Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/546c9a14c0dda2a752ac7012909f8b19/e9a79/cover.png
16 มกราคม 2560
20171484524800000

ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพโรงเรียน: นัยต่อผลสัมฤทธิ์ที่วัดโดยคะแนน PISA 2015

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาอย่างจริงจัง
ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์
ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพโรงเรียน: นัยต่อผลสัมฤทธิ์ที่วัดโดยคะแนน PISA 2015
excerpt

ผลการประเมินนักเรียนระดับนานาชาติครั้งล่าสุดของ Program for International Student Assessment (PISA 2015) ซึ่งจัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยทักษะของนักเรียนไทยที่มีอายุ 15 ปี (ใกล้จะจบการศึกษาภาคบังคับ) นั้นอยู่ในกลุ่มท้าย ๆ ของประเทศที่เข้าร่วมในการประเมินในปี 2015 ซึ่งมีทั้งหมด 74 ประเทศ

โดยเฉลี่ยแล้ว นักเรียนไทยมีทักษะต่ำกว่านักเรียนในกลุ่มประเทศ OECD เทียบเท่าประมาณ 2.5 ปีการศึกษา และต่ำกว่ากลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) เกือบ 3 ปีการศึกษา (≈ 30 คะแนน เทียบเท่า 1 ปีการศึกษา) ในทุกสาขาวิชา และหากเปรียบเทียบผลคะแนนกับค่าใช้จ่ายต่อนักเรียนต่อปีของภาครัฐ (ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ชั้นประถม 1 ถึงชั้นมัธยม 3) พบว่า ทักษะของนักเรียนไทยนั้นอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวภาครัฐในระดับเดียวกัน (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 : Average PISA 2015 Reading Score vs. Public Expenditure per Student (constant 2013 PPP$)

Average PISA 2015 Reading Score vs. Public Expenditure per Student (constant 2013 PPP$)

ที่มา: OECD PISA 2015 และ UNESCO Institute for Statistics

ถึงแม้ว่าจะมีนักเรียนบางกลุ่มที่สามารถทำคะแนนได้ในระดับใกล้เคียงกับนักเรียนในประเทศชั้นนำในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งเวียดนาม แต่นักเรียนไทยที่มีทักษะในระดับสูง (ทำคะแนนอยู่ในระดับ 5–6 ของการสอบ PISA) นั้นมีสัดส่วนน้อยมาก จากภาพที่ 2 เห็นได้ว่า ในขณะที่สิงคโปร์มีสัดส่วนนักเรียนที่มีทักษะสูงในด้านคณิตศาสตร์มากกว่า 1 ใน 3 ของนักเรียนทั้งหมด และเกือบ 1 ใน 4 ในด้านวิทยาศาสตร์ในปี 2015 แต่ประเทศไทยกลับมีสัดส่วนของนักเรียนที่มีทักษะสูงเพียงร้อยละ 1.4 ในด้านคณิตศาสตร์ และไม่ถึงร้อยละ 0.5 ในด้านวิทยาศาสตร์ และการอ่าน ในทางกลับกัน และอาจเป็นที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือ เด็กนักเรียนไทยประมาณครึ่งหนึ่งมีทักษะต่ำกว่าระดับพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเข้าสู่โลกของการทำงานในปัจจุบัน หรือเพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป ถึงแม้ว่าจะผ่านการเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามาเกือบ 9 ปีเต็มแล้วก็ตาม ในขณะที่สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม มีนักเรียนที่มีทักษะต่ำกว่าระดับพื้นฐานเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก

ภาพที่ 2 : ทักษะของนักเรียนไทย เปรียบเทียบกับ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม

ทักษะของนักเรียนไทย เปรียบเทียบกับ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม

ที่มา: OECD PISA 2015

นอกจากคุณภาพโดยรวมที่ตกต่ำแล้ว ประเทศไทยยังประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่มีอยู่สูง และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ภาพที่ 3 แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของคะแนน PISA ในด้านวิทยาศาสตร์ และการอ่าน ระหว่างกลุ่มฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม (วัดโดยดัชนี Economic, Social, and Cultural Status หรือดัชนี ESCS ซึ่งทำขึ้นโดย PISA) และระหว่างนักเรียนในเมืองใหญ่กับนักเรียนในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน สำหรับการประเมินในปี 2012 และปี 2015

เห็นได้ว่า ช่องว่างของทักษะทางวิทยาศาสตร์ระหว่างนักเรียนจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม (ดัชนี ESCS) ในกลุ่ม 20% บนสุด กับ 20% ล่างสุด เพิ่มขึ้นจาก 1.6 ปีการศึกษาในปี 2012 เป็น 1.8 ปีการศึกษาในปี 2015 ในขณะที่นักเรียนในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน มีทักษะทางวิทยาศาสตร์ตามหลังนักเรียนในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 1.1 ปีการศึกษา เป็น 1.8 ปีการศึกษาในช่วงเวลาเดียวกัน ในส่วนของทักษะการอ่าน กราฟด้านขวาในภาพที่ 3 ชี้ชัดว่าความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้นั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกมิติเช่นกัน โดยนักเรียนในโรงเรียนประจำหมู่บ้านนั้นมีทักษะตามหลังนักเรียนในเมืองใหญ่ถึงเกือบ 3 ปีการศึกษา และนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มฐานะ ESCS 20% ล่างสุด ตามหลังนักเรียนในกลุ่ม 20% บนสุดถึง 2.3 ปีการศึกษา ในการประเมินในรอบปี 2015

ภาพที่ 3 : ความเหลื่อมล้ำของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา – PISA 2015

ความเหลื่อมล้ำของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา – PISA 2015

ที่มา: OECD PISA 2015

คำถามสำคัญคือ อะไรคือปัจจัยหลักเบื้องหลังคุณภาพการศึกษาของไทยที่ตกต่ำ และความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่สูงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ภาพที่ 4 จัดแสดงกราฟความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาในประเทศไทย เปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD และกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) โดยกราฟด้านซ้ายของภาพแสดงดัชนีความขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน1 (เช่น คอมพิวเตอร์ สื่อการเรียนการสอน หนังสือในห้องสมุด เป็นต้น) สำหรับโรงเรียนใน 3 กลุ่ม กล่าวคือ 1) กลุ่มโรงเรียน 25% บนที่มีค่าเฉลี่ยของดัชนี ESCS ของนักเรียนสูงที่สุด (Advantaged schools) 2) กลุ่มโรงเรียนที่มีค่าเฉลี่ยของดัชนี ESCS อยู่ในช่วงกลาง (Average schools) และ 3) กลุ่มโรงเรียน 25% ล่างที่มีค่าเฉลี่ยของดัชนี ESCS ของนักเรียนต่ำที่สุด (Disadvantaged schools) เห็นได้ว่าโรงเรียนในประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนมากกว่าโรงเรียนในกลุ่มประเทศ OECD และ EAP อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรอยู่ในระดับสูงด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูน่าเป็นห่วงมากกว่าคือ ปัญหาการขาดแคลนครู (รวมทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพ) ซึ่งเป็นปัญหาวิกฤติสำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนมาจากครอบครัวที่เสียเปรียบทางฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม (กราฟด้านขวาในภาพที่ 4) จากงานวิจัยเรื่องระบบการศึกษาไทยของธนาคารโลก (Lathapipat and Sondergaad, 2015) พบว่าปัญหาการขาดแคลนครู และปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรครูที่มีคุณภาพให้ทั่วถึงนั้นเป็นปัจจัยหลักเบื้องหลังคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำ และความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่สูงในประเทศไทย

ภาพที่ 4 : ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา (PISA 2015)

ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา (PISA 2015)

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียนจากข้อมูล OECD PISA 2015

ข้อมูลการสำรวจโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ของปี 2010 สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ปัญหาการขาดแคลนครูนั้นเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีความรุนแรง และเป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ในชั้นประถมศึกษา (นักเรียนในกลุ่มรุ่นที่เข้าร่วมการประเมิน PISA 2015 นั้นอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาในปี 2010) จากตารางที่ 1 เห็นได้ว่าร้อยละ 56 ของห้องเรียนในโรงเรียนประถมมีจำนวนครูเฉลี่ยต่ำกว่า 1 คนต่อห้องเรียน (คิดเป็นร้อยละ 63 ของโรงเรียนประถมทั้งหมด) ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนประถมส่วนใหญ่นั้นมีครูไม่ครบชั้นและครู 1 คนต้องรับภาระการสอนในหลายชั้นและหลายวิชา ซึ่งส่งผลในทางลบต่อคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทที่นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีความเสียเปรียบทางฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม

ตารางที่ 1 ลักษณะสำคัญของโรงเรียนในสังกัด สพฐ

img 5

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2010

นอกจากปัญหาด้านคุณภาพที่เกิดจากการขาดแคลนครูแล้ว จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่เป็นจำนวนมากยังหมายความถึงการใช้จ่ายทางการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนนักเรียนต่อครูที่ต่ำมากในโรงเรียนประถม (สดมภ์ที่ (1) ของตาราง 1) ดังนั้น ภาพรวมของโรงเรียนไทยที่มีห้องเรียนขนาดเล็ก และมีจำนวนนักเรียนต่อครูต่ำนั้นมิได้สะท้อนถึงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่ดี แต่ตรงกันข้ามกลับสะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนครู และการจัดสรรทรัพยากรครู (และทรัพยากรทางการศึกษาอื่น ๆ) ที่ไร้ประสิทธิภาพในระบบการศึกษาไทย

ภาพที่ 5 : ขนาดของโรงเรียนประถมและมัธยมในสังกัด สพฐ (ปี 2010 และปี 2015)

img 6

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2010 และปี 2015

ปัญหานี้นับวันจะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาพที่ 5 แสดงกราฟขนาดของโรงเรียนในสังกัด สพฐ ในปี 2010 และ 2015 เห็นได้ว่าจำนวนโรงเรียนประถมที่มีนักเรียนต่ำกว่า 50 คนนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่มีสัดส่วนร้อยละ 15 ในปี 2010 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 22 ภายในเวลาเพียง 5 ปี ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นนี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งสำหรับโรงเรียนประถม และมัธยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากจำนวนประชากรนักเรียนจะลดลงไปอีกประมาณ 1.2 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า

จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อนักเรียนต่อปีของภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ภาพที่ 6 แสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ชั้นประถม 1 ถึงชั้นมัธยม 3 ต่อนักเรียนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48 ภายในเวลาเพียง 3 ปี จากปี 2010 ถึงปี 20132 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 143 จากปี 2001 (ข้อมูลแสดงเป็น USD ต่อนักเรียนต่อปี โดยปรับเป็นค่าเงินคงที่ในปี 2013 และปรับตามค่าครองชีพที่แตกต่างกันระหว่างประเทศ) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยเลยแม้แต่น้อย

ภาพที่ 6 : ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ชั้นประถม 1 ถึงชั้นมัธยม 3 ต่อนักเรียน (Constant 2013 PPP$)

img 7

ที่มา: UNESCO Institute for Statistics

ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาไทยจะมีปัญหาในหลากหลายมิติ เช่น ระบบความรับผิดชอบของบุคลากรต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนที่บิดเบือน และหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน เป็นต้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงื่อนไขจำเป็นในการสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพนั้น จะต้องมีการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา (โดยเฉพาะทรัพยากรครู) ให้เป็นไปอย่างเพียงพอ เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพเสียก่อน

ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่าค่าใช้จ่ายต่อนักเรียนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่โรงเรียนส่วนมากซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท ยังมีครูสอนไม่ครบชั้นและวิชา อีกทั้งยังมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ไม่เพียงพอ โรงเรียนจำนวนมากในประเทศไทยไม่มีความสามารถที่จะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้ แต่นักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ ส่วนมากมาจากครอบครัวที่เสียเปรียบทางด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการที่นักเรียนกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่ำนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่น

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น เวียดนาม ได้เริ่มกำหนดและบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำทางด้านทรัพยากรทางการศึกษา และการบริหารจัดการที่ดีที่ทุกโรงเรียนพึงมี (Fundamental School Quality Level หรือ FSQL) ตั้งแต่ปี 2001 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพโรงเรียนที่อยู่ในระดับสูงในขณะนั้น และเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยรวม ซึ่งเวียดนามสามารถทำสำเร็จได้ภายในเวลาเพียง 10 ปี โดยไม่ได้ใช้ทรัพยากรมากมายเลย (ดูค่าใช้จ่ายรายหัวในภาพที่ 1) แต่ต้องการการวางแผนและการบริหารจัดการที่ดี

การปฏิรูปการศึกษาในประเทศมาเลเซียภายใต้แผน Malaysia Education Blueprint 2013–2025 ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยควรดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของมาเลเซียไปสู่ระดับประเทศชั้นนำในการทดสอบมาตรฐานระดับนานาชาติ เช่น PISA และ TIMSS ภายใน 15 ปี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระหว่างกลุ่มฐานะ และระหว่างเมืองกับชนบทให้ลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2020 และการปฏิรูปการศึกษาจะต้องใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในการปฏิรูปการศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านที่กล่าวมานี้ ได้มีการจัดตั้ง FSQL Project Coordination Unit ในเวียดนาม และ The Education Performance and Delivery Unit (PADU) ในมาเลเซีย ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูล วางกลยุทธ์ สนับสนุนเขตพื้นที่การศึกษา บริหารจัดการ ประเมินผลการปฏิรูปให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของแผนและจัดทำรายงาน annual report ทุกปีเพื่อเปิดเผยข้อมูลความก้าวหน้าของโครงการปฏิรูปให้กับสาธารณะอย่างโปร่งใส

ข้อสรุป

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาอย่างจริงจัง จากสถิติจำนวนนักเรียนต่อครูในตารางที่ 1 เห็นได้ว่า ในภาพรวมนั้นประเทศไทยมีจำนวนครูที่เพียงพอ ดังนั้น การที่เรามีโรงเรียนประถมถึงร้อยละ 63 ที่มีครูไม่ครบชั้น (ยังไม่ต้องพูดถึงครูครบวิชา) จึงสะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำ และมีความเหลื่อมล้ำสูง สังคมต้องตัดสินใจว่า จำเป็นหรือไม่ที่ประเทศไทยจะต้องกระจายทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปสู่โรงเรียนกว่า 30,000 แห่ง ในสภาวะที่จำนวนนักเรียนมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว และร้อยละ 85 ของโรงเรียนขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่ขาดแคลนทรัพยากรนั้น อยู่ในระยะทางที่สามารถเดินทางถึงโรงเรียนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ภายในเวลาไม่เกิน 20 นาที3 หรือเราควรจะมีโรงเรียนจำนวนน้อยลง แต่เป็นโรงเรียนที่มีขนาดพอเหมาะ มีอุปกรณ์การเรียนการสอนและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีครูที่มีคุณภาพในจำนวนที่เพียงพอ และตั้งอยู่ตามพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่นักเรียนสามารถเดินทางถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

เอกสารอ้างอิง

Lathapipat, Dilaka. and Lars Sondergaard .2015. Thailand – Wanted: A Quality Education for All, Washington, D.C., World Bank Group.


  1. ดัชนีความขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน และบุคลากรทางการศึกษา สำหรับโรงเรียนในกลุ่มประเทศ OECD จะมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0 และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1↩
  2. ข้อมูลค่าใช้จ่ายรายนักเรียนจาก UNESCO Institute for Statistics นั้น สอดคล้องกับข้อมูลจาก สพฐ ที่แสดงว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวเฉลี่ย (รวมทั้งประถมและมัธยม) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50 ในช่วงเวลาเพียง 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2010 ถึงปี 2015 การที่อัตราค่าใช้จ่ายภาครัฐต่อนักเรียนเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นเงินเดือนครูอย่างมากนั้น สะท้อนถึงจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว↩
  3. ข้อมูล school mapping จากธนาคารโลก↩
ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์
ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์
ธนาคารโลก
Topics: Economics of EducationDevelopment Economics
Tags: education qualityinequalitypisa
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email