ถอดบทเรียนสองทศวรรษ การสื่อสารของธนาคารแห่งประเทศไทย
excerpt
สองทศวรรษที่ผ่านมา การสื่อสารของธนาคารกลางทั่วโลกพลิกโฉมไปมาก การดำเนินนโยบายที่แต่เดิมเคยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความลับ (secrecy) ได้หันมาใช้แนวทางการสื่อสารที่ชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าการสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญของธนาคารกลาง ในช่วงเวลาดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ได้เปิดช่องทางการสื่อสารต่อสาธารณะมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในแง่ของปริมาณและความหลากหลาย บทความนี้ทำการวิเคราะห์เนื้อหาสาระและประสิทธิภาพของการสื่อสารในช่องต่าง ๆ ของ ธปท. ที่ถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์การสื่อสารในอดีต และตอบโจทย์สำคัญที่ว่า ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจและรูปแบบการสื่อสารเชิงสาธารณะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสื่อสารของ ธปท. ในอนาคตควรเป็นอย่างไร
หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงิน จะเห็นได้ชัดว่าการสื่อสารต่อสาธารณชนเป็นมิติหนึ่งของการดำเนินนโยบายที่ธนาคารกลางพยายามที่จะค้นหาคำตอบมาโดยตลอด ในช่วงที่ธนาคารกลางหลายแห่งกำเนิดขึ้นในโลกเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เชื่อกันตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าธนาคารกลางควรจะสื่อสารกับสาธารณชนให้น้อยที่สุดทั้งในเชิงของปริมาณ ความชัดเจนของเนื้อหาสาระ และความถี่ของการสื่อสาร เพื่อให้การดำเนินนโยบายเกิดประสิทธิผลสูงสุด ในอดีต Paul Volcker ประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เลือกคำว่า mystique เป็นคำแนะนำคำเดียว (one-word advice) ที่ให้แก่ Mervyn King ขณะที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการของ Bank of England
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 การที่ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มหันมาใช้กรอบนโยบายการเงินโดยใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย (Inflation Targeting: IT) กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทำให้ธนาคารกลางต้องสื่อสารต่อสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอถึงแนวโน้มการพยากรณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อตลอดจนเหตุผลที่ใช้ในการตัดสินอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สำหรับกรณีของประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับกระแสความคิดหลักในแวดวงธนาคารกลางทั่วโลก ในอดีต การสื่อสารมักกระทำผ่านการให้ข่าวตามแต่เหตุการณ์เป็นครั้ง ๆ ไป แต่หลังจากปี 2000 ซึ่งมีการปรับใช้กรอบ IT ธปท. ได้เปิดช่องทางการสื่อสารอย่างหลากหลาย ทั้งในรูปแบบที่แน่นอนและเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รายงานนโยบายการเงิน รายงานนโยบายสถาบันการเงิน และในรูปแบบอื่น ๆ เช่น สุนทรพจน์และการให้สัมภาษณ์สื่อของผู้บริหาร นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ธปท. ได้มีความพยายามสื่อสารผ่าน social media เพิ่มขึ้นอย่างมากอีกด้วย
บทความนี้จะย้อนทบทวนการสื่อสารของ ธปท. ในห้วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านการประมวลผลเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่เผยแพร่โดย ธปท. โดยอาศัยศาสตร์และเครื่องมือทางด้าน text mining เพื่อตอบคำถามที่ว่า ธปท. สื่อสารอะไรกับสาธารณะบ้าง ทั้งการสื่อสารทางตรงที่อยู่ในกรอบนโยบายการเงินและการสื่อสารในเรื่องอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังได้นำคลังข้อมูลข่าวเศรษฐกิจหลายแสนข่าวเข้ามาร่วมวิเคราะห์เพื่อดูว่า พื้นที่ในสื่อและความรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับ ธปท. เป็นอย่างไร
กรอบ IT กำหนดให้ กนง. สื่อสารกับสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สาธารณชนทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตัวแปรอื่น ๆ ที่ กนง. ใช้ในการตัดสินนโยบาย (Policy input) ตลอดจนน้ำหนักที่ กนง. ให้ข้อพิจารณาด้านต่าง ๆ (Policy reaction function) ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ จุดมุ่งหมายคือ หากสาธารณชนรับทราบข้อมูลนี้แล้ว จะทำให้สามารถใช้ข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจในการวางแผนตัดสินใจต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถคาดการณ์ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน (inflation expectation) อยู่ภายในกรอบเป้าหมาย
ในปัจจุบัน ช่องทางการสื่อสารหลักของ กนง. คือ แถลงข่าวนโยบายการเงิน หรือ Press Statement (PS) ซึ่งเผยแพร่ในวันเดียวกันกับการประชุม PS มีขนาดสั้นไม่เกิน 2 หน้ากระดาษและแสดงใจความหลักของการตัดสินนโยบายในครั้งนั้น ๆ Apaitan และ Tantasith (2019) ได้ใช้วิธีการ text mining ในการประมวลผล PS ที่มีอยู่ทั้งหมด (พ.ค. 2000 ถึง พ.ค. 2018) ในการแยกแยะหัวข้อต่าง ๆ ที่มีการกล่าวถึงใน PS และความเชื่อมโยงระหว่างหัวข้อเหล่านั้น โดยแสดงในรูปแบบของ network of topics ดังรูปที่ 1
ในภาพรวม กล่าวได้ว่า การสื่อสารผ่าน PS นั้นก็คือการสื่อสารเกี่ยวกับ policy reaction function ของ กนง. นั่นเอง โดยให้น้ำหนักที่การร้อยเรียงเหตุผลที่ใช้ในการตัดสินนโยบายเป็นหลัก การตัดสินนโยบายเชื่อมโยงกับปัจจัยสองกลุ่ม ได้แก่ การเติบโต (สีเหลือง) ทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงต่อไปยังแนวโน้มเงินเฟ้อ สำหรับกลุ่มที่สองคือ เงินเฟ้อ (สีฟ้า) หรือการรายงานภาวะราคาสินค้าและการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมามักนำไปสู่การอธิบายปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอันเป็นข้อพิจารณาสำคัญของการตัดสินนโยบาย นอกจากนี้ PS ยังกล่าวถึงประเด็นอื่น ๆ ได้แก่ ดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราแลกเปลี่ยน และเสถียรภาพ (สีม่วง) แต่มักกล่าวถึงอย่างเป็นเอกเทศ ไม่ได้เชื่อมโยงกับการตัดสินนโยบายเท่าไรนัก
หากเราวิเคราะห์ PS ตามช่วงเวลาจะพบว่า น้ำหนักที่ กนง. ให้กับการสื่อสารในประเด็นต่าง ๆ (เมื่อวัดเป็นจำนวนคำ) จะมีสัดส่วนไม่คงที่ ดังเช่นแสดงในรูปที่ 2 โดยทั่วไป การตัดสินนโยบายครองพื้นที่ส่วนใหญ่ใน PS แต่ในบางช่วงหัวข้ออื่น ๆ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการตัดสินนโยบาย เช่น การเติบโต ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา หรือเศรษฐกิจต่างประเทศที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากระหว่างปี 2008 ถึง 2014 ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือในช่วง 2 ปีล่าสุดที่มีการกล่าวถึงเรื่องเงินเฟ้อลดลงและให้ความสำคัญกับอัตราแลกเปลี่ยนและเสถียรภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คำถามที่ตามมาก็คือ อะไรคือปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แน่นอนว่ามีปัจจัยแวดล้อมหลายประการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจของ กนง. และถูกถ่ายทอดออกมาดังที่ปรากฏใน PS การศึกษาของ Apaitan และ Tantasith (2019) ได้ใช้วิธีทางเศรษฐมิติเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ และการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระใน PS โดยแบ่งปัจจัยออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ปัจจัยที่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ (policy input) และ ปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งในการศึกษาได้วิเคราะห์ผลของการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของ กนง. และเลขานุการ ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของ policy reaction function ระดับของความชัดเจนในการสื่อสาร รวมถึงรูปแบบของการเขียนที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น
ผลจากแบบจำลองทางเศรษฐมิติชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักในหัวข้อต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ทั้งกับปัจจัยเศรษฐกิจและองค์ประกอบของคณะกรรมการ การให้น้ำหนักของหลายหัวข้อมีความสอดคล้องกับตัวแปรทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจร้อนแรง การแถลงนโยบายจะให้น้ำหนักเรื่อง “การเติบโต” มากขึ้นและให้น้ำหนักเรื่อง “ชะลอตัว” ลดลง และยังทำให้น้ำหนักของหัวข้อ “ราคาสินค้า” เพิ่มขึ้น สะท้อนความกังวลต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือช่องว่างการผลิตเป็นลบ กนง. จะลดน้ำหนักการสื่อสารเรื่อง “การเติบโต” และหันไปให้น้ำหนัก “ชะลอตัว” มากขึ้นแทน
ข้อค้นพบที่สำคัญอีกประการก็คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการหรือเลขานุการส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักหัวข้ออย่างชัดเจนในบางช่วงเวลา หากเราแบ่งคณะกรรมการออกเป็น 11 ชุด ตามแต่ละช่วงเวลา (อาศัยเกณฑ์ว่า หากมีการเปลี่ยนกรรมการเกิน 3 ท่าน ให้ถือเป็นชุดใหม่) ตัวอย่างในรูปที่ 3 แสดงน้ำหนักในการสื่อสารเรื่อง “อัตราแลกเปลี่ยน” ของคณะกรรมการแต่ละชุดที่ปราศจากผลจากปัจจัยอื่น ๆ จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการชุดสุดท้ายได้เพิ่มน้ำหนักของหัวข้อนี้มากกว่ากรรมการชุดก่อน ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในการศึกษาพบว่า หลาย ๆ หัวข้อนั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของคณะกรรมการอย่างชัดเจน การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้สร้างความท้าทายต่อการสื่อสาร เพราะผู้รับสารไม่อาจทราบสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักหัวข้อได้อย่างแน่ชัด ดังนั้น ในกรณีที่ตลาดตีความได้ไม่ตรงกับที่ กนง. ต้องการจะสื่อสาร ประสิทธิภาพของการสื่อสารอาจถูกลดทอนลงได้
นอกเหนือไปจากเนื้อหาสาระแล้ว คุณสมบัติที่สำคัญอีกประการของการสื่อสารนโยบายคือ ความสอดคล้องกับการกระทำ (action) ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลไปถึงการคาดการณ์ทิศทางการตัดสินนโยบายการเงินของตลาดการเงินได้อีกด้วย Apaitan และ Tantasith (2019) ได้ทดสอบความสอดคล้องของ PS กับผลการตัดสินนโยบายการเงิน โดยแปลง PS ให้อยู่ในรูปของตัวชี้วัด 3 ประการ ได้แก่
- น้ำหนักที่ให้กับหัวข้อต่าง ๆ
- โทน (tone) ของการสื่อสาร (วัดจากจำนวนถ้อยคำที่สื่อความในทางบวกหรือลบ) และ
- สัญญาณการขึ้นหรือลงของอัตราดอกเบี้ย (ดูจากประโยคที่สื่อถึงการดำเนินนโยบายในอนาคต)
แล้วใช้คุณลักษณะเหล่านั้นในการทำนายผลการประชุม ซึ่งหากผู้รับสารสามารถทำนายผลการประชุมได้โดยอาศัยเพียงข้อมูลที่ปรากฏใน PS โดยไม่ทราบข้อมูลอื่น ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องของตัวสารและผลการตัดสินนโยบาย นอกจากนี้ เนื่องจาก ธปท. อาจสื่อสารเพิ่มเติมผ่านสื่อในระหว่างรอบการประชุม จึงสร้างตัวชี้วัดจากข่าวเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับ ธปท. ในช่วง 30 วันก่อนหน้าการประชุมเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวแปรในการพิจารณา
เมื่อนำตัวชี้วัดดังกล่าวไปใช้ในแบบจำลองเศรษฐมิติเพื่อทำนายผลการประชุม จากตารางที่ 1 ซึ่งแสดงเปอร์เซ็นต์ของการทำนายได้ถูกต้อง สำหรับการทำนายผลของการประชุมในครั้งเดียวกันกับการแถลงข่าว (คอลัมน์ที่ 2) ในภาพรวมจะเห็นได้ว่า เมื่อค่อย ๆ เพิ่มตัวชี้วัดขึ้นทีละอย่าง อัตราการทำนายได้ถูกต้องจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ สะท้อนว่าข้อมูลที่แฝงอยู่ใน PS ในลักษณะต่าง ๆ รวมถึงการสื่อสารในสื่อหนังสือพิมพ์ต่างช่วยส่งเสริมให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจในการกระทำ (การตัดสินนโยบาย) ได้มากขึ้น และหากใช้ทุกองค์ประกอบรวมกัน โดยรวมแล้วจะสามารถทำนายผลได้กว่า 80% หรือหากนับเฉพาะครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย (ลดหรือขึ้นอัตราดอกเบี้ย) ก็ยังมีอัตราการทำนายที่ถูกต้องได้ราวครึ่งหนึ่ง สิ่งนี้สะท้อนว่าสารหรือข้อมูลที่สื่อผ่าน PS นั้นมีความสอดคล้องกับการตัดสินนโยบายในระดับสูง ในขณะเดียวกัน หากใช้แบบจำลองเพื่อคาดการณ์ทิศทางผลการประชุมล่วงหน้าโดยอาศัยข้อมูลจาก PS ฉบับปัจจุบัน (คอลัมน์ที่ 3) จะพบว่าอัตราการทำนายได้ถูกต้องยังใกล้เคียงและเป็นไปในทิศทางเดียวกับคอลัมน์ที่ 2 ซึ่งสะท้อนว่าข้อมูลใน PS และสื่อสามารถส่งสัญญาณหรือช่วยเรื่องการคาดการณ์ของตลาดได้ค่อนข้างดีเช่นกัน
นอกเหนือไปจากการสื่อสารภายใต้กรอบ IT แล้ว ธปท. ยังมีการสื่อสารกับสังคมในวงกว้าง ซึ่งมีหัวข้อที่หลากหลายผ่านสุนทรพจน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ถ้าพลิกอ่านข่าวเศรษฐกิจในหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือเลื่อนผ่าน news feed ใน facebook หรือ twitter มีโอกาสที่จะพบข่าวที่เกี่ยวกับ ธปท. อยู่เป็นระยะ ๆ ข่าวสารเหล่านี้มีที่มาทั้งจากที่ ธปท. เผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้วสื่อหรือนักวิเคราะห์นำไปเขียนเป็นข่าว หรือจากการสัมภาษณ์ของสื่อโดยตรง ข่าวสร้างการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ ธปท. แนวทางการดำเนินนโยบาย วิสัยทัศน์ ตลอดจนทัศนคติที่สังคมมีต่อ ธปท.
สำหรับในช่องทางสุนทรพจน์ เนื้อหาของสุนทรพจน์สะท้อนสิ่งที่ ธปท. ต้องการจะสื่อสารกับสังคมในวงกว้าง แม้ว่าการกล่าวสุนทรพจน์จะจำกัดอยู่กับผู้ฟังจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ แต่ก็ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อในหลาย ๆ ครั้ง Apaitan และ Tantasith (2019) ได้รวบรวมสุนทรพจน์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่กล่าวโดยผู้ว่าการและรองผู้ว่าการระหว่างปี 2001 ถึง 2018 และใช้เทคนิค text mining เพื่อช่วยจัดหมวดหมู่หัวข้อของเอกสารทั้งหมด พบว่า ในสุนทรพจน์ภาษาไทย (รูปที่ 4) ธปท. ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก รองลงมาคือเรื่องเศรษฐกิจ (“เศรษฐกิจไทย” และ “ภาคการผลิต”) และนโยบายเกี่ยวกับระบบการเงินและสถาบันการเงิน (เช่น “สถาบันการเงิน”, “กำกับสถาบันการเงิน”, “ระบบการชำระเงิน”, “บริการทางการเงิน”) ในส่วนของนโยบายการเงินซึ่งเป็นพันธกิจหลักของ ธปท. นั้นไม่ใช่หัวข้อหลักของสุนทรพจน์ ส่วนหนึ่งเพราะกรอบนโยบายการเงินมีช่องทางการสื่อสารเฉพาะในตัวอยู่แล้ว ประกอบกับทิศทางนโยบายการเงินอาจไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนในวงกว้างมากเท่ากับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยหรือบริการทางการเงิน นอกจากนี้ ธปท. ยังมีความพยายามที่จะสื่อสารเกี่ยวกับบทบาทของ ธปท. เอง และความท้าทายของภาคธุรกิจและครัวเรือนต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอีกด้วย ในภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า ธปท. ใช้สุนทรพจน์ภาษาไทยเป็นช่องทางในการให้ข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจและข้อเสนอแนะแก่สังคม
ขณะเดียวกัน ธปท. ใช้สุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ (รูปที่ 5) เพื่อสื่อสารในฐานะนายธนาคารกลางของประเทศทั้งกับธนาคารกลางของประเทศอื่นและนักลงทุนต่างชาติ หัวข้อที่มีน้ำหนักมากที่สุดยังคงเป็นเรื่อง เศรษฐกิจไทย (“Thai Economy”) แต่หัวข้ออื่น ๆ ค่อนข้างแตกต่างจากที่กล่าวในสุนทรพจน์ภาษาไทย โดยสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจภูมิภาค นโยบายสถาบันการเงิน และระบบการเงิน นอกจากนี้ สุนทรพจน์ภาษาอังกฤษมักกล่าวในเวทีของผู้ดำเนินนโยบายระดับนานาชาติ เนื้อหาจึงเป็นการแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายและสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ จึงมักปรากฏหัวข้อที่เกี่ยวข้อง เช่น เศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น
ในฝั่งของสาธารณชน สังคมส่วนใหญ่รับรู้นโยบายของ ธปท. ผ่านข่าวหนังสือพิมพ์ (ซึ่งในปัจจุบันบางส่วนของบทความในหนังสือพิมพ์ก็ไปปรากฏที่สื่อ social media ด้วย) จากการรวบรวมข่าวเศรษฐกิจจากหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับครอบคลุมกว่า 10 ปี รวมบทความ 415,010 ชิ้น เมื่อใช้เทคนิค text mining ในการแบ่งหัวข้อของข่าวที่เกี่ยวกับ ธปท. พบว่าข่าว ธปท. สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เรื่องหลัก ได้แก่ กลุ่มนโยบายการเงิน เช่น ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและตลาดการเงิน และกลุ่มนโยบายสถาบันการเงิน ซึ่งมักเป็นข่าวเกี่ยวกับบริการทางการเงินและสถาบันการเงิน และหลายครั้งที่เราพบว่า ธปท. ปรากฏในข่าวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพันธกิจของ ธปท. โดยตรง คือกลุ่มข่าวที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาครัฐ เช่น การค้าระหว่างประเทศ งบประมาณ และอุตสาหกรรม เป็นต้น สะท้อนว่า แม้หัวข้อการสื่อสารของ ธปท. จะหลากหลาย แต่สื่อมักจะซึมซับเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการเงินได้มากที่สุด
หากมองในเชิง network ของหัวข้อข่าว รูปที่ 6 แสดงหัวข้อข่าวเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับ ธปท. (BOT) และองค์กรทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ (MOC) กระทรวงการคลัง (MOF) และตลาดหลักทรัพย์ (SET) ภาพ network สะท้อนว่า สาธารณชนเชื่อมโยง ธปท. เข้ากับบทบาทในภาคการเงินมากกว่าด้านอื่น โดยมีตำแหน่งใกล้เคียงกับตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่บางเรื่อง แม้จะมีความสำคัญในการสื่อสารของ ธปท. แต่สาธารณชนจะเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นได้มากกว่า เช่น กระทรวงพาณิชย์กับเรื่องเงินเฟ้อ
กล่าวโดยสรุป การรับรู้ของสาธารณชนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์กระแสหลักค่อนข้างสอดคล้องกับพันธกิจของ ธปท. แม้ว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมทุกเรื่องที่ ธปท. ต้องการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม บทบาทสำคัญบางอย่างของ ธปท. เช่น การดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย อาจยังไม่มีน้ำหนักเท่าที่ควรในการรับรู้ของสาธารณชนโดยทั่วไป แม้จะเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายหลักของกรอบ IT ก็ตาม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการพัฒนาการสื่อสารนโยบายการเงินของ ธปท.
การสื่อสารของ ธปท. มีวิวัฒนาการมาตามลำดับตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งในมิติของช่องทางการสื่อสารและเนื้อหาสาระ การสื่อสารของนโยบายการเงินมีความโปร่งใสมากขึ้นเป็นลำดับ สาระของการแถลงข่าวสามารถทำให้ผู้อ่านสกัดข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและนโยบายการเงินออกมาได้ และยังช่วยในการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตลาดอีกด้วย และจากการวิเคราะห์การสื่อสารในช่องทางอื่น ๆ และข่าวเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง พบว่า ธปท. สามารถส่งสารถึงประชาชนเกี่ยวกับพันธกิจหลักของ ธปท. รวมไปถึงบทบาทการเป็นผู้นำทางความคิดในด้านการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี แต่ในภาพรวม ธปท. ยังมีช่องว่างระหว่างเรื่องที่เป็นพันธกิจหลักบางเรื่องกับการรับรู้ของสาธารณชน เช่น การดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งอาจเป็นความท้าทายของ ธปท. ในระยะข้างหน้า
มีประเด็นหลัก 3 ประการที่ควรต้องคำนึงถึงในอนาคต ได้แก่
- การหาสมดุลระหว่างบทบาทของธนาคารกลางที่เป็นพันธกิจหลัก คือการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงิน และการเข้าไปมีบทบาทพัฒนาและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ธนาคารกลางสามารถเลือกที่จะสื่อสารเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับพันธกิจโดยตรง หรือสามารถสื่อสารเพื่อชี้นำกระแสทางความคิดของสังคมในประเด็นที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับพันธกิจโดยตรงแต่มีความสำคัญกับความกินดีอยู่ดีของประชาชนในส่วนรวม ทั้งนี้ แนวทางการสื่อสารควรจะต้องมีความสอดคล้องต่อเนื่อง เพื่อให้สาธารณชนสามารถคาดการณ์บทบาทและท่าทีของ ธปท. ได้ตามสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง
- ความโปร่งใสของการสื่อสารของนโยบายการเงินควรจะไปถึงจุดใด? ซึ่งในทางปฏิบัติมี trade off หลายประการที่ต้องพิจารณา เช่น การเปิดเผยรายละเอียดจากการประชุมมากขึ้นทำให้ความโปร่งใสมากขึ้น นำมาสู่ accountability ที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็อาจสร้างความสับสนในการตีความหรือเพิ่มโอกาสของการถูกแทรกแซงด้วยเช่นกัน
- ธนาคารกลางควรจะ engage กับผู้รับสารในวงกว้างมากน้อยเท่าใด และวิธีใดจึงมีประสิทธิภาพสูงสุด ท่ามกลางเนื้อหาที่หลากหลายและกลุ่มผู้รับสารที่กำลังขยายขอบเขต การวัดระดับความเข้าใจและระดับความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่เกิดขึ้นจากการสื่อสาร เช่น การทำ survey จะช่วยเพิ่มความเข้าใจและกำหนดกลยุทธ์การสื่อสารได้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น
Apaitan, T. and C. Tantasith (2019), “Central Bank Communication: Perspectives through Text Mining,” PIER Discussion Paper, forthcoming.