พฤติกรรมการลงทุนของกองทุนรวมและผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนรวมถือครอง
excerpt
บทความนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรก ๆ ที่นำข้อมูลการถือครองหลักทรัพย์รายไตรมาสของกองทุนรวมในประเทศไทยมาศึกษาพฤติกรรมการลงทุนของกองทุนรวมและพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ผลการศึกษาพบว่ากองทุนรวมมีระยะเวลาการถือครองหุ้นเฉลี่ยตั้งแต่ 20 เดือนไปจนถึงประมาณ 120 เดือน โดยเมื่อจำแนกกองทุนตามระยะเวลาการถือครองหุ้นพบว่าผลตอบแทนของกองทุนไม่แตกต่างจากผลตอบแทนของดัชนีตลาดเมื่อคำนึงถึงความเสี่ยงของการลงทุน แต่เนื่องจากกองทุนมักลงทุนในลักษณะ Momentum trading จึงอาจเป็นเหตุให้หุ้นที่กองทุนถือมีผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นที่กองทุนไม่ได้ถืออย่างมีนัยสำคัญประมาณร้อยละ 0.5 ต่อเดือน
ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนในกองทุนรวมในประเทศไทยเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก จากมูลค่าเพียง 0.91 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2549 เป็น 4.6 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2561 หรือคิดเป็นสัดส่วนของสินทรัพย์ครัวเรือนประมาณ 30–40 % (ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน) การวิเคราะห์ความสามารถของกองทุนในการสร้างผลตอบแทน และความเข้าใจถึงมิติต่าง ๆ ของการเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์ที่กองทุนถือจึงมีความสำคัญมาก เพื่อช่วยให้ครัวเรือนเข้าใจพฤติกรรมของผลตอบแทนที่ตนเองจะได้รับจากการลงทุนในกองทุนรวมมากยิ่งขึ้น
บทความนี้ซึ่งสรุปจากงานวิจัยฉบับเต็มของ Ratanabancheun and Saengchote (2018) จึงมีจุดประสงค์ที่จะนำข้อมูลการถือครองหลักทรัพย์ของกองทุนรวมหุ้นในประเทศไทยมาวิเคราะห์ว่ากองทุนเหล่านี้มีพฤติกรรมการถือครองหุ้นเป็นระยะเวลานานเท่าใด และกองทุนที่มีพฤติกรรมการถือครองหุ้นที่แตกต่างกันจะส่งผลให้ผลตอบแทนของกองทุนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
นอกจากการวิเคราะห์พฤติกรรมการลงทุนในหุ้นของกองทุนรวมหุ้นแล้วนั้น การศึกษานี้ยังได้วิเคราะห์พฤติกรรมการเคลื่อนไหวของหุ้นที่กองทุนรวมถือ และหุ้นที่กองทุนรวมไม่ได้ถือว่ามีการเคลื่อนไหวของราคาแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพว่าการซื้อขายของกองทุนรวมในหุ้นจะมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของหุ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ซึ่งบทความวิจัยในสหรัฐอเมริกาโดย Chen et al. (2000) ได้ค้นพบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนถือครองนั้น ไม่มีผลตอบแทนที่โดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับหุ้นอื่น ๆ ที่กองทุนไม่ได้ถือครอง ในขณะที่ Yan and Zhang (2007) ค้นพบว่าหุ้นที่ถือครองโดยกองทุนที่เน้นเก็งกำไรระยะสั้นจะมีผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าหุ้นตัวอื่น
ฐานข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือข้อมูลที่กองทุนรวมจะต้องประกาศการถือครองหุ้น ณ สิ้นไตรมาส ว่ามีการถือครองหุ้นอะไรบ้าง และถือในปริมาณเท่าใด ซึ่งการประกาศการถือครองหุ้นนี้แต่เดิมกองทุนจะต้องประกาศปีละ 2 ครั้ง แต่ในปี พ.ศ. 2557 ได้มีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้กองทุนประกาศการถือครองหุ้นเป็นทุก ๆ สิ้นไตรมาส (ปีละ 4 ครั้ง) โดยข้อมูลเหล่านี้จะต้องแจ้งให้นักลงทุนรับทราบอย่างสาธารณะ ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้จาก website ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และมีการเก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูลเพื่อการวิจัยโดย Morningstar
งานวิจัยนี้ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของประเทศไทยที่มีการนำข้อมูลการถือครองหุ้นเหล่านี้มาวิเคราะห์ โดยจำนวนกองทุนรวมหุ้นที่งานวิจัยนี้เก็บรวบรวมมีจำนวนทั้งหมด 303 กองทุน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึง ปี พ.ศ. 2559 ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จะถูกจัดให้เป็นประเภท large-cap funds (กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่) และร้อยละ 94 เป็นกองทุนรวมในลักษณะ actively-managed funds หรือกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนพยายามบริหารงานเพื่อเอาชนะผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงที่กำหนดไว้
วิธีการที่บทความวิจัยชิ้นนี้ใช้ในการประเมินว่ากองทุนรวมใดมีการถือครองหุ้นยาวนานอย่างไร ทำโดยการวัดว่าในแต่ละจุดเวลานั้น หุ้นแต่ละตัวที่กองทุนรวมหนึ่งถือครองมีการถือครองมาเป็นระยะเวลานานเท่าใด นับตั้งแต่วันแรกที่กองทุนรวมถือครองหุ้นตัวนั้น และเมื่อได้ระยะเวลาในการถือครองหุ้นแต่ละตัวจะนำมาหาระยะเวลาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนการถือครองหุ้นแต่ละตัว เพื่อคำนวณหาว่ากองทุนรวมแต่ละแห่งมีระยะเวลาการถือครองหุ้นเฉลี่ยเป็นเวลานานเท่าใด
เมื่อได้ระยะเวลาเฉลี่ยการถือครองหุ้นของกองทุนรวมในแต่ละปี จึงนำมาเรียงลำดับเพื่อแบ่งกองทุนรวมออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- Short-term fund
- Medium-term fund และ
- Long-term fund
โดยในแต่ละกลุ่มจะมีจำนวนกองทุนรวมเท่า ๆ กัน เช่น ถ้ามีกองทุนรวมในปีนั้น 120 กอง ก็จะมี 40 กอง ที่ถูกจัดให้เป็น short-term fund เป็นต้น เมื่อคำนวณหาค่ามัธยฐานของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (total net asset) ของแต่ละกลุ่มได้ผลตามภาพที่ 1 ซึ่งจะพบว่าขนาดของกองทุนรวมที่ลงทุนรวมในหุ้นระยะยาวมีขนาดที่สูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่กองทุนรวมมีอายุยาวนานขึ้น ได้รับกระแสเงินจากนักลงทุนที่ซื้อหน่วยลงทุนมากขึ้น จึงมีการถือครองหุ้นที่มีระยะเวลายาวนานขึ้นโดยเฉลี่ย นอกจากนี้ ในภาพที่ 2 ได้แสดงระยะเวลาเฉลี่ยของหุ้นที่กองทุนรวมถือในแต่ละกลุ่มซึ่งพบว่ากองทุนในกลุ่ม short-term fund มีระยะเวลาการถือครองหุ้นเฉลี่ยเพียง 10 เดือนเท่านั้น
นอกจากข้อมูลด้านระยะเวลาการถือครองหุ้น อีกประเด็นที่ค้นพบจากฐานข้อมูลการถือครองหลักทรัพย์ของกองทุนรวม คือกองทุนรวมมีการลงทุนในบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เพียงร้อยละ 51 ของจำนวนบริษัทในตลาดฯ ทั้งหมด และ 1 ใน 3 ของบริษัทเหล่านั้น (ประมาณ 115 ในปี 2559) ได้รับเงินลงทุนถึงร้อยละ 95 ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมหุ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ การกระจุกตัวของการลงทุนอาจมาจากโครงสร้างของตลาดหุ้นไทย ซึ่งในปี 2559 หุ้นของ 100 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนมูลค่าตลาดถึงร้อยละ 80
ข้อมูลทางสถิตินี้บ่งชี้ว่ากองทุนรวมหุ้นในไทยถึงแม้จะเป็น actively-managed funds แต่ก็ยังมีการลงทุนกระจุกตัวเฉพาะในหุ้นที่มีแนวโน้มอยู่ในดัชนี SET100 จึงทำให้เกิดคำถามเชิงนโยบายตามมาว่าการลงทุนในกองทุนรวมเหล่านี้คุ้มค่ากับที่ครัวเรือนเสียค่าธรรมเนียมในการจัดการให้แก่กองทุนหรือไม่ เมื่อเทียบกับการลงทุนในดัชนีตลาด
เราคุ้นเคยกับคำพูด “High-risk, high-return” การที่กองทุนมีผลตอบแทนสูงอาจเป็นเพราะกองทุนนั้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงก็ได้ จึงทำให้นักลงทุนควรพิจารณามิตินี้ประกอบกันด้วย การวัดประกอบการของกองทุนจึงมีหลายวิธี เช่น ค่าอัตราส่วนผลตอบแทนเทียบกับความผันผวน หรือค่าความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนกองทุนกับดัชนีอ้างอิง เป็นต้น ทั้งนี้ ในงานวิจัยวิชาการมีการศึกษาถึงปัจจัย (factors) ที่ส่งผลกระทบต่อความเสี่ยง เช่น สินทรัพย์ที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดสูง (ค่า Market beta สูง) ก็จะถือว่ามีความเสี่ยงสูง และมักจะมีผลตอบแทนสูง เป็นต้น แบบจำลองที่พยายามทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนนี้เรียกว่า Asset pricing model (Capital Asset Pricing Model หรือ CAPM ที่ได้รับความนิยมก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของแบบจำลอง) ซึ่งในการศึกษานี้เราจะใช้แบบจำลองของ Fama and French (2018) ที่มีการขยายปัจจัยเป็น 6 อย่าง ได้แก่
- Market factor ซึ่งได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว
- Size factor ซึ่งบอกว่าหุ้นของบริษัทขนาดเล็กมักมีผลตอบแทนดีกว่า
- Value factor ซึ่งบอกว่าหุ้นที่มีราคา “ถูก” (เช่น มีอัตราส่วนราคาเทียบกับมูลค่าตามบัญชีที่ต่ำ) มักมีผลตอบแทนดีกว่า
- Profitability factor หุ้นที่มีกำไรสูง (เช่น ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น หรือ ROE) มักมีผลตอบแทนดีกว่า
- Investment factor หุ้นที่ลงทุนอย่างรอบคอบ (เช่น สินทรัพย์รวมไม่เพิ่มเร็วเกินไป) มักมีผลตอบแทนดีกว่า และ
- Momentum factor หุ้นที่มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มักจะคงแนวโน้มนั้นไว้ จึงมักมีผลตอบแทนดีกว่า
ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้แล้ว หากกองทุนยังได้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ เราจะถือว่าผู้บริหารกองทุนนั้นเก่ง สามารถหากลยุทธ์สร้างผลตอบแทนได้ โดยทางสถิติเราจะวัดจากค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนระยะยาวส่วนเกินที่ไม่สามารถอธิบายได้โดยปัจจัยเสี่ยง 6 อย่างนี้ และประเมินว่ามีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่ ค่าเฉลี่ยนี้มีชื่อเรียกว่าค่า Alpha ซึ่งใช้กันแพร่หลายในวงการการเงินแทนคำว่า “ฝีมือ” นั่นเอง
เมื่อวิเคราะห์ว่ากองทุนรวมที่มีระยะเวลาการถือครองหุ้นแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มนั้นมีผลการดำเนินงานอย่างไร ผ่านการวัดผลตอบแทนของกองทุนด้วยค่า Alpha นี้ ผลที่ได้พบว่ากองทุนรวมทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น มีค่า Alpha ที่ต่ำมากไม่แตกต่างจากศูนย์อย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มมีค่า Alpha เป็นลบ ดังแสดงในตารางที่ 1 นอกจากนี้ผลตอบแทนของกองทุนที่ถือครองหุ้นระยะยาวมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของตลาดมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่ากองทุนรวมแบบ actively-managed funds ในไทยนั้นแทบจะไม่ได้นำเสนอคุณค่าที่ดีไปกว่าการลงทุนใน SET index เลย และผลตอบแทนกองทุนรวมหุ้นในไทยสามารถอธิบายได้โดยปัจจัย momentum ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการซื้อหรือขายหุ้นตามแนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคา โดยความสัมพันธ์กับปัจจัย momentum นี้อาจสะท้อนพฤติกรรมที่กองทุนรวมหุ้นมักจะลงทุนในหุ้นเดิม ๆ ที่มีอยู่เมื่อได้รับเงินจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น หรือการแข่งขันระหว่างกองทุนที่มักจะทำให้ซื้อหุ้นคล้าย ๆ กันก็เป็นได้
หากวิเคราะห์ลักษณะการเคลื่อนไหวของหุ้นที่ถือครองโดยกองทุนแต่ละกลุ่มที่จำแนกตามระยะเวลาการถือครอง (long-term funds และ short-term funds) และจำแนกตามมูลค่าการถือครองว่ากองทุนถือครองหุ้นบริษัทนั้นในสัดส่วน สูง กลาง หรือ ต่ำ จะพบว่าหุ้นที่มีกองทุนถือครองจะมีผลตอบแทนรายเดือนในอนาคตโดยเฉลี่ยสูงกว่าผลตอบแทนของตั๋วเงินคลัง 1 เดือน (excess return) ประมาณร้อยละ 0.9 ถึง ร้อยละ 1.47 ต่อเดือน ดังแสดงในภาพที่ 3 นอกจากนี้หุ้นที่ถือครองโดยกองทุนรวมในกลุ่ม short-term fund มีแนวโน้มที่จะมีผลตอบแทนในอนาคตที่ต่ำกว่าหุ้นที่ถือครองโดยกองทุนรวมที่อยู่ในกลุ่ม long-term fund เล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ คือผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนรวมถือไม่ว่าจะของกลุ่มใด ต่างมีผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนรวมไม่ได้ถือค่อนข้างมาก โดยมีส่วนต่างของผลตอบแทนมากถึงประมาณร้อยละ 0.5 ต่อเดือน
ผลลัพธ์เชิงประจักษ์นี้สามารถตีความได้ 2 เหตุผล คือ 1) กองทุนรวมหุ้นในประเทศไทยมีความสามารถในการเลือกหุ้น (stock picking skills) เพราะหุ้นที่กองทุนถือมีผลตอบแทนในอนาคตที่ดีกว่าหุ้นตัวอื่น และ 2) กองทุนรวมหุ้นในประเทศไทยมุ่งเน้นลงทุนตามแนวโน้มราคาหุ้น (momentum) เลยทำให้ราคาหุ้นที่กองทุนถือปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ซึ่งเมื่อพิจารณาผลตอบแทนของกองทุนรวมในตารางที่ 1 ควบคู่กับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในภาพที่ 3 มีความเป็นไปได้มากกว่าว่า การที่ผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนรวมถือมีค่าสูงกว่าหุ้นที่กองทุนรวมไม่ได้ถือนั้นไม่ได้เกิดจากความสามารถในการเลือกหุ้น เพราะสุดท้ายแล้วกองทุนรวมก็ไม่ได้มีผลตอบแทนที่โดดเด่นหรือสูงกว่าผลตอบแทนของตลาดรวมเลย การที่ผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนถือมีค่าสูงน่าจะเกิดจากการเข้าซื้อของกองทุนรวมหลาย ๆ กองที่ต่างฝ่ายต่างกลัว “ตกรถ” ในหุ้นบางตัวซึ่งกันและกัน ทำให้กองทุนรวมหุ้นเป็นคนไล่ราคาซื้อหุ้นเหล่านี้นั่นเอง
จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการถือครองหุ้นของกองทุนรวมในประเทศไทยผ่านข้อมูลการถือครองหลักทรัพย์ที่กองทุนประกาศ พบว่ากองทุนรวมในประเทศไทยส่วนมากถึงแม้จะเป็น actively-managed funds ที่มีการคิดค่าธรรมเนียมในระดับสูง ประมาณร้อยละ 1.7 ต่อปี (ข้อมูลของรายงาน Morningstar) ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศ แต่กลับมีการถือครองหุ้นอยู่เพียงไม่กี่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในดัชนี SET100 และผลตอบแทนของกองทุนกลับไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับผลตอบแทนดัชนีตลาดรวมเลย จึงทำให้เกิดคำถามว่าการสนับสนุนทางภาษีเพื่อให้ครัวเรือนได้ลดหย่อนทางภาษีผ่านการลงทุนด้วยกองทุนรวมหุ้นนั้นเป็นนโยบายที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะกองทุนรวมหุ้นในไทยกลับไม่สามารถนำเสนอผลการดำเนินงานที่เหมาะสมกับค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากนักลงทุน หากส่งเสริมช่องทางอื่นที่สามารถได้ผลตอบแทนเทียบเคียงแต่มีค่าบริหารจัดการต่ำกว่านี้ (เช่น exchange-traded funds หรือ ETF ซึ่งเป็นหน่วยลงทุนที่ราคาอิงตามการเปลี่ยนแปลงของของดัชนีที่กำหนด เช่น SET50 และมีค่าบริหารจัดการที่ต่ำกว่ามาก) อาจเป็นประโยชน์กับนักลงทุนมากกว่า
Chen, H. L., Jegadeesh, N., & Wermers, R. (2000). The value of active mutual fund management: An examination of the stockholdings and trades of fund managers. Journal of Financial and Quantitative Analysis, 35(3), 343–368.
Fama, E. F., & French, K. R. (2018). Choosing factors. Journal of Financial Economics, 128(2), 234–252.
Ratanabancheun, R. & Saengchote, K. (2018). Institutional Capital Allocation and Equity Returns: Evidence from Thai Mutual Funds’ Holdings, PIER Discussion Paper No. 97.
Yan, X., & Zhang, Z. (2007). Institutional investors and equity returns: Are short-term institutions better informed?. The Review of Financial Studies, 22(2), 893–924.