Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Discussion Paper ล่าสุด
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
aBRIDGEd ล่าสุด
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
งานสัมมนาล่าสุด
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
งานสัมมนาล่าสุด
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ประกาศล่าสุด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/94ec7845f9f4db9484c8786d9f23c03e/e9a79/cover.png
21 กุมภาพันธ์ 2561
20181519171200000

บริการทางการเงินของประเทศไทย: มุมมองเชิงพื้นที่จากข้อมูลจุดพิกัดกว่า 300,000 จุดทั่วประเทศ

การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของบริการทางการเงินไทย สะท้อนอะไรเกี่ยวกับนโยบายระบบการเงินไทยได้บ้าง
บริการทางการเงินของประเทศไทย: มุมมองเชิงพื้นที่จากข้อมูลจุดพิกัดกว่า 300,000 จุดทั่วประเทศ
excerpt

บทความนี้เปิดมุมมองเชิงพื้นที่ของบริการทางการเงินของประเทศไทย โดยศึกษาข้อมูลจุดพิกัดของผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ตลอดถึงผู้ที่อาจสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้บริการทางการเงินกว่า 300,000 จุดทั่วประเทศจาก Google Maps ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงระยะเดินทางที่ใช้ในการเข้าถึงบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ได้ลึกถึงในระดับหมู่บ้าน ตลอดถึงความทั่วถึงและความหลากหลายของบริการทางการเงินในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้จากการศึกษานี้สามารถต่อยอดแนวคิดเชิงนโยบายที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินไทย

จุดให้บริการทางการเงินที่เป็น physical infrastructure ยังคงมีความสำคัญต่อการใช้บริการทางการเงินของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลจากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานสถิติแห่งชาติยังพบว่าความห่างไกลเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือนไทยในบางพื้นที่ (Bank of Thailand 2013, 2016) แต่ระยะทางเป็นปัญหาแค่ไหนและในพื้นที่ใดบ้างของประเทศ?

ประเทศไทยมีแหล่งให้บริการทางการเงินเป็นจำนวนมาก และเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก (IMF 2016) แต่แหล่งบริการทางการเงินที่มีได้ถูกกระจายไปทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศหรือไม่? หรือแหล่งบริการทางการเงินส่วนใหญ่ยังมีการกระจุกตัวอยู่แค่ในบางพื้นที่ของประเทศ จนอาจเกิดความซ้ำซ้อนและนำมาซึ่งความไม่มีประสิทธิภาพ? ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังมี potential banking agent ที่หลากหลายและเป็นจำนวนมาก แต่หากสถาบันการเงินต้องการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในพื้นที่ที่ห่างไกล หรือเพิ่มความสะดวกในการให้บริการทางการเงิน สถาบันการเงินจะสามารถใช้ใคร ที่ไหน เป็น potential banking agent ได้บ้าง

ความเข้าใจถึงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของบริการทางการเงินของประเทศเป็นหัวใจสำคัญในการตอบโจทย์เชิงนโยบายต่าง ๆ ข้างต้น แต่ในปัจจุบันเนื่องจากไม่ได้มีการเก็บข้อมูลบริการทางการเงินประเภทนี้ งานวิจัยและการทำนโยบายในปัจจุบันจึงมักอ้างอิง “availability” ของบริการทางการเงินจากข้อมูลเชิงปริมาณในระดับมหภาค เช่น จำนวน ATM ต่อประชากร ซึ่งไม่ได้สะท้อนการกระจายตัวของแหล่งบริการต่าง ๆ ประกอบกับการศึกษาเชิงพื้นที่ไม่สามารถใช้ข้อมูลสำรวจที่มีได้

บทความนี้มุ่งเติมเต็มองค์ความรู้เชิงพื้นที่ของบริการทางการเงินของไทย โดยการสร้างข้อมูลจุดพิกัดของผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ตลอดถึงผู้ที่อาจสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้บริการทางการเงิน (potential banking agent) ทั่วประเทศ และใช้เทคนิคทางภูมิสารสนเทศมาสะท้อนการกระจายตัวของแหล่งบริการทางการเงิน และความยากง่ายของการเข้าถึงบริการทางการเงินแต่ละประเภทซึ่งวัดจากระยะเดินทางจากชุมชนระดับหมู่บ้านไปสู่แหล่งบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ทำให้สามารถสะท้อนความทั่วถึงและความหลากหลายของบริการทางการเงินที่แต่ละชุมชนเข้าถึงได้ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นสำคัญเพื่อต่อยอดแนวคิดเชิงนโยบายที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินไทย

จุดพิกัดของบริการทางการเงินทั่วประเทศไทย

Chantarat et al. (2018) สร้างฐานข้อมูลนี้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 โดยดึงจุดพิกัดจาก Google Maps ของผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. สถาบันการเงินในระบบ (formal) จำนวนทั้งสิ้น 35,410 จุด ซึ่งรวมถึงสาขา และจุด ATM/CDM ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ non-bank
  2. สถาบันการเงินกึ่งในระบบ (semi-formal) จำนวนทั้งสิ้น 9,682 จุด ซึ่งรวมถึงสหกรณ์ และโรงรับจำนำ
  3. สถาบันการเงินนอกระบบ (informal) จำนวนทั้งสิ้น 3,113 จุด ซึ่งรวมถึงกลุ่มอาชีพ และกลุ่มการเงินชุมชนอื่น ๆ และ
  4. ผู้ที่อาจสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้บริการทางการเงิน (potential banking agent) จำนวนทั้งสิ้น 29,878 จุดซึ่งประกอบไปด้วยร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Telco) ตู้เติมเงิน (top-up) ปั๊มน้ำมัน และไปรษณีย์ นอกจากนี้ยังรวมถึงจุดให้บริการเครื่องรับ/รูดบัตร (EDC) ทั้งหมด 158,675 จุด ซึ่งรวมถึงร้านค้า ร้านโชห่วย/ผู้ประกอบการที่ติดตั้งเครื่อง EDC ภายใต้โครงการ National E-payment และร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ

ทั้งนี้ ข้อมูลชุดนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงกองทุนหมู่บ้าน เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ากองทุนหมู่บ้านใดยังคงดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ การตีความข้อเท็จจริงจากข้อมูลชุดนี้จึงต้องตระหนักถึงข้อจำกัดนี้ ตลอดถึงข้อจำกัดของข้อมูลที่ได้จาก Google Maps ซึ่งทำให้ข้อมูลชุดนี้มีปริมาณจุดที่ต่ำกว่าข้อมูลที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการประมาณ 30 % โดยเฉพาะจุดของสถาบันการเงินนอกระบบ และจำนวนเครื่อง ATM ที่มักจะมีมากกว่าหนึ่งเครื่องในจุดเดียวกัน1

รูปที่ 12 แสดงให้เห็นถึงข้อมูลจุดพิกัดที่สร้างขึ้น และการกระจายตัวของบริการทางการเงินจากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยจะเห็นว่าบริการทางการเงินกึ่งในระบบและนอกระบบจะมีความครอบคลุมในเชิงพื้นที่มากกว่าในระบบ และถึงแม้ว่า potential banking agent จะมีการกระจายตัวที่มากกว่าผู้ให้บริการทางการเงินอื่น ๆ แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภท โดยปั๊มน้ำมันมีการกระจายตัวอย่างทั่วถึงที่สุด ตามมาด้วยร้านสะดวกซื้อและไปรษณีย์ซึ่งมักจะยังอยู่ในเขตเมือง

รูปที่ 1 จุดพิกัดของบริการทางการเงินทั่วประเทศไทย

จุดพิกัดของบริการทางการเงินทั่วประเทศไทย

จำนวนแหล่งบริการทางการเงินต่อประชากรรายพื้นที่

ในเบื้องต้น ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นสามารถนำมาแสดงและเปรียบเทียบปริมาณของแหล่งบริการทางการเงินต่อประชากรผู้ใหญ่3 ในแต่ละพื้นที่ของประเทศได้ โดยในภาพรวมประเทศไทยมี 66.3 จุด ATM 27.3 สาขา และ 20.8 สหกรณ์ต่อประชากรผู้ใหญ่ 100,000 คน

รูปที่ 2 แสดงจำนวนบริการทางการเงินต่อประชากรผู้ใหญ่ 100,000 คนรายพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของปริมาณและประเภทของแหล่งบริการทางการเงินรายภาคอย่างชัดเจน โดยภาคอีสานจะมีจำนวนแหล่งบริการทางการเงินน้อยกว่าภาคอื่น ๆ โดยมีจำนวนแหล่งบริการทางการเงินในทุกประเภทต่ำที่สุด (เพียง 70.5 แห่งต่อประชากรผู้ใหญ่ 100,000 คน) ขณะที่กรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง รวมถึงชุมชนเมืองมีจำนวนหนาแน่นมากกว่าถึงสองเท่า และมี แหล่งบริการทางการเงินจำนวนมากที่เป็นของสถาบันการเงินในระบบ นอกจากนี้ในแต่ละภาคก็ยังมีความแตกต่างรายจังหวัด เช่น ภูเก็ตมีจำนวนบริการทางการเงินสูงสุดของประเทศ แตกต่างอย่างชัดเจนกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีจำนวนน้อยที่สุด เป็นต้น

รูปที่ 2 เปรียบเทียบจำนวนบริการทางการเงินต่อประชากรผู้ใหญ่

เปรียบเทียบจำนวนบริการทางการเงินต่อประชากรผู้ใหญ่

อีกข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ หากเรานับเฉพาะจุด ATM ที่ไม่ได้อยู่กับสาขา หรือ potential banking agent อื่น ๆ (หรือ stand-alone ATM) เราพบว่ามีเพียง 33.4 จุดต่อประชากรผู้ใหญ่ 100,000 คนเท่านั้น ซึ่งหลักฐานนี้แสดงถึงความกระจุกตัวของจุดให้บริการทางการเงินได้เป็นอย่างดี

“ระยะเดินทาง” จากแต่ละชุมชนสู่บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ

ข้อมูลที่มีความละเอียดในระดับจุดพิกัดที่เราสร้างขึ้นสามารถนำมาสะท้อนการกระจายตัวของแหล่งบริการทางการเงินได้ลึกยิ่งขึ้น โดยเรานำเอาจุดหมู่บ้านกว่า 67,423 จุดทั่วประเทศและข้อมูล GIS ของถนนทุกสายทั่วประเทศมาผนวกกับเทคนิคทางภูมิสารสนเทศเพื่อวัด “ระยะเดินทาง” จากหมู่บ้านแต่ละแห่งไปสู่แหล่งบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ โดย “ระยะเดินทาง” จะวัดจากระยะทางที่เดินทางโดยถนนไปสู่แหล่งบริการทางการเงินนั้น ๆ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถสะท้อนระยะทางจริงที่ครัวเรือนใช้ในการเดินทางไปใช้บริการทางการเงินได้

รูปที่ 3 สรุปสถิติของระยะเดินทางที่ใกล้ที่สุดจากหมู่บ้านไปสู่บริการทางการเงินแต่ละแหล่งในรายจังหวัด และโดยรวมพบว่าหมู่บ้านส่วนใหญ่อยู่ใกล้สหกรณ์ที่สุดในบรรดาแหล่งบริการทางการเงินทั้งหมด โดยมีค่ากลางของระยะเดินทางที่ใกล้ที่สุดจากหมู่บ้านไปสู่สหกรณ์อยู่ที่ 5 กิโลเมตร ตามมาด้วย ATM และสาขา (6.6–6.9 กิโลเมตร) และหากเปรียบเทียบในบรรดา potential banking agent พบว่าใกล้สุดอยู่ที่ปั๊มน้ำมัน (5.4 กิโลเมตร) ตามมาด้วยไปรษณีย์ (7.6 กิโลเมตร) และร้านสะดวกซื้อ (7.8 กิโลเมตร)

ทั้งนี้ระยะห่างจากหมู่บ้านไปสู่แหล่งบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ยังมีความแตกต่างกันมากในรายจังหวัด ในขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีระยะเดินทางสั้นที่สุดไปสู่แหล่งบริการทางการเงินทุกแหล่งรวมถึง potential banking agent แต่ภาคเหนือกลับมีระยะทางไกลกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และมีความหลากหลายในภูมิภาคสูง โดยเฉพาะในจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน

รูปที่ 3 สถิติรายจังหวัดของระยะทางที่ใกล้ที่สุดจากหมู่บ้านไปสู่บริการทางการเงินแต่ละแหล่ง

สถิติรายจังหวัดของระยะทางที่ใกล้ที่สุดจากหมู่บ้านไปสู่บริการทางการเงินแต่ละแหล่ง

และเมื่อเปรียบเทียบระยะทางจากหมู่บ้านเดียวกันไปสู่บริการทางการเงินแต่ละประเภทในรูปที่ 4 พบว่าหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลมักเข้าถึงบริการทางการเงินกึ่งในระบบหรือนอกระบบได้ก่อนสถาบันการเงินในระบบ และเข้าถึง SFI ได้ก่อนธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ให้บริการทางการเงินกึ่งในระบบหรือนอกระบบสามารถมาช่วยกระจายการให้บริการและเติมเต็มบริการทางการเงินในระบบได้ค่อนข้างมาก ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและทั่วถึง รวมถึง SFI ที่มีบทบาทมาช่วยเติมเต็มการให้บริการของธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้

รูปที่ 4 ส่วนต่างของระยะทางที่สั้นที่สุดจากหมู่บ้านถึงแหล่งบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ

ส่วนต่างของระยะทางที่สั้นที่สุดจากหมู่บ้านถึงแหล่งบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ

บริการทางการเงินของไทย ทั่วถึงแค่ไหน

เมื่อเจาะลึกไปในแต่ละหมู่บ้าน เราพบว่าบริการทางการเงินของไทยอาจยังไม่ทั่วถึงมากนัก เพราะยังคงมีหมู่บ้านจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีบริการทางการเงินภายในรัศมีของระยะเดินทาง 5 กิโลเมตร4 โดยรูปที่ 5 แสดงตัวอย่างความทั่วถึงของสาขาและ ATM ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในพื้นที่ได้ดี โดยยังคงมีหมู่บ้านจำนวนมากที่ยังไม่พบสาขาหรือ ATM ในระยะรัศมี 5 กิโลเมตรได้ (จุดสีเหลือง) ซึ่งใน literature เรียกพื้นที่เหล่านี้ว่า banking desert ในขณะที่มีเพียงหมู่บ้านในเขตชุมชนเมืองที่สามารถเข้าถึงสาขาหรือ ATM ได้ในระยะรัศมีเดียวกัน (จุดสีน้ำเงิน)

รูปที่ 5 ความทั่วถึงของสาขา และ ATMs ในจังหวัดขอนแก่น

ความทั่วถึงของสาขา และ ATMs ในจังหวัดขอนแก่น

และหากเราแบ่งหมู่บ้านในประเทศไทยออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) หมู่บ้านที่อย่างน้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ (2) หมู่บ้านที่ไม่มีบริการทางการเงินในระบบแต่อย่างน้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินกึ่งในระบบได้ (3) หมู่บ้านที่ไม่มีทั้งบริการทางการเงินในระบบและกึ่งในระบบ แต่อย่างน้อยสามารถเข้าถึงจุดบริการอื่นที่เป็น potential banking agent (เช่น ปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ ไปรษณีย์ หรือ Telco) ได้ และ (4) หมู่บ้านที่ไม่มีบริการทางการเงินจากแหล่งใด ๆ รวมถึงไม่มี potential banking agent ในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร (หรือ banking desert)

ในรูปที่ 6 เราพบว่ามีหมู่บ้านถึง 55% ที่ไม่มีบริการทางการเงินในระบบได้ในระยะ 5 กิโลเมตร โดยในกลุ่มนี้มีหมู่บ้าน 15% ที่มีบริการทางการเงินกึ่งในระบบมาช่วยเติมเต็ม และอีก 8.9% ที่อาจเติมเต็มได้จากจุดบริการอื่นที่สามารถเป็น potential banking agent ได้ แต่ยังคงมีหมู่บ้านถึงร้อยละ 30.6 ที่ยังเป็น banking desert เพราะไม่มีบริการทางการเงินจากแหล่งใด ๆ รวมถึงไม่มี potential banking agent ในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร (ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมีสัดส่วนน้อยกว่านี้บ้าง เนื่องจากบางส่วนอาจเข้าถึงกองทุนหมู่บ้านได้)

รูปที่ 6 สัดส่วนของหมู่บ้านที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินแต่ละประเภทในรัศมี 5 กิโลเมตร

สัดส่วนของหมู่บ้านที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินแต่ละประเภทในรัศมี 5 กิโลเมตร

และเมื่อเปรียบเทียบรายจังหวัดในรูปที่ 7 เราพบความแตกต่างในรายพื้นที่ โดยกว่าร้อยละ 90 ของหมู่บ้านในกรุงเทพและปริมณฑล สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ง่ายและสะดวก เนื่องจากจุดบริการที่มีจำนวนมากและค่อนข้างครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งแตกต่างจากภาคอีสานที่มีเพียงร้อยละ 31.4 ของหมู่บ้านที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร และยังมีถึงร้อยละ 40 ของหมู่บ้านที่ยังคงเป็น banking desert อยู่ นอกจากเราพบว่า potential banking agent มีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยเฉพาะในต่างจังหวัด

รูปที่ 7 สัดส่วนของหมู่บ้านในแต่ละจังหวัดที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ในรัศมี 5 กิโลเมตร

สัดส่วนของหมู่บ้านในแต่ละจังหวัดที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ในรัศมี 5 กิโลเมตร

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ร้านค้า ร้านโชห่วย หรือผู้ประกอบการที่มีการติดตั้งเครื่อง EDC ภายใต้โครงการ National E-payment และร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ (ซึ่งภาครัฐได้พยายามติดตั้งให้กระจายทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งชุมชนเมืองและชนบท) จะมีบทบาทอย่างไรในการเข้ามาเติมเต็มการเข้าถึงบริการทางการเงิน จากรูปที่ 8 เราพบว่าสามารถช่วยเติมเต็มหมู่บ้านที่ยังเป็น banking desert ได้เพิ่มอีกร้อยละ 7.4 ทำให้เหลือหมู่บ้านที่เป็น banking desert ประมาณร้อยละ 23.2 โดยร้านค้า ร้านโชห่วย หรือผู้ประกอบการที่มีการติดตั้งเครื่อง EDC จะมีบทบาทมากที่สุดในภาคอีสาน

รูปที่ 8 สัดส่วนของหมู่บ้านรายจังหวัดที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงร้านค้าที่มี EDC ในรัศมี 5 กิโลเมตร

สัดส่วนของหมู่บ้านรายจังหวัดที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงร้านค้าที่มี EDC ในรัศมี 5 กิโลเมตร

หากมองถึงรายละเอียดในเชิงพื้นที่ในรูปที่ 9 เราจะพบว่าหมู่บ้านที่เป็น banking desert มักจะอยู่ในชนบทที่ห่างไกล หรืออยู่บริเวณป่าเขา ซึ่งการตั้งจุดบริการทางการเงินในพื้นที่ดังกล่าวอาจไม่สามารถทำได้ง่ายนัก เนื่องจากข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานและต้นทุน ดังนั้น แนวทางในการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่หมู่บ้านในพื้นที่ดังกล่าว จึงอาจไม่ควรจำกัดแค่ในรูปแบบของจำนวนช่องทางจุดบริการ และควรส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

รูปที่ 9 รายละเอียดเชิงพื้นที่ของหมู่บ้านที่มีบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ในรัศมี 5 กิโลเมตร

รายละเอียดเชิงพื้นที่ของหมู่บ้านที่มีบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ในรัศมี 5 กิโลเมตร

ความหลากหลายของบริการทางการเงินรายพื้นที่

หากมองถึงความหลากหลายของบริการทางการเงินในแต่ละพื้นที่ โดยแยกประเภทของบริการทางการเงินออกเป็น 6 ประเภทได้แก่ ธนาคารพาณิชย์, SFI, non-bank, ผู้ให้บริการกึ่งในระบบ, ผู้ให้บริการนอกระบบ และจุดบริการอื่น ในรูปที่ 10 เราพบว่าโดยรวมร้อยละ 17.7 ของหมู่บ้านสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินทั้ง 6 ประเภท และในแต่ละภูมิภาคมีความหลายหลายของบริการทางการเงินที่แตกต่างกัน โดยมีสัดส่วนของหมู่บ้านที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินทั้ง 6 ประเภทจะสูงมากขึ้นโดยเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑล ภาคเหนือและภาคกลาง และต่ำสุดในภาคอีสาน

รูปที่ 10 ความหลากหลายของบริการทางการเงินรายพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร

ความหลากหลายของบริการทางการเงินรายพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร

ความไม่มีประสิทธิภาพของการให้บริการ ATM ของไทยอยู่ที่ไหนบ้าง

รูปที่ 11 แบ่งพื้นที่ในกรุงเทพมหานครตามจำนวนสถาบันการเงินที่มีจุด ATM อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร โดยพื้นที่สีแดงเข้มที่พบได้ในหลายจุดของกรุงเทพแสดงถึงพื้นที่ที่มีจำนวนสถาบันการเงินจำนวนมากที่มีจุด ATM กระจุกอยู่ด้วยกัน ซึ่งอาจสะท้อนถึงการซ้ำซ้อนในการให้บริการทางการเงินประเภทเดียวกันจนเกิดความไม่มีประสิทธิภาพขึ้นได้ หลักฐานเชิงประจักษ์เหล่านี้จึงมีประโยชน์อย่างมากต่อการวางและมุ่งเป้านโยบายอย่าง White Label ATM

รูปที่ 11 การกระจุกตัวของ ATM ใน กรุงเทพมหานคร

การกระจุกตัวของ ATM ใน กรุงเทพมหานคร

มุมมองเชิงพื้นที่ของบริการทางการเงินไทย บอกอะไรเชิงนโยบายได้บ้าง

บทความนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของข้อมูลแหล่งบริการทางการเงินเชิงพื้นที่ที่ละเอียดในระดับจุดพิกัด ในการสะท้อนถึงการกระจายตัวของแหล่งบริการทางการเงินซึ่งนับว่ายังคงมีความสำคัญอย่างสูงต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทย และในการสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อการออกแบบและมุ่งเป้านโยบายที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินไทย

นัยต่อนโยบายที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน

เราพบว่าในขณะที่ประเทศไทยมีแหล่งบริการทางการเงินเป็นจำนวนมาก แต่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง โดยมีจำนวนหมู่บ้านถึง 55% ที่ยังห่างไกลจากบริการทางการเงินในระบบ ซึ่งข้อมูลยังได้สะท้อนถึงศักยภาพของสถาบันการเงินกึ่งในระบบและนอกระบบ รวมถึง potential banking agent ประเภทต่าง ๆ ในการเข้ามาเติมเต็มการเข้าถึงบริการทางการเงินในพื้นที่ที่ห่างไกลจากบริการในระบบในอีก 24% ของหมู่บ้าน ตลอดถึงศักยภาพของร้านค้า ร้านโชห่วย หรือผู้ประกอบการที่มีการติดตั้งเครื่อง EDC ไว้แล้วที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มอีก 7.4% ของหมู่บ้านเพิ่มเติม

ข้อมูลนี้ยังช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบศักยภาพของ potential banking agent ประเภทต่าง ๆ ซึ่งพบว่าปั๊มน้ำมันมีศักยภาพสูงสุดในการเติมเติมบริการทางการเงินในชนบทที่ห่างไกล ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อและไปรษณีย์อาจช่วยทำหน้าที่เพิ่มความสะดวกและการเข้าถึงในชุมชนเมือง แต่อย่างไรก็ดี ก็มีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาประกอบ เช่น การบริหารเงินสด/การบริหารสภาพคล่องและความเสี่ยงของจุดบริการ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเรายังพบว่ามีหมู่บ้านถึงกว่า 30% ที่ยังคงห่างไกลจากทุกแหล่งบริการทางการเงิน รวมถึง potential banking agent ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแนวทางในการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่หมู่บ้านในพื้นที่ดังกล่าว จึงอาจไม่ควรจำกัดแค่ในรูปแบบของจำนวนช่องทางจุดบริการ และควรส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

นัยต่อนโยบายที่มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินไทย

เราแสดงให้เห็นว่าอาจมีบางพื้นที่ที่มีบริการทางการเงินที่ซ้ำซ้อน เช่น มี ATM จากหลากหลายสถาบันการเงินกระจุกอยู่ในที่เดียวกันเป็นจำนวนมากจนอาจก่อให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้และมุ่งเป้านโยบายอย่าง White Label ATM นอกจากนี้เรายังพบความซ้ำซ้อนของบริการทางการเงินของร้านสะดวกซื้อซึ่งมักจะอยู่เคียงคู่กับ ATM และมักจะให้บริการทางการเงินประเภทเดียวกัน คือ ฝาก-ถอน และชำระเงินเป็นหลัก หลักฐานเชิงประจักษ์นี้อาจนำไปสู่คำถามถึงความจำเป็นและประสิทธิภาพในการใช้ร้านสะดวกซื้อมาเป็น banking agent ของสถาบันการเงิน

เอกสารอ้างอิง

Chantarat, S., A. Lamsam and C. Rittinon (2018). Landscape of Financial Services in Thailand: Availability and Efficiency. PIER Discussion Paper.

Financial Access Survey of Thai Household (2013, 2016). Bank of Thailand.

Financial Access Survey (2016). IMF.


  1. ข้อมูลที่สร้างขึ้นคือข้อมูล “จุด” ให้บริการทางการเงิน ไม่ใช่ข้อมูล “เครื่อง” ให้บริการทางการเงิน ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลชุดนี้กับข้อมูลอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะข้อมูลจำนวนเครื่อง ATM เราจะพบว่าข้อมูลจำนวนจุดให้บริการ ATM จะน้อยกว่าข้อมูลจำนวนเครื่อง ATM ไปค่อนข้างมาก เนื่องจาก 1 จุดพิกัดของ ATM มักจะมีมากกว่า 1 เครื่อง ATM ของสถาบันการเงินเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สาขาของสถาบันการเงินนั้น ๆ ดังนั้น การเปรียบเทียบตัวเลขจุดบริการทางการเงินจากข้อมูลนี้กับหลักฐานอื่น ๆ ควรต้องเข้าใจข้อแตกต่างตรงนี้เป็นสำคัญ↩
  2. Keyword ที่ใช้ในการดึงข้อมูลจุดปั๊มนํ้ามัน ประกอบด้วย Shell, ESSO, Caltex, บางจาก, PTT, COSMO, SUSCO และปั๊มนํ้ามัน ส่วน Keyword ที่ใช้ในการดึงข้อมูลร้านสะดวกซื้อประกอบด้วย 7-11, FamilyMart, MaxValue, 108Shop, Lawson, BigC, Makro, CP Fresh Mart, Tops supermarket, Central, HomePro เป็นต้น↩
  3. ประชากรผู้ใหญ่ คือประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีเป็นต้นไป↩
  4. ระยะรัศมีจากจุดหมู่บ้านถูกกำหนดขึ้นจากความเหมาะสม โดยเราใช้ผลของการวัดความทั่วถึงจากรัศมี 5 กิโลเมตรเนื่องจากเป็นระยะทางที่ยังไม่ไกลจนเกินไป ในการเดินทางไปใช้บริการทางการเงิน↩
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Development EconomicsFinancial Markets and Asset Pricing
Tags: banking agentbanking desertfinancial inclusionfinancial proximityfinancial services
อัจจนา ล่ำซำ
อัจจนา ล่ำซำ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ชนกานต์ ฤทธินนท์
ชนกานต์ ฤทธินนท์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email