การพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อสังคมที่เสมอภาคและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
excerpt
การพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกันได้ งานวิจัยในอดีตชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยมีความคุ้มค่าอย่างยิ่ง เช่น อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนของโครงการ Perry Preschool ที่ใช้หลักสูตรไฮสโคป (HighScope) มีค่าสูงถึง 7 ต่อ 1 ในขณะที่โครงการ ABC ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านเกมส์ที่สร้างมาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กก็มีผลประโยชน์ต่อต้นทุนสูงถึง 2.5 ต่อ 1
การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและการสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรส่วนใหญ่ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและช่วยให้เกิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในที่สุด อย่างไรก็ตาม นโยบายสาธารณะส่วนใหญ่ไม่สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นทั้งสองส่วนได้พร้อมกัน กล่าวคือ นโยบายสาธารณะที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตส่วนใหญ่มักจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่มากขึ้น เช่น นโยบายการเก็บภาษีแบบคงที่ (flat tax) ในทางกลับกัน นโยบายสาธารณะที่มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพด้านการผลิตอาจนำไปสู่ปัญหาภาระทางการคลังของประเทศชาติอย่างมหาศาล เช่น โครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย (early childhood development) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกันได้ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์ (human capital) ให้กับประเทศชาติ ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตของสังคม ลดผลกระทบที่เกิดจากการก่ออาชญากรรมและการติดยาเสพติด และที่สำคัญการพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยยังช่วยลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในแง่ที่ช่วยลดความแตกต่างด้านทุนมนุษย์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต อันเป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบันไปอีกด้วย
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศาสตราจารย์ James J. Heckman จาก University of Chicago (Heckman and et.al., 2010, 2013) ได้ศึกษาผลกระทบของโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยภายใต้โครงการ Perry Preschool ซึ่งสอนเด็กปฐมวัยอายุ 3 ถึง 4 ขวบ ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองอิปซิแลนตี รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1962 ถึง 1965 โดยใช้หลักสูตรที่ชื่อว่า ไฮสโคป (HighScope) ซึ่งมีกระบวนการเรียนการสอนหลัก 3 ประการคือ วางแผน (plan) ลงมือทำ (do) และทบทวน (review) นอกจากนี้ โครงการ Perry Preschool ได้สุ่มเลือกเด็กทั้งหมดจำนวน 123 คนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม (control) จำนวน 65 คน และกลุ่มทดลอง (treatment) จำนวน 58 คน ผลการศึกษาพบว่า อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (benefit-to-cost ratio) ของโครงการฯ มีค่าประมาณ 7 ต่อ 1 ถึง 12 ต่อ 1 กล่าวคือ การลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการฯ และสังคมโดยรวมประมาณ 7 ถึง 12 บาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return: IRR) ร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงมากเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure investment) และการลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศสหรัฐอเมริกา ยิ่งไปกว่านั้น ศาสตราจารย์ James J. Heckman ยังสรุปหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวกับการลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การลงทุนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่าจะนำไปสู่อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า” ดังแสดงในรูปภาพที่ 1
นอกจากนี้ Heckman, Pinto and Savelyev (2013) ยังได้ศึกษากลไกที่ส่งผลให้โครงการ Perry Preschool ประสบความสำเร็จ โดยผลการศึกษาพบว่า โครงการฯ มีบทบาทในการพัฒนาทักษะทั้งด้านสติปัญญา (cognitive skills) ด้านบุคลิกภาพ (personality skills) และแรงกระตุ้นด้านวิชาการ (academic motivation) ถึงแม้ว่าผลกระทบด้านสติปัญญาจะเห็นผลได้ชัดในระยะสั้นเท่านั้น แต่ผลกระทบด้านบุคลิกภาพและแรงกระตุ้นด้านวิชาการกลับมีผลต่อเนื่องไปจนกระทั่งกลุ่มตัวอย่างอยู่ในวัยผู้ใหญ่ (ปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างมีอายุกว่า 50 ปีแล้ว) ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งด้านบุคลิกภาพและแรงกระตุ้นด้านวิชาการเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้โครงการ Perry Preschool ประสบความสำเร็จ ดังแสดงผลในรูปภาพที่ 2 (สำหรับผู้หญิง) และ รูปภาพที่ 3 (สำหรับผู้ชาย) ข้อค้นพบจากงานวิจัยชิ้นนี้ยังสอดคล้องกับงานวิจัยอีกจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า มีปัจจัยอีกหลายประการนอกเหนือจากทักษะด้านสติปัญญาที่สำคัญต่อความสำเร็จของมนุษย์ ได้แก่ การสื่อสาร (communication) การทำงานเป็นทีม (teamwork) ความมั่นใจในตนเอง (self-confidence) ความสามารถในการควบคุมตนเอง (self-control) และความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ (grit) เป็นต้น
โครงการ Carolina Abecedarian Project (ABC Project) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เน้นการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเน้นส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา สังคมและอารมณ์ โครงการ ABC มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นเด็กอายุระหว่างแรกเกิดจนถึง 5 ขวบ ซึ่งเกิดในช่วงปี 1972 ถึงปี 1977 ทั้งหมดจำนวน 112 คน โดยโครงการฯ ประยุกต์ใช้เทคนิคการวิจัยแบบทดลองสุ่ม (Randomized Controlled Trial: RCT) เช่นเดียวกับโครงการ Perry Preschool โดยสุ่มเลือกเด็กทั้งหมดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม (control) จำนวน 55 คน และกลุ่มทดลอง (treatment) จำนวน 57 คน โดยกลุ่มทดลองจะได้รับการศึกษาระดับปฐมวัยที่มีคุณภาพเพิ่มเติม เช่นเดียวกับโครงการ Perry Preschool เพียงแต่ใช้หลักสูตรที่แตกต่างกัน หลักการสำคัญของหลักสูตร ABC คือ การเรียนรู้ผ่านเกมส์ที่สร้างมาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก และการกระตุ้นการใช้ภาษาด้วยการสนทนากับเด็กอย่างสม่ำเสมอ โครงการ ABC ได้เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงอายุ 21 ปี ซึ่งช่วยให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการฯ ได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Campbell et.al. (2002) พบว่า คนที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ มาก่อนนั้นมีคะแนนทดสอบทางด้านสติปัญญาและผลการเรียนสูงกว่าผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ Barnett and Masse (2007) พบว่า อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนของโครงการฯ มีค่าประมาณ 2.5 ต่อ 1 ซึ่งต่ำกว่าโครงการฯ Perry Preschool ค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการ ABC มีต้นทุนสูงกว่าถึงประมาณ 4 เท่าของโครงการ Perry Preschool
โครงการ Perry Preschool และโครงการ ABC นับเป็นโครงการที่สร้างนวัตกรรมทางการศึกษาที่สำคัญ เนื่องจากมีการวางแผนเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนกระทั่งกลุ่มตัวอย่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้นักวิจัยสามารถศึกษาถึงผลกระทบของโครงการได้อย่างเป็นระบบทั้งในด้านการศึกษา ด้านอาชีพ และด้านสังคม อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโครงการมีจุดอ่อนที่สำคัญคือ เป็นโครงการขนาดเล็กที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยกว่าคนเท่านั้น จึงยังทำให้เกิดคำถามเชิงนโยบายที่สำคัญตามมาว่า จะสามารถขยายผลของโครงการไปสู่สังคมในภาพกว้างได้อย่างไร และผลตอบแทนที่ได้จะแตกต่างจากการทำโครงการขนาดเล็กมากน้อยเพียงใด
นักวิจัยบางส่วนจึงให้ความสนใจกับโครงการ Head Start ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับอิทธิพลมาจากโครงการ Perry Preschool โดยโครงการ Head Start จัดตั้งขึ้นในปี 1965 เพื่อพัฒนาทั้งด้านสติปัญญา สังคม อารมณ์ รวมไปถึงพัฒนาการด้านสุขภาพร่างกาย และเตรียมความพร้อมในการเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษา โครงการ Head Start เป็นโครงการขนาดใหญ่ ครอบคลุมเด็กยากจนกว่า 560,000 ถึง 800,000 คนต่อปี แม้ว่าผลการวิจัยของ Currie and Thomas (1995) จะพบว่า โครงการ Head Start ช่วยให้ผลทดสอบทางการเรียน (test scores) ของเด็กที่เข้าร่วมโครงการฯ สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในในระยะยาวกลับพบหลักฐานชัดเจนว่า Head Start มีส่วนช่วยลดอัตราการก่ออาชญากรรมและเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้เข้าร่วมโครงการฯ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการฯ ไม่มีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบมากพอ ทำให้ไม่สามารถประเมินผลกระทบของโครงการฯ ในรูปของอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน หรืออัตราผลตอบแทนภายในได้อย่างน่าเชื่อถือเพียงพอเช่นเดียวกับสองโครงการแรก
โดยสรุป งานวิจัยจำนวนไม่น้อยได้ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยให้ผลตอบแทนต่อสังคมที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง ดังนั้น ผู้วางนโยบายควรตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นในข้อนี้ และหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาระดับปฐมวัยที่มีคุณภาพที่ส่งเสริมทั้งทักษะด้านสติปัญญา (cognitive skills) และทักษะด้านบุคลิกภาพ (personality or character skills) รวมไปถึงนโยบายที่ส่งเสริมการอบรมเลี้ยงดูบุตรที่มีคุณภาพ (Heckman, 2013) ยิ่งไปกว่านั้น กราฟในรูปภาพที่ 1 ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ทรัพยากรที่ภาครัฐจัดสรรเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ให้กับประชากรของชาติควรเป็นส่วนกลับกับอายุของผู้รับ กล่าวคือ งบประมาณต่อหัวของเด็กแรกเกิดจนถึงช่วงปฐมวัยควรจะสูงกว่างบประมาณของผู้เรียนระดับอุดมศึกษา เนื่องจากช่วงที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดคือช่วงที่อายุน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม เรายังขาดองค์ความรู้ที่จะช่วยให้สามารถกำหนดรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาโครงการที่ดำเนินการในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะเป็นโครงการที่มีข้อมูลเพียงพอที่จะวิเคราะห์ให้เกิดองค์ความรู้ได้ ในขณะที่โครงการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่มีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ หรือไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์องค์ความรู้จากกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้วได้ดีเท่าที่ควร ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้กำหนดนโยบายจะเข้าใจถึงความสำคัญของการทำวิจัยซึ่งต้องอาศัยข้อมูลที่ดีจากงานวิจัยที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับเด็กปฐมวัย เพื่อให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้ที่จะช่วยให้สามารถวางนโยบายเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
Barnett, W. S., and L. N. Masse (2007): “Comparative benefit-cost analysis of the Abecedarian program and its policy implications.” Economics of Education Review.
Campbell, F. A., C. T. Ramey, E. Pungello, J. Sparling, and S. Miller-Johnson (2002): “Early childhood education: young adult outcomes from the abecedarian Project.” Applied Developmental Science.
Currie, J., and D. Thomas (1995): “Does Head Start Make a Difference?” American Economic Review.
Heckman, J. J. (2008): “The Case for Investing in Disadvantaged Young Children.” Mimeo University of Chicago.
Heckman, J. J. (2013): “Giving Kids A Fair Chance.” A Boston Review Book.
Heckman, J. J., S. Moon, R. R. Pinto, P. A. Savelyev, and A. Q. Yavitz (2010): “The rate of return to the Perry Preschool program.” Journal of Public Economics.
Heckman, J. J., R. R. Pinto, and P. A. Savelyev (2013): “Understanding the mechanisms through which an influential early childhood program boosted adult outcomes.” American Economic Review.
Temple, J. A., and A. J. Reynolds (2007): “Benefits and costs of investments in preschool education: Evidence from the Child–Parent Centers and related programs.” Economics of Education Review.