บริการทางการเงินของประเทศไทย: มุมมองเชิงพื้นที่จากข้อมูลจุดพิกัดกว่า 300,000 จุดทั่วประเทศ

excerpt
บทความนี้เปิดมุมมองเชิงพื้นที่ของบริการทางการเงินของประเทศไทย โดยศึกษาข้อมูลจุดพิกัดของผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ตลอดถึงผู้ที่อาจสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้บริการทางการเงินกว่า 300,000 จุดทั่วประเทศจาก Google Maps ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงระยะเดินทางที่ใช้ในการเข้าถึงบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ได้ลึกถึงในระดับหมู่บ้าน ตลอดถึงความทั่วถึงและความหลากหลายของบริการทางการเงินในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้จากการศึกษานี้สามารถต่อยอดแนวคิดเชิงนโยบายที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินไทย
จุดให้บริการทางการเงินที่เป็น physical infrastructure ยังคงมีความสำคัญต่อการใช้บริการทางการเงินของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลจากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานสถิติแห่งชาติยังพบว่าความห่างไกลเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือนไทยในบางพื้นที่ (Bank of Thailand 2013, 2016) แต่ระยะทางเป็นปัญหาแค่ไหนและในพื้นที่ใดบ้างของประเทศ?
ประเทศไทยมีแหล่งให้บริการทางการเงินเป็นจำนวนมาก และเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก (IMF 2016) แต่แหล่งบริการทางการเงินที่มีได้ถูกกระจายไปทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศหรือไม่? หรือแหล่งบริการทางการเงินส่วนใหญ่ยังมีการกระจุกตัวอยู่แค่ในบางพื้นที่ของประเทศ จนอาจเกิดความซ้ำซ้อนและนำมาซึ่งความไม่มีประสิทธิภาพ? ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังมี potential banking agent ที่หลากหลายและเป็นจำนวนมาก แต่หากสถาบันการเงินต้องการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในพื้นที่ที่ห่างไกล หรือเพิ่มความสะดวกในการให้บริการทางการเงิน สถาบันการเงินจะสามารถใช้ใคร ที่ไหน เป็น potential banking agent ได้บ้าง
ความเข้าใจถึงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของบริการทางการเงินของประเทศเป็นหัวใจสำคัญในการตอบโจทย์เชิงนโยบายต่าง ๆ ข้างต้น แต่ในปัจจุบันเนื่องจากไม่ได้มีการเก็บข้อมูลบริการทางการเงินประเภทนี้ งานวิจัยและการทำนโยบายในปัจจุบันจึงมักอ้างอิง “availability” ของบริการทางการเงินจากข้อมูลเชิงปริมาณในระดับมหภาค เช่น จำนวน ATM ต่อประชากร ซึ่งไม่ได้สะท้อนการกระจายตัวของแหล่งบริการต่าง ๆ ประกอบกับการศึกษาเชิงพื้นที่ไม่สามารถใช้ข้อมูลสำรวจที่มีได้
บทความนี้มุ่งเติมเต็มองค์ความรู้เชิงพื้นที่ของบริการทางการเงินของไทย โดยการสร้างข้อมูลจุดพิกัดของผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ตลอดถึงผู้ที่อาจสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้บริการทางการเงิน (potential banking agent) ทั่วประเทศ และใช้เทคนิคทางภูมิสารสนเทศมาสะท้อนการกระจายตัวของแหล่งบริการทางการเงิน และความยากง่ายของการเข้าถึงบริการทางการเงินแต่ละประเภทซึ่งวัดจากระยะเดินทางจากชุมชนระดับหมู่บ้านไปสู่แหล่งบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ทำให้สามารถสะท้อนความทั่วถึงและความหลากหลายของบริการทางการเงินที่แต่ละชุมชนเข้าถึงได้ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นสำคัญเพื่อต่อยอดแนวคิดเชิงนโยบายที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินไทย
Chantarat et al. (2018) สร้างฐานข้อมูลนี้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 โดยดึงจุดพิกัดจาก Google Maps ของผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วย
- สถาบันการเงินในระบบ (formal) จำนวนทั้งสิ้น 35,410 จุด ซึ่งรวมถึงสาขา และจุด ATM/CDM ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ non-bank
- สถาบันการเงินกึ่งในระบบ (semi-formal) จำนวนทั้งสิ้น 9,682 จุด ซึ่งรวมถึงสหกรณ์ และโรงรับจำนำ
- สถาบันการเงินนอกระบบ (informal) จำนวนทั้งสิ้น 3,113 จุด ซึ่งรวมถึงกลุ่มอาชีพ และกลุ่มการเงินชุมชนอื่น ๆ และ
- ผู้ที่อาจสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้บริการทางการเงิน (potential banking agent) จำนวนทั้งสิ้น 29,878 จุดซึ่งประกอบไปด้วยร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Telco) ตู้เติมเงิน (top-up) ปั๊มน้ำมัน และไปรษณีย์ นอกจากนี้ยังรวมถึงจุดให้บริการเครื่องรับ/รูดบัตร (EDC) ทั้งหมด 158,675 จุด ซึ่งรวมถึงร้านค้า ร้านโชห่วย/ผู้ประกอบการที่ติดตั้งเครื่อง EDC ภายใต้โครงการ National E-payment และร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ
ทั้งนี้ ข้อมูลชุดนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงกองทุนหมู่บ้าน เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ากองทุนหมู่บ้านใดยังคงดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ การตีความข้อเท็จจริงจากข้อมูลชุดนี้จึงต้องตระหนักถึงข้อจำกัดนี้ ตลอดถึงข้อจำกัดของข้อมูลที่ได้จาก Google Maps ซึ่งทำให้ข้อมูลชุดนี้มีปริมาณจุดที่ต่ำกว่าข้อมูลที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการประมาณ 30 % โดยเฉพาะจุดของสถาบันการเงินนอกระบบ และจำนวนเครื่อง ATM ที่มักจะมีมากกว่าหนึ่งเครื่องในจุดเดียวกัน1
รูปที่ 12 แสดงให้เห็นถึงข้อมูลจุดพิกัดที่สร้างขึ้น และการกระจายตัวของบริการทางการเงินจากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยจะเห็นว่าบริการทางการเงินกึ่งในระบบและนอกระบบจะมีความครอบคลุมในเชิงพื้นที่มากกว่าในระบบ และถึงแม้ว่า potential banking agent จะมีการกระจายตัวที่มากกว่าผู้ให้บริการทางการเงินอื่น ๆ แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภท โดยปั๊มน้ำมันมีการกระจายตัวอย่างทั่วถึงที่สุด ตามมาด้วยร้านสะดวกซื้อและไปรษณีย์ซึ่งมักจะยังอยู่ในเขตเมือง
ในเบื้องต้น ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นสามารถนำมาแสดงและเปรียบเทียบปริมาณของแหล่งบริการทางการเงินต่อประชากรผู้ใหญ่3 ในแต่ละพื้นที่ของประเทศได้ โดยในภาพรวมประเทศไทยมี 66.3 จุด ATM 27.3 สาขา และ 20.8 สหกรณ์ต่อประชากรผู้ใหญ่ 100,000 คน
รูปที่ 2 แสดงจำนวนบริการทางการเงินต่อประชากรผู้ใหญ่ 100,000 คนรายพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของปริมาณและประเภทของแหล่งบริการทางการเงินรายภาคอย่างชัดเจน โดยภาคอีสานจะมีจำนวนแหล่งบริการทางการเงินน้อยกว่าภาคอื่น ๆ โดยมีจำนวนแหล่งบริการทางการเงินในทุกประเภทต่ำที่สุด (เพียง 70.5 แห่งต่อประชากรผู้ใหญ่ 100,000 คน) ขณะที่กรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง รวมถึงชุมชนเมืองมีจำนวนหนาแน่นมากกว่าถึงสองเท่า และมี แหล่งบริการทางการเงินจำนวนมากที่เป็นของสถาบันการเงินในระบบ นอกจากนี้ในแต่ละภาคก็ยังมีความแตกต่างรายจังหวัด เช่น ภูเก็ตมีจำนวนบริการทางการเงินสูงสุดของประเทศ แตกต่างอย่างชัดเจนกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีจำนวนน้อยที่สุด เป็นต้น
อีกข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ หากเรานับเฉพาะจุด ATM ที่ไม่ได้อยู่กับสาขา หรือ potential banking agent อื่น ๆ (หรือ stand-alone ATM) เราพบว่ามีเพียง 33.4 จุดต่อประชากรผู้ใหญ่ 100,000 คนเท่านั้น ซึ่งหลักฐานนี้แสดงถึงความกระจุกตัวของจุดให้บริการทางการเงินได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลที่มีความละเอียดในระดับจุดพิกัดที่เราสร้างขึ้นสามารถนำมาสะท้อนการกระจายตัวของแหล่งบริการทางการเงินได้ลึกยิ่งขึ้น โดยเรานำเอาจุดหมู่บ้านกว่า 67,423 จุดทั่วประเทศและข้อมูล GIS ของถนนทุกสายทั่วประเทศมาผนวกกับเทคนิคทางภูมิสารสนเทศเพื่อวัด “ระยะเดินทาง” จากหมู่บ้านแต่ละแห่งไปสู่แหล่งบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ โดย “ระยะเดินทาง” จะวัดจากระยะทางที่เดินทางโดยถนนไปสู่แหล่งบริการทางการเงินนั้น ๆ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถสะท้อนระยะทางจริงที่ครัวเรือนใช้ในการเดินทางไปใช้บริการทางการเงินได้
รูปที่ 3 สรุปสถิติของระยะเดินทางที่ใกล้ที่สุดจากหมู่บ้านไปสู่บริการทางการเงินแต่ละแหล่งในรายจังหวัด และโดยรวมพบว่าหมู่บ้านส่วนใหญ่อยู่ใกล้สหกรณ์ที่สุดในบรรดาแหล่งบริการทางการเงินทั้งหมด โดยมีค่ากลางของระยะเดินทางที่ใกล้ที่สุดจากหมู่บ้านไปสู่สหกรณ์อยู่ที่ 5 กิโลเมตร ตามมาด้วย ATM และสาขา (6.6–6.9 กิโลเมตร) และหากเปรียบเทียบในบรรดา potential banking agent พบว่าใกล้สุดอยู่ที่ปั๊มน้ำมัน (5.4 กิโลเมตร) ตามมาด้วยไปรษณีย์ (7.6 กิโลเมตร) และร้านสะดวกซื้อ (7.8 กิโลเมตร)
ทั้งนี้ระยะห่างจากหมู่บ้านไปสู่แหล่งบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ยังมีความแตกต่างกันมากในรายจังหวัด ในขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีระยะเดินทางสั้นที่สุดไปสู่แหล่งบริการทางการเงินทุกแหล่งรวมถึง potential banking agent แต่ภาคเหนือกลับมีระยะทางไกลกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และมีความหลากหลายในภูมิภาคสูง โดยเฉพาะในจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน
และเมื่อเปรียบเทียบระยะทางจากหมู่บ้านเดียวกันไปสู่บริการทางการเงินแต่ละประเภทในรูปที่ 4 พบว่าหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลมักเข้าถึงบริการทางการเงินกึ่งในระบบหรือนอกระบบได้ก่อนสถาบันการเงินในระบบ และเข้าถึง SFI ได้ก่อนธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ให้บริการทางการเงินกึ่งในระบบหรือนอกระบบสามารถมาช่วยกระจายการให้บริการและเติมเต็มบริการทางการเงินในระบบได้ค่อนข้างมาก ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและทั่วถึง รวมถึง SFI ที่มีบทบาทมาช่วยเติมเต็มการให้บริการของธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้
เมื่อเจาะลึกไปในแต่ละหมู่บ้าน เราพบว่าบริการทางการเงินของไทยอาจยังไม่ทั่วถึงมากนัก เพราะยังคงมีหมู่บ้านจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีบริการทางการเงินภายในรัศมีของระยะเดินทาง 5 กิโลเมตร4 โดยรูปที่ 5 แสดงตัวอย่างความทั่วถึงของสาขาและ ATM ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในพื้นที่ได้ดี โดยยังคงมีหมู่บ้านจำนวนมากที่ยังไม่พบสาขาหรือ ATM ในระยะรัศมี 5 กิโลเมตรได้ (จุดสีเหลือง) ซึ่งใน literature เรียกพื้นที่เหล่านี้ว่า banking desert ในขณะที่มีเพียงหมู่บ้านในเขตชุมชนเมืองที่สามารถเข้าถึงสาขาหรือ ATM ได้ในระยะรัศมีเดียวกัน (จุดสีน้ำเงิน)
และหากเราแบ่งหมู่บ้านในประเทศไทยออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) หมู่บ้านที่อย่างน้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ (2) หมู่บ้านที่ไม่มีบริการทางการเงินในระบบแต่อย่างน้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินกึ่งในระบบได้ (3) หมู่บ้านที่ไม่มีทั้งบริการทางการเงินในระบบและกึ่งในระบบ แต่อย่างน้อยสามารถเข้าถึงจุดบริการอื่นที่เป็น potential banking agent (เช่น ปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ ไปรษณีย์ หรือ Telco) ได้ และ (4) หมู่บ้านที่ไม่มีบริการทางการเงินจากแหล่งใด ๆ รวมถึงไม่มี potential banking agent ในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร (หรือ banking desert)
ในรูปที่ 6 เราพบว่ามีหมู่บ้านถึง 55% ที่ไม่มีบริการทางการเงินในระบบได้ในระยะ 5 กิโลเมตร โดยในกลุ่มนี้มีหมู่บ้าน 15% ที่มีบริการทางการเงินกึ่งในระบบมาช่วยเติมเต็ม และอีก 8.9% ที่อาจเติมเต็มได้จากจุดบริการอื่นที่สามารถเป็น potential banking agent ได้ แต่ยังคงมีหมู่บ้านถึงร้อยละ 30.6 ที่ยังเป็น banking desert เพราะไม่มีบริการทางการเงินจากแหล่งใด ๆ รวมถึงไม่มี potential banking agent ในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร (ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมีสัดส่วนน้อยกว่านี้บ้าง เนื่องจากบางส่วนอาจเข้าถึงกองทุนหมู่บ้านได้)
และเมื่อเปรียบเทียบรายจังหวัดในรูปที่ 7 เราพบความแตกต่างในรายพื้นที่ โดยกว่าร้อยละ 90 ของหมู่บ้านในกรุงเทพและปริมณฑล สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ง่ายและสะดวก เนื่องจากจุดบริการที่มีจำนวนมากและค่อนข้างครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งแตกต่างจากภาคอีสานที่มีเพียงร้อยละ 31.4 ของหมู่บ้านที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร และยังมีถึงร้อยละ 40 ของหมู่บ้านที่ยังคงเป็น banking desert อยู่ นอกจากเราพบว่า potential banking agent มีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยเฉพาะในต่างจังหวัด
คำถามที่น่าสนใจก็คือ ร้านค้า ร้านโชห่วย หรือผู้ประกอบการที่มีการติดตั้งเครื่อง EDC ภายใต้โครงการ National E-payment และร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ (ซึ่งภาครัฐได้พยายามติดตั้งให้กระจายทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งชุมชนเมืองและชนบท) จะมีบทบาทอย่างไรในการเข้ามาเติมเต็มการเข้าถึงบริการทางการเงิน จากรูปที่ 8 เราพบว่าสามารถช่วยเติมเต็มหมู่บ้านที่ยังเป็น banking desert ได้เพิ่มอีกร้อยละ 7.4 ทำให้เหลือหมู่บ้านที่เป็น banking desert ประมาณร้อยละ 23.2 โดยร้านค้า ร้านโชห่วย หรือผู้ประกอบการที่มีการติดตั้งเครื่อง EDC จะมีบทบาทมากที่สุดในภาคอีสาน
หากมองถึงรายละเอียดในเชิงพื้นที่ในรูปที่ 9 เราจะพบว่าหมู่บ้านที่เป็น banking desert มักจะอยู่ในชนบทที่ห่างไกล หรืออยู่บริเวณป่าเขา ซึ่งการตั้งจุดบริการทางการเงินในพื้นที่ดังกล่าวอาจไม่สามารถทำได้ง่ายนัก เนื่องจากข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานและต้นทุน ดังนั้น แนวทางในการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่หมู่บ้านในพื้นที่ดังกล่าว จึงอาจไม่ควรจำกัดแค่ในรูปแบบของจำนวนช่องทางจุดบริการ และควรส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
หากมองถึงความหลากหลายของบริการทางการเงินในแต่ละพื้นที่ โดยแยกประเภทของบริการทางการเงินออกเป็น 6 ประเภทได้แก่ ธนาคารพาณิชย์, SFI, non-bank, ผู้ให้บริการกึ่งในระบบ, ผู้ให้บริการนอกระบบ และจุดบริการอื่น ในรูปที่ 10 เราพบว่าโดยรวมร้อยละ 17.7 ของหมู่บ้านสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินทั้ง 6 ประเภท และในแต่ละภูมิภาคมีความหลายหลายของบริการทางการเงินที่แตกต่างกัน โดยมีสัดส่วนของหมู่บ้านที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินทั้ง 6 ประเภทจะสูงมากขึ้นโดยเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑล ภาคเหนือและภาคกลาง และต่ำสุดในภาคอีสาน
รูปที่ 11 แบ่งพื้นที่ในกรุงเทพมหานครตามจำนวนสถาบันการเงินที่มีจุด ATM อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร โดยพื้นที่สีแดงเข้มที่พบได้ในหลายจุดของกรุงเทพแสดงถึงพื้นที่ที่มีจำนวนสถาบันการเงินจำนวนมากที่มีจุด ATM กระจุกอยู่ด้วยกัน ซึ่งอาจสะท้อนถึงการซ้ำซ้อนในการให้บริการทางการเงินประเภทเดียวกันจนเกิดความไม่มีประสิทธิภาพขึ้นได้ หลักฐานเชิงประจักษ์เหล่านี้จึงมีประโยชน์อย่างมากต่อการวางและมุ่งเป้านโยบายอย่าง White Label ATM
บทความนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของข้อมูลแหล่งบริการทางการเงินเชิงพื้นที่ที่ละเอียดในระดับจุดพิกัด ในการสะท้อนถึงการกระจายตัวของแหล่งบริการทางการเงินซึ่งนับว่ายังคงมีความสำคัญอย่างสูงต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทย และในการสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อการออกแบบและมุ่งเป้านโยบายที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินไทย
เราพบว่าในขณะที่ประเทศไทยมีแหล่งบริการทางการเงินเป็นจำนวนมาก แต่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง โดยมีจำนวนหมู่บ้านถึง 55% ที่ยังห่างไกลจากบริการทางการเงินในระบบ ซึ่งข้อมูลยังได้สะท้อนถึงศักยภาพของสถาบันการเงินกึ่งในระบบและนอกระบบ รวมถึง potential banking agent ประเภทต่าง ๆ ในการเข้ามาเติมเต็มการเข้าถึงบริการทางการเงินในพื้นที่ที่ห่างไกลจากบริการในระบบในอีก 24% ของหมู่บ้าน ตลอดถึงศักยภาพของร้านค้า ร้านโชห่วย หรือผู้ประกอบการที่มีการติดตั้งเครื่อง EDC ไว้แล้วที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มอีก 7.4% ของหมู่บ้านเพิ่มเติม
ข้อมูลนี้ยังช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบศักยภาพของ potential banking agent ประเภทต่าง ๆ ซึ่งพบว่าปั๊มน้ำมันมีศักยภาพสูงสุดในการเติมเติมบริการทางการเงินในชนบทที่ห่างไกล ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อและไปรษณีย์อาจช่วยทำหน้าที่เพิ่มความสะดวกและการเข้าถึงในชุมชนเมือง แต่อย่างไรก็ดี ก็มีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาประกอบ เช่น การบริหารเงินสด/การบริหารสภาพคล่องและความเสี่ยงของจุดบริการ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเรายังพบว่ามีหมู่บ้านถึงกว่า 30% ที่ยังคงห่างไกลจากทุกแหล่งบริการทางการเงิน รวมถึง potential banking agent ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแนวทางในการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่หมู่บ้านในพื้นที่ดังกล่าว จึงอาจไม่ควรจำกัดแค่ในรูปแบบของจำนวนช่องทางจุดบริการ และควรส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
เราแสดงให้เห็นว่าอาจมีบางพื้นที่ที่มีบริการทางการเงินที่ซ้ำซ้อน เช่น มี ATM จากหลากหลายสถาบันการเงินกระจุกอยู่ในที่เดียวกันเป็นจำนวนมากจนอาจก่อให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้และมุ่งเป้านโยบายอย่าง White Label ATM นอกจากนี้เรายังพบความซ้ำซ้อนของบริการทางการเงินของร้านสะดวกซื้อซึ่งมักจะอยู่เคียงคู่กับ ATM และมักจะให้บริการทางการเงินประเภทเดียวกัน คือ ฝาก-ถอน และชำระเงินเป็นหลัก หลักฐานเชิงประจักษ์นี้อาจนำไปสู่คำถามถึงความจำเป็นและประสิทธิภาพในการใช้ร้านสะดวกซื้อมาเป็น banking agent ของสถาบันการเงิน
Chantarat, S., A. Lamsam and C. Rittinon (2018). Landscape of Financial Services in Thailand: Availability and Efficiency. PIER Discussion Paper.
Financial Access Survey of Thai Household (2013, 2016). Bank of Thailand.
Financial Access Survey (2016). IMF.
- ข้อมูลที่สร้างขึ้นคือข้อมูล “จุด” ให้บริการทางการเงิน ไม่ใช่ข้อมูล “เครื่อง” ให้บริการทางการเงิน ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลชุดนี้กับข้อมูลอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะข้อมูลจำนวนเครื่อง ATM เราจะพบว่าข้อมูลจำนวนจุดให้บริการ ATM จะน้อยกว่าข้อมูลจำนวนเครื่อง ATM ไปค่อนข้างมาก เนื่องจาก 1 จุดพิกัดของ ATM มักจะมีมากกว่า 1 เครื่อง ATM ของสถาบันการเงินเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สาขาของสถาบันการเงินนั้น ๆ ดังนั้น การเปรียบเทียบตัวเลขจุดบริการทางการเงินจากข้อมูลนี้กับหลักฐานอื่น ๆ ควรต้องเข้าใจข้อแตกต่างตรงนี้เป็นสำคัญ↩
- Keyword ที่ใช้ในการดึงข้อมูลจุดปั๊มนํ้ามัน ประกอบด้วย Shell, ESSO, Caltex, บางจาก, PTT, COSMO, SUSCO และปั๊มนํ้ามัน ส่วน Keyword ที่ใช้ในการดึงข้อมูลร้านสะดวกซื้อประกอบด้วย 7-11, FamilyMart, MaxValue, 108Shop, Lawson, BigC, Makro, CP Fresh Mart, Tops supermarket, Central, HomePro เป็นต้น↩
- ประชากรผู้ใหญ่ คือประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีเป็นต้นไป↩
- ระยะรัศมีจากจุดหมู่บ้านถูกกำหนดขึ้นจากความเหมาะสม โดยเราใช้ผลของการวัดความทั่วถึงจากรัศมี 5 กิโลเมตรเนื่องจากเป็นระยะทางที่ยังไม่ไกลจนเกินไป ในการเดินทางไปใช้บริการทางการเงิน↩