จากตลาดสดถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต 5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาสินค้าในประเทศไทย
excerpt
ราคาสินค้าและบริการเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน สินค้าและบริการหลากหลายประเภทล้วนมีรูปแบบการตั้งราคาที่แตกต่างกัน แต่เราเข้าใจพฤติกรรมการตั้งราคาเหล่านั้นเพียงพอหรือไม่ บทความนี้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าและบริการนับหมื่นรายการจากทั่วประเทศเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี ซึ่งรวบรวมโดยกระทรวงพาณิชย์ เพื่อศึกษาลักษณะการเปลี่ยนแปลงราคาและสรุปเป็นข้อเท็จจริงหรือ stylized facts ที่สำคัญ 5 ข้อ ข้อค้นพบเหล่านี้ช่วยเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับราคาสินค้าในประเทศไทย การทำความเข้าใจพลวัตของเงินเฟ้อในเชิงลึก และสร้างนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงิน
การตั้งราคาสินค้าและบริการเป็นการตัดสินใจทางเศรษฐกิจที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ผลิตสินค้าและผู้บริโภค โดยราคาสินค้าสามารถมีการปรับขึ้น-ลงตามแต่ปัจจัยที่เข้ามากระทบ เช่น ราคาวัตถุดิบ ความต้องการของตลาด เป็นต้นโดยทั่วไปเราคุ้นเคยกับ “เงินเฟ้อ” ซึ่งมีนิยามทางเศรษฐศาสตร์หมายถึงการที่ระดับราคาโดยทั่วไป (general price level) ของสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันมีข้อสรุปอันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า การดูแลรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมนั้น จะเป็นผลดีต่อการเติบโตและเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ความเข้าใจในพฤติกรรมการตั้งราคาและพลวัตของเงินเฟ้อจึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะนำไปสู่การวางกรอบนโยบายที่เหมาะสมและการดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพ1
เงินเฟ้อมักถูกมองเป็นปรากฏการณ์เชิงมหภาคที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้บริโภคต้องสัมผัสกับสินค้านับร้อยนับพันรายการในการดำรงชีวิตประจำวัน และยิ่งถ้าคำนึงถึงความหลากหลายของคุณลักษณะของสินค้า ยี่ห้อ หรือรายละเอียดของบริการ จำนวนสินค้าและบริการในเศรษฐกิจนั้นแท้จริงแล้วมีอยู่มหาศาล พฤติกรรมการตั้งราคาของสินค้าแต่ละรายการเหล่านั้นย่อมแตกต่างกัน เงินเฟ้อจึงเป็นตัวเลขรวมที่ซ่อนความแตกต่างของการเปลี่ยนแปลงราคาในระดับจุลภาค ตัวอย่างเช่น ในภาพที่ 1 แสดงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาในสินค้าหมวดต่าง ๆ ระหว่างปี 2006–2016 เปรียบเทียบกับดัชนีราคาผู้บริโภคโดยรวม (CPI) จะเห็นได้ว่า ในขณะที่ระดับราคาผู้บริโภคโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นราว 26% ในช่วงเวลาดังกล่าว สินค้าในแต่ละหมวดมีการเปลี่ยนแปลงราคาที่แตกต่างกันอย่างมาก สินค้าในหมวดอาหารมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมากถึง 80% ในบางส่วน ตรงข้ามกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ที่ราคาลดลงอย่างต่อเนื่องและมีราคาถูกกว่าเมื่อทศวรรษก่อนค่อนข้างมาก ในขณะที่สินค้าในอีกหลายกลุ่มเช่น เสื้อผ้า ของเล่น มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก เพียงแค่ข้อมูลในเบื้องต้นเช่นนี้คงทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ว่า การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของราคาหรือเงินเฟ้อจากดัชนีโดยรวมโดยลำพังนั้นไม่เพียงพอ และอาจทำให้มองข้ามพัฒนาการที่สำคัญในระดับย่อยได้
Apaitan, Disyatat และ Manopimoke (2018) ได้รวบรวมข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าและบริการซึ่งเป็นข้อมูลรายเดือนที่จัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างปี 2002–2017 ครอบคลุมสินค้าและบริการกว่า 24,000 รายการโดยมีรายละเอียดของสินค้าเช่น ยี่ห้อ และคุณลักษณะอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดเก็บเป็นรายจังหวัดทั่วประเทศ ภาพที่ 2 แสดงตัวอย่างของข้อมูลดิบ 2 รายการ ซึ่งจะเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมการตั้งราคาของอาหารสด (ผักชี) กับสินค้ากึ่งคงทน (หลอดไฟฟ้า)
แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นชุดข้อมูลที่ไม่สมดุล (unbalanced) โดยบางรายการไม่ได้มีข้อมูลต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษา แต่เมื่อนับรวมทั้งหมดแล้วจะมีข้อมูลมากกว่า 9,000,000 จุด (data points) ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อมูลด้านราคาที่สมบูรณ์และมีรายละเอียดมากที่สุดชุดหนึ่งของประเทศไทย คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการตั้งราคาแต่ละรายการและได้สรุปเป็นข้อเท็จจริง (stylized facts) ที่สำคัญ 5 ประการ
ความหนืดในการปรับราคา (price stickiness) ของผู้ผลิตสินค้าเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในทางเศรษฐศาสตร์ และมีนัยสำคัญยิ่งต่อการดำเนินนโยบายการเงินเนื่องจากความหนืดของการปรับราคาเป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อการส่งผ่านของนโยบายไปสู่ระบบเศรษฐกิจ ในกรณีของไทย ข้อมูลสะท้อนว่าสินค้าไทยมีการปรับราคาไม่บ่อยนัก
ภาพที่ 3 แสดงการกระจายตัวของค่าเฉลี่ยของระยะเวลาระหว่างการปรับราคาแต่ละครั้งจากสินค้า 445 ชนิด ที่เป็นองค์ประกอบของตะกร้า CPI จะเห็นได้ว่า ค่ากลางของระยะเวลาในการปรับราคาคือ 6 เดือน โดยสินค้าบางชนิดมีการคงราคาไว้ได้นานนับปี ตารางที่ 1 แสดงความถี่และระยะเวลาในการปรับราคาแยกรายหมวด โดยใช้วิธีเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกลุ่มสินค้าในหมวดนั้น ๆ ด้วยน้ำหนักค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ใช้ในการคำนวณ CPI จะพบว่าโดยรวมความถี่ของการเปลี่ยนราคาในตะกร้า CPI อยู่ที่ 0.2 กล่าวคือ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ระดับราคาจะมีการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 20 ของช่วงเวลานั้น หรือหากคำนวณระยะเวลาเฉลี่ยระหว่างการปรับราคาแต่ละครั้ง จะอยู่ที่ประมาณ 6.8 เดือนต่อครั้ง ทั้งนี้ในรายละเอียด สินค้าแต่ละหมวดมีความหนืดในการปรับราคาที่แตกต่างกัน หมวดสินค้าที่มีการปรับราคาบ่อยหรือใช้ระยะเวลาน้อยคือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ในขณะที่สินค้าในหมวดเครื่องแต่งกายโดยเฉลี่ยมีราคาคงที่มากกว่า 1 ปี
ความแตกต่างในด้านความถี่ของการปรับราคานี้อาจสะท้อนธรรมชาติของสินค้านั้น ๆ เช่น ประเภทของวัตถุดิบ หรือการแข่งขันในตลาด อย่างไรก็ตาม หากเปรียบกับงานศึกษาในประเทศอื่น ๆ พบว่า เมื่อรวมสินค้าทุกหมวด สินค้าในประเทศไทยใช้เวลาในการปรับราคาค่อนข้างนานเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา (บราซิล 2.14 เดือน, Gouvea (2007); ชิลี 1.6–2.5 เดือน, Medina et al. (2007)) โดยมีค่าใกล้เคียงประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงบางประเทศ (สหรัฐ 6.8–7.7 เดือน, Klenow and Kryvtsov (2008), Nakamura and Steinsson (2008); ฝรั่งเศส 5.9–7.2 เดือน, Baudry et al. (2007); ฟินแลนด์ 5.3–6.1 เดือน, Vilmunen and Laakkonen (2005)) แต่ยังต่ำกว่าประเทศในกลุ่มยุโรป (สหราชอาณาจักร 10.6 เดือน, Bunn and Ellis (2009); Euro Area 13 เดือน, Dhyne et al. (2005)) เป็นที่น่าสังเกตว่า ความหนืดในการปรับราคา ส่วนหนึ่งสะท้อนความมีเสถียรภาพด้านราคาในประเทศนั้น ๆ ด้วย
นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจกับความหนืดในการปรับลดราคา (downward price rigidity) โดยมักมีข้อสันนิษฐานว่าระดับราคาในระบบเศรษฐกิจปรับลดลงได้ยาก ตัวอย่างเช่น ค่าจ้างแรงงานที่อาจถูกกำกับไว้โดยสัญญาหรือกฎหมาย ความหนืดในการปรับลดราคานี้มีนัยโดยตรงต่อการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับนโยบายการเงิน ซึ่งหากระดับราคามีความหนืดขาลงจริง อาจควรกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อให้สูงขึ้นเล็กน้อยเพื่อชดเชยความหนืดดังกล่าว และเอื้อความสามารถในการปรับตัวของเศรษฐกิจ แต่หากพิจารณาจากภาพที่ 4 ซึ่งเปรียบเทียบความถี่ในการปรับราคาขึ้นและลงของแต่ละสินค้า จุดแต่ละจุดคือสินค้าหนึ่งรายการ แกนนอนแสดงความถี่ในการปรับราคาขึ้น แกนตั้งแสดงความถี่ในการปรับราคาลง จะเห็นได้ว่าสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในแนวใกล้เคียงกับเส้น 45 องศา ซึ่งหมายถึงว่า ความถี่ในการปรับราคาขึ้นและลงไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งจากข้อมูลพบว่าความถี่ในการปรับราคาขึ้นจะมีมากกว่าเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วการปรับราคาที่เกิดขึ้นในท้องตลาดจะเป็นการปรับลดถึง 40%
ข้อมูลในรายละเอียดเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ในแง่ของราคาสินค้าและบริการ เศรษฐกิจไทยมิได้มีความหนืดในการปรับราคาลงที่เด่นชัดมากนัก ซึ่งทำให้ความจำเป็นที่จะต้องตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อในระดับสูงเพื่อชดเชยความหนืดนี้มีไม่มาก
แม้ราคาสินค้าไทยจะปรับราคาไม่บ่อย แต่ข้อเท็จจริงพบว่า การปรับราคาแต่ละครั้งจะปรับในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับเงินเฟ้อโดยรวม ตารางที่ 2 แสดงขนาดของการปรับราคาโดยเฉลี่ย แยกระหว่างการปรับราคาขึ้นและลง โดยทั่วไป การขึ้นราคาแต่ละครั้ง จะปรับขึ้นเฉลี่ย 10.37% ในขณะที่การลดราคาแต่ละครั้งโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าเล็กน้อยที่ 7.74% ซึ่งเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อรวมในแต่ละเดือน (เฉลี่ย 0.32% ต่อเดือน) การปรับราคาในระดับสินค้าจะมีขนาดที่ใหญ่กว่ามาก
นอกจากนี้ ขนาดของการปรับราคายังแตกต่างกันไปในสินค้าแต่ละหมวด โดยหมวดการบันเทิงและการศึกษามีการปรับราคาที่รุนแรงที่สุด ในขณะที่บางหมวดมีการปรับราคาไม่มากในแต่ละครั้ง ได้แก่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และยาสูบและสุรา ซึ่งสะท้อนธรรมชาติของสินค้าที่ทำการปรับราคาได้บ่อย จึงไม่จำเป็นต้องปรับในสัดส่วนที่มากนัก
4. จำนวนสินค้าที่มีการปรับราคาในแต่ละเดือนค่อนข้างคงที่ ดังนั้นเงินเฟ้อโดยรวมจึงสะท้อนขนาดโดยเฉลี่ยของราคาที่ปรับในแต่ละสินค้ามากกว่าจำนวนของสินค้าที่มีการปรับราคา
เศรษฐศาสตร์มหภาคมักมีสมมติฐานเกี่ยวกับเงินเฟ้อว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ราคาสินค้าทุกชนิดเปลี่ยนแปลงอย่างถ้วนหน้าในอัตราที่เท่า ๆ กัน แต่จากข้อมูลเชิงลึกกลับชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วในแต่ละเดือนโดยเฉลี่ย 60% ของราคาที่เปลี่ยนเป็นการขึ้นราคา และ 40% เป็นการลดราคา นอกจากนี้ภาพที่ 5 แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนจำนวนสินค้าที่มีการปรับราคาต่อจำนวนสินค้าทั้งหมด (fraction) ค่อนข้างนิ่งเทียบกับเงินเฟ้อรวม โดยสัดส่วนของสินค้าที่ปรับราคาในแต่เดือนจะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 14% ระหว่างปี 2006–2017 ดังนั้น เงินเฟ้อรวมเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับขนาดของการปรับราคาในแต่ละสินค้ามากกว่าจำนวนสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงราคา
ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของการเปลี่ยนแปลงราคาเชิงเปรียบเทียบระหว่างแต่ละสินค้า (relative prices) ในการอธิบายเงินเฟ้อรวมพอ ๆ กับการเปลี่ยนแปลงราคาทั่วไปอย่างถ้วนหน้า (generalized prices) ที่นโยบายการเงินมุ่งที่จะควบคุมในระยะยาว
ข้อมูลเชิงลึกที่ใช้ในการศึกษานี้ นอกจากจะช่วยชี้ให้เห็นความหลากหลายของพฤติกรรมการตั้งราคาของสินค้าแต่ละประเภท ข้อมูลยังมีความละเอียดเพียงพอที่จะใช้ศึกษาความแตกต่างของราคาในเชิงพื้นที่อีกด้วย จากตัวอย่างในภาพที่ 6 ซึ่งแสดงราคาของแกงเขียวหวานปรุงสำเร็จบรรจุถุงทั่วประเทศ (สีเข้มแสดงถึงราคาที่สูง) จะเห็นได้ว่า ราคาของแกงเขียวหวานมีความแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด โดยแกงเขียวหวานในภาคใต้และอีกสานบางจังหวัดสูงกว่าในพื้นที่อื่น ความแตกต่างของราคาระหว่างพื้นที่นี้สะท้อนปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการตั้งราคาในพื้นที่นั้น ๆ เช่น วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่ ค่าแรง การขนส่ง เป็นต้น
ความแตกต่างของราคาระหว่างพื้นที่สามารถสรุปได้โดยการแบ่งประเทศไทยออกเป็น 9 ภาค และคำนวณค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) ของราคาในภาคต่าง ๆ โดยเฉลี่ยเทียบกับราคาเฉลี่ยทั่วประเทศ ตารางที่ 3 แสดงการคำนวณดังกล่าวแยกตามหมวดสินค้า
โดยทั่วไป สินค้าในแต่ละภาคจะต่างจากราคาเฉลี่ยประมาณ 8% สินค้าที่มีความแตกต่างค่อนข้างน้อยคือสินค้าในหมวดสุขภาพและของใช้ส่วนตัว ยานพาหนะและการคมนาคม และยาสูบและสุรา ซึ่งส่วนใหญ่มักมีการผลิตจากส่วนกลางและขายในราคาที่ใกล้เคียงกันทั่วประเทศ นอกจากนี้หากแบ่งแยกระหว่างสินค้าและบริการ จะพบว่าภาคบริการมีความแตกต่างของราคาระหว่างพื้นที่ค่อนข้างสูงที่ 26% ซึ่งสอดคล้องกับการที่บริการมีองค์ประกอบของแรงงานมากและค่าแรงในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แรงงานเคลื่อนย้ายได้ยากกว่าสินค้าทั่วไป จึงทำให้ราคาของบริการมีความแตกต่างระหว่างพื้นที่ได้มากกว่า
ข้อมูลระดับราคาสินค้าในแต่ละพื้นที่สามารถนำมาวัดและเปรียบเทียบค่าครองชีพระหว่างภาคแบบคร่าว ๆ ได้ โดยพบว่า ณ สิ้นปี 2017 ภาคใต้ตอนบน (เช่น ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี) มีค่าครองชีพสูงที่สุด ในขณะที่ภาคเหนือตอนล่าง (เช่น ตาก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์) มีค่าครองชีพต่ำที่สุด โดยต่างกันราว 1400 บาทต่อเดือน
งานวิจัยนี้ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลราคาที่มีความละเอียดสูง ทำการศึกษาพฤติกรรมการตั้งราคาของสินค้าแต่ละรายการ และสรุปเป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญ 5 ประการ ซึ่งมีนัยเชิงนโยบายและเป็นพื้นฐานการศึกษาวิจัยที่ลึกขึ้นในอนาคต ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความหนืดที่ค่อนข้างมากของราคาสินค้าไทยชี้ว่า นโยบายการเงินจะส่งผลต่อเศรษฐกิจจริงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน ในขณะที่การตอบสนองของราคาที่เชื่องช้าต่อปัจจัยที่มากระทบเศรษฐกิจบ่งชี้ถึงความสำคัญที่นโยบายการเงินต้องมองไปข้างหน้า และอาจต้องให้เวลาในการปรับตัวเข้าสู่เป้าหมายเงินเฟ้อที่ยาวนานขึ้น นอกจากนี้ การที่ราคาสินค้าสามารถปรับลดลงได้พอ ๆ กับการขึ้นราคา แสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางอาจไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่สูงมากนักเพื่อชดเชยผลของความหนืดในการปรับลดราคา และที่สำคัญ ตัวเลขเงินเฟ้อโดยรวมมีส่วนที่สะท้อนการเปลี่ยนราคาที่แตกต่างกันมากระหว่างแต่ละสินค้า การเปลี่ยนแปลงราคาเชิงเปรียบเทียบนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของนโยบายการเงิน แต่สะท้อนปัจจัยเกี่ยวกับโครงสร้างการผลิตและความต้องการของตลาดมากกว่า การดำเนินนโยบายที่เหมาะสมย่อมต้องพยายามแยกแยะระหว่างการเปลี่ยนแปลงราคาทั่วไปและการเปลี่ยนแปลงเชิงเปรียบเทียบนี้
Apaitan, T., P. Disyatat and P. Manopimoke (2018), “Price Setting Behavior in Thailand: Evidence from Micro CPI Data,” PIER Discussion Paper, No. 85.
Baudry, L., Le Bihan, H., Sevestre, P. and Tarrieu, S. (2004), Price rigidity: Evidence from the French CPI micro-data.
Bunn, P. and Colin E. (2009), Price-Setting Behaviour in the United Kingdom: A Micro-data Approach, Bank of England Quarterly Bulletin, 2009 Q1.
Dhyne, E., Alvarez, L.J., Le Bihan, H., Veronese, G., Dias, D., Homann, J., Jonker, N., Lunnemann, P., Rumler, F. and Vilmunen, J. (2005), Price setting in the euro area: some stylized facts from individual consumer price data. ECB Working Paper No. 524.
Gouvea, S. (2007), Price rigidity in Brazil: evidence from CPI micro data. Central Bank of Brazil Working Paper, 143.
Klenow, P.J. and Kryvtsov, O. (2008), State-dependent or time-dependent pricing: Does it matter for recent US inflation?. The Quarterly Journal of Economics, 123(3), pp. 863–904.
Medina, J.P., Rappoport, D. and Soto, C. (2007), Dynamics of price adjustments: Evidence from micro level data for chile. Central Bank of Chile Working Paper, 432.
Nakamura, E. and Steinsson, J. (2008), Five facts about prices: A reevaluation of menu cost models. The Quarterly Journal of Economics, 123(4), pp. 1415–1464.
Vilmunen, J. and Laakkonen, H. (2005), How often do prices change in Finland? Micro-level evidence from the CPI. unpublished paper, Bank of Finland.