Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Discussion Paper ล่าสุด
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
aBRIDGEd ล่าสุด
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
งานสัมมนาล่าสุด
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
งานสัมมนาล่าสุด
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ประกาศล่าสุด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/aa90d5bf2302e6662b7152f815b1e4dc/e9a79/cover.png
5 ธันวาคม 2559
20161480896000000

การจัดสรรเวลาเรียนของประเทศไทยเหมาะสมแล้วหรือยัง?

การจัดสรรเวลาเรียนทั้งในแง่ปริมาณและแบบแผนของเวลามีผลต่อทักษะความรู้ของนักเรียนและคุณภาพการศึกษาโดยรวม
การจัดสรรเวลาเรียนของประเทศไทยเหมาะสมแล้วหรือยัง?
excerpt

คะแนนสอบ PISA อันเป็นคะแนนสอบที่สะท้อนถึงทักษะความสามารถของนักเรียนในระดับนานาชาติ ได้แสดงผลออกมาว่าประเทศเวียดนามซึ่งมี GDP ใกล้เคียงกับไทยมีคะแนนสอบ PISA ก้าวกระโดดไปอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยทิ้งห่างจากไทยและประเทศอื่นที่มี GDP ใกล้เคียงกัน บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าการจัดสรรเวลาเรียนในวิชาหลัก ได้แก่ วิชาด้านคณิตศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านภาษาศาสตร์ของเวียดนามที่สูงกว่าไทยนั้น อาจเป็นปัจจัยที่นำมาซึ่งความแตกต่างของคะแนนสอบ PISA ดังนั้น ในหลักสูตรการศึกษาของไทย การพิจารณาให้มีการจัดสรรเวลาเรียนในวิชาสำคัญเหล่านี้เสียใหม่อาจสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

เป็นที่รู้และเข้าใจตรงกันว่า คุณภาพด้านการศึกษาและการพัฒนาประเทศเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน แต่สิ่งที่สาธารณชนอาจจะยังเข้าใจได้ไม่ดีพอคือ คุณภาพของการศึกษาไทยในปัจจุบันแท้จริงแล้วอยู่ในระดับใด และอะไรเป็นปัจจัยที่กำหนดคุณภาพของการศึกษาดังกล่าว

แต่ก่อนที่เราจะตอบคำถามข้างต้นนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้คือ คุณภาพการศึกษาที่เราพูดถึงนั้นแท้จริงแล้วคืออะไร และจะวัดค่าออกมาได้อย่างไร คำตอบในอุดมคติอาจเป็นได้หลายแบบ เช่น เป้าหมายของการศึกษาอาจหมายถึงการถ่ายทอดทักษะและความรู้ไปสู่เยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่การวัดความมีศักยภาพหรือระดับความสุขของบุคคลไม่ใช่เรื่องง่าย ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการทราบว่าการศึกษานำมาซึ่งความสำเร็จในการทำงานหรือไม่ เราจำเป็นต้องรอให้นักเรียนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ สำเร็จการศึกษาและเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วอาจเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป เมื่อเทียบกับความต้องการและความจำเป็นที่จะต้องรู้ผลลัพธ์ของการดำเนินงานที่เป็นปัจจุบัน ดังนั้น เราจึงนิยมวัดคุณภาพของการศึกษาในระยะสั้นด้วยผลการทดสอบ ถึงแม้เราจะทราบดีว่าผลการทดสอบไม่ใช่เป้าหมายหลักของการศึกษา แต่เราก็หวังอยู่ลึก ๆ ว่า ผลการทดสอบจะบอกถึงระดับทักษะและความรู้ในตัวนักเรียนอันเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดศักยภาพในการทำงานในอนาคต

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้ให้ความสนใจกับโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ซึ่งพยายามวัดทักษะและความรู้ในด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่มีอายุ 15 ปี ผลการทดสอบในปี 2555 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีคะแนนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีใกล้เคียงกัน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ คะแนนของประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีระดับจีดีพีต่อหัวใกล้เคียงกับไทยแต่มีคะแนนสอบ PISA ที่ก้าวกระโดดไปอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศฟินแลนด์ ประเทศเยอรมนี หรือประเทศแคนาดา ดังแสดงในรูปที่ 1 ปรากฏการณ์นี้ชวนให้สงสัยอย่างยิ่งว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คะแนนสอบของเวียดนามสูงขนาดนี้ ที่ผ่านมาเวียดนามได้ทำอะไร และไทยมีการจัดการระบบการศึกษาอย่างไร จึงเป็นผลมาถึงคะแนนสอบที่ต่างกันได้มากเพียงนี้

รูปที่ 1 : คะแนนสอบ PISA และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว

คะแนนสอบ PISA และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว

ที่มา : OECD (2014)

หากมองย้อนกลับไปถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างแน่นอนคือ เวลาที่ใช้ในการเรียนในแต่ละวิชา กล่าวคือ นักเรียนที่ใช้เวลาในการเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง ย่อมมีโอกาสที่จะได้ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับวิชานั้นมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น หากเราสมมุติว่าทุกประเทศมีเวลาเรียนโดยรวมที่ใกล้เคียงกัน สัดส่วนเวลาที่ใช้ในการเรียนแต่ละวิชาย่อมมีผลต่อผลการทดสอบ ไม่มากก็น้อย ดังนั้น สัดส่วนเวลา1 ที่ใช้ในการเรียนวิชาหลัก ซึ่งประกอบไปด้วยวิชาด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ ควรจะมีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบ PISA ซึ่งเป็นการวัดทักษะทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมา ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้นำเอาสัดส่วนเวลาที่ใช้เรียนวิชาหลักเหล่านั้นของนักเรียนไทยกับนักเรียนเวียดนามมาเปรียบเทียบกันดังแสดงในรูปที่ 2 โดยในรูปที่ 2 แกนตั้งแสดงถึงร้อยละของเวลาเรียนที่ใช้ในวิชาเรียนหลักเทียบกับเวลาเรียนทั้งหมด และแกนนอนแสดงระดับชั้นปีการศึกษาของนักเรียน โดยนับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ต่อเนื่องไปจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผลการเปรียบเทียบพบว่าสัดส่วนเวลาเรียนวิชาหลักของนักเรียนเวียดนามนั้นสูงกว่านักเรียนไทยถึงเกือบร้อยละ 20 ซึ่งสอดคล้องกับสมมุติฐานที่วางเอาไว้ นั่นคือ คะแนนสอบ PISA ของเวียดนามสูงกว่าไทย เพราะเขาใช้เวลาเรียนในวิชาหลักที่มีความสำคัญมากกว่าเรานั่นเอง

รูปที่ 2 : เวลาเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา เปรียบเทียบประเทศเวียดนาม และไทย

เวลาเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา เปรียบเทียบประเทศเวียดนาม และไทย

ที่มา : World Data on Education (UNESCO, 2011a-2011b)

ผู้อ่านอาจมีความเห็นว่า ข้อสรุปที่ได้อาจจะเป็นเพียงเรื่องบังเอิญก็ได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในข้อสรุปข้างต้นมากขึ้น ผู้เขียนจึงลองนำเอาข้อมูลของอีกประเทศหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มอาเซียนเช่นเดียวกับไทย แต่มีคะแนนสอบสูงกว่าเวียดนามเสียอีก คือ ประเทศสิงคโปร์ หากข้อสรุปข้างต้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เราควรจะพบว่า เวลาเรียนวิชาหลักของนักเรียนสิงคโปร์ควรจะมีสัดส่วนมากกว่านักเรียนไทยอย่างเห็นได้ชัดซึ่งผลการเปรียบเทียบได้สนับสนุนข้อสรุปข้างต้นโดยจะเห็นได้จากรูปที่ 3 ว่า เวลาเรียนวิชาหลักของสิงคโปร์มีสัดส่วนสูงสุด รองลงมาคือเวียดนาม และไทย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอันดับคะแนน PISA ของทั้งสามประเทศ

รูปที่ 3 : เวลาเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา เปรียบเทียบประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

เวลาเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา เปรียบเทียบประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

ที่มา : World Data on Education (UNESCO, 2011a-2011c)หมายเหตุ : ด้วยข้อจำกัดของข้อมูล ผู้เขียนจึงนำเสนอสัดส่วนเวลาเรียนของประเทศสิงคโปร์ถึงเพียงชั้น ม.2

นอกจากปริมาณเวลาแล้ว แบบแผนของการเรียนที่กำหนดว่าจะเริ่มเรียนวิชาใดเมื่อไหร่ และจะเพิ่มสัดส่วนของเวลาอย่างไรตลอดช่วงการศึกษา ย่อมมีความสำคัญต่อผลสำเร็จในการเรียนรู้ไม่มากก็น้อย ดังนั้น ผู้เขียนจึงวิเคราะห์แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ของทั้งสามประเทศ เพื่อดูว่ามีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง จากรูปที่ 4 แสดงให้เห็นว่า นักเรียนไทยเริ่มเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ก่อนนักเรียนสิงคโปร์และนักเรียนเวียดนาม แต่สัดส่วนเวลาเรียนของนักเรียนไทยกลับไม่เพิ่มขึ้นเลยนับตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 ในทางกลับกัน นักเรียนสิงคโปร์และเวียดนามซึ่งเริ่มเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในชั้น ป.3 และ ป.4 ตามลำดับนั้น มีสัดส่วนเวลาเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นตามลำดับชั้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้ ณ เวลาที่ทำการสอบ PISA นักเรียนไทยมีเวลาในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์น้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอีกสองประเทศ แน่นอนว่าคงเป็นการยากที่จะพิสูจน์ได้ว่า รูปแบบการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างกันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีคะแนนสอบ PISA ด้านวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าอีกสองประเทศหรือไม่ ผู้เขียนหวังว่าจะมีงานวิจัยในอนาคตที่สามารถพิสูจน์หรือล้มล้างข้อสรุปนี้ได้อย่างน่าเชื่อถือในอนาคตอันใกล้นี้

รูปที่ 4 เวลาเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เปรียบเทียบประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

เวลาเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เปรียบเทียบประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

ที่มา : World Data on Education (UNESCO, 2011a-2011c) หมายเหตุ: ด้วยข้อจำกัดของข้อมูล ผู้เขียนจึงนำเสนอสัดส่วนเวลาเรียนของประเทศสิงคโปร์ถึงเพียงชั้น ม.2

โดยสรุป เราได้ตอบคำถามบางส่วนไปแล้วว่า สัดส่วนเวลาที่เราจัดสรรให้กับการเรียนวิชาหลัก (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา) และแบบแผนของจังหวะเวลาในการเรียนวิชาต่าง ๆ อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับคะแนน PISA ของประเทศ

ถึงกระนั้น ผู้อ่านอาจตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วระดับคะแนน PISA สะท้อนถึงระดับคุณภาพการศึกษาในปัจจุบันได้จริงหรือไม่ และที่สำคัญความรู้และทักษะของนักเรียนในการทำแบบทดสอบ PISA จะมีส่วนทำให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพหรือเปล่า คำตอบเท่าที่ผู้เขียนทราบก็คือ ไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัด เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลการทดสอบ PISA ซึ่งวัดตอนอายุ 15 ปี และผลิตภาพในการทำงานซึ่งต้องรอจนนักเรียนออกสู่ตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม หากเราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และการทดสอบ PISA สามารถประเมินทักษะและความสามารถที่ส่งผลต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราคงไม่สามารถละเลยผลการทดสอบ PISA ได้ และที่สำคัญเราคงต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยที่มีผลต่อผลการทดสอบดังกล่าวให้มากขึ้น

ผู้เขียนตระหนักดีว่า เรายังไม่มีคำตอบสุดท้ายว่าในที่สุดแล้วเราควรออกแบบระบบการศึกษาอย่างไรให้ดีที่สุด แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อสรุปที่ได้จากบทความนี้จะช่วยให้สังคมกลับมาตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาการจัดสรรเวลาเรียนของประเทศไทยเหมาะสมแล้วหรือไม่ เราควรจัดสรรเวลาเรียนให้กับวิชาหลักทางด้านภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มากน้อยเพียงได หรือเราควรจะปรับลดวิชาที่ไม่ใช่วิชาหลักให้น้อยลงหรือไม่ ผู้เขียนเชื่อว่าการถกเถียงอย่างจริงจังและมีเหตุผลในประเด็นเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถออกแบบและพัฒนาระบบการศึกษาของเราให้ดียิ่งขึ้นต่อไปได้ในอนาคต

ข้อสรุปและนัยสำคัญเชิงนโยบาย

การจัดสรรเวลาเรียนทั้งในแง่ปริมาณและแบบแผนของเวลาเรียนอาจเป็นปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณทักษะความรู้ของนักเรียนในวิชานั้น ๆ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า อันดับคะแนนสอบ PISA และอันดับสัดส่วนเวลาเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา มีความสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน โดยสิงคโปร์ เวียดนาม และไทย มีอันดับคะแนน PISA และเวลาเรียนสูงสุดไปหาต่ำสุดตามลำดับ อีกทั้งสัดส่วนเวลาเรียนของไทยค่อนข้างคงที่ในขณะที่อีกสองประเทศมีการเพิ่มสัดส่วนเวลาตลอดช่วงชั้น ผลการศึกษาดังกล่าวมานี้ชี้ให้เห็นว่า การตั้งคำถามต่อการจัดสรรเวลาเรียนของประเทศไทยที่ผ่านมา และการถกเถียงอย่างจริงจังและมีเหตุผลในประเด็นการเพิ่มเวลาเรียนวิชาหลักและลดเวลาเรียนวิชาอื่น จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถออกแบบและพัฒนาระบบการศึกษาของเราให้ดียิ่งขึ้นต่อไปได้ในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

United Nations Educational, Scientifics and Cultural Organization. (2011a): “World data on Education – Thailand.” (เข้าถึงได้ที่ www.ibe.unesco.org/sites/default/files/Thailand.pdf)

United Nations Educational, Scientifics and Cultural Organization. (2011b): “World data on Education – Vietnam” (เข้าถึงได้ที่ www.ibe.unesco.org/sites/default/files/Vietnam.pdf)

United Nations Educational, Scientifics and Cultural Organization. (2011c): “World data on Education – Singapore” (เข้าถึงได้ที่ www.ibe.unesco.org/sites/default/files/Singapore.pdf)

Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) (2014): “PISA 2012 Results in Focus: What 15-Year-Olds Know and What They Can Do With They Know.” Paris: OECD (เข้าถึงได้ที่ https://www.oecd.org/pisa/keyfindings/pisa-2012-results-overview.pdf)


  1. เวลาเรียนแต่ละวิชาคำนวณมาจากกรอบโครงสร้างเวลาเรียนที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของแต่ละประเทศที่นำเสนอในรายงาน World Data on Education ซึ่งจัดทำขึ้นโดย UNESCO↩
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Development EconomicsEconomics of Education
Tags: educationpisa
วีระชาติ กิเลนทอง
วีระชาติ กิเลนทอง
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
วรุตม์ สามารถ
วรุตม์ สามารถ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email