เศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนไทย: สแกน(พฤติ)กรรม ผ่าน 5 ฐานข้อมูล

excerpt
ปัญหาเศรษฐกิจการเงินของภาคครัวเรือนกำลังได้รับความสนใจในวงกว้าง เพราะหน่วยเศรษฐกิจระดับครัวเรือนถือเป็นฟันเฟืองและเครื่องยนต์ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทย หลายฝ่ายใช้ Debt to GDP เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับภาวะหนี้ครัวเรือน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้สะท้อนสุขภาพทางการเงินที่แท้จริงในระดับครัวเรือน และบ่อยครั้งที่เรามักได้ยินพาดหัวข่าวที่น่าตกใจในประเด็นหนี้ครัวเรือน หรือการออมที่ไม่เพียงพอ โดยอ้างอิงข้อมูลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างเพียงแค่หยิบมือ ซึ่งก็ไม่สามารถสะท้อนภาพรวมของปัญหาในระดับประเทศได้ ทำให้เกิดคำถามว่า เราเข้าใจเศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนไทยดีพอแล้วหรือยัง บทความนี้เป็นตอนแรกของ mini series ของบทความ aBRIDGEd ที่มุ่งศึกษาถึงสถานะทางการเงินของครัวเรือนไทย โดยใช้คลังข้อมูลระดับครัวเรือน 5 ฐานข้อมูล บทความแรกนี้จะมุ่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับความท้าทาย แนวทางการศึกษา และฐานข้อมูลครัวเรือนที่เราใช้
งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์การเงินและการพัฒนาได้เริ่มให้ความสำคัญกับเศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือน หรือ Household Finance มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะถึงครัวเรือนจะเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่เล็กที่สุด แต่ก็เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ลงทุนในระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือนจึงส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในปัจจุบัน ปัญหาหนี้ครัวเรือน การออมที่ไม่เพียงพอ การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง หรือการใช้จ่ายเกินตัวของครัวเรือนกำลังเป็นที่จับตามองจากทุกภาคส่วน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนไทยในวงกว้างแค่ไหน กระทบครัวเรือนกลุ่มใดบ้าง และรุนแรงเพียงใด การวางแผนและมุ่งเป้านโยบายที่เหมาะสม จำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจในพฤติกรรมและสถานะทางการเงินของครัวเรือนอย่างรอบด้าน
เศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนมุ่งศึกษากลไกการใช้เครื่องมือทางการเงินของครัวเรือนในการบริโภค การออม การลงทุน การบริหารจัดการความเสี่ยง และการหารายได้ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ของการเจริญเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านการบริหารจัดการรายรับรายจ่ายในครัวเรือน การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน อันก่อให้เกิดการสะสมความมั่งคั่ง และการบริหารจัดการสภาพคล่อง ตลอดจนความเสี่ยงทางการเงินของครัวเรือน
และเมื่อตลาดการเงินยังมีความไม่สมบูรณ์โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินของครัวเรือนบางกลุ่ม ประกอบกับความแตกต่างในลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม และในบริบทของการประกอบอาชีพ และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้พฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนมีความหลากหลายและแตกต่างกันออกไป ทั้งในประเภทของสถาบันการเงินที่ใช้ (ในและนอกระบบ) ตลอดจนรูปแบบของเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ
ปัจจัยเหล่านี้ล้วนสร้างความท้าทายต่อการศึกษา อย่างไรก็ดี หากเราสามารถเข้าใจเศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนอย่างถ่องแท้ได้ ก็จะสามารถเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจการเงินของครัวเรือนข้างต้นได้เป็นอย่างดี เช่น เราจะเข้าใจปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น หากสามารถเปรียบเทียบปริมาณหนี้สินกับสินทรัพย์ที่ครัวเรือนมี หรือเปรียบเทียบภาระผ่อนชำระหนี้กับรายได้ของครัวเรือน เป็นต้น
หากมองจากข้อมูลในระดับมหภาคโดยใช้ข้อมูลที่สถาบันการเงินต่าง ๆ รายงานมาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะเห็นได้ว่า เศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนมีความสำคัญต่อระบบการเงินไทยเป็นอย่างมาก สะท้อนจากรูปที่ 1 ซึ่งแสดงปริมาณและสัดส่วนของหนี้สิน (เงินให้กู้ยืม ซึ่งยังไม่รวมเงินกู้ยืมจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) และสินทรัพย์ (ซึ่งในที่นี้ยกมาเฉพาะเงินฝาก) ในระบบการเงินไทย
หากมองด้านหนี้สิน เราพบว่าเงินกู้ยืมภาคครัวเรือนไทยมีสัดส่วนถึง 61.8% ของเงินกู้ยืมภาคเอกชนไทยทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 26.4% อยู่ในธนาคารพาณิชย์ 18.2% อยู่ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 9.5% อยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ และ 7.7% อยู่ในสถาบันการเงินอื่น เช่น บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต เป็นต้น
ในฝั่งสินทรัพย์ทางการเงิน หากมองจากข้อมูลเงินฝากที่สถาบันรับฝากเงิน พบว่า เงินฝากของภาคครัวเรือนไทยคิดเป็น 75.2% ของเงินฝากภาคเอกชนไทย ซึ่งมากกว่าภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนเพียง 24.8% เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ข้อมูลในระดับมหภาคเหล่านี้ไม่ได้ครอบคลุมกิจกรรมทางการเงินของครัวเรือนกับสถาบันการเงินนอกระบบ เช่น กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนการออม กองทุนการประกันภัย หรือแม้กระทั่งนายหน้าค้าเงินกู้ (loan sharks) ซึ่งมีงานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่ามีความสำคัญต่อครัวเรือนไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสถาบันการเงินในระบบ นอกจากนี้ ข้อมูลในระดับมหภาคยังไม่สามารถสะท้อนพฤติกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางการเงินทั้งหมดของแต่ละครัวเรือนได้ เช่น เราจะไม่เห็นทั้งหนี้สินและสินทรัพย์ รวมถึงรายได้ รายจ่ายของแต่ละครัวเรือน ทำให้ไม่สามารถสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แท้จริงของครัวเรือนได้
ความหลากหลายในลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม หรือในบริบทของการประกอบอาชีพ และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ประกอบกับความไม่สมบูรณ์ของตลาดการเงิน ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินของครัวเรือนบางกลุ่ม ล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความท้าทายหลากหลายประการในการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเงินในระดับครัวเรือน
ความท้าทายประการแรก คือ ครัวเรือนมักจะมีพฤติกรรมทางการเงินที่หลากหลายและแตกต่างกันไปตามพื้นที่ กลุ่มอาชีพ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม การศึกษาเศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนให้ถ่องแท้ต้องใช้ข้อมูลที่มีความครอบคลุมและสามารถใช้เป็นตัวแทนครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ และประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้
ความท้าทายประการที่สอง คือ พฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนมักจะมีความซับซ้อน ยากที่จะวัดได้อย่างถูกต้อง เช่น ครัวเรือนมีการสะสมสินทรัพย์ในรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่เงินสด เงินฝากในธนาคาร หรือทองที่มีสภาพคล่องสูง ไปจนถึงสัตว์เลี้ยง ที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่อาจมีสภาพคล่องต่ำกว่ามาก รวมถึงสินทรัพย์ทางปัญญา หรือ Human Capital ที่ไม่มีการซื้อขายในตลาด สินทรัพย์ที่หลากหลายเหล่านี้ทำให้เกิดความยากลำบากในการประเมินและเปรียบเทียบมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ครัวเรือนอาจมีหนี้สินในหลายรูปแบบ ตั้งแต่สินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบ ไปจนถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินนอกระบบ ในรูปแบบที่ต่างกันไป เช่น การซื้อสินค้าล่วงหน้าผ่านร้านโชห่วย การเล่นแชร์ การหยิบยืมจากเพื่อนหรือญาติพี่น้อง เป็นต้น รูปแบบของหนี้สินที่หลากหลายเหล่านี้อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการวัดตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บข้อมูลที่อาจจะไม่ครอบคลุมหนี้สินทุกประเภท และเนื่องด้วยครัวเรือนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายปัจจัยการผลิต ผู้ผลิต และผู้บริโภคในคราวเดียวกัน รายได้และรายจ่ายที่อาจมาจากหลายแหล่งในคนละช่วงเวลาอาจส่งผลโดยตรงต่อสภาพคล่องของครัวเรือน และอาจแตกต่างกันไปในแต่ละสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม การศึกษาเศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนอย่างถูกต้องและแม่นยำจึงต้องใช้ข้อมูลที่มีความลึกในระดับกิจกรรมการเงินของแต่ละครัวเรือน ที่จะช่วยให้สามารถสร้างบัญชีรายรับรายจ่าย และบัญชีงบดุลได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ข้อมูลที่ใช้ควรมีความถี่ในการสำรวจสูง เพื่อช่วยในการวัดสภาพคล่องของครัวเรือนที่อยู่ในบริบทที่แตกต่างกันได้อย่างถูกต้องอีกด้วย
ความท้าทายสำคัญประการสุดท้าย คือ การวัดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจบางประเภทในระดับครัวเรือนต้องอาศัยข้อมูลระยะยาวที่ต่อเนื่องของครัวเรือนเดิม เช่นการวัดความสามารถในการรักษาระดับการบริโภคให้คงที่ หรือ Consumption smoothing การวัดความเสี่ยงและความเปราะบางของครัวเรือน ตลอดจนการเข้าใจรูปแบบและพัฒนาการของการสะสมสินทรัพย์และความมั่งคั่งของครัวเรือน เป็นต้น ดังนั้น ข้อมูลสำรวจตัวอย่างซ้ำ หรือ Panel data จึงเป็นสิ่งสำคัญ
จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะต่าง ๆ ของข้อมูลที่จะช่วยให้สามารถศึกษาเศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนได้อย่างถ่องแท้และถูกต้อง ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ไม่สามารถพบได้ในข้อมูลชุดใดชุดหนึ่งเพียงชุดเดียว การศึกษาจึงจำเป็นต้องใช้ฐานข้อมูลหลายฐาน และใช้จุดเด่นของแต่ละฐานมาเติมเต็มซึ่งกันและกันในการศึกษาให้ครบถ้วนที่สุด
ในปัจจุบัน งานวิจัยที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนส่วนใหญ่เน้นการศึกษาในระดับมหภาค ซึ่งมุ่งเน้นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจครัวเรือนกับการพัฒนาประเทศ โดยใช้ข้อมูลในระดับมหภาค และการเปรียบเทียบในระดับประเทศ ทั้งนี้ งานวิจัยบางส่วนเน้นการสร้างแบบจำลองทางทฤษฎีมาพยายามอธิบายพฤติกรรมการเงินของครัวเรือน เช่น Cooper and Zhu (2017)
เป็นที่น่ายินดีที่นักเศรษฐศาสตร์การเงินและการพัฒนาได้เริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนในระดับจุลภาคมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเน้นการใช้ข้อมูลในระดับรายครัวเรือน และการพัฒนาระเบียบวิธีในการวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนอย่างถูกต้องมากขึ้น เช่น Deaton (1997) Campbell (2006) และ Samphantharak and Townsend (2010) นอกจากนี้ ในงานของธนาคารกลางหลายประเทศ เช่น Federal Reserve System หรือ European Central Bank1 ก็เริ่มมีการลงทุนในการเก็บข้อมูลระดับครัวเรือนที่ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยและการออกแบบนโยบายต่าง ๆ
สำหรับงานวิจัยของประเทศไทย Samphantharak and Townsend (2010) เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือน โดยใช้แนวคิดทางบัญชี Corporate Finance และฐานข้อมูลสำรวจครัวเรือนของ Townsend Thai Project มาศึกษาสถานะทางการเงินของครัวเรือนใน 6 จังหวัด และต่อมา Pawasutipaisit et al. (2016) และ Suwanik and Townsend (2016) ใช้ฐานข้อมูลเดียวกันมาสร้างและแสดงสถิติของบัญชีครัวเรือน ทั้งนี้ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ของประเทศไทยจะเน้นการศึกษาไปที่หนี้ครัวเรือน เช่น Muthitacharoen (2016)และ SCB (2016) ศึกษาปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยทั่วประเทศโดยใช้ข้อมูลสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ Chantarat et al. (2017) ใช้ข้อมูลเชิงสถิติจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ซึ่งสามารถสะท้อนสถานการณ์หนี้รายคนของผู้กู้แต่ละราย และครอบคลุมผู้กู้ในระบบทั้งหมดทั่วประเทศมาศึกษาหนี้ครัวเรือนไทย แต่ก็ยังไม่สามารถศึกษาสถานะหนี้สินต่อรายได้หรือทรัพย์สินของครัวเรือนได้ และไม่สามารถศึกษาหนี้นอกระบบของครัวเรือนไทยได้
Chantarat, Rittinon, Samphantharak and Suwanik (2017) พยายามเติมเต็มองค์ความรู้ที่หายไปของประเทศไทย และต่อภาพเศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนไทยที่ถูกต้อง รอบด้าน และครอบคลุมครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยใช้ข้อมูลระดับครัวเรือนจาก 5 ฐานข้อมูลของประเทศ และพยายามดึงจุดเด่นของข้อมูลแต่ละฐานมาเติมเต็มความเข้าใจถึงสถานะทางการเงินของครัวเรือนไทยในเชิงลึกขึ้น เพื่อสามารถนำไปต่อยอดเชิงนโยบายได้
จากตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่าข้อมูลทางการเงินของครัวเรือนไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ
ข้อมูลประเภทแรกคือ ข้อมูล Administrative data ซึ่งเป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบโดยสถาบันการเงินต่าง ๆ ข้อมูลประเภทนี้มีจุดเด่นตรงที่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงของกิจกรรมทางการเงินในระบบที่ถูกต้องและครบถ้วนของครัวเรือนได้ แต่มีจุดด้อยตรงความครอบคลุมที่จำกัดเฉพาะกิจกรรมทางการเงินของครัวเรือนในระบบเท่านั้น ข้อมูล Administrative ของไทยหลัก ๆ ประกอบไปด้วย
ข้อมูลหนี้สินและสินทรัพย์ทางการเงินของภาคครัวเรือนระดับมหภาค ที่สถาบันการเงินต่าง ๆ รายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งก็รวมถึงธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-banks เช่น บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น และ
ข้อมูล Big data ของสินเชื่อบุคคลรายสัญญาจากเครดิตบูโร ซึ่งครอบคลุมกว่า 87% ของหนี้ครัวเรือนในระบบจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกกว่า 90 แห่ง ซึ่งก็รวมธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง และสถาบันการเงินอื่น ๆ ข้อมูลทั้ง 2 ชุดนี้ แม้จะมีความแม่นยำสูงเพราะเป็นข้อมูลจริง แต่เป็นข้อมูลที่บันทึกเฉพาะกิจกรรมที่อยู่ในระบบเท่านั้น และไม่มีรายละเอียดทางด้านสินทรัพย์และรายได้ของครัวเรือน
ข้อมูลประเภทที่สอง คือ ข้อมูลสำรวจรายครัวเรือน หรือ Household Surveys ซึ่งเป็นข้อมูลที่ครัวเรือนตอบตามความสมัครใจ หรือ Self-reporting ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนสูงเมื่อเทียบกับ Administrative data อีกทั้งการสำรวจไม่สามารถเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของทุกครัวเรือนได้ แต่ต้องมีการเลือกกลุ่มตัวอย่างซึ่งอาจมีจำนวนน้อย และไม่ครอบคลุมครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ อย่างทั่วถึงทั่วประเทศได้ แต่ข้อมูลจากการสำรวจมีจุดเด่นอยู่ที่ความครอบคลุมถึงกิจกรรมทางการเงินทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรายได้รายจ่าย หนี้สิน สินทรัพย์ ทั้งในระบบและนอกระบบ จึงสามารถเติมเต็มองค์ความรู้ข้อมูลชุดแรกได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลสำรวจรายครัวเรือนหลัก ๆ ในประเทศไทย ประกอบด้วย 5 ฐานข้อมูล ได้แก่
ข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (หรือ Socio-Economic Survey: SES) ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกปี ซึ่งดำเนินการสำรวจ 52,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ (13,000 ครัวเรือนในทุกไตรมาส) และทำการสำรวจมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 จุดเด่นของข้อมูลชุดนี้คือความครอบคลุมครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ ทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี ข้อมูลชุดนี้เป็นข้อมูลแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional data) คือไม่ได้ใช้ตัวอย่างครัวเรือนที่สำรวจซ้ำ ทำให้ไม่สามารถติดตามพัฒนาการของครัวเรือนหนึ่ง ๆ ได้
การสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยใช้ตัวอย่างซ้ำ (Panel SES) ซึ่งสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเช่นเดียวกัน และใช้ตัวอย่างเดียวกันกับ SES แต่ในจำนวนที่น้อยกว่า (6,000 ครัวเรือน) โดยทำการสำรวจครัวเรือนตัวอย่างเดิมนั้นในทุกครั้งที่มีการสำรวจ จุดเด่นของข้อมูลชุดนี้คือการมีข้อมูลต่อเนื่องของครัวเรือนเดิม อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชุดนี้มีความถี่ในการสำรวจต่ำ และมีข้อมูลเพียง 5 ปีเท่านั้น
แบบผนวกของธนาคารแห่งประเทศไทยในข้อมูล SES (BOT SES) ซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างเดียวกันกับ SES แต่สำรวจบางปี และในจำนวนน้อยกว่า (10,000 ครัวเรือน) จุดเด่นของข้อมูลชุดนี้คือ มีข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์สถานะการเงินครัวเรือนที่มีรายละเอียดสูงกว่า SES แต่มีความครอบคลุมน้อยกว่า และมีความถี่ในการสำรวจต่ำ มีข้อมูลเพียง 4 ปี และเป็น Cross-sectional data
แบบสอบถามภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร (Agricultural Household Survey: AHS) สำรวจโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทุกปี ครอบคลุมครัวเรือนเกษตรกว่า 30,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งมีจุดเด่นคือการมุ่งครอบคลุมครัวเรือนเกษตรโดยเฉพาะ และมีการเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจการเกษตรไว้อย่างละเอียด แต่มีจุดด้อย คือ มีความถี่ในการสำรวจต่ำ และเป็น Cross-sectional data
Townsend Thai Surveys2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Townsend Thai Project และริเริ่มการสำรวจโดย Professor Robert M. Townsend แห่งมหาวิทยาลัย MIT สหรัฐอเมริกา จุดเด่นของข้อมูลชุดนี้ คือ เป็นข้อมูล Panel data ที่มีระยะเวลาการเก็บข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างครัวเรือนเดิมยาวนานที่สุดถึง 20 ปี และมีความถี่สูง ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลรายปีและรายเดือน ทำให้สามารถเห็นพัฒนาการและพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนได้อย่างเด่นชัด อย่างไรก็ดี ข้อมูลชุดนี้มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่จำกัด ครอบคลุมแค่ 6 จังหวัด(สำหรับข้อมูลรายปี) และ 4 จังหวัด (สำหรับข้อมูลรายเดือน) กลุ่มตัวอย่างจึงไม่ใช่ตัวแทนประชากรทั้งหมดของประเทศ
Chantarat, Rittinon, Samphantharak and Suwanik (2017) ใช้ข้อมูลแบบสำรวจครัวเรือนทั้ง 5 ฐานมาสร้างบัญชีงบดุล หรือ Balance sheet ซึ่งประกอบด้วย สินทรัพย์ หนี้สิน และความมั่งคั่งสุทธิซึ่งก็คือผลต่างระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน โดยสำหรับสินทรัพย์มีการแยกประเภทตามสภาพคล่อง และแยกสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดผลิตผล (Productive asset) ออกจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตผล และสำหรับหนี้สิน มีการแยกหนี้สินจากสถาบันการเงินในระบบและนอกระบบ นอกจากนี้ ยังสร้างบัญชีงบกำไรขาดทุน หรือ Income statement ซึ่งประกอบด้วยรายรับ รายจ่าย การบริโภคและเงินได้สุทธิต่อเดือนของครัวเรือน3
บัญชีการเงินที่สร้างขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดทั้งรายได้หนี้สิน และสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ของแต่ละครัวเรือนข้างต้นสามารถนำมาวิเคราะห์สถานะทางการเงินและเสถียรภาพของครัวเรือนได้ผ่านทางอัตราส่วนทางการเงิน หรือ financial ratios ต่าง ๆ เช่น สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ (Debt to income ratio) สัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt to asset ratio) และภาระการชำระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้ (Debt service ratio) เป็นต้น และเนื่องจากเราสามารถแยกประเภทของกิจกรรมทางการเงินได้ จึงสามารถเข้าใจสภาพคล่องและความสามารถของครัวเรือนในการจัดการสภาพคล่องผ่านทาง financial ratios เช่น สัดส่วนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงต่อหนี้สินระยะสั้น (Current ratio) เป็นต้น
นอกจากนี้ บัญชีการเงินที่สร้างจากฐานข้อมูล Panel data สามารถนำมาวัดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจระดับครัวเรือนได้ เช่น การเจริญเติบโตของรายได้และสินทรัพย์ (Income and asset growth) และความสามารถในการรักษาระดับการบริโภคให้คงที่ หรือ Consumption smoothing และเมื่อ ข้อมูลจากทั้ง 5 ฐานมีความครอบคลุมครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้ว จึงสามารถทำการศึกษาข้างต้นในกลุ่มครัวเรือนประเภทต่าง ๆ ตามการประกอบอาชีพ พื้นที่ และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ดังนั้น การศึกษาของ Chantarat, Rittinon, Samphantharak and Suwanik (2017) จะสามารถเติมเต็มองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนไทยที่มีอยู่แล้วได้เป็นอย่างดี
บทความนี้มุ่งทำความเข้าใจถึงความท้าทายและแนวทางการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเงินในครัวเรือนไทย โดยใช้คลังข้อมูลระดับรายครัวเรือนของประเทศ เนื่องด้วยข้อจำกัดของข้อมูลในระดับมหภาคที่ไม่สามารถสะท้อนสถานะทางการเงินในระดับครัวเรือน และไม่ครอบคลุมกิจกรรมทางการเงินนอกระบบซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากิจกรรมทางการเงินผ่านสถาบันการเงินในระบบ รวมถึงความท้าทายในการศึกษาและการวัดพฤติกรรมและสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่มีความหลากหลายและซับซ้อน เราจึงเน้นย้ำความสำคัญของการสร้างบัญชีงบดุลและบัญชีงบกำไรขาดทุนของครัวเรือน โดยใช้ข้อมูลระดับจุลภาค (1) ที่มีความครอบคลุมและสามารถสะท้อนสถานะของครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ ของทั้งประเทศได้ (2) ที่มีความลึกไปถึงระดับกิจกรรมทางการเงินของครัวเรือน (3) ที่มีความถี่สูง และครอบคลุมช่วงเวลาสำคัญต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และ (4) ที่สามารถติดตามครัวเรือนเดิมอย่างต่อเนื่อง แต่คุณลักษณะของข้อมูลที่เหมาะสมเหล่านี้ไม่สามารถพบได้ในฐานข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง การศึกษาจึงจำเป็นต้องอาศัยฐานข้อมูลระดับครัวเรือนหลากหลายฐานที่มีในประเทศ ซึ่งมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่สามารถเติมเต็มซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี และบทความต่อไปจะนำเสนอผลการศึกษาและนัยเชิงนโยบายที่สำคัญของการศึกษาครั้งนี้
Campbell, J. Y. (2006). Household Finance. Journal of Finance 41: 1553–1604.
Chantarat, S., Rittinon, C., Samphantharak, K. and S. Suwanik (2017). Measuring Household Finance in Thailand from Integrated Household Surveys. Forthcoming PIER Discussion Paper.
Chantarat, S., Lamsam, A., Samphantharak, K. and B. Tangsawasdirat (2017). Thailand’s Household Debt through the Lens of Credit Bureau Data. PIER Discussion Paper No. 61.
Cooper, R. and G. Zhu (2017). Household Finance in China. NBER Working Paper No. 23741.
Deaton, A. (1997). The Analysis of Household Surveys: A Microeconometric Approach to Development Policy. World Bank.
Muthitacharoen, A. (2015). Gauging Households’ Debt Tolerance: Evidence from Thailand. PIER Discussion Paper No. 12.
Pawasutipaisit, A., Paweenawat, A, Samphantharak, K., Srivisal, N., and R. M. Townsend (2016). User’s manual Townsend Thai Monthly Micro Survey Household Financial Accounting. Robert M. Townsend Dataverse. University of Chicago.
Samphantharak, K. and R. M. Townsend (2010). Household as Corporate Firms: An Analysis of Household Finance Using Integrated Household Surveys and Corporate Financial Accounting. Cambridge University Press.
Samphantharak, K. and W. Kilenthong (2015). ฐานข้อมูลระดับครัวเรือนแบบตัวอย่างซ้ำเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจและสังคม: Townsend Thai Data. PIER aBRIDGEd No. 14.
Siam Commercial Bank Economic Intelligence Centre (2016). เจาะลึก Household Balance Sheet สะท้อนหนี้ครัวเรือนไทย.
Suwanik, S. and R. M. Townsend (2016). Townsend Thai Monthly Rural Survey: Household FinancialAccounting Data Summaries. The Townsend Thai Project.
- ดูตัวอย่างที่ https://www.newyorkfed.org/microeconomics/hhdc.html หรือ https://www.ecb.europa.eu/pub/economic-research/research-networks/html/researcher_hfcn.en.html↩
- อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Samphantarak (2015) หรือจากเว็บไซต์ http://townsend-thai.mit.edu/↩
- ที่จริงแล้ว ยังสามารถจัดทำงบการเงินของครัวเรือนอีกประเภทหนึ่งได้คือ งบกระแสเงินสด หรือ Statement of cash flow แต่สำหรับชุดบทความนี้จะใช้งบดุลและงบกำไรขาดทุนในการวิเคราะห์สถานะทางการเงินของครัวเรือนเท่านั้น↩