ธนาคารไทยเสี่ยงขึ้นหรือไม่ในยุคดอกเบี้ยต่ำ
excerpt
การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจหลังเศรษฐกิจโลกประสบกับวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2008 แต่ดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นเวลานานอาจจะมีผลข้างเคียงต่อภาคสถาบันการเงิน ทั้งในมิติของความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงและพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อที่อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางลบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินได้ บทความนี้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาประกอบกับข้อมูลงบการเงินรายธนาคารและรายบริษัทผู้กู้ในการศึกษาผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
นับตั้งแต่ Global financial crisis ในปี ค.ศ. 2008–2009 ประเทศพัฒนาแล้วได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำมากเป็นเวลานาน เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังวิกฤตด้วยการกระตุ้นอุปสงค์โดยรวมและการลดต้นทุนในการกู้ยืม แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานานนี้ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันในวงกว้างว่าอาจจะส่งผลกระทบทางลบที่ไม่ได้ตั้งใจต่อภาคการเงินการธนาคาร ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะบั่นทอนเสถียรภาพของระบบการเงินได้
ประเทศไทยเองก็ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในการตอบสนองต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจเช่นกัน โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.5% มานานถึง 13 ไตรมาส (รูปที่ 1 เส้นสีแดง) และถ้านับระยะเวลาตั้งแต่ที่ดอกเบี้ยนโยบายเริ่มลดลง (ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2554) มาจนถึงปัจจุบันที่ยังไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะรวมเป็นเวลายาวนานถึง 27 ไตรมาส (รูปที่ 1 พื้นที่ประสีน้ำเงิน ข้อมูล ณ กรกฎาคม พ.ศ. 2561) ซึ่งนับเป็นช่วงขาลงของดอกเบี้ยนโยบายที่นานที่สุดตั้งแต่เริ่มใช้กรอบนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อในปี พ.ศ. 2543
ในทางทฤษฎี อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นระยะเวลานานส่งผลกระทบต่อภาคการเงินในหลายส่วน เช่น ทำให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยงของสินทรัพย์ต่าง ๆ ต่ำกว่าความเป็นจริง (underpricing of risk) และมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yields) ในบริบทของธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยต่ำอาจส่งผลให้ธนาคารกล้ารับความเสี่ยง (risk-taking) มากขึ้นโดยการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อแสวงหารายได้ดอกเบี้ย ซึ่งช่องทางของผลกระทบจากดอกเบี้ยนโยบายต่อคุณภาพของการปล่อยสินเชื่อนี้เรียกว่า risk-taking channel (Borio and Zhu, 2012) ในขณะเดียวกัน ดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำก็อาจส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แคบลง ซึ่งทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (net interest margin: NIM) ของธนาคารลดลงได้ และลดความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร
งานศึกษาเชิงประจักษ์ที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลจากประเทศพัฒนาแล้ว มักพบว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่อยู่ในระดับต่ำมีความสัมพันธ์กับผลกำไรที่ลดลงและ risk-taking ที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ และผลกระทบทางลบนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน แต่ยังไม่มีงานที่ศึกษาถึงผลกระทบของดอกเบี้ยนโยบายในประเทศไทยในเชิงลึก บทความนี้ซึ่งสรุปจากงานวิจัยของ Ratanavararak and Ananchotikul (2018) จึงมุ่งศึกษาผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อความสามารถในการทำกำไรและพฤติกรรม risk-taking ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาเพื่อศึกษาความเสี่ยงเชิงลึกระดับจุลภาค นอกจากนี้ยังศึกษาด้วยว่าธนาคารหรือผู้กู้ลักษณะใดจะมีความอ่อนไหวมากกว่าต่อดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ
การศึกษาใช้ข้อมูลใน 2 ระดับ ได้แก่ ข้อมูลระดับธนาคารรายไตรมาส และข้อมูลระดับสัญญาสินเชื่อรายเดือน โดยสร้างขึ้นจากการเชื่อมข้อมูลจาก 4 แหล่ง ได้แก่
- ข้อมูลงบการเงินของธนาคารพาณิชย์รายไตรมาส
- ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาที่ทุกธนาคารพาณิชย์รายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยรายเดือนสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมหรือยอดสินเชื่อคงค้างรวมกับธนาคารแต่ละแห่งมากกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งโดยเฉลี่ยครอบคลุมกว่า 75% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์
- ข้อมูลงบการเงินรายบริษัทของทุกนิติบุคคลในประเทศไทยที่จดทะเบียนพาณิชย์กับกระทรวงพาณิชย์ โดยเป็นข้อมูลรายปี และ
- ข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและตัวเลขเศรษฐกิจมหภาค
ข้อมูลทั้ง 2 ชุดมีระยะเวลาประมาณ 14 ปี ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2547 ถึงไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งครอบคลุมทั้งช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูงและต่ำ
ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์มักวัดจากอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (return on assets: ROA) และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity: ROE) โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ
- รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (net interest income)
- รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (non-interest income) และ
- การกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (loan loss provision)
ซึ่งองค์ประกอบสุดท้ายนี้ถือเป็นต้นทุนของธนาคารซึ่งทำให้กำไรลดลง รูปที่ 2 แสดงตัวชี้วัดทั้ง 5 นี้ของธนาคารพาณิชย์ในไทย 23 แห่งที่มีการดำเนินงานตลอดช่วงเวลาที่ศึกษา โดยเส้นทึบตรงกลางแสดงค่ามัธยฐานของกลุ่มตัวอย่างและพื้นที่สีฟ้าแสดงช่วงของข้อมูลระหว่าง percentile ที่ 75 และ percentile ที่ 25
จากตัวชี้วัดทั้งหมดไม่พบว่ากำไรของธนาคารมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนนักในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธินั้น จะเห็นได้ว่าช่วงความแตกต่างของข้อมูลกว้างขึ้นในช่วง 4–5 ปีหลัง ซึ่งหลัก ๆ มาจากการที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศลดลง และเมื่อเจาะลึกพิจารณาเป็นรายธนาคาร พบว่าแนวโน้มตัวชี้วัดผลกำไรโดยเฉพาะ net interest income และ loan loss provision มีทิศทางแตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างธนาคารแต่ละแห่ง (heterogeneity) ในส่วนถัดไปเราจึงใช้การศึกษาเชิงลึกด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติในการแยกผลของอัตราดอกเบี้ยต่อผลกำไรของธนาคารโดยควบคุมปัจจัยอื่น ๆ ทั้งที่เป็นปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจการเงินในแต่ละช่วงเวลาและปัจจัยลักษณะเฉพาะของแต่ธนาคารที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร
ผลการศึกษาพบว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรโดยรวมของธนาคารที่วัดจากทั้ง ROA และ ROE ลดลง เมื่อวิเคราะห์แยกส่วนประกอบของกำไรพบว่าผลกระทบทางลบนี้มาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นหลัก แต่ดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำส่งผลให้การกันสำรองหนี้สูญซึ่งนับเป็นต้นทุนนั้นลดลงเช่นกัน เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำน่าจะช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องจ่าย ทำให้ลดความน่าจะเป็นที่จะผิดนัดชำระหนี้ลง จึงลดการกันสำรองลงด้วย แต่การลดลงของต้นทุนในการกันสำรองนี้อาจไม่มากพอ จึงทำให้ผลโดยรวมพบว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสัมพันธ์กับกำไรของธนาคารที่ลดลง ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยนั้นพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับดอกเบี้ยนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ
จากข้อมูลงบการเงินในระดับธนาคาร ความเสี่ยงของสินเชื่อในภาพรวมสามารถวัดได้จาก 3 ค่า ได้แก่
- ค่า Z-score ของธนาคาร1 เป็นคะแนนที่บอกว่าธนาคารมีเงินทุนและกำไรสะสมเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนของรายได้และกำไรมากน้อยเพียงใด โดยค่ายิ่งมากยิ่งความเสี่ยงต่ำ
- สัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง (risk-weighted assets: RWA) ต่อสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งแสดงถึงขนาดของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ธนาคารมีถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละประเภท และ
- สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loans: NPL) ต่อสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้ว
รูปที่ 3 แสดงตัวชี้วัดทั้งสามนี้ของธนาคารพาณิชย์ในไทยที่มีการดำเนินงานตลอดช่วงเวลาที่ศึกษา ในภาพรวมไม่พบว่าธนาคารมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ค่า Z-score กลับมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วน RWA และ NPL นั้นไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัด 3 ค่านี้เป็นความเสี่ยงในภาพรวมซึ่งอาจจะไม่สามารถสะท้อนพฤติกรรม risk-taking ของธนาคารพาณิชย์ได้อย่างชัดเจน เราจึงศึกษาเจาะลึกลงไปในระดับจุลภาคโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลสินเชื่อรายสัญญา ตารางที่ 1 แสดงลักษณะของสินเชื่อ 5 ประเภทที่แบ่งตามวัตถุประสงค์ ลักษณะ และอายุของสินเชื่อ ได้แก่ สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (working capital) สินเชื่อเพื่อการนำเข้าส่งออก (trade finance) สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อทั่วไประยะสั้น และสินเชื่อทั่วไประยะยาว
สำหรับสินเชื่อทั่วไปพบว่ามีขนาดสินเชื่อเฉลี่ยที่ใหญ่กว่าสินเชื่อประเภทอื่น โดยมียอดสินเชื่อคงค้างรวมคิดเป็นประมาณ 70% ของสินเชื่อทั้งหมด สินเชื่อทั่วไประยะยาวมีอายุสินเชื่อเฉลี่ยยาวที่สุด คือประมาณ 7 ปี ในขณะที่สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนและสินเชื่อระยะสั้นอื่น ๆ มีอายุเฉลี่ยเพียงไม่กี่เดือน และเกือบทั้งหมดเป็นสินเชื่อที่ใช้โดยผู้กู้ที่เป็นบริษัท แต่สินเชื่อทั่วไประยะยาวมีสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้แก่ผู้กู้ที่เป็นบริษัทน้อยกว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะสินเชื่อประเภทนี้รวมการกู้เพื่อที่อยู่อาศัยที่ไม่ใช่ของบริษัทด้วย เมื่อพิจารณาสัดส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกัน พบว่าสินเชื่อทั่วไประยะยาวมีสัดส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกันสูงที่สุด คือ 53% ส่วนสินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อระยะสั้นมักมีหลักประกันน้อยกว่า นอกจากนี้สินเชื่อทั่วไประยะยาวยังมีสัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้สูงที่สุด คือ 7.25%
จากลักษณะของสินเชื่อทั่วไประยะยาวที่แตกต่างไปจากสินเชื่อประเภทอื่น ๆ การวิเคราะห์หลักจึงแยกสินเชื่อออกเป็น 2 ประเภท คือ
- สินเชื่อทั่วไประยะยาว และ
- สินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อระยะสั้นอื่น ๆ
รูปที่ 4 แสดงตัวชี้วัดคุณภาพสินเชื่อใหม่ของสินเชื่อสองประเภทนี้ใน 3 ด้าน ได้แก่ สัดส่วนสินเชื่อใหม่ที่ให้แก่ผู้กู้ที่เคยผิดนัดชำระหนี้ สัดส่วนสินเชื่อใหม่ที่ผิดนัดชำระหนี้ภายใน 3 ปี และสัดส่วนสินเชื่อใหม่ที่ไม่มีหลักประกัน โดยพบว่าสินเชื่อทั่วไประยะยาวมีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นและเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเพิ่มขึ้นในช่วงหลังที่ดอกเบี้ยต่ำ (เส้นทึบสีแดง) ซึ่งอาจสะท้อนถึงการที่ธนาคารลดหย่อนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ลงเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ไม่พบรูปแบบนี้ในสินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อระยะสั้นอื่น ๆ (เส้นประสีน้ำเงิน)
เมื่อพิจารณาอัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสมเฉพาะของสินเชื่อทั่วไประยะยาวแยกตามปีที่ปล่อยสินเชื่อในรูปที่ 5 (Vintage analysis) เราพบว่าสินเชื่อที่ธนาคารให้ในปีที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำมีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระหนี้เร็วกว่าและมากกว่าสินเชื่อที่ธนาคารให้ในปีที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง และยิ่งมากขึ้นเมื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานหรืออยู่ในช่วงขาลง ซึ่งจะเห็นได้จากการที่อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสมของสินเชื่อที่ปล่อยในปี 2015 (เส้นสีส้ม) ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาลง สูงกว่าปี 2010 (เส้นสีฟ้า) ที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยเท่ากันคือ 1.56%
เราศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับ risk-taking ด้วยวิธีทางเศรษฐมิติโดยใช้แบบจำลองได้แก่ Panel regression, Duration model และ Probit model และมีการควบคุมปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจการเงินและลักษณะที่แตกต่างกันของสินเชื่อและผู้กู้
ผลการศึกษาโดยใช้ข้อมูลในระดับรายธนาคาร ไม่พบว่าธนาคารมีพฤติกรรมกล้าเสี่ยงเพิ่มขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ส่งผลต่อค่า Z-score NPL หรือ RWA ของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปโดยใช้ข้อมูลสินเชื่อระดับรายสัญญา กลับพบผลที่น่าสนใจ 5 ประการ ดังนี้
ประการแรก ดอกเบี้ยต่ำส่งผลให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อประเภททั่วไประยะยาวที่มีความเสี่ยงที่จะผิดชำระหนี้ (Default risk) เพิ่มขึ้น และมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ที่เคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้มาก่อนหรือสินเชื่อที่ต้องใช้หลักประกัน ทั้งหมดนี้ชี้ว่าสินเชื่อที่ธนาคารให้ในช่วงดอกเบี้ยต่ำมีแนวโน้มคุณภาพต่ำกว่าสินเชื่อที่ธนาคารให้ในช่วงดอกเบี้ยสูง ซึ่งสอดคล้องกับในรูปที่ 4 และ 5
ประการที่สอง การวิเคราะห์แยกกลุ่มตามขนาดของธนาคาร พบว่าคุณภาพของสินเชื่อใหม่ที่ธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กปล่อยค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาวะดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งชี้ว่าการที่ดอกเบี้ยต่ำส่งผลให้ธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กมีแนวโน้มปล่อยสินเชื่อที่คุณภาพต่ำลงมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่
ประการที่สาม การศึกษาโดยใช้เฉพาะข้อมูลสินเชื่อที่ให้แก่ผู้กู้ที่เป็นบริษัทพบว่า บริษัทที่มีขนาดเล็ก มีอายุน้อย และมีกำไรน้อย มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากกว่า และความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ที่เป็นบริษัทขนาดเล็กนั้นอ่อนไหวต่อระดับดอกเบี้ยมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งชี้ว่าบริษัทขนาดเล็กอาจจะได้รับผลกระทบทางลบมากกว่าจากพฤติกรรม risk-taking ของธนาคารผู้ให้กู้
ประการที่สี่ การศึกษาตัวแปร “low for long” โดยวัดจากจำนวนไตรมาสที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาลง เพิ่มเติมจากการพิจารณาระดับดอกเบี้ยนโยบายโดยตรงพบว่า ยิ่งดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานขึ้นก็จะยิ่งทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพแย่ลงหรือมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น
ประการสุดท้าย ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอาจจะส่งผลให้ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่คุณภาพแย่ลง แต่พบว่าช่วยลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อเดิมที่ปล่อยไปในช่วงก่อนหน้า ซึ่งน่าจะเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำช่วยลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผู้กู้ต้องจ่ายคืนแก่ธนาคาร จึงทำให้ผู้กู้มีความเสี่ยงน้อยลงที่จะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้
งานศึกษาในบริบทของประเทศไทยพบว่าดอกเบี้ยต่ำส่งผลกระทบทางลบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ผ่านช่องทางของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงเป็นหลัก เมื่อพิจารณาระดับธนาคารในภาพรวมไม่พบว่าดอกเบี้ยที่ต่ำส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างไปจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พบในงานศึกษาประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยอาจเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีความระมัดระวังในการดำเนินงานมากกว่าและมีการบริหารจัดการความเสี่ยงในภาพรวมได้ค่อนข้างดี2 แต่เมื่อเจาะลึกลงไปในระดับจุลภาคโดยการศึกษาคุณภาพสินเชื่อในระดับรายสัญญา พบว่า ในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำธนาคารมีแนวโน้มปล่อยสินเชื่อทั่วไประยะยาวที่มีคุณภาพต่ำลง หรือมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น และพบว่าธนาคารขนาดเล็กมักเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรม risk-taking มากขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในขณะที่ผู้กู้ที่เป็นบริษัทขนาดเล็กก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม risk-taking ของธนาคารมากกว่าผู้กู้รายใหญ่
ผลการศึกษาทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นระยะเวลานานกว่าปกติอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อภาคธนาคารทั้งในมิติของความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงและการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพต่ำลง ถึงแม้จะไม่พบว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำจะส่งผลต่อความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ในภาพรวม แต่อาจส่งผลต่อความเปราะบางของผู้เล่นเฉพาะบางกลุ่ม โดยธนาคารและผู้กู้ที่มีลักษณะแตกต่างกันอาจได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยต่ำที่ไม่เท่ากัน สุดท้ายแล้วกำไรที่ลดลงและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุดนี้อาจจะส่งผลลบต่อเสถียรภาพทางการเงินโดยรวมได้
ดังนั้น นโยบายควรเป็นไปในแนวทางผสานทั้งการดูแลเสถียรภาพทางราคาผ่านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการดำเนินงานภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ไปพร้อม ๆ กับการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินแบบองค์รวม ในขณะเดียวกัน ผู้ทำนโยบายควรให้ความสำคัญกับการติดตามพัฒนาการและผลกระทบที่แตกต่างกันทั้งในมิติของสถาบันการเงิน ผู้กู้ และประเภทสินเชื่อ และเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือนโยบายในการดูแลเสถียรภาพทางการเงินสำหรับกลุ่มที่มีความเปราะบาง
Borio, C., & Zhu, H. (2012). Capital regulation, risk-taking and monetary policy: a missing link in the transmission mechanism?. Journal of Financial Stability, 8(4), 236–251.
Ratanavararak, L., & Ananchotikul, N. (2018). Bank Profitability and Risk-Taking in a Low Interest Rate Environment: The Case of Thailand. PIER Discussion Paper No.89.