ข้อเท็จจริงและมายาคติเกี่ยวกับการว่างงานและอัตราค่าจ้างของผู้จบปริญญาตรีและอาชีวศึกษาในประเทศไทย
excerpt
ภาวะการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีแรกหลังจบการศึกษา และเมื่อจบการศึกษาเกิน 3 ปี ภาวะการว่างงานของผู้ที่จบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและสายอาชีพแทบไม่ต่างกัน ในขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงกว่าค่าจ้างของผู้จบสายอาชีพในทุกช่วงเวลาหลังจบการศึกษา
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินการแสดงความคิดเห็นและข่าวเกี่ยวกับภาวะการขาดแคลนแรงงานสายอาชีพหรืออาชีวะศึกษา (ปวช. และปวส.) อยู่เป็นระยะ หรือแม้กระทั่งมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตค่าจ้างของแรงงานสายอาชีพจะสูงกว่าผู้ที่จบปริญญาตรี1 เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ยังคงมีงานวิจัยที่พบว่า ในปัจจุบันตลาดแรงงานขาดแคลนผู้จบสายอาชีพ ในทางกลับกัน มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเกินความต้องการของตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอ้างว่า ผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ปี 2559 ตกงานเป็นจำนวนถึง 1.79 แสนคน2แนวความคิดเช่นนี้ทำให้ภาครัฐพยายามจะสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนและผลิตผู้จบสายอาชีพมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ภาวะการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างที่กังวลกัน ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนต้องการตั้งคำถาม และแสดงให้เห็นว่า การว่างงานหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นเพียงปรากฏการณ์ระยะสั้น และอาจเป็นเรื่องของการรอและหางานมากกว่าจะเป็นเรื่องผู้จบการศึกษาล้นตลาดอย่างที่กังวลกัน โดยเราได้ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร หรือเรียกอย่างสั้น ๆ ว่า LFS (Labor Force Survey) มาสนับสนุนข้อโต้เถียงนี้ เนื่องจาก LFS เป็นข้อมูลแบบสุ่มทั่วประเทศและมีขนาดใหญ่3 ทำให้ลดปัญหาอันเกิดจากความคาดเคลื่อนของข้อมูลได้4
สำหรับภาพรวมของอัตราการว่างงาน ข้อมูลจาก LFS แสดงให้เห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและสายอาชีพอยู่ในระดับที่ต่ำ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ระดับการว่างงานของทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่ไม่เกินร้อยละ 2 แม้ว่าผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะมีอัตราการว่างงานมากกว่าผู้จบสายอาชีพในบางช่วง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น5 (รูปที่ 1) เมื่อมองภาพรวมเช่นนี้จะเห็นได้ว่า อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีอาจยังไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจเท่าใดนัก
ในขณะเดียวกัน ข้อมูล LFS (รูปที่ 2) แสดงให้เห็นว่าค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนตามระยะเวลาหลังจบการศึกษา6 ของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงกว่าค่าจ้างของผู้จบสายอาชีพในทุกช่วงเวลาหลังจบการศึกษา ความต่างนี้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อบุคคลทั้งสองกลุ่มมีประสบการณ์การทำงานมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจนักที่ความนิยม/ความต้องการในการเรียนระดับปริญญาตรีจะสูงกว่าการเรียนสายอาชีพ
เป็นความจริงที่ผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานสูง ดังแสดงในรูปที่ 3 ข้อมูลดังกล่าวบอกเราว่าผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานสูงกว่าผู้จบสายอาชีพเป็นอย่างมากในช่วงปีแรก ๆ หลังจบการศึกษา โดยอัตราการว่างงานของผู้จบปริญญาตรีในช่วงปีแรกหลังจบการศึกษาสูงถึงร้อยละ 35 และสูงถึงร้อยละ 65 สำหรับผู้จบปริญญาตรีสายศึกษาศาสตร์ ในขณะที่ ผู้ที่เพิ่งจบสายอาชีพมีอัตราการว่างงานไม่ถึงร้อยละ 13
อาจไม่ใช่เช่นนั้น กรอบทฤษฎีเกี่ยวกับการหางานและค่าจ้างที่ต้องการ (reservation wage) ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ผู้ที่ต้องการอัตราค่าจ้างที่ในระดับที่สูงจะไม่เลือกงานที่ได้ค่าจ้างในอัตราที่ต่ำกว่าที่ต้องการ และมักต้องใช้ระยะเวลาในการหางานนานกว่าผู้ที่ต้องการอัตราค่าจ้างในระดับที่ต่ำกว่า7 ซึ่งหากเรามองว่าผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีต้องการอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าผู้จบสายอาชีพ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนักที่อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะสูงกว่าผู้จบสายอาชีพในช่วงที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและเริ่มหางาน นอกจากนี้ หากผู้ที่จบปริญญาตรีไม่มีความสามารถและล้นตลาดจริง อัตราการว่างงานที่สูงนี้ไม่ควรจะมีแนวโน้มลดลง หรือแม้จะลดลงก็ลดลงอย่างช้า ๆ หลังจบการศึกษา เนื่องจากผู้ที่ไม่สามารถหางานได้ เมื่อเวลาผ่านไปโอกาสในการหางานได้จะยิ่งลดน้อยลงเรื่อย ๆ8 ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลกลับชี้ให้เห็นว่า อัตราการว่างงานของผู้จบปริญญาตรีลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงปีแรก ๆ หลังจบการศึกษา
โดยสรุป สถานการณ์การว่างงานที่สูงของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในไทยดูจะเป็นเรื่องชั่วคราวที่เกิดขึ้นในช่วง 0–3 ปีแรกหลังจบการศึกษาเท่านั้น จากข้อมูลในรูปที่ 3 เราจะเห็นได้ว่า ภาวะการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีแรกหลังจบการศึกษา และเมื่อจบการศึกษาเกิน 3 ปี ภาวะการว่างงานของผู้ที่จบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและสายอาชีพแทบไม่ต่างกัน ปรากฏการณ์นี้ดูเหมือนจะสนับสนุนแนวความคิดที่ว่าภาวะการว่างงานของผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นเรื่องของการค้นหางานและจับคู่กับงาน (Searching and matching) นอกจากนี้ อัตราการว่างงานหลังจบการศึกษาของกลุ่มปริญญาตรีที่สูงกว่าปวช.และปวส.ไม่ได้เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด หากแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนานแล้ว ดังข้อมูลในรูปที่ 4.1 และ 4.2 แสดงให้เห็นว่า อัตราการว่างงานของผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงกว่าผู้จบสายอาชีพ (ปวช. และ ปวส.) ทั้งในปี 2549, 2554 และ 2559 แต่เมื่อจบการศึกษาเกิน 3 ปี จำนวนการว่างงานของแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เราอาจพูดได้ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะใช้เวลาในการหางานนานกว่ากลุ่มอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี การที่เราเห็นภาวะการว่างงานที่ลดลงอย่างรวดเร็วของผู้จบปริญญาตรีอาจเกิดขึ้นได้จากเหตุผลอื่น ยกตัวอย่างเช่น
- การที่ผู้ที่ไม่สามารถหางานได้ออกจากตลาดแรงงานจึงทำให้สัดส่วนผู้ว่างงานลดลง
- การที่ผู้สำเร็จการศึกษาเลือกที่จะช่วยงานที่บ้านแบบไม่ได้รับเงินเดือนแทนการทำงานประจำ หรือ
- การที่ผู้ว่างงานเลือกที่จะผันตัวเข้าสู่ภาคการเกษตรแทน9
คำตอบก็คือไม่ใช่เช่นนั้น รูปที่ 5 ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีอัตราส่วนเข้าร่วมแรงงาน (labor force participation) ประมาณร้อยละ 70 หลังจบการศึกษา และเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่มากกว่าร้อยละ 90 ภายในเวลาไม่กี่ปีหลังจบการศึกษา สิ่งนี้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เราว่า ตัวเลขการว่างงานที่ลดลงของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่เราเห็นในรูปที่ 5 ไม่ได้มาจากการที่เขาเหล่านั้นออกจากตลาดแรงงาน สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ สัดส่วนการเข้าร่วมแรงงานของผู้จบการศึกษาระดับ ปวช. อยู่ในระดับเพียงร้อยละ 20 เนื่องจากผู้จบ ปวช. มักเลือกที่จะเรียน ปวส. ต่อ ซึ่งเราอาจตีความได้ว่าการเรียนจบ ปวช. ยังไม่เพียงพอต่อเกณฑ์ความต้องการของตลาด ผู้จบ ปวช. ส่วนใหญ่จึงต้องเรียน ปวส. ต่อ สำหรับสัดส่วนการเข้าร่วมแรงงานของผู้จบ ปวส. แม้ว่าจะมีสัดส่วนน้อยกว่ากลุ่มผู้จบปริญญาตรี แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ดูไม่เป็นเช่นนั้นอีกเช่นกัน เนื่องจากสัดส่วนระหว่างผู้ที่ช่วยงานที่บ้านแบบไม่ได้เงินเดือน (unpaid family worker) ต่อจำนวนผู้มีงานทำของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 15 ในช่วงปีแรกหลังจบการศึกษา และลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น (รูปที่ 6) ในทางตรงกันข้ามข้อมูลในรูปที่ 6 ชวนให้เราสงสัยถึงความต้องการผู้จบการศึกษาสายอาชีพอีกครั้ง แม้ว่าสัดส่วนผู้ช่วยงานที่บ้านของกลุ่มผู้จบ ปวส. จะอยู่ในระดับเดียวกับผู้จบปริญญาตรี แต่สัดส่วนของผู้ช่วยงานที่บ้านในกลุ่มผู้จบ ปวช. อยู่ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มผู้จบปริญญาตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เพิ่งจบการศึกษา
ก็ไม่เป็นเช่นนั้นอีกเช่นกัน เนื่องจากสัดส่วนผู้ที่ทำงานในภาคการเกษตรต่อผู้มีงานทำทั้งหมดในกลุ่มผู้ที่จบปริญญาตรีมีไม่ถึงร้อยละ 8 ในปีแรกหลังจบการศึกษาและลดลงจนเหลือต่ำกว่าร้อยละ 5 ภายในเวลาไม่กี่ปี ในทางตรงกันข้าม กลุ่มผู้ที่จบสายอาชีพ (ทั้ง ปวช. และ ปวส.) มีสัดส่วนการทำงานในภาคการเกษตรประมาณร้อยละ 10 ภายหลังจบการศึกษา (รูปที่ 7) และสัดส่วนดังกล่าวของผู้จบสายอาชีพก็สูงกว่า ผู้จบปริญญาตรีโดยตลอด อย่างไรก็ดี ก็เป็นไปได้ที่ความรู้และทักษะของผู้จบสายอาชีพบางสาขาอาจเหมาะสำหรับการทำงานในภาคการเกษตรมากกว่า
ข้อมูลจากฐานข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey: LFS) ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า อัตราการว่างงานที่สูงของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะลดลงอย่างรวดเร็วและดำรงอยู่ไม่กี่ปีหลังจบการศึกษา และสาเหตุที่ทำให้อัตราการว่างงานของผู้จบปริญญาตรีนั้นลดลงก็ไม่ได้เกิดจากการออกจากตลาดแรงงาน หรือการไปช่วยงานที่บ้านแบบไม่ได้ค่าจ้าง หรือการไปทำงานในภาคการเกษตร ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า ผู้ที่จบปริญญาตรีต้องการค่าจ้างในระดับที่สูงกว่า จึงรองานนานกว่า แต่ท้ายที่สุดก็มีงานทำ ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 3 ปีหลังจากจบการศึกษา ในขณะเดียวกันข้อมูลชุดนี้ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนตามระยะเวลาหลังจบการศึกษาของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงกว่าค่าจ้างของผู้จบสายอาชีพในทุกช่วงเวลาหลังจบการศึกษา ความต่างนี้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อบุคคลทั้งสองกลุ่มมีประสบการณ์การทำงานมากขึ้น ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาและแรงงานควรระมัดระวังในการออกแบบนโยบายที่มาจากความเชื่อที่ว่าผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีล้นตลาด และเงินเดือนของผู้จบสายอาชีพมากกว่าปริญญาตรี ซึ่งเป็นความเชื่อที่อาจจะไม่ถูกต้องมากนัก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า ตลาดแรงงานไม่ต้องการแรงงานสายอาชีพที่มีคุณภาพ แต่นโยบายการเพิ่มจำนวนและนโยบายที่จะเพิ่มคุณภาพนั้นน่าจะแตกต่างกันมากทีเดียว
Cahuc, P. and A. Zylberberg (2004): “Labor Economics”, Cambridge, MA: the MIT Press.
Kettunen, J. (1997): “Education and Unemployment Duration” Economics of Education Review, 16 (2), 163–170
Tatsiramos, K. (2014): “Unemployment Benefits and Job Match Quality” IZA World of Labor, 1–10.
Wolbers, M. (2000): “The Effects of Level of Education on Mobility Between Employment and Unemployment in The Netherlands” European Sociological Review, 16, 185–200.
- http://www.thairath.co.th/content/426863, http://www.admissionpremium.com/news/756, https://prachatai.com/journal/2015/06/59590, http://money.sanook.com/369675/↩
- http://www.matichon.co.th/news/503888 แม้ว่าในข่าวดังกล่าวจะกล่าวว่ามีผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีว่างงานถึง 1.79 แสนคนในปี 2559 แต่การใช้ข้อมูล LFS ผู้เขียนพบว่าจำนวนการว่างงานของผู้ที่เพิ่งจบปริญญาตรีมีจำนวนประมาณ 4 หมื่นคนเท่านั้น↩
- LFS เป็นข้อมูลที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีการจัดเก็บรายไตรมาส (4 ครั้งต่อปี) มีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างกว่า 2 แสนคนจากทั้งประเทศ↩
- สำหรับการคำนวณค่าต่าง ๆ ในบทความนี้ ผู้เขียนใช้ค่าเฉลี่ยจากการสำรวจทั้ง 4 ไตรมาสของ LFS ในแต่ละปี เพื่อลดปัญหาความผันผวนตามฤดูกาล↩
- อัตราการว่างงาน = (ผู้ว่างงาน/ผู้มีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน) * 100, ผู้มีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labor force participation) ครอบคลุมผู้ที่ต้องการทำงานเท่านั้น ผู้ที่ยังไม่ต้องการทำงาน (เช่น พักผ่อน เรียนหนังสือ เกษียณ ฯลฯ) จะไม่รวมอยู่ในตัวเลขนี้↩
- ระยะเวลาหลังจบการศึกษา = อายุ – จำนวนปีที่ใช้ในการศึกษา – 6, เหตุที่ต้องลบด้วย 6 เนื่องจากจำนวนปีที่ใช้ในการศึกษาเริ่มนับตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1↩
- สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ใน Cahuc et. al. (2014) บทที่ 5↩
- งานศึกษาจำนวนมาก (อาทิ Kettunen, 1997; Wolbers, 2000; Tatsiramos, 2014) แสดงให้เห็นว่า ผู้ว่างงานจะมีโอกาสได้งานลดลงเมื่อระยะเวลาในการว่างงานนานขึ้น↩
- ผู้เขียนไม่ได้ต้องการจะสื่อว่าคนที่จบการศึกษาสายวิชาชีพและปริญญาตรี ไม่สามารถหรือไม่ควรทำงานในภาคเกษตร แต่ต้องการจะสื่อว่าผู้จบการศึกษาเหล่านั้นน่าจะมีแนวโน้มทำงานในภาคส่วนอื่นมากกว่าภาคเกษตร↩