Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/89042a3d1470b662015bc147832d6010/e9a79/cover.png
10 กันยายน 2561
20181536537600000

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนไทย จากฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

เรียนรู้พฤติกรรม ความเป็นอยู่ และความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนไทย ผ่านข้อมูลการใช้ไฟฟ้า
วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐทศพล อภัยทาน
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนไทย จากฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
excerpt

บทความนี้นำเสนอตัวอย่างการใช้งานข้อมูลไฟฟ้ารายมิเตอร์ โดยเน้นที่ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าครัวเรือนในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งประกอบด้วยมิเตอร์ไฟฟ้ากว่า 16 ล้านมิเตอร์ จึงมีความละเอียดสูงในเชิงพื้นที่และสามารถสะท้อนพฤติกรรมที่แท้จริงได้ โดยผู้วิจัยพบว่า นอกจากข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจะให้ภาพเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลเสริมเพื่อบ่งชี้ระดับรายได้และความเหลื่อมล้ำของรายได้ครัวเรือน รวมไปถึงพฤติกรรมการชำระเงินได้อีกด้วย

ในโลกยุคดิจิทัล ไฟฟ้าแทบจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตเลยทีเดียว เพราะชีวิตของเราต้องพึ่งพาพลังงานจากไฟฟ้าแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่การให้แสงสว่าง การทำความเย็น การประกอบอาหาร การเดินทาง รวมไปถึงการติดต่อสื่อสารผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ดังนั้น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า จึงเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถเจาะลึกไปถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า และความเป็นอยู่ของทุกครัวเรือนไทย ที่นอกจากจะมีความสำคัญโดยตรงต่อธุรกิจไฟฟ้าแล้ว ข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้ายังมีประโยชน์ในแง่ของการกำหนดนโยบายต่าง ๆ อีกด้วย

บทความชิ้นนี้ สรุปผลการศึกษาของ Apaitan and Wibulpolprasert (2018) ซึ่งทำการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือนของผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทย ยกเว้นเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการและนนทบุรี ที่เป็นเขตรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง1 โดยข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ประกอบด้วยการใช้ไฟฟ้ารายเดือนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือนทั้งหมดในเขต กฟภ. ระหว่างปี ค.ศ. 2013–2016 ประกอบด้วยมิเตอร์ไฟฟ้าประมาณ 15–16 ล้านมิเตอร์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เนื่องจากฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือน มีไว้เพื่อจุดประสงค์ของการคำนวณค่าไฟฟ้าในธุรกิจของ กฟภ. ดังนั้น ตัวแปรและข้อมูลส่วนที่มีความครบถ้วนและเที่ยงตรงที่สุดซึ่งถูกใช้ในการวิเคราะห์ คือ ที่อยู่ของมิเตอร์ ขนาดของมิเตอร์ หน่วยไฟฟ้าที่ใช้ ค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน รวมถึงวิธีการชำระค่าไฟฟ้าของแต่ละมิเตอร์ โดยการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าครัวเรือนดังกล่าว สามารถระบุข้อเท็จจริง (stylized facts) ของการใช้ไฟฟ้าได้ ดังนี้

ข้อเท็จจริง 1: การใช้ไฟฟ้าครัวเรือนมีความแปรผันตามอุณหภูมิและระดับรายได้

โดยเฉลี่ย ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือนในเขต กฟภ. ใช้ไฟฟ้าประมาณ 90–140 หน่วยต่อเดือน (หรือเท่ากับ 3–4 หน่วยต่อวัน) และเทียบเท่ากับค่าไฟฟ้าประมาณ 253–414 บาทต่อเดือน

ปัจจัยสำคัญประการแรกที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าคือ ระดับอุณหภูมิ โดยจะเห็นได้ชัดจากภาพที่ 1 ว่าภายในช่วงเวลาของแต่ละปี การใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นและลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละเดือน นอกจากนี้ เมื่อดูแนวโน้มระยะยาวระหว่างปี ค.ศ. 2013–2016 ยังเห็นได้ว่าการใช้ไฟฟ้าสูงสุดและต่ำสุดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น

ภาพที่ 1 ค่ามัธยฐานการใช้ไฟฟ้า และอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือน

ค่ามัธยฐานการใช้ไฟฟ้า และอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือน

ที่มา: ฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือน กฟภ.; กรมอุตุนิยมวิทยา; คำนวณโดยผู้วิจัย

นอกจากผลของอุณหภูมิแล้ว ระดับรายได้เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งต่อระดับการใช้ไฟฟ้า โดยครัวเรือนที่มีรายได้สูงสามารถถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทฟุ่มเฟือยได้มากกว่าและมีการใช้งานมากกว่าครัวเรือนรายได้ต่ำ ตารางที่ 1 แสดงสถิติจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยชี้ให้เห็นว่า การถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำน้ำอุ่น มีอัตราสูงขึ้นตามระดับรายได้ ซึ่งวัดตามควินไทล์ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนต่อเดือน

ตารางที่ 1 อัตราการถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าสูง ตามระดับรายจ่ายต่อคนต่อครัวเรือน ปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557)

อัตราการถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าสูง ตามระดับรายจ่ายต่อคนต่อครัวเรือน ปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557)

ที่มา: ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ; คำนวณโดยผู้วิจัย

ภาพที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างรายจ่ายครัวเรือน และปริมาณการใช้ไฟฟ้ารายเดือน เฉลี่ยรายจังหวัดระหว่างปี ค.ศ. 2013–2015 โดยจะเห็นได้ว่าการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับรายจ่ายครัวเรือนที่สูงขึ้น และมีสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์ (correlation) อยู่ที่ร้อยละ 82 ความสัมพันธ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าข้อมูลระดับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนสามารถใช้เป็นข้อมูลเสริมหรือตัวแทน (proxy) การกระจายตัวของรายได้ครัวเรือนได้

ภาพที่ 2 รายจ่ายครัวเรือน ปริมาณการใช้ไฟฟ้ารายเดือน

รายจ่ายครัวเรือน ปริมาณการใช้ไฟฟ้ารายเดือน

ที่มา: ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ; ฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือน กฟภ.; คำนวณโดยผู้วิจัย

ข้อเท็จจริง 2: ในเขตเมืองที่ประชากรหนาแน่น มีการใช้ไฟฟ้าโดยรวมสูงกว่านอกเขตเมืองอย่างเห็นได้ชัด และบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการใช้ไฟฟ้าต่อมิเตอร์สูงที่สุด

ในการวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้าโดยแยกตามพื้นที่รหัสไปรษณีย์ พบว่าการใช้ไฟฟ้าโดยรวมมีระดับสูงที่สุดในเขตอำเภอเมืองของทุกจังหวัด และสูงกว่าในเขตรหัสไปรษณีย์อื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด (ภาพที่ 3 ซ้าย) ซึ่งสอดคล้องกับการที่เขตเมืองมีครัวเรือนอาศัยอยู่หนาแน่นกว่า และมีระดับรายได้เฉลี่ยสูงกว่าเขตอื่น ๆ

เมื่อวิเคราะห์ค่ามัธยฐานของการใช้ไฟฟ้ารายมิเตอร์เพื่อตัดผลของความหนาแน่นของประชากรออกไป จะเห็นภาพที่แตกต่างไปเล็กน้อย โดยเขตอำเภอเมืองของจังหวัดที่มีทางหลวงเส้นหลักตัดผ่าน (เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี) เขตจังหวัดรอบกรุงเทพฯ และบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก มีการใช้ไฟฟ้าต่อมิเตอร์สูงกว่าบริเวณอื่น ๆ ซึ่งอาจสะท้อนว่ามีครัวเรือนรายได้สูงอาศัยอยู่มากเนื่องจากความเจริญทางเศรษฐกิจและความสะดวกในการคมนาคม (ภาพที่ 3 ขวา)

ภาพที่ 3 การใช้ไฟฟ้าตามเขตพื้นที่รหัสไปรษณีย์

การใช้ไฟฟ้าตามเขตพื้นที่รหัสไปรษณีย์

ที่มา: ฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือน กฟภ.; คำนวณโดยผู้วิจัย

โดยตารางที่ 2 ระบุเขตรหัสไปรษณีย์ที่มีค่ามัธยฐานของการใช้ไฟฟ้ารายมิเตอร์สูงที่สุด 7 อันดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ยกเว้นเขตรหัสไปรษณีย์ 12150 และ 12130 ซึ่งเป็นเขตจังหวัดปทุมธานีที่มีขอบเขตติดกับทางเหนือของกรุงเทพฯ และมีหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่จำนวนมาก ข้อมูลจากตารางที่ 2 นี้เอง บ่งชี้ความเป็นไปได้ว่าอาจมีกิจการให้บริการที่พักนักท่องเที่ยว ที่มิได้จดทะเบียนเป็นธุรกิจ แฝงอยู่กับมิเตอร์ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยด้วย

ตารางที่ 2 เขตรหัสไปรษณีย์ที่มีค่ามัธยฐานของการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยสูงที่สุด

เขตรหัสไปรษณีย์ที่มีค่ามัธยฐานของการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยสูงที่สุด

ที่มา: ฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือน กฟภ.; คำนวณโดยผู้วิจัย

ข้อเท็จจริง 3: ความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเขตเมืองและแหล่งท่องเที่ยว มีความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุด

ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น ว่าข้อมูลไฟฟ้าสามารถใช้เป็นตัวแทนที่บ่งบอกการกระจายตัวของรายได้ครัวเรือนได้ ดังนั้นความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้าจึงสามารถใช้เป็นตัวแทนเพื่อบ่งบอกความเหลื่อมล้ำของรายได้ครัวเรือนได้เช่นกัน ซึ่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือนในเขต กฟภ. เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) พบว่ามิเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดร้อยละ 10 ใช้ไฟฟ้ารวมกันถึงร้อยละ 40 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในเขต กฟภ.

Apaitan and Wibulpolprasert (2018) ทำการคำนวณตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำโดยใช้สัดส่วนระหว่างการใช้ไฟฟ้าของมิเตอร์ที่ 90 เปอร์เซ็นไทล์และการใช้ไฟฟ้าของมิเตอร์ที่ 10 เปอร์เซ็นไทล์ เมื่อดูแนวโน้มความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศ จะเห็นได้จากภาพที่ 4 ด้านล่างว่าความเหลื่อมล้ำมีการเคลื่อนไหวตามฤดูกาล โดยความเหลื่อมล้ำจะสูงที่สุดในฤดูร้อน และต่ำที่สุดในฤดูหนาว ซึ่งความมีฤดูกาล (seasonality) ของความเหลื่อมล้ำนี้เอง สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนถึงความเหลื่อมล้ำในการถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน เพราะครัวเรือนรายได้สูงมักถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องปรับอากาศ มากกว่า และจะมีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้สูงขึ้นในฤดูร้อน จึงทำให้ระดับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนรายได้สูงแตกต่างจากครัวเรือนรายได้ต่ำอย่างชัดเจนในฤดูร้อนของทุกปี

นอกจากความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้าจะแสดงความเป็นฤดูกาลภายในแต่ละปีแล้ว ยังมีแนวโน้มระยะยาวที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งบ่งชี้ถึงความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ภาพที่ 4 ความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้ารายเดือนของครัวเรือนในเขต กฟภ.

ความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้ารายเดือนของครัวเรือนในเขต กฟภ.

ที่มา: ฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือน กฟภ.; คำนวณโดยผู้วิจัย

เมื่อพิจารณาความเหลื่อมล้ำของการใช้ไฟฟ้าในรายพื้นที่ ภาพที่ 5 แสดงระดับตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำในแต่ละเขตรหัสไปรษณีย์ ซึ่งให้ภาพที่คล้ายกับภาพมัธยฐานของการใช้ไฟฟ้ารายเขตรหัสไปรษณีย์ (ภาพที่ 3) โดยความเหลื่อมล้ำจะสูงที่สุดในเขตอำเภอเมืองของเกือบทุกจังหวัด

ภาพที่ 5 ความเหลื่อมล้ำของการใช้ไฟฟ้ารายพื้นที่

ความเหลื่อมล้ำของการใช้ไฟฟ้ารายพื้นที่

ที่มา: ฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือน กฟภ.; คำนวณโดยผู้วิจัย

โดยสรุป จากการวิเคราะห์ในสองส่วนที่ผ่านมายืนยันว่าข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายมิเตอร์ สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดระดับรายได้และการกระจายตัวของรายได้ครัวเรือนในรายพื้นที่ได้ โดยมีข้อยกเว้นคือพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งอาจมีธุรกิจที่พักนักท่องเที่ยวแฝงอยู่กับมิเตอร์ครัวเรือน

อนึ่ง การศึกษาข้อมูลของประเทศพัฒนาแล้ว อาทิเช่น Mirnezami (2014) และ Jacobson et al. (2005) พบว่าความเหลื่อมล้ำที่วัดได้จากข้อมูลการใช้ไฟฟ้า อาจต่ำกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่แท้จริง เนื่องจากการใช้ไฟฟ้ามีลักษณะของ diminishing marginal utility ทำให้การถือครองและการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าฟุ่มเฟือย เพิ่มขึ้นไม่เร็วเท่ากับการเพิ่มขึ้นของรายได้ นอกจากนี้ครัวเรือนที่รายได้สูงยังมีการลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ทำให้การใช้ไฟฟ้าไม่เพิ่มขึ้นมากอีกด้วย

ข้อเท็จจริง 4: ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ ชำระค่าไฟฟ้าผ่านจุดบริการรับชำระเงินของ กฟภ. และตัวแทน ในขณะที่การชำระค่าไฟฟ้าผ่านบัตรเครดิตและตัดบัญชี แพร่หลายเฉพาะพื้นที่ที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยค่อนข้างสูง

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการจากฐานข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า คือวิธีการชำระค่าไฟฟ้าของแต่ละมิเตอร์ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) พบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของ กฟภ. ยังคงนิยมชำระค่าไฟฟ้าผ่านจุดรับบริการชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นจุดบริการที่ดำเนินการโดย กฟภ. (ฟรี) และที่ดำเนินการโดยตัวแทน (คิดค่าธรรมเนียม เช่น เคาน์เตอร์เซอร์วิส ไปรษณีย์ไทย บิ๊กซี เทสโกโลตัส ธนาคารต่าง ๆ) โดยพื้นที่ที่เป็นข้อยกเว้น ได้แก่บริเวณที่เป็นเขตชนบททุรกันดาร เช่น แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน สกลนคร นครพนม และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จ่ายค่าไฟฟ้าโดยตรงให้แก่เจ้าหน้าที่จดหน่วย ซึ่งเป็นตัวแทนของ กฟภ. ในการจดหน่วยและเก็บค่าไฟฟ้า (ภาพที่ 6)

ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ว่า กฟภ. จะเริ่มให้บริการรับชำระค่าไฟฟ้าผ่านบัตรเครดิต และหักบัญชีธนาคาร (ซึ่งไม่มีค่าธรรมเนียม) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 แต่การชำระค่าไฟฟ้าด้วยวิธีดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เนื่องจากการชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าว มีต้นทุนในการดำเนินการ (transaction cost) สูง เพราะผู้ใช้ไฟฟ้าต้องมีบัญชีธนาคารหรือบัญชีบัตรเครดิต รวมถึงต้องไปยื่นเรื่องชำระค่าไฟฟ้ากับผู้ให้บริการบัตรเครดิตและธนาคารอีกด้วย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า วิธีการชำระค่าไฟฟ้าผ่านบัตรเครดิตและการหักบัญชี จะแพร่หลายเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้ามาก (ครัวเรือนรายได้สูง) เท่านั้น โดยภาพที่ 7 แสดงสัดส่วนการชำระค่าไฟฟ้าด้วยวิธีต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีค่าไฟฟ้ารายเดือนแต่ละช่วง

ภาพที่ 6 ร้อยละของมิเตอร์ที่ชำระค่าไฟฟ้าด้วยวิธีต่าง ๆ

ร้อยละของมิเตอร์ที่ชำระค่าไฟฟ้าด้วยวิธีต่าง ๆ

ที่มา: ฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือน กฟภ.; คำนวณโดยผู้วิจัย
ภาพที่ 7 ร้อยละของมิเตอร์ที่ชำระค่าไฟฟ้าด้วยวิธีต่าง ๆ และค่าไฟฟ้าเฉลี่ย

ร้อยละของมิเตอร์ที่ชำระค่าไฟฟ้าด้วยวิธีต่าง ๆ และค่าไฟฟ้าเฉลี่ย

ที่มา: ฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือน กฟภ.; คำนวณโดยผู้วิจัยหมายเหตุ: “No charge” หมายถึงมิเตอร์ที่ไม่มีการเก็บค่าไฟฟ้า จากมาตรการช่วยเหลือทหารผ่านศึกกับครอบครัว “Credit card” หมายถึงมิเตอร์ที่ชำระเงินผ่านเครดิตการ์ด “Group billing” หมายถึงมิเตอร์ที่จ่ายค่าไฟฟ้ารวมกันเป็นบิลเดียว (แต่รายละเอียดว่าจ่ายโดยวิธีใดไม่เป็นที่แน่ชัด) “Bank transfer” หมายถึงมิเตอร์ที่ชำระเงินผ่านการหักบัญชีธนาคาร “Representative” หมายถึงมิเตอร์ที่ชำระเงินโดยตรงให้แก่เจ้าหน้าที่จดหน่วยของการไฟฟ้าฯ “Counter service” หมายถึงมิเตอร์ที่ชำระเงินโดยผ่านจุดบริการชำระเงินของการไฟฟ้า ฯ

ข้อเท็จจริง 5: การใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนมีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ โดยครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามาก (รายได้สูง) มีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำกว่าครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อย (รายได้น้อย)

พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนในเขต กฟภ. บ่งชี้ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าบางกลุ่ม มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับค่าไฟฟ้าและมีการปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดย Apaitan and Wibulpolprasert (2018) ได้นำเสนอหลักฐานการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าใน 2 ส่วน

ส่วนแรกคือ การวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทมิเตอร์ขนาดเล็ก (5(15) แอมแปร์) ที่มีสิทธิได้รับการยกเว้นค่าไฟฟ้าจากมาตรการไฟฟ้าหากใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 50 หน่วยต่อเดือน2 ซึ่งมาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่ใช้เกณฑ์ 50 หน่วยเป็นตัวคัดกรองนั้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสำหรับ 50 หน่วยแรก และค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่ 51 มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยการใช้ไฟฟ้า 50 หน่วยแรกจะมีต้นทุนส่วนเพิ่มเป็นศูนย์ ในขณะที่การเพิ่มการใช้ไฟฟ้าจาก 50 หน่วยเป็น 51 หน่วย จะมีต้นทุนส่วนเพิ่มเท่ากับ 128 บาท (เท่ากับค่าไฟฟ้าของ 51 หน่วยแรก)

แรงจูงใจทางการเงินดังกล่าวนี้เอง ส่งผลให้มิเตอร์ประเภทครัวเรือนที่มีสิทธิได้รับการยกเว้นค่าไฟฟ้าตอบสนองโดยการลดการใช้ไฟฟ้าลงให้เหลือเพียง 49–50 หน่วยต่อเดือน ซึ่งภาพที่ 8 แสดงตัวอย่าง histogram ของหน่วยไฟฟ้าที่ครัวเรือนเหล่านี้ใช้ระหว่างปี ค.ศ. 2014–2015 (พ.ศ. 2557–2558) โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่าจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้ามีการกระจุกตัว (bunch) ที่หน่วยไฟฟ้าที่ 49–50 มากกว่าหน่วยไฟฟ้าอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าที่หน่วยที่ 51–52 ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน (missing mass)

Apaitan et al. (2018) ทำการประมาณค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ของไฟฟ้าต่อราคา โดยใช้พฤติกรรมการกระจุกตัวดังกล่าวของครัวเรือนที่มีมิเตอร์เล็ก และพบว่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคามีค่าไม่เกิน –0.1 ซึ่งหมายความว่า การใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยจะลดลงไม่เกิน 0.1% เมื่อราคาต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 1% สำหรับครัวเรือนที่มีมิเตอร์เล็ก

ภาพที่ 8 การกระจายตัวของหน่วยไฟฟ้า สำหรับมิเตอร์ขนาดเล็กที่มีสิทธิได้รับยกเว้นค่าไฟฟ้า

การกระจายตัวของหน่วยไฟฟ้า สำหรับมิเตอร์ขนาดเล็กที่มีสิทธิได้รับยกเว้นค่าไฟฟ้า

ที่มา: ฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือน กฟภ.; คำนวณโดยผู้วิจัย

การวิเคราะห์ในส่วนที่สอง เป็นการประมาณค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (ft) และอุณหภูมิ สำหรับครัวเรือนที่มีมิเตอร์ขนาดใหญ่โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติ การใช้ราคาไฟฟ้าผันแปร (ft) ในการประมาณความยืดหยุ่นต่อราคามีข้อดีคือราคา ft มีการปรับเปลี่ยนทุก ๆ 4 เดือนเพื่อให้สะท้อนต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากการคาดการณ์ ดังนั้นราคา ft จึงเป็นตัวแปรด้านราคาที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอก (exogenous) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์ของไฟฟ้า (demand shocks) จึงทำให้ค่าความยืดหยุ่นที่ได้ไม่ถูกบิดเบือน (unbiased) โดยผู้วิจัยพบค่าเฉลี่ยความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาสำหรับมิเตอร์ขนาดใหญ่อยู่ที่ -0.08

เมื่อแยกประมาณความยืดหยุ่นของอุปสงค์ตามระดับควอนไทล์ของรายจ่ายครัวเรือน ผู้วิจัยพบว่าจังหวัดที่มีรายจ่ายครัวเรือนสูงจะมีความอ่อนไหวต่อราคาน้อย แต่มีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิในระดับที่สูงเมื่อเทียบกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าครัวเรือนรายได้สูงมีความเต็มใจที่จะจ่ายค่าไฟฟ้าเพื่อความสะดวกสบายโดยไม่สนใจราคาไฟฟ้ามากเท่ากับครัวเรือนรายได้ต่ำ ซึ่งข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับข้อค้นพบในการศึกษาต่างประเทศหลายชิ้น เช่น Alberini et al. (2011) California Public Utilities Commission (2012) และ Reiss and White (2005)

ภาพที่ 9 ซ้าย แสดงความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาไฟฟ้าผันแปร และภาพที่ 9 ขวา แสดงความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่ออุณหภูมิ ตามระดับควอนไทล์ของรายจ่ายครัวเรือน ซึ่งแบ่งโดยใช้รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยของแต่ละจังหวัด

ภาพที่ 9 ความยืดหยุ่นของการใช้ไฟฟ้าต่อราคาและอุณหภูมิ

ความยืดหยุ่นของการใช้ไฟฟ้าต่อราคาและอุณหภูมิ

ที่มา: ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ; ฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือน กฟภ.; คำนวณโดยผู้วิจัย

สรุปและนัยเชิงนโยบาย

บทความนี้นำเสนอตัวอย่างการใช้งานข้อมูลไฟฟ้ารายมิเตอร์ โดยเน้นที่ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าครัวเรือนในเขต กฟภ. ซึ่งประกอบด้วยมิเตอร์ไฟฟ้ากว่า 15 ล้านมิเตอร์ จุดเด่นของข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายมิเตอร์ คือมีความละเอียดสูงในเชิงพื้นที่ และสามารถสะท้อนพฤติกรรมที่แท้จริงได้ เพราะมิใช่ข้อมูลจากการสำรวจหรือบอกเล่าโดยครัวเรือน จึงมีความครบถ้วนและแม่นยำสูง อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดหลักของฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้า มีวัตถุประสงค์เพื่อการบันทึกการจ่ายเงินค่าไฟฟ้าเป็นหลัก จึงไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของผู้ใช้ไฟฟ้า นอกเหนือไปจากที่อยู่ของมิเตอร์ไฟฟ้า

โดยสรุป จะเห็นได้ว่า นอกจากข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจะให้ภาพเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังใช้เป็นข้อมูลเสริมเพื่อบ่งชี้ระดับรายได้และความเหลื่อมล้ำของรายได้ครัวเรือน รวมไปถึงพฤติกรรมการชำระเงินได้อีกด้วย ข้อเท็จจริงที่พบจากข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนในเขต กฟภ. ข้างต้นมีนัยเชิงนโยบายที่สำคัญในด้านต่อไปนี้

ด้านความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้

ผู้กำหนดนโยบายและภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะในฤดูร้อน เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สะท้อนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของครัวเรือนที่มีความละเอียดสูงได้ โดยข้อเท็จจริงส่วนนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง

ด้านพฤติกรรมการชำระค่าสาธารณูปโภค

ข้อค้นพบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังนิยมชำระค่าไฟฟ้าผ่านจุดบริการชำระเงินและเสียค่าธรรมเนียมการชำระเงิน แม้ว่าจะสามารถชำระผ่านบัตรเครดิตและบัญชีธนาคารได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ชี้ให้เห็นถึงต้นทุนในการดำเนินการ (transaction cost) ที่สูง และการไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของหลายครัวเรือน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวน่าจะเป็นจริงสำหรับการชำระค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ ด้วย (เช่น ค่าประปา ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ) ดังนั้น การเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถชำระค่าบริการต่าง ๆ ผ่าน application บนโทรศัพท์มือถือซึ่งไม่ต้องอาศัยบัญชีธนาคารและมีต้นทุนดำเนินการที่ต่ำ เป็นการช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของครัวเรือนไทยได้เป็นอย่างดี

ด้านนโยบายพลังงาน

ข้อเท็จจริงที่ว่าการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในภาคครัวเรือนมาจากครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามาก ซึ่งมักมีรายได้เฉลี่ยสูงและมีความอ่อนไหวสูงต่ออุณหภูมิที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต หมายความว่ามาตรการอนุรักษ์พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคครัวเรือนควรพุ่งเป้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักคือการที่ครัวเรือนในกลุ่มนี้มีความอ่อนไหวต่อราคาต่ำ ดังนั้น กลไกทางด้านราคาเพื่อจูงใจให้ครัวเรือนประหยัดพลังงานอาจไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ผู้กำหนดนโยบายจึงควรพิจารณามาตรการอื่น ๆ เช่น การสร้างแรงจูงใจทางสังคมและมาตรการทางจิตวิทยา เป็นทางเลือกด้วย

เอกสารอ้างอิง

Alberini, A., Gans, W., and Velez-Lopez, D. (2011): “Residential consumption of gas and electricity in the U.S.: The role of prices and income.” Energy Econ. 33, 870–881. https://doi.org/10.1016/J.ENECO.2011.01.015

Apaitan, T., Tosborvorn, T. and Wibulpolprasert, W. (2018): “Bunching for Free Electricity.”, PIER Discussion Paper (forthcoming).

Apaitan, T. and Wibulpolprasert, W. (2018): “Stylized Facts on Thailand’s Residential Electricity Consumption”, PIER Discussion Paper (forthcoming).

California Public Utilities Commission (2012): Electricity Use and Income: A Review.

Jacobson, A., Milman, A.D. and Kammen, D.M. (2005): “Letting the (energy) Gini out of the bottle: Lorenz curves of cumulative electricity consumption and Gini coefficients as metrics of energy distribution and equity.” Energy Policy 33, 1825–1832. https://doi.org/10.1016/j.enpol.2004.02.017

Mirnezami, S.R. (2014): “Electricity inequality in Canada: Should pricing reforms eliminate subsidies to encourage efficient usage? Util.” Policy 31, 36–43. https://doi.org/10.1016/J.JUP.2014.08.001

Reiss, P.C., White, M.W. (2005): “Household Electricity Demand, Revisited.” Rev. Econ. Stud. 72, 853–883. https://doi.org/10.1111/0034-6527.00354


  1. การศึกษาชิ้นนี้มิได้รวมข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล จากข้อจำกัดของข้อมูลดังกล่าว ทำให้พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่นำเสนอในบทความชิ้นนี้ อาจไม่สะท้อนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในเขตเมืองได้มากเท่าที่ควร↩
  2. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป มาตรการได้เพิ่มเงื่อนไขว่าผู้ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี จะต้องเป็นมิเตอร์เล็ก ไม่ใช่นิติบุคคล และต้องใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 50 หน่วยติดต่อกันมาอย่างน้อย 3 เดือนอีกด้วย↩
วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ
วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ทศพล อภัยทาน
ทศพล อภัยทาน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Topics: Development Economics
Tags: electricity tariffenergy policyinequalityutility policywealth distributionpayment
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email