Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Discussion Paper ล่าสุด
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
aBRIDGEd ล่าสุด
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
งานสัมมนาล่าสุด
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
งานสัมมนาล่าสุด
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ประกาศล่าสุด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/9e3f10f7ed67b615fb6a3dfd02b1632b/e9a79/cover.png
5 กุมภาพันธ์ 2562
20191549324800000

มิติใหม่ของนโยบายการเงินและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

การดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต เพื่อให้สามารถจัดการความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจและการเงินได้อย่างสมดุล
มิติใหม่ของนโยบายการเงินและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
excerpt

ทำไมนโยบายการเงินซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลเงินเฟ้อหรือการขยายตัวของเศรษฐกิจ จะต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระบบการเงิน แล้วความจำเป็นของการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการลดความเสี่ยงดังกล่าวมีมากแค่ไหน รวมทั้งควรมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร บทความนี้จะเล่าถึงความเสี่ยงในภาคการเงินที่กระทบต่อความยั่งยืนของการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงเสนอแนวคิดของการดำเนินนโยบายการเงินที่สามารถคำนึงถึงประเด็นด้านเสถียรภาพระบบการเงินอย่างเป็นระบบ

เดิมทีแนวการดำเนินนโยบายการเงินจะให้ความสำคัญเฉพาะการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ต่ำและไม่ผันผวนนัก หรือ มีเสถียรภาพด้านราคา (price stability) ภายหลังจากเหตุการณ์วิกฤตการเงินโลก ในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเกือบ 10 ปี ทำให้ประเด็นด้านเสถียรภาพระบบการเงิน (financial stability) เป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น และเป็นที่เข้าใจกันว่าการดูแลเสถียรภาพราคาเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงที่ก่อตัวขึ้นในระบบการเงินอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนได้

ดังนั้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่การดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นด้านเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น ก่อนที่ความเสี่ยงเหล่านี้จะสั่งสมขึ้นมาและก่อให้เกิดวิกฤตการเงินในอนาคตได้

ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นธนาคารกลางหลายแห่ง เช่น ธนาคารกลางของนอร์เวย์และสวีเดน เริ่มใช้ดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยลดความเสี่ยงหรือความร้อนแรงในภาคการเงิน โดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่สูงกว่าระดับที่ควรจะเป็น

คำถามที่สำคัญ คือ แนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินควรปรับเปลี่ยนอย่างไร? ในกรณีของไทย การดำเนินนโยบายการเงินที่อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นนั้น เอื้อให้คำนึงถึงเสถียรภาพระบบการเงินได้อยู่แล้ว ซึ่งในช่วง 3–4 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ได้สื่อสารถึงความกังวลต่อประเด็นด้านเสถียรภาพระบบการเงินมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เร่งตัวสูงขึ้นในระยะหลัง รวมถึงพฤติกรรมของนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยอาจมองข้ามความเสี่ยงที่กำลังเผชิญอยู่ได้ บทความนี้จะช่วยขยายมุมมองให้ผู้อ่านทราบถึง แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่จะนำประเด็นด้านเสถียรภาพระบบการเงินเข้ามาพิจารณาร่วมอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการประเมิน trade-off ที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้ดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพราคากับเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงแนวทางการผสานการใช้นโยบายการเงินควบคู่ไปกับมาตรการอื่น ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถสื่อสารต่อสาธารณชนได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

เรามีแนวทางการวัดเสถียรภาพระบบการเงินอย่างไร?

การพิจารณาเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นจะต้องมีเครื่องชี้ที่สามารถวัดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในระบบการเงินได้ อย่างไรก็ดี ระบบการเงินในปัจจุบันมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นมาก ทำให้การเฝ้าระวังความเสี่ยงในภาคการเงินไม่ใช่เรื่องง่าย แตกต่างจากการวัดระดับเสถียรภาพราคา ที่การเก็บข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคและการคำนวณอัตราเงินเฟ้อมีมาตรฐานชัดเจน ดังนั้น การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินจำเป็นที่จะต้องมองอย่างละเอียดรอบด้านทั้งในมิติของภาพรวมและมิติของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเฉพาะบางจุดหรือบาง sector ในระบบเศรษฐกิจ

แนวทางการวัดระดับความเสี่ยงของระบบการเงินในภาพรวมที่ได้รับความนิยมนั้น สามารถดูได้จาก เครื่องชี้วัฏจักรการเงิน (financial cycle) ซึ่งช่วยสะท้อนภาพว่าการก่อตัวของสินเชื่อและราคาอสังหาริมทรัพย์ในระบบมีมากเพียงใด จากภาพที่ 1 พบว่า1ช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 วัฏจักรการเงินของไทยปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนอยู่ที่ระดับสูงสุดที่ร้อยละ 18 ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 7 ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาหลายชิ้น2ที่พบว่า ระดับของวัฏจักรการเงินที่เริ่มปรับสูงมาก จะช่วยบ่งชี้ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในระบบการเงินอันจะนำไปสู่การเกิดวิกฤตการเงินได้ นอกจากนี้ ยังพบว่า วัฏจักรการเงินมีรอบที่ยาวและใหญ่กว่าวัฏจักรเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนว่าความเปราะบางที่เกิดขึ้นในภาคการเงินนั้นมีการสะสมตัวอย่างช้า ๆ โดยอาจใช้เวลาถึง 20–30 ปี

ภาพที่ 1: การเปรียบเทียบระหว่างวัฏจักรการเงินและวัฏจักรเศรษฐกิจของไทย

การเปรียบเทียบระหว่างวัฏจักรการเงินและวัฏจักรเศรษฐกิจของไทย

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

เราสามารถนำข้อมูลของวัฏจักรการเงินนี้มาคำนวณหาโอกาสหรือความน่าจะเป็นของการเกิดวิกฤตการเงินในอนาคตได้3 ภาพที่ 2 แสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี 2538–2539 ประเทศไทยมีโอกาสเผชิญกับวิกฤตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนที่จะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้นในปีถัดมา ขณะที่ในช่วงหลังตั้งแต่ปี 2558 ระดับของความน่าจะเป็นเริ่มปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งตามการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เร่งตัวสูงขึ้นมาก4 อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันระดับความน่าจะเป็นในการเกิดวิกฤตอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับช่วงการเกิดวิกฤตการเงินก่อนหน้า

ภาพที่ 2: ความน่าจะเป็นของการเกิดวิกฤตการเงินของไทย (ในช่วง 1–3 ปีข้างหน้า)

ความน่าจะเป็นของการเกิดวิกฤตการเงินของไทย (ในช่วง 1–3 ปีข้างหน้า)

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

จะเห็นได้ว่าการใช้ข้อมูลวัฏจักรการเงินช่วยให้เราสามารถประเมินความเสี่ยงของระบบการเงินในภาพรวมได้ค่อนข้างดี อย่างไรตาม ยังมีโอกาสที่ความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นเฉพาะจุด เฉพาะบาง sector ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเป็นต้นตอของความเสี่ยงที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต ดังนั้น การเฝ้าระวังความเปราะบางที่เกิดขึ้นเฉพาะจุดผ่านเครื่องชี้ราย sector (sectoral indicators) ควบคู่กับการติดตามและวิเคราะห์วัฏจักรการเงินจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้การดูแลความเสี่ยงในภาคการเงินเป็นไปอย่างรอบด้านและรัดกุมยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถเลือกใช้เครื่องมือในการจัดการดูแลได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ในที่นี้เราแบ่งการติดตามประเด็นด้าน financial stability ออกเป็น 7 sectors สำคัญ นั่นคือ

  1. ภาคครัวเรือน
  2. ภาคธุรกิจ
  3. ภาคอสังหาริมทรัพย์
  4. ภาคสถาบันการเงิน
  5. ภาคสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์
  6. ภาคตลาดการเงิน และ
  7. ภาคต่างประเทศ (อ้างอิงตามรายงาน Financial Stability Report)

และ 6 ประเภทความเสี่ยงได้แก่

  1. [under]pricing of risk
  2. risk appetite
  3. leverage
  4. vulnerability in debt serviceability & cushion
  5. mismatch และ
  6. interconnectedness

โดยความเสี่ยงใน 4 ประเภทแรกนี้ถือเป็นความเสี่ยงที่นโยบายการเงินสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการได้ ขณะที่ความเสี่ยง 2 ประเภทสุดท้ายเป็นความเสี่ยงเชิงโครงสร้างซึ่งต้องอาศัยเครื่องมืออื่นในการดูแลต่อไป (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Wongwachara et al. (2018) ซึ่งเป็นบทความฉบับเต็ม)

แนวคิดระบบแบบจำลองเศรษฐกิจที่คำนึงถึงเสถียรภาพระบบการเงิน

เมื่อการดำเนินนโยบายการเงินต้องคำนึงถึงทั้งวัฏจักรเศรษฐกิจและวัฏจักรการเงินควบคู่กัน ในบางครั้งวัฏจักรทั้งสองอาจอยู่ในทิศทางที่แตกต่างกัน เช่นในภาพที่ 1 ช่วงปี 2557 เป็นต้นมา วัฏจักรเศรษฐกิจยังอยู่ในแดนลบ หรือ เศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพและระดับเงินเฟ้อยังอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ขณะที่วัฏจักรการเงินเป็นขาบวกสะท้อนความเปราะบางที่สะสมอยู่ในภาคการเงิน ทั้งนี้ หากผู้ดำเนินนโยบายตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจไปเพิ่มความเปราะบางในภาคการเงินได้ ดังนั้นการประเมิน trade-off ระหว่างการดูแลวัฏจักรทั้งสองจึงมีความสำคัญมากในการดำเนินนโยบาย

เราได้พัฒนาระบบแบบจำลองเศรษฐกิจ (model platform) ที่มีความเชื่อมโยงกับภาคการเงิน (macro-financial linkages) เพื่อทำหน้าที่ประเมิน trade-off ดังกล่าว โดยระบบของแบบจำลองประกอบด้วยแบบจำลองย่อย ๆ ที่หลากหลาย แต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่มีความเชื่อมโยงและสามารถสอบทานผลระหว่างกัน ดังแสดงในภาพที่ 3 โดยใจกลางของระบบแบบจำลอง (core model) จะเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างแบบจำลองเดิมที่ใช้ในการพยากรณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปัจจุบัน แบบจำลองที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยงของระบบการเงิน และการวิเคราะห์เครื่องมือเชิงนโยบายต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน

ภาพที่ 3: โครงสร้างของระบบแบบจำลองเศรษฐกิจ (model platform)

โครงสร้างของระบบแบบจำลองเศรษฐกิจ (model platform)

ที่มา: วิเคราะห์โดยผู้เขียน

ในแง่ของการดำเนินนโยบายการเงิน ระบบแบบจำลองนี้ควรที่จะอธิบายการส่งผ่านของดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้สามารถวิเคราะห์ถึง trade-off ที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการปรับขึ้น/ลด อัตราดอกเบี้ย และในที่สุดจะช่วยประเมินความเหมาะสมในการพิจารณาใช้นโยบายการเงินเพื่อการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน หรือที่เรียกกันว่า leaning against the wind (LAW) ได้

ภาพที่ 4 แสดงตัวอย่างการประเมิน trade-off โดยผล policy simulation ที่ผ่านระบบของแบบจำลอง5 แสดงให้เห็นถึงต้นทุนของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะสั้นที่มีต่อเสถียรภาพด้านราคา และผลประโยชน์ในระยะยาวต่อเสถียรภาพระบบการเงิน กล่าวคือ ในระยะสั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (one-day repurchase rate, RP1) ในอัตราร้อยละ 1 จะทำให้เศรษฐกิจของไทยหดตัวลงในอัตราร้อยละ 0.60 อย่างไรก็ดี ในระยะยาวการที่ระดับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นนี้จะช่วยลดโอกาสของการเกิดวิกฤตการเงินลงร้อยละ 0.91 (ในกรณี baseline) หรืออาจจะลดลงได้มากถึงร้อยละ 4.62 ในกรณีที่การส่งผ่านของนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมาก (effective LAW)6

ภาพที่ 4: ตัวอย่าง policy simulation ที่แสดงผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีต่อเสถียรภาพราคาและเสถียรภาพระบบการเงิน

ตัวอย่าง policy simulation ที่แสดงผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีต่อเสถียรภาพราคาและเสถียรภาพระบบการเงิน

ที่มา: วิเคราะห์และคำนวณโดยผู้เขียน

ผลการวิเคราะห์ trade-off ข้างต้นเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ช่วยในการตัดสินนโยบายการเงิน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กนง. ยังต้องคำนึงถึงอีกหลายประเด็น อาทิ ระดับเงินเฟ้อเสี่ยงที่จะหลุดขอบล่างเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการยึดเหนี่ยวการคาดการเงินเฟ้อ (de-anchoring inflation expectations) หรือไม่ หรือโอกาสในการเกิดวิกฤตการเงิน ณ ขณะนั้นสูงจนน่ากังวลหรือไม่

มาตรการ macroprudential ช่วยนโยบายการเงินได้อย่างไร?

ในทางปฏิบัติ หากการดำเนินนโยบายการเงินต้องดูแลทั้งเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงิน ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินอาจด้อยลงเนื่องจากต้องดูแลหลายเป้าหมายเกินไป7 จึงจำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องมือเสริมอื่น ๆ เช่น มาตรการ macroprudential ควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ เครื่องมือ macroprudential8 มีจุดเด่นที่สามารถช่วยเสริมนโยบายอัตราดอกเบี้ยได้ คือ

  1. มีความหลากหลายและยืดหยุ่นกว่า จึงมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความเสี่ยงของระบบการเงินที่เกิดขึ้นเฉพาะจุดได้ดี อาทิ มาตรการควบคุมการปล่อยกู้สินเชื่อบ้าน Loan-to-Value (LTV) ที่ล่าสุดมีการกำหนดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านหลังที่ 2 และบ้านราคา 10 ล้านขึ้นไป ทำให้นักลงทุนต้องออมเงินจำนวนหนึ่งก่อนที่จะสามารถซื้อบ้านได้ ซึ่งมาตรการ LTV นี้จะช่วยลดการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มักเป็นต้นตอของการเกิดวิกฤตการเงินในอดีต
  2. สามารถจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการเงิน และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง (resiliency) ทำให้สามารถรองรับ shock ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น เช่น มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) ที่กำหนดให้ธนาคารขนาดใหญ่ดำรงเงินกองทุนในอัตราที่สูงขึ้น ทำให้สามารถรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้เพิ่มขึ้น

ผลการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบาย

เมื่อเรามีเครื่องมือเชิงนโยบายที่หลากหลายให้เลือกใช้ คำถามสำคัญ คือ เราจะมีแนวทางในการผสมผสานเครื่องมือต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างไร? ในงานวิจัยนี้เราได้นำระบบของแบบจำลอง9 มาประเมินผล trade-off ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการผสมผสานเครื่องมือเหล่านี้

ผลการศึกษา พบว่า การใช้เครื่องมือทั้งสองอย่าง คือ นโยบายอัตราดอกเบี้ยและ LTV ร่วมกันในการดูแลความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซึ่งมักสะท้อนจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและราคาบ้านที่เร่งตัวสูงขึ้นมาก) นั้น มีประสิทธิภาพมากกว่าการเลือกใช้นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว สะท้อนจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัย (mortgage growth) ที่ชะลอลงถึงร้อยละ 6 ซึ่งมากกว่าการใช้ดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียวที่ลดอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้เพียงร้อยละ 2 โดยการผสานกันของเครื่องมือทั้งสองนี้ยังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งระบบน้อยลงด้วย โดยที่หากมาตรการ LTV มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นจะยิ่งช่วยชะลอการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจน้อยลง (ดังภาพที่ 5)10

ภาพที่ 5: การประเมินผลการผสานนโยบายการเงินควบคู่กับนโยบาย LTV ในการดูแลความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์

การประเมินผลการผสานนโยบายการเงินควบคู่กับนโยบาย LTV ในการดูแลความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

ในทางปฏิบัติการใช้นโยบาย macroprudential ยังมีความท้าทาย เนื่องจากยังเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างใหม่ ทำให้ประสบการณ์ของการใช้เครื่องมือนี้ในระยะยาวยังมีไม่มากนัก รวมทั้งต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการถ่ายเท (leakage) ของความเสี่ยงจากภาคส่วนหนึ่งไปยังส่วนอื่น อาทิ ธนาคารเงา (shadow banking) ที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของผู้ดำเนินนโยบายได้ อีกทั้งอำนาจความรับผิดชอบและการตัดสินใจเลือกใช้เครื่องมืออาจไม่ได้มาจากคณะกรรมการกลุ่มเดียว จึงอาจมีข้อจำกัดในการบังคับใช้เครื่องมือได้อย่างทันท่วงที

ข้อสรุป

บทเรียนจากวิกฤตการเงินและบริบทของเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำประเด็นด้านเสถียรภาพระบบการเงินเข้ามาพิจารณาร่วมอย่างเป็นระบบ โดยภายใต้แนวคิดนี้ “จำเป็นต้อง”

  1. ประเมินได้ว่าความเสี่ยงของระบบการเงินอยู่ในระดับใด ซึ่งการสร้างและวิเคราะห์เครื่องชี้วัฏจักรการเงินถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ รวมทั้งควรทำความเข้าใจความเสี่ยงว่าเกิดขึ้นจากจุดไหนบ้าง หรือมีปัจจัยอะไรที่จะกระทบและเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้น เพื่อที่จะสามารถเลือกใช้เครื่องมือและจัดการได้อย่างตรงจุด
  2. พัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ให้พร้อมรับกับขนาดและความซับซ้อนของภาคการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาระบบของแบบจำลองที่ช่วยให้การประเมินการใช้เครื่องมือนโยบายการเงินและนโยบาย macroprudential เป็นไปอย่างสมบูรณ์ และ
  3. ออกแบบและปรับปรุงกลไกเชิงสถาบัน (institutional arrangement) ที่คอยประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านเสถียรภาพระบบการเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การกำหนดมาตรการต่าง ๆ มีความสอดคล้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เอกสารอ้างอิง

Wongwachara W., Jindarak B., Nookhwun N., Tunyavetchakit S. and Klungjaturavet C., (2018). “Integrating Monetary Policy and Financial Stability: A New Framework”, PIER Discussion Paper No.100.


  1. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน aBRIDGEd เรื่อง “วัฏจักรการเงินไทยเกี่ยวข้องอย่างไรกับวัฏจักรเศรษฐกิจ”↩
  2. อาทิ งานศึกษาของ Bank for International Settlements (BIS)↩
  3. โดยการใช้ cross-country data ในการประเมินหาความน่าจะเป็นที่จะเกิดวิกฤตการเงิน ด้วยวิธี panel logistic regression↩
  4. ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่ากรอบล่างของกรอบเป้าหมาย สอดคล้องกับการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของ กนง. ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน↩
  5. เลือกใช้ core model ที่เป็น Structural Vector Autoregression (SVAR) ในการทำ policy simulation โดย SVAR นี้เชื่อมโยงตัวแปรหลักทางเศรษฐกิจจริง (GDP และเงินเฟ้อ) ตัวแปรหลักทางภาคการเงิน (ระดับสินเชื่อและราคาที่ดิน) และอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าไว้ด้วยกัน (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความฉบับเต็ม)↩
  6. เช่นเดียวกัน หากการส่งผ่านนโยบายการเงินไร้ประสิทธิภาพ (ineffective LAW) อาจส่งผลในทางตรงกันข้ามต่อเสถียรภาพระบบการเงิน โดยทำให้ความน่าจะเป็นในการเกิดวิกฤตเพิ่มขึ้น↩
  7. อย่างที่ Tinbergen Rule ได้ระบุว่า ‘เพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงนโยบาย จำเป็นต้องมีเครื่องมือเชิงนโยบายอย่างน้อยเท่ากับจำนวนเป้าหมาย’↩
  8. มาตรการ macroprudential คือมาตรการที่ใช้กำกับดูแลสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลความเสี่ยงของระบบการเงิน ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นอย่างมากหลังวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมา↩
  9. แบบจำลองที่เลือกใช้คือ Dynamic Stochastic General Equilibrium (DSGE) ที่นำภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคธนาคารพาณิชย์มาผนวกเข้ากับภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งสามารถอธิบายถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับ LTV ว่ามีผลต่อระบบเศรษฐกิจการเงินอย่างไร↩
  10. ผลการประเมินเป็นการเปรียบเทียบส่วนต่างที่เกิดขึ้นกับกรณีมาตรฐาน (benchmark) คือ Taylor rule ปกติ ที่ไม่คำนึงถึงตัวแปรการเงิน↩
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Monetary EconomicsFinancial Markets and Asset Pricing
Tags: financial crisisfinancial stabilitymonetary policy frameworkpolicy trade-off
วราพงศ์ วงศ์วัชรา
วราพงศ์ วงศ์วัชรา
ธนาคารแห่งประเทศไทย
บวรวิชญ์ จินดารักษ์
บวรวิชญ์ จินดารักษ์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
โสภณ ธัญญาเวชกิจ
โสภณ ธัญญาเวชกิจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ชุติภา คลังจตุรเวทย์
ชุติภา คลังจตุรเวทย์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
นุวัต หนูขวัญ
นุวัต หนูขวัญ
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email