ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนไทย จากฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
excerpt
บทความนี้นำเสนอตัวอย่างการใช้งานข้อมูลไฟฟ้ารายมิเตอร์ โดยเน้นที่ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าครัวเรือนในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งประกอบด้วยมิเตอร์ไฟฟ้ากว่า 16 ล้านมิเตอร์ จึงมีความละเอียดสูงในเชิงพื้นที่และสามารถสะท้อนพฤติกรรมที่แท้จริงได้ โดยผู้วิจัยพบว่า นอกจากข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจะให้ภาพเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลเสริมเพื่อบ่งชี้ระดับรายได้และความเหลื่อมล้ำของรายได้ครัวเรือน รวมไปถึงพฤติกรรมการชำระเงินได้อีกด้วย
ในโลกยุคดิจิทัล ไฟฟ้าแทบจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตเลยทีเดียว เพราะชีวิตของเราต้องพึ่งพาพลังงานจากไฟฟ้าแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่การให้แสงสว่าง การทำความเย็น การประกอบอาหาร การเดินทาง รวมไปถึงการติดต่อสื่อสารผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ดังนั้น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า จึงเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถเจาะลึกไปถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า และความเป็นอยู่ของทุกครัวเรือนไทย ที่นอกจากจะมีความสำคัญโดยตรงต่อธุรกิจไฟฟ้าแล้ว ข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้ายังมีประโยชน์ในแง่ของการกำหนดนโยบายต่าง ๆ อีกด้วย
บทความชิ้นนี้ สรุปผลการศึกษาของ Apaitan and Wibulpolprasert (2018) ซึ่งทำการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือนของผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทย ยกเว้นเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการและนนทบุรี ที่เป็นเขตรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง1 โดยข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ประกอบด้วยการใช้ไฟฟ้ารายเดือนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือนทั้งหมดในเขต กฟภ. ระหว่างปี ค.ศ. 2013–2016 ประกอบด้วยมิเตอร์ไฟฟ้าประมาณ 15–16 ล้านมิเตอร์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เนื่องจากฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือน มีไว้เพื่อจุดประสงค์ของการคำนวณค่าไฟฟ้าในธุรกิจของ กฟภ. ดังนั้น ตัวแปรและข้อมูลส่วนที่มีความครบถ้วนและเที่ยงตรงที่สุดซึ่งถูกใช้ในการวิเคราะห์ คือ ที่อยู่ของมิเตอร์ ขนาดของมิเตอร์ หน่วยไฟฟ้าที่ใช้ ค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน รวมถึงวิธีการชำระค่าไฟฟ้าของแต่ละมิเตอร์ โดยการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าครัวเรือนดังกล่าว สามารถระบุข้อเท็จจริง (stylized facts) ของการใช้ไฟฟ้าได้ ดังนี้
โดยเฉลี่ย ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือนในเขต กฟภ. ใช้ไฟฟ้าประมาณ 90–140 หน่วยต่อเดือน (หรือเท่ากับ 3–4 หน่วยต่อวัน) และเทียบเท่ากับค่าไฟฟ้าประมาณ 253–414 บาทต่อเดือน
ปัจจัยสำคัญประการแรกที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าคือ ระดับอุณหภูมิ โดยจะเห็นได้ชัดจากภาพที่ 1 ว่าภายในช่วงเวลาของแต่ละปี การใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นและลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละเดือน นอกจากนี้ เมื่อดูแนวโน้มระยะยาวระหว่างปี ค.ศ. 2013–2016 ยังเห็นได้ว่าการใช้ไฟฟ้าสูงสุดและต่ำสุดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากผลของอุณหภูมิแล้ว ระดับรายได้เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งต่อระดับการใช้ไฟฟ้า โดยครัวเรือนที่มีรายได้สูงสามารถถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทฟุ่มเฟือยได้มากกว่าและมีการใช้งานมากกว่าครัวเรือนรายได้ต่ำ ตารางที่ 1 แสดงสถิติจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยชี้ให้เห็นว่า การถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำน้ำอุ่น มีอัตราสูงขึ้นตามระดับรายได้ ซึ่งวัดตามควินไทล์ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนต่อเดือน
ภาพที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างรายจ่ายครัวเรือน และปริมาณการใช้ไฟฟ้ารายเดือน เฉลี่ยรายจังหวัดระหว่างปี ค.ศ. 2013–2015 โดยจะเห็นได้ว่าการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับรายจ่ายครัวเรือนที่สูงขึ้น และมีสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์ (correlation) อยู่ที่ร้อยละ 82 ความสัมพันธ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าข้อมูลระดับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนสามารถใช้เป็นข้อมูลเสริมหรือตัวแทน (proxy) การกระจายตัวของรายได้ครัวเรือนได้
ข้อเท็จจริง 2: ในเขตเมืองที่ประชากรหนาแน่น มีการใช้ไฟฟ้าโดยรวมสูงกว่านอกเขตเมืองอย่างเห็นได้ชัด และบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการใช้ไฟฟ้าต่อมิเตอร์สูงที่สุด
ในการวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้าโดยแยกตามพื้นที่รหัสไปรษณีย์ พบว่าการใช้ไฟฟ้าโดยรวมมีระดับสูงที่สุดในเขตอำเภอเมืองของทุกจังหวัด และสูงกว่าในเขตรหัสไปรษณีย์อื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด (ภาพที่ 3 ซ้าย) ซึ่งสอดคล้องกับการที่เขตเมืองมีครัวเรือนอาศัยอยู่หนาแน่นกว่า และมีระดับรายได้เฉลี่ยสูงกว่าเขตอื่น ๆ
เมื่อวิเคราะห์ค่ามัธยฐานของการใช้ไฟฟ้ารายมิเตอร์เพื่อตัดผลของความหนาแน่นของประชากรออกไป จะเห็นภาพที่แตกต่างไปเล็กน้อย โดยเขตอำเภอเมืองของจังหวัดที่มีทางหลวงเส้นหลักตัดผ่าน (เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี) เขตจังหวัดรอบกรุงเทพฯ และบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก มีการใช้ไฟฟ้าต่อมิเตอร์สูงกว่าบริเวณอื่น ๆ ซึ่งอาจสะท้อนว่ามีครัวเรือนรายได้สูงอาศัยอยู่มากเนื่องจากความเจริญทางเศรษฐกิจและความสะดวกในการคมนาคม (ภาพที่ 3 ขวา)
โดยตารางที่ 2 ระบุเขตรหัสไปรษณีย์ที่มีค่ามัธยฐานของการใช้ไฟฟ้ารายมิเตอร์สูงที่สุด 7 อันดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ยกเว้นเขตรหัสไปรษณีย์ 12150 และ 12130 ซึ่งเป็นเขตจังหวัดปทุมธานีที่มีขอบเขตติดกับทางเหนือของกรุงเทพฯ และมีหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่จำนวนมาก ข้อมูลจากตารางที่ 2 นี้เอง บ่งชี้ความเป็นไปได้ว่าอาจมีกิจการให้บริการที่พักนักท่องเที่ยว ที่มิได้จดทะเบียนเป็นธุรกิจ แฝงอยู่กับมิเตอร์ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยด้วย
ข้อเท็จจริง 3: ความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเขตเมืองและแหล่งท่องเที่ยว มีความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุด
ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น ว่าข้อมูลไฟฟ้าสามารถใช้เป็นตัวแทนที่บ่งบอกการกระจายตัวของรายได้ครัวเรือนได้ ดังนั้นความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้าจึงสามารถใช้เป็นตัวแทนเพื่อบ่งบอกความเหลื่อมล้ำของรายได้ครัวเรือนได้เช่นกัน ซึ่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือนในเขต กฟภ. เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) พบว่ามิเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดร้อยละ 10 ใช้ไฟฟ้ารวมกันถึงร้อยละ 40 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในเขต กฟภ.
Apaitan and Wibulpolprasert (2018) ทำการคำนวณตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำโดยใช้สัดส่วนระหว่างการใช้ไฟฟ้าของมิเตอร์ที่ 90 เปอร์เซ็นไทล์และการใช้ไฟฟ้าของมิเตอร์ที่ 10 เปอร์เซ็นไทล์ เมื่อดูแนวโน้มความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศ จะเห็นได้จากภาพที่ 4 ด้านล่างว่าความเหลื่อมล้ำมีการเคลื่อนไหวตามฤดูกาล โดยความเหลื่อมล้ำจะสูงที่สุดในฤดูร้อน และต่ำที่สุดในฤดูหนาว ซึ่งความมีฤดูกาล (seasonality) ของความเหลื่อมล้ำนี้เอง สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนถึงความเหลื่อมล้ำในการถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน เพราะครัวเรือนรายได้สูงมักถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องปรับอากาศ มากกว่า และจะมีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้สูงขึ้นในฤดูร้อน จึงทำให้ระดับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนรายได้สูงแตกต่างจากครัวเรือนรายได้ต่ำอย่างชัดเจนในฤดูร้อนของทุกปี
นอกจากความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้าจะแสดงความเป็นฤดูกาลภายในแต่ละปีแล้ว ยังมีแนวโน้มระยะยาวที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งบ่งชี้ถึงความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่สูงขึ้นตามไปด้วย
เมื่อพิจารณาความเหลื่อมล้ำของการใช้ไฟฟ้าในรายพื้นที่ ภาพที่ 5 แสดงระดับตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำในแต่ละเขตรหัสไปรษณีย์ ซึ่งให้ภาพที่คล้ายกับภาพมัธยฐานของการใช้ไฟฟ้ารายเขตรหัสไปรษณีย์ (ภาพที่ 3) โดยความเหลื่อมล้ำจะสูงที่สุดในเขตอำเภอเมืองของเกือบทุกจังหวัด
โดยสรุป จากการวิเคราะห์ในสองส่วนที่ผ่านมายืนยันว่าข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายมิเตอร์ สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดระดับรายได้และการกระจายตัวของรายได้ครัวเรือนในรายพื้นที่ได้ โดยมีข้อยกเว้นคือพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งอาจมีธุรกิจที่พักนักท่องเที่ยวแฝงอยู่กับมิเตอร์ครัวเรือน
อนึ่ง การศึกษาข้อมูลของประเทศพัฒนาแล้ว อาทิเช่น Mirnezami (2014) และ Jacobson et al. (2005) พบว่าความเหลื่อมล้ำที่วัดได้จากข้อมูลการใช้ไฟฟ้า อาจต่ำกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่แท้จริง เนื่องจากการใช้ไฟฟ้ามีลักษณะของ diminishing marginal utility ทำให้การถือครองและการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าฟุ่มเฟือย เพิ่มขึ้นไม่เร็วเท่ากับการเพิ่มขึ้นของรายได้ นอกจากนี้ครัวเรือนที่รายได้สูงยังมีการลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ทำให้การใช้ไฟฟ้าไม่เพิ่มขึ้นมากอีกด้วย
ข้อเท็จจริง 4: ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ ชำระค่าไฟฟ้าผ่านจุดบริการรับชำระเงินของ กฟภ. และตัวแทน ในขณะที่การชำระค่าไฟฟ้าผ่านบัตรเครดิตและตัดบัญชี แพร่หลายเฉพาะพื้นที่ที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยค่อนข้างสูง
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการจากฐานข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า คือวิธีการชำระค่าไฟฟ้าของแต่ละมิเตอร์ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) พบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของ กฟภ. ยังคงนิยมชำระค่าไฟฟ้าผ่านจุดรับบริการชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นจุดบริการที่ดำเนินการโดย กฟภ. (ฟรี) และที่ดำเนินการโดยตัวแทน (คิดค่าธรรมเนียม เช่น เคาน์เตอร์เซอร์วิส ไปรษณีย์ไทย บิ๊กซี เทสโกโลตัส ธนาคารต่าง ๆ) โดยพื้นที่ที่เป็นข้อยกเว้น ได้แก่บริเวณที่เป็นเขตชนบททุรกันดาร เช่น แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน สกลนคร นครพนม และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จ่ายค่าไฟฟ้าโดยตรงให้แก่เจ้าหน้าที่จดหน่วย ซึ่งเป็นตัวแทนของ กฟภ. ในการจดหน่วยและเก็บค่าไฟฟ้า (ภาพที่ 6)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ว่า กฟภ. จะเริ่มให้บริการรับชำระค่าไฟฟ้าผ่านบัตรเครดิต และหักบัญชีธนาคาร (ซึ่งไม่มีค่าธรรมเนียม) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 แต่การชำระค่าไฟฟ้าด้วยวิธีดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เนื่องจากการชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าว มีต้นทุนในการดำเนินการ (transaction cost) สูง เพราะผู้ใช้ไฟฟ้าต้องมีบัญชีธนาคารหรือบัญชีบัตรเครดิต รวมถึงต้องไปยื่นเรื่องชำระค่าไฟฟ้ากับผู้ให้บริการบัตรเครดิตและธนาคารอีกด้วย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า วิธีการชำระค่าไฟฟ้าผ่านบัตรเครดิตและการหักบัญชี จะแพร่หลายเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้ามาก (ครัวเรือนรายได้สูง) เท่านั้น โดยภาพที่ 7 แสดงสัดส่วนการชำระค่าไฟฟ้าด้วยวิธีต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีค่าไฟฟ้ารายเดือนแต่ละช่วง
ข้อเท็จจริง 5: การใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนมีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ โดยครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามาก (รายได้สูง) มีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำกว่าครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อย (รายได้น้อย)
พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนในเขต กฟภ. บ่งชี้ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าบางกลุ่ม มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับค่าไฟฟ้าและมีการปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดย Apaitan and Wibulpolprasert (2018) ได้นำเสนอหลักฐานการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าใน 2 ส่วน
ส่วนแรกคือ การวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทมิเตอร์ขนาดเล็ก (5(15) แอมแปร์) ที่มีสิทธิได้รับการยกเว้นค่าไฟฟ้าจากมาตรการไฟฟ้าหากใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 50 หน่วยต่อเดือน2 ซึ่งมาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่ใช้เกณฑ์ 50 หน่วยเป็นตัวคัดกรองนั้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสำหรับ 50 หน่วยแรก และค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่ 51 มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยการใช้ไฟฟ้า 50 หน่วยแรกจะมีต้นทุนส่วนเพิ่มเป็นศูนย์ ในขณะที่การเพิ่มการใช้ไฟฟ้าจาก 50 หน่วยเป็น 51 หน่วย จะมีต้นทุนส่วนเพิ่มเท่ากับ 128 บาท (เท่ากับค่าไฟฟ้าของ 51 หน่วยแรก)
แรงจูงใจทางการเงินดังกล่าวนี้เอง ส่งผลให้มิเตอร์ประเภทครัวเรือนที่มีสิทธิได้รับการยกเว้นค่าไฟฟ้าตอบสนองโดยการลดการใช้ไฟฟ้าลงให้เหลือเพียง 49–50 หน่วยต่อเดือน ซึ่งภาพที่ 8 แสดงตัวอย่าง histogram ของหน่วยไฟฟ้าที่ครัวเรือนเหล่านี้ใช้ระหว่างปี ค.ศ. 2014–2015 (พ.ศ. 2557–2558) โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่าจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้ามีการกระจุกตัว (bunch) ที่หน่วยไฟฟ้าที่ 49–50 มากกว่าหน่วยไฟฟ้าอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าที่หน่วยที่ 51–52 ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน (missing mass)
Apaitan et al. (2018) ทำการประมาณค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ของไฟฟ้าต่อราคา โดยใช้พฤติกรรมการกระจุกตัวดังกล่าวของครัวเรือนที่มีมิเตอร์เล็ก และพบว่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคามีค่าไม่เกิน –0.1 ซึ่งหมายความว่า การใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยจะลดลงไม่เกิน 0.1% เมื่อราคาต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 1% สำหรับครัวเรือนที่มีมิเตอร์เล็ก
การวิเคราะห์ในส่วนที่สอง เป็นการประมาณค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (ft) และอุณหภูมิ สำหรับครัวเรือนที่มีมิเตอร์ขนาดใหญ่โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติ การใช้ราคาไฟฟ้าผันแปร (ft) ในการประมาณความยืดหยุ่นต่อราคามีข้อดีคือราคา ft มีการปรับเปลี่ยนทุก ๆ 4 เดือนเพื่อให้สะท้อนต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากการคาดการณ์ ดังนั้นราคา ft จึงเป็นตัวแปรด้านราคาที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอก (exogenous) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์ของไฟฟ้า (demand shocks) จึงทำให้ค่าความยืดหยุ่นที่ได้ไม่ถูกบิดเบือน (unbiased) โดยผู้วิจัยพบค่าเฉลี่ยความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาสำหรับมิเตอร์ขนาดใหญ่อยู่ที่ -0.08
เมื่อแยกประมาณความยืดหยุ่นของอุปสงค์ตามระดับควอนไทล์ของรายจ่ายครัวเรือน ผู้วิจัยพบว่าจังหวัดที่มีรายจ่ายครัวเรือนสูงจะมีความอ่อนไหวต่อราคาน้อย แต่มีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิในระดับที่สูงเมื่อเทียบกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าครัวเรือนรายได้สูงมีความเต็มใจที่จะจ่ายค่าไฟฟ้าเพื่อความสะดวกสบายโดยไม่สนใจราคาไฟฟ้ามากเท่ากับครัวเรือนรายได้ต่ำ ซึ่งข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับข้อค้นพบในการศึกษาต่างประเทศหลายชิ้น เช่น Alberini et al. (2011) California Public Utilities Commission (2012) และ Reiss and White (2005)
ภาพที่ 9 ซ้าย แสดงความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาไฟฟ้าผันแปร และภาพที่ 9 ขวา แสดงความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่ออุณหภูมิ ตามระดับควอนไทล์ของรายจ่ายครัวเรือน ซึ่งแบ่งโดยใช้รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยของแต่ละจังหวัด
บทความนี้นำเสนอตัวอย่างการใช้งานข้อมูลไฟฟ้ารายมิเตอร์ โดยเน้นที่ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าครัวเรือนในเขต กฟภ. ซึ่งประกอบด้วยมิเตอร์ไฟฟ้ากว่า 15 ล้านมิเตอร์ จุดเด่นของข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายมิเตอร์ คือมีความละเอียดสูงในเชิงพื้นที่ และสามารถสะท้อนพฤติกรรมที่แท้จริงได้ เพราะมิใช่ข้อมูลจากการสำรวจหรือบอกเล่าโดยครัวเรือน จึงมีความครบถ้วนและแม่นยำสูง อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดหลักของฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้า มีวัตถุประสงค์เพื่อการบันทึกการจ่ายเงินค่าไฟฟ้าเป็นหลัก จึงไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของผู้ใช้ไฟฟ้า นอกเหนือไปจากที่อยู่ของมิเตอร์ไฟฟ้า
โดยสรุป จะเห็นได้ว่า นอกจากข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจะให้ภาพเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังใช้เป็นข้อมูลเสริมเพื่อบ่งชี้ระดับรายได้และความเหลื่อมล้ำของรายได้ครัวเรือน รวมไปถึงพฤติกรรมการชำระเงินได้อีกด้วย ข้อเท็จจริงที่พบจากข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนในเขต กฟภ. ข้างต้นมีนัยเชิงนโยบายที่สำคัญในด้านต่อไปนี้
ผู้กำหนดนโยบายและภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลความเหลื่อมล้ำในการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะในฤดูร้อน เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สะท้อนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของครัวเรือนที่มีความละเอียดสูงได้ โดยข้อเท็จจริงส่วนนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง
ข้อค้นพบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังนิยมชำระค่าไฟฟ้าผ่านจุดบริการชำระเงินและเสียค่าธรรมเนียมการชำระเงิน แม้ว่าจะสามารถชำระผ่านบัตรเครดิตและบัญชีธนาคารได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ชี้ให้เห็นถึงต้นทุนในการดำเนินการ (transaction cost) ที่สูง และการไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของหลายครัวเรือน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวน่าจะเป็นจริงสำหรับการชำระค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ ด้วย (เช่น ค่าประปา ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ) ดังนั้น การเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถชำระค่าบริการต่าง ๆ ผ่าน application บนโทรศัพท์มือถือซึ่งไม่ต้องอาศัยบัญชีธนาคารและมีต้นทุนดำเนินการที่ต่ำ เป็นการช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของครัวเรือนไทยได้เป็นอย่างดี
ข้อเท็จจริงที่ว่าการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในภาคครัวเรือนมาจากครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามาก ซึ่งมักมีรายได้เฉลี่ยสูงและมีความอ่อนไหวสูงต่ออุณหภูมิที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต หมายความว่ามาตรการอนุรักษ์พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคครัวเรือนควรพุ่งเป้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักคือการที่ครัวเรือนในกลุ่มนี้มีความอ่อนไหวต่อราคาต่ำ ดังนั้น กลไกทางด้านราคาเพื่อจูงใจให้ครัวเรือนประหยัดพลังงานอาจไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ผู้กำหนดนโยบายจึงควรพิจารณามาตรการอื่น ๆ เช่น การสร้างแรงจูงใจทางสังคมและมาตรการทางจิตวิทยา เป็นทางเลือกด้วย
Alberini, A., Gans, W., and Velez-Lopez, D. (2011): “Residential consumption of gas and electricity in the U.S.: The role of prices and income.” Energy Econ. 33, 870–881. https://doi.org/10.1016/J.ENECO.2011.01.015
Apaitan, T., Tosborvorn, T. and Wibulpolprasert, W. (2018): “Bunching for Free Electricity.”, PIER Discussion Paper (forthcoming).
Apaitan, T. and Wibulpolprasert, W. (2018): “Stylized Facts on Thailand’s Residential Electricity Consumption”, PIER Discussion Paper (forthcoming).
California Public Utilities Commission (2012): Electricity Use and Income: A Review.
Jacobson, A., Milman, A.D. and Kammen, D.M. (2005): “Letting the (energy) Gini out of the bottle: Lorenz curves of cumulative electricity consumption and Gini coefficients as metrics of energy distribution and equity.” Energy Policy 33, 1825–1832. https://doi.org/10.1016/j.enpol.2004.02.017
Mirnezami, S.R. (2014): “Electricity inequality in Canada: Should pricing reforms eliminate subsidies to encourage efficient usage? Util.” Policy 31, 36–43. https://doi.org/10.1016/J.JUP.2014.08.001
Reiss, P.C., White, M.W. (2005): “Household Electricity Demand, Revisited.” Rev. Econ. Stud. 72, 853–883. https://doi.org/10.1111/0034-6527.00354
- การศึกษาชิ้นนี้มิได้รวมข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล จากข้อจำกัดของข้อมูลดังกล่าว ทำให้พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่นำเสนอในบทความชิ้นนี้ อาจไม่สะท้อนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในเขตเมืองได้มากเท่าที่ควร↩
- ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป มาตรการได้เพิ่มเงื่อนไขว่าผู้ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี จะต้องเป็นมิเตอร์เล็ก ไม่ใช่นิติบุคคล และต้องใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 50 หน่วยติดต่อกันมาอย่างน้อย 3 เดือนอีกด้วย↩