Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/0df13b024d29f7c403b834a4213fd3e5/e9a79/cover.png
11 กรกฎาคม 2561
20181531267200000

มุมมองสินเชื่อธุรกิจไทยจากข้อมูลรายสัญญา ตอนที่ 1

เจาะลึกสินเชื่อธุรกิจ SME จากข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทย
นฎา วะสีชมพูนุท มนต์ชัยตระกูลมานิตา รัตนสัจธรรมพรชนก บำรุงเรือนกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
มุมมองสินเชื่อธุรกิจไทยจากข้อมูลรายสัญญา ตอนที่ 1
excerpt

ภาคธุรกิจนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีบทบาทในการผลิต การลงทุน และการจ้างงาน ซึ่งการประกอบธุรกิจนั้นจำเป็นจะต้องอาศัยเงินทุนจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเงินทุนของผู้ประกอบการเอง และเงินทุนจากแหล่งอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อจากสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์และการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับสินเชื่อภาคธุรกิจมักอาศัยข้อมูลในระดับมหภาคซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าใจถึงสินเชื่อของหน่วยธุรกิจที่มีความหลากหลาย ทั้งในเชิงขนาด รูปแบบขององค์กร และชนิดของสินค้าและบริการที่ผลิต ชุดบทความ “มุมมองสินเชื่อธุรกิจไทยจากข้อมูลรายสัญญา” นี้จะนำเสนอข้อเท็จจริงและบทเรียนเกี่ยวกับสินเชื่อธุรกิจของประเทศไทยโดยอาศัยข้อมูลเชิงจุลภาคในระดับบัญชี โดยบทความแรกนี้จะเน้นการเจาะลึกสินเชื่อของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises) หรือ สินเชื่อ SME

ความสำคัญของ SME ในระบบเศรษฐกิจ

SME มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในหลายหลาย ๆ ด้าน ทั้งทางด้านการผลิต การจ้างงาน การลงทุน และการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ

ประการแรก ในทางด้านการผลิตนั้น SME เป็นหน่วยการผลิตที่สำคัญในการผลิตสินค้าหลายชนิดที่หน่วยธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ทำการผลิต SME จึงมีบทบาทในการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer goods) และยังเป็นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods) ของห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของประเทศไทยนั้น ถึงแม้ว่ามี SME จำนวนน้อยเท่านั้นที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกโดยตรง แต่มี SME จำนวนมากที่ทำหน้าที่ผลิตสินค้าขั้นกลางเพื่อขายให้บริษัทขนาดใหญ่นำไปใช้ผลิตเพื่อส่งออกต่อไป

ประการที่สอง SME มีบทบาทอย่างมากต่อการจ้างงานของประเทศ เนื่องจาก SME มีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งบทบาทนี้ยังรวมถึงการที่ SME เป็นภาคธุรกิจที่ช่วยดูดซับแรงงานที่เคลื่อนย้ายออกจากภาคการเกษตร การที่ SME เป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ของประเทศนั้น การประกอบการของ SME จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจำนวนมากของประเทศ

ประการที่สาม ในประเทศกำลังพัฒนาที่การเข้าถึงเครื่องมือในการออมมีความจำกัด SME ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรและโยกย้ายเงินออมในชนบท โดยนำไปใช้ในภาคการผลิต

ประการสุดท้าย SME ยังมีบทบาทในการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) เนื่องจากธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่ส่วนใหญ่มักมีขนาดเล็กในช่วงแรก ก่อนที่จะขยายธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงถัดไป

ถึงแม้ว่า SME จะมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ SME ก็มีข้อจำกัดและอุปสรรคในการดำเนินกิจการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ SME มีขนาดเล็ก จึงทำให้เสียเปรียบธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) โดยเฉพาะในด้านการผลิตที่ต้องอาศัยการลงทุนในเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง และการเข้าถึงตลาด ยิ่งไปกว่านั้น SME จำนวนมากยังประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี ตลาด และเงินทุนดังกล่าวทำให้ SME จำนวนมากไม่สามารถขยายกิจการและเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญของ SME ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และตระหนักถึงข้อจำกัดของผู้ประกอบการ SME จึงได้มีนโยบายในการส่งเสริมการประกอบธุรกิจของ SME หลายประการ ซึ่งนโยบายหลักประการหนึ่ง คือนโยบายส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อให้ SME อย่างไรก็ตาม การที่ SME มีความหลากหลายมาก นโยบายส่งเสริมต่าง ๆ จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจถึงความหลากหลายดังกล่าว

สำหรับประเทศไทยนั้น องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่จัดเป็น SME ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี 2559 ประเทศไทยมีวิสาหกิจทั้งหมด 3,013,722 แห่ง มีเพียง 9,025 รายเท่านั้นที่เป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ SME จึงคิดเป็นจำนวนกว่า 99% ของวิสาหกิจทั้งประเทศ โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ผลผลิตจาก SME คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.1 ของ GDP ของประเทศ ในแง่ของการจ้างงาน SME ก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 10.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 ของการจ้างแรงงานทั่วประเทศ แม้จะมีรายงานว่า การเพิ่มขึ้นของผลผลิตจาก SME เป็นไปในทางที่ดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (สสว. 2560) แต่ปัญหาเรื่องความ(ไม่)สามารถในการชำระหนี้ของ SME ยังคงเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง ในภาพรวมสินเชื่อ SME มีโอกาสที่จะเป็นหนี้เสียมากกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2554 สัดส่วนหนี้เสียต่อยอดสินเชื่อคงค้างของ SME อยู่ที่ 4–6% ขณะที่ตัวเลขของสินเชื่อขนาดใหญ่และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอยู่ประมาณ 3% และ 2% ตามลำดับ เนื่องจากจำนวน SME ในประเทศไทยมีกว่า 3 ล้านราย และผู้ประกอบการต่าง ๆ มีความหลากหลายสูง ความเข้าใจ

สถานการณ์หนี้ของ SME จากข้อมูลมหภาคจึงมีภาพที่ไม่ชัดเจนนัก บทความนี้จะขอนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินเชื่อธุรกิจ SME ที่ได้จากการศึกษาฐานข้อมูลหนี้รายสัญญาของ SME จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.4 ล้านสัญญา ที่ธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่งนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนมกราคม 2561

ใครคือผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย?

สามในสี่ของผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทยมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา มีเพียงหนึ่งในสี่ของผู้ประกอบการ SME เท่านั้นที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล นอกจากนี้ SME กว่า 99% เป็นวิสาหกิจขนาดเล็ก มีเพียงส่วนน้อยมากเท่านั้นที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง ซึ่งข้อมูลของลูกหนี้ SME ในฐานข้อมูลสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้ภาพประเภทของ SME ที่ใกล้เคียงกันกับข้อมูลการจัดตั้ง SME ของสสว. ดังที่ได้แสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 จำนวนผู้ประกอบการ SME แบ่งตามประเภทการจดทะเบียนและขนาด

จำนวนผู้ประกอบการ SME แบ่งตามประเภทการจดทะเบียนและขนาด

ที่มา: สสว. (2560) และ ข้อมูลสินเชื่อ SME ของ ธปท. ณ มกราคม 2561

นอกจากนี้ หากดูตามภาคธุรกิจของ SME แล้ว ภาคธุรกิจที่มีจำนวนผู้ประการมากที่สุด 3 ภาคแรก คือ ภาคการค้า (46%) ภาคบริการ (27%) และภาคการผลิต (17%) หากดูตามจังหวัดที่ตั้ง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนผู้ประกอบการมากกว่าภาคอื่น ๆ คิดเป็น 27% และ 24% ของจำนวน SME ทั้งหมดตามลำดับ

ใครเป็นผู้มีสินเชื่อ SME? มีมากแค่ไหน? และเป็นสินเชื่อประเภทใด?

การศึกษาฐานข้อมูลหนี้รายสัญญา SME จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.4 ล้านสัญญาที่ธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่งนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนมกราคม 2561 โดย Wasi et al (2018) พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ 4 ประการ ดังต่อไปนี้

  1. สินเชื่อ SME มีการกระจุกตัวสูงมากทั้งในมิติของจำนวนผู้ประกอบการที่มีสินเชื่อ (extensive margin) และในมิติของขนาดสินเชื่อ (intensive margin) โดยจำนวนผู้ประกอบการ SME ที่มีการใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มีเพียง 5.2 แสนราย ซึ่งคิดเป็นเพียง 17% ของจำนวนผู้ประกอบการ SME ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ในบรรดาผู้ประกอบการ SME ที่มีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์นั้น สินเชื่อส่วนใหญ่มีการกระจุกอยู่กับผู้ประกอบการบางรายเท่านั้น ดังที่แสดงให้เห็นในรูปที่ 1 โดย 84.2% ของมูลค่าสินเชื่อทั้งหมด เป็นสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบการเพียง 10% หรือผู้ประกอบการห้าหมื่นกว่ารายเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้ามากู้จากธนาคารพาณิชย์นั้นประกอบด้วยผู้ที่มีความต้องการสินเชื่อแต่ไม่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการที่ไม่ได้กู้ผ่านธนาคารพาณิชย์เพราะมีช่องทางอื่นในการระดมทุน เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือสถาบันการเงินชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาที่พบว่า วิสาหกิจขนาดกลางและวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลมีแนวโน้มที่จะมีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์สูงกว่าวิสาหกิจขนาดเล็กและวิสาหกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาเล็กน้อย ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่กว่ามักจะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้สูงกว่า รวมถึงมีความต้องการเงินทุนที่สูงกว่า นอกจากนี้ หากดูตามภาคธุรกิจของ SME ภาคธุรกิจต่าง ๆ มีอัตราการเข้ามาใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่ต่างกัน โดย 22% ของ SME ในภาคการค้ามีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ในขณะที่ 8% และ 13% ของ SME ในภาคบริการและภาคการผลิตเท่านั้นที่มีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ส่วนภาคที่มีการกระจุกตัวของสินเชื่อมากที่สุดและน้อยที่สุด คือ สาธารณูปโภคและก่อสร้าง ตามลำดับ ดังที่แสดงให้เห็นในตารางที่ 2
รูปที่ 1 การกระจุกตัวของสินเชื่อ SME

การกระจุกตัวของสินเชื่อ SME

ที่มา: ข้อมูลสินเชื่อ SME ของ ธปท. ณ มกราคม 2561 (ไม่รวม SME ในภาคธุรกิจการเงิน)
ตารางที่ 2 การกระจุกตัวของสินเชื่อ SME รายภาคธุรกิจ

การกระจุกตัวของสินเชื่อ SME รายภาคธุรกิจ

ที่มา: ข้อมูลสินเชื่อ SME ของ ธปท. ณ มกราคม 2561 (ไม่รวม SME ในภาคธุรกิจการเงิน)
  1. ในบรรดาผู้ประกอบการ SME ที่มีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์นั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่มูลค่าสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ทั้งนี้ สัดส่วนของจำนวนผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาคิดเป็น 75% แต่สัดส่วนของยอดสินเชื่อคงค้างจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้รวมแล้วเป็นเพียง 25% เท่านั้น ดังที่ได้แสดงในรูปที่ 2 ซึ่งหมายความว่า ถึงแม้ลูกค้า SME ส่วนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้ประกอบการที่มีฐานะเป็นบุคคลธรรมดา แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้มียอดสินเชื่อแต่ละรายที่ไม่สูงนัก โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการ SME ที่มีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจในภาคการค้า (44.6%) รองลงมาคือ นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจในภาคการค้า (10%) และบุคคลธรรมดาในภาคบริการ (8.7%) ในขณะที่มูลค่าสินเชื่อ SME จากธนาคารพาณิชย์ มีสัดส่วนสูงสุดในกลุ่มวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลในภาคการค้า (23.8%) รองลงมาคือ นิติบุคคลในภาคการผลิต (21.1%) และบุคคลธรรมดาในภาคการค้า (13.6%) ดังที่ได้แสดงในตารางที่ 3
รูปที่ 2 สัดส่วนผู้ประกอบการและสัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้าง SME ตามประเภทการจัดตั้งและภาคธุรกิจ

สัดส่วนผู้ประกอบการและสัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้าง SME ตามประเภทการจัดตั้งและภาคธุรกิจ

ที่มา: ข้อมูลสินเชื่อ SME ของ ธปท. ณ มกราคม 2561 (คิดสัดส่วนโดยไม่รวม SME ในภาคธุรกิจการเงิน)
ตารางที่ 3 สัดส่วนผู้ประกอบการและสัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้าง SME ตามประเภทการจัดตั้งและภาคธุรกิจ

สัดส่วนผู้ประกอบการและสัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้าง SME ตามประเภทการจัดตั้งและภาคธุรกิจ

หมายเหตุ: สำหรับผู้ประกอบการที่ระบุประเภทธุรกิจต่างกันสำหรับสินเชื่อต่างสัญญาจะถูกนับซ้ำในการแบ่งตามภาคธุรกิจ แต่ไม่ได้ถูกนับซ้ำในตัวเลขรวมที่แยกตามประเภทการจัดตั้งที่มา: ข้อมูลสินเชื่อ SME ของ ธปท. ณ มกราคม 2561 (คิดสัดส่วนโดยไม่รวม SME ในภาคธุรกิจการเงิน)
  1. มูลค่าสินเชื่อราย SME มีความแตกต่างตามภาคธุรกิจ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าสินเชื่อต่อรายสูงสุด รองลงมาคือภาคเหมืองแร่ และภาคอุตสาหกรรมการผลิต (โดยการเปรียบเทียบค่ามัธยฐาน หรือ median) ทั้งนี้ ภาคธุรกิจดังกล่าวมีขนาดสินเชื่อต่อวิสาหกิจสูงสุดทั้งในกลุ่มวิสาหกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาและกลุ่มวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล อย่างไรก็ตาม ในทุกภาคธุรกิจ มูลค่าสินเชื่อต่อรายของวิสาหกิจที่เป็นบุคคลธรรมดามีขนาดเล็กกว่ามูลค่าต่อรายของวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลหลายเท่าตัว (ยกเว้นภาคการก่อสร้างที่มูลค่าสินเชื่อต่อรายของบุคคลธรรมดามีขนาดต่ำกว่าของนิติบุคคลไม่มากนัก) ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ 2 ที่ได้กล่าวไปแล้ว ยิ่งไปกว่านี้ ในแต่ละภาคธุรกิจ มูลค่าสินเชื่อต่อ SME มีการกระจายตัวที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการกระจายตัวที่ค่อนข้างสูงมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของธุรกิจ SME ระหว่างภาคการผลิตต่าง ๆ และภายในภาคการผลิตเดียวกัน ดังที่แสดงในรูปที่ 3
รูปที่ 3 การกระจายตัวของมูลค่าสินเชื่อราย SME ระหว่างภาคธุรกิจและภายในภาคธุรกิจ

การกระจายตัวของมูลค่าสินเชื่อราย SME ระหว่างภาคธุรกิจและภายในภาคธุรกิจ

หมายเหตุ: รูปทางซ้ายเป็นรูปแสดงการกระจายตัวแบบ Box Plot โดยขอบซ้ายและขอบขวาของกล่อง คือ ค่าที่ percentile ที่ 25 และ 75 ตามลำดับ ส่วนเส้นคั่นกลาง คือ ค่ามัธยฐาน (percentile ที่ 50) สำหรับเส้นตรงทางซ้ายและขวานอกกล่องแสดงถึงจำนวนตัวอย่างที่ยังมีค่าต่อเนื่องแต่ต่ำกว่า percentile ที่ 25 และสูงกว่า percentile ที่ 75 ตามลำดับ โดยการคำนวณการกระจายตัวนี้ ไม่ได้รวมข้อมูลที่มีความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด (outliers)ที่มา: ข้อมูลสินเชื่อ SME ของ ธปท. ณ มกราคม 2561
  1. ผู้ประกอบการ SME ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและที่เป็นนิติบุคคล ส่วนมากมีบัญชีสินเชื่อเพียงบัญชีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้ประเภทสินเชื่อทั่วไป (general loan) หรือเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) นอกจากนี้ ลูกหนี้ SME ที่มีสินเชื่อมากกว่าหนึ่งบัญชีส่วนมากใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งเดียว จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 63 ของผู้ประกอบการ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดามีบัญชีขอสินเชื่อเพียงบัญชีเดียว และไม่ถึงร้อยละ 1 ของผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวมีสินเชื่อเกิน 10 บัญชี ส่วนผู้ประกอบการ SME ที่เป็นนิติบุคคล แม้ส่วนใหญ่จะมีบัญชีเดียว แต่ประมาณร้อยละ 8 ของผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีบัญชีสินเชื่อมากกว่า 10 บัญชี ดังที่แสดงให้เห็นในตารางที่ 4

สำหรับผู้ประกอบการที่มีบัญชีสินเชื่อบัญชีเดียว (รูปที่ 4 สัดส่วนสีส้มใน pie chart) หากเป็นบุคคลธรรมดา บัญชีเกือบทั้งหมดเป็นเงินให้สินเชื่อประเภททั่วไปและเงินเบิกเกินบัญชี แต่หากเป็น SME ที่เป็นนิติบุคคล นอกจากสินเชื่อสองประเภทนี้ สินเชื่อเช่าซื้อก็มีสัดส่วนที่สำคัญ สำหรับผู้ประกอบการที่มีสองบัญชีขึ้นไป ผู้ที่เป็นนิติบุคคลก็มีพอร์ตสินเชื่อที่หลากหลายประเภทมากกว่าผู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ดังแสดงในรูปที่ 4 ทั้งนี้ ในกลุ่มลูกหนี้ SME ที่มีสินเชื่อมากกว่าหนึ่งบัญชีนั้นร้อยละ 67 ใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งเดียว แต่หากดูสัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้าง กลุ่มที่ใช้บริการจากธนาคารหลายแห่งมีสัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้างมากกว่า (59%) โดยลูกหนี้ SME ที่มีสัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้างสูงมักจะเป็นกลุ่มที่มีการถือสินเชื่อประเภททั่วไปร่วมด้วย ซึ่งสินเชื่อไม่ระบุวัตถุประสงค์เหล่านี้มักจะเป็นสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่และเป็นสินเชื่อระยะยาว

ตารางที่ 4 จำนวนบัญชีสินเชื่อต่อลูกหนี้ SME

จำนวนบัญชีสินเชื่อต่อลูกหนี้ SME

ที่มา: ข้อมูลสินเชื่อ SME ของ ธปท. ณ มกราคม 2561 (ไม่รวม SME ในภาคธุรกิจการเงิน)
รูปที่ 4 สัดส่วนสินเชื่อแบ่งตามประเภทการจัดตั้งกิจการ จำนวนบัญชี และประเภทของพอร์ตสินเชื่อ

สัดส่วนสินเชื่อแบ่งตามประเภทการจัดตั้งกิจการ จำนวนบัญชี และประเภทของพอร์ตสินเชื่อ

หมายเหตุ: GL = General Loan (ทั่วไป), OD = Overdraft (เบิกเกินบัญชี), HP = Hire Purchase/Leasing (เช่าซื้อ), OWC = Other Working Capital Loan (เงินทุนหมุนเวียนอื่น ๆ) ที่มา: ข้อมูลสินเชื่อ SME ของ ธปท. ณ มกราคม 2561 (ไม่รวม SME ในภาคธุรกิจการเงิน)

สถานการณ์หนี้เสียของสินเชื่อ SME เป็นอย่างไร?

ในภาพรวมหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan, NPL) ของธุรกิจ SME อยู่ที่ 251,767 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 6.22% ของยอดสินเชื่อคงค้าง จำนวนผู้ประกอบการที่มีหนี้เสียมี 42,094 ราย ซึ่งคิดเป็น 7.96% ของลูกหนี้ SME ที่มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด อย่างไรก็ตาม SME มีความหลากหลายอย่างมาก ดังนั้น สถานการณ์หนี้เสียในภาพรวมจึงไม่สามารถสะท้อนขนาดและความเสี่ยงของลูกหนี้ SME ได้ ซึ่งข้อมูลในเชิงจุลภาคสามารถช่วยให้การประเมินสถานการณ์หนี้เสียมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อมูลสินเชื่อรายบัญชีสามารถนำมาใช้วัดสถานการณ์หนี้เสียได้ทั้งในมิติของขนาดและมิติของความเสี่ยง ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์หนี้เสียในมิติที่หลากหลายมากขึ้น

ตัววัดในมิติของขนาด ได้แก่

  1. สัดส่วนมูลค่าหนี้เสียของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่าง ๆ ต่อมูลค่าหนี้เสียในระบบทั้งหมด ซึ่งเป็นตัววัดที่สะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของหนี้เสียในกลุ่มผู้ประกอบการบางกลุ่ม และ
  2. มูลค่าหนี้เสียต่อลูกหนี้ ซึ่งเป็นตัววัดขนาดหนี้เสียโดยเฉลี่ย

ส่วนตัววัดในมิติของความเสี่ยง ประกอบด้วย

  1. สัดส่วนมูลค่าหนี้เสียต่อมูลค่าหนี้ทั้งหมด หรือที่มักเขียนย่อ ๆ ว่า %NPL ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบยอด NPL กับยอดสินเชื่อคงค้าง โดยตัววัดนี้บอกว่าจากสินเชื่อจำนวน 100 บาท มีกี่บาทที่เป็นหนี้เสีย และ
  2. จำนวนลูกหนี้ที่มียอดคงค้าง NPL ต่อลูกหนี้ที่มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ซึ่งเราขอเรียกว่า %NPL Headcount หรืออีกนัยหนึ่ง วัดว่าจากจำนวนลูกหนี้ 100 ราย มีกี่รายที่มีหนี้เสีย

การที่จะชี้ให้เห็นว่า SME กลุ่มใดมีส่วนทำให้สัดส่วนหนี้เสียในภาพรวมสูงที่สุด เราจำเป็นต้องใช้ตัววัดทั้งมิติของขนาดและมิติของความเสี่ยงประกอบกัน กลุ่มที่มีหนี้เสียสูงในมิติของขนาดไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะกลุ่มที่มี %NPL สูง แต่สัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้างต่ำ ก็อาจจะส่งผลต่อความเสี่ยงในภาพรวมน้อยกว่ากลุ่มที่มี %NPL กลาง ๆ แต่สัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้างสูงมาก ขณะเดียวกัน หากถามว่า SME กลุ่มใดมีลูกหนี้ที่มีปัญหาด้านความไม่สามารถในการชำระหนี้และต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด เราต้องดูที่ %NPL headcount เพราะการที่ %NPL มีค่าสูง อาจจะเป็นไปได้ว่ามีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่มีหนี้เสียแต่เป็นหนี้เสียขนาดใหญ่ การศึกษาสถานการณ์หนี้เสีย ในมิติต่าง ๆ จากข้อมูลสินเชื่อ SME รายบัญชี ที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย โดย Wasi et al (2018) พบข้อสรุปที่น่าสนใจ 3 ประการ

  1. ในมิติของขนาด กลุ่มผู้ประกอบการนิติบุคคลมีมูลค่าหนี้เสียขนาดใหญ่กว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา และผู้ประกอบการในภาคพาณิชย์และอุตสาหกรรมมีมูลค่าหนี้เสียขนาดใหญ่กว่าผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอื่น ๆ แต่หากวัดในมิติของความเสี่ยง กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็น บุคคลธรรมดามีความเสี่ยงสูงกว่านิติบุคคล และภาคธุรกิจเหมืองแร่และก่อสร้างมีความเสี่ยงสูงกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ ดังที่แสดงในตารางที่ 5 ซึ่งสัดส่วนของมูลค่าหนี้เสียในเชิงขนาดสะท้อนถึงมูลค่ายอดสินเชื่อคงค้างในกลุ่มนั้น ๆ นั่นคือ กลุ่มที่มีหนี้เสียขนาดใหญ่ดังกล่าวก็เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้างขนาดใหญ่เช่นกัน
ตารางที่ 5 สถานการณ์หนี้เสียในมิติของขนาดและความเสี่ยง

สถานการณ์หนี้เสียในมิติของขนาดและความเสี่ยง

ที่มา: ข้อมูลสินเชื่อ SME ของ ธปท. ณ มกราคม 2561 (ไม่รวม SME ในภาคธุรกิจการเงิน)
  1. ในด้านการกระจายตัวของหนี้เสียนั้น บางภาคธุรกิจมีหนี้เสียกระจุกตัวอยู่ในผู้ประกอบการจำนวนไม่มาก เช่น เหมืองแร่ และอุตสาหกรรม ในทางตรงข้าม ส่วนบางภาคธุรกิจมีหนี้เสียกระจายอยู่กับผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยที่แต่ละรายมีหนี้เสียไม่มากนัก เช่น ภาคบริการ และก่อสร้าง ดังแสดงในรูปที่ 5
รูปที่ 5 การกระจายตัวของหนี้เสีย

การกระจายตัวของหนี้เสีย

ที่มา: ข้อมูลสินเชื่อ SME ของ ธปท. ณ มกราคม 2561 (ไม่รวม SME ในภาคธุรกิจการเงิน)
  1. ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ ลูกหนี้ที่มีบัญชีสินเชื่อมากกว่าหนึ่งบัญชี และลูกหนี้ที่กู้ประเภทสินเชื่อทั่วไป กลุ่มที่ถือสินเชื่อประเภททั่วไปเพียงอย่างเดียวมีค่า %NPL อยู่ที่ 9% สำหรับลูกหนี้ที่มีสินเชื่อบัญชีเดียว และ 13–16% สำหรับลูกหนี้ที่มีบัญชีสินเชื่อมากกว่าหนึ่งบัญชี ขณะที่กลุ่มที่ถือบัญชี O/D เพียงอย่างเดียวมีค่า %NPL อยู่เพียง 1–4% แต่หากดู %NPL Headcount กลุ่มที่ถือสินเชื่อประเภททั่วไปเพียงอย่างเดียวและใช้บริการจากธนาคารมากกว่าหนึ่งแห่ง มี %NPL Headcount สูงถึง 29% ทั้งนี้ข้อมูลนี้อาจจะสะท้อนว่าลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงไม่สามารถขอเปิดบัญชีใหม่กับธนาคารแห่งเดิมได้ จึงต้องไปขอเปิดบัญชีกับธนาคารอื่น นอกจากนี้ ผู้ที่กู้ประเภทสินเชื่อทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการถือบัญชีสินเชื่อทั่วไปเพียงอย่างเดียว หรือถือร่วมกับบัญชีเงินทุนหมุนเวียน เป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียในสัดส่วนที่สูงทั้งในมิติของขนาดและความเสี่ยง ดังตารางที่ 6 และรูปที่ 4
ตารางที่ 6 %NPL และ %NPL Headcount ตามประเภทของสินเชื่อและจำนวนบัญชี

%NPL และ %NPL Headcount ตามประเภทของสินเชื่อและจำนวนบัญชี

หมายเหตุ: GL = General Loan (ทั่วไป), OD = Overdraft (เบิกเกินบัญชี), HP = Hire Purchase/Leasing (เช่าซื้อ), OWC = Other Working Capital Loan (เงินทุนหมุนเวียนอื่น ๆ) ที่มา: ข้อมูลสินเชื่อ SME ของ ธปท. ณ มกราคม 2561 (ไม่รวม SME ในภาคธุรกิจการเงิน)

นัยทางนโยบาย

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อ SME รายบัญชีที่ธนาคารพาณิชย์ส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้นำเสนอในบทความนี้ มีนัยทางนโยบายหลายประการ

ประการแรก แม้หลายฝ่ายได้ตระหนักถึงปัญหาของ SME ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SME ซึ่งอยู่ในระดับที่สูง แต่นั่นเป็นเพียงภาพรวมของ SME ซึ่งมีจำนวนกว่า 3 ล้านรายงานศึกษาชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าความแตกต่างในมิติต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ SME ตั้งแต่การเข้ามาใช้บริการ ขนาดสินเชื่อที่ใช้บางภาคธุรกิจมีความต้องการสินเชื่อขนาดใหญ่ บางภาคธุรกิจมีจำนวนผู้ประกอบการมาก แต่ต้องการสินเชื่อขนาดเล็กนอกจากนี้พฤติกรรมการใช้บริการของ SME ที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาก็ต่างกันดังนั้น นโยบายสนับสนุน SME ที่เป็น one size fits all อาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย

ประการที่สอง สินเชื่อ SME มีการกระจุกตัวสูง โดย SME เพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่มีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์คำถามที่น่าสนใจ คือ ในร้อยละ 83 ของ SME ที่เหลือนั้น แบ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อและผู้ประกอบการที่ไม่ได้ต้องการสินเชื่ออย่างละเท่าไร นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าถึงสินเชื่อหลายรายก็ได้รับสินเชื่อในขนาดที่ไม่ใหญ่มากและมีสินเชื่อเพียงบัญชีเดียว ดังนั้น เราจึงต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้นว่าผู้ที่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อมีลักษณะอย่างไร มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแต่ไม่ได้รับโอกาสทางการเงินหรือไม่ ข้อมูลต่าง ๆ ในปัจจุบัน ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ แต่การที่รัฐบาลเริ่มมีนโยบายสนับสนุนให้ สสว. พัฒนาฐานข้อมูล SME จะทำให้เข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น

ประการที่สาม ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดามีมูลค่าสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่ำกว่าผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ปัจจัยหนึ่งอาจจะเนื่องมาจากการที่นิติบุคคลมีหลักฐานงบการเงินที่เป็นระบบ ซึ่งสามารถใช้ประกอบการขอสินเชื่อได้ ดังนั้น นโยบายในการส่งเสริมและลดต้นทุนในการจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อให้ธุรกิจเข้าสู่ระบบ (formalization) จึงอาจเป็นนโยบายหนึ่ง ที่ช่วยให้ SME เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ และอาจจะยังช่วยลดความเสี่ยงของสินเชื่อ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่สูงกว่านิติบุคคลด้วย

ประการที่สี่ ผู้ประกอบการ SME นั้นมีความแตกต่างทั้งระหว่างภาคธุรกิจและภายในภาคธุรกิจ นโยบายในการสนับสนุน SME ควรพิจารณาปัจจัยรายผู้ประกอบการและพยายามสนับสนุน SME ที่มีศักยภาพโดยไม่ควรจะดูเฉพาะปัจจัยรวมในระดับภาคธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในบางภาคธุรกิจ %NPL ที่สูงมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่มีหนี้เสียทำให้ภาคธุรกิจนั้นดูมีความเสี่ยงโดยรวมสูง

ประการที่ห้า วิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหาของหนี้เสียของ SME ที่อยู่ในระดับสูงสามารถทำได้โดยการป้องกันการเกิดหนี้เสียใหม่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินอาจช่วยลดปัญหาหนี้เสียของลูกหนี้ที่กู้จากหลายสถาบันการเงิน ซึ่งการจัดตั้งและดำเนินการของบริษัทข้อมูลเครดิตบูโรแห่งชาติ(National Credit Bureau: NCB) ก็เป็นก้าวสำคัญในทิศทางดังกล่าว นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อที่รัดกุมขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อทั่วไปที่อาจมีความไม่ชัดเจนของวัตถุประสงค์ และตรวจสอบยากกว่าสินเชื่อชนิดอื่น

ประการที่หก เนื่องจากการปล่อยกู้ให้ SME (โดยเฉพาะ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดา) หลายราย มีต้นทุนทางธุรกรรมสูงกว่าการปล่อยกู้ให้ธุรกิจรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ธนาคารพาณิชย์จึงอาจจะไม่มีแรงจูงใจในการปล่อยสินเชื่อให้ SME มากนักเมื่อเทียบกับการปล่อยให้ลูกค้ารายใหญ่ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) โดยเฉพาะธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (Small and Medium Enterprise Development Bank of Thailand: SME Bank) จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ดังเช่นการดำเนินงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการเป็นผู้นำในการปล่อยสินเชื่อภาคการเกษตรให้เกษตรกรในชนบทที่ขาดแคลนเงินทุน อย่างไรก็ตาม การปล่อยกู้ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของสินเชื่อควบคู่ไปกับเป้าหมายในการขยายการเข้าถึงสินเชื่อของ SME ด้วย

ประการสุดท้าย เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดเล็กมีจำนวนมากและเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของครัวเรือนในประเทศไทย ผู้กำหนดนโยบายควรคำนึงถึงความอยู่รอดของธุรกิจขนาดเล็กควบคู่กันไปกับนโยบายป้องกันหนี้เสียของ SME โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงว่า การเข้าถึงสินเชื่อเป็นเพียงข้อจำกัดอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการ SME ดังนั้น การส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อให้ SME โดยเฉพาะที่เป็นบุคคลธรรมดาโดยไม่ได้มีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยี และการเข้าถึงตลาด ย่อมไม่สามารถทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนได้ และยังอาจจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาในที่สุด

note

งานวิจัยในบทความนี้เป็นเพียงการศึกษาข้อมูลภาคตัดขวาง ภาพที่ได้บางอย่างจึงอาจจะเป็นผลของพฤติกรรมของธนาคารพาณิชย์ หรือ SME ที่เกิดขึ้นหลังจากมีหนี้เสีย หรือมีสัญญาณว่าจะมีหนี้เสีย เช่น กลุ่มลูกหนี้ที่การศึกษาพบว่ามีความเสี่ยงต่ำ อาจจะเป็นเพราะธนาคารให้ความช่วยเหลือเมื่อมีสัญญาณว่าหนี้กำลังจะเสีย นอกจากนี้ ข้อมูลในการศึกษาชิ้นนี้มาจาก SME ที่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ การวัดความเสี่ยงโดยข้อมูลกลุ่มลูกหนี้อาจจะไม่เป็นตัวแทนของ SME ทุกราย

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.). 2560. รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

Wasi, N., P. Bumrungruan, C. Monchaitrakul, M. Rudtanasudjatum, and K. Samphantharak. (2018): “SME Debt in Thailand: A Perspective from Loan-Level Data” Discussion Paper, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research, forthcoming.

นฎา วะสี
นฎา วะสี
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ชมพูนุท มนต์ชัยตระกูล
ชมพูนุท มนต์ชัยตระกูล
ธนาคารแห่งประเทศไทย
มานิตา รัตนสัจธรรม
มานิตา รัตนสัจธรรม
ธนาคารแห่งประเทศไทย
พรชนก บำรุงเรือน
พรชนก บำรุงเรือน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
University of California San Diego
Topics: Financial Markets and Asset Pricing
Tags: borrower characteristicnplsmesme debt
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email