Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/335e0edd1edaf04face903987ba899f5/e9a79/cover.png
20 กันยายน 2561
20181537401600000

เข้าใจ“พร้อมเพย์”บริการโอนเงินและชำระเงินทางเลือกใหม่

บริการพร้อมเพย์…ตอบโจทย์จริงหรือไม่ และช่วยส่งเสริมการโอนเงินและชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างไร
อณิยา ฉิมน้อยอรรถเวช อาภาศรีกุล
เข้าใจ“พร้อมเพย์”บริการโอนเงินและชำระเงินทางเลือกใหม่
excerpt

บริการพร้อมเพย์ หนึ่งในบริการโอนเงินทางเลือกใหม่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดบริการโอนเงินที่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานของประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ บริการพร้อมเพย์จึงถูกพัฒนาขึ้นมาให้ใช้งานง่าย มีต้นทุนที่ต่ำกว่าบริการโอนเงินรูปแบบเดิมและมีความปลอดภัยระดับมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการใช้บริการโอนเงินและชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น บทความนี้มุ่งที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบริการพร้อมเพย์ และวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้บริการพร้อมเพย์หลังจากเริ่มเปิดให้บริการเป็นเวลา 1 ปีกว่า เพื่อตอบคำถามที่ว่า “บริการพร้อมเพย์สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วนได้จริงหรือไม่” ผ่านการเล่าเรื่องเกี่ยวกับบริการพร้อมเพย์ที่ใคร ๆ ก็อยากรู้

บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) คืออะไร ?

บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) บริการโอนเงินทางเลือกใหม่ที่ต่อยอดจากบริการโอนเงินที่มีอยู่เดิม ทั้ง Internet, Mobile, ATM และเคาน์เตอร์ธนาคารซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) โดยพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของสมาคมธนาคารไทย และเปิดให้ประชาชนใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560

บริการพร้อมเพย์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้ (1) บริการโอนเงินสำหรับเอกชน คือการโอนเงินให้บุคคลอื่นหรือจ่ายค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทาง Internet, Mobile, ATM และเคาน์เตอร์ธนาคาร และ (2) บริการโอนเงินสำหรับภาครัฐ คือ การโอนเงินหรือจ่ายเงินผ่านธนาคารที่มีรอบการชำระที่แน่นอน อาทิ การจ่ายเงินเดือน การชำระค่าสินค้า การจ่ายคืนภาษี เป็นต้น

บริการพร้อมเพย์มีข้อแตกต่างจากบริการโอนเงินรูปแบบเดิมอย่างไร ?

  1. บริการพร้อมเพย์มีการนำรูปแบบการโอนเงินผ่านหมายเลขอ้างอิง (proxy ID) มาใช้ ทำให้การโอนเงินมีความสะดวกมากขึ้น ผู้ใช้บริการสามารถนำหมายเลขโทรศัพท์มือถือ เลขประจำตัวประชาชน เลขทะเบียนนิติบุคคล หมายเลขผู้ออกใบแจ้งหนี้ และหมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet ID) มาใช้เป็นหมายเลขอ้างอิงในการรับเงินโอนได้ จากเดิมที่ต้องใช้เลขที่บัญชีธนาคารเท่านั้น โดยผู้รับเงินโอนต้องลงทะเบียนหมายเลขอ้างอิงเพื่อผูกกับหมายเลขบัญชีธนาคารก่อนใช้บริการ

  2. โครงสร้างค่าธรรมเนียมบริการพร้อมเพย์ถูกกว่าการโอนเงินในรูปแบบเดิม การโอนเงินข้ามธนาคารแบบเดิมมีเพดานค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 25–120 บาทต่อครั้งขึ้นอยู่กับช่องทางที่ใช้บริการ แต่การโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์มูลค่าไม่เกิน 5,000 บาทจะไม่เสียค่าธรรมเนียม ส่วนการโอนเงินในมูลค่าที่สูงกว่า 5,000 บาทขึ้นไปจะมีค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นแต่ไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ ซึ่งธนาคารได้มีการทำการตลาดลดค่าธรรมเนียมพร้อมเพย์เป็นศูนย์บาทโดยไม่จำกัดวงเงิน และต่อมาได้มีการลดค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ลงทั้งหมด ทำให้ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินรายย่อยในส่วนนี้

  3. บริการพร้อมเพย์มีความปลอดภัยสูง บริการพร้อมเพย์ถูกพัฒนาและให้บริการโดยบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) ซึ่งมีประสบการณ์ในการให้บริการระบบการชำระเงินอย่างเอทีเอ็มพูล1 มากว่า 20 ปีและได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ISO-27001 ในระดับสากล ธปท. มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแล NITMX ในฐานะผู้ให้บริการระบบพร้อมเพย์ รวมถึงกำกับดูแลสถาบันการเงิน และ Non-bank ในฐานะผู้ให้บริการพร้อมเพย์กับลูกค้ารายย่อย ผ่าน พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 โดย ธปท. ได้กำหนดมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้ใช้บริการไว้อย่างชัดเจนในทุกขั้นตอน เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ใช้บริการ

บริการพร้อมเพย์มีลักษณะคล้ายกับบริการชำระเงินใดในต่างประเทศ ?

บริการพร้อมเพย์เป็นบริการ Fast Payment ที่มีการใช้งานแล้วในหลายประเทศ เช่น Paym ของอังกฤษ OSKO/PAY ID ของออสเตรเลีย และ Paynow ของสิงคโปร์ ที่ได้มีการพัฒนาบริการในช่วงเวลาใกล้เคียงกับไทยโดยประเทศเหล่านี้ใช้รูปแบบการโอนเงินผ่านหมายเลขอ้างอิง เช่น หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือเลขประจำตัวประชาชน แทนเลขที่บัญชีธนาคารเช่นเดียวกับบริการพร้อมเพย์ แต่มีช่องทางการให้บริการและวงเงินสูงสุดต่อรายการที่แตกต่างกันดังรูปที่ 1 ทั้งนี้ บริการพร้อมเพย์ของไทยมีความโดดเด่นกว่าประเทศอื่น ๆ ตรงที่มีหมายเลขอ้างอิงที่หลากหลาย ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงบริการโอนเงินได้อย่างสะดวกมากขึ้น

รูปที่ 1 : เปรียบเทียบบริการ Fast Payment ในประเทศต่าง ๆ (ข้อมูล ณ ก.ย. 61)

เปรียบเทียบบริการ Fast Payment ในประเทศต่าง ๆ (ข้อมูล ณ ก.ย. 61)

หมายเหตุ: สำหรับประเทศไทย ธนาคารประกาศลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Internet/Mobile Bankingที่มา: (1) The Association of Banks in Singapore (2018) (2) Paym (2016)

ปัจจุบันยอดลงทะเบียนพร้อมเพย์มีเท่าไหร่?

ณ เดือน สิงหาคม 2561 บริการพร้อมเพย์มียอดการลงทะเบียนสูงถึงกว่า 44.5 ล้านหมายเลข เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อเดือน (รูปที่ 2) แบ่งเป็น

  1. เลขประจำตัวประชาชน 28.7 ล้านหมายเลข คิดเป็นประมาณร้อยละ 43 ของประชากรทั้งประเทศ โดยสาเหตุสำคัญที่ประชาชนส่วนใหญ่ลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์โดยใช้หมายเลขประจำตัวประชาชน เพราะต้องการได้รับความสะดวกสบายในการรับสวัสดิการหรือเงินโอนจากภาครัฐ ตลอดจนใช้ในการรับคืนเงินภาษี

  2. หมายเลขโทรศัพท์มือถือ 15.8 ล้านหมายเลข ผู้ใช้บริการในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีความคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมผ่าน Internet banking หรือ Mobile banking อยู่แล้ว และหันมาสมัครใช้บริการพร้อมเพย์เพราะต้องการใช้ประโยชน์จากรูปแบบการโอนเงินผ่าน proxy ID เพราะมีความสะดวกกว่า ประกอบกับมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าการโอนเงินแบบเดิม จึงทำให้จำนวนลงทะเบียนด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือเติบโตขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อเดือน ปัจจุบันผู้ที่มีบัญชี Mobile banking ได้มีการลงทะเบียนใช้บริการพร้อมเพย์แล้วสัดส่วนกว่าร้อยละ 42 และในระยะต่อไปคาดว่าการลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์ด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกมาก

  3. หมายเลขอ้างอิงอื่น ๆ เช่น หมายเลขทะเบียนนิติบุคคล หมายเลขผู้ออกใบแจ้งหนี้ (Biller ID) และหมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet ID)2 1.5 แสนหมายเลข ซึ่งการลงทะเบียนด้วยหมายเลขอ้างอิงแต่ละประเภทจะตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่างกัน โดยผู้ลงทะเบียนด้วยหมายเลขทะเบียนนิติบุคคลและหมายเลขผู้ออกใบแจ้งหนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ที่ออกบิลเพื่อรับชำระค่าบริการรายเดือน ส่วนผู้ลงทะเบียนด้วยหมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้บริการโอนเงินหรือเติมเงินระหว่างบัญชีเงินฝากธนาคารกับ e-Wallet ของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) เป็นประจำ

รูปที่ 2 : ยอดลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์

ยอดลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

ในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา การใช้งานพร้อมเพย์มากน้อยเพียงใด?

บริการโอนเงินสำหรับเอกชน (Single payment)

ในเดือนแรกที่บริการพร้อมเพย์เริ่มให้บริการ มีปริมาณธุรกรรมวันละ 5.7 หมื่นรายการต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.6 ของปริมาณการโอนเงินรายย่อยทั้งหมด (รวมการโอนเงินธนาคารเดียวกันและข้ามธนาคาร) ต่อมาเมื่อภาคเอกชนเริ่มมีความคุ้นชิน ทำให้ยอดการใช้งานบริการพร้อมเพย์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 34.9 ต่อเดือน โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 ธุรกรรมการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง 6 เท่า เนื่องจากปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ (1) การที่ธนาคารพาณิชย์ส่งรายการโอนเงินด้วยเลขที่บัญชีผ่านช่องทาง Internet/Mobile มาผ่านระบบพร้อมเพย์ จากเดิมที่ส่งผ่านระบบ Online Retail Funds Transfer (ORFT) (2) การแข่งขันยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามธนาคารผ่านช่องทางออนไลน์ของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ในเดือนมิถุนายน 2561 บริการพร้อมเพย์มีปริมาณธุรกรรมกว่า 83.3 ล้านรายการ หรือคิดเป็นประมาณ 2.7 ล้านรายการต่อวัน รวมมูลค่า 442.1 พันล้านบาท

ธุรกรรมโอนเงินด้วยพร้อมเพย์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31 ของปริมาณธุรกรรมการโอนเงินรายย่อยทั้งหมด และมีแนวโน้มการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่เคยใช้บริการโอนเงินระบบเดิมหันมาใช้บริการพร้อมเพย์มากขึ้นเรื่อย ๆ (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 : ปริมาณธุรกรรมพร้อมเพย์กับการโอนเงินรายย่อยระบบเดิม

ปริมาณธุรกรรมพร้อมเพย์กับการโอนเงินรายย่อยระบบเดิม

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

โดยปกติการโอนเงินรายย่อยระบบเดิมธุรกรรมส่วนใหญ่เกิดจากการโอนเงินภายในธนาคารเดียวกัน เนื่องจากไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่หลังจากมีบริการพร้อมเพย์แล้วพบว่าประชาชนหันมาใช้บริการพร้อมเพย์สำหรับการโอนเงินข้ามธนาคารมากขึ้น เพราะมีแรงจูงใจจากค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง การโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ส่วนใหญ่เป็นการโอนเงินในมูลค่าต่ำ โดยเฉพาะช่วงมูลค่าการโอนเงินที่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อรายการ มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 82 ของธุรกรรมทั้งหมด แสดงว่ามีการใช้ชำระเงินหรือจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันมากขึ้น (รูปที่ 4)

รูปที่ 4 : สัดส่วนปริมาณธุรกรรมพร้อมเพย์ แยกตามช่วงมูลค่า ในแต่ละช่องทาง ( มิ.ย. 61 )

สัดส่วนปริมาณธุรกรรมพร้อมเพย์ แยกตามช่วงมูลค่า ในแต่ละช่องทาง ( มิ.ย. 61 )

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

เมื่อแยกการทำธุรกรรมพร้อมเพย์ตามช่องทางการใช้งาน พบว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่โอนเงินผ่าน mobile device เป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการโอนเงินสูงถึงกว่าร้อยละ 81 ของมูลค่าธุรกรรมทั้งหมด และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 31 ต่อเดือน สอดคล้องกับความนิยมในการใช้ Mobile banking ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารหลายแห่งมีการพัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากขึ้น ทั้งความสะดวกสบาย ความง่ายของการใช้งาน และความปลอดภัยสูง รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้การโอนเงินมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่องทางอื่น

นอกจากการให้บริการพร้อมเพย์แล้ว QR code ได้เริ่มในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่สะดวกและร้านค้าสามารถรับเงินโอนได้ง่ายขึ้น จึงทำให้บริการพร้อมเพย์เริ่มแพร่หลายในกลุ่มร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยปัจจุบันมีจุดรับ PromptPay QR code แล้วประมาณ 2 ล้านจุด

บริการโอนเงินสำหรับภาครัฐ (Bulk Payment)

บริการพร้อมเพย์สำหรับภาครัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อการโอนเงินสวัสดิการให้กับประชาชน โดยรัฐบาลจะโอนเงินสวัสดิการและเงินช่วยเหลือต่าง ๆ ผ่านบริการพร้อมเพย์ด้วยการใช้เลขที่บัญชีเป็นหมายเลขอ้างอิงเพื่อส่งเงินตรงไปยังบัญชีผู้รับปลายทาง ซึ่งโครงการนำร่องที่ภาครัฐเริ่มนำบริการพร้อมเพย์มาใช้งานคือการจ่ายเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในช่วงปลายปี 2559 และการคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงต้นปี 2560 โดยในปี 2560 มีผู้ขอคืนภาษีผ่านบริการพร้อมเพย์กว่าร้อยละ 62 ของผู้รับคืนเงินภาษีทั้งหมด รวมทั้งสิ้นกว่า 2.2 ล้านรายการ และในปี 2561 มีผู้ขอคืนภาษีผ่านบริการพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 70 ของผู้รับคืนเงินภาษีทั้งหมด

พฤติกรรมการใช้บริการพร้อมเพย์ของคนไทยเป็นอย่างไร?

จากการวิเคราะห์อัตราการยอมรับบริการพร้อมเพย์ (Rate of adoption) และการใช้บริการพร้อมเพย์ โดยใช้ข้อมูลจากแบบสำรวจความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมการใช้ e-Payment ของคนไทยปี 25603 ที่จัดทำโดย ธปท. จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในช่วงเดือนกันยายน 2560 โดยมีสถิติการใช้งานที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. อัตราการยอมรับบริการพร้อมเพย์ จากรูปที่ 5 พบว่า กลุ่มตัวอย่างประมาณร้อยละ 45 ของแต่ละจังหวัดรู้จักบริการพร้อมเพย์แล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในหัวเมืองใหญ่ของแต่ละภาค อาทิ กรุงเทพ เชียงใหม่ สงขลา โดยมีสัดส่วนการลงทะเบียนรวมเฉลี่ยร้อยละ 22 ผู้ที่ทำรายการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ยังกระจุกตัวอยู่ในหัวเมืองใหญ่ ในด้านการรับเงินผ่านพร้อมเพย์ ผู้รับเงินจะกระจายไปตามพื้นที่ในชนบทมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหน่วยงานของรัฐส่งเสริมให้ประชาชนในต่างจังหวัดผูกบัญชีพร้อมเพย์เพื่อรับเงินสวัสดิการ
รูปที่ 5 : อัตราการยอมรับบริการพร้อมเพย์ (Rate of adoption)

อัตราการยอมรับบริการพร้อมเพย์ (Rate of adoption)

หมายเหตุ: 1. ข้อมูลจากการสำรวจในช่วงเดือนกันยายน 2560 2. ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยจำนวนประชากรแต่ละจังหวัด เพศ อายุและพื้นที่อยู่อาศัยที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน
  1. ลักษณะผู้ใช้บริการพร้อมเพย์และวัตถุประสงค์การใช้ ผู้ที่รู้จักและใช้บริการพร้อมเพย์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานช่วงอายุ 21–37 ปี เพราะเป็นช่วงวัยที่มีความคุ้นชินกับการใช้งานอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการใช้บริการ e-Payment อยู่แล้ว ในขณะที่ช่วงวัยอื่นมีอัตราการใช้บริการที่น้อยกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า ระดับรายได้และการศึกษาที่สูงขึ้นมีผลต่อการเลือกใช้บริการพร้อมเพย์ที่มากขึ้นด้วย

    เมื่อสอบถามถึงวัตถุประสงค์ของการใช้บริการพร้อมเพย์ พบว่า ผู้ใช้บริการพร้อมเพย์ส่วนใหญ่ทำรายการโอนเงินเพื่อให้บุคคล/บัญชีอื่น เช่น ครอบครัว เพื่อน มากที่สุดถึงร้อยละ 41 รองลงมาคือการโอนเงินเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการร้อยละ 36 โอนเงินให้คู่ค้าทางธุรกิจร้อยละ 11 โอนเงินเพื่อจ่ายเงินเดือน/ค่าจ้างร้อยละ 8 ที่เหลืออีกร้อยละ 4 เป็นการโอนเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ

  2. มูลค่าเฉลี่ยต่อรายการและช่วงเวลาใช้งาน จากข้อมูลธุรกรรมพร้อมเพย์ ชี้ว่าผู้โอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์มีมูลค่าการโอนเงินเฉลี่ยต่อรายการลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 เป็นต้นมา จาก 7,000 บาทต่อรายการในช่วงแรกที่เปิดให้บริการพร้อมเพย์ เหลือเพียงมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 4,600 บาทต่อรายการในช่วง ปี 2561 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ใช้บริการพร้อมเพย์ในการชำระเงินแทนการใช้เงินสดในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยช่วงเวลาที่ประชาชนนิยมโอนเงินมากที่สุด คือ ช่วงเวลาพักเที่ยงและหลังเลิกงาน (รูปที่ 6) และวันทำงานจะมีการใช้งานมากกว่าวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์ อีกทั้งในช่วงสิ้นเดือนจะมีธุรกรรมมากกว่าปกติ

รูปที่ 6 : ปริมาณธุรกรรมพร้อมเพย์แยกช่วงเวลา

ปริมาณธุรกรรมพร้อมเพย์แยกช่วงเวลา

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

บริการต่อยอดจากบริการพร้อมเพย์มีบริการอะไรบ้าง?

ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ นอกจากบริการพร้อมเพย์จะเป็นบริการที่ต่อยอดจากการโอนในรูปแบบเดิมแล้ว ยังมีบริการอื่น ๆ ที่พัฒนาต่อยอดจากบริการพร้อมเพย์เพื่อความสะดวกสบายของผู้ใช้งานอีก ดังนี้

  1. บริการการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ข้ามธนาคารผ่านบริการพร้อมเพย์ (Cross-Bank Bill Payment) (รูปที่ 7) เป็นหนึ่งในบริการต่อยอดจากบริการพร้อมเพย์ที่เปิดให้บริการไปแล้วในเดือนพฤศจิกายน 2560 บริการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดข้อจำกัดในการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ (Bill payment) ข้ามธนาคาร เนื่องจากการชำระบิลในระบบเดิมลูกค้าต้องชำระเงินผ่านรายชื่อธนาคารที่ระบุไว้ตามใบแจ้งหนี้เท่านั้นและอาจเสียค่าธรรมเนียม 10–20 บาทต่อรายการ ขณะที่ผู้รับเงินก็มีภาระและต้นทุนที่ต้องเปิดบัญชีไว้กับหลายธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า โดยบริการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ข้ามธนาคารผ่านบริการพร้อมเพย์ จะช่วยให้ผู้ประกอบกิจการที่เป็นผู้รับเงินไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีกับหลายธนาคาร ส่งเสริมให้เกิดความคล่องตัวในการทำบัญชี และลดโอกาสในการทำบัญชีผิดพลาด สำหรับลูกค้า นอกจากจะได้ประโยชน์จากค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกลงอยู่ที่รายการละไม่เกิน 5 บาทแล้ว ยังสามารถชำระเงินได้หลากหลายธนาคารมากขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการชำระเงิน ซึ่งปัจจุบันธนาคารได้ทำการตลาดโดยลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวลง ทำให้ผู้ใช้บริการไม่เสียค่าธรรมเนียมในการชำระบิลค่าสินค้าและบริการ
รูปที่ 7 : บริการการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ข้ามธนาคารผ่านบริการพร้อมเพย์

บริการการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ข้ามธนาคารผ่านบริการพร้อมเพย์

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน
  1. บริการเตือนเพื่อจ่าย (PayAlert) เป็นอีกบริการต่อยอดจากบริการพร้อมเพย์ ซึ่งเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 บริการนี้ช่วยให้ร้านค้าสามารถส่งข้อความแจ้งไปยังผู้ซื้อเพื่อขอให้ชำระเงิน ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์ (e-Commerce) ให้มีช่องทางเรียกเก็บเงินและรับชำระเงินที่สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ บริการเตือนเพื่อจ่าย ยังสามารถช่วยผู้ซื้อให้มั่นใจว่าได้รับสินค้าแล้ว จึงจะกดจ่ายเงิน การใช้งานบริการเรียกเก็บเงิน มี 2 ขั้นตอน (รูปที่ 8) คือ
    • การส่งแจ้งเตือน: ร้านค้าหรือผู้รับเงินส่งข้อความแจ้งผู้ซื้อหรือผู้จ่ายเงิน เพื่อขอให้ชำระเงินกลับด้วยการระบุหมายเลขพร้อมเพย์ของผู้จ่ายเงิน และ
    • การชำระเงินหลังรับการแจ้ง: เมื่อผู้ซื้อหรือผู้จ่ายเงินได้รับข้อความที่แจ้งเตือนแล้ว สามารถเลือกยืนยันหรือยกเลิกคำขอ โดยผู้ที่จะใช้บริการได้จะต้องลงทะเบียนพร้อมเพย์และยืนยันการขอใช้บริการก่อน
รูปที่ 8 : บริการเตือนเพื่อจ่าย (PayAlert)

img 8

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน
  1. ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) เป็นระบบรองรับการบริจาคเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จะอำนวยความสะดวกให้การบริจาคเงินให้หน่วยงานรับบริจาค เช่น วัด มูลนิธิ เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และผู้บริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่ต้องส่งหลักฐานการบริจาคประกอบการพิจารณาคืนเงินภาษี ช่วยให้การบริจาคเงินมีประสิทธิภาพ โปร่งใส โดยได้เปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2561

บริการพร้อมเพย์ช่วยตอบโจทย์ผู้ใช้บริการอย่างไร?

การพัฒนาระบบพร้อมเพย์และบริการต่อยอดต่าง ๆ ช่วยให้เกิดบริการรูปแบบใหม่ที่เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน ดังนี้

  1. ภาคประชาชน ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น โดยบริการพร้อมเพย์ และ QR Code ซึ่งพัฒนาภายใต้โครงสร้างพื้นฐานของพร้อมเพย์ มีส่วนช่วยให้การรับและโอนเงินมีความสะดวกสบายมากขึ้น ช่วยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนด้วยค่าธรรมเนียมการโอนเงินและการชำระเงินที่ถูกลง สามารถนำมาใช้งานในชีวิตประจำวันได้บ่อยครั้งมากขึ้น ตลอดจนช่วยลดข้อจำกัดในการทำธุรกรรมการชำระเงิน โดยเฉพาะการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ที่ทำผ่านหลายธนาคารได้มากขึ้น

  2. ภาคธุรกิจ ภาคธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SMEs สามารถใช้บริการพร้อมเพย์และ QR Code เพื่อเพิ่มช่องทางการรับจ่ายเงินที่สะดวกและหลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ดีลักษณะการให้บริการยังสามารถพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการทางธุรกิจมากขึ้นได้ เช่น การรับส่งข้อมูลการซื้อขายไปพร้อมกับข้อมูลการชำระเงินเพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการกระทบยอดค้างชำระกับยอดเงินที่ได้รับจากลูกค้า (Reconcile) การโอนเงินมูลค่าสูงข้ามธนาคารแบบทันที เป็นต้น ธุรกิจส่วนใหญ่ยังใช้เช็คเนื่องจากกระบวนการทำงานของภาคธุรกิจอ้างอิงกระดาษเป็นหลัก (Paper-based) รวมทั้งเช็คสามารถใช้เป็นหลักประกันในการซื้อขายได้ ในระยะต่อไปบริการพร้อมเพย์จะถูกพัฒนาบริการต่อยอดที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจมากขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจมีช่องทางการรับจ่ายเงินที่สะดวก ช่วยลดต้นทุนและลดความเสี่ยงจากการบริการเงินสดและเช็ค ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

  3. ภาครัฐ ภาครัฐสามารถทำธุรกรรมโอนเงินและจ่ายเงินเข้าบัญชีผู้รับด้วยต้นทุนที่ถูกลง ระบบรับ-จ่ายเงินของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยเสริมสร้างธรรมาภิบาลของรัฐบาล และช่วยลดปัญหาการทุจริต

  4. ประเทศ ช่วยลดต้นทุนของประเทศในการบริหารจัดการเงินสด เพิ่มความรวดเร็วคล่องตัวในการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ และนำข้อมูลการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มาวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อสรุป

ในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา บริการพร้อมเพย์มียอดลงทะเบียนและการใช้งานเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการนำรูปแบบการโอนเงินผ่านหมายเลขอ้างอิงที่มีการใช้งานกันในหลายประเทศเข้ามาก็มีส่วนช่วยสร้างความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันของภาคเอกชนมากขึ้น ในขณะที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง ซึ่งในระยะต่อไปจะมีการพัฒนาต่อยอดบริการพร้อมเพย์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของทุกภาคส่วนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้การใช้งานจะยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมือง แต่หากมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จัก เข้าใจและใช้บริการพร้อมเพย์อย่างต่อเนื่อง ก็จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น ภาครัฐก็มีช่องทางการโอนเงินถึงผู้รับสวัสดิการอย่างถูกต้องและทั่วถึง และเป็นบริการที่ช่วยผลักดันให้เกิดการโอนเงินและชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นทางเลือกหลักของการทำธุรกรรมชำระเงินในอนาคต

หากผู้อ่านมีความสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับบริการพร้อมเพย์และการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยเรื่อง “The Journey to Less-Cash Society: Thailand’s Payment System at a Crossroads: เส้นทางสู่สังคมไร้เงินสด”

เอกสารอ้างอิง

The Association of Banks in Singapore (2018), PAYNOW FACTSHEET. https://abs.org.sg/docs/library/paynow_factsheet.pdf

Lamsam et al. (2018), The Journey to Less-Cash Society: Thailand’s Payment System at a Crossroads: เส้นทางสู่สังคมไร้เงินสด. Discussion Paper, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research, forthcoming.

Paym (2016), Paym statistical update. https://www.paym.co.uk/wp-content/uploads/2016/09/Paym-dashboard-Aug-2016.pdf


  1. บริการจัดการเงินสดผ่าน ATM ทำให้สามารถใช้บัตรถอนเงินสดได้ผ่านตู้ ATM ของธนาคารอื่น ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของธนาคารพาณิชย์ จดทะเบียนร่วมกับบริษัทเอกชน ภายใต้ชื่อบริษัท National ITMX↩
  2. เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet หรือ e-Money) คือ บริการที่ลูกค้าสามารถเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์และสามารถใช้เงินหรือมูลค่าที่เก็บไว้ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นในการชำระค่าสินค้าหรือบริการของร้านค้าที่กำหนดไว้↩
  3. คำนวณจากแบบสำรวจความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมการใช้ e-Payment ของคนไทยปี 2560 รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 10,805 ราย จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่เขตเมืองและชนบท กระจายตามกลุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปี ถึง 89 ปี↩
อณิยา ฉิมน้อย
อณิยา ฉิมน้อย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
อรรถเวช อาภาศรีกุล
อรรถเวช อาภาศรีกุล
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Topics: Financial Markets and Asset PricingDevelopment Economics
Tags: instant paymente-paymentpromptpay
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email