Finance & Firms เจาะลึกวัฏจักรสินเชื่อไทย จากข้อมูลการกู้ยืมรายสัญญา
excerpt
ความท้าทายที่สำคัญในการทำความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยจากภาคการเงินกับผลกระทบต่อกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริง คือ การแยกแยะว่าการเติบโตของสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจนั้น ส่วนใดเป็นผลมาจากปัจจัยด้านอุปทานของสถาบันการเงิน ส่วนใดเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปสงค์ของผู้กู้ ซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยข้อมูลสินเชื่อระดับมหภาค บทความนี้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ในการกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินแต่ละแห่งกับผู้กู้แต่ละรายในแต่ละช่วงเวลา เพื่อแยกองค์ประกอบของการเติบโตของสินเชื่อออกเป็นส่วนที่มาจาก
- อุปทานสินเชื่อของธนาคาร
- อุปสงค์การกู้ยืมของบริษัท
- ปัจจัยเฉพาะรายอุตสาหกรรม และ
- ปัจจัยร่วมในทุกธนาคารและทุกผู้กู้
และใช้องค์ประกอบเหล่านี้ในการศึกษาความอ่อนไหวของการลงทุนภาคเอกชนไทยทั้งในระดับบริษัทและในภาพรวมต่อพฤติกรรมการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมเชื่อว่าปัจจัยจากภาคการเงินไม่ควรมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจจริง เพราะการตัดสินใจลงทุนและความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนของบริษัทขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของแผนการลงทุน โดยไม่ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทนั้น ๆ แต่วิกฤตการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงและยาวนานต่อประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลกก็ได้แสดงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าปัจจัยด้านการเงินมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงมากกว่าที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมเคยคาดไว้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และผู้ทำนโยบายหันมาให้ความสนใจกับบทบาทของภาคการเงิน โดยฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสินเชื่อหรือพฤติกรรมการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นตัวกำหนด ‘อุปทานสินเชื่อ’ (loan supply) ในระบบเศรษฐกิจและก่อให้เกิดข้อจำกัดทางการเงินหรือ ‘financial frictions’ ที่มีส่วนขยายผลกระทบอย่างมากทั้งในวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นและขาลง
ถึงแม้ในระยะหลังจะมีทฤษฎีใหม่ ๆ ที่พยายามอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยจากภาคการเงินกับตัวแปรด้านเศรษฐกิจจริง แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ยังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วข้อมูลอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่เรามักเห็นจากการรายงานในภาพรวมหรือในระดับธนาคารก็ตาม ไม่สามารถบอกเราได้ว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของความต้องการสินเชื่อของผู้กู้ (loan demand) หรือความต้องการ/ความสามารถในการปล่อยกู้ของธนาคาร (loan supply) มากน้อยเพียงใด กล่าวคือ เราไม่สามารถแยกแยะอุปทานออกจากอุปสงค์ของการกู้ยืมได้ การใช้ข้อมูลเชิงลึกระดับจุลภาคเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งจะอธิบายในลำดับถัดไป โดยเน้นการวิเคราะห์อุปทานสินเชื่อว่าส่งผลอย่างไรต่อการใช้จ่ายลงทุนของผู้ประกอบการ
งานวิจัยเชิงประจักษ์ที่ผ่านมาที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาคการเงินกับเศรษฐกิจจริง ส่วนใหญ่จะใช้ตัวอย่างจากประเทศพัฒนาแล้ว งานศึกษาสำหรับประเทศกำลังพัฒนายังมีค่อนข้างน้อยเนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูล ประเทศไทยนับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ด้วยลักษณะเฉพาะของภาคการเงินอย่างน้อยใน 2 มิติ
ประการแรก คือ ความกระจุกตัวของตลาดสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับสูงมาก ทั้งจากมุมมองของผู้ให้บริการสินเชื่อและจากมุมมองของผู้กู้ โดยธนาคารพาณิชย์ 5 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 70 ของปริมาณการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด (รูปที่ 1) ขณะที่ผู้กู้จำนวนเพียง 1 ใน 10 ของจำนวนบริษัทผู้กู้ทั้งหมด1 กินสัดส่วนตลาดสินเชื่อถึงร้อยละ 70 เช่นกัน (รูปที่ 2) การกระจุกตัวเช่นนี้ทำให้การเปลี่ยนแปลงของอุปทานสินเชื่อของธนาคารรายใหญ่หรืออุปสงค์ของ ผู้กู้รายใหญ่เพียงบางรายสามารถส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจได้
ประการที่สอง จากข้อมูลพบว่าบริษัทในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วมักมีการกู้ยืมจากเพียงธนาคารเดียว โดยคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 66 ของจำนวนบริษัทในกลุ่มตัวอย่าง (ตารางที่ 1) โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่กว่า 3 ใน 4 ของบริษัททั้งหมดพึ่งพาสินเชื่อธนาคารจากเพียงแห่งเดียว ทำให้การดำเนินธุรกิจอาจมีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษต่ออุปทานสินเชื่อ
บทความนี้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาที่แสดงถึงปริมาณการให้กู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินแต่ละแห่งกับผู้กู้แต่ละรายในแต่ละช่วงเวลา และใช้วิธีตามแนวทางของ Amiti and Weinstein (2017) ในการแยกองค์ประกอบของการเติบโตของสินเชื่อออกเป็นส่วนที่มาจากอุปทานสินเชื่อของธนาคาร อุปสงค์การกู้ยืมของบริษัท ปัจจัยเฉพาะรายอุตสาหกรรม และปัจจัยร่วมในทุกธนาคารและทุกผู้กู้
ข้อมูลหลักที่ใช้ในการศึกษาคือ ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาที่สถาบันการเงินรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย2 สำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อหรือยอดคงค้างสินเชื่อมากกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งครอบคลุมถึงร้อยละ 75–90 ของการกู้ยืมภาคธุรกิจทั้งหมด โดยข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลรายไตรมาสในระหว่างปี ค.ศ. 2004–2014 เรานำข้อมูลสินเชื่อนี้ไปเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลงบการเงินรายบริษัท Corporate Profile and Financial Statement (CPFS) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลรายปีที่ครอบคลุมทุกนิติบุคคลในประเทศไทยที่จดทะเบียนพาณิชย์กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสินเชื่อเข้ากับข้อมูลงบการเงินและการลงทุนของบริษัท
จากข้อมูลนี้เราสามารถคำนวณอัตราการเติบโตของสินเชื่อโดยรวมของแต่ละธนาคาร และอัตราการเติบโตของสินเชื่อของแต่ละบริษัท หลักการสำคัญของการแยกองค์ประกอบการเติบโตของสินเชื่อด้วยวิธีนี้ คือ การอาศัยความสัมพันธ์ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างธนาคารและผู้กู้ กล่าวคือ ธนาคารแต่ละแห่งมีการปล่อยกู้ให้ผู้กู้หลากหลายราย ในทางกลับกันผู้กู้บางรายก็มีการกู้ยืมจากธนาคารหลายแห่งในเวลาเดียวกัน ความสัมพันธ์แต่ละคู่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละช่วงเวลา แต่หากมองภาพรวมในเชิงระบบแล้ว การเปลี่ยนแปลงปริมาณการกู้ยืมในความสัมพันธ์ที่คาบเกี่ยวกันทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องสมมาตรกันจากในมุมมองของธนาคารเมื่อเทียบกับมุมมองของลูกหนี้ทั้งหมด ซึ่งต้องเท่ากับอัตราการเปลี่ยนแปลงสินเชื่อของทั้งระบบนั่นเอง
หากเรามองว่าการเปลี่ยนแปลงของสินเชื่ออาจเป็นผลลัพธ์จากทั้งปัจจัยเฉพาะด้านผู้กู้ หรือจากปัจจัยเฉพาะของธนาคาร ซึ่งเราเรียกว่าเป็น ‘firm shock’ และ ‘bank shock’ ตามลำดับ เราจะสามารถเขียนสมการอธิบายการเติบโตของสินเชื่อโดยรวมของแต่ละธนาคาร และแต่ละบริษัทผู้กู้ ดังนี้
สมการที่ (1) แจกแจงว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อของแต่ละบริษัท () ขึ้นอยู่กับทั้งปัจจัยเฉพาะของตัวเองในแต่ละช่วงเวลา () และปัจจัยด้านอุปทานของธนาคารแต่ละแห่ง () ที่บริษัทมีการกู้ยืม โดยสัดส่วนผลกระทบจาก ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการกู้ยืมจากแต่ละธนาคาร () ในภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัท สำหรับสมการที่ (2) สามารถอธิบายได้ในลักษณะเดียวกัน คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของสินเชื่อของแต่ละธนาคาร () ขึ้นอยู่กับ ของธนาคารเอง และ ที่มาจากลูกหนี้โดยถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนการปล่อยกู้ให้ลูกหนี้แต่ละราย ()
สมการแบบที่ 1 จะมีจำนวนเท่ากับจำนวนบริษัททั้งหมดในกลุ่มตัวอย่าง () และสมการแบบที่ 2 มีจำนวนเท่ากับจำนวนธนาคารทั้งหมด () เราสามารถใช้เพียงข้อมูลการกู้ยืมระหว่างกันของแต่ละธนาคารและผู้กู้ ในการระบุค่า , , , \Theta$ และใช้วิธีการแก้สมการเชิงระบบ (มีทั้งสิ้น สมการ) ในการคำนวณหาค่า ของแต่ละบริษัทและ \text{BankShock_{b, t} ของแต่ละธนาคารในแต่ละช่วงเวลา
เมื่อได้ค่า และ ในขั้นต้นแล้ว เราสามารถนำมาแยกองค์ประกอบต่อไปเป็นสี่ส่วน3 ได้แก่
ปัจจัยร่วมของทั้งระบบ (common shock) โดยการดึงค่ากลางของทั้ง และ และนำมารวมเป็นองค์ประกอบด้านปัจจัยร่วม
ปัจจัยรายอุตสาหกรรม (industry shock) โดยคำนวณจากค่ากลางของ บริษัทผู้กู้ทั้งหมดในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน จากนั้น เมื่อนำ มาหักลบด้วยค่า common shock จะได้องค์ประกอบที่เป็น
- ปัจจัยเฉพาะของแต่ละธนาคาร (bank supply shock) ซึ่งสะท้อนอุปทานสินเชื่อของธนาคาร และสุดท้าย
- ปัจจัยเฉพาะของแต่ละบริษัท (firm demand shock) ได้จากการนำ หักลบด้วย common shock และ industry shock ซึ่งใช้สะท้อนปัจจัยด้านอุปสงค์ของบริษัทผู้กู้
ข้อดีของการแยกองค์ประกอบด้วยวิธีนี้ คือ นอกจากเราจะสามารถวิเคราะห์องค์ประกอบทั้งสี่ส่วนได้ในระดับบริษัทและระดับธนาคารแล้ว เรายังสามารถนำแต่ละองค์ประกอบมาคำนวณหาค่าในระดับประเทศ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของสินเชื่อในภาพรวมได้อีกด้วย รูปที่ 3 แสดงอัตราการเติบโตของสินเชื่อโดยรวมของไทยตั้งแต่ปี 2005Q1 ถึง 2014Q4 (เส้นสีแดง) พร้อมทั้งพัฒนาการขององค์ประกอบที่มาของการเติบโตของสินเชื่อในแต่ละช่วงเวลา (กราฟแท่ง) โดย bank shock และ firm shock ในระดับประเทศ นี้ คือ ค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของ bank shock และ firm shock ของแต่ละธนาคารและแต่ละผู้กู้ ตามลำดับ โดยน้ำหนักที่ใช้ในการคำนวณค่าเฉลี่ยคือ สัดส่วนสินเชื่อต่อปริมาณสินเชื่อทั้งระบบ วิธีนี้ทำให้ bank shock และ firm shock ระดับประเทศสะท้อนขนาดของการเปลี่ยนแปลงของสินเชื่อของผู้เล่นรายใหญ่มากกว่ารายอื่น ๆ ในขณะที่ common shock จะสะท้อนขนาดของ shock จากผู้เล่นโดยทั่วไปในระบบเศรษฐกิจ
ข้อสังเกตหนึ่งคือ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี ค.ศ. 2008–2009 องค์ประกอบของการเติบโตของสินเชื่อที่มาจาก common shock มีขนาดใหญ่มากในด้านลบ กล่าวคือ ผู้กู้โดยไปทั่วประสบกับภาวะสินเชื่อตึงตัว ต่างกับ bank shock และ firm shock ที่มีค่าเป็นบวกสูงซึ่งหมายถึงธนาคารและบริษัทขนาดใหญ่ยังมีการปล่อยกู้และได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ในระยะหลังตั้งแต่ช่วงต้นปี 2013 เป็นต้นมาเราจึงจะเห็นว่า bank shock หรืออุปทานสินเชื่อของธนาคารขนาดใหญ่เริ่มหดตัวลงสำหรับทั้งระบบ
เมื่อพิจารณาสินเชื่อรายธนาคาร ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ ความคล้ายคลึงกันของพัฒนาการของอุปทานสินเชื่อในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย และความแตกต่างกันของพัฒนาการของสินเชื่อระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทยกับสาขาธนาคารต่างประเทศ รูปที่ 4 แสดงองค์ประกอบของสินเชื่อรายแบงก์ของตัวอย่างแบงก์ไทย 2 ราย (รูปด้านซ้ายมือ) และแบงก์ต่าง ชาติ 2 ราย (รูปด้านขวามือ) จะเห็นว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกแบงก์ไทยยังคงมีอุปทานสินเชื่อเป็นบวกที่ทำให้สินเชื่อโดยรวมยังคงขยายตัว แต่สำหรับแบงก์ต่างชาติกลับมีอุปทานสินเชื่อติดลบอย่างชัดเจน ซึ่งอาจสะท้อนผลกระทบที่ได้รับจากวิกฤตภาคธนาคารของบริษัทแม่ในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน firm shock ของแบงก์ต่างชาติในช่วงวิกฤตมีค่าเป็นบวกสูงมาก ซึ่งตีความได้ว่าถึงแม้อุปทานสินเชื่อโดยรวมจะหดตัวลง แต่แบงก์ต่างชาติยังคงต้องอัดฉีดสินเชื่อปริมาณมากให้กับลูกค้ารายใหญ่ เมื่อวิกฤตคลี่คลายลงในระยะหลังเราจึงจะเห็นอุปทานสินเชื่อของแบงก์ต่างชาติกลับมาเป็นบวก
สิ่งที่พบอีกประการหนึ่งคือ bank shock จากแบงก์เดียวกันไม่จำเป็นต้องเท่ากันเสมอไป อาจมีขนาดและทิศทางแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำการแบ่งกลุ่มบริษัทออกเป็นสองกลุ่มตามความแข็งแกร่งทางการเงิน โดยพิจารณาจากผลกำไรเทียบกับดอกเบี้ยจ่าย และเรียกว่ากลุ่มบริษัท ‘แข็งแกร่ง’ (healthy) และกลุ่มบริษัท ‘อ่อนแอ’ (unhealthy) เราพบว่า bank shock หรืออุปทานสินเชื่อของธนาคารต่อบริษัทสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน (รูปที่ 5) โดย bank shock ต่อกลุ่มบริษัทอ่อนแอมีความผันผวนไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ในขณะที่ bank shock ต่อกลุ่มบริษัทแข็งแกร่งมีเสถียรภาพมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ข้อสังเกตดังกล่าวนำไปสู่สมมติฐานที่ว่า ธนาคารมีนโยบายการปล่อยกู้ที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มบริษัทแข็งแกร่งและกลุ่มบริษัทที่อ่อนแอทางการเงิน โดยบริษัทที่มีฐานะการเงินอ่อนแอมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความผันผวนของอุปทานสินเชื่อทั้งในขาขึ้นและขาลงของเศรษฐกิจ
เพื่อศึกษาว่าการลงทุนภาคเอกชนมีความอ่อนไหวมากน้อยเพียงใดต่ออุปทานสินเชื่อของความสถาบันการเงิน เราใช้องค์ประกอบสินเชื่อที่แยกออกมาทั้งในระดับบริษัทและระดับประเทศมาทำการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติ ผลการศึกษาที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
ในระดับบริษัท ผลการศึกษาเชิงเศรษฐมิติชี้ให้เห็นว่า bank shock หรือปัจจัยทางการเงินที่มาจากฝั่งธนาคาร มีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนการลงทุนในระดับบริษัท ไม่น้อยไปกว่า firm shock หรือปัจจัยเฉพาะของบริษัทนั้น ๆ สะท้อนสถานะของบริษัทไทยที่ยังคงพึ่งพาสินเชื่อภาคธนาคารอยู่มาก ในขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นทดแทนการกู้ยืมจากธนาคารยังคงมีข้อจำกัด
หากพิจารณาลึกลงไปในแต่ละกลุ่มบริษัท เราพบว่า บริษัทที่มีลักษณะแตกต่างกันจะมีความเปราะบางต่อ bank shock แตกต่างกันไป โดยเฉพาะลักษณะสำคัญของบริษัทในอย่างน้อย 3 มิติ ได้แก่
เราพบว่าการลงทุนของบริษัทขนาดเล็กจะมีความอ่อนไหวต่อ bank shock มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะรับมือกับการหดตัวของสินเชื่อได้ไม่ดีเท่าบริษัทขนาดใหญ่ และการลงทุนจะได้รับผลกระทบมากกว่า
ผลการศึกษาชี้ว่า บริษัทที่มีสัดส่วนการกู้ยืมจากธนาคารสูงเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นมีความเปราะบางต่อ bank shock มากกว่าบริษัทที่พึ่งพิงธนาคารน้อยกว่า
บริษัทที่กู้ยืมจากธนาคารหลายแห่งจะมีความเปราะบางโดยรวมต่อ bank shock น้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทที่กู้ยืมจากธนาคารเพียงแห่งเดียว กล่าวคือ บริษัทที่กู้ยืมจากธนาคารมากกว่าหนึ่งแห่งจะมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า ซึ่งอาจสะท้อนความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนทดแทนในกรณีที่ถูกลดสินเชื่อจากธนาคารใดธนาคารหนึ่ง อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลที่แสดงไว้ข้างต้น (ตารางที่ 1) บริษัทที่มีการกู้ยืมจากธนาคารมากกว่าหนึ่งแห่งมีเพียง 1 ใน 3 ของบริษัทในกลุ่มตัวอย่าง และมีแนวโน้มที่บริษัทอีกจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มตัวอย่างจะเป็นบริษัทขนาดเล็กที่มีการกู้ยืมจากธนาคารเพียงแห่งเดียว นั่นหมายถึงบริษัทไทยส่วนใหญ่แล้วมีความอ่อนไหวต่อ bank shock ค่อนข้างมาก
Gabaix (2010) เสนอทฤษฎีที่ว่า ‘ปัจจัยเฉพาะ’ (idiosyncratic shock) จากผู้เล่นหนึ่ง ๆ สามารถส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้ หากระบบเศรษฐกิจมีความกระจุกตัว หรือผู้เล่นรายใดรายหนึ่งมีขนาดใหญ่กว่าผู้เล่นรายอื่นมาก สำหรับระบบเศรษฐกิจไทยที่ยังคงพึ่งพาสินเชื่ออยู่มากและตลาดสินเชื่อมีการกระจุกสูง จึงเกิดคำถามว่า ปัจจัยเฉพาะจากบริษัท/ธนาคารเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาคมากน้อยเพียงใด
ผลการศึกษาเชิงเศรษฐมิติชี้ให้เห็นว่า bank shock หรือปัจจัยเฉพาะจากธนาคาร แม้จะเป็นเพียง idiosyncratic shock จากธนาคารบางราย แต่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการเติบโตของสินเชื่อโดยรวม โดยเราพบว่าร้อยละ 40 ของการเปลี่ยนแปลงของสินเชื่อรวมเป็นผลมาจากอุปทานสินเชื่อของธนาคาร นอกจากนี้ bank shock ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด ด้านการเงิน ในการขับเคลื่อนการลงทุนไทย ถึงแม้ปัจจัยด้านการเงินโดยรวมแล้วไม่สามารถอธิบายการลงทุนของไทยในภาพรวมได้ดีนัก
บทความนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้ข้อมูลเชิงลึกในการทำความเข้าใจพัฒนาการและความสัมพันธ์ของ ตัวแปรต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผลการศึกษาชี้ว่า วัฏจักรสินเชื่อของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมักถูกขับเคลื่อนโดยผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่รายทั้งในด้านธนาคารผู้ปล่อยกู้และด้านบริษัทผู้กู้เนื่องจากความกระจุกตัวของตลาดสินเชื่อ แสดงให้ความสำคัญเชิงระบบของธนาคารและผู้เล่นรายใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี ภายใต้พัฒนาการของอุปทานสินเชื่อในระดับมหภาคนั้นยังมีมีความแตกต่างซ่อนอยู่มากเมื่อมองลึกลงในระดับจุลภาค และไม่เพียงแต่อุปทานสินเชื่อจะมีความแตกต่างกันระหว่างผู้กู้แต่ละกลุ่มแล้ว ผลกระทบของอุปทานสินเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปต่อการลงทุนของผู้ประกอบการแต่ละประเภทยังมีความแตกต่างกันในหลายมิติอีกด้วย
Ananchotikul, N. and V. Limjaroenrat (2017): “Bank Supply Shocks and Firm Investment: A Granular View from the Thai Credit Registry Data,” PIER Discussion Paper, No. 67.
Amiti, M. and D. E. Weinstein (2017): “How Much Do Bank Shocks Affect Investment? Evidence from Matched Bank-Firm Loan Data,” Journal of Political Economy, forthcoming.
Gabaix, X. (2011): “The Granular Origins of Aggregate Fluctuations,” Econometrica 79, No. 3, pp. 733–772.
- ไม่รวมผู้ประกอบการรายย่อย โดยนับจำนวนเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่มีวงเงินสินเชื่อหรือยอดคงค้างตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป และไม่รวมบริษัทในภาคการเงิน↩
- การศึกษานี้ไม่รวมข้อมูลจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เนื่องจากการตัดสินใจปล่อยกู้อาจไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของธนาคาร แต่เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐในแต่ละช่วงเวลา↩
- ในบทความฉบับเต็ม เราวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของแต่ละองค์ประกอบ โดยการเปรียบเทียบพัฒนาการของ bank shock และ firm shock กับตัวแปรด้านสถานะทางการเงินของแต่ละราย เช่น ระดับเงินกองทุน ระดับการกันสำรองหนี้เสีย และตัวชี้วัดความสามารถในการทำกำไร และใช้วิธีการทางเศรษฐมิติแสดงให้เห็นว่า bank shock และ firm shock ที่ได้จากวิธีการนี้มีความสอดคล้องกับสถานะทางการเงินของธนาคารและบริษัท ในทิศทางตามที่ทำนายโดยทฤษฎี↩
- ในที่นี้ ผู้เขียนนำเสนอผลการศึกษาเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นไปในทิศทางเดียวกัน↩