Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/63034ae08445b70d965e288f40925b58/e9a79/cover.png
26 กันยายน 2559
20161474848000000

บทบาทภาครัฐภายใต้บริบทใหม่ของเศรษฐกิจไทย

หากประเทศไทย ‘ติดกับดักตัวเองจากระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น’ การปฏิรูปโครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในระยะต่อไป
สมประวิณ มันประเสริฐก้องภพ วงศ์แก้ว
บทบาทภาครัฐภายใต้บริบทใหม่ของเศรษฐกิจไทย
excerpt

จากปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ‘แกน’ ของระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บทความนี้นำเสนอมุมมองผ่านเศรษฐศาสตร์สถาบันและตั้งประเด็นให้เห็นว่า ‘สถาบันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย วิ่งตามระดับการพัฒนาไม่ทัน’ สิ่งดังกล่าวนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า รัฐควรเปลี่ยนบทบาทจาก ‘มือขยัน’ ไปเป็น ‘ผู้สร้างระบบ’ แล้วหรือยัง?

“The biggest problem is not to let people accept new ideas, but to let them forget the old ones.”

— John Maynard Keynes"

เศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่ที่เติบโตช้าลง

ข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า ‘แกน’ ของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา (รูปที่ 1) สิ่งดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาวที่ลดลง สร้างความกังวลใจให้กับผู้บริหารงานทางเศรษฐกิจว่าประเทศไทยจะ ‘ติดกับดักรายได้ปานกลาง’ และไม่สามารถหลุดพ้นขึ้นไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงดังที่ได้วาดฝันไว้ นักเศรษฐศาสตร์พยายามค้นหาสาเหตุจากสิ่งที่เกิดขึ้นและ มุ่งประเด็นไปที่ปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การเข้าสู่สังคมชราภาพและการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง

รูปที่ 1 : อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

img 1

ที่มา: สมประวิณ มันประเสริฐ และดนุพล อริยสัจจากร (2557), ผู้เขียนคำนวณ

แม้ปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวจะมีส่วนในการอธิบายปรากฏการณ์ชะลอตัวลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่กำลังเกิดขึ้น แต่สาเหตุสำคัญอีกประการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจคือ ‘โครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจ’ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อรองรับกับระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น

จากทรัพยากรสู่การใช้นวัตกรรม: ปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เศรษฐกิจไทยเผชิญอยู่สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดเรื่องระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับขั้นตาม ‘แหล่งที่มา’ ของการเติบโต

ในระดับแรก ระบบเศรษฐกิจยังไม่มีการผลิตสินค้าที่ซับซ้อนแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการ ‘ขายทรัพยากร’ ของประเทศ

ในระดับที่ 2 การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากการใส่ปัจจัยการผลิต ซึ่งได้แก่แรงงานและทุนเพื่อเปลี่ยนทรัพยากรไปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ประเทศสามารถเพิ่มผลผลิตได้ด้วยการเพิ่มจำนวนแรงงานและทุนเข้าสู่กระบวนการผลิต ดังนั้น ‘จำนวน’ จึงเป็นเงื่อนไขของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับนี้

ในระดับที่ 3 การใส่ปัจจัยการผลิตในเชิงจำนวนไม่เพียงพอ เนื่องจากผลตอบแทนจากการใส่ปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง (Diminishing Marginal Productivity) ดังนั้น หัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับที่ 3 จึงต้องหันไปเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานและทุนผ่านการปรับใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่แทน

ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการก้าวผ่านการพัฒนาระดับที่ 2 ไปสู่ระดับที่ 3 การใส่ปัจจัยการผลิตเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง จุด ‘อิ่มตัว’ สาเหตุแท้จริงที่ไม่มีการลงทุนภาคเอกชนเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะผลตอบแทนการลงทุนภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบเก่า มีค่าน้อยกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น ดังนั้น การยกระดับประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และการใช้นวัตกรรม ในกระบวนการผลิตจึงเป็นสาระสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป

ทำไมนวัตกรรมในระบบเศรษฐกิจไทยจึงไม่เกิด?

ความตระหนักถึงการใช้นวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย งานวิจัยของ Tinakorn and Sussangkarn (1996, 1998) ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการยกระดับผลิตภาพการผลิตมากว่า 20 ปีแล้ว เหตุใดนวัตกรรมจึงยังไม่สามารถกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยได้?

เศรษฐศาสตร์สถาบัน (Institutional economics) ชี้ว่า ความชะงักงันของนวัตกรรมเกิดจากระดับการพัฒนาทางสถาบันเศรษฐกิจและสังคม (Institutions) ที่ก้าวไม่ทันการเติบโตของประเทศ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน Mancur Olson ได้เขียนหนังสือชื่อ The Rise and Decline of Nations ตีพิมพ์ในปี 1982 โดยพยายามอธิบายการเกิดและดับของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก Olson ชี้ว่าสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรื่องกลับล่มจมลง คือ กลุ่มผลประโยชน์ (Vested interest groups) ที่เกิดและเติบโตขึ้นตามระดับของการพัฒนา กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้จะแย่งชิงทรัพยากรและผลประโยชน์ (Economic rents) จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่หน่วงเหนี่ยวการพัฒนา อีกทั้งยังพยายามกีดกันการปฏิรูปเพื่อยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจเมื่อตนเองสูญเสียผลประโยชน์จากการปฏิรูปดังกล่าว เช่น การใช้อำนาจกีดกันการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหม่ในตลาด ดังนั้น ผู้ประกอบการรายอื่นจึงขาดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อมาเป็นเครื่องมือในการแข่งขันทางการค้า ในยุคต่อมามีงานวิชาการจำนวนมากที่สนับสนุนคำอธิบายของ Olson รวมถึงงานของ Daron Acemoglu นักเศรษฐศาสตร์ผู้โด่งดังที่กล่าวว่า ปัจจัยด้านสถาบันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ความไม่สมดุลระหว่างสถาบันทางเศรษฐกิจและระดับการพัฒนาของประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยแล้ว หลักฐานเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนแนวคิดข้างต้น คือ ผลการประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันที่บ่งชี้ว่าไทยกำลังเผชิญกับการขาดแคลนนวัตกรรมควบคู่ไปกับปัญหาการพัฒนาทางสถาบัน จากรายงาน Global Competitiveness Report ปี 2015–2016 ที่จัดทำโดย World Economic Forum (WEF) ประเทศไทยมีผลการประเมินส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีทั้งด้านสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค คุณภาพของแรงงาน การทำงานของระบบตลาด และระดับการพัฒนาของตลาดการเงิน อย่างไรก็ดี ไทยได้คะแนนค่อนข้างต่ำในหมวดระดับการพัฒนานวัตกรรม (3.4 จาก 7) และการพัฒนาเชิงสถาบัน (3.7 จาก 7) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว (4.6 และ 5.0 จาก 7 ตามลำดับ) (รูปที่ 2) ดังนั้น สิ่งดังกล่าวเป็นเครื่องบ่งชี้อาการของประเทศไทยได้อย่างดีว่าสถาบันทางเศรษฐกิจของไทยวิ่งตามระดับการพัฒนาของประเทศไม่ทัน หรืออาจกล่าวได้ว่า ‘ประเทศไทยติดกับดักตัวเองจากระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น’ ดังนั้น การพัฒนาโครงสร้างเชิงสถาบันจึงเป็นทางออกในการยกระดับศักยภาพในการเติบโตของไทยในอนาคต

รูปที่ 2 : ผลการประเมินความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว

img 2

ที่มา: World Economic Forum (2015)

มองไปข้างหน้ากับบทบาทภาครัฐและโครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจไทย

รัฐควรจะมีบทบาทอย่างไรต่อระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป? ในภาพกว้างบทบาทของภาครัฐในการนำพาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทำได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ การเป็น ‘มือขยัน’ และการเป็น ‘ผู้สร้างระบบ’ ในบทบาทของมือขยัน ภาครัฐเปรียบเสมือนผู้เล่นคนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ เช่น การเป็นผู้ประกอบการ เป็นนักลงทุน และเป็นพ่อค้า เป็นต้น บทบาทดังกล่าวมีความสำคัญมากสำหรับระบบเศรษฐกิจที่เกิดใหม่และยังไม่มีความซับซ้อน ซึ่ง ‘ผู้เล่นตัวจริง’ ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการประกอบการ สำหรับบทบาทในฐานะผู้สร้างระบบ ภาครัฐจะเปลี่ยนจากการเป็นผู้เล่นมาเป็นผู้วางเงื่อนไขที่ทำให้ระบบตลาดทำงานได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อหน่วยเศรษฐกิจของประเทศผ่านการวางโครงสร้างทางสถาบันทางเศรษฐกิจที่ลดการบิดเบือน การแทรกแซง และการผูกขาด เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของ ‘ผู้เล่นตัวจริง’ ในระบบเศรษฐกิจ ความท้าทายสำคัญสำหรับภาครัฐ คือ การกำหนดบทบาทที่เหมาะสมทั้งในฐานะมือขยัน และผู้สร้างระบบ ภายใต้สภาพแวดล้อมและระดับการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐในฐานะ ‘มือขยัน’ ที่เหมาะสม

มิติที่ต้องคำนึงถึงในฐานะมือขยันประกอบไปด้วย ทั้งระดับและรูปแบบของบทบาทภาครัฐที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและผลข้างเคียงจากการที่ภาครัฐมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจมากเกินไป (เช่น จากการใช้งบประมาณ การเก็บภาษี หรือการก่อหนี้สาธารณะ) ซึ่งอาจไปบิดเบือนพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับสังคมโดยรวม รวมถึงนโยบายที่เกื้อหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทที่อาจทำให้ ‘ผู้เล่นตัวจริง’ คุ้นชินกับการปกป้องให้จนขาดการพึ่งพาตนเองและไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ดังนั้น บทบาทจึงควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจได้รับประโยชน์สูงสุด (Optimal Size of Government) งานเชิงประจักษ์ของ Hok, Jariyapan, Buddhawongsa, and Tansuchat (2014) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้จ่ายภาครัฐและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนและพบว่าขนาดของการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงสุดในระยะยาวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 28.5 ของ GDP

นอกจากระดับแล้ว รูปแบบของการทำนโยบายก็มีความสำคัญเช่นกัน ในมิติของการใช้จ่ายภาครัฐ ประสิทธิผลสูงสุดจะวัดจากผลบวกต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มาตรวัดที่นิยมใช้ประเมินผลของการใช้จ่ายการคลังต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal multiplier) ซึ่งวัดผลกระทบที่มีต่อ GDP เมื่อมีการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 งานของณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ (2551) คำนวณหาขนาดตัวคูณทางการคลังของการใช้จ่ายภาครัฐประเภทต่าง ๆ ของไทยในช่วงปี 2540–2550 ด้วยวิธี Vector Auto Regression (VAR) และพบว่ารายจ่ายการลงทุนของรัฐบาลกลาง และเงินที่โอนให้รัฐบาลท้องถิ่นนำไปลงทุนต่อ มีค่าตัวคูณทางการคลังสูง และยังมีผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น การประกาศโครงการลงทุนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน จึงกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการลงทุนตามมา ขณะที่ในระยะยาว โครงสร้างพื้นฐานจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขันของภาคเอกชน และศักยภาพในการเติบโตของประเทศตามลำดับ นอกจากนี้ เงินโอนยังมีจุดเด่นที่รัฐบาลท้องถิ่นสามารถลงทุนได้ตรงกับความต้องการของชุมชน และสร้างงานให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 : ตัวคูณทางการคลังของประเทศไทยจากการใช้จ่ายภาครัฐประเภทต่าง ๆ

img 3

ที่มา: ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ (2551)

นอกจากนั้น รัฐยังสามารถออกแบบโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพตามลักษณะของธุรกิจที่ต้องการส่งเสริม ตัวอย่างเช่น รูปแบบของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเป็นหลัก (Capital intensive industries) งานวิจัยของ Thawornkaiwong, Civilize, and Khatphitthaya (2011) พบว่าอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเป็นหลักของไทยโดยเฉพาะบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มอยู่ด้วยกัน เนื่องจากการรวมกลุ่มเอื้อให้เกิดแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิต และองค์ความรู้ระหว่างโรงงาน (Spillover effects) ไปจนถึงการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ยิ่งกลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ยิ่งมีศักยภาพในการผลิตและการทำกำไร หรือที่เรียกว่า Increasing return to scale ดังนั้น รัฐบาลควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กระจุกอยู่ในพื้นที่หนึ่ง และพัฒนาไปเป็น Industrial hub นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างโรงงานยังมีความสำคัญ เพราะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้หรือทรัพยากรระหว่างโรงงาน เช่น การสร้างถนนและระบบขนส่ง และการวางระบบสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น

อีกหนึ่งเครื่องมือของมือขยัน คือ มาตรการด้านภาษี โดยสามารถออกแบบโครงสร้างภาษีเพื่อเอื้อต่อการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ข้อมูลที่รวบรวมโดย Abdon, Estrada, Lee, and Park (2014) โดยพิจารณาช่วงระหว่างปี 2009–2011 พบว่าหากพิจารณาโครงสร้างภาษีของไทย ภาษีที่เก็บบนฐานทรัพย์สินคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของภาษีรวม และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียที่คิดเป็นร้อยละ 7.8 ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลคิดเป็นร้อยละ 31.8 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียที่คิดเป็นร้อยละ 21.7 งานวิจัยดังกล่าวยังแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ว่าไทยสามารถเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยการเพิ่มสัดส่วนภาษีที่เก็บบนฐานทรัพย์สิน และลดภาษีบนฐานรายได้ โดยยังรักษารายได้จากภาษีไว้ที่ระดับเดิม จากการ เพิ่มสัดส่วนภาษีทรัพย์สินขึ้น ร้อยละ 1 แล้วลดภาษีที่เก็บบนฐานรายได้ลงในสัดส่วนเท่ากัน จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวเร่งขึ้นร้อยละ 0.43 (รูปที่ 4) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเก็บภาษีบนฐานรายได้ลดทอนแรงจูงใจในการทำงานของภาคเอกชนมากกว่าภาษีที่เก็บบนฐานการบริโภคและทรัพย์สิน โดยเฉพาะสินทรัพย์ (เช่น ที่ดิน) ที่ถูกถือครองไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ การเก็บภาษีที่เหมาะสมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

รูปที่ 4 : ผลของการปรับโครงสร้างภาษีต่อเศรษฐกิจ

img 4

Note: PIT: Personal Income Tax, CIT: Corporate Income Tax ที่มา: Acosta-Ormaechea and Yoo (2002) และ Abdon, Estrada, Lee, and Park (2014)

รัฐในฐานะ ‘ผู้สร้าง’ สถาบันทางเศรษฐกิจสำหรับ การเติบโตในระยะยาว

บทบาทสำคัญคือการเป็น ‘ผู้สร้าง’ เวทีสำหรับ ‘ผู้เล่นตัวจริง’ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงบทบาทการเป็นผู้วางโครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจ (Economic institutions) ที่เอื้อให้ระบบตลาดจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการพึ่งพาการแทรกแซงของภาครัฐ อย่างไรก็ดี โครงสร้างสถาบันเศรษฐกิจบางส่วนกำลังลดทอนศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น โจทย์ของภาครัฐในฐานะผู้สร้างจึงเป็นการสร้างโอกาสและแรงจูงใจในการพัฒนาให้กับหน่วยธุรกิจทุกขนาด ในทุกภาคการผลิตอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้เล่นหน้าใหม่ที่ ‘ขยัน’ และ ‘เก่ง’

งานทางวิชาการชี้ว่า ระบบตลาดที่เอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในวงกว้างของระบบเศรษฐกิจ คือ ระบบที่ทำให้ผู้ประกอบการ ‘เจ้าใหญ่’ (Incumbent) อ่อนแอกว่าผู้ประกอบการ ‘รายใหม่’ (New comers) อยู่เสมอ ข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่านวัตกรรมแบบก้าวกระโดดมักจะถูกคิดค้นโดยรายใหม่มากกว่าเจ้าใหญ่ที่เป็นเจ้าของตลาดเดิม เนื่องจากเจ้าใหญ่มักจะลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีเดิมและมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าการเติบโต จึงไม่กล้าลงทุนพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่เสี่ยงที่จะล้มเหลว รวมถึงมีต้นทุนในการเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตสูง เนื่องจากลงทุนกับเทคโนโลยีเดิมไปมากแล้ว ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจรายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดมีต้นทุนในการเปลี่ยนแปลงการผลิตและการรักษาฐานลูกค้าเก่าต่ำกว่า ทำให้กล้าคิดกล้าทำในสิ่งใหม่ที่แตกต่างมากกว่า ดังนั้น กลไกควรส่งเสริมให้ธุรกิจรายใหม่มีโอกาสเติบโต และแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าเดิมในตลาดอย่างยุติธรรม การแข่งขันจะสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจรายใหม่คิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อแข่งขันกับเจ้าตลาด ขณะเดียวกันก็กดดันให้ธุรกิจเจ้าใหญ่พัฒนาตนเองอยู่เสมอ การพัฒนานวัตกรรมจึงเกิดขึ้นอย่างทั่วถึง

งานทางวิชาการได้เสนอแนะแนวทางในการปฏิรูปโครงสร้างทางสถาบันทางเศรษฐกิจไว้หลายประการ โดยสรุปได้ดังนี้

  1. การสร้างระบบที่ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด โดยการลดความบิดเบือนในตลาด การลดการผูกขาดที่เอื้อให้ผู้เล่นเจ้าเดิมมีพฤติกรรมแบบ Vested interest groups ที่ใช้อำนาจในการรักษาส่วนแบ่งการตลาด ในทางปฏิบัติรัฐบาลสามารถลดการผูกขาดโดยการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่กีดกันไม่ให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด ตลอดจนผลักดันร่างกฎหมายที่ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าโครงสร้างทางกฎหมายดังกล่าวจะเอื้อให้ ‘ผู้เล่น’ ในระบบตลาดมีแรงจูงใจที่จะแข่งขันกันด้วย ‘การพัฒนา’ ประสิทธิภาพในการผลิตและคุณภาพของสินค้า

  2. การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีจากการวิจัยและพัฒนามาเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ ปัจจุบันสินค้าส่งออกของไทยไม่สอดรับกับห่วงโซ่การผลิตโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คำสั่งซื้อและราคาสินค้าส่งออกไทยลดลง นวัตกรรมจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีการผลิตที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันด้วย ‘สิ่งใหม่’ แทน ‘ของเก่า’ ที่แข่งขันได้ยาก อย่างไรก็ตาม การวิจัยและพัฒนามีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวโดยเฉพาะกับธุรกิจรายใหม่ที่มีเงินทุนน้อย ดังนั้น ระบบที่ช่วยลดต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาจึงมีความสำคัญ การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้อำนาจผูกขาดทางการตลาดกับเจ้าของนวัตกรรมจะช่วยให้มูลค่าตลาดของการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ควรให้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างถาวร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในระยะยาว นอกจากนี้ ยังต้องสร้างระบบที่เอื้อให้ผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางเทคนิคและประสบการณ์ ตลอดจนการหาประโยชน์สูงสุดจากนวัตกรรม

  3. การพัฒนาระบบการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพและมีนวัตกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน โจทย์สำคัญในการพัฒนาระบบการเงิน คือ การแก้ไขปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลระหว่างเจ้าของเงินทุน และธุรกิจ ที่ต้องการเงินทุน โดยเฉพาะผู้กู้ที่เป็นธุรกิจรายย่อยหน้าใหม่ ซึ่งสามารถทำได้โดยการพัฒนาระบบข้อมูลเครดิตของผู้ประกอบการรายย่อย หรือลดความเสี่ยงจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลโดยการบังคับใช้สัญญาทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาตลาดการเงิน และออกแบบการกำกับดูแลที่ทันสมัยเพื่อรองรับทางเลือกใหม่ในการระดมทุน เช่น Venture capital (VC) หรือการระดมทุนมวลชนที่เรียกกันว่า Crowdfunding จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายใหม่เช่นกัน

  4. การสร้างระบบรองรับผู้ที่พลาด โดยมีกลไกที่เอื้อให้ธุรกิจที่ล้มสามารถกลับเข้าสู่ตลาดและมีโอกาสเรียนรู้ และพัฒนาจนประสบความสำเร็จ เช่น การปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย หรือการให้โอกาสธุรกิจที่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ตามสมควร กลไกรองรับดังกล่าวจะเป็นหลักประกันที่จูงใจให้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจหน้าใหม่กล้าลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาที่มีความเสี่ยงมากขึ้นได้

ข้อสรุป

บทบาทภาครัฐภายใต้บริบทใหม่ของเศรษฐกิจไทย คือ การเป็นมือขยันที่มีประสิทธิภาพและผู้สร้างที่วางระบบให้ ‘ผู้เล่นตัวจริง’ แข่งขันและพัฒนาได้ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ในฐานะมือขยัน รัฐบาลควรดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดความบิดเบือนในระบบเศรษฐกิจ สำหรับบทบาทในฐานะผู้สร้าง คือ การปรับโครงสร้างของสถาบันทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มการแข่งขันกันสร้าง ‘นวัตกรรม’ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

สำหรับประเทศไทยที่ ‘ติดกับดักตัวเอง’ จากระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น เราคงต้องขบคิดกันต่อไปว่าบทบาทของภาครัฐไทยถึงจุดเปลี่ยนผ่านจาก ‘มือขยัน’ ไปเป็น ‘ผู้สร้างระบบ’ เต็มเวลาแล้วหรือยัง

เอกสารอ้างอิง

ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์. (2551). เครื่องชี้แรงกระตุ้น และตัวคูณทางการคลังของไทย. ธนาคารแห่งประเทศไทย.

สมประวิณ มันประเสริฐ, และ ดนุพล อริยสัจจากร. (2557). การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและผลกระทบต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคของไทย. วารสารประชากรศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2, 67–92.

Abdon, A., G.B. Estrada, M. Lee and D. Park (2014): “Fiscal Policy and Growth in Developing Asia.” ADB Economics Working Paper Series No. 412.

Acosta-Ormaechea, S and J. Yoo (2012): “Tax Composition and Growth: A Broad Cross-Country Perspective.” IMF Working Paper No. 12/257.

Gilbert, B.A. (2012): “Creative Destruction: Identifying its Geographic Origins.” Research Policy Vol. 41 No.4, 734–742.

Hok, L., P. Jariyapan, P. Buddhawongsa, and R. Tansuchat (2014): “Optimal Size of Government Spending: Empirical Evidence from Eight Countries in Southeast Asia.” The Empirical Econometrics and Quantitative Economics Letters Vol. 3 No. 4, 31–44.

Olson, M. (1982): “The Rise and Decline of Nations: Economic Growth, Stagflation, and Social Rigidities.” Yale University Press.

Susangkarn, C. and P. Tinakorn (1998): “Social Accounting Matrix and the Economic Impact Analysis of Fiscal Budget Expenditure.” Thailand Development Research Institute.

Thawornkaiwong, S., B. Civilize and T. Khatphitthaya (2011): “Growth Management for Thailand: the Role of Infrastructure.” Bank of Thailand Discussion Paper.

Tinakorn, P. and C. Sussangkarn (1996): “Productivity Growth in Thailand.” Thailand Development Research Institute Research Monograph No.15.

Tinakorn, P. and C. Sussangkarn (1998): “Total Factor Productivity Growth in Thailand: 1980–1995.” Thailand Development Research Institute.

World Economic Forum. (2015): “The Global Competitiveness Report 2015–2016.” Geneva: World Economic Forum.

สมประวิณ มันประเสริฐ
สมประวิณ มันประเสริฐ
ธนาคารไทยพาณิขย์
ก้องภพ วงศ์แก้ว
ก้องภพ วงศ์แก้ว
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด
Topics: Development EconomicsMacroeconomics
Tags: fiscal policygrowthresource misallocationstructural change
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email