มุมมองสินเชื่อธุรกิจไทยจากข้อมูลรายสัญญา ตอนที่ 1
excerpt
ภาคธุรกิจนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีบทบาทในการผลิต การลงทุน และการจ้างงาน ซึ่งการประกอบธุรกิจนั้นจำเป็นจะต้องอาศัยเงินทุนจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเงินทุนของผู้ประกอบการเอง และเงินทุนจากแหล่งอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อจากสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์และการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับสินเชื่อภาคธุรกิจมักอาศัยข้อมูลในระดับมหภาคซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าใจถึงสินเชื่อของหน่วยธุรกิจที่มีความหลากหลาย ทั้งในเชิงขนาด รูปแบบขององค์กร และชนิดของสินค้าและบริการที่ผลิต ชุดบทความ “มุมมองสินเชื่อธุรกิจไทยจากข้อมูลรายสัญญา” นี้จะนำเสนอข้อเท็จจริงและบทเรียนเกี่ยวกับสินเชื่อธุรกิจของประเทศไทยโดยอาศัยข้อมูลเชิงจุลภาคในระดับบัญชี โดยบทความแรกนี้จะเน้นการเจาะลึกสินเชื่อของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises) หรือ สินเชื่อ SME
SME มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในหลายหลาย ๆ ด้าน ทั้งทางด้านการผลิต การจ้างงาน การลงทุน และการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ
ประการแรก ในทางด้านการผลิตนั้น SME เป็นหน่วยการผลิตที่สำคัญในการผลิตสินค้าหลายชนิดที่หน่วยธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ทำการผลิต SME จึงมีบทบาทในการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer goods) และยังเป็นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods) ของห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของประเทศไทยนั้น ถึงแม้ว่ามี SME จำนวนน้อยเท่านั้นที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกโดยตรง แต่มี SME จำนวนมากที่ทำหน้าที่ผลิตสินค้าขั้นกลางเพื่อขายให้บริษัทขนาดใหญ่นำไปใช้ผลิตเพื่อส่งออกต่อไป
ประการที่สอง SME มีบทบาทอย่างมากต่อการจ้างงานของประเทศ เนื่องจาก SME มีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งบทบาทนี้ยังรวมถึงการที่ SME เป็นภาคธุรกิจที่ช่วยดูดซับแรงงานที่เคลื่อนย้ายออกจากภาคการเกษตร การที่ SME เป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ของประเทศนั้น การประกอบการของ SME จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจำนวนมากของประเทศ
ประการที่สาม ในประเทศกำลังพัฒนาที่การเข้าถึงเครื่องมือในการออมมีความจำกัด SME ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรและโยกย้ายเงินออมในชนบท โดยนำไปใช้ในภาคการผลิต
ประการสุดท้าย SME ยังมีบทบาทในการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) เนื่องจากธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่ส่วนใหญ่มักมีขนาดเล็กในช่วงแรก ก่อนที่จะขยายธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงถัดไป
ถึงแม้ว่า SME จะมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ SME ก็มีข้อจำกัดและอุปสรรคในการดำเนินกิจการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ SME มีขนาดเล็ก จึงทำให้เสียเปรียบธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) โดยเฉพาะในด้านการผลิตที่ต้องอาศัยการลงทุนในเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง และการเข้าถึงตลาด ยิ่งไปกว่านั้น SME จำนวนมากยังประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี ตลาด และเงินทุนดังกล่าวทำให้ SME จำนวนมากไม่สามารถขยายกิจการและเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญของ SME ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และตระหนักถึงข้อจำกัดของผู้ประกอบการ SME จึงได้มีนโยบายในการส่งเสริมการประกอบธุรกิจของ SME หลายประการ ซึ่งนโยบายหลักประการหนึ่ง คือนโยบายส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อให้ SME อย่างไรก็ตาม การที่ SME มีความหลากหลายมาก นโยบายส่งเสริมต่าง ๆ จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจถึงความหลากหลายดังกล่าว
สำหรับประเทศไทยนั้น องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่จัดเป็น SME ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี 2559 ประเทศไทยมีวิสาหกิจทั้งหมด 3,013,722 แห่ง มีเพียง 9,025 รายเท่านั้นที่เป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ SME จึงคิดเป็นจำนวนกว่า 99% ของวิสาหกิจทั้งประเทศ โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ผลผลิตจาก SME คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.1 ของ GDP ของประเทศ ในแง่ของการจ้างงาน SME ก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 10.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 ของการจ้างแรงงานทั่วประเทศ แม้จะมีรายงานว่า การเพิ่มขึ้นของผลผลิตจาก SME เป็นไปในทางที่ดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (สสว. 2560) แต่ปัญหาเรื่องความ(ไม่)สามารถในการชำระหนี้ของ SME ยังคงเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง ในภาพรวมสินเชื่อ SME มีโอกาสที่จะเป็นหนี้เสียมากกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2554 สัดส่วนหนี้เสียต่อยอดสินเชื่อคงค้างของ SME อยู่ที่ 4–6% ขณะที่ตัวเลขของสินเชื่อขนาดใหญ่และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอยู่ประมาณ 3% และ 2% ตามลำดับ เนื่องจากจำนวน SME ในประเทศไทยมีกว่า 3 ล้านราย และผู้ประกอบการต่าง ๆ มีความหลากหลายสูง ความเข้าใจ
สถานการณ์หนี้ของ SME จากข้อมูลมหภาคจึงมีภาพที่ไม่ชัดเจนนัก บทความนี้จะขอนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินเชื่อธุรกิจ SME ที่ได้จากการศึกษาฐานข้อมูลหนี้รายสัญญาของ SME จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.4 ล้านสัญญา ที่ธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่งนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนมกราคม 2561
สามในสี่ของผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทยมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา มีเพียงหนึ่งในสี่ของผู้ประกอบการ SME เท่านั้นที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล นอกจากนี้ SME กว่า 99% เป็นวิสาหกิจขนาดเล็ก มีเพียงส่วนน้อยมากเท่านั้นที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง ซึ่งข้อมูลของลูกหนี้ SME ในฐานข้อมูลสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้ภาพประเภทของ SME ที่ใกล้เคียงกันกับข้อมูลการจัดตั้ง SME ของสสว. ดังที่ได้แสดงในตารางที่ 1
นอกจากนี้ หากดูตามภาคธุรกิจของ SME แล้ว ภาคธุรกิจที่มีจำนวนผู้ประการมากที่สุด 3 ภาคแรก คือ ภาคการค้า (46%) ภาคบริการ (27%) และภาคการผลิต (17%) หากดูตามจังหวัดที่ตั้ง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนผู้ประกอบการมากกว่าภาคอื่น ๆ คิดเป็น 27% และ 24% ของจำนวน SME ทั้งหมดตามลำดับ
การศึกษาฐานข้อมูลหนี้รายสัญญา SME จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.4 ล้านสัญญาที่ธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่งนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนมกราคม 2561 โดย Wasi et al (2018) พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ 4 ประการ ดังต่อไปนี้
- สินเชื่อ SME มีการกระจุกตัวสูงมากทั้งในมิติของจำนวนผู้ประกอบการที่มีสินเชื่อ (extensive margin) และในมิติของขนาดสินเชื่อ (intensive margin) โดยจำนวนผู้ประกอบการ SME ที่มีการใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มีเพียง 5.2 แสนราย ซึ่งคิดเป็นเพียง 17% ของจำนวนผู้ประกอบการ SME ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ในบรรดาผู้ประกอบการ SME ที่มีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์นั้น สินเชื่อส่วนใหญ่มีการกระจุกอยู่กับผู้ประกอบการบางรายเท่านั้น ดังที่แสดงให้เห็นในรูปที่ 1 โดย 84.2% ของมูลค่าสินเชื่อทั้งหมด เป็นสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบการเพียง 10% หรือผู้ประกอบการห้าหมื่นกว่ารายเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้ามากู้จากธนาคารพาณิชย์นั้นประกอบด้วยผู้ที่มีความต้องการสินเชื่อแต่ไม่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการที่ไม่ได้กู้ผ่านธนาคารพาณิชย์เพราะมีช่องทางอื่นในการระดมทุน เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือสถาบันการเงินชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาที่พบว่า วิสาหกิจขนาดกลางและวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลมีแนวโน้มที่จะมีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์สูงกว่าวิสาหกิจขนาดเล็กและวิสาหกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาเล็กน้อย ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่กว่ามักจะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้สูงกว่า รวมถึงมีความต้องการเงินทุนที่สูงกว่า นอกจากนี้ หากดูตามภาคธุรกิจของ SME ภาคธุรกิจต่าง ๆ มีอัตราการเข้ามาใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่ต่างกัน โดย 22% ของ SME ในภาคการค้ามีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ในขณะที่ 8% และ 13% ของ SME ในภาคบริการและภาคการผลิตเท่านั้นที่มีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ส่วนภาคที่มีการกระจุกตัวของสินเชื่อมากที่สุดและน้อยที่สุด คือ สาธารณูปโภคและก่อสร้าง ตามลำดับ ดังที่แสดงให้เห็นในตารางที่ 2
- ในบรรดาผู้ประกอบการ SME ที่มีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์นั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่มูลค่าสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ทั้งนี้ สัดส่วนของจำนวนผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาคิดเป็น 75% แต่สัดส่วนของยอดสินเชื่อคงค้างจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้รวมแล้วเป็นเพียง 25% เท่านั้น ดังที่ได้แสดงในรูปที่ 2 ซึ่งหมายความว่า ถึงแม้ลูกค้า SME ส่วนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้ประกอบการที่มีฐานะเป็นบุคคลธรรมดา แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้มียอดสินเชื่อแต่ละรายที่ไม่สูงนัก โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการ SME ที่มีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจในภาคการค้า (44.6%) รองลงมาคือ นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจในภาคการค้า (10%) และบุคคลธรรมดาในภาคบริการ (8.7%) ในขณะที่มูลค่าสินเชื่อ SME จากธนาคารพาณิชย์ มีสัดส่วนสูงสุดในกลุ่มวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลในภาคการค้า (23.8%) รองลงมาคือ นิติบุคคลในภาคการผลิต (21.1%) และบุคคลธรรมดาในภาคการค้า (13.6%) ดังที่ได้แสดงในตารางที่ 3
- มูลค่าสินเชื่อราย SME มีความแตกต่างตามภาคธุรกิจ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าสินเชื่อต่อรายสูงสุด รองลงมาคือภาคเหมืองแร่ และภาคอุตสาหกรรมการผลิต (โดยการเปรียบเทียบค่ามัธยฐาน หรือ median) ทั้งนี้ ภาคธุรกิจดังกล่าวมีขนาดสินเชื่อต่อวิสาหกิจสูงสุดทั้งในกลุ่มวิสาหกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาและกลุ่มวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล อย่างไรก็ตาม ในทุกภาคธุรกิจ มูลค่าสินเชื่อต่อรายของวิสาหกิจที่เป็นบุคคลธรรมดามีขนาดเล็กกว่ามูลค่าต่อรายของวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลหลายเท่าตัว (ยกเว้นภาคการก่อสร้างที่มูลค่าสินเชื่อต่อรายของบุคคลธรรมดามีขนาดต่ำกว่าของนิติบุคคลไม่มากนัก) ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ 2 ที่ได้กล่าวไปแล้ว ยิ่งไปกว่านี้ ในแต่ละภาคธุรกิจ มูลค่าสินเชื่อต่อ SME มีการกระจายตัวที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการกระจายตัวที่ค่อนข้างสูงมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของธุรกิจ SME ระหว่างภาคการผลิตต่าง ๆ และภายในภาคการผลิตเดียวกัน ดังที่แสดงในรูปที่ 3
- ผู้ประกอบการ SME ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและที่เป็นนิติบุคคล ส่วนมากมีบัญชีสินเชื่อเพียงบัญชีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้ประเภทสินเชื่อทั่วไป (general loan) หรือเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) นอกจากนี้ ลูกหนี้ SME ที่มีสินเชื่อมากกว่าหนึ่งบัญชีส่วนมากใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งเดียว จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 63 ของผู้ประกอบการ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดามีบัญชีขอสินเชื่อเพียงบัญชีเดียว และไม่ถึงร้อยละ 1 ของผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวมีสินเชื่อเกิน 10 บัญชี ส่วนผู้ประกอบการ SME ที่เป็นนิติบุคคล แม้ส่วนใหญ่จะมีบัญชีเดียว แต่ประมาณร้อยละ 8 ของผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีบัญชีสินเชื่อมากกว่า 10 บัญชี ดังที่แสดงให้เห็นในตารางที่ 4
สำหรับผู้ประกอบการที่มีบัญชีสินเชื่อบัญชีเดียว (รูปที่ 4 สัดส่วนสีส้มใน pie chart) หากเป็นบุคคลธรรมดา บัญชีเกือบทั้งหมดเป็นเงินให้สินเชื่อประเภททั่วไปและเงินเบิกเกินบัญชี แต่หากเป็น SME ที่เป็นนิติบุคคล นอกจากสินเชื่อสองประเภทนี้ สินเชื่อเช่าซื้อก็มีสัดส่วนที่สำคัญ สำหรับผู้ประกอบการที่มีสองบัญชีขึ้นไป ผู้ที่เป็นนิติบุคคลก็มีพอร์ตสินเชื่อที่หลากหลายประเภทมากกว่าผู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ดังแสดงในรูปที่ 4 ทั้งนี้ ในกลุ่มลูกหนี้ SME ที่มีสินเชื่อมากกว่าหนึ่งบัญชีนั้นร้อยละ 67 ใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งเดียว แต่หากดูสัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้าง กลุ่มที่ใช้บริการจากธนาคารหลายแห่งมีสัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้างมากกว่า (59%) โดยลูกหนี้ SME ที่มีสัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้างสูงมักจะเป็นกลุ่มที่มีการถือสินเชื่อประเภททั่วไปร่วมด้วย ซึ่งสินเชื่อไม่ระบุวัตถุประสงค์เหล่านี้มักจะเป็นสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่และเป็นสินเชื่อระยะยาว
ในภาพรวมหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan, NPL) ของธุรกิจ SME อยู่ที่ 251,767 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 6.22% ของยอดสินเชื่อคงค้าง จำนวนผู้ประกอบการที่มีหนี้เสียมี 42,094 ราย ซึ่งคิดเป็น 7.96% ของลูกหนี้ SME ที่มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด อย่างไรก็ตาม SME มีความหลากหลายอย่างมาก ดังนั้น สถานการณ์หนี้เสียในภาพรวมจึงไม่สามารถสะท้อนขนาดและความเสี่ยงของลูกหนี้ SME ได้ ซึ่งข้อมูลในเชิงจุลภาคสามารถช่วยให้การประเมินสถานการณ์หนี้เสียมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อมูลสินเชื่อรายบัญชีสามารถนำมาใช้วัดสถานการณ์หนี้เสียได้ทั้งในมิติของขนาดและมิติของความเสี่ยง ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์หนี้เสียในมิติที่หลากหลายมากขึ้น
ตัววัดในมิติของขนาด ได้แก่
- สัดส่วนมูลค่าหนี้เสียของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่าง ๆ ต่อมูลค่าหนี้เสียในระบบทั้งหมด ซึ่งเป็นตัววัดที่สะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของหนี้เสียในกลุ่มผู้ประกอบการบางกลุ่ม และ
- มูลค่าหนี้เสียต่อลูกหนี้ ซึ่งเป็นตัววัดขนาดหนี้เสียโดยเฉลี่ย
ส่วนตัววัดในมิติของความเสี่ยง ประกอบด้วย
- สัดส่วนมูลค่าหนี้เสียต่อมูลค่าหนี้ทั้งหมด หรือที่มักเขียนย่อ ๆ ว่า %NPL ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบยอด NPL กับยอดสินเชื่อคงค้าง โดยตัววัดนี้บอกว่าจากสินเชื่อจำนวน 100 บาท มีกี่บาทที่เป็นหนี้เสีย และ
- จำนวนลูกหนี้ที่มียอดคงค้าง NPL ต่อลูกหนี้ที่มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ซึ่งเราขอเรียกว่า %NPL Headcount หรืออีกนัยหนึ่ง วัดว่าจากจำนวนลูกหนี้ 100 ราย มีกี่รายที่มีหนี้เสีย
การที่จะชี้ให้เห็นว่า SME กลุ่มใดมีส่วนทำให้สัดส่วนหนี้เสียในภาพรวมสูงที่สุด เราจำเป็นต้องใช้ตัววัดทั้งมิติของขนาดและมิติของความเสี่ยงประกอบกัน กลุ่มที่มีหนี้เสียสูงในมิติของขนาดไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะกลุ่มที่มี %NPL สูง แต่สัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้างต่ำ ก็อาจจะส่งผลต่อความเสี่ยงในภาพรวมน้อยกว่ากลุ่มที่มี %NPL กลาง ๆ แต่สัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้างสูงมาก ขณะเดียวกัน หากถามว่า SME กลุ่มใดมีลูกหนี้ที่มีปัญหาด้านความไม่สามารถในการชำระหนี้และต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด เราต้องดูที่ %NPL headcount เพราะการที่ %NPL มีค่าสูง อาจจะเป็นไปได้ว่ามีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่มีหนี้เสียแต่เป็นหนี้เสียขนาดใหญ่ การศึกษาสถานการณ์หนี้เสีย ในมิติต่าง ๆ จากข้อมูลสินเชื่อ SME รายบัญชี ที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย โดย Wasi et al (2018) พบข้อสรุปที่น่าสนใจ 3 ประการ
- ในมิติของขนาด กลุ่มผู้ประกอบการนิติบุคคลมีมูลค่าหนี้เสียขนาดใหญ่กว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา และผู้ประกอบการในภาคพาณิชย์และอุตสาหกรรมมีมูลค่าหนี้เสียขนาดใหญ่กว่าผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอื่น ๆ แต่หากวัดในมิติของความเสี่ยง กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็น บุคคลธรรมดามีความเสี่ยงสูงกว่านิติบุคคล และภาคธุรกิจเหมืองแร่และก่อสร้างมีความเสี่ยงสูงกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ ดังที่แสดงในตารางที่ 5 ซึ่งสัดส่วนของมูลค่าหนี้เสียในเชิงขนาดสะท้อนถึงมูลค่ายอดสินเชื่อคงค้างในกลุ่มนั้น ๆ นั่นคือ กลุ่มที่มีหนี้เสียขนาดใหญ่ดังกล่าวก็เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนยอดสินเชื่อคงค้างขนาดใหญ่เช่นกัน
- ในด้านการกระจายตัวของหนี้เสียนั้น บางภาคธุรกิจมีหนี้เสียกระจุกตัวอยู่ในผู้ประกอบการจำนวนไม่มาก เช่น เหมืองแร่ และอุตสาหกรรม ในทางตรงข้าม ส่วนบางภาคธุรกิจมีหนี้เสียกระจายอยู่กับผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยที่แต่ละรายมีหนี้เสียไม่มากนัก เช่น ภาคบริการ และก่อสร้าง ดังแสดงในรูปที่ 5
- ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ ลูกหนี้ที่มีบัญชีสินเชื่อมากกว่าหนึ่งบัญชี และลูกหนี้ที่กู้ประเภทสินเชื่อทั่วไป กลุ่มที่ถือสินเชื่อประเภททั่วไปเพียงอย่างเดียวมีค่า %NPL อยู่ที่ 9% สำหรับลูกหนี้ที่มีสินเชื่อบัญชีเดียว และ 13–16% สำหรับลูกหนี้ที่มีบัญชีสินเชื่อมากกว่าหนึ่งบัญชี ขณะที่กลุ่มที่ถือบัญชี O/D เพียงอย่างเดียวมีค่า %NPL อยู่เพียง 1–4% แต่หากดู %NPL Headcount กลุ่มที่ถือสินเชื่อประเภททั่วไปเพียงอย่างเดียวและใช้บริการจากธนาคารมากกว่าหนึ่งแห่ง มี %NPL Headcount สูงถึง 29% ทั้งนี้ข้อมูลนี้อาจจะสะท้อนว่าลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงไม่สามารถขอเปิดบัญชีใหม่กับธนาคารแห่งเดิมได้ จึงต้องไปขอเปิดบัญชีกับธนาคารอื่น นอกจากนี้ ผู้ที่กู้ประเภทสินเชื่อทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการถือบัญชีสินเชื่อทั่วไปเพียงอย่างเดียว หรือถือร่วมกับบัญชีเงินทุนหมุนเวียน เป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียในสัดส่วนที่สูงทั้งในมิติของขนาดและความเสี่ยง ดังตารางที่ 6 และรูปที่ 4
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อ SME รายบัญชีที่ธนาคารพาณิชย์ส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้นำเสนอในบทความนี้ มีนัยทางนโยบายหลายประการ
ประการแรก แม้หลายฝ่ายได้ตระหนักถึงปัญหาของ SME ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SME ซึ่งอยู่ในระดับที่สูง แต่นั่นเป็นเพียงภาพรวมของ SME ซึ่งมีจำนวนกว่า 3 ล้านรายงานศึกษาชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าความแตกต่างในมิติต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ SME ตั้งแต่การเข้ามาใช้บริการ ขนาดสินเชื่อที่ใช้บางภาคธุรกิจมีความต้องการสินเชื่อขนาดใหญ่ บางภาคธุรกิจมีจำนวนผู้ประกอบการมาก แต่ต้องการสินเชื่อขนาดเล็กนอกจากนี้พฤติกรรมการใช้บริการของ SME ที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาก็ต่างกันดังนั้น นโยบายสนับสนุน SME ที่เป็น one size fits all อาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย
ประการที่สอง สินเชื่อ SME มีการกระจุกตัวสูง โดย SME เพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่มีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์คำถามที่น่าสนใจ คือ ในร้อยละ 83 ของ SME ที่เหลือนั้น แบ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อและผู้ประกอบการที่ไม่ได้ต้องการสินเชื่ออย่างละเท่าไร นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าถึงสินเชื่อหลายรายก็ได้รับสินเชื่อในขนาดที่ไม่ใหญ่มากและมีสินเชื่อเพียงบัญชีเดียว ดังนั้น เราจึงต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้นว่าผู้ที่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อมีลักษณะอย่างไร มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแต่ไม่ได้รับโอกาสทางการเงินหรือไม่ ข้อมูลต่าง ๆ ในปัจจุบัน ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ แต่การที่รัฐบาลเริ่มมีนโยบายสนับสนุนให้ สสว. พัฒนาฐานข้อมูล SME จะทำให้เข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น
ประการที่สาม ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดามีมูลค่าสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่ำกว่าผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ปัจจัยหนึ่งอาจจะเนื่องมาจากการที่นิติบุคคลมีหลักฐานงบการเงินที่เป็นระบบ ซึ่งสามารถใช้ประกอบการขอสินเชื่อได้ ดังนั้น นโยบายในการส่งเสริมและลดต้นทุนในการจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อให้ธุรกิจเข้าสู่ระบบ (formalization) จึงอาจเป็นนโยบายหนึ่ง ที่ช่วยให้ SME เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ และอาจจะยังช่วยลดความเสี่ยงของสินเชื่อ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่สูงกว่านิติบุคคลด้วย
ประการที่สี่ ผู้ประกอบการ SME นั้นมีความแตกต่างทั้งระหว่างภาคธุรกิจและภายในภาคธุรกิจ นโยบายในการสนับสนุน SME ควรพิจารณาปัจจัยรายผู้ประกอบการและพยายามสนับสนุน SME ที่มีศักยภาพโดยไม่ควรจะดูเฉพาะปัจจัยรวมในระดับภาคธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในบางภาคธุรกิจ %NPL ที่สูงมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่มีหนี้เสียทำให้ภาคธุรกิจนั้นดูมีความเสี่ยงโดยรวมสูง
ประการที่ห้า วิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหาของหนี้เสียของ SME ที่อยู่ในระดับสูงสามารถทำได้โดยการป้องกันการเกิดหนี้เสียใหม่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินอาจช่วยลดปัญหาหนี้เสียของลูกหนี้ที่กู้จากหลายสถาบันการเงิน ซึ่งการจัดตั้งและดำเนินการของบริษัทข้อมูลเครดิตบูโรแห่งชาติ(National Credit Bureau: NCB) ก็เป็นก้าวสำคัญในทิศทางดังกล่าว นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อที่รัดกุมขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อทั่วไปที่อาจมีความไม่ชัดเจนของวัตถุประสงค์ และตรวจสอบยากกว่าสินเชื่อชนิดอื่น
ประการที่หก เนื่องจากการปล่อยกู้ให้ SME (โดยเฉพาะ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดา) หลายราย มีต้นทุนทางธุรกรรมสูงกว่าการปล่อยกู้ให้ธุรกิจรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ธนาคารพาณิชย์จึงอาจจะไม่มีแรงจูงใจในการปล่อยสินเชื่อให้ SME มากนักเมื่อเทียบกับการปล่อยให้ลูกค้ารายใหญ่ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) โดยเฉพาะธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (Small and Medium Enterprise Development Bank of Thailand: SME Bank) จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ดังเช่นการดำเนินงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการเป็นผู้นำในการปล่อยสินเชื่อภาคการเกษตรให้เกษตรกรในชนบทที่ขาดแคลนเงินทุน อย่างไรก็ตาม การปล่อยกู้ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของสินเชื่อควบคู่ไปกับเป้าหมายในการขยายการเข้าถึงสินเชื่อของ SME ด้วย
ประการสุดท้าย เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดเล็กมีจำนวนมากและเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของครัวเรือนในประเทศไทย ผู้กำหนดนโยบายควรคำนึงถึงความอยู่รอดของธุรกิจขนาดเล็กควบคู่กันไปกับนโยบายป้องกันหนี้เสียของ SME โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงว่า การเข้าถึงสินเชื่อเป็นเพียงข้อจำกัดอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการ SME ดังนั้น การส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อให้ SME โดยเฉพาะที่เป็นบุคคลธรรมดาโดยไม่ได้มีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยี และการเข้าถึงตลาด ย่อมไม่สามารถทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนได้ และยังอาจจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาในที่สุด
note
งานวิจัยในบทความนี้เป็นเพียงการศึกษาข้อมูลภาคตัดขวาง ภาพที่ได้บางอย่างจึงอาจจะเป็นผลของพฤติกรรมของธนาคารพาณิชย์ หรือ SME ที่เกิดขึ้นหลังจากมีหนี้เสีย หรือมีสัญญาณว่าจะมีหนี้เสีย เช่น กลุ่มลูกหนี้ที่การศึกษาพบว่ามีความเสี่ยงต่ำ อาจจะเป็นเพราะธนาคารให้ความช่วยเหลือเมื่อมีสัญญาณว่าหนี้กำลังจะเสีย นอกจากนี้ ข้อมูลในการศึกษาชิ้นนี้มาจาก SME ที่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ การวัดความเสี่ยงโดยข้อมูลกลุ่มลูกหนี้อาจจะไม่เป็นตัวแทนของ SME ทุกราย
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.). 2560. รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
Wasi, N., P. Bumrungruan, C. Monchaitrakul, M. Rudtanasudjatum, and K. Samphantharak. (2018): “SME Debt in Thailand: A Perspective from Loan-Level Data” Discussion Paper, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research, forthcoming.