละตลาด แต่มีการกระจายตัวในแง่ประเภทสินค้า กล่าวคือ ในตลาดส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยผู้ส่งออกไม่กี่รายที่ส่งสินค้าหลายประเภทไปยังตลาดนั้น
จากมิติของ ประเภทสินค้าส่งออก คอลัมน์ขวาของภาพที่ 2 แสดงการกระจายตัวของสินค้าส่งออกจำแนกตามจำนวนผู้ส่งออกและจำนวนตลาดต่อสินค้าแต่ละประเภท สามารถเห็นได้ว่าจำนวนผู้ส่งออกต่อแต่ละประเภทสินค้านั้น ค่อนข้างต่ำ (median = 19) เช่นเดียวกับจำนวนตลาดต่อสินค้าส่งออกแต่ละประเภท ซึ่งนอกจากจะอยู่ในระดับที่ต่ำโดยรวมแล้ว (median = 18) ยังมีการกระจุกตัวที่ 1 สินค้า ประเทศไทยไม่ค่อยมี “สินค้าโลก” ที่ส่งออกไปหลาย ๆ ตลาดพร้อมกัน และสินค้าจำนวนมากส่งออกไปยังตลาดเดียว
จากภาพ extensive margin ข้างต้น เราหันมาพิจารณามิติของ intensive margin หรือมูลค่าการส่งออกบ้าง ภาพที่ 3 แสดงข้อเท็จจริงที่โดดเด่นยิ่ง ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมมองผู้ส่งออก ตลาด หรือสินค้า ภาคส่งออกไทยมีการกระจุกตัวในระดับที่สูงมาก ร้อยละ 5 ของผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 88 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ เช่นเดียวกัน ร้อยละ 5 ของตลาดและสินค้าส่งออกลำดับต้น ๆ นับเป็นสัดส่วนร้อยละ 67 และ 77 ของการส่งออกทั้งหมดตามลำดับ กล่าวคือ ภาคส่งออกของไทยโดยรวมถูกขับเคลื่อนโดยผู้ส่งออกไม่กี่ราย ตลาดไม่กี่แห่ง และสินค้าไม่กี่ประเภท
Stylized Fact 1
ภาคส่งออกไทยมีการกระจุกตัวในระดับที่สูงมากทั้งในแง่ของจำนวนผู้ส่งออก ตลาด และสินค้า
การกระจุกตัวที่สูงมากเช่นนี้ย่อมมีผลต่อการส่งผ่าน shocks ต่าง ๆ และความเสี่ยงโดยรวมของเศรษฐกิจ สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงกับบริษัทบางราย หรือในตลาดบางแห่งสามารถส่งผลต่อพัฒนาการโดยรวมของภาคส่งออกได้ การเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาคจึงมีความสำคัญยิ่ง
เมื่อขมวดรวมทั้งมิติ extensive และ intensive margins เข้าด้วยกัน เราสามารถพิจารณาการกระจายตัวของผู้ส่งออกรวมทั้งมูลค่าการส่งออกจำแนกตามจำนวนตลาดและสินค้าส่งออกดังที่แสดงในตารางที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ส่งออกส่วนมากส่งออกไปสู่ตลาดไม่กี่ตลาด โดยร้อยละ 55.3 ของผู้ส่งออกทั้งหมดส่งออกไปเพียงตลาดเดียว ทว่ามูลค่าที่ส่งออกนั้นรวมแล้วนับเป็นเพียงรอยละ 4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ร้อยละ19.7 ของจำนวนผู้ส่งออกทั้งหมดส่งออกไปยัง 5 ตลาดหรือมากกว่า แต่กลับมีมูลค่าสูงถึงร้อยละ90.1 ของการส่งออกทั้งหมด
หากพิจารณาในแง่ของสินค้าจะได้ภาพคล้าย ๆ กัน ในปี 2015 ร้อยละ 39.2 ของผู้ส่งออกส่งเพียงสินค้าเดียว รวมแล้วเป็นเพียงร้อยละ 4.9 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ผู้ส่งออก ที่ส่งสินค้ามากกว่า 30 ประเภทนับเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.7 ของผู้ส่งออกทั้งหมดแต่มีมูลค่าการส่งออกสูงถึงร้อยละ 55 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ
หากควบรวมทั้ง 2 มิติ จะเห็นว่าร้อยละ 33 ของผู้ส่งออกไทยส่งสินค้าเดียวไปประเทศเดียว โดยนับเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.9 ของมูลค่าการส่งออก ในขณะที่ร้อยละ 0.8 ของผู้ส่งออกที่ส่งสินค้ามากกว่า 30 ประเภทไปยังตลาดมากกว่า 30 ตลาดนั้นมีมูลค่าส่งออกสูงถึงร้อยละ 38.7 ของการส่งออกทั้งหมด ภาคการส่งออกไทยที่ถูกนำด้วยผู้เล่นรายใหญ่ไม่กี่รายที่ส่งออกสินค้าหลายอย่างไปสู่ตลาดหลายแห่ง นอกจากนี้ Apaitan, Disyatat และ Samphantharak (2016) ได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ผู้ส่งออกรายใหญ่ ๆ เหล่านี้ส่วนมากมีการนำเข้าด้วย ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ส่งออกทั้งหมดเป็น hybrid คือ ทั้งส่งออกและนำเข้า โดยมูลค่าการส่งออกของผู้ประกอบการกลุ่มนี้นับเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมด
งานวิจัยด้านการค้าระหว่างประเทศช่วงหลังเน้นความสำคัญของการวิเคราะห์ระดับผู้ประกอบการซึ่งมีความหลากหลายมาก โดยความแตกต่างดังกล่าวมีส่วนสำคัญยิ่งในการอธิบายภาพรวมของการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้ภาพที่ลึกขึ้นเกี่ยวกับผู้ประกอบการ เรานำฐานข้อมูลกรมศุลกากรมาพิจารณาร่วมกับฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ หรือ Corporate Profile and Financial Statement (CPFS) ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในประเทศไทย
ข้อมูล CPFS ล่าสุดซึ่งมีถึงปี 2013 (ตารางที่ 3) แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 435,121 บริษัท จากจำนวนนี้สัดส่วนบริษัทที่มีการค้าขายระหว่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 12.2 โดย จำนวนบริษัทที่ส่งออกมีอยู่เพียงร้อยละ 5.7 ของบริษัททั้งหมดในประเทศ การส่งออกเป็นกิจการของผู้ประกอบการส่วนน้อยมากทั้ง ๆ ที่เป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจ และสะท้อนต้นทุนที่สูงในการก้าวเข้ามาสู่สมรภูมิแห่งการค้าต่างประเทศ ในแง่การนำเข้า จำนวนบริษัทมีมากกว่าแต่ก็ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ที่ระดับร้อยละ 10.5 (hybrids รวมกับ pure importers) โดยรวมร้อยละ 87.8 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในประเทศไม่ได้มีการค้าขายระหว่างประเทศเลย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก
Stylized Fact 2
ผู้ส่งออกเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในประเทศไทย
การที่บริษัทส่งออกเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในประเทศ นำไปสู่คำถามว่าบริษัทเหล่านี้มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะประการใดหรือไม่ เราจึงทำการเปรียบเทียบตัวชี้วัดทางการเงินต่าง ๆ ระหว่างบริษัทที่ส่งออกเทียบกับบริษัทที่ไม่มีการส่งออกโดยใช้ฐานข้อมูล CPFS ภาพที่ 4 แสดงผลดังกล่าวโดยหาก ยึดค่า median เป็นตัวชี้วัด จะเห็นได้ว่าบริษัทที่ส่งออก 1) มีขนาดใหญ่กว่าเมื่อพิจารณาจากรายได้ 2) มีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (return on asset) ที่สูงกว่า 3) มีการกู้ยืมมากกว่า และ 4) มีประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์มากกว่า (พิจารณาจากสัดส่วนรายได้ต่อสินทรัพย์หรือ turnover ratio) ดังนั้น บริษัทที่ส่งออกมีความพิเศษจริงเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น
Stylized Fact 3
บริษัทที่ส่งออกมีความพิเศษเฉพาะเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น โดยมีความแข็งแกร่งทางการเงินและศักยภาพในการบริหารสินทรัพย์ที่ดีกว่า
ข้อเท็จจริงนี้มิได้ปรากฏแต่เพียงในประเทศไทย แต่สามารถเห็นได้ในประเทศอื่นเช่นกัน Bernard, Jensen และ Schott (2009) ได้แสดงให้เห็นว่าบริษัทส่งออกในสหรัฐฯ นอกจากจะเป็นส่วนน้อยแล้ว มีความพิเศษเฉพาะในด้านประสิทธิภาพ ความสามารถในการทำกำไร และค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่า คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ความพิเศษเฉพาะของบริษัทส่งออกนั้นเป็นผลพวงจากการประกอบกิจการส่งออกที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตนเองและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือสะท้อนความพิเศษเฉพาะที่ผู้ประกอบการมีอยู่แล้วก่อนที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้ส่งออก ในเรื่องนี้งานวิจัยส่วนใหญ่มีข้อสรุปค่อนข้างชัดเจนว่า ความแตกต่างของบริษัทที่ส่งออกนั้นมีอยู่แล้วก่อนที่จะเริ่มส่งออก กล่าวคือ การที่บริษัทส่งออกมีประสิทธิภาพสูงกว่าบริษัทอื่นไม่ได้เป็นเพราะกิจกรรมส่งออก แต่ประสิทธิภาพที่สูงนั้นเองคือสิ่งที่เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวข้ามต้นทุนที่สูงในการแปรผันตนเองมาเป็นผู้ส่งออกได้
ในมิติเชิงพลวัต นอกจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการส่งออกที่ติดตามกันทั่วไปแล้ว ฐานข้อมูลกรมศุลกากรสามารถชี้ให้เห็นถึงการเข้าออกของผู้ส่งออกในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นมิติที่สำคัญในการจับชีพจรของภาคส่งออกในเชิงโครงสร้าง ตารางที่ 4 แสดงให้เห็นว่าในแต่ละปีมีผู้ส่งออกที่เข้ามาใหม่เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 37 ของจำนวนผู้ส่งออกทั้งหมดในปีก่อนหน้า ในขณะที่ร้อยละ 32.8 ของผู้ส่งออกในแต่ละปีจะออกจากตลาดในปีถัดไป ทั้งนี้ เราสามารถคำนวณอัตราการหมุนเวียน หรือ churning rate ของผู้ส่งออกได้โดยนำจำนวนผู้ส่องออกที่เข้าและออกในแต่ละปีมาบวกกันและหารด้วยจำนวนผู้ส่งออกทั้งหมดในปีก่อนหน้า สิ่งที่พบคือ ระหว่างปี 2001–2015 อัตราการหมุนเวียนของผู้ส่งออกเฉลี่ยรายปีนั้นสูงถึงร้อยละ 69.8 อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกที่เข้าและออกจากตลาดส่งออกในแต่ละปีนั้นส่วนมากเป็นผู้เล่นรายเล็กซึ่งโดยรวมแล้วมีสัดส่วนในมูลค่าการส่งออกทั้งหมดที่น้อยมาก
Stylized Fact 4
ในแต่ละปีมีผู้ส่งออกที่เข้าและออกจากตลาดส่งออกมากถึงประมาณ 2 ใน 3 โดยผู้เล่นเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก
อัตราการหมุนเวียนของผู้ส่งออกที่สูงนี้บ่งบอกถึงความยากลำบากในการอยู่รอดในตลาด เราจึงได้วิเคราะห์ลึกลงไปในมิตินี้โดยการคำนวณโอกาสการอยู่รอดของผู้ส่งออกที่เข้ามาใหม่ผ่านวิธีการของ Kaplan-Meier survival function ดังที่แสดงในภาพที่ 5 เส้นในภาพดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงโอกาสการอยู่รอดของผู้ส่งออกที่เข้ามาใหม่เมื่อเวลาผ่านไปแต่ละปี จะเห็นได้ว่าโอกาสที่ผู้ส่งออกหน้าใหม่จะอยู่รอดเกินหนึ่งปีนั้นอยู่ที่เพียงร้อยละ 37 กล่าวคือ ร้อยละ 63 ของผู้ส่งออกที่เข้ามาใหม่จะออกไปหลังจากปีแรก และเมื่อผ่านไป 5 ปี อัตราการอยู่รอดนั้นลดลงเหลือแค่ร้อยละ 14 นอกจากนี้ ความชันของเส้นที่ปรับลดลงหลังจากช่วง 3 ปีแรกสะท้อนโอกาสของการล้มเหลวที่สูงมากในช่วงปีต้น ๆ แต่เมื่อผู้ส่งออกอยู่รอดเกิน 3 ปีไปแล้ว โอกาสที่จะออกจากตลาดหลังจากนั้นค่อนข้างน้อย คำถามที่น่าสนใจคือ ผู้ส่งออกที่อยู่รอดนั้นมีความพิเศษเฉพาะหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะขอกล่าวถึงในบทความลำดับถัดไป
Stylized Fact 5
การส่งออกเป็นกิจกรรมที่เปราะบางมาก โดยร้อยละ 63 ของผู้ส่งออกที่เข้าตลาดไม่สามารถอยู่รอดได้เกิน 1 ปี
การเจาะลึกโครงสร้างภาคส่งออกไทยจากข้อมูลจุลภาคที่มีความละเอียดสูงมากชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง หรือ stylized facts ที่โดดเด่น 5 ประการ คือ 1) ภาคส่งออกไทยมีการกระจุกตัวในระดับที่สูงมาก 2) ผู้ส่งออกเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 3) บริษัทที่ส่งออกมีศักยภาพที่เหนือกว่าบริษัทอื่น 4) อัตราการหมุนเวียนของผู้ส่งออกในแต่ละปีอยู่ในระดับที่สูง และ 5) การส่งออกเป็นกิจกรรมที่เปราะบางมาก โดยผู้ส่งออกที่เข้าตลาดส่วนมากไม่สามารถอยู่รอดได้เกิน 1 ปี ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อสรุปต่าง ๆ ที่ Apaitan, Disyatat และ Samphantharak (2016) ได้เรียบเรียงไว้ บทความ aBRIDGEd ตอนถัด ๆ ไป จะนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับพลวัตของภาคส่งออกรวมทั้งมิติอื่น ๆ ที่ลึกขึ้น
ในเชิงนโยบาย การกระจุกตัวที่สูงมากของภาคส่งออกบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่อาจกระจุกตัวเช่นกัน เมื่อพัฒนาการของภาคส่งออกโดยรวมขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงกับบริษัทบางราย หรือในตลาดบางแห่ง การใช้นโยบายที่มีผลกระทบในวงกว้าง เช่น นโยบายการเงิน ในการที่จะตอบสนองการเคลื่อนไหวของการส่งออกโดยรวมอาจไม่เหมาะสมเสมอไป นอกจากนี้ การที่บริษัทส่งออกเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของผู้ประกอบการทั้งหมด กอปรกับการที่ความโดดเด่นของบริษัทส่งออก ทั้งในแง่ความสามารถในการทำกำไรและประสิทธิภาพการผลิต สะท้อนคุณลักษณะพิเศษเฉพาะที่บริษัทเหล่านั้นมีอยู่แล้วแต่ดั้งเดิมก่อนที่จะส่งออก บ่งบอกถึงความยากลำบากในการก้าวเข้ามาประกอบกิจการส่งออกซึ่งมีต้นทุนที่สูง แทนที่นโยบายจะมุ่งไปที่การส่งเสริมศักยภาพของบริษัทที่ส่งออกอยู่แล้ว นโยบายควรเน้นการเอื้อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถก้าวเข้ามาดำเนินกิจการส่งออกได้มากกว่า โดยอุปสรรคที่เป็นต้นทุนต่อการส่งออกมีหลายด้าน เช่น การขาดข้อมูลเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ กฏิกาในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ ความยากลำบากในการหาช่องทางการกระจายสินค้า (distribution channels) ค่าขนส่งสินค้า ที่สูง ต้นทุนด้านการตลาด หรือมาตรการทางภาษีในต่างประเทศที่ไม่เอื้อต่อการเจาะตลาด เป็นต้น การวางกรอบนโยบายสนับสนุนการส่งออกจึงควรพิจารณาพัฒนาการในระดับจุลภาคเพื่อได้ภาพเกี่ยวกับอุปสรรคที่แท้จริงในการส่งออกเหล่านี้มากขึ้น
Apaitan, T., P. Disyatat and K. Samphantharak (2016), “Dissecting Thailand’s International Trade: Evidence from 88 Million Export and Import Entries,” PIER Discussion Paper, No. 43.
Bernard, A., J. Jensen and P. Schott (2009), “Importers, Exporters, and Multinationals: A Portrait of Firms in the U.S. that Trade Goods,” in A, Bernard, J Jensen and P Schott (eds), Producer Dynamics: New Evidence from Micro Data, University of Chicago Press, pp. 513–555.